ประวัติ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป - วัดอรัญวิเวก (บ้านปง) ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ - webpra

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

ประวัติ วัดอรัญวิเวก (บ้านปง) ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

วัดอรัญวิเวก (บ้านปง)
ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


๏ ประวัติส่วนตัว

พระอาจารย์เปลี่ยน นามสกุลเดิม วงษาจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีระกา ณ บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บิดาชื่อ กิ่ง มารดาชื่อ อรดี สกุลเดิม จุนราชภักดี บิดามารดาทำการค้าขายมีฐานะดี คุณตาเป็นกำนัน อยู่ที่ ต.โคกสี ชื่อ ขุนจุนราชภักดี และคุณยายรักหลานคนนี้มาก จึงรับมาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็กๆ

ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน เป็นผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 1 คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นายสมบิน วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
2. นายคำปิ่น วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
3. พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
4. นายเหรียญ (วงษาจันทร์) นันตสูตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
5. นางหนูจีน (วงษาจันทร์) ธรรมจิตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
6. นายถวิล วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)


๏ การศึกษา

การศึกษาในระยะแรก ได้เรียนกับคุณตาคุณยายที่บ้าน เพราะระหว่างนั้นเกิดสงครามเอเซียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ต่อมาได้เข้าโรงเรียนบ้านโคกคอน เรียนจบชั้น ป. 4 เมื่อ อายุ 11 ปี สอบได้ที่หนึ่งในชั้น ท่านอยากจะเรียนต่อ แต่มารดาต้องการให้ท่านมาช่วยการค้าของบิดา ท่านจึงต้องปฏิบัติตาม


๏ การอาชีพ

ท่านต้องออกเดินทางไปซื้อของถึง จ.อุดรธานี โดยนั่งรถโดยสารบ้าง รถบรรทุกหรือรถขายถ่านบ้าง สินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ทั่วไป เมื่อถึงฤดูทำนาก็จ้างคนมาทำนา แต่ละปีเก็บเกี่ยวข้าวจากนาได้มาก จึงขยายกิจการไปค้าขายข้าวเปลือกกับโรงสีใหญ่ๆ ด้วย

หลังผ่านการคัดเลือกทหารแล้ว ท่านหันไปสนใจการรักษาคนเจ็บป่วย ได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องยา การรักษาคนไข้จากหมอประจำอำเภอซึ่งเป็นญาติกัน คุณหมอจึงคิดจะส่งท่านไปเรียนต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งคุณตาก็สนับสนุน แต่มารดาไม่อนุญาต ต้องการให้ท่านดูแลการค้าต่อไป

โดยที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบในการทำงาน มีฐานะการเงินดี ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดจึงไว้ใจ ได้พากันนำเงินมาฝากท่านเหมือนหนึ่งเป็นธนาคาร ท่านก็เก็บรักษาให้เขาโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ท่านทำให้กับทุกคนด้วยความรักและนับถือเหมือนกับที่เขาวางใจท่าน เนื่องจากยังไม่ได้บวช จึงยังไม่คิดแต่งงานหรือตกลงใจกับใครแน่นอน แม้จะมีเพศตรงข้ามมาสนิทสนมด้วยหลายคน

 
๏ ก่อนบวช

พระอาจารย์เปลี่ยน มีโอกาสดีได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์มาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี เมื่อทางบ้านมีงานบุญ ท่านจะทำหน้าที่ไปรับพระที่วัด จึงได้เห็นวิธีเดินจงกรมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล และเป็นผู้ที่ได้แนะนำให้ไปหา หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ(ซึ่งบวชเมื่อายุมากแล้วและติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องด้านการบำเพ็ญเพียรไม่ท้อถอย) หลวงปู่พรหมได้เดินจงกรมให้ดู และสอนให้เดินด้วย หลวงปู่พรหมจึงเป็นพระอาจารย์องค์แรกของพระอาจารย์เปลี่ยน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ศึกษากับพระที่บวชกับหลวงปู่พรหมหลายองค์ ซึ่งสรรเสริญการบวชมาก ทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนคิดบวชอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี 14 ปี 16 ปี จนถึง 20 ปี แต่มารดาก็ไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่พี่ชาย 2 คนก็บวชแล้ว

ตัวมารดาเองก็ไปวัดถือศีลทุกวันพระ และบางครั้งเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูรทัตตเถระ ก็ตาม จนกระทั่งบิดาของท่านซึ่งป่วยด้วยวัณโรคถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2497 และอีก 5 ปีต่อมาคุณลุงก็ถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงใช้ความพยายามขอบวชอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่เหมือนกับพี่ชายทั้ง 2 คน เพราะยังไม่เคยบวชเลย ขณะนั้นพี่ชายได้สึกออกมาประกอบอาชีพแล้ว มารดาและคุณตาทนรบเร้าไม่ไหวจึงอนุญาตให้บวชเพียง 7 วัน

ครั้นทำการฌาปนกิจศพคุณลุงแล้ว วันรุ่งขึ้นท่านก็ถือโอกาสเข้าวัดเพื่อเตรียมตัวบวช หัดขานนาคพร้อมกับคนอื่นซึ่งมาอยู่วัดถือศีลอีก 2 คน ฝึกสวดมนต์เจ็ดตำนานได้เกือบหมดเล่มใช้เวลา 40 วัน มีพระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ เป็นครูผู้ฝึกสอน

๏ การบวช

พระอาจารย์เปลี่ยนเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดธาตุมีชัย บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2502 ได้รับฉายาว่า พระเปลี่ยน ปัญญาปทีโป

พระอุปชฌาย์ชื่อ พระครูอดุลย์สังฆกิจ
พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระครูพิพิธธรรมสุนทร

เนื่องจากวัดธาตุมีชัย เป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนบวชแล้วจึงย้ายไปอยู่วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านมีความสบายกายสบายใจมากเพราะได้ปล่อยวางภาระต่างๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบเงินทองจำนวนมากทั้งของท่านเอง และเงินฝากของผู้อื่น ความกังวลในการค้าขายให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมทั้งการดูแลรักษาไร่นา วัวควายและทรัพย์สมบัติอื่นๆ ที่ท่านแบกอยู่ผู้เดียวตั้งแต่อายุ 12 ปี ครั้นบวชได้ 18 วัน โยมมารดาก็ขอให้ท่านสึก เพราะเลยกำหนดเวลาที่อนุญาตแล้ว ท่านจึงขอบวชต่อให้ครบ 1 พรรษา ทำให้โยมมารดาร้องไห้ด้วยความผิดหวังมาก


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 1 ภาคอีสาน

พระอาจารย์เปลี่ยน สะพายบาตรแบกกลด และอัฐบริขารที่จำเป็น เดินตัดท้องนาไปองค์เดียว ไปหาพระอาจารย์อ่อนศรี ฐานวโร วัดธรรมมิการาม บ้านบึงโน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งไม่สามารถตอบปัญหาได้ จึงเดินทางต่อไป มีพระที่วัดอาจารย์อ่อนศรีองค์หนึ่ง และพระที่บวชอยู่วัดทุ่งสว่างตามมาทันอีกองค์หนึ่ง รวม 3 องค์ ออกธุดงค์ไปด้วยกัน พระอาจารย์อ่อนศรีได้มอบโคมไฟให้พระอาจารย์เปลี่ยนไปใช้เดินจงกรมเวลากลาง คืนด้วย

ทั้ง 3 องค์ออกเดินทางไป อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ไปพบหลวงปู่มุกซึ่งบวชหลังพระอาจารย์เปลี่ยน พักอยู่สำนักสงฆ์บ้านม่วงได้ 10 วัน มีสามเณรติดตามไปอีก 1 องค์ มุ่งหน้าไปบ้านโพธิ์ บ้านผือ จ.อุดรธานี อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ขณะอยู่บ้านโพธ์ ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ว่าเป็นพระที่เคร่งและเอาจริง กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ที่ดงหม้อทอง จึงออกติดตามไปทางดงสีชมพู บ้านโซ่ บ้านเซิม ต้องเดินบุกป่าทึบ มีช้างป่าและสัตว์ร้ายน่ากลัว จนถึงดงหม้อทอง ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์จวนได้ออกธุดงค์ต่อไปแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงพักอยู่ในกุฏิของท่านพระอาจารย์จวน ได้ลงไปเดินจงกรมที่พลาญหินข้างล่างจนถึงเที่ยงคืน จึงเข้าไปภาวนาต่อในกุฏิอีก

ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน ปรากฏมีพระจาก จ.อุดรธานี เดินธุดงค์มาอยู่ร่วมอีก 3 องค์ ทำให้สถานที่นั้นขาดความสงบเพราะมาชวนกันคุยไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ท่านจึงชวนพระร่วมคณะออกธุดงค์ต่อ ผ่านบ้านสงเปลือยจนถึงบ้านดงขี้เหล็ก ได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์จวนเพิ่งจะเดินทางไป พระอาจารย์เปลี่ยนจึงคลาดกับท่านพระอาจารย์จวนอีกครั้งหนึ่ง

ที่พักที่บ้านดงขี้เหล็กเป็นสำนักสงฆ์ร้าง มีกุฏิพระอยู่ได้ 3 หลัง หลังที่ 4 อยู่ในป่าลึก ห่างจากหมู่บ้านมาก ชาวบ้านเล่าว่าเจ้าที่แรง พระบวชหลายพรรษาแล้วก็อยู่ไม่ได้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้พักอยู่ที่บ้านดงขี้เหล็กถึง 19 วัน ได้ปฏิบัติภาวนาทุกวันจนทราบว่าสถานที่นี้เป็นที่อยู่ของภพภูมิขอม ท่านชอบที่นี่มากเพราะการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าดี สมกับความตั้งใจของท่าน

พระอาจารย์เปลี่ยนและพระร่วมคณะ ออกเดินทางไปบ้านมาย แล้วก็เดินทางต่อไปถ้ำจันทร์ ได้พบท่านพระอาจารย์จวนไปปฏิบัติธรรมอยู่บนต้นไม้ในเหว ต้นไม้ต้นนี้ขึ้นมาจากเหวข้างล่างสูงจนเลยสันเขา ท่านใช้ไม้สองแผ่นพาดไปที่ต้นไม้ องค์ท่านไปนั่งและนอนเพื่อปฏิบัติธรรม อยู่ตรงกิ่งที่ได้พาดไว้ ท่านพระอาจารย์จวนได้พูดธรรมะให้ฟังสั้นๆ ว่า “เธอนี้มันติดสมมุติ ต้องเปลี่ยนสมมุติให้รู้ ข้ามสมมุติให้ได้” พระอาจารย์เปลี่ยนฟังแล้ว ก็พอใจ คุ้มกับความเหนื่อยยากที่ได้ตรากตรำฟันฝ่าเอาชีวิตไปพบ เนื่องจากบริเวณถ้ำจันทร์ไม่มีที่พัก หลังจากถามธรรมะท่านพระอาจารย์จวนพอสมควรแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเดินทางไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านหนองแวง ได้ไปปักกลดพักอยู่ใต้ร่มไม้

การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปเป็นลำดับ จิตรวมได้ดีขึ้น เกิดมีปัญหาเพื่อนพระที่ไปด้วย ได้ไปชอบหญิงสาวที่หมู่บ้าน แต่หญิงสาวกลับมาชอบพระอาจารย์เปลี่ยนแทน ท่านจึงชวนพระร่วมคณะออกเดินทางต่อไปเพื่อส่งเพื่อนกลับวัด ตัวท่านเองก็กลับไปวัดด้วย โยมมารดาทราบข่าวก็มาขอให้สึกอีก คราวนี้ต่อว่าท่านมาก พระอาจารย์เปลี่ยนจึงยืนยันที่จะอยู่ในพระศาสนาต่อไปอีก ท่านได้เดินทางไปที่บ้านมอบสมบัติต่างๆ ของท่านให้แก่พี่ชายและน้องชายจนหมด แล้วท่านก็กลับวัดทันที
 
๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 2 ภาคใต้

ระหว่างที่อยู่ที่วัด คุณลุงของท่านซึ่งเคยบวชมานานถึง 5 พรรษาแล้วออกมาประกอบอาชีพ มีฐานะร่ำรวยแต่ไม่เข้าวัด ได้ถึงแก่กรรมไปอีกหนึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเป็นผู้ทำพิธีฌาปนกิจให้ เพราะพระอาจารย์สุภาพและพระองค์อื่นๆ ได้ออกธุดงค์กันหมด พระอาจารย์เปลี่ยนได้พิจารณาแล้วก็เกิดเศร้าสลดใจว่า คนเราเกิดมามีเงินทองแค่ไหนก็ตาย ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วก็ถูกเผาเหลือแต่ฝุ่นเท่านั้น ท่านถึงบอกพี่ชายว่าจะไม่อยู่ที่วัดแล้ว จะไปแสวงหาโมกขธรรม หาครูบาอาจารย์ แล้วก็ออกจากวัดไปเพียงองค์เดียวถึงวัดศรีสะอาด (บ้านท่าสะอาด ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) พบพระอาจารย์จันดี เขมปัญโญ และหลวงพ่อสุพรรณ จันทวํโส บวชอยู่ที่วัดนี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้พักที่กุฏิเก่าที่สุด ฝาทำด้วยไม้ตะเคียน หลังคามุงแฝกจวนจะพังแล้ว ทำให้พระองค์อื่นๆ รู้สึกประหลาดใจมาก

ที่วัดศรีสะอาดนี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ภาวนานานถึง 3 ชั่วโมงเศษ จนได้อสุภกัมมัฏฐานเห็นคนกลายเป็นกองกระดูกไป ท่านได้ปรึกษากับพระอาจารย์จันดี และหลวงพ่อสุพรรณ เพื่อออกธุดงค์หาครูบาอาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยนคิดจะเข้ากรุงเทพฯ ก่อน จึงเก็บบาตรและอิฐบริขารออกเดินทางโดยไม่บอกให้ใครทราบ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ชวนน้องชายคนเล็กของท่านและน้องชายของพระอาจารย์แปลง (ซึ่งบวชอยู่ที่วัดเดียวกัน) ไปด้วย โดยคิดจะเอาน้องทั้งสองไปบวชในโอกาสต่อไป ทั้งหมดขึ้นรถ บขส. มาลงที่ตลาดหมอชิต กรุงเทพฯ แล้วไปพักอยู่ที่วัดสระปทุม 4 วัน พระอาจารย์เปลี่ยนอยากจะไป จ.ภูเก็ต จึงปรึกษากันกับคณะแล้วออกเดินทางไปภาคใต้ ได้ไปแวะพักที่ อ.หัวหิน กับพระอาจารย์ฉลวย พักอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่วัดมีแม่ชีอยู่ปฏิบัติธรรมมาก จึงเดินทางต่อไป จ.ชุมพร

