ประวัติ พระแม่สรัสวดี - (เทพเจ้าแห่งนักปราชญ์) - webpra

พระแม่สรัสวดี

ประวัติ (เทพเจ้าแห่งนักปราชญ์)


พระแม่สรัสวดี
เทวีแห่งปัญญาความรู้
ศิลปวิทยาการ การภาวนาและพิธีกรรม

พระแม่สรัสวดี เทวีแห่งปัญญาความรู้


...พลังอำนาจแห่งมหาเทวีทั้ง 3...

พระแม่สรัสวดี คือ ชายาของ พระพรหม (ผู้สร้างโลก)
พระแม่ลักษมี คือ ชายาของ พระวิษณุ (ผู้ดูแลโลก)
พระแม่อุมา คือ ชายาของ พระศิวะ (ผู้ทำลายโลก)

พระแม่สรัสวดี
เป็นตัวแทนแห่ง ปัญญาความรู้

พระแม่ลักษมี เป็นตัวแทนแห่ง ความร่ำรวย
พระแม่อุมา เป็นตัวแทนแห่ง ความมีอำนาจ

ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้ (ความรู้ ร่ำรวย มีอำนาจ) ก็คือ 3 คุณสมบัติสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนดิ้นรนแสวงหา และไม่มีผู้ใดปฏิเสธเลยว่า บุคคลที่มีทั้งปัญญาความรู้ มีทั้งความร่ำรวยสมบูรณ์ และมีทั้งอำนาจบารมี จะสามารถยืนหยัดเฉิดฉาย อยู่ในแวดวงสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ชาวฮินดูจึงเชื่อว่า การกราบไหว้เคารพบูชาพระแม่หรือมหาเทวีทั้ง 3 พระองค์นี้ด้วยซื่อสัตย์ และมอบความรักความศรัทธาอย่างแรงกล้าแก่พระองค์แล้ว พระองค์ย่อมประทานพรให้ผู้ศรัทธาได้รับทั้งปัญญา ความร่ำรวย และความมีอำนาจอย่างครบถ้วน

ความงามของพระแม่ทั้ง 3 พระองค์นั้นก็มีความงามที่แตกต่างกันไป โดยผู้บูชาสามารถมองเห็นและรู้สึกได้ทุกคน นั่นคือ
พระแม่สรัสวดี มีความงามแบบ สุขุม นิ่ง เยือกเย็น ดูฉลาด
พระแม่ลักษมี มีความงามแบบ น่ารัก นุ่มนวล อ่อนช้อย ดูอบอุ่น
พระแม่อุมา มีความงามแบบ น่าเกรงขาม ดูเฉียบขาด

 

พระแม่สรัสวตี เทวีแห่งสรรพความรู้

พระนามของพระแม่สรัสวดี นั้นออกเสียงเรียกได้อีกหลายวิธี เช่น พระแม่สรัสวตี พระแม่สุรัสวดี พระแม่สุรัสวตี ฯลฯ
พระแม่สรัสวดี คือชายาแห่งพระพรหมผู้สร้างโลก พระองค์ประทับอยู่ในวิมาน ณ สวรรค์ชั้นพรหม หรือพรหมโลก เป็นมหาเทวีหนึ่งในสามเทวีสูงสุด ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในประเทศอินเดียยังมีแม่น้ำสายที่สำคัญมากที่ชื่อ สรัสวดี อีกด้วย
พระสรัสวดี หรือ พระสุรัสวดี ทรงเป็นธิดาแห่งพระทักษะและนางประสูตร แต่ในมหากาพย์มหาภารตะนั้นมีการกล่าวถึงว่า พระกฤษณะคือผู้สร้างพระสุรัสวตี และคัมภีร์พระเวทขึ้นมาพร้อมกันจากจิตใจของพระองค์ พระแม่สุรัสวตีจึงถือว่าเป็นเทพแห่งพระเวททั้งปวง

