ประวัติ วัดญาณเวศกวัน - เลขที่ ๑๐ หมู่ ๓ ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม - webpra

วัดญาณเวศกวัน

ประวัติ เลขที่ ๑๐ หมู่ ๓ ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

 

วัดญาณเวศกวัน

สถานะวัด

   วัดญาณเวศกวัน เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

   ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐ หมู่ ๓ ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
   สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

   ชื่อ “วัดญาณเวศกวัน” นี้ พระพรหมคุณาภรณ์ ได้ตั้งขึ้น โดยให้มีความหมายที่แสดงถึง จุดหมายแห่งการบำเพ็ญศาสนกิจของวัด ว่ามุ่งเน้นให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เพื่อเสริมสร้างความรู้ในพระธรรมวินัย และปฏิบัติให้เจริญธรรมเจริญปัญญา ตลอดจนบรรลุญาณสูงขึ้นไปตามลำดับ

   คำว่า “วัดญาณเวศกวัน” มีความหมายโดยพยัญชนะว่า ป่าที่มีเรือนแห่งความรู้ หรือ ป่าของผู้เข้าสู่ญาณ

   “วัดญาณเวศกวัน” มีความหมายโดยประสงค์ว่า วัดที่มีป่า และ เป็นที่เหมาะแก่การเข้าไป แสวงหาความรู้เจริญธรรมเจริญปัญญา

 

การตั้งวัด

   (๑) ทางราชการออกหนังสืออนุญาตสร้างวัดให้แก่ นายยงยุทธ์ ธนะปุระ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๒
   (๒) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า
วัดญาณเวศกวัน ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗
   (๓) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒

   ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๓ งาน ๖๗ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๕๕๙๗ เลขที่ ๘๖๙๑๙ เลขที่ ๑๖๕๙๔ เลขที่ ๓๙๐๗๕ และ เลขที่ ๓๙๐๗๖ ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

เขตวัด

   ทิศเหนือ ยาว ๑ เส้น ๑๒ วา - ศอก จดทางสาธารณะในหมู่บ้าน
   ทิศใต้ ยาว ๑ เส้น ๑๗ วา - ศอก จดที่ดินราษฎรชาวบ้าน
   ทิศตะวันออก ยาว ๖ เส้น ๓ วา - ศอก จดเขตบ้านเรือนชาวบ้าน และ พุทธมณฑล
   ทิศตะวันตก ยาว ๖ เส้น ๒ วา - ศอก จดทางสาธารณะในหมู่บ้าน และ คลองสาธารณะ
   ลักษณะพื้นที่ตั้งวัด และ บริเวณโดยรอบ มีต้นไม้ร่มรื่น ถนนเข้า-ออก สะดวก

เสนาสนะ และ ถาวรวัตถุ

มีเสนาสนะ และ ถาวรวัตถุ เป็นหลักฐานแล้ว คือ
(๑) กุฏิชั้นเดียวยกพื้นสูง กว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๖.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๒) กุฏิชั้นเดียวยกพื้นสูง กว้าง ๕.๓๒ เมตร ยาว ๗.๗๘ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๓) กุฏิรวมชั้นเดียวยกพื้นสูง กว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๑๐.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๔) กุฏิชุดชั้นเดียว มีกุฏิ ๕ หลัง ๑๓ ห้อง บนชานใหญ่ยกพื้นสูง กว้าง ๑๕.๐๐ เมตร ยาว ๓๙.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๕) โรงครัว กว้าง ๑๑.๓๐ เมตร ยาว ๙.๕๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๖) หอฉัน กว้าง ๑๒.๐๐ เมตร ยาว ๑๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๗) ศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง ๘.๐๐ เมตร ยาว ๑๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๘) หอระฆัง และ ถังเก็บน้ำ กว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๔.๐๐ เมตร
(๙) ห้องสุขา ๑ กว้าง ๕.๒๐ เมตร ยาว ๕.๗๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๑๐) ห้องสุขา ๒ กว้าง ๖.๒๐ เมตร ยาว ๑๔.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๑๑) ห้องสุขา ๓ กว้าง ๔.๕๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๑๒) อุโบสถ กว้าง ๑๕.๒๕ เมตร ยาว ๒๙.๙๕ เมตร จำนวน ๑ หลัง
(๑๓) พระประธานในโบสถ์ หน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว

