พระโพธิรังษี
ประวัติ วัดพันตอง จ.เชียงใหม่
พระโพธิรังษี นามเดิมชื่อนายบุญศรี ชัยบาล เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ณ บ้านเลขที่ ๖๑ หมู่ ๑ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรนายหลุย นางคำนวณ ชัยบาล
บรรพชาเมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ วัดพวกช้าง ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพระโพธิรังษีมารชีศาสนาธิการ วัดศรีดอนไชย ตำบลช้างคลาน เป็นพระอุปัชฌาย์
สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๕ จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ จบนักธรรมเอกจากสำนักเรียนวัดเจดีย์หลวงวรวิหารในปีเดียวกัน จากนั้นได้อุปสมบทที่วัดพันตองเมื่อวันที่ ๑๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ มีพระโพธิรังษีมารชีศาสนาธิการ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาพิเศษ ภาษาอังกฤษ ภาษาล้านนา(อักษรพื้นเมืองเหนือ) ภาษาฮินดี มีความชำนาญพิเศษในการเทศนาและปาฐกถาธรรม
หลังจากอุปสมบทไม่นานนัก ก็ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพันตอง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เป็นเจ้าอาวาส และมีโอกาสเป็นพระธรรมฑูต ไปอยู่อินเดียมาแต่สมัยสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิ กระทั่งได้เลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโพธิรังษี ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดอยู่นั้น ท่านส่งเสริมการศึกษา ของพระภิกษุ–สามเณรที่ด้อยโอกาส และจัดให้มีการเรียนการสอน ภาษาล้านนา ในวัดอีกด้วย ซึ่งต่อมา ท่านเป็นกำลังสำคัญนำชาวเชียงใหม่ ออกคัดค้านห้ามการปลูกสร้างอาคารใหม่ ๆ ในเชียงใหม่ที่รุกที่วัด บดบัง ค้ำสูงกว่าเจดียสถาน และนำมหาสงฆ์แห่งจังหวัด คัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพจนเป็นผลสำเร็จ
ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ รวมอายุทางโลก ๘๓ ปี ๖๒ พรรษา
ข้อมูลอ้างอิงจาก : skyd.org
พระโพธิรังษี
ในวิถีธรรมตามแบบล้านนาและความกล้าหาญ
โดย เครือมาศ วุฒิการณ์
ภาพประกอบโดย เทพศิริ สุขโสภา
น้ำคือ (น้ำในคูเมือง) สมัยนั้นเต็มไปด้วยดอกไม้ มีดอกป๊าน (ดอกบัวสาย) ดอกจังกร (ดอกจงกล) และมีบัวลอย (ผักตบชวา) นอกจากนั้นก็มีปลาตัวเท่าแขนเยอะมาก ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสะเด็ด (ปลาหมอ) ชาวบ้านไปเก็บมากิน แต่ก็ไม่หมดสิ้น ตามวัดก็ปลูกต้นไม้เช่น ดอกสารภี ดอกประดู เดี๋ยวนี้วัดอื่น ๆ เลิกปลูกดอกไม้แล้ว เอาบริเวณวัดเป็นที่จอดรถ เหลือแต่วัดพันตองวัดเดียวที่ยังมีต้นไม้ ดอกไม้ นานาชนิด มีดอกจำปี จำปา ดอกจำปานี่เอาเมล็ดมาปลูกจากอินเดีย
นั่น คือ บรรยากาศรอบคูเมืองเชียงใหม่ในสมัยที่พระโพธิรังษียังเป็นเด็กคือราว พ.ศ. ๒๔๖๑–๒๔๗๕ ตามที่ท่านได้บรรยายไว้ใน เรื่องเล่าเจ้าคุณโพธิ์ คนที่เติบโตในนครพิงค์ยุคนั้นจะจดจำความเก่าความหลังเมื่อครั้งเมืองยังงาม และคนยังมีน้ำใจได้อยู่เสมอ สำหรับพระโพธิรังษีผู้บวชเรียนมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ชีวิตสามเณรของท่านมั่งคั่งพรั่งพร้อมบนฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาที่สืบทอดกันมา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