พระอาจารย์เปลี่ยนไปพักอยู่วัดอาจารย์เฮ้ง อ.เมือง จ.ชุมพร กางกลดอยู่ที่ศาลาริมน้ำ ได้เห็นวิธีการสอนกัมมัฏฐานของอาจารย์เฮ้ง ซึ่งใช้ธูปจุดไฟติดดีแล้ว ก็นำไปแกว่งที่หน้าของผู้มาฝึกปฏิบัติทุกคน ต่อมาก็นำไฟออกจากโคมไปแกว่งที่หน้าของผู้มาฝึกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้เห็นแสงสว่างหรือนิมิตได้เร็วขึ้น เมื่อเห็นแสงแล้วจิตจะรวมลงได้เร็วขึ้น

พระอาจารย์เปลี่ยนและคณะได้ธุดงค์ต่อไปถึงวัดโพธิ์ อ.หลังสวน ซึ่งท่านภาวนาได้ดีขึ้น เห็นพญานาคมาเฝ้าดูท่านอยู่ในแม่น้ำ หลังจากนั้นได้ไปพักอยู่ถ้ำเขาทอง อ.หลังสวน ซึ่งมีค้างคาวมาก ได้ 4 วัน มีชาวบ้านแถวนั้นบอกว่ามีเหล็กไหลอยู่ในถ้ำชี ก็ได้ไปสำรวจเหล็กไหลที่ถ้ำชีซึ่งอยู่ใกล้กันแต่ไม่พบ จึงธุดงค์ต่อไป ถึงวัดนาบุญ (วัดนาบอน) สถานีคลองขนาน จ.ชุมพร แล้วตรงไป จ.สุราษฎร์ธานี พักที่วัดแห่งหนึ่งในเมือง เป็นวัดมหานิกาย แล้วธุดงค์ต่อไป ถึงวัดโคกสะท้อน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พักอยู่ 4 วัน

คณะธุดงค์เดินทางไป อ.กันตัน จ.ตรัง พักบนภูเขา ซึ่งต่อมาคือสวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ แล้วนั่งเรือไป จ.ภูเก็ต พักที่วัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) อ.เมือง เพราะหลวงพ่อสุพรรณมีเพื่อนชื่ออาจารย์บัว พระอาจารย์เปลี่ยนได้พักอยู่กุฏิหลังเล็กๆ ในป่า เมื่อพักหายเหนื่อยจากเดินทางแล้วจึงออกมานั่งนอกกุฏิและได้เห็น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีเดินจงกรมอยู่ พระอาจารย์เปลี่ยนชอบใจลักษณะการเดินจงกรมของหลวงปู่มาก นั่งดูอยู่เป็นชั่วโมง เห็นหลวงปู่หยุดเดิน ท่านจึงเดินไปหาเพื่อนที่มาด้วยกันซึ่งพักอยู่บนศาลา หลวงปู่ได้เดินออกมาพบท่านกลางทาง และพูดคุยด้วยจนทราบว่าพระอาจารย์เปลี่ยน มาแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อภาวนา หลวงปู่ได้กล่าวว่าจะเป็นอาจารย์สอนให้ มีข้อขัดข้องอะไรให้ไปถามได้เวลาหลวงปู่ว่าง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงไปปรนนิบัติหลวงปู่ตั้งแต่นั้นมา


๏ พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2503) : จำพรรษา ณ วัดราษฎร์โยธี บ้านโคกกลอย ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

ก่อนเข้าพรรษา 4 วัน พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส (พระครูสุวัณโณปมคุณ) ได้มาขอให้ไปจำพรรษาที่วัดราษฎร์โยธี หลวงปู่เทสก์ได้นั่งรถตามมาสอนพระอาจารย์เปลี่ยนที่วัด โดยเทศน์ให้ฟังทั้ง 4 คืน ที่พักอยู่ด้วย ก่อนจะจากไปหลวงปู่เทสก์สั่งว่า ถ้ามีปัญหาการภาวนาให้นั่งรถไปหาท่าน

ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้เร่งปฏิบัติ ถึงกับลดอาหารลงเหลือเพียง 5 ช้อนต่อวันแล้วเพิ่มเป็น 7 ช้อนบ้าง 9 ช้อนบ้าง ลดบ้างเพิ่มบ้างตามจำนวนนี้ จนชาวบ้านกลัวว่าท่านจะเจ็บไข้และเสียชีวิต แต่ท่านก็ยังปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป ท่านนั่งภาวนาจนสามารถตัดเสียงต่างๆ ที่ได้ยินนั้นได้ทันที ไม่คำนึงถึงเสียงรอบตัวท่านเลย

ส่วนหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ก็ยังคงไปสอนพระอาจารย์เปลี่ยนในสมาธิเสมอ ท่านสามารถเห็นและได้ยินเสียงของหลวงปู่พรหม ชัดเจน จึงคิดจะพิสูจน์ว่าหลวงปู่พรหม มาจริงหรือไม่ ในขณะที่หลวงปู่พรหมสอนท่านในสมาธิ ท่านได้เอามือซ้ายออกไปสัมผัสหัวเข่าของหลวงปู่พรหม แล้วลืมตาดูไม่เห็นอะไร แต่เมื่อทำสมาธิต่อก็พบหลวงปู่พรหมอยู่ที่เดิม เมื่อหลวงปู่พรหมสอนเสร็จ ก็ลอยออกไปทางหน้าต่างตามปกติ

ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางวันค้นคว้า และอ่านพระไตรปิฎก รวมถึงหนังสือธรรมประเภทอื่นด้วย

หลวงปู่เทสก์เป็นห่วงเรื่องการอดอาหารของพระอาจารย์เปลี่ยน ได้ตักเตือนเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนไปหาที่ จ.ภูเก็ต ว่า “อาหารการกินเป็นเรื่องของขันธ์ 5 เราฉันเพียงเล็กน้อย 5 ช้อน 10 ช้อน เพื่อเลี้ยงขันธ์ 5 ให้อยู่ได้ ไม่กิน มันตาย ส่วนสุขเป็นเรื่องของใจ เรื่องของกายต้องกินอาหาร” และได้เล่าว่าเมื่อครั้งที่ท่านไปจำพรรษาที่ภาคเหนือกับพวกชาวเขาเผ่ามู เซอร์ ท่านเคยเกิดปิติจนหมดความอยากในอาหารเช่นเดียวกัน แต่ท่านก็พยายามฉัน

ใกล้ออกพรรษาพระอาจารย์เปลี่ยนก็ยังคงฉันอาหารน้อยจนแทบจะไม่ฉันเลย หลวงปู่เทสก์จึงเดินทางมา จ.พังงา และว่ากล่าวพระอาจารย์เปลี่ยนด้วยตนเองอีก พระอาจารย์เปลี่ยนจึงต้องหันกลับมาฉันอาหารตามเดิม


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 3 ภาคใต้

ออกพรรษาที่ 2 แล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ย้ายจากวัดราษฎร์โยธี ไปอยู่วัดเขาควนดิน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้พบกับพระอาจารย์เนตร ซึ่งเป็นพระปฏิบัติเหมือนกัน ได้ปฏิบัติธรรมร่วมกันพักหนึ่งแล้วท่านก็ธุดงค์ต่อไปยัง จ.กระบี่

ต่อมาพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ซึ่งใฝ่ใจการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ได้มาอยู่ปฏิบัติด้วยประมาณเดือนครึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนได้ขอร้องให้พระอาจารย์สุวัจน์เทศน์ให้ฟัง ต้องคะยั้นคะยออยู่นาน พระอาจารย์สุวัจน์ได้เทศน์เรื่องอนัตตา เรื่องตัดธาตุ ตัดขันธ์ภายใน ซึ่งเทศน์ได้ดีมาก พระอาจารย์สุวัจน์ได้ธุดงค์ต่อไปที่วัดบางเหนียว จ.ภูเก็ต

พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่ที่วัดเขาควนดินได้ระยะหนึ่ง ท่านต้องต่อสู้กับกิเลสภายในตัวเอง ต้องฝึกจิตให้มีความเข้มเข็ง เด็ดเดี่ยวมากขึ้นแล้ว ยังต้องต่อสู้กับสตรีเพศที่จะเข้ามาทำลายท่านด้วย จึงกลับไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทสก์ ที่ จ.ภูเก็ต อีกประมาณ 2 เดือน แล้วย้ายกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดเขาควนดิน อ.ท้ายเหมือง อีก หลวงปู่เทสก์มีความเป็นห่วง จึงเดินทางมาสอนท่านที่นี่ด้วย พระอาจารย์เปลี่ยนจึงมีโอกาสปรนนิบัติหลวงปู่เทสก์อย่างใกล้ชิด หลวงปู่เทสก์ก็สอนและเทศน์ให้ฟังจนแน่ใจแล้ว หลวงปู่เทสก์จึงเดินทางกลับไปที่วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต

ระหว่างอยู่ที่ อ.ท้ายเมือง ท่านได้ทราบว่ามารดาป่วยจึงได้กราบเรียนหลวงปู่เทสก์ ซึ่งได้บอกให้ท่านกลับไปดูแลมารดา แต่พระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่ยอมกลับ เพราะว่ายังปฏิบัติธรรมไม่พอกับความต้องการของใจท่าน จึงอยู่กับหลวงปู่เทสก์อีกเกือบหนึ่งเดือน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ถามหลวงปู่เทสก์ เรื่องการนั่งสมาธิของท่านแล้วจิตดิ่งลึกลงไปอยู่สามชั่วโมงครึ่ง โดยที่ท่านไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะว่าจิตดับหมด ไม่ได้ยินเสียงอะไรทั้งสิ้น จิตเป็นสมาธิมากกว่าเมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาควนดิน จ.พังงา ที่วัดนั้นท่านยังได้ยินเสียงแต่ก็มีปิติมากจนไม่อยากจะฉันอาหาร

หลวงปู่เทสก์ชี้แจงว่า อาการเช่นนี้เรียก นิพพานพรหม จิตดับจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียง ไม่รับรู้อะไรจากภายนอก จิตลงไปสู่ส่วนลึกที่สุดเป็นอัปปนาฌาน เรียกว่าพรหมลูกฟักเป็นพรหมชั้นสูง ถ้าไม่แก้ไขผู้นั้นจะคิดว่าตนได้พบพระนิพพาน จะไปไหนไม่รอด หลวงปู่เทสก์ก็ได้เล่าว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย เมื่อติดตามไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ทางภาคเหมือ และพักอยู่สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก (วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ปัจจุบัน) ได้นั่งสมาธิตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 6 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น น้ำค้างจับร่างหลวงปู่ขาวจนเปียกชุ่มท่านจึงรู้สึกตัวออกจากสมาธิ ก็ไม่ทราบว่าจิตไปอยู่ที่ไหน จึงไปถามหลวงปู่มั่น ท่านตอบหลวงปู่ขาวเพียงนิดเดียวคือ ให้หลวงปู่ขาวตั้งต้นใหม่ติดตามดูจิตตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสมาธิ ใช้สติปัญญาตามดูจิตให้ดีว่า วางอารมณ์อะไรจึงดับเสียงไปหมด ให้ดูว่าจิตไปอยู่ที่ไหนต้องตามให้รู้

พระอาจารย์เปลี่ยนได้รับคำสอนจากหลวงปู่เทสก์แล้ว ได้เดินทางกลับบ้าน และเริ่มปฏิบัติทันทีตั้งแต่อยู่ในเรือ จาก จ.ภูเก็ต ไป อ.กันตัง ตลอดทางจนถึง จ.อุดรธานี แทนที่พระอาจารย์เปลี่ยนจะรีบกลับบ้านที่ จ.สกลนคร ท่านกลับเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี) แล้วเดินทางไปหาหลวงปู่ขาว อนาลโย พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เจ้าอาวาส ที่วัดถ้ำกลองเพล (ต.โนนทัน อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี) พระอาจารย์เปลี่ยนได้เล่าปัญหาของท่านที่นั่งภาวนาจนจิตเป็นสมาธิ แต่ไม่รู้ว่าหายไปไหนให้หลวงปู่ขาวทราบ ซึ่งหลวงปู่ขาวได้เล่ายืนยันและย้ำให้ดูจิตของตนเองให้ได้

เมื่อได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่ขาวแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงได้กลับไปอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง (อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) และได้ไปเยี่ยมมารดา ปรากฏว่าหายป่วยแล้ว


๏ พรรษาที่ 3 (พ.ศ. 2540) : จำพรรษา ณ วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้ตั้งสัจจะว่า “จะรับบาตรเฉพาะเวลาเดินทางออกจากวัดเท่านั้น เที่ยวกลับจะไม่รับของใครทั้งสิ้น และไม่รับบาตรในบริเวณวัดเช่นกัน” การบิณฑบาตนี้ชาวบ้านจะใส่แต่ข้าวเปล่า และเอาอาหารมาถวายภายหลัง ซึ่งพระอาจารย์เปลี่ยนก็ไม่รับประเคนอีก ท่านจึงฉันข้าวเปล่าเป็นส่วนมาก

ก่อนจะออกพรรษาเล็กน้อย มีแม่ชีคนหนึ่งทำอาหารมาใส่บาตรท่านไม่ทันในเที่ยวไป จึงของร้องให้มารับในเที่ยวกลับด้วย พระอาจารย์เปลี่ยนได้ปฏิเสธ พระอาจารย์สุภาพได้ขอให้ท่านรับเป็นกรณีพิเศษ เพราะแม่ชีรูปนี้ได้ช่วยเหลืองานวัดและเฝ้าวัดมาตลอด พระอาจารย์เปลี่ยนจึงยอมรับบาตรแม่ชี หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็ถูกงูกัดจนเท้าบวม อาจเป็นเพราะท่านเสียสัจจะก็เป็นได้ จึงฉันยาและรักษาแบบชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็ยังมีมานะออกไปบิณฑบาตตามปกติ เพราะยังเดินได้ หากไม่ออกบิณฑบาต ท่านจะไม่ฉันอาหารเลย