พระแม่สรัสวตีจึงเปรียบเสมือนครู อาจารย์ พระองค์คือเทวีแห่งสรรพความรู้ วิชาการอันล้ำลึก วิทยาการอันก้าวหน้า พระองค์คือสัญลักษณ์แห่งงานศิลปะทุกแขนง ทั้งการวาดเขียน การดนตรี อักษรศาสตร์ การแต่งตำรา การเขียนหนังสือ พระองค์คือเทวีแห่งปรีชาญาณอันชัดเจนแจ่มแจ้ง การเล่าเรียน ศึกษาหาความรู้ การวิจัย การวิเคราะห์ การพูดจา การเจรจาต่อรอง ตลอดจนเป็นผู้ให้กำเนิดอักขระของอินเดีย คือ อักษรเทวนาครี นั่นเอง

 

พระองค์ยังเป็นผู้ให้กำเนิดบทสวดมนต์บทแรกของจักรวาล ชาวฮินดูยังนับถือพระสรัสวดีเป็น เทวีแห่งเวทมนต์ คาถา และการประกอบพิธีกรรม ฉะนั้น หากมีการประกอบพิธีบูชาเทพหรือเทศกาลใดๆแล้ว ถ้าอัญเชิญ พระพิฆเนศ เป็นเทพองค์แรกก็จะทำให้พิธีนั้นๆเกิดสิริมงคลขึ้น และการอัญเชิญ พระแม่สรัสวตีร่วมด้วย ก็ย่อมบันดาลให้การสวดมนต์และการประกอบพิธีกรรมทุกขั้นตอน ดำเนินไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ มีพลังเข้มข้นและมีประสิทธิภาพสูงสุด

พระสรัสวดีทรงโปรดการแสดงดนตรี การบรรเลงบทเพลง การร้องเพลงถวาย การอ่านบทกวีถวาย ฯลฯ ผู้บูชานิยมเปิดเพลง หรือบรรเลงดนตรีที่มีท่วงทำนองประณีตงดงามถวายแด่พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีประเภทใดท่านก็โปรดทั้งสิ้น เช่น พิณ จะเข้ ขิม ไวโอลีน กีต้าร์ เปียโน กลอง ฯลฯ

พระแม่สรัสวดี เทวีแห่งปัญญาความรู้

รูปภาพของพระแม่สรัสวดี หรือ สรัสวตี นั้นจะสังเกตได้ง่ายที่สุดคือ พระองค์จะทรงเครื่องดนตรีที่เรียกว่า วีณา (จะเข้ของอินเดีย) อยู่เสมอ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการดนตรี ศิลปะทุกแขนง และการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ฯลฯ พระหัตถ์อีกข้างจะถือ คัมภีร์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้ ปัญญา การเขียน การอ่าน การศึกษา และพระหัตถ์อีกข้างทรงถือ ลูกประคำ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการสวดมนต์ การภาวนา การทำสมาธิ การประกอบพิธีกรรม ฯลฯ

บางลัทธิ บางคติที่มีการวาดรูปพระสรัสวตีเพื่อการบูชานั้น อาจจะวาดให้พระองค์ทรง ขลุ่ย สังข์ คันศร คฑา บ่วง ลูกบด ประตัก ฯลฯ แล้วแต่จิตรกรจะสร้างสรรค์ขึ้น สำหรับพาหนะของพระแม่สรัสวดีคือ หงษ์ และ นกยูง เน้นที่สีขาว บางครั้งก็ทรงประทับบนดอกบัวสีขาว

 

แม้ว่าพระสรัสวดีจะเป็นชายาของพระพรหม แต่ก็มักจะปรากฎเดี่ยวๆ ไม่ค่อยปรากฏคู่กับพระพรหมเท่าใดนัก หรือมักปรากฎพร้อมกับพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมี ในรูปภาพบูชาแบบ ตรีเอกานุภาพ (พลังทั้งสาม) หรือปรากฎพร้อมพระแม่ลักษมีและพระแม่อุมา ในรูปภาพบูชาแบบ ตรีศักติ (พระแม่ทั้งสาม) มากกว่า

ในทางศาสนาพุทธ พระสรัสวดี ก็มีพุทธคติเป็นเทพแห่งการศึกษา โดยเฉพาะในพุทธนิกายมหายานนั้น ก็มีความสำคัญรองจาก พระนางปรัชญาปารมิตา และ พระนางตารา (ข้อมูลของ อ.กิตติ วัฒนะมหาตม์)