วัดในเชียงใหม่สมัยก่อนจะมีครูบาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ร่มเงา ถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนทักษะ ที่สำคัญเป็นต้นแบบของการประพฤติปฏิบัติตนในทางดีงาม ท่านเจ้าคุณโพธิ์มีครูบาคันธา และครูบาหมื่น ที่วัดพวกช้าง เป็นต้นแบบดังกล่าว ทั้งได้เรียนเขียนอ่านตัวเมือง(อักษรล้านนา) ฝึกจารใบลาน และเทศน์ธรรมเมือง (เทศน์ทำนองเสนาะแบบพื้นเมือง) แล้วยังมีครูบาวัดเชียงมั่นที่อยู่ใกล้วัดพวกช้างอีก ๗ รูป ผู้มักมีเรื่องราว “บ่าเก่า” (โบราณ) เล่าสู่ให้จดจำกัน
สังคมมุขปาฐะที่มีผู้คนของธรรมชาตินั้น รุ่มรวยภาษาและจินตนาการเสมอ ท่านเจ้าคุณโพธิ์ เมื่อยังเยาว์เติบโตมาในเมืองที่คนเปี่ยมศรัทธา ศาสนาคือหัวใจผูกพันคนไว้กับธรรมชาติ ดังนั้นความเป็นกวีจึงเกิดขึ้น เป็นค่าว เป็นเคือ เป็นเสียงซอ เป็นกะโลง ในสมัยนั้นเมื่อมีโรงพิมพ์ตัวเมือง สิ่งที่พิมพ์เผยแพร่กันก็คือ ค่าวฮ่ำ บทกวีที่ว่าด้วยชาดกและนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ เนื้อหาเนื่องในทางธรรม คนไหนแต่งค่าวเก่ง ก็จะมีคนรอคอยที่จะอ่านเช่น ปู่หน้อยปั๋นบ้านฮ่อ ที่แต่งค่าวฮ่ำเรื่องไก่หน้อยดาววี (ดาวลูกไก่) ท่านเจ้าคุณโพธิ์ยังจำที่เขาแต่งตอนหนึ่งได้ดังนี้
ไก่หน้อยดาววี ป๊กลูกมาหา
น้ำตาหลั่งย้อย สายสั่นสร้อยวาที
คั่นแม่ตายแล้ว เมื่อวันเป็นผี
สูอยู่ดี ๆ อบรมลูกเต้า
บรรยากาศการกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมเช่นนี้เองที่ร้อยรัดคนไว้ในพระศาสนา และเสริมสร้างศรัทธา การที่ครูบาศรีวิชัยนำชาวเชียงใหม่ทั้งใกล้และไกลสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นั้น มิได้เป็นเพียงข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของเมือง หากแต่เป็นความทรงจำที่จารึกไว้ในใจของคนที่มีส่วนร่วมในการทำบุญ ไม่ว่าจะด้วยกำลังกาย หรือกำลังทรัพย์ แต่ก็เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา พระโพธิรังษีได้มีส่วนร่วมสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพด้วย เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร เรื่องเล่าเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย และศรัทธาในตัวท่านช่างมากมาย พูดกันต่อและเล่ากันมาจนถึงทุกวันนี้
สมัยที่ท่านเจ้าคุณโพธิ์บวชเป็นพระภิกษุแรก ๆ นั้น พระคุณท่านไปจำพรรษาที่วัดน้ำบ่อหลวง (วัดป่าวนาราม) อำเภอสันป่าตอง ที่นั่นมีครูบาอินทจักรรักษาเป็นผู้สอนวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด ที่วัดป่านี้เน้นการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จึงเป็นแรงบันดาลให้พระคุณท่าน ทำให้วัดพันตอง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่บนถนนลอยเคราะห์กลางเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดที่คล้ายกับวัดป่า ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยทั่วทั้งบริเวณ
ท่านเจ้าคุณโพธิ์มีผู้ซึ่งมีต้นแบบหรือครูอยู่หลายท่านที่พระคุณท่านเอ่ยถึงด้วยความเคารพ รวมทั้งท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกข์
“หนังสือของท่าน อาตมาอ่านทุกเล่ม.. เห็นว่าที่ท่านว่านั้นเป็นความจริงแท้ อ่านไปแล้ว โอ…ไม่มีใครเท่า”
พระคุณท่านกล่าวถึงท่านพุทธทาสไว้ดังนี้