พระประธานในโบสถ์ มีพระนามว่า “พระพุทธประธานญาณเวศกวโนดม” หน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว ทำพิธีเททอง ที่โรงหล่อพระพุทธปฏิมาพรเลิศ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๑

ได้นำเข้าประดิษฐานในอุโบสถ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๒ ปิดทองเสร็จและสมโภช ในมงคลวารอายุครบ ๕ รอบของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เมื่อวันที่ ๑๒, ๑๗ มกราคม ๒๕๔๒ รวมค่าดำเนินการส่วนองค์ พระพุทธประธานญาณเวศกวโนดม ๑๙๐,๐๐๐.๐๐ บาท และ ค่าทำ ฐานชุกชี อีก ๑๓๙,๐๐๐.๐๐ บาท

ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อย ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๑ ด้วยทุนทรัพย์ ๑๖ ล้านบาทเศษ ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ พระการกสงฆ์ ๑๐๙ รูป ได้ประกอบสังฆกรรมถอนสีมา ต่อมาวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๔ พระการกสงฆ์ ๔๕ รูป ประกอบสังฆกรรมสมมติสีมาทำให้วัดญาณเวศกวันมีพัทธสีมาจะประกอบสังฆกรรม ตามพุทธบัญญัติได้โดยสมบูรณ์

เจ้าอาวาส

   รูปที่ ๑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึง พ.ศ. ปัจจุบัน

 


พระสงฆ์จำพรรษา

มีพระภิกษุพำนักอยู่ประจำ (ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จนถึงปีปัจจุบัน) คือ
พ.ศ. ๒๕๓๗ จำนวน ๘ รูป
พ.ศ. ๒๕๓๘ จำนวน ๗ รูป
พ.ศ. ๒๕๓๙ จำนวน ๘ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๙ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๑ จำนวน ๑๔ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๒ จำนวน ๑๔ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวน ๑๕ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๔ จำนวน ๑๘ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๕ จำนวน ๑๕ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๒๒ รูป
ปัจจุบัน มีพระภิกษุ จำนวน ๑๒ รูป

ศาสนกิจ

   วัดญาณเวศกวัน มุ่งให้พระสงฆ์บำเพ็ญศาสนกิจ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ เล่าเรียนปริยัติ ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ปัญญา นำประชาชนสู่ธรรม

   นอกจากกิจวัตรทั่วไปแล้ว ได้เน้นการฝึกอบรม โดยเฉพาะมีการเปิดสอนนวกภูมิเป็นประจำทุกปี และทุกคราวที่มีผู้อุปสมบทใหม่

   ในด้านการเผยแผ่ธรรม นอกจากการสนทนา เทศนา บรรยายธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และโอกาสอันสมควรแล้ว ได้มีผู้ขอคำบรรยายธรรม และขอนำธรรมกถาไปพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ และทางวัดก็ได้จัดทำเทป ซีดี และพิมพ์หนังสือแจกให้เปล่า เป็นธรรมทานที่วัดเองด้วยเป็นประจำ

   ส่วนทางด้านบุญกิริยาทั่วๆ ไป มีผู้ศรัทธาบำเพ็ญกุศลและทำนุบำรุงวัดประมาณ ๒๕๐ ครอบครัว หรือประมาณ ๑,๐๐๐ คน และมีประชาชน จากที่ทั่วไปทั้งใกล้และไกลจรมาทำบุญ ทั้งรายบุคคล และเป็นกลุ่มเป็นคณะอยู่เนืองๆ


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammathai.org/watthai/central/watyanawetsakawan.php

Top