การบูชาพระสรัสวตีนั้นก็เหมาะสมแก่นักเรียน นักศึกษา มีการประดิษฐานเทวรูปในสถานศึกษา เช่น ที่ วัดเทพมณเฑียร ก็ประดิษฐานเทวรูปพระแม่สรัสวตีไว้หน้าทางเข้า โรงเรียนภารตวิทยาลัย ผู้ที่จะเดินเข้าโรงเรียนและวัดเทพมณเฑียรก็จะสักการะเทวรูปพระแม่สรัสวตีก่อนเสมอ นอกจากนี้พระแม่สรัสวดียังเหมาะสมแก่การบูชาสำหรับผู้มีอาชีพเป็นครู นักวิจัย นักวิชาการ นักโบราณคดี ผู้ที่อยู่ในแวดวงแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ

 

นอกเหนือจากวิชาชีพวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ และครุศาสตร์แล้ว ผู้ที่สมควรบูชาพระแม่สรัสวดีก็ยังมีสายวิชาชีพศิลปะ การวาดเขียน การแต่งเพลง การดนตรีทุกแขนง ตลอดจนสายนิเทศศาสตร์ นักเขียน นักข่าว นักพูด นักบรรยาย ฯลฯ

จริงๆแล้วก็เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบทุกสาขาอาชีพเลยทีเดียว ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้และพัฒนาฝีมือทักษะในวิชาชีพของตนอย่างไม่หยุดนิ่ง ก็ขอแนะนำให้บูชาพระแม่สรัสวดีเป็นเทพประจำตัวเพื่อขอพรให้มีทักษะและความรู้เพิ่มพูนยิ่งๆขึ้นไป

 

คนไทยสมัยก่อนมักออกเสียงพระองค์ว่า สุรัสวดี อันปรากฎในหนังสือ จินดามณี และชาวไทยยังถือว่าพระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์การละคร การแสดง การร่ายรำ จึงได้มีการมอบ รางวัลพระสุรัสวดี ให้แก่นักแสดงและผู้เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนต์ไทยมานานหลายปีแล้ว

เทศกาลสำคัญขององค์พระแม่สรัสวดี คือ เทศกาลวสันตะ ปัญจมี ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีการประกอบพิธีบูชาพระสรัสวตีทั้งวันทั้งคืน พร้อมทั้งแห่เทวรูปไปทั่วเมือง และทำการสรงน้ำ หรืออัญเชิญลงสรงน้ำในแม่น้ำ เช่นเดียวกับวันคเณศจตุรถี มีการตกแต่งบ้านเรือนและเทวาลัยของพระองค์ด้วยดอกดาวเรือง ดูสวยงามไปทั้งเมือง การประกอบพิธีในเทศกาลนี้ก็เพื่อต้อนรับการมาของฤดูใบไม้ผลิ หรือวสันตฤดูนั่นเอง


 

ในส่วนต่อไปนี้ คัดลอกสำนวนจากหนังสือ 108 เทพแห่งสรวงสวรรค์ 2 ของธนกร พันธ์บุญเกิด)
ข้อมูลจาก http://wongmalatorn-say.exteen.com/20080205/entry-2


"นโม เทวเย สรัสวัตเย"
มนตราความสำเร็จแห่งพระศรีสรัสวดี เทวีแห่งปรีชาญาณ
ใน "ศรีมัทเทวีภัควัต ปุราณะ" พระศรีนารายัณทรงตรัสว่าพระนางสรัสวดีเสด็จมายังไวกุณฑะเนื่องในวันวสันตะ ปัญจมี
อันเป็นเทศกาลบูชาของพระนางเธอ ทรงเสด็จมาครั้งนี้เพื่อเผยถึงความหมายในการกราบไหว้บูชาพระนางให้ได้พรสูงสุด