ท่านเจ้าคุณเจ้าโพธิ์ ปฏิบัติหน้าที่ต่อกิจการพระศาสนาโดยตลอด ทั้งหน้าที่ประจำและที่ปฏิบัติพิเศษในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระคุณท่านร่วมเป็นคณะธรรมทูตไปประจำวัดไทยในพุทธคยา เป็นคณะสงฆ์ไทยรุ่นแรกที่รัฐบาลไทยส่งไปอินเดีย และนอกจากจะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพันตอง พระคุณท่านเคยเป็นเจ้าคณะอำเภอพร้าว ซึ่งในสมัยเมื่อ ๓๐–๔๐ ปีก่อนต้องเดินทางไปด้วยความยากลำบาก และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านเจ้าคุณโพธิ์เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้มาจนกระทั่ง มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์ เนื่องจากพระผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด และรองเจ้าคณะจังหวัดอยู่ ชราภาพและปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เมื่อ ๒–๓ ปีที่ผ่านมานี้เอง
รากฐานที่มั่นคงทางวัฒนธรรมตามความเชื่อล้านนา ประกอบกับการศึกษาพระธรรมอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ทำให้ท่านเจ้าคุณโพธิ์ยืนหยัดในการดำรงชีวิตพรหมจรรย์ที่เคร่งครัดและเรียบง่าย ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่โหมกระหน่ำ วัดพันตองยังคงเขียวครึ้มชุมชื่นในขณะที่วัดในเมืองอื่น ๆ ล้มไม้ใหญ่ถากถางทางให้สิ่งก่อสร้างที่มาในนามของความเจริญ และถูกหลอกล่อด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ พระคุณท่านแห่งวัดพันตองเป็นอิสระจากอามิสชื่อเสียงฐานันดรทั้งปวง
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีบริษัทหัวใสที่ทำเป็นโครงการวางแผนการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ แล้วนำเสนอโครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นพระธาตุดอยสุเทพเสียเอง จะอวดอ้างแสนยานุภาพของเทคโนโลยีว่าเหนือกว่าศรัทธาคนหรืออย่างไรไม่ทราบ ทางบริษัทมั่นใจในโครงการราวกับว่าจะมอบให้เป็นของขวัญชาวเชียงใหม่ ไล่แจกแผ่นพับสวยหรู ประชาสัมพันธ์กระเช้าลอยฟ้าขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ทุกคน โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือข้อมูลที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อรวมตัวกันประชุมเพื่อทำการคัดค้าน มีผู้เสนอแนะให้ไปเรียนปรึกษาพระโพธิรังษี การประท้วงกระเช้าลอยฟ้า ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างอบอุ่นภายใต้การนำของพระคุณท่านผู้เป็นรองเจ้าคณะจังหวัด วันที่มีการเดินขบวนต่อต้านกระเช้าลอยฟ้า ประชาชนชาวเชียงใหม่รวมถึงอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง ๓–๔ สถาบันได้รับขวัญและกำลังใจจากการสวดชยันโต โทรทัศน์หลายช่องแพร่ภาพพระสงฆ์นำโดยท่านเจ้าคุณโพธิ์ สวดนำประชาชนอยู่หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตามด้วยภาพประชาชนเดินถือป้ายประท้วงไปรอบตัวเมือง
ในแวดวงวิชาการเมืองเชียงใหม่ ทุกครั้งที่มีการล่าลายเซ็นคัดค้านโครงการที่ไม่ชอบมาพากล จะหาคนที่ยอมลงชื่อด้วยได้เพียงไม่กี่สิบคน แม้กระทั่งเรื่องกระเช้าลอยฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวใกล้ใจที่สุดแล้ว แต่ด้วยเครือข่ายของท่านเจ้าคุณโพธิ์รวมทั้งพระครูอนุสรณ์ศีลขันธ์แห่งวัดหมื่นล้าน (มรณภาพแล้ว) และพระครูสุเทพแห่งวัดศรีบุญเรือง รายชื่อของผู้ที่ลงคัดค้านการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพในครั้งนั้น เรียงรายอยู่บนกระดาษหนามัดได้หลายปึก นับได้ ๒๐,๐๐๐ กว่าชื่อ ซึ่งเมื่อนำไปยื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด (นายชัยยา พูนศิริวงศ์) เป็นหลักฐานที่ทางราชการไม่อาจปฏิเสธได้
