ประวัติ พระแม่กาลี - (เทวีผู้ทรงมหิทธา) - webpra

พระแม่กาลี

ประวัติ (เทวีผู้ทรงมหิทธา)


พระแม่กาลี
เทวีผู้ทรงมหิทธา

พระแม่กาลี

พระแม่กาลี ได้แบ่งภาคจากการบำเพ็ญตบะของ พระอุมาเทวี (พระแม่อุมา) โดยทรงมีจุดประสงค์เพื่อปราบอสูรตนหนึ่ง นามว่า อสูรทารุณ

ความเป็นมามีอยู่ว่า อสูรทารุณนี้แม้ว่าจะถูกฆ่าสักกี่ครั้งก็ไม่มีวันตาย แล้วที่สำคัญกว่านั้นเมื่อเลือดตกลงพื้นเมื่อใดก็จะทวีขึ้นเรื่อยไปไม่หมดสิ้น ความที่คิดว่ามีอิทธิฤทธิ์มากมาย ฆ่าไม่ตาย จึงทำให้อสูรทารุณเกิดฮึกเหิมในความเก่งกาจของตน จึงนำอิทธิฤทธิ์ ความเก่งกาจมาใช้ในการกลั่นแกล้ง รังแกผู้คน เทวดาทั่วไป สุดท้ายก็คิดจะครอยครองโลกทั้งสาม เมื่อเป็นดังนี้แล้วเหล่าเทวดา นางฟ้า ผู้ทรงศีลทั้งมวล จึงต้องนำเรื่องเข้าเฝ้าพระอิศวร เพื่อหาทางปราบอสูรตนนี้ เหล่าเทวดาทั้งหลาย เมื่อได้ฟังสรรพคุณของอสูร ก็ไม่มีใครกล้าอาสาออกไปสู้รบเลย

จนในที่สุด องค์พระศรีมหาอุมาเทวี เทพสตรีแห่งสวรรค์ ได้มีความประสงค์ที่จะออกปราบศัตรูร้าย ซึ่งพระองค์ได้ขอพรขอต่อองค์พระศิวะผู้เป็นเจ้า เพื่อให้ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แล้วจึงเสด็จเพื่อบำเพ็ญตบะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ ให้มีฤทธิ์อำนาจปราบศัตรูร้ายได้ โดยได้กระทำพิธีในอุทยานเขตแดนป่าหิมพานต์ โดยพระศรีมหาอุมาเทวีได้ทรงมอบหมายให้องค์ขันทกุมาร (หรือ พระสกันทะ ซึ่งเป็นโอรสอีกองค์หนึ่งของพระศิวะและพระแม่อุมาเทวี) รับหน้าที่ดูแลไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในพิธีได้โดยเด็ดขาด

 

เมื่อเวลาผ่านไป พระศิวะ จึงเสด็จเข้าไปในอุทยานเพื่อให้รู้แน่ ว่าเกิดเหตุใดขึ้น พระองค์ก็พบพระขันทกุมาร จึงสอบถามพระขันทกุมารว่าพระอุมาเทวีอยู่ที่ใด จะขอเข้าพบ พระขันทกุมารได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวตอบไป ด้วยความที่ทรงได้รับคำสั่งจากพระอุมาเทวีก่อนเข้าบำเพ็ญตบะ ว่าห้ามมิให้ใครผู้ใดย่างกรายเข้าสู่บริวณพิธีโดยเด็ดขาด จึงไม่สามารถให้พระศิวะผ่านเข้าไปในพิธีได้ (คล้ายกับกรณีพระพิฆเนศกับพระศิวะ)

เมื่อเป็นดังนั้นจึงเกิดการโต้เถียงขึ้น เลยเถิดถึงการปะทะกำลังกัน เหตุการณ์ผ่านไปไม่น่านนักก็ถึงเวลาที่พระแม่อุมาเทวีบำเพ็ญตบะเสร็จ จึงได้เสด็จออกมา แต่สิ่งที่ปรากฎกลายเป็นรูปกายที่เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นพระแม่กาลี!! โดยองค์พระขันทกุมารเมื่อเห็นพระแม่กาลีก็ทรงทราบได้ว่านี่คือพระมารดาของตน
พระแม่กาลี