พระนางสรัสวดี จะต้องได้รับการกราบไหว้บูชา ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนมาฆะ ซึ่งเรียกว่า วสันตะปัญจมี ผู้บูชาภายหลังที่ได้ประกอบกิจกรรมส่วนตัวในตอนเช้าแล้ว จะต้องจัดหาหม้อทองเหลืองมาวางไว้ที่หน้าประตูทางเข้า ในครั้งแรกเขาต้องกราบไหว้บูชาต่อพระคเณศวรก่อน ต่อมาจึงประกอบพิธีบวงสรวงบูชาต่อเทวรูปพระแม่ ด้วยการถวายของบวงสรวงพิธี โศทโศปจร (Shodashopochar) ด้วยการถวายการกระทำถวาย 16 อย่างต่อเทวรูป หลังจากการกล่าวสวดมนตร์ถวายต่อพระสรัสวดีเป็นการ ประสทัม (Prasadam) ผู้บูชาจะต้องถวาย น้ำมันเนย นมเปรี้ยว เนยสด น้ำผึ้ง นม งา ขนมหวานที่ทำจากแป้ง(ลัททุ) น้ำตาลอ้อย มะพร้าว ลูกเกด กล้วย ฯลฯ การจัดมาถวายนี้ต้องแจกจ่ายผู้มาร่วมงานพิธีนี้โดยทั่วกัน และที่สำคัญ ผู้บูชาจะต้องสวดมนต์ว่า “นโม เทวเย สรัสวัตเย” ข้าพเจ้าขอน้อมกราบต่อพระแม่สรัสวดี มนต์บทนี้สามารถให้ความสำเร็จดั่งความต้องการของผู้บูชาทั้งหลาย พระวิษณุเทพทรงตรัสต่อท่านฤษีนารัทว่า

" โอ่ ฤษี อันมนตร์ 8 ตัว บทนี้ข้าได้มอบต่อให้ฤษีภฤคุ ผู้ที่ได้มอบต่อไปยังพระศุกราจารย์ และพระศุกร์ได้มอบต่อให้ท่านฤษีพฤหัสบดี ท่านมีความพึงใจทากต่อการกราบไหว้บูชา ชรัต กรุ (Jarat Kuru) ได้สังสอนมนตร์บทนี้ไปยังปวงมนุษย์เพื่อเป็นสาธารณะกุศล บุคคลใดที่ได้กล่าวมนต์นี้เป็นจำนวน 4 แสน ครั้งโดยไม่มีการหยุดพักเลย จะเพิ่มพูนบารมี มีพลังอำนาจในตนเองมากขึ้น ในบั้นปลายแห่งชีวิตผลบุญจะนำเขาไปยังสู่สถานที่อันสูงสุด และได้พบกับความสุขที่แท้จริง "

ในกาลครั้งหนึ่ง ฤษียัคยะ วัลกยะ ถูกสาปแช่งจากอาจารย์ของเขาให้สูญเสียความรู้ ความฉลาดจนหมดสิ้น เขาได้แต่โศกเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาเริ่มต้นด้วยการกราบไหว้บูชาต่อพระอาทิตย์ว่าการเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง และให้ความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

ท่านฤษีได้ประกอบพิธีกรรม สมาธิบูชาต่อพระอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พระอาทิตย์ทรงโปรด จนในที่สุดเทพเจ้าพระองค์นี้ทรงปรากฏองค์ให้เห็น ท่านฤษีได้กราบทูลเรื่องราวความทุกข์โศกเศร้าของท่าน เทพเจ้าทรงแนะนำการกราบไหว้บูชาต่อ พระแม่วาจเทวี (Vak Devi) และทรงมอบมนต์อันวิเศษให้ไว้แก่ท่านฤษีว่า “นโม เทวเย สรัสวัตเย” ท่านได้กล่าวเตือนท่านฤษีว่า

“โอ่ ฤษี หลังจากที่ท่านได้ท่องสวดมนต์นี้แล้ว ให้ตามด้วยการท่องมนตร์โคลงต่อไปว่า

กฤปัม กุรุ ชคันมาตัช มาม เอวัม หัชเตชสัม /

กยานัม เทหิ สัมฤติ วัทยัม ศักติ เทหิ นมัสวินิ //

"ข้าแต่พระม่ ขอทรงส่งแสงพระเมตตาของพระองค์มาสู่ข้าพเจ้า ผู้ขาดความสุกสว่าง เต็มไปด้วยความทุกข์เศร้าหมอง ข้าแต่พระแม่ผู้ทรงกำหนด! ขอทรงโปรดต่อข้าพเจ้าอีกครั้ง ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความฉลาด ความทรงจำที่ดีทั้งหลาย และขอให้ข้าพเจ้ามีสุขภาพพลานามัย มีจิตใจที่ดีสมบูรณ์ด้วยเถิด"