ไม่อาจบันทึกไว้ได้หมดว่า ตลอดปีที่ทำการประท้วง เรื่องกระเช้าลอยฟ้า มีกิจกรรมอะไรบ้าง แต่จำไว้ว่าท่านเจ้าคุณโพธิ์ทำงานหนัก ออกหนังสือประชุมคณะสงฆ์ อบรมเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ คิดโครงการให้ช่างซอพื้นเมืองซอเรื่องการคัดค้านกระเช้าลอยฟ้า ออกวิทยุกระจายเสียง ให้ชาวบ้านได้ยินกันทั่วถึง ฯลฯ จนกระทั่งมีคนไปปล่อยข่าวว่า พระคุณท่านคัดค้านเพราะเป็นเจ้าของธุรกิจรถสองแถวขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ที่กลัวเสียผลประโยชน์เมื่อมีกระเช้าลอยฟ้า ในขณะที่มีข่าวว่า เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพสมัยนั้น นั่งรถเปอโยต์สีน้ำเงินเข้มที่เจ้าของโครงการกระเช้าลอยฟ้าประเคนให้ น้อยคนนักจะรู้ว่าท่านเจ้าคุณโพธิ์นั้นไม่มีแม้กระทั่งรถประจำวัดเหมือนกับที่วัดอื่น ๆ มี ถ้าหากไม่มีใครมารับพระคุณท่านจะนั่งรถสามล้อถีบไปไหนต่อไหนเอง
การที่ท่านเจ้าคุณโพธิ์ เป็นพระผู้ใหญ่ ที่นำในการคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าในครั้งนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพระผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พระคุณท่าน เตรียมตัวออกเดินทางไปให้สอบสวนแล้ว แต่เนื่องจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท้วงติงไปทางพระเถระผู้ใหญ่ การสอบสวนจึงต้องระงับไป ที่โครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ ต้องหยุดชะงักไป ก็เพราะประเด็นเรื่องของศาสนา ที่ท่านเจ้าคุณโพธิ์ได้ชี้ให้เห็น และเป็นผู้นำในการสานความเข้าใจ โดยใช้หลักพุทธธรรม
เมื่อโครงการกระเช้าลอยฟ้าไม่ได้รับอนุมัติ และผู้เสนอโครงการล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว ก็มาถึงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่ทำให้คอนโดมิเนียมผุดขึ้นตามที่ต่าง ๆ อย่างไร้กฎเกณฑ์ ท่านเจ้าพระไม่เห็นด้วย ที่อาคารสูงเหล่านั้น จะอยู่ติดกับวัด มีคนเรียนท่านว่าจะมีอาคารสูงสร้างติดกับวัดฟ้าฮ่าม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง พระคุณท่านจึงได้นำหนังสือร้องขอให้เจ้าของโครงการ ผู้มีคุณธรรม (คุณบุญเทียม โชควัฒนา) พิจารณายกเลิกซึ่งก็ได้รับคำยินยอม เพราะเห็นแก่ความเหมาะสมในพระศาสนา เมื่อมีพระผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย ประกอบกับการประท้วงอย่างต่อเนื่อง ของคนเชียงใหม่ ในที่สุดก็มีการประกาศกฎกระทรวงขึ้นใช้ ไม่ให้มีการสร้างอาคารสูงติดกับวัด โรงเรียน และแม่น้ำ อีกต่อไป
พระโพธิรังษีไม่เคยเกรงกลัวอำนาจทางการเมืองใด ๆ แต่ยึดมั่นในความถูกต้องดีงามเป็นหลัก เมื่อครั้งมีเหตุการณ์วิกฤตเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ รัฐบาลอันไม่ชอบธรรมของพลเอกสุจินดา คราประยูร เริ่มคร่าชีวิตประชาชน ม็อบของชาวเชียงใหม่ที่ยึดประตูท่าแพเป็นที่มั่น ร่วมทำบุญเพื่อแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิต และได้ไปนิมนต์พระคุณท่านมาเทศน์ที่ประตูท่าแพ ซึ่งท่านก็เต็มใจมา แม้ไม่มีรถไปรับ พระคุณท่านนั่งสามล้อถีบมาถึงประตูท่าแพ เป็นประธานในพิธีอุทิศแผ่ส่วนกุศลพร้อมเทศนาเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งนับว่ากล้าหาญมากท่ามกลางบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนทางการเมือง คงไม่มีพระผู้ใหญ่รูปใดในเชียงใหม่ ที่สามารถอยู่เคียงข้างประชาชนได้เหมือนที่พระโพธิรังษีได้กระทำในเวลานั้น พระคุณท่านเทศนาท่ามกลางป้ายประท้วงรัฐบาล ในสาธารณะโล่งแจ้ง แห่งความสับสนและเศร้าสลด