พระอาจารย์เปลี่ยน ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด ทำทางเดินจงกรมยาวประมาณ 20 เมตร ไว้ข้างหน้ากุฏิที่พัก หัวทางเดินจงกรมเป็นที่ฝังศพของโยมวัด ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากพระอาจารย์สุภาพ ในปัจจุบันจะเห็นต้นมะม่วงใหญ่ปลูกอยู่สองต้นที่หัวและท้ายของทางเดินจงกรม ท่านเดินจงกรมตามที่พระอาจารย์ลี หลวงปู่พรหม หลวงปู่เทสก์ได้สั่งสอนท่านมา เดินทุกวันจนทางเดินเป็นร่องลึกลงไป เวลาฝนตกน้ำจะขังที่ทางเดิน หากพระอาจารย์เปลี่ยนจะเดิน ต้องวิดน้ำออกหรือไปหาทางเดินใหม่ที่อยู่สูงกว่าขึ้นไป ส่วนกุฏิที่อยู่นั้นเป็นไม้ไผ่มุงแฝก ซึ่งพระอาจารย์คำเคยลองเขย่าแรงๆ เกือบจะพังลงมา พระที่บวชทีหลังยังได้อยู่กุฏิดีกว่า แต่พระอาจารย์เปลี่ยนก็ไม่สนใจหากุฏิใหม่

ถึงแม้พระอาจารย์เปลี่ยนจะปฏิบัติธรรมอย่างหนักไม่ท้อถอยเพื่อจะติดตามดูจิต ตามที่หลวงปู่เทสก์และหลวงปู่ขาวแนะนำก็ตาม ปรากฏว่าสมาธิของท่านดิ่งลงเร็วมาก จิตจึงดับไม่รับรู้อะไร จึงได้แต่สงบเท่านั้น

เมื่อออกพรรษาที่ 3 แล้ว พระอาจารย์สุภาพได้แนะนำให้พระอาจารย์เปลี่ยนสอบนักธรรมตรี ในชั้นแรกท่านคิดว่าจะไม่สอบแต่พระอาจารย์สุภาพคอยให้กำลังใจ ท่านจึงดูหนังสือโดยใช้ความสามารถทางสมาธิที่ท่านมี ในที่สุดท่านก็สอบได้


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 4 ภาคอีสาน

พระอาจารย์เปลี่ยนมีใจคิดจะสงเคราะห์มารดา ท่านจึงขอเงินจากมารดาของท่าน มาซื้อผ้ามุ้งกลดใหม่ เพื่อผลบุญนี้จะได้ติดตามมารดาของท่านต่อไปทุกภพทุกชาติ ซึ่งมารดาของท่านก็รีบถวายทันที

ท่านได้ธุดงค์อยู่ในละแวกบ้านซึ่งไม่ไกลนัก ไปหาพระอาจารย์อ่อนศรี วัดธรรมมิการาม บางครั้งได้เข้าไปฟังเทศน์หลวงปู่พรหม วัดประสิทธิธรรม ท่านได้พบกับหลวงปู่หงส์และพระอาจารย์อ่อน เจ้าอาวาสวัดดงบัว บ้านดงบัว อ.สว่างแดนดิน ซึ่งบวชเมื่ออายุมากแล้ว (ได้ 13 พรรษา) หลวงปู่หงส์ท่านยังคิดห่วงเรื่องลูกหลาน การปฏิบัติธรรมจึงยังไม่ก้าวหน้า ได้แต่แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมเท่านั้น พระอาจารย์เปลี่ยนได้เดินทางกลับมาวัดทุ่งสว่างและอยู่จำพรรษาที่วัดด้วย เพราะพระอาจารย์สุภาพได้เดินทางไปหาที่วิเวกยัง จ.จันทบุรี

๏ พรรษาที่ 4 (พ.ศ. 2505) : จำพรรษา ณ
วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เปลี่ยนได้พบกับหลวงปู่คำดี ปภาโส (วัดถ้ำผาปู่นิมิตร อ.เมือง จ.เลย) ที่วัดหลวงปู่พรหม ซึ่งภายหลังได้มาพักอยู่กับพระอาจารย์เปลี่ยน ที่วัดทุ่งสว่างถึง 10 วัน ท่านได้เมตตาชี้แจงข้อบกพร่องให้พระอาจารย์เปลี่ยนแก้ไขในการปฏิบัติธรรม เป็นอันมาก

ระหว่างพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนเกิดเจ็บท้อง ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ท่านไม่ทราบจะทำอย่างไรดี จึงนั่งสมาธิจนจิตดิ่ง ดับทั้งความรู้สึกภายในและภายนอก แต่พอออกจากสมาธิความเจ็บปวดยังคงมีอยู่ ได้ให้หมอมารักษา ทายาท้าง ฉีดยาบ้าง พอหมดฤทธิ์ยาก็เกิดเจ็บปวดขึ้นดังเดิมอีก เมื่อรักษาด้วยยาไม่หาย ท่านจึงตั้งจิตว่า “ถ้าจะหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ตายไปเลย” แล้วท่านก็นั่งสมาธิกำหนดจิตพิจารณาทุกขเวทนานั้น ได้กำหนดรู้และพิจารณาก้อนลมที่เป็นตัวการทำให้เกิดความเจ็บ พิจารณาจนก้อนลมละลาย เมื่อออกจากสมาธิความเจ็บปวดก็หายไป จึงเดินจงกรมตามปกติ การนั่งปฏิบัติพิจารณาธรรมนั้นก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่การใช้สติและปัญญาตามจิตไปนั้น ทำได้นานขึ้นกว่าเดิม

ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนเตรียมตัวเป็นพิเศษจะสอบนักธรรมโท ก่อนหน้าสอบสองสามวัน มารดาของท่านก็ล้มเจ็บ ด้วยความกตัญญูกตเวที ท่านจึงต้องอยู่พยาบาลมารดา ในเวลากลางวันพี่ชายและน้องชายเป็นผู้ดูแล ส่วนท่านจะดูแลตอนกลางคืนระหว่าง 3 ทุ่มถึง ตี 3 อำเภอสว่างแดนดินในขณะนั้นเป็นแดนของผู้ก่อการร้าย จึงมีจุดตรวจของทางราชการอยู่ระหว่างทางจากวัดไปยังบ้านของมารดา ท่านจึงต้องมีเพื่อนพระถือตะเกียงเดินไปด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เห็นตลอดทาง และไม่สงสัย

มารดาของท่านเจ็บอยู่ได้ 15 วันก็ถึงแก่กรรม ท่านได้อยู่ช่วยงานศพมารดาของท่านจนกระทั่งวันเผา และเก็บอัฐิเข้าเจดีย์เดียวกับบิดาของท่าน การที่ได้เห็นทั้งบิดามารดาเสียชีวิตทำให้ท่านเห็นธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเกิดความเบื่อหน่ายยิ่งขึ้น ในเรื่องการจัดงานศพมารดา ท่านอยากจัดงานเงียบๆ แต่บรรดาพี่ๆ และน้องๆ อยากจัดอย่างเอิกเกริก มีมหรสพแสดงด้วย ซึ่งท่านคัดค้านไม่ได้ ต้องปล่อยให้มีไป จึงเป็นเหตุให้ท่านเตรียมตัวไปธุดงค์ต่อ


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 5 ภาคเหนือ

ในระหว่างที่พระอาจารย์เปลี่ยนธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ นั้นได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือถึงหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ว่าเทศน์ได้เก่งมาก ส่วนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ไม่ได้เทศน์แต่เป็นพระนักปฏิบัติ จึงคิดจะไป จ.เชียงใหม่ เพื่อตามหาหลวงปู่ตื้อ โดยชวนพระประสิทธิ์ ฉันทาคโม (น้องพระอาจารย์ทองสุก อุตฺตรปัญโญ) และสามเณรบัวรา ไปด้วย

พระอาจารย์เปลี่ยนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงเดินทางขึ้น จ.เชียงใหม่ ไปพักอยู่ที่วัดสันติธรรม อ.เมือง อ.เชียงใหม่ แล้วเดินทางต่อไปวัดป่าน้ำริน (ห้วยน้ำริน) อ.แม่ริน จ.เชียงใหม่ เมื่อถึงวัด พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑโฒ ได้ชวนไปภาวนาที่ถ้ำปากเพียง และได้พบพระอาจารย์ทองสุกและท่านศรีจันทร์ ที่นั่น

ถ้ำผาปล่องอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำเชียงดาว อ.เชียงดาว พระอาจารย์ทองสุก เล่าว่า ถ้ำผาปล่องเดิมเป็นเพียงรูถ้ำ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร อยู่อย่างง่ายๆ เอาไม้ไผ่กั้นเป็นห้องของท่าน พื้นกระดานเป็นฟากไม้ไผ่ ทางเดินจงกรมก็เป็นไม้ไผ่ (ต่อมาท่านก็ยังอยู่ที่เดิมตรงที่เป็นเตียงท่าน) น้ำก็หายาก บางวันพระก็ไม่ได้อาบน้ำ น้ำดื่มก็ใช้ปี๊บมาต้มน้ำกิน ให้กระบอกไม้ไผ่เป็นถ้วยน้ำดื่ม ทุกองค์ทนกันได้เพราะมาปฏิบัติธรรม

ปกติพระอาจารย์เปลี่ยนจะมาสรงน้ำหลวงปู่สิมทุกวัน แต่มีวันหนึ่งอาจารย์ทองสุกและพระองค์อื่นๆ เดินล่วงหน้ามาก่อน พระอาจารย์เปลี่ยนเดินมาองค์เดียว เมื่อมาถึงเชิงเขาวัดถ้ำผาปล่อง (ที่ลานจอดรถในปัจจุบัน) ยังเป็นป่าทึบอยู่ ได้ยินเสียงเดินออกมาจากป่าข้างหน้า ตอนแรกคิดว่าเป็นช้าง แต่เมื่อมาประจัญหน้ากลับเป็นยักษ์ มีขนเต็มหน้าอก รุงรัง สูงราว 6 ศอก (3 เมตร) มีนัยน์ตาสีแดง ยืนขวางอยู่ที่ชายป่า รูปร่างล่ำสันแข็งแรงใหญ่โตมาก ในขณะนั้นคิดว่าถ้ามีคน 6 คน ก็ยังสู้ยักษ์ตนเดียวนี้ไม่ได้ ส่วนท่านก็มีเพียงย่ามใบเดียว ไม่มีอะไรเป็นอาวุธเลย จึงได้แต่ยืนจ้องกันอยู่สักครู่หนึ่ง ยักษ์ก็หันหลังเดินเข้าป่าไป ท่านจึงเดินขึ้นเขาไปสรงน้ำหลวงปู่สิม แต่ก็ไม่ได้เล่าให้ท่านฟัง พึ่งมาเล่าในตอนหลัง


๏ ถ้ำปากเพียง

ถ้ำปากเพียงอยู่ ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว อยู่ใกล้กับถ้ำผาปล่อง การอยู่ที่ถ้ำปากเพียงนั้น พระที่มาด้วยกันต่างหาที่อยู่กันเอง พระอาจารย์เปลี่ยนเลือกได้หลืบถ้ำแห่งหนึ่ง บางวันท่านพักผ่อนนอนภาวนาอยู่ ปรากฏว่ามีงูเห่าหัวขนาดข้อมือซึ่งอยู่เหนือหลืบถ้ำขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หย่อนหัวลงมาดูท่าน เมื่อท่านเหลือบไปเห็น ก็ตั้งจิตแผ่นเมตตาให้ สักพักงูก็ชูหัวรับแล้วก็หายขึ้นไปข้างบนตามเดิม มันจะมาทำอาการเช่นนี้ตลอดเวลาที่ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 3 ครั้ง

การสวดมนต์บทยานีหรือบทนครัฏฐาสูตร (ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งให้พระอานนท์ นำไปสวดที่เมืองเวสาลีเพื่อขับไล่ทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง โรคระบาดผู้คนล้มตาย เกิดน้ำท่วมไฟไหม้ ภูติผีปีศาจหลอกหลอน เมื่อสวดมนต์บทนี้แล้วปรากฏว่า พวกอมนุษย์ทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่ตามที่ต่างๆ ได้พาหนีออกจากเมืองจนหมดสิ้น โรคภัยไข้เจ็บและภัยพิบัติต่างๆ ก็หายไปด้วย) พวกภพภูมิที่ถ้ำปากเพียงไม่ชอบฟัง ถ้าวันใดสวดจะมาหลอกหลอนต่างๆ ภายหลังได้มาบอกพระอาจารย์เปลี่ยนในสมาธิว่า การสวดมนต์บทนี้เท่ากับเป็นการขับไล่เขา ถ้าสวดบทอื่นจะมานั่งฟังกัน พระอาจารย์เปลี่ยนได้ลองสวดต่อไปอีก 4-5 ครั้ง ก็ถูกหลอกต่างๆ เมื่อแน่ใจจึงได้หยุดสวด

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่ถ้ำปากเพียงได้ประมาณ 4 เดือน ได้ย้ายไปหาที่สงบแห่งใหม่ คือถ้ำเบี้ย อยู่ทางทิศเหนือของถ้ำปากเพียง ท่านได้ทบทวนสวดปาติโมกข์ (ซึ่งท่านสวดได้เมื่ออยู่ จ.พังงา และได้แสดงปาติโมกข์ครั้งแรกเมื่อกลับมาอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง) เมื่อถึงวันพระต้องสวดปาติโมกข์ พระจากถ้ำปากเพียงจะไปร่วมกันสวดที่ถ้ำผาปล่อง แต่บางครั้งก็จะสวดกันเองที่ถ้ำปากเพียง

พระอาจารย์เปลี่ยน ธุดงค์มาพักที่สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย บ้านป่าเมี่ยง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พักอยู่ไม่นานจึงไปกับพระอาจารย์บาล ถึงบ้านฮ่องนอด อ.เวียงป่าเป้า แล้วต่อไป อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตลอดทางไม่ได้ฉันอาหารเลย ไปพักวัดเม็งราย ซึ่งอยู่บนดอยฮ่องลี้ เป็นวัดที่ทหารสร้าง กุฏิมีลักษณะเตี้ยและเป็นแถวคล้ายบ้านพักทหาร อาหารการกินในวัดนี้ทหารเป็นผู้ดูแล ท่านไปคุยกับพระครูที่วัดเม็งราย จึงทราบว่ากุฏิที่ท่านพักนั้นไม่มีใครกล้าไปนอน เพราะเป็นวัดที่เผาศพทหารที่เสียชีวิตจากชายแดน ท่านอยู่วัดเม็งรายได้ 13 วัน ถูกผีรบกวนตลอดเวลา ขณะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ จะมีความรู้สึกว่ามีใครมาจับขา จึงแผ่เมตตาแผ่ส่วนกุศลให้ แต่ผีเหล่านั้นจิตคงจะหยาบมากจึงไม่ยอมรับผลบุญที่อุทิศให้เลย