เมื่อพระแม่อุมาได้ฟังคำจากพระขันทกุมารว่า พระศิวะไม่มีความเกรงใจและจะผ่านเข้าไปในพิธีให้ได้ จึงได้เกิดความโมโห ตาถลนออกนอกเบ้า หน้าตาดุดัน แลบลิ้นยาวน่าเกลียดน่ากลัว ทำปากแบะกว้างเห็นเขี้ยวโง้ว มีเลือดไหลจากมุมปากและตามมือและลำตัว ส่งกลิ่นคาวคลุ้งไปทั่ว ตรงเข้าหาพระศิวะทันทีด้วยความโมโห เมื่อพระศิวะเห็นถึงกับผงะ ตกใจหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต

พระแม่กาลีก็ทรงไล่ตามเรื่อยจนพระศิวะทรงพ้นจากเขตอุทยานไป พระแม่กาลีจึงย้อนกลับไปหาพระขันทกุมาร ด้วยเห็นถึงความซื่อสัตว์ จงรักภักดี ไม่ยอมผิดคำสัตย์ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ถึงแม้นว่าจะเป็นพระบิดาของตนก็ตาม เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่พอพระทัยแก่พระแม่กาลีเป็นอย่างยิ่ง

 

จากนั้น พระแม่กาลีจึงรีบเสด็จออกจากอุทยาน เพื่อตามล่าสังหารอสูรทารุณ ซึ่งไม่นานพระแม่กาลีก็ได้เผชิญหน้ากับอสูรทารุณ และด้วยฤทธิ์อำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย การต่อสู้ที่ยาวนานจึงเกิดขึ้น

จังหวะที่พระแม่กาลีทรงใช้ดาบฟันคออสูรขาด เลือดของอสูรก็หยดลงพื้น อสูรจำนวนมากจึงผุดขึ้นมาจากหยดเลือดเหล่านั้น อสูรที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆตามหยดเลือดของอสูรทารุณ พระแม่กาลีเห็นดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่มีวันฆ่าอสูรตนนี้ให้ตายได้เป็นแน่

พระแม่กาลีจึงคิดกลอุบายเพื่อเอาชัยชนะในครั้งนี้ให้ได้ โดยการตัดหัวของอสูรพร้อมทั้งดูดกินเลือดอสูรก่อนที่เลือดจะตกลงพื้น เมื่อกินจนหมดสิ้นแล้ว รูปกายของพระแม่กาลีจึงอ้วนใหญ่ ในมือนั้นถือหัวของอสูรที่ตัดร้อยเป็นพวงไว้ อสูรทารุณจึงสิ้นฤทธิ์ลงด้วยเหตุนี้

 

ด้วยความดีพระทัยที่ทรงได้รับชัยชนะในครั้งนี้ พระแม่กาลีจึงเต้นระบำอย่างสำราญหทัยที่สุด จนลืมพระองค์ ทรงยกพระบาทขึ้นหมายจะกระทืบลงพื้นโลกอย่างเต็มแรง!!

ชั่วระยะเวลานี้ เหล่าเทวดาทั้งหลายเห็นดังนั้นก็คิดว่าเมื่อพระแม่กาลีกระทืบพระบาทลงพื้น พื้นโลกคงแตกสลายสร้างความเดือดร้อนเป็นแน่แท้ จึงรีบพากันเข้าเฝ้าพระศิวะอย่างเร่งด่วน พระศิวะได้ฟังคำจากเหล่าเทวดาจึงได้ตะหนักว่า พระแม่กาลีที่มีรูปกายน่าเกลียดน่ากลัวนั้น แท้จริงควรจะเกรงใจพระองค์และจดจำพระองค์ได้บ้าง คิดได้ดังนั้นจึงเสด็จไปอย่างรวดเร็วและไปนอนขวางพื้นโลกไว้ พระแม่กาลีก้มลงเห็นพระศิวะนอนขวางอยู่จึงชะงักด้วยความเกรงอกเกรงใจพระสวามี จึงไม่กล้ากระทืบพระบาทลงพื้นดิน และหยุดการกระทำนั้นลง เหล่าเทวดาทั้งหลายจึงโล่งอก พระแม่กาลีแปลงร่างกลับคืนสู่สภาวะปกติ เหตุการณ์จึงจบลงฉะนี้...

