พระอาจารย์เอียดดำ อริยวังโส
ประวัติ วัดศาลาไพ จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนได้เคยสอบถามคุณตาขุนพันธ์ว่า นอกจากสำนักเขาอ้อ จ.พัทลุง แล้วใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในยุคก่อนก็นับว่ามีพระเกจิแก่กล้าวิชาอยู่มากมาย คุณตาศึกษาร่ำเรียนไสยเวทจากท่านผู้ใดบ้างไหม คุณตาตอบโดยไม่คิดว่าในยุคปี 2480 นั้นท่านมีอาจารย์อยู่สองเอียดที่ถ่ายทอดสรรพวิชาอาคมให้เอียดหนึ่งคือ พระอาจารย์เอียด วัดดอนศาลา พัทลุง และอีกเอียดหนึ่งคือพ่อท่านเอียดดำ วัดศาลาไพ นครศรีธรรมราช ทั้งสองเอียดนี้เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในแคว้นแดนใต้ยุคนั้น ผู้เขียนเองก็เคยได้ยินนาม พ่อท่านเอียดดำอยู่เสมอ เพราะเหรียญรูปเหมือนของท่านมีค่านิยมสูงหลายหมื่นบาท และนับเป็นเหรียญยอดนิยมหนึ่งในเหรียญเบญจภาคี ของนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่าวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง ซึ่งปลุกเสกโดยพ่อท่านเอียดดำมีพุทธคุณในด้านแคล้วคลาดคงกระพันสุดยอดเรียกว่า เหนียวชนิดแมลงไม่ได้กินเลือดเลยทีเดียว
ผู้เขียนขอนำเรื่องราวประวัติของปรมาจารย์พ่อท่านเอียดดำมาเล่าสู่กันฟังโดยความอนุเคราะห์ของพ่อท่านชม วัดศาลาไพ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ช่วยค้นคว้าข้อมูลโดยย่อมาให้ ซึ่งปัจจุบันพ่อท่านชมก็นับเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในนครศรีธรรมราช และมักจะ ได้รับนอมนต์ให้เข้าร่วมนั่งปลุกเสกวัตถุมงคลพิธีสำคัญแทบทุกครั้ง
พ่อท่านเอียดดำ ถือกำเนิดขึ้นใน ตระกูลบุญเรือนที่บ้านทับชัน หมู่ 6 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ห่างวัดศาลาไพ ประมาณ 5 กิโลเมตร ชื่อบิดามารดาและวันเดือนปีเกิดกำลังค้นคว้าอยู่ ท่านมีน้องสาวอีกหนึ่ง คนนามว่านางเรือง บุญเรือง
ชีวิตในวัยเยาว์ ของเด็กชายเอียดก็แฉกเช่นเด็กทั่วไป คือ แก่นแก้วซุกซน แต่เด็กชายเอียดมีดีตรงที่เป็นเด็กใจบุญสุนทาน ไม่ชอบทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ในสมัยนั้น ทางบ้านของเด็กชายเอียดมีฐานะยากจน ดังนั้นบิดามารดาจึงนำเด็กชายเอียดไปฝากร่ำเรียนหนังสือกับหลวงตาที่นับถือรูปหนึ่งที่วัดพระคุต วิ่งงอยู่ใกล้บ้านเป็นเวลาหลายปีจวบจนได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดยวนแหล่ และเมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทที่วัดตะวันตก ได้รับฉายาว่า อริยวังโส
เมื่ออุปสมบทได้ระยะหนึ่งแล้วพระภิกษุเอียดก็ได้ปลีกวิเวกออกธุดงค์ไปตามป่าเขา ค่ำที่ไหนก็ปักกลดเจริญสมาธิที่นั่น รอนแรมฝ่าความยากลำบากอย่างไม่ย่อท้อผจญพบพานกับสัตว์ร้ายนานาก็ได้แต่สวดมนต์ แผ่เมตตาทำให้ปลอดภัยปราศจาก ภยันตรายมากล้ำกลาย
ท่านจาริกธุดงค์ ไปอย่างไร้จุดหมายจนกระทั่งไปถึงเขตป่าประเทศพม่า ตลอดระยะเวลาหลายปีในป่าเขาลำเนาไพรได้พบได้ศึกษาวิชาอาคมกับ พระภิกษุชราผู้เรืองเวทหลายท่าน จึงสั่งสมเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญในด้านไสยเวทขึ้นเรื่อย ๆ
หลังจากเดินทางกลับเข้าสู่เขต จ.นครศรีธรรมราช ก็ได้หยุดและจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ หลายแห่งจนในที่สุดก็เดินทางมาถึงดินแดนถิ่นกำเนิด ชาวบ้านญาติพี่น้องก็ขอให้ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดศาลาไพซึ่งในขณะนั้นมีพ่อท่านเพชร ซึ่งเรืองเวทวิทยาคมยิ่งเป็นเจ้าอาวาส อยู่ช่วยทำนุบำรุงพัฒนาวัดและในยามว่างก็ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมจากพ่อท่านเพชรจนกระทั่งเจนจบครบถ้วนสรรพวิชาการ จนกระทั่งในปี 2470 พ่อท่านเพชรได้ถึงแก่มรณภาพดังนั้นชาวบ้านจึงได้ขอให้พระภิกษุเอียดขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน
เนื่องจากขณะนั้นในละแวกใกล้เคียงมีเจ้าอาวาสชื่อเอียดอยู่สองรูป คือ พ่อท่านเอียดดำ วัดศาลาไพ และพ่อท่านเอียดดำ วัดโรงฆ้อง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียดพ่อท่านเอียด วัดศาลาไพ ซึ่งมีสีผิวคล้ำดำกว่า ว่าพ่อท่านเอียดดำตั้งแต่นั้นมา
พ่อท่านเอียดดำได้นำความรู้ด้านไสยเวทที่เชี่ยวชาญการสงเคราะห์ญาติโยมจนชื่อเสียงกิติศัพท์โด่งดังไปกว้างไกล ดังนั้นในราวปี 2482 ชาวบ้านจึงขอให้ท่านสร้างวัตถุมงคลขึ้นบ้าง ซึ่งท่านได้สร้างเสือยันต์ผ้าประเจียดตะกรุดและเครื่องรางของขลังต่าง ๆ อีกทั้งมอบให้ นายไข่ คะงา ไปจัดทำเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ซึ่งสร้างจำนวนน้อยมาก วัตถุมงคลทั้งหมดพ่อท่านเอียดดำประกอบพีปลุกเสกเดี่ยวตามลำพัง ซึ่งในห้วงนั้นคุณตาขุนพันธ์ก็ได้ไปอยู่ช่วยเหลือตามกำลัง
เมื่อเสร็จพิธีกรรม ประจุพุทธาคมแล้ว พ่อท่านเอียดดำก็ได้แจกวัตถุมงคลให้แก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา ซึ่งได้ปรากฏพุทธคุณ เป็นที่เลื่องลือ ความเก่งกล้าในวิชาคาถาอาคมของพ่อท่านเอียดดำเป็นที่กล่าวขานไปทั่วนครศรีธรรมราช แม้กระทั่งพระอาจารย์เขียวก็ยังดั้นด้นมาขอศึกษาวิชาอาคม ซึ่งในยุคถัดมาพ่อท่านเขียว วัดหรงบน ก็มีชื่อเสียวโด่งดังไปทั่วประเทศ
ครั้นในปี 2484 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพากองทัพทหารญี่ปุ่นได้ยกกำลังขึ้นที่บ้านท่าแพ นครศรีธรรมราช ทหารกล้าฝ่ายไทยก็ได้ยกกำลังเข้าต่อต้านและในห้วงระยะนี้ เองที่วัดศาลาไพจะเนืองแน่นไปด้วยเหล่าทหาร ซึ่งมาขอของดีคุ้มภัย พ่อท่านเอียดดำก็ได้มอบให้ทุกราย เป็นผ้ายันต์บ้าง ตะกรุดบ้าง ปรากฏว่าบรรดาเหล่าทหารกล้าที่มีของดีที่พ่อท่านเอียดดำติดกายอยู่รอดปลอดภัย บางรายโดนทหารญี่ปุ่นยิงจนล้มคะมำ แต่ก็ลุกขึ้นสู้ต่อเพราะอำนาจกระสุนไม่สามารถต้านอำนาจพุทธคุณได้ ดังนั้น ประโยคที่ว่า มีของดีพ่อท่านเอียดดำแมลงวันไม่ได้กินเลือดก็ดังกระหึ่มไปทั่วแดนใต้
ในยุคนั้นละแวกวัดศาลาไพนับเป็นถิ่นคนดุ จนเรียกกันเป็นดงเสือแดนสิงห์ แต่พ่อท่านเอียดดำก็ใช้เมตตาธรรมอบรม สอนสั่งจนกระทั่งทุกคนประพฤติตนเป็นคนดีถ้วนหน้า นอกจากจะเป็นเกจิผู้เรืองเวทแล้ว พ่อท่านเอียดดำยังเป็นนักพัฒนาจึงได้ทำนุบำรุงวัดศาลาไพจนรุ่งเรืองและยังได้ก่อสร้างโรงเรียนวัดศาลาไพในปี 2475
หลังจากที่ทำนุบำรุงวัดศาลาไพและก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พ่อท่านเอียดดำจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์อีกครั้ง จนได้พบว่า วัดในเขียวซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงได้จำพรรษาทำนุบำรุงวัดในเขียวอีกแห่ง ในระหว่างนั้นท่านได้ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดศาลาไพและวัดในเขียวซึ่งเดินทางเท้าโดยเท้าเปล่า จนกระทั่งในปี 2486 เมื่อท่านพิจารณาเห็นว่าทางวัดศาลาไพได้เจริญรุ่งเรืองสมดังเจตนาแล้ว แต่ทางวัดในเขียวยังต้องพัฒนาอีกมาก จึงตัดสินย้ายมาอยู่วัดในเขียวเป็นการถาวร จนกระทั่งละสังขารที่วัดในเขียวในปี 2495 และทางวัดได้เก็บรักษาสังขารของท่านไว้จนถึงปี 2499 จึงได้ทำการฌาปนกิจ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com