๏ วัดถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ออกจากวัดเม็งราย ได้เดินทางไป อ.แม่จัน พักอยู่หนึ่งคืนจึงต่อไป อ.แม่สาย ได้ไปพักอยู่ที่วัดถ้ำผาจม (ขณะนั้นประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2506) โดยนอนพักอยู่ตรงที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ข้างบนถ้ำ อาจารย์บาลพักอยู่ข้างล่าง มีพระมหานิกายอีก 2 องค์ คือหลวงพ่อเขียวและพระสมนึก อยู่ที่วัดถ้ำผาจมก่อนแล้ว อยู่ข้างล่างเช่นเดียวกัน

เนื่องจากอาจารย์บาลท่านชอบเที่ยว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเสนอว่าควรจะไปให้ถึงเมืองอินเดียโดยการเดินธุดงค์ เมื่อตกลงกันแล้ว จึงออกเดินทางข้ามไปฝั่งพม่า ได้ไปแวะวัดพระเจ้าระแข้งและคุยกับพระครูของวัดนี้ ซึ่งคิดจะช่วยพระอาจารย์เปลี่ยนและอาจารย์บาล ให้ไปได้สำเร็จจึงสอบถามทหารพม่าให้ แต่ทหารได้คัดค้านเกรงว่าจะเกิดอันตราย เพราะขณะนั้นรัฐบาลพม่าและพวกไทยใหญ่กำลังรบกัน เมื่อไปไม่ได้พระอาจารย์เปลี่ยนจึงย้อนกลับมาหาหลวงปู่คำพาที่ถ้ำ ตรงท่าขี้เหล็ก แต่ถ้ำของหลวงปู่ไม่มีบริเวณ การปฏิบัติไม่สะดวก จึงย้อนกลับไปหาท่านพระครูองค์เดิมที่วัดพระเจ้าระแข้งอีกครั้งหนึ่ง โดยคิดจะธุดงค์ผ่านพม่าไปอินเดียให้ได้ ครั้นเดินธุดงค์ไปยังวัดห้วยทราย เกือบจะเข้าเชียงตุง แต่เผอิญท่านพระครูและชาวบ้านที่ไปด้วยได้ถูกระเบิด ท่านพระครูขาหัก ส่วนชาวบ้านเสียชีวิตไป 3 คน พระอาจารย์เปลี่ยนจึงต้องถอยหกลับมาอยู่วัดถ้ำผาจม อีกเป็นครั้งที่ 2 พระอาจารย์เปลี่ยนจะข้ามไปอยู่ฝั่งพม่าในเวลากลางวัน พอตกค่ำจะกลับเข้าเขตไทย และกลับไปพักที่วัดถ้ำผาจม


๏ วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ. เชียงราย

ต่อมาพระอาจารย์เปลี่ยนเห็นว่าที่วัดถ้ำผาจมอยู่กันหลายองค์ ภาวนาไม่สะดวก จึงคิดจะไปภาวนาที่ดอยตุง แล้วเปลี่ยนความตั้งใจมุ่งไปที่วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน ซึ่งท่านมหาชิตเป็นอธิการอยู่ ในขณะนั้นวัดพระธาตุจอมกิตติ มีศาลาหนึ่งหลังและมีกุฏิอยู่ข้างล่าง 2 หลัง ตอนค่ำทำวัตรสวดมนต์กับพระเณรที่อยู่ในวัดแล้วทำสมาธิอีก 30 นาที แล้วกลับมาสวดมนต์และนั่งสมาธิต่อที่กุฏิ เวลากลางคืนก็จะขึ้นไปนั่งสมาธิข้างบนที่เจดีย์

ท่านสังเกตว่าบนฐานเจดีย์ตรงทางเดิน แลดูเกลี้ยงเกลา ทั้งๆ ที่ไม่มีใครไปทำความสะอาด พระอาจารย์เปลี่ยนคิดจะทดสอบบางสิ่งบางอย่าง จึงขึ้นไปบนพระธาตุจอมกิตติ 4 วัน ทุกวันจะจุดเทียนทั้งสี่ทิศ และนั่งขวางทางประตูทุกวัน เพื่อจะพิสูจน์ว่ามีพวกเทพผ่านเข้าด้านข้างๆ ของท่านทั้งซ้ายและขวา ท่านจึงขยับไปนั่งติดกับกำแพง ไม่ขวางประตู เทพที่มากราบไหว้พระเจดีย์นั้นมากราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุแล้วก็ไป จะมาจากที่ต่างๆ กันทั่วสารทิศ การแต่งกายจะแต่งกายเหมือนกันหมดตามกลุ่มของตนที่มา กลุ่มหนึ่งก็จะใช้สีหนึ่งสามารถสอบถามจากหัวหน้าเทพที่พามาว่า กลุ่มนี้มาจำนวนเท่าใด พระอาจารย์เปลี่ยนจะขึ้นไปที่เจดีย์ตอน 5 ทุ่ม พอสองยามก็จะกลับไปจำวัด ตี 3 จะกลับขึ้นไปไหว้พระสวดมนต์ตรงทิศเหนือของเจดีย์ ซึ่งมีพระประธานอยู่ในเรือนไม้ หลังคามุมแฝก จนรุ่งเช้า

บางครั้งจะสวดทบทวนปาติโมกข์และสวดธรรมจักรทุกครั้ง สังเกตว่ามีเทวดามาคอยนั่งฟังข้างหลังท่าน เมื่อเทพมาจะยืนยกมือพนมไหว้แล้วนั่งลงพนมมือ เวลาจะกลับจะยืนลอยขึ้นแล้วก้มลงพนมมือไหว้ พวกเทพจะไม่กราบเวลานั่ง เทพผู้ชายจะนั่งข้างหน้า นางฟ้าจะนั่งข้างหลัง ในเวลากลางวันท่านไปนั่งปฏิบัติธรรมอยู่ตรงบริเวณที่เรียกว่า “บ่อน้ำทิพย์” จึงเห็นชัดเจนว่าพวกเทพที่รักษาเจดีย์และพระธาตุเป็นเทพชั้นรุกขเทวดา

นอกจากนั้นท่านยังได้นิมิตว่า “ท่านแสนฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างวัดพระธาตุจอมกิตติ เมื่อสวรรคตแล้วก็ได้เกิดเป็นเทพในชั้นดาวดึงส์

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน ประมาณ 1 เดือน (พฤษภาคม พ.ศ. 2506) แล้วเดินทางไปวัดป่าสักหลวง พักอยู่ไม่นานก็เดินทางกลับมา อ.เมือง จ.เชียงราย แล้วธุดงค์ลงมาพักที่ป่าช้า วัดสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง (ปัจจุบันพระอาจารย์หลวง กตปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส) ท่านเริ่มเจ็บที่ซี่โครงข้างซ้าย ซึ่งคงจะเป็นเพราะเมื่ออยู่ที่ถ้ำผาจม ได้เดินเที่ยวรอบๆ และตกลงมาจากที่สูงขณะสำรวจหมู่บ้านอีก้อ หรือจะเป็นเพราะสะพายบาตรเดินทางมาไกลก็ได้

ออกจากวัดสำราญนิวาส ไปพักที่วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่ อาการเจ็บซี่โครงรุนแรงขึ้น คิดจะไปโรงพยาบาลสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่) แต่เคยรักษาโรคเจ็บท้องด้วยธรรมโอสถ จึงอยากจะลองใช้ธรรมโอสถอีก หลังฉันอาหารเช้าแล้วจึงเข้าไปในโบสถ์ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ นั่งสมาธิกำหนดจิตนิ่งเข้าไปตรงที่ปวดก็พบว่ามีก้อนเลือดคั่งอยู่บริเวณนั้น ทำให้อักเสบ จึงกำหนดจิตจี้เข้าไปแล้วเข้าสมาธิดับนิ่งอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่อออกจากสมาธิอาการเจ็บก็หายไปเลย

ระหว่างอยู่ที่วัดสันติธรรม ท่านพักอยู่ที่เรือนไม้ใต้ถุงสูง เวลาคืนพวกเทพจะพากันมาไหว้เจดีย์ โดยลอดมาทางใต้ถุนกุฏิที่ท่านพักอยู่ เมื่อมีโอกาสจึงถามพวกเทพ จึงทราบว่า วัดเก่าที่วัดสันติธรรมสร้างคร่อมอยู่นี้ พระเจ้าติโลกราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ในสมัยนั้นเป็นผู้สร้างขึ้น ในขณะที่พระเจ้าติโลกราชยังมีชีวิตอยู่จะเสด็จมานมัสการพระเจดีย์ทุก 7 วัน ส่วนที่วัดพระเจดีย์หลวงและวัดสวนดอก พระองค์ก็สร้างเช่นเดียวกัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปนมัสการทุก 3 วัน


๏ พรรษาที่ 5 (พ.ศ. 2506) : จำพรรษา ณ วัดป่าอาจารย์ตื้อ ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

พระอาจารย์เปลี่ยนมาพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ท่านได้เห็นการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ตื้อแล้วชอบมาก จึงพยายามปฏิบัติให้ได้ใกล้เคียง หลวงปู่ตื้อมีความสามารถในการสอนธรรมะและอธิบายข้อสงสัยต่างๆ อย่างกระจ่างแจ้งสมคำร่ำลือ และคุ้มค่ากับความเหนื่อยยากที่ท่านดั้นด้นไปหาเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์เปลี่ยนตามปรนนิบัติหลวงปู่อย่างใกล้ชิด ทำหน้าที่ทุกอย่างถวายด้วยตนเอง พอค่ำลงท่านจะมาบีบนวดหลวงปู่ทุกวัน ระหว่างนั้นหลวงปู่ เทศน์บ้าง สอนธรรมบ้าง สอนการปฏิบัติบาง สอนให้ละขันธ์ 5 สอนทางพ้นทุกข์ ฯลฯ

สิ่งใดที่พระอาจารย์เปลี่ยนสงสัย หลวงปู่จะไขให้จนกระจ่าง ประมาณเที่ยงคืนจึงจะกลับไปนั่งพิจารณาธรรมะที่หลวงปู่สอนสั่ง แล้วเดินจงกรมจนถึงตี 2 ท่านพักผ่อนได้ 2 ชั่วโมงก็ตื่นตี 4 ทำวัตรสวดมนต์ แล้วทำความเพียรต่อจนถึงเวลาออกบิณฑบาต เสร็จการฉันแล้วจะปรนนิมัติหลวงปู่จนเวลาเที่ยง จึงไปนั่งภาวนาถึงชั่วโมงครึ่ง ปฏิบัติไปนานๆ เข้า พอได้เวลาท่านจะออกจากสมาธิเอง โดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกเลย


๏ ปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

ปกติเวลาฉัน หลวงปู่ตื้อจะฉันองค์เดียวไม่พร้อมใคร เมื่อเวลาบิณฑบาตกลับมา พระเณรที่ไปด้วยจะกลับมาเตรียมให้ท่านแล้วต่างก็ฉันเลยไม่ต้องรอ เพราะหลวงปู่จะใช้เวลานั้นเดินจงกรมก่อน หากหลวงปู่พบว่ามีพระมารอฉันพร้อมท่าน ท่านจะบอกว่า “ขันธ์ 5 ของใครก็ของมัน ท้องใครก็ท้องมัน ปากใครก็ปากมัน ฉันไปแล้ว อิ่มแล้วไปล้างบาตร แล้วไปภาวนา เราจะฉันวันไหนเวลาไหนก็เป็นเรื่องของเรา” เมื่อหลวงปู่ฉันเสร็จ พระอาจารย์เปลี่ยนเป็นผู้ล้างบาตร เทกระโถน แล้วนิมนต์ หลวงปู่กลับกุฏิ การต้อนรับแขกที่ไปหา หลวงปู่มักจะทราบล่วงหน้าว่าจะมีใครมาพบ แล้วจะนั่งรอจนกว่าเขาจะมาถึง ท่านจะเทศน์สั่งสอนโดยไม่เกรงใจว่าใครจะโกรธ ใครจะฟัง ใครจะเชื่อหรือไม่หลวงปู่ไม่สนใจ เพราะไม่ได้เทศน์เพื่อเอาของถวายจากเขา

หลวงปู่ตื้อจะเทศน์ให้พระอาจารย์เปลี่ยนพิจารณาลมหายใจเข้าออก เมื่อหายใจเข้าแล้วไม่มีลมออกก็อยู่ไม่ได้ เมื่อลมหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย เมื่อตายแล้วไม่สามารถนำอะไรติดตัวไป สมบัติต่างๆ ที่สะสมไว้ ขณะมีชีวิตอยู่ก็ต้องทิ้งไว้ แขนขาเนื้อหนังกระดูกของตัวเราก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ ไม่มีใครสามารถนำติดตัวไปได้ ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเอาไปกินก็ไม่ได้ สู้ขาหมูยังไม่ได้สามารถเอาไปขายได้ เอาไปกินได้ มนุษย์จะสวยแค่ไหนงามแค่ไหน ขายไม่ได้ สู้ไก่ยังไม่ได้ ร่างกายมนุษย์นี้ไม่มีประโยชน์อะไร จะไปหลงรักหลงชังอยู่ทำไม เมื่อหลวงปู่เทศน์เรื่องอานาปานสติ พิจารณาลมแล้วพิจารณาความตาย แล้วต่อด้วยอสุภกรรมฐาน หลวงปู่เตือนผู้เฒ่าผู้แก่ว่า แก่แล้วทำไมไม่เอาพุทโธ

เป็นพระมาบวชถ้าไม่เอาพุทโธ ไม่เอาภาวนา แล้วมาบวชทำไม ถ้าไม่เอาภาวนาก็จะเป็นพระหมา พระแมว พระวัว พระควาย เมื่อร่างกายตายแล้ว เน่าเหม็นเอาไปไม่ได้ เราก็ต้องเอาจิตเอาใจของเรา ต้องทำแต่ความดี จิตใจไม่ได้มีอะไรมาก มีอยู่แค่อันเดียว ไม่ต้องไปรู้ว่ามีจิตกี่ตัว ให้รู้ว่ามีแค่จิตเดียว เพราะว่ามีจิตหลายตัว จึงได้เป็นบ้าไปหมด




พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


๏ นิมิตในสมาธิ

ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนเจริญในการปฏิบัติธรรมมาก ท่านสังเกตว่าหลวงปู่ตื้อมักจะทราบล่วงหน้าว่า ใครจะมาหาจากนิมิตเสมอ แล้วจะบอกพระอาจารย์เปลี่ยนให้ทราบด้วย ในตอนแรกพระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่เชื่อ ก็จะคอยดู เมื่อถึงเวลาก็มีคนมาหาหลวงปู่ตามที่ท่านพูดจริง ทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนพยายามที่จะเข้าสมาธิแล้วเห็นนิมิตให้เร็วที่สุด (คือฝึกการใช้อนาคตังสญาณ) จนทำได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านรู้ได้ทันทีว่ามีใครมา มากี่คน แต่งกายอย่างไร เสื้อสีอะไร ลวดลายอย่างไร มาด้วยวัตถุประสงค์อะไรอย่างมิตรหรืออย่างศัตรู เมื่อเห็นแล้วจะเล่าให้หลวงปู่ตื้อทราบ ซึ่งหลวงปู่ก็รู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว

หลวงปู่ตื้อเคยพูดถึงเรื่องพระหมา พระแมว พระควาย ฯลฯ ว่าเป็นเพราะจิตใจตกต่ำเหมือนสัตว์อย่างนั้น จึงแสดงออกมาให้เห็นสัตว์ต่างๆ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ขอให้หลวงปู่อธิบายถึงนิมิตแปลกๆ เช่น เห็นคนเดินมาแล้วเปลี่ยนเป็นสุนัข จากสุนัขเป็นแมว เมื่อเข้ามาใกล้ก็กลับกลายเป็นคนเช่นเดิมนั้น เป็นเพราะจิตมีหลายระดับ แทรกกันเข้ามาตามลำดับ และได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมอีกคือ

- นิมิตเห็นคนธรรมดา นุ่งห่มด้วยสีเหลือง แสดงว่าจิตของผู้นั้นเป็นผู้มีสมาธิ มีใจเป็นพระ
- คนนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าขาว แสดงว่าจิตของผู้นั้นเป็นผู้ที่มีศีลห้าเป็นปกติ มีใจเป็นเทพ
- คนนุ่งห่มด้วยชุดดำ แสดงว่าเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์
- ถ้าชุดดำและเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ขาด แสดงว่าจิตต่ำลงไปกว่าความเป็นคน

นิมิตที่แสดงว่าต่ำไปเรื่อยๆ ก็คือมาในรูปของควาย สุนัข ถ้าเป็นงูแสดงว่าต่ำหยาบช้าที่สุด มีนิมิตของผู้เป็นพระในลักษณะต่างๆ ที่ท่านพบมาดังนี้

- นุ่งสบง คลุมจีวร พาดสังฆาฏิ แสดงว่ามีศีลสมาธิและปัญญาดี เรียกว่าเป็นพระที่สมบูรณ์
- คลุมแต่จีวรมา แสดงว่ามีสมาธิดี นุ่งสบงใส่อังสะ แสดงว่ามีศีลบริสุทธิ์
- คลุมด้วยจีวรขาด แสดงว่าสมาธิที่เคยมีเสื่อมถอย
- ใส่กางเกง แสดงว่ามีศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย

ขณะที่พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง หากได้รับนิมิตพระดังกล่าวแล้ว ท่านมีเวลาว่างจะไปพบพระผู้นั้นเพื่อตักเตือนให้ประพฤติปฏิบัติดีขึ้น แม้จะอยู่คนละวัดก็ตาม


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 6 จ.เชียงใหม่

ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ชวนสามเณรองค์หนึ่ง เดินธุดงค์ไปพักปฏิบัติธรรมอยู่วัดป่าสะลวง บ้านสะลวงนอก ต.สะลวง อ.แม่ริน จ.เชียงใหม่ จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ ท่านนึกถึงพระพุทธบาทสี่รอยซึ่งหลวงปู่ตื้อเล่าให้ฟัง จึงอยากจะไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริน

เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว จึงสะพายบาตรแบกกลด พร้อมอัฐบริขาร ออกเดินทางกับสามเณรองค์หนึ่ง จาก อ.แม่แตง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านบ้านกาวฮาว บ้านหนองแหวน บ้านหนองกาย แล้วเดินเข้าป่า ขึ้นเขาลงห้วยไปตามความสูงของเขาที่ผ่าน อาศัยด่านสัตว์และทางม้าทางโคทางของชาวบ้าน ที่เดินกันอยู่ในขณะนั้น เขาบางลูกสูงมากต้องพักกัน 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 ต้องค่อยๆ เหนี่ยวกิ่งไม้ขึ้นไป บางครั้งต้องช่วยกันฉุดขึ้นไป สามเณรที่ติดตามไปด้วยเกิดท้อถอย แต่พระอาจารย์เปลี่ยนพูดปลุกปลอบใจว่า เรามุ่งหน้ามาหาความสงบ ต้องการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง จึงต้องอดทนไม่ท้อถอย ครูบาอาจารย์ท่านยังทำได้ เราเป็นศิษย์ต้องทำให้ได้อย่างอาจารย์ ทำให้สามเณรเกิดกำลังใจ เมื่อเดินพ้นเทือกเขาที่สูงที่สุดแล้ว มองลงมาเห็นหมู่บ้านแม่แตงลิบๆ การเดินทางลงเขาก็ต้องระมัดระวังเท่ากับการขึ้นเขาเหมือนกัน ถ้าพลาดพลั้งตกเขาก็จะบาดเจ็บได้ เมื่อลงมาถึงข้างล่างได้พบลำธารซึ่งมีน้ำใสไหลเย็น จึงหยุดพักผ่อน เติมน้ำจนเต็มกระติก แล้วเดินทางต่อไป

การเดินทางในช่วงหลังนี้ ค่อนข้างจะง่ายกว่าช่วงแรกๆ เขาที่ต้องเดินข้ามไม่สูงชันนัก บางครั้งเดินผ่านสวนเมี่ยงของชาวไร่ บางครั้งเดินเลียบลำธาร แต่เป็นทางเดินสะดวก จากบ้านสะลวงจนถึงพระพุทธบาทสี่รอย เมื่อเวลา 6 โมงเย็นวันเดียวกัน รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้น 9 ชั่วโมง ปรากฏว่าอากาศที่นั่นเย็นมาก และเริ่มมืดลง เมื่อนั่งพักใต้ต้นไทรหน้าวิหารจนหายเหนื่อยแล้ว จึงสำรวจพระพุทธบาทสี่รอยอย่างคร่าวๆ


๏ ประวัติพระพุทธบาทสี่รอย

เชื่อกันว่าพระพุทธบาทสี่รอยเป็นรอยพระพุทธบาทองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ที่ได้ตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ แต่ละองค์ได้มาประทับรอยไว้ เพื่อให้ประชาชนในยุคหลังได้กราบไหว้ รอยพระพุทธบาททั้งสี่ซ้อนกันอยู่บนแท่นหินสูงจากดิน รอยใหญ่อยู่ข้างบน รอยขนาดย่อมกว่าจะอยู่ลึกลงไปเป็นชั้นๆ นับได้สี่รอย มีวิหารหลังใหญ่ปลูกคร่อมพระพุทธบาทสี่รอยไว้ (ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้สร้างขึ้น ขณะท่านไปก่อสร้างและบูรณะวัดต่างๆ ที่เชียงใหม่) วิหารมีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่มีคนดูแลและบำรุงรักษา เนื่องจากความเมื่อยล้าและอากาศหนาวเย็น พระอาจารย์เปลี่ยนจึงงดสรงน้ำ และได้ขึ้นไปทำวัตรสวดมนต์เย็นในวิหารตรงรอยพระพุทธบาท นั่งทำความเพียรแล้วก็ต่างเข้ากลดในบริเวณวิหารนั่นเอง ตกดึกอากาศหนาวเย็นมากขึ้นต้องใช้มุ้งกลดมาคลุมห่อร่างกาย ส่วนสามเณรต้องลุกขึ้นมาก่อไฟสู้กับอากาศหนาว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงจำวัดได้เพียงชั่วโมงเศษ ก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติความเพียรต่อ ที่พระพุทธบาทสี่รอยในปีนั้น เป็นปีที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ที่ท่านได้พบมาในชีวิตการเดินธุดงค์

รุ่งขึ้นเช้าได้ออกบิณฑบาตใกล้ๆ กับพระพุทธบาทสี่รอย มีชาวบ้านใส่บาตรเพียง 3 บ้าน ได้กล้วยมา 2 ลูก และข้าวเหนียวเล็กน้อย ด้วยความสงสารสามเณรที่ยังต้องเจริญเติบโต ต้องการอาหารมากว่า พระอาจารย์เปลี่ยนจึงแบ่งข้าวเหนียวและกล้วย 1 ลูกครึ่งให้สามเณร ตัวท่านเองฉันกล้วยเพียงครึ่งลูกเท่านั้น เมื่อฉันอาหารเสร็จและปฏิบัติกิจของสงฆ์แล้ว ได้สังเกตดูเห็นว่า พระพุทธบาทสี่รอย พระพุทธบาทเต็มไปด้วยใบไม้และหญ้า จึงคิดจะทำความสะอาดรอยพระพุทธบาท แต่มีป้ายติดห้ามคนลงไป ท่านจึงได้ยกเหตุผลต่างๆ ขึ้นมาพิจารณา แล้วกราบลงข้างรอยพระพุทธบาทอธิษฐานว่า ท่านมีความปรารถนาจะลงไปทำความสะอาดรอยพระพุทธบาททั้งสี่รอยนี้ให้แลดูสวย งามขึ้น ขออย่าให้การล่วงละเมิดครั้งนี้ต้องเป็นบาปกรรมเลย และขอให้งดโทษและอโหสิกรรมแก่ท่านด้วย อธิษฐานเสร็จแล้วจึงก้มลงกราบ แล้วปีนขึ้นไปที่รอยพระพุทธบาทรอยเล็กซึ่งอยู่ล่างสุด เก็บเศษใบไม้ ใบตอง หยากไย่ และเช็ดถูจนสะอาดแล้ว จึงปีนลงมาข้างล่างก้มกราบอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นท่านได้พิจารณาบริเวณโดยรอบซึ่งมีต้นหญ้าขึ้นเต็มไปหมด จึงได้ขอยืมขอบก (จอบ) จากชาวบ้านมาให้สามเณรดายหญ้าจนเสร็จในตอนเย็น แล้วพระอาจารย์เปลี่ยนก็ใช้บริเวณข้างวิหารเป็นที่เดินจงกรม ขณะเดินจงกรมจะมีงูตัวแดงๆ ยาวประมาณ 75 เซนติเมตร มีหงอนด้วย (ทราบภายหลังว่าเป็นงูเห่าไฟ) มานอนอยู่ในทางเดินจงกรมเกือบตลอดเวลา บางตัวนอนอยู่ บางตัวก็เลื้อยข้ามไป ท่านไม่กลัวจึงเดินข้ามและได้แผ่เมตตาให้งูเหล่านั้น

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่พระพุทธบาทสี่รอยได้ระยะหนึ่ง ก็มีหลวงตาแก่ๆ จากบ้านหนองกาย มาพักปฏิบัติธรรมด้วยวันหนึ่ง ท่านได้ไปสนทนากับหลวงตาและสามเณร ปรากฏว่ามีงูสองตัวเลื้อยตามไปขดตัวอยู่ในซอกหิน และยกหัวขึ้นฟังคำสนทนาจนกระทั่งเลิกเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง เป็นที่น่าสังเกตว่างูจะมาอยู่ในทางเดินจงกรมของท่านเพียงองค์เดียว ไม่ไปขวางทางเดินจงกรมของหลวงตาหรือของสามเณรเลย และตั้งแต่สามเณรทำความสะอาดบริเวณพระพุทธบาทแล้ว มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ว่าจะไปธุดงค์ที่ใดไม่เคยเจ็บป่วย ซึ่งคงจะเป็นอานิสงส์จากการทำความสะอาดครั้งนี้ก็ได้


๏ บ้านผาแด่น ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง

หลังจากพักปฏิบัติธรรมที่พระพุทธบาทสี่รอยพอสมควรแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ต่อไปยังบ้านผาแด่น (เป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยง และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม) การเดินทางช่วงนี้ลำบากขึ้น เพราะน้ำค้างลงหนักมากคล้ายฝนตก ดินชุ่มชื้นทางเดินลื่น จนทำให้ท่านลื่นไถลลงเขาไปหลายเมตร พระอาจารย์เปลี่ยนและสามเณรไปถึงบ้านผาแด่น เมื่อเวลาพลบค่ำ เมื่อเดินเข้าไปใกล้หมู่บ้านก็มีเด็กและผู้ใหญ่ออกมารับช่วยถืออัฐบริขาร และสะพายบาตร เดินนำไปส่งที่สำนักสงฆ์ของหมู่บ้าน เพราะหลวงปู่ชอบเคยมาอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว และได้ฝึกชาวบ้านจนรู้จักขนบธรรมเนียมที่จะปฏิบัติพระ

สำนักสงฆ์บ้านผาแด่นขณะนั้น มีพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต พักปฏิบัติธรรมอยู่ แต่ท่านจะมาที่หมู่บ้านเวลาเช้าเพื่อบิณฑบาติ ฉันเสร็จจะปลีกตัวเข้าไปอยู่ในป่า ไม่พักในบริเวณสำนักสงฆ์ เพราะท่านเคยโดนพวกโจรจี้และทำร้าย เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนมาพัก จึงอยู่กับสามเณรเท่านั้น แต่สามเณรพักอยู่ไม่นานต้องย้ายไปอยู่กับหลวงปู่สาม อกิญจโน ที่บ้านแม่หลอดเพราะฉันอาหารของชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีกลิ่นคาวมากไม่ได้

เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนอยู่องค์เดียว จึงเร่งปฏิบัติตามความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน สลับกันไป ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อทำความเพียรจนพอใจแล้ว ท่านคิดเป็นห่วงสามเณรว่าเดินทางไปองค์เดียว ตามเส้นทางที่ชาวกะเหรี่ยงบอก เกรงว่าสามเณรจะไม่พบกับหลวงปู่สาม จึงบอกลาชาวบ้านที่ผาแด่นเพื่อเดินทางไปบ้านแม่หลอด ต้องเดินทางเข้าป่า ขึ้นเขาลงห้วยไปไม่นานนักก็ถึงบ้านแม่หลอด ได้พบสามเณรอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สาม และพระอาจารย์จันดี เขมปัญโญ ซึ่งเคยธุดงค์ไปทางใต้ด้วยกันอยู่ที่นี้ด้วย