พระแม่กาลี

พระแม่กาลี หรือ เจ้าแม่กาลี มีอำนาจฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง
มีเทวานุภาพอันแรงกล้า สร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง เด็ดขาด แฝงเร้นไว้ซึ่งความน่ากลัว
ผู้บูชาพระแม่กาลีอย่างถูกต้องและเคร่งครัด พระแม่จะประทานความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และอำนาจเหนือผู้อื่น

พระแม่กาลี ยังมีพลังอำนาจในการขจัดคุณไสย ลบล้างไสยเวทย์ด้านมืด
หากบุคคลใดถูกกระทำทางไสยศาสตร์ เมื่อผู้นั้นได้สวดบูชาอ้อนวอนต่อพระองค์ท่านแล้ว
พระองค์ท่านก็มักให้พร ขจัดสิ่งอาถรรพ์ชั่วร้ายให้มลายหายไป

ผู้ใดกระทำการสวดบูชา สรรเสริญ และถวายเครื่องสังเวยแด่พระแม่กาลีเป็นประจำ
พระองค์ท่านจะประทานความปลอดภัยมาสู่ผู้นั้น ทรงดลบันดาลให้เกิดความสันติผาสุขแก่ผู้ครองเรือนทั่วไป
คุ้มครองผู้บูชาจากภยันตรายและอุบัติเหตุร้ายแรง

พระแม่กาลีทรงมีบุคลิกภาพที่ยากแก่การเข้าใจ มีความลึกลับที่สุดในบรรดาเทพเทวาทั้งปวง
พระนางมีความดุดัน เกรี้ยวกราด รูปลักษณ์และอุปนิสัยล้วนเต็มไปด้วยความน่าะพรึงกลัว
แต่พระนางก็จะทำลายเฉพาะอสูร ปีศาจ และมนุษย์ที่กระทำการชั่วร้ายเท่านั้น
เนื่องจากพระแม่กาลีก็คือเทพ และเทพก็มักปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความดีเช่นเดียวกันทุกพระองค์
ฉะนั้น แม้ผู้ที่บูชาพระแม่อย่างเคร่งครัด แต่เป็นคนที่ไม่ดี มีความคิดที่ชั่วร้าย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
พระแม่ท่านก็จะทำลายบุคคลผู้นั้นเสียโดยไม่ละเว้น!!

 

การบูชาพระแม่กาลี

แท่น หิ้ง หรือ โต๊ะบูชา ขององค์พระแม่กาลี ควรปูด้วย ผ้าสีแดงก่อน แล้วค่อยประดิษฐานรูปภาพหรือเทวรูปลงไป หากประดิษฐานในศาลหรือเทวาลัย ควรทาสีเทวาลัยด้านในให้เป็นสีแดงหรือสีดำ กระถางธูป ถ้าทาสีแดงหรือดำได้ก็ยิ่งดี

ตามตำราโบราณกล่าวไว้ว่า การบูชาพระแม่กาลี น้ำสีแดง ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ (ใช้น้ำสมุนไพรสีแดงหรือน้ำหวานสีแดง) เนื่องจากสีแดงคือสีแห่งพลังที่มีการเคลื่อนไหว เป็นสีแห่งการกำเนิด มีความเร่าร้อน เป็นสีแห่งชีวิตที่สดใส ตลอดจนเปรียบได้ดั่งโลหิตของอสูรร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาถวายสังเวยแด่พระแม่กาลี ยังมีขนมที่ควรถวาย ถ้าหา ขนมสีแดง ได้ก็ดี หรือ ขนมลาดูป (ลัทดู) ขนมโมทกะ ที่ถวายพระพิฆเนศ ตลอดจน ดอกไม้สีแดง ทุกชนิด (ดอกกุหลาบแดง หรือดอกชบาแดง ก็จัดหาได้สะดวกในเมืองไทย)

ธูปหอม กำยาน น้ำมันหอมระเหย สามารถจัดหากลิ่นใดก็ได้ แต่ที่แนะนำก็จะเป็นกลิ่นจันทน์ น้ำมันอบเชย น้ำมันกระดังงา และการบูร