วิถีชีวิตของชาวล้านนา หลังช่วงการพัฒนาที่ยืนอยู่บนฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น เปลี่ยนแปลงหักเหไปจากที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างเป็นหนทางดีงามตามที่เรียก ว่า ฮีตฮอย อย่างมาก อีกทั้งลัทธิบริโภคนิยม ที่โหมกระหน่ำนำพาให้ผู้คนหลงใหลไปกับกระแสการบริโภค อย่างไม่ยั้งคิด และพลอยเอากระแสแห่งกิเลสนี้เอาไปในวัดด้วย พระสงฆ์ในล้านนาหลายต่อหลายรูปหลงอยู่ในวงเวียนแห่งลัทธินี้ ทั้งยังมีระบบราชการที่รวมศูนย์เอาอำนาจการตัดสินใจไปไว้ส่วนกลาง ที่ดึงคณะสงฆ์เข้าไปอยู่ในตำแหน่งและสมณศักดิ์ที่ต้องมีการวิ่งเต้นและแบ่ง ปัน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ต้องมีผลงานต่าง ๆ เพื่อที่จะได้มาซึ่งยศศักดิ์ พระโพธิรังษีมิใช่พระนักพัฒนาที่มีผลงานการพัฒนาดีเด่นเห็นเป็นโครงการก่อ สร้าง หรือดำเนินโครงการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและประชาชน เหมือนพระนักพัฒนาหลายรูป และมิใช่พระนักอนุรักษ์ ที่สร้างผลงานด้านการอนุรักษ์ให้เห็น เป็นการสะสมของเก่าเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ท่านเป็นแบบอย่างที่หาได้ยากยิ่งในล้านนา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
การดำรงชีวิตพรหมจรรย์ที่เคร่งครัด ที่สืบสานวิถีทางดั้งเดิมของท้องถิ่นของท่านเจ้าคุณโพธิ์ เป็นเหมือนดังการหว่านเมล็ดพันธุ์อันก่อให้เกิดความงอกงาม บัดนี้มีลูกศิษย์ของท่านเปิดโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา สาขาโพธิธรรมศึกษาขึ้น ณ วัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่สามเณรตามแบบอย่าง ที่พระโพธิรังษีได้ตั้งต้นไว้ในวัดพันตอง ส่วนพระวิมลญาณมุนีซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเลขาของท่านเจ้าคุณโพธิ์นั้น บัดนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระผู้ที่ดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงใหม่
นอกจากนี้ท่านยังเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นที่มาของศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งในเชียงใหม่และต่างแดน เช่นคุณขรรค์ชัย บุญปาน แห่งหนังสือพิมพ์มติชนผู้พบว่า หาพระนับถือได้ยากในยุคปัจจุบัน เกิดศรัทธาในพระคุณท่านอย่างมาก และรับเป็นผู้อุปัฏฐาก รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องดูแลรักษาสุขภาพของท่าน เมื่อครั้งท่านอาพาธ
พระโพธิรังษี เป็นพระผู้ใหญ่ที่อยู่ในตำแหน่งชั้นผู้ปกครอง ในคณะสงฆ์เชียงใหม่ เพียงรูปเดียว ที่สามารถเชื่อมโยงหลักพุทธธรรม ให้เข้ากับวิถีปฏิบัติที่รากฐานทางวัฒนธรรมตามความเชื่อของชาวล้านนา นอกจากนี้ทางด้านการศึกษาของสงฆ์ที่ท่านมีบทบาทโดยตรงในวัดของท่าน และโดยอ้อมในแนวนโยบาย ท่านสามารถประสานการศึกษา ทั้งระบบที่เป็นสถาบันสงฆ์ กับการศึกษาที่เป็นรูปแบบวิถีดั้งเดิมของชาวล้านนา โดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน และประการสำคัญที่สุด พระโพธิรังษี เป็นพระสงฆ์ผู้เป็นตัวแทนของสถาบันสงฆ์ไทย ที่มิได้ปฏิเสธระบบที่เป็นกระแสหลัก หากแต่ยังคงรักษาความเป็นตัวของท่านเองในวิถีชีวิตของชาวล้านนา และกล้าหาญในวิถีแห่งความถูกต้องดีงามไว้ โดยไม่ได้สร้างรอยร้าวให้กับสถาบันสงฆ์แต่อย่างใด พระโพธิรังษีจำเริญในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวล้านนาอย่างเคร่งครัดหาที่ติมิได้ และเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสามเณรและสาธุชนทั้งหลายที่จะเดินตาม และต้นแบบที่แท้จริงเช่นนี้นับวันจะหาได้ยากในสังคมที่มากด้วยกิเลส และความหลงมัวเมา เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้.
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com