๏ บ้านแม่หลอด ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง

ทั้งพระอาจารย์จันดี และหลวงปู่สาม ได้ชักชวนพระอาจารย์เปลี่ยน ขอให้เนสัชชิก (คือปฏิบัติธรรมในอิยาบถนั่ง) เพราะเป็นวันอุโบสถศีล พระอาจารย์เปลี่ยนจึงไม่ขัดข้อง แต่ขอไปพักผ่อนก่อนเพราะเดินทางมาเหนื่อยทั้งวัน นอนพักอยู่ครึ่งชั่วโมงจึงเข้ามาร่วมทำวัตรสวดมนต์เย็น และนั่งปฏิบัติธรรมตามที่ตกลงกันไว้

เนื่องจากอากาศที่บ้านแม่หลอดหนาวเย็น เมื่อนั่งปฏิบัติไปได้สัก 3 ชั่วโมงกว่า พระอาจารย์จัดดีได้นั่งจนศีรษะเอนมาโดนพระอาจารย์เปลี่ยน ท่านจึงขอให้พระอาจารย์จันดี ไปนั่งห่างๆ ส่วนสามเณรได้ลงจากกุฏิไปพักผ่อนเมื่อเวลาเที่ยงคืน พระอาจารย์จันดีได้ลุกหนีออกไปอีกองค์ ประมาณตีสอง จึงเหลือเพียงสององค์นั่งปฏิบัติกันต่อไป จนประมาณ 05.30 น. หลวงปู่สามได้ลุกขึ้นไปผิงไฟ แล้วกลับมาเรียกพระอาจารย์เปลี่ยนเมื่อเวลา 06.00 น. เพื่อออกบิณฑบาต

๏ บ้านแม่จิว ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง

พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่บ้านแม่หลอดได้ประมาณ 1 เดือน จึงชวนสามเณรเดินทางกลับ ได้เดินทางผ่านบ้านแม่จิว ห่างจากบ้านแม่หลอดประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านได้ขอชาวบ้านช่วยปลูกกระต๊อบให้พัก แต่ชาวบ้านมีข้อแม้ว่า พระอาจารย์เปลี่ยนและสามเณรจะต้องพักจำพรรษาที่นั่น จึงปลูกให้ พระอาจารย์เปลี่ยนเห็นว่า หากอยู่ที่เดียวนานๆ จะทำให้ติดสถานที่ และท่านเองยังอยู่ในระหว่างแสวงหาความรู้จึงปฏิเสธไป

ที่บ้านแม่จิวนี้ หลวงปู่สามเคยมาพักปฏิบัติธรรมอยู่ 14 วัน พระอาจารย์เปลี่ยนได้พบกุฏิที่ชาวกะเหรี่ยงได้สร้างให้หลวงปู่สาม เมื่อ 2 ปีก่อน แต่สร้างไม่เสร็จ และได้พบบ่อน้ำหลวงปู่สามเคยให้ขุด แต่ขุดไม่สำเร็จ หลวงปู่สามก็เดินทางจากไปเสียก่อน บ่อน้ำนี้ขุดไว้ข้างๆ ลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านมา พระอาจารย์เปลี่ยนได้ยืนดูน้ำในบ่อที่ผุดขึ้นมาแรงขึ้นๆ คล้ายกับปลาช่อนเอาหางตีน้ำให้แตกกระจาย น้ำเริ่มวนเป็นวงกลมและขุ่นขึ้นเรื่อยๆ ท่านยืนดูจนน้ำหยุดนิ่ง จึงเดินกลับขึ้นไปและตรวจดูบริเวณนั้น พบว่าที่บ่อน้ำมีพญานาคอาศัยอยู่ เป็นพญานาคที่มีใจหยาบ โกรธง่าย ไม่อยากรับศีล ชอบลองฤทธิ์ เมื่อมีพระไปอยู่จึงแสดงออกไม่ยอมรับ เกรงว่าจะต้องรับศีลฟังธรรม

พระอาจารย์เปลี่ยนได้เดินทางจากบ้านแม่จิว กลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสะลวง อีกเป็นเวลา 8 วัน จึงเดินทางกลับวัดป่าพระอาจารย์ตื้อ พักอยู่วัดนี้ระยะหนึ่ง จึงย้อนกลับไปที่วัดป่าสะลวงอีกครั้ง คราวนี้ได้พบกับหลวงปู่สาม พระอาจารย์คำแปง พระอาจารย์ศรีจันทร์ และพระอาจารย์จันดี ซึ่งต่างก็เร่งทำกลดของตนเองเพื่อออกธุดงค์ต่อ


๏ กุฏิส่วนตัวที่วัดป่าสะลวง

ระหว่างอยู่ที่วัดป่าสะลวง พระอาจารย์เปลี่ยนได้สร้างกุฏิเพื่ออยู่อาศัยหลังหนึ่ง โดยชาวบ้านศรัทธาบริจาคกระเบื้อง ไม้ และวัสดุก่อสร้างให้ ท่านต้องขึ้นๆ ลงๆ หยิบเครื่องมือของใช้ต่างๆ เพียงองค์เดียว ไม่มีใครช่วยเหลือการก่อสร้างครั้งนี้เลย

พระอาจารย์เปลี่ยนพักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสะลวงระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางกลับไปหาหลวงปู่ตื้ออีก จากนั้นออกธุดงค์ไปหาพระอาจารย์จาม มหาปุญโญ วัดจิตตวนาราม บ้านช่อแล อ.แม่แตง ได้สนทนาแลกเปลี่ยนการปฏิบัติธรรม พระอาจารย์จามได้เทศน์ให้พัง และได้ฝึกหัดการภาวนากับท่านด้วย รูปร่างท่านอ้วนมากไม่สามารถนั่งปฏิบัติ ท่านจึงใช้อิริยาบถอื่นในการทำภาวนา (ปัจจุบันพระอาจารย์จามอยู่ที่วัดป่าวิเวกพัฒนารวม บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร)


๏ ดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว

ใกล้เข้าพรรษาที่ 6 พระอาจารย์เปลี่ยนตั้งใจจะหาครูบาอาจารย์ที่เป็นนักปฏิบัติ พอที่ท่านจะปฏิบัติตามได้ ในระหว่างนี้ท่านได้พบกับพระกลุ่มใหม่ คือ พระอาจารย์วิสูตร พระอาจารย์อุดม พระอาจารย์ประสิทธิ์ พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปัญโญ ทุกองค์คิดจะไปหาหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งในขณะนั้นได้ไปอยู่ดอยแม่ปั๋งแล้ว (พ.ศ. 2507)

การไปดอยแม่ปั๋ง จะต้องเดินข้ามดอยอีกหลายลูก มีดอยแม่ตองสูงใหญ่ที่สุด ทั้ง 4 องค์ต้องพักเป็นระยะถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งถึงยอด ส่วนพระอาจารย์เปลี่ยน รับภาระช่วยสะพายบาตรและกระติกน้ำของพระอาจารย์อุดมด้วย ท่านเดินทางจากเชิงดอยจนถึงยอดดอย โดยไม่พักระหว่างทางเลย

เมื่อไปถึงดอยแม่ปั๋ง ได้พบพระอาจารย์หนู สุจิตโต และกราบนมัสการขอพักและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่แหวนแล้ว คณะทั้งหมดก็ไปกราบหลวงปู่แหวน ณ กุฏิหลังเก่า ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังเหล็กๆ อยู่ข้างทางจงกรม (ปัจจุบันกุฏิหลังนี้ใช้เป็นที่เก็บของ) ขณะนั้นหลวงปู่แหวนยังไม่มีใครรู้จักมาก ในวัดจึงมีกุฏิอยู่ไม่กี่หลัง มีพระอาจารย์หนูเป็นผู้ปฏิบัติหลวงปู่แหวนเท่านั้น ซึ่ง ไม่ต้องรับภาระมากเท่ากับสมัยที่หลวงปู่แหวนเป็นที่รู้จัก และมีอายุมากขึ้นจนต้องดูแลท่านอย่างใกล้ชิด

หลวงปู่แหวนได้กล่าวกับคณะทั้งหมดว่า “มรรค ผล นิพพาน ยังมีอยู่ครบบริบูรณ์ พวกท่านจงพยายามทำกันนะ” เมื่อรับโอวาทแล้ว จึงกลับลงมาทำกิจส่วนตัวแล้วทำวัตรสวดมนต์เย็น หลังจากนั้นพระอาจารย์เปลี่ยนได้นั่งภาวนาและเดินจงกรมต่อ ขณะนั้นเป็นเวลาตีสอง พระอาจารย์หนูได้ก่อไฟให้หลวงปู่แหวนผิงไฟ หลวงปู่เห็นพระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่นอน จึงพูดกับพระอาจารย์หนูว่า “ตุ๊นี่มันเอาจริง มันเดินมาทั้งวันแล้ว มันยังไม่พัก” เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนได้ยินคำชมของหลวงปู่แหวน ก็มีกำลังใจมากขึ้น จึงเดินจงกรมต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย คืนแรกที่พระอาจารย์เปลี่ยนไปถึงได้นอนพักประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

คืนที่สอง ได้ไปปฏิบัติธรรมในวัดลัง นั่งภาวนาก็เห็นนิมิตว่าหลวงปู่แหวน นำทองคำมายื่นให้ท่านหนึ่งก้อน ขนาดเท่าผลมะตูม แล้วพูดว่า “นี่ก้อนทองคำ เอาทองคำให้มันได้ทองคำ” พระอาจารย์เปลี่ยนตอบปฏิเสธไม่รับก้อนทองคำ เพราะเป็นของธรรมดา เป็นธาตุ ไม่ทราบจะเอาไปใช้ประดับอะไร หลวงปู่แหวนจึงบอกว่า “กลืนทองคำนี้ลงไปไว้ในใจ ก้อนทองคำที่เราจะให้นี้คือ ทำใจของเราให้เหมือนก้อนทองคำ ให้มันเป็นทองคำ ให้มันเย็นฉ่ำอยู่ข้างใน ไม่ให้โกรธใคร ไม่ให้เกลียดใคร ให้เหมือนกับว่ามันวางอยู่เฉยๆ ใครจะด่า ใครจะว่า ก็ให้เฉยๆ เหมือนกับก้อนทองคำนี้ ทองคำเป็นของมีค่า ฉะนั้นต้องทำใจ ให้เหมือนกับทองคำ”

พระอาจารย์เปลี่ยนเข้าใจคำพูดของหลวงปู่แหวนในนิมิต จึงเกิดปลื้มปิติออกจากสมาธิลืมตามาดู เห็นหลวงปู่กำลังนั่งผิงไฟอยู่องค์เดียว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงลุกออกมาเดินจงกรมอีก จนพอใจแล้ว จึงมาช่วยสุมไฟ หลวงปู่ได้บอกว่า “เอาดีๆ เน้อ” เมื่อท่านปฏิบัติหลวงปู่แหวนแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้กลับไปยังกุฏิและทำความเพียรต่อ

ระหว่างอยู่กับหลวงปู่แหวน พระอาจารย์เปลี่ยนได้ทำความเพียรอย่างไม่ท้อถอย เพราะอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ที่สามารถให้คำสั่งสอนและปฏิบัติเป็นเยี่ยง อย่างได้ ท่านจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะสนองคุณครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ โดยท่านและพระอาจารย์คำบ่อไปทำความสะอาดกุฏิของหลวงปู่และของพระอาจารย์หนู ต่อจากนั้นช่วยกันสรงน้ำหลวงปู่และพระอาจารย์หนูในตอนเย็นด้วย

พระอาจารย์เปลี่ยนและคณะพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ที่ดอยแม่ปั๋งได้ 16 วัน ก็กราบลาหลวงปู่เพื่อออกเดินทางและแสวงหาครูบาอาจารย์ต่อไป โดยพระอาจารย์เปลี่ยนและพระอาจารย์วิสูตร แยกกลุ่มธุดงค์ไปอำเภอสันกำแพง พักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี กับพระอาจารย์ทองบัว ได้ 20 วัน จึงเดินทางต่อไปยังวัดสันป่าตึง ไปกราบครูบาร่า ซึ่งได้แนะนำให้ไปพักที่วัดเชียงแสนน้อย เป็นวัดร้างอยู่ในป่า เขต อ.สันกำแพง เช่นเดียวกัน


๏ วัดเชียงแสนน้อย อ.สันกำแพง

เมื่อไปถึงวัดเชียงแสนน้อย เกิดมีลมพายุพัดปั่นป่วนขึ้นในบริเวณวัดประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไม่มีฝน เมื่อพายุสงบ จึงไปสรงน้ำแล้วกลับมาทำวัตรเย็น พระอาจารย์วิสูตรท่านเหนื่อยจึงนอนสูบบุหรี่ พระอาจารย์เปลี่ยนได้นั่งภาวนาต่อ ได้เกิดพายุขึ้นมาอีกครั้ง ท่านจึงหาของหนักๆ ทับมุ้งกลดไว้ไม่ให้ปลิวไปตามลม แล้วนั่งสมาธิต่อ ปรากฏว่ามีเจ้าที่มาสองคน นุ่งแต่กางเกงไม่ใส่เสื้อ สักลายไปหมดทั้งตัว ถือคันธนูและมีแล่งธนูสะพายอยู่ข้างหลัง คนหนึ่งได้จับขาพระอาจารย์วิสูตร อีกคนเอามือไปกดรัดคอ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ยินเสียงพระอาจารย์วิสูตรร้องครางในลำคอ และดิ้นถีบบาตรมุ้งและกลดกระเด็นไปหมด จึงถามพระอาจารย์วิสูตรว่าเป็นอะไร ตอบว่า ผีตัวใหญ่มาก 2 ตัว มาบีบคอเจ็บจนพูดออกมาไม่ได้ พระอาจารย์เปลี่ยนจึงบอกว่า เรามาปฏิบัติภาวนา ต้องเดินจงกรมไม่ควรมานอนเฉย พระอาจารย์วิสูตรจึงเริ่มปฏิบัติแต่ก็ไม่จริงจังนัก

วันรุ่งขึ้นก่อนบินฑบาต พระอาจารย์เปลี่ยนได้บอกกับพระอาจารย์วิสูตรว่า “จะมีคนใส่บาตร 3 บ้าน บ้านแรกจะมีเด็กวิ่งออกมารับ เด็กคนนั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นหลาน บ้านที่สองเป็นโยมเฒ่าและผู้หญิงที่เคยเป็นภรรยาในอดีตชาติ บ้านที่สามจะมีเด็กวิ่งออกมา ชื่อ สุวรรณ เคยเป็นหลานเช่นเดียวกัน” เช้าวันนั้นทั้งสององค์ออกบิณฑบาติโดยเดินไปทางทิศตะวันตกของวัด และได้พบคนใส่บาตร 3 บ้าน ดังที่พระอาจารย์เปลี่ยนได้บอกไว้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า นิมิตจากสมาธิของท่านเป็นจริง


