ประวัติ พระอินทร์ - (ราชาผู้ครองสวรรค์) - webpra

พระอินทร์

ประวัติ (ราชาผู้ครองสวรรค์)


พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์


ศาสนาพราหมณ์ หรือ ศาสนาฮินดู แต่โบราณจะนับถือ พระอินทร์ ให้เป็นใหญ่สูงสุด พระอินทร์ถือได้ว่าคือเทพเจ้าองค์แรกสุดของศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็ว่าได้ จนในปัจจุบัน การบูชาพระอินทร์ก็ยังมีอยู่ในหมู่ผู้ศรัทธาทั่วไป เพียงแต่ถูกลดบทบาทลงทั้งในศาสนาฮินดู ที่ยกย่อง พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และ พระศิวะ (พระอิศวร)ขึ้นเป็นใหญ่แทน

เมื่อโบราณ พระอินทร์ ถือว่ามีอานุภาพสูงที่สุดในบรรดาเทพทั้งปวง สามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆได้ เช่น บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ให้พืชพรรณงอกงาม เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี และยังเป็นเทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดในการบันดาลให้เกิดภัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม พายุอันรุนแรง ฯลฯ

พระอินทร์ มี วัชระ หรือ สายฟ้า เป็นศาสตราวุธคู่กาย วัชระนี้สามารถสร้างสายฝนและฟ้าผ่า ฟ้าร้องได้ เป็นศาสตราวุธของเทพเจ้าที่ทรงอำนาจเป็นอย่างมาก สามารถผ่ามหาสมุทรได้ สามารถผ่าภูเขาได้ สามารถผ่าท้องฟ้าได้

พระวรกายของพระอินทร์นั้นมีสีเหลืองทอง กระจ่างสดใส อีกตำราก็ว่าพระอินทร์มีผิวสีแดงเข้ม สวมอาภรณ์อย่างสวยสดงดงาม ดูสะอาดสะอ้าน มีงูเป็นสร้อย สวมเครื่องประดับเพชรนิลจินดามากมาย เช่น สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน มงกุฎอันตระการตา ศิลปินที่วาดรูปพระอินทร์ได้งดงามจะถือว่าเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

พระอินทร์สามารถแปลงกายได้สารพัด สามารถล่องหนไปปรากฎอยู่ที่ใดก็ได้ สามารถเนรมิตให้ร่างกายเล็กกระจิดอย่างมด หรือเนรมิตให้ร่างกายใหญ่โตมหึมาดั่งภูเขา
พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์

พาหนะของพระอินทร์มี 2 อย่าง คือ "รถม้า" และรถม้านั่นก็คือ "พระอาทิตย์" นั่นเอง

และอีกอย่างคือ "ช้างเอราวัณ" หรือช้าง 3 เศียร (แต่เดิมมีถึง 33 เศียร)

พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์


พระอินทร์เป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่เหนือชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์
มีหน้าที่ปกป้องดูแลโลกให้พ้นจากสิ่งเลวร้ายต่างๆ เป็นผู้นำเหล่าเทพเจ้าไปกำจัดอสูรร้ายในหลายคราว

นอกจากศาสนาพราหมณ์แล้ว ในศาสนาพุทธ พระอินทร์ ยังเป็นเทพผู้รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนยงถึง 5,000 ปี เนื่องจากพระอินทร์เป็นเทวกษัตริย์ อันหมายถึงเป็นราชาแห่งเหล่าทวยเทพ จึงมีอำนาจในการสั่งการ ทำลายผู้ที่จะนำพาพระพุทธศาสนาไปในทิศทางที่ไม่ดี

เมื่อพระอินทร์ได้ทรงสร้างอาณาจักรบนสรวงสวรรค์ให้ยิ่งใหญ่ แล้ว ราชาแห่งทวยเทพพระองค์นี้ก็เนรมิตให้เหล่าเทวดาที่ได้ขึ้นสวรรค์ได้อยู่ อย่างมีความสุขปราศจากมลทินและความเศร้าทุกข์ใดๆ

พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์


พระอินทร์มีศัตรูคู่กรณีที่สำคัญที่สุดคือ งูยักษ์วริตรา ได้ทำสงครามกันหลายครั้ง แต่ละครั้งก็กินระยะเวลายาวนาน และทุกๆครั้งพระอินทร์ก็จะเป็นฝ่ายชนะเสมอ พระอินทร์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของ ธรรมะ และงูยักษ์ ก็เป็นสัญลักษณ์ของ อธรรม นั่นหมายถึงทั้งสองอย่างจะอยู่คู่กันและไม่มีทางดับสูญได้เลย

ท้าวสักกะเทวราช คืออีกพระนามหนึ่งของพระอินทร์ ในตำราหนึ่งกล่าวไว้ว่า พระอินทร์เกิดมาจากผู้ใจบุญจำนวน 33 คน ได้ร่วมกันสร้างศาลาและร่วมกันทำเส้นทางเพื่อถวายเป็นทาน เมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดา เทวดาเหล่านี้ก็รวมร่างกันกลายเป็นพระอินทร์ ช้างทรงของพระอินทร์จึงมี 33 เศียร เพื่อแสดงถึงผู้กระทำคุณงามความดี 33 คนนั่นเอง

พระอาสน์ (ที่นั่ง) ของพระอินทร์มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เมื่อร้อนขึ้นมาคราใด นั่นหมายถึงโลกมนุษย์ได้เกิดเหตุร้าย อสูรร้ายออกอาระวาด เมื่อนั้นพระอินทร์ก็จะออกจากสวรรค์ แปลงกายเป็นสัตว์ที่มีร่างกายกำยำ แข็งแกร่ง เพื่อลงมาปราบอสูรให้สิ้นไป ผู้ที่ได้ประกอบความดีบนโลกมนุษย์ เมื่อสิ้นอายุแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดา ประทับอยู่บนสรวงสวรรค์อันเป็นวิมานของพระอินทร์

พระอินทร์จึงเป็นเทพที่จิตใจดีงาม คอยคุ้มครองผู้ที่กระทำความดีอยู่เสมอ


มเหสีของพระอินทร์
(จากตำราเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

มเหสีของพระอินทร์นั้น ตรวจดูตามหนังสือต่างๆว่า มีองค์เดียว และโดยมากเรียกว่า "อินทราณี" ฤา "ศจี"

หนังสือพจนานุกรมภาษาสันสกฤตได้กล่าวไว้ว่า "มเหสี" ของ พระอินทร์ มีนามเรียกว่า ศจี อินทราณี มโฆนี อินทรศักติ
ปุโลมชา และ เปาโลมี ดังนี้ ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า ตามบรรดาสตรีทั้งหลาย อินทราณีมีโชคดียิ่งกว่าหญิงทั้งสิ้น
เพราะว่าภัสดาของนางจะมิได้สิ้นชีพลงด้วยชราภาพเลยในเบื้องหน้า

เพราะพระอินทร์จะเปลี่ยนไปกี่องค์ๆ นางอินทราณีก็จะยังคงเป็นอัตรมเหสีของพระอินทร์ต่อๆไป
ในสวรรค์จะต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นใหญ่ปกครองโลกสวรรค์ และนางอินทราณีจะเป็นอัตรมเหสีของจอมสวรรค์เสมอ
เพราะฉะนั้น จึงนับว่าไม่มีเลยที่ภัสดาของนางอินทราณี จะต้องสิ้นชีพลงเพราะชราภาพ


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/indra.html

Top