ที่อินเดีย โดยเฉพาะในเมืองกัลกัตตา เมืองที่มีผู้บูชาลัทธิพระแม่กาลีมากที่สุดในโลก ผู้บูชามักสังเวยพระแม่ด้วยเลือดแพะ น้ำสีแดง ขนมสีแดง ถวายอาหารคาว (เป็นเทพองค์เดียวของฮินดูที่ถวายเนื้อสัตว์อาหารคาวได้) เนื้อสัตว์ทั้งปรุงสุกและกึ่งสุกกึ่งดิบ แต่ดิบๆเลยไม่ได้ ถวายเนื้อสัตว์ต้มสุกได้ แต่ห้ามถวายเนื้อวัวเนื้อควาย ควรใช้เนื้อไก่เนื้อเป็ด

 

ถ้าถวายอาหารคาว ควรมีเหล้าถวายด้วย
แต่ถ้าถวายเพียง ขนม ก็ไม่จำเป็นต้องมีเหล้า

ถ้าผู้บูชาเลือกที่จะถวายขนม นม น้ำแดง ก็ประดิษฐานพระแม่กาลีร่วมโต๊ะหรือหิ้งเดียวกันกับเทพองค์อื่นๆของฮินดูได้
แต่ถ้าเลือกที่จะถวายอาหารคาวและเนื้อสัตว์ด้วย ก็ควรจะแยกหิ้งออกมาต่างหาก เนื่องจากเทพองค์อื่นๆไม่โปรดเนื้อสัตว์

ขั้นตอนที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือ
การสวดบูชาสรรเสริญพระแม่กาลีด้วยมนต์ที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ และการทำสมาธิทุกวัน วิธีที่เหมาะสมคือ การประกอบ "ปราณยาม" หรือการทำสมาธิด้วยการหายใจเข้า-ออกโดยลากให้ยาวสุด เข้าสุด-ยาวสุด เป็นระยะเวลาที่เท่าๆกันสม่ำเสมอทุกวัน ควรถือศีลอดบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อถวายแด่พระองค์ (นำเนื้อสัตว์ถวายแก่พระแม่แล้วเราทานมังสวิรัติแทน เพื่อเป็นการแสดงให้พระองค์เห็นถึงความศรัทธาและจงรักภักดีที่เรามีต่อท่าน)

เทศกาลที่สำคัญคือ มหากาลีบูชา (Maha Kali Puja)
ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 (เช็คดูวันในปฏิทินให้ตรงกันได้ด้วยตนเอง)
เป็นวันแห่งการบวงสรวงพระแม่กาลี
ผู้ศรัทธาจะกระทำการจัดถวายเครื่องสังเวยชุดใหญ่
และทำการภาวนามนต์บูชาพระองค์ สวดสรรเสริญตลอดวันตลอดคืน

พระแม่กาลี

คาถาบูชาพระแม่กาลี

มีหลายบท เลือกสวดบทใดบทหนึ่ง (หรือสวดทั้งหมด)
***** ก่อนการสวดบูชาพระแม่กาลีจะต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ *****

1. โอม กาลี มา (3 จบ)

2. โอม เจ มาตา กาลี

3. โอม สตี เยมาตา กาลี

4. โอม มหาศักติ กาลี มาตา

5. โอม ชยะ ศรี มหากาลี มาตา

6. โอม มหากาลี นมัส

7. โอม ชยะตี มังคลากาลี ภัทรกาลี กะปาลินี
ทุรกา ศะมา ศิวาธาตรี สวาฮา สวาธา นโม สะตุเต

8. โอม ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ
ทุติยัมปิ ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ
ตะติยัมปิ ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ
(คาถาบูชาทั้งพระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา)

9. โอม ชยะตี มหากาลี ชยะตี อาธยะ กาลี มาตา
ชยะรูปะ ประจัญทิกา มหากาลิกะ เทวี
ชยะตี รักตาสะนะ เราทะระมุขี รุทะรานี
อริ โศนิตขะไประ ภะระนี ขัททะคะ ธรณี ศุจี ปาณนี ฯ

 

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/kali.html

Top