๏ ยานวิเศษ

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่วัดเชียงแสนน้อยได้ 15 วัน วันหนึ่งได้รับนิมิตว่า มีผู้นั่งยานลงมาจากสวรรค์ ลักษณะคล้ายๆ คลื่น หรือคล้ายๆ กับหลังนาคที่บันได แต่หัวตัดไม่ใช่หัวพญานาค ประดับประดาสวยงาม มาด้วยกัน 2 ลำ ลำใหญ่ 1 ลำ ลำเล็ก 1 ลำ พวกที่ไม่ได้นั่งยาน ก็ลอยลงมาจากสวรรค์ เมื่อลงมาถึงที่ใกล้เจดีย์ พระอาจารย์เปลี่ยนได้กำหนดจิต ถามผู้ที่นั่งมาในยานลำใหญ่ถึงสาเหตุที่มา ได้คำตอบว่า มาเยี่ยมวัดเก่า ตัวเขาชื่อราชมนตรีเทพบุตร เมื่อเป็นมนุษย์ชื่อว่า หมื่นดาบเจริญ เป็นผู้สร้างวัดนี้กับบริวารทั้งหลาย เหตุที่สร้างวัดเพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจึงสร้างบารมีเป็นพุทธภูมิ ปัจจุบันอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เขารู้จักพระอาจารย์เปลี่ยนเพราะเคยสร้างวัดมาด้วยกัน ตอนนั้นพระอาจารย์เปลี่ยนเป็นทหารเอกคุมกองทัพของเขา ส่วนผู้ที่นั่งมาในยานลำเล็กนั้นเป็นลูกชาย


๏ ต้นมะม่วง

ที่วัดเชียงแสนน้อย มีตุ๊กแกตัวหนึ่งร้องมาจากต้นมะม่วงทุกๆ 5 นาที วันหนึ่งพระอาจารย์เปลี่ยนได้กำหนดจิตดูเสียงตุ๊กแกร้องจากข้างบนต้นลงมา เกือบจะถึงพื้นดิน ปรากฏร่างของหลวงพ่อองค์หนึ่งห่มผ้ามาหา ท่านจึงถามถึงเหตุที่มาอยู่ที่ต้นมะม่วง ได้คำตอบว่าเป็นห่วงต้นมะม่วง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงบอกให้หลวงพ่อไปเกิดเสีย อย่าห่วงต้นมะม่วงเลย แต่หลวงพ่อก็ไม่ยอมไป บางครั้งพระอาจารย์เปลี่ยนจะออกบิณฑบาตเดินผ่านต้นมะม่วง ก็จะเอามือตบต้นมะม่วงแล้วบอกให้หลวงพ่อไปเกิด จะฟันต้นมะม่วงทิ้งแล้ว ต้นมะม่วงนี้ปลูกขึ้นมาพร้อมกับการสร้างวัด หรือหลังสร้างวัดเล็กน้อย สมภารองค์ต่อมาห่วงใยต้นมะม่วงเพราะตายไป 1 ต้น โค่นไป 1 ต้น เหลืออีก 2 ต้น เป็นต้นเล็กมีตุ๊กแกหรือหลวงพ่อรักษาซึ่งเป็นต้นกลม สวยงามมาก อีกต้นหนึ่งเป็นต้นใหญ่ประมาณ 3 คนโอบ มีโพรงอยู่ที่ลำต้นที่เทพรักษา

ในวันวิสาบูชา ชาวบ้านจากสองตำบล นำโดยครูบาร่าจะพาชาวบ้านมาเวียนเทียนรอบเจดีย์ เวลากลางวันแดดร้อนชาวบ้านจะใช้ร่มเงาต้นมะม่วงเป็นที่พักผ่อน แต่ในเวลากลางวันนั้นมะม่วงกำลังให้ผลแล้วจึงหล่นลงมาตลอดเวลา ชาวบ้านซึ่งไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ คงจะโดนมะม่วงหล่นใส่หัวบ้าง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงแหงนหน้าพูดกับเทพบนต้นไม้ ให้จับมะม่วงไว้ให้ดี อย่างให้หล่นมาโดนชาวบ้าน ผลมะม่วงจึงหยุดหล่นประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อชาวบ้านออกจากร่มไม้แล้ว มะม่วงจึงร่วงลงมาถี่ๆ ตลอดเวลาเหมือนคนขึ้นไปเขย่ากิ่งให้หล่น ซึ่งคงจะเท่ากับจำนวนที่ถูกห้ามไม่ให้หล่นนั่นเอง


๏ เจดีย์

นอกจากนั้นมีเจดีย์องค์หนึ่ง ที่สร้างพร้อมกับวัด เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนนั่งสมาธิตรวจดู จะเห็นเณร 7 องค์ วิ่งอยู่รอบๆ เจดีย์ เล่ากันว่า เคยมีผู้มาขุดในเวลากลางวันสองหน แต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดฟ้าผ่าขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ก่อนวันวิสาขบูชา ชาวบ้านมาทำความสะอาดเจดีย์กัน แต่ทำกันเฉพาะส่วนล่าง ไม่มีใครขึ้นไปทำส่วนบน พระอาจารย์เปลี่ยนจึงให้ทำบันไดพาดขึ้นไปเพื่อจะถอนหญ้า ซึ่งขึ้นอยู่ส่วนบนออก

พระอาจารย์เปลี่ยนบิณฑบาต 3 หมู่บ้าน ไม่ไกลกันนัก คือ บ้านสะลวงนอก บ้านสะลวงใน และบ้านกาวฮาว โดยท่านบิณฑบาตหมู่บ้านละ 1 อาทิตย์ สลับกันไป

ท่านตั้งใจว่าจะฝึกตัวเองให้มีความชำนาญมากขึ้นในการใช้สติควบคุมสมาธิ เพราะท่านคิดจะสอนญาติโยมผู้สนใจให้ปฏิบัติธรรมได้ ท่านคิดว่าถ้าท่านยังไม่รู้เรื่องอารมณ์จิตอย่างแท้จริงและละเอียดลออแล้ว จะยังไม่สอน ท่านจึงฝึกตามจิตโดยการเข้าสมาธิอย่างช้าๆ บางครั้งจิตท่านกำลังดิ่งลงสู่ความสงบอย่างรวดเร็ว ท่านต้องฝืนจิตไม่ให้เร็วเกินไป เพื่อพิจารณาอารมณ์ของจิตว่าก่อนจิตจะเป็นสมาธินั้น มีขั้นตอนการเข้าสู่ความสงบอย่างไร วางอารมณ์อะไรอย่างไร เมื่อไรและที่ไหน ท่านจะสอนสิ่งที่ยากให้เป็นง่ายโดยใช้ปัญญาเป็นหลัก

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ฝึกฝนและปฏิบัติตามที่ท่านตั้งใจไว้ ท่านเห็นว่าจะต้องมีผู้ไม่รู้อีกจำนวนมาก ที่ตามคำสอนคำอธิบายของท่านไม่ทัน เพราะมีคนเพียงส่วนน้อยที่จะเข้าใจใช้สติตามรู้สมาธิ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติที่ลำบาก จิตจะเข้าสู่ความสงบรวดเร็วมากจนกระทั่งไม่รู้อะไร เปรียบเหมือนการนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ผู้นั่งไม่สามารถเห็นรายละเอียดมากนักเพียงแต่เห็นภาพที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไปเชียงใหม่โดยรถยนต์ ซึ่งใช้เวลามาก จะทำให้ผู้ใช้รถสามารถแจกแจงสภาพต่างๆ ของเส้นทางที่ผ่านได้ละเอียดกว่า

พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่ที่วัดป่าสะลวงเพียงองค์เดียว ทำให้การปฏิบัติสะดวกยิ่งขึ้น เพราะสามารถกำหนดเวลาการปฏิบัติงานได้ตามลำพังไม่ต้องพะวงถึงคนอื่นๆ ท่านได้เพียรฝึกใช้สติตามสมาธิจนตามได้ทัน ความรู้ด้านธรรมะได้ผุดขึ้นมา และรู้เองโดยละเอียด ทำให้ท่านมีความพอใจที่จะอยู่องค์เดียว ไม่อยากคลุกคลีกับหมู่คณะ


๏ สามเณรดำ

ก่อนเข้าพรรษาหนึ่งเดือน มีสามเณรองค์หนึ่งมาบวชอยู่ด้วยเป็นผู้มีอายุแล้ว ชาวบ้านเรียกว่าเณรดำ เคยบวชเป็นพระมหานิกายมาแล้ว 5 พรรษา แล้วสึกออกไป เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนมาอยู่ที่วัดป่าสะลวง จึงมาบวชอยู่ด้วย

เณรดำขยันขันแข็ง ทำงานหนัก ชอบทำความสะอาดวัด เก็บกวาดลานวัดโดยไม่ต้องขอร้อง ท่านจึงขอยืมจักรเย็บผ้าของชาวบ้านมาตัดเย็บจีวรให้เณรดำ เมื่ออยู่มานานเข้า ท่านก็ได้ตรวจดูบุพกรรมของสามเณร จึงทราบว่าในชาติที่ท่านเป็นเจ้าของที่ ที่สร้างวัดป่าสะลวงในปัจจุบัน เณรดำเคยเป็นผู้ดูแลทำความสะอาดสวนให้ท่านมาก่อน


พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


๏ พรรษาที่ 7 (พ.ศ. 2508) : จำพรรษา วัดป่าสะลวง บ้านสะลวงนอก ต.สะลวง อ.แม่ริน จ.เชียงใหม่

ในระหว่างพรรษานี้ เมื่อถึงวันอุโบสถศีล ท่านจะให้ชาวบ้านที่มาปฏิบัติธรรมนั่งภาวนาและปฏิบัติเนสัชชิก สามเณรดำจึงต้องนั่งภาวนาอยู่ที่ศาลา นานเข้าก็เริ่มมีใจเบื่อหน่ายที่จะปฏิบัติธรรม จะแสดงอาการไม่พอใจ ที่ถูกพระอาจารย์เปลี่ยนบังคับให้นั่งสมาธิ ไม่มีเวลาทำงานอย่างอื่น

วันหนึ่งเสร็จจากการนั่งอบรมแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนนั่งภาวนาตามปกติ ได้นิมิตเห็นสามเณรดำถือมีดจะมาฟัน ท่านจึงลอยตัวขึ้นไปบนขื่อ สามเณรดำทำอันตรายไม่ได้ จึงใช้มีดฟันอยู่ข้างล่าง รุ่งขึ้นเช้าเมื่อไปพบกันที่ศาลา ก่อนออกบิณฑบาตท่านจึงบอกให้สามเณรดำปรับปรุงจิตใจให้ดี อย่าคิดร้ายกับอาจารย์ เมื่อสามเณรดำโดนทักเช่นนั้น จึงเกิดเกรงกลัวท่าน ไม่กล้าคิดร้ายอีก พยายามปรับปรุงตัวให้อยู่ในกรอบของบรรพชิตที่ดี


๏ กิจวัตรประจำวัน

พระอาจารย์เปลี่ยนจะตื่นนอนตอนเช้าประมาณ 03.30 น. สวดมนตร์ทำวัตรเช้า แล้วนั่งภาวนาและแผ่นเมตตาจนถึง 06.00 น. ท่านจะไปที่ศาลา เพื่อจัดที่นั่งและบาตรให้เรียบร้อย ต่อจากนั้นจะไปล้างหน้าและทำกิจส่วนตัว เรียบร้อยแล้วจะห่มจีวรคลุมสังฆาฏิแล้วเดินจงกรมต่อ จนถึงเวลา 07.00 น. จึงออกบิณฑบาต การออกบิณฑบาตจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ แล้วแต่เส้นทางที่จะต้องไป ถ้าไปบ้านสะลวงใน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ ถ้าไปบ้านสะลวงนอก ใช้เวลา 50 นาที ถ้าไปบ้านกาวฮาว จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที

กลับจากบิณฑบาตประมาณ 08.30 น. เอาสังฆาฏิและจีวรซึ่งเปียกเหงื่อและน้ำค้างออกตาก แล้วเดินจงกรมต่อ รอชาวบ้านที่จะตามเอาอาหารมาให้ที่วัด ท่านจะแบ่งอาหารไว้เท่าที่จะฉัน ที่เหลือคืนใช้ชาวบ้านไปรับประทานที่บ้าน ถ้าเป็นวันพระ ชาวบ้านผู้มีศรัทธาก็จะรับประทานที่วัด และอยู่รักษาอุโบสถศีลที่วัดร่วมกัน แบ่งอาหารเสร็จแล้ว ท่านจะสวดมนต์ให้พรแก่ชาวบ้าน แล้วจึงฉันอาหารของท่าน ฉันเสร็จก็จะกลับกุฏิเพื่อนั่งภาวนาต่อไปอีกระยะหนึ่งประมาณ 1- 2 ชั่วโมง จึงพักผ่อนช่วงสั้นๆ ในตอนเช้าแล้วนั่งภาวนาต่ออีกจนถึงเวลา 13.30 น. ถ้าไม่ดูหนังสือ ก็เดินจงกรมต่อไป เริ่มกวาดลานวัดเวลา 16.00 น.