เมื่อพระอาทิตย์เสด็จจากไป ท่านฤษียัคยะ วัลกยะ มีความยินดีมากได้ตระเตรียมตัวเดินทางไปยังป่าทึบแห่งหนึ่งเพื่อ ประกอบพิธีบวงสรวงพระแม่ หลังจากที่ได้สวดมนตร์ตามที่พระอาทิตย์สั่งกำชับไว้เป็นเวลายาวนานโดยที่ ท่านไม่ยอมพักดื่มน้ำหรือกินอาหารใดๆ เลย แม้ว่าท่านจะต้องทนทรมานกายอย่างหนักเพื่อบูชาด้วยจิตที่ตั้งมั่นดีแล้ว วันหนึ่งพระแม่ได้ปรากฏกายต่อหน้าท่านฤษี พระนางทรงประทานพรให้กับฤษีตามที่ต้องการ“นับจากนี้ ขอให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านกวีนิพนธ์ มีความรู้และมีปัญญาเป็นเลิศ”กล่าวกันว่า พระแม่ที่แท้จริงนั้นมีหลายรูปลักษณ์ ผู้หวังซึ่งพระเมตตาขอพระนางสรัสวดีเพื่อความรู้ ความฉลาดจะต้องทำการกราบไหว้บูชาต่อพระแม่ในรูป พระนางสรัสวดีเท่านั้น



พระแม่สรัสวดี เทวีแห่งปัญญาความรู้

คาถาบูชาพระแม่สรัสวดี

มีหลายบท เลือกสวดบทใดบทหนึ่ง (หรือสวดทั้งหมด)
การสวดนั้นจะออกเสียงพระนามของพระองค์ว่า
สรัสวดี, สรัสวตี, สุรัสวดี, สุรัสวตี ฯลฯ ก็ได้ตามถนัด

(ก่อนการสวดบูชาจะต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ)

- โอม ชยะ ศรี สรัสวตี มาตา

- โอม ศรี สรัสวตี นะมะห์

- โอม ศรี สรัสวตี ยะนะมะฮา

- โอม ศรี มหาสรัสวตี เจ นะมะฮา

- โอม สรัสวตี นามะ สตุภะยัม
วารเด กามรูปานี
วิทยา อาราม ภาม
การิชยามิ สิทธิ ภาวะตุ เม ซาดา
คำแปล : โอม พระแม่สรัสวดีเทวีผู้สูงศักดิ์
ข้าพเจ้าขอศิโรราบแด่พระองค์ และจะถ่อมตนอยู่เสมอ
พระองค์คือผู้ประทานทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนา
ข้าพเจ้าจะร่ำเรียน ค้นคว้าสรรพความรู้จากท่าน
และขอพระองค์ประทานพรให้เกิดความสำเร็จแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

- โองการพินทุ นาถัง อุปปันนัง
สรัสวดี มะเตโต มหาเทโว ราชคาถา

- โอม ไจยตี ไจยปารตี สรัสวตี ไจยเดวี
ไจยตี อามิตาวรตายินี สุรนารามุนี
จันเสวีไจย สตาวาดินี ชยามพาวี
วีณาวาดินี อัมพา ปัทมาปะรีเย
ปรเมศวารี อิกาตุมาฮาราฮีนา อวลัมปา

- โอม สุรัสวดี อิตถีเมตตัญจะ เทวะปัญจะเร ภะวันตุเม
ทุติยัมปิ สุรัสวดี อิตถีเมตตัญจะ เทวะปัญจะเร ภะวันตุเม
ตะติยัมปิ สุรัสวดี อิตถีเมตตัญจะ เทวะปัญจะเร ภะวันตุเม

 

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/saraswati.html

Top