กวาดลานวัดเสร็จจะสรงน้ำ และตักน้ำเพื่อใช้ในการล้างบาตรในตอนเช้า หรือเท่าที่จำเป็นที่จะใช้ในกุฏิ จัดที่ต่างๆ ที่ศาลาเตรียมไว้ในเวลาเช้า ทำงานเสร็จประมาณ 18.00 น. ท่านจะเดินจงกรมต่อไปอีกจนกระทั่ง 19.00 น. จึงสวดมนต์ทำวัตรเย็น ใช้เวลาสวดมนต์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วนั่งภาวนาต่อไปจนประมาณ 23.30 น. หลังจากนั้นเดินจงกรมต่ออีก 1 ชั่วโมง แล้วนั่งพิจารณาจนถึงเวลานอน จะนอนแบบสีหไสยาสน์ จนได้เวลาลุกขึ้นในตอนเช้าเพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้า

พระอาจารย์เปลี่ยนใช้เวลาในการปฏิบัติธรรมเกือบทั้งวัน ท่านใช้เวลานอนพักผ่อนประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งบางครั้งเหลือเพียง 30 นาทีเท่านั้น ท่านทำจนเป็นปกตินิสัยตามเวลาที่กำหนดได้ไม่ต้องดูนาฬิกาเลย หากเป็นวันพระ ท่านจะนำชาวบ้านที่ไปวัด รับศีล ถือธุดงควัตรเนสัชชิก ปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถสาม คือ ยืน เดินจงกรม นั่งพิจารณา สลับกันไป แต่ของพระอาจารย์เปลี่ยนจะนั่งภาวนาในลักษณะเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเวลา 05.00 น. นำชาวบ้านสวดมนต์ทำวัตรเช้าเป็นเสร็จพิธี


๏ กฎของไตรลักษณ์

ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้พิจารณาการเกิด-ดับ เรื่องของสังขารร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาเรื่องของไตรลักษณ์ ว่าเป็นแน่ใจไม่มีข้อสงสัย พิจารณาจนรู้แน่ว่าสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของที่ไม่เที่ยง ได้กำหนดดูรูปกายของเราเอง ของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นทุกข์จริง ทำให้จิตใจเกิดการเบื่อหน่าย เป็นเหตุให้ท่านคิดว่าตัวท่านเองได้สำเร็จมรรคผลแล้ว เมื่อมีความเห็นเช่นนี้ เกิดความคิดว่าอาจจะเป็นความเห็นผิด แต่เมื่อหวนกลับมาพิจารณาว่า สังขารทั้งปวง ทั้งภายในภายนอกไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดในโลก เกิดแล้วต้องดับแตกสลายเหมือนกันหมด ท่านได้นั่งพิจารณาจนเกิดสติปัญญาขึ้นมาเพื่อเตือนตนเองอยู่เสมอ

เรื่องสำเร็จมรรคผล เกิดการโต้เถียงขึ้นภายในใจของท่าน ใจหนึ่งมีความเห็นว่า ไม่มีอะไรในโลกที่ต้องมาห่วงใย ใจจึงไม่รับอะไรเลย ทำให้ท่านไม่อยากฉันข้าวฉันน้ำ ไปบิณฑบาตได้อาหารก็ตั้งไว้ตรงนั้น ไม่คิดอยากฉัน อยากภาวนาอยู่ตลอดเวลา แต่คราวนี้ท่านมองเห็นด้วยปัญญา ถึงไม่อยากฉันข้าว แต่เมื่อลองฉัน ก็ฉันได้ตามปกติ ผิดกับครั้งพรรษาที่ 2 ขณะอยู่ที่ จ.พังงา บังเกิดปิติจนไม่อยากฉันข้าวเลย ท่านได้พิจารณาเรื่องการบิณฑบาต ก็เพื่อรับอาหารจากชาวบ้านมาเกินประทังชีวิต มิได้กินเพื่อความอยากในรสของอาหารหรือเพื่อความต้องการของปากและท้อง มิได้คำนึงว่าได้มากหรือน้อย ใครจะใส่หรือไม่ใส่ก็ตาม แล้วแต่ศรัทธาของผู้ที่ใส่บาตร ท่านจะแผ่เมตตาขณะเดินบิณฑบาตในทุกแห่งที่ผ่าน จะแผ่รอบตัวเรื่อยๆ ไป

นอกจากนั้นท่านได้พิจารณาถึงความทุกข์ของร่างกาย ที่ต้องเดินเพื่อแสวงหาอาหาร ทุกข์ที่เกิดจากสภาวะอากาศ ฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ ทุกข์อันอาจจะเกิดอันตรายที่มองไม่เห็นจากธรรมชาติ หรือจากสัตว์ป่า สัตว์เลื้อยคลายนานาชนิด แต่ก็จำเป็นต้องแสวงหา เพราะร่างกายต้องการอาหารมาดับความทุกข์


๏ การขับไล่

ขณะอยู่ที่วัดป่าสะลวง ก่อนออกพรรษาเล็กน้อย มีชาวบ้านพยายามจะไล่พระอาจารย์เปลี่ยนให้ออกจากวัด เนื่องจากท่านเป็นพระฝ่ายธรรมยุติ และปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ชาวบ้านในเขตนั้นนิยมนับถือท่านมาก แต่พระอาจารย์เปลี่ยนไม่สนใจ หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา พอท่านเดินออกไปบิณฑบาตชาวบ้านผู้นั้นจะออกมายืนหันหลังเพื่อขวางทางเดิน ซึ่งกว้างพอจะเดินเรียงหนึ่งเท่านั้น เมื่อท่านจะเดินผ่านที่ตรงนั้น จึงต้องลงจากทางเดิน อ้อมไปในพงหญ้าซึ่งเปียกชุ่มไปด้วยน้ำค้าง ท่านได้รับความลำบากมาก เมื่อเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านผู้นี้จะเดินเข้าบ้านไป เว้นไป 3-4 วัน ก็ออกมายืนขวางทางอีก จนกระทั่งออกพรรษาได้เดือนครึ่ง จึงเลิกไป

ต่อมาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือมีชาวบ้านอยู่ใกล้วัดคนหนึ่ง ถือประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปตัดไม้จะเอาไปปลูกสร้างบ้าน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อยู่ในเขตวัดข้างๆ กุฏิพระอาจารย์เปลี่ยน ท่านจึงทักท้วงเขาก็ไม่ฟัง กระทั่งผ่านไปถึงวันที่สาม ขณะกำลังโค่นไม้อยู่ ไม้ต้นที่โค่นหักล้มลงมาโดนอีกต้นหนึ่งซึ่งอยู่ริมห้วย ทำให้ต้นที่อยู่ริมห้วยล้มลงเกือบจะโดนกุฏิของพระอาจารย์เปลี่ยน ตกตอนเย็นท่านเห็นชายผู้นั้นต้องคลานกลับบ้านไม่สามารถเดินได้ ต้องใช้เวลารักษาตัว 4-5 วัน โดยไม่รู้สาเหตุและต้องมาทำพิธีบวงสรวงที่วัด จึงเดินได้ตามปกติ

หลังจากนั้นก็มีการขับไล่พระอาจารย์เปลี่ยนอีก โดยเจ้าคณะได้ให้พระที่อยู่ในปกครองของตน ไปถามปัญหาพระอาจารย์เปลี่ยน หากตอบไม่ได้ ท่านจะต้องออกไปจากวัดป่าสะลวงทันที พระที่ไปถามปัญหา ต้องขอร้องชาวบ้านให้ไปเป็นเพื่อนด้วย แต่ไปถึงแล้ว ไม่มีองค์ใดกล้าถามปัญหาที่เตรียมมา บางครั้งส่งพระที่เป็นมหามาพบแต่ก็ถามปัญหาไม่ได้ อาจเป็นเพราะเกิดความประหม่า จึงลืมคำถามหมด พระองค์ที่ถูกใช้มา ถามปัญหาไม่ได้ก็ไม่กล้ากลับวัด ต้องไปนอนบ้านโยมแทน นานเข้าก็ต้องสึกออกไป

การคิดขับไล่นี้ทำกันถึงสี่ครั้ง จนพระบางองค์ที่อยู่วัดในหมู่บ้านสะลวงนอกมีความเกรงกลัวเจ้าคณะจังหวัด เพราะทำตามคำสั่งไม่ได้ ลาสึกออกไปจนหมด เหลือแต่สามเณรเพียงสององค์ ชาวบ้านจึงขอร้องให้พระอาจารย์เปลี่ยนไปอยู่ที่วัดในหมู่บ้านสะลวงนอก แต่ท่านปฏิเสธเนื่องจากท่านเป็นพระธุดงค์จะอยู่แต่วัดในป่าเท่านั้น ต่อมาชาวบ้านมีศรัทธาปลูกกุฏิถวายท่านหนึ่งหลัง ซึ่งท่านได้นิมนต์พระทุกวัดในละแวกนั้นเท่าที่จะนิมนต์ได้มาช่วยกันฉลองกุฏิ เพื่อสร้างศรัทธาให้กับชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันสร้างกุฏิ

ครั้นออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้วัดในหมู่บ้านสะลวงนอก เกิดไม่พอใจพระอาจารย์เปลี่ยน โดยถือเหตุที่ไม่ยอมไปจากวัดป่าสะลวง ทำให้พระต้องสึกไปเหลือแต่สามเณร ดังนั้นเวลาเห็นท่านเดินผ่านไปบิณฑบาต ชายคนนั้นก็เอามือจับเสาบ้านของตนพร้อมกับพูดซ้ำๆ “ใครจะใส่บาตรให้ธรรมยุติก็ใส่เถอะ ใส่บาตรธรรมยุติแล้วเหาะไม่ได้หรอก” พระอาจารย์เปลี่ยนได้ยินแล้วจึงแผ่เมตตาอยู่ในใจ ให้ชายผู้นั้นมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ชาวบ้านคนนี้ยืนว่าท่านเพียงวันเดียว วันที่สองท่านเดินผ่านไม่เห็นเขาอีก วันที่สามมีพระมาตามท่านไปดูแลอาการป่วยของหลวงปู่ตื้อ ท่านจึงเก็บอัฐบริขาร และไปพยาบาลหลวงปู่ตื้อ 1 คืน วันรุ่งขึ้นประมาณบ่าย 4 โมง มีคนมาบอกข่าวว่า ผู้ชายคนที่ด่าว่าพระอาจารย์เปลี่ยนได้ถึงแก่กรรมแล้ว และชาวบ้านในแถบนั้นสงสัยว่าท่านปล่อยคุณไสยไปใส่ เขาจึงตาย เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนมีโอกาสไปหาหลวงปู่ๆ ได้ให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า เขาเป็นลูกศิษย์เทวทัตมาเกิด จึงต้องรับกรรม


๏ พิสูจน์นิมิต

พระอาจารย์เปลี่ยน ได้รับนิมิตต่างๆ มาก และได้พิสูจน์ว่านิมิตนั้นเป็นจริง เช่น ครั้งหนึ่งได้รับนิมิตว่า มีผู้หญิงอายุมากแล้วคนหนึ่งใส่บาตรท่านเพียงครั้งเดียว ได้เคยคิดจะถักหมวกถวายท่านเพื่อสวมในหน้าหนาว ท่านเห็นในนิมิตว่า เขาไปหาท่านและพูดว่า “จะขอลาแล้ว” พระอาจารย์เปลี่ยนจึงส่งจิตไปดูที่บ้าน พบว่ากำลังใกล้จะตาย ลมหายใจสั้นลง และสิ้นในที่สุด พอตายแล้วมีผู้หญิงสองคนมาจับแขนผู้หญิงที่ตาย แล้วเอาแส้เฆี่ยนตีด้วย รุ่งขึ้นเช้า พระอาจารย์เปลี่ยนออกบิณฑบาตได้พบลูกเขยของผู้หญิงคนนั้น จึงถามว่าแม่เสียแล้วใช่ไหม ลูกเขยแปลกใจที่ท่านทราบ พระอาจารย์เปลี่ยนจึงบอกว่าเขาไปลาท่านที่วัด เขาไปไม่มีสุข เขามีทุกข์ ทำบุญอุทิศให้เขาบ้าง และใส่เสื้อให้เขาด้วย

ปกติผู้หญิงคนนี้ชอบทำแต่ปาณาติบาต แต่ลูกเขยและลูกสาวชอบทำบุญอยู่เสมอ นิมิตในเรื่องนี้จึงเป็นทุคตินิมิต ส่วนสุคตินิมิตนั้นพระอาจารย์เปลี่ยนได้พบในเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งชอบถวาย ดอกไม้ ธูปเทียน ทุกครั้งที่ไปวัดหรือไปหาพระอาจารย์เปลี่ยน เมื่อตายแล้วปรากฏว่ามีดออกไม้เคารพศพเป็นจำนวนมาก หญิงผู้นี้ได้ไปสู่สุคติ นอกจากนั้นชาวบ้านหลายคนที่เคยถวายปัจจัยค่ารถ ค่ายานพาหนะแก่พระ เมื่อเวลาจะละสังขารไป บางคนมียานลอยลงมารับ บางคนมีรถมารับ เพื่อพาไปยังสถานที่ที่เป็นทิพย์ ซึ่งเขาได้สร้างสมบุญไว้


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่

หลังออกพรรษาแล้ว ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสะลวงนานพอสมควรแล้ว ก็กลับไปหาหลวงปู่ตื้อ ได้พักปฏิบัติหลวงปู่ตื้อและได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านอีกประมาณ 1 เดือน จึงย้อนกลับมาที่วัดป่าสะลวง เพราะเป็นสถานที่ที่ปฏิบัติภาวนาได้ดีอีกแห่งหนึ่ง วันหนึ่งท่านไปบิณฑบาต สังเกตเห็นสุนัขตัวเมียตัวหนึ่งอยู่กับเจ้าของบ้านที่เป็นผู้หญิง เมื่อท่านไปบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านนี้ สุนัขจะวิ่งไปเตือนให้เจ้าของบ้านได้รู้ แล้วรีบนำอาหารออกมาใส่บาตร สุนัขทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำ

พระอาจารย์เปลี่ยนจึงตั้งจิตดูสุนัข จึงรู้ว่า เมื่อก่อนสุนัขเคยเกิดเป็นลูกสาวของเจ้าของบ้าน แต่ผิดศีลข้อสามเพราะคบชู้ เมื่อสามีรู้ก็ไม่ยอมรับ พร้อมกับสาบานว่าถ้ามีชู้จริงขอให้เกิดเป็นสุนัขด้วย ผลของกรรมนี้เมื่อตายไปจึงเกิดเป็นสุนัขอาศัยอยู่กับหญิงเจ้าของบ้านนั้นเอง ท่านจึงบอกเจ้าของบ้านให้รู้และดูแลสุนัขให้ดี

ส่วนนิมิตรูปสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ควาย สุนัข แมว มีผ่านเข้ามาให้ท่านเห็นประจำ เป็นเพราะจิตผู้นั้นยังต่ำหรือเคยเป็นสัตว์นั้นมาก่อน แต่ยังไม่หมดวิบากกรรม จึงพาให้เห็นในรูปเดิม เช่น คราวที่อยู่วัดป่าสะลวง มีพระจากผาแด่นมาพักที่วัด ท่านได้รับนิมิตว่ามีพระมา 2 องค์ มีลักษณะเป็นควายมานอนอยู่ที่ศาลา รุ่งขึ้นเช้าเตรียมตัวออกบิณฑบาตได้พบพระ 2 องค์นั้นจริง แต่ยังนอนหลับอยู่บนศาลา ได้ทราบภายหลังว่า พระทั้ง 2 องค์บวชได้ 10 พรรษาแล้ว แต่การภาวนายังไม่ก้าวหน้า เมื่อมีโอกาสเรียนถามหลวงปู่ตื้อ ท่านอธิบายว่าเป็นเพราะจิตไม่ถึงไหน ยังเป็นสัตว์อยู่ จึงเห็นนิมิตอย่างนั้น

ครั้งหนึ่งขณะนั่งภาวนา เห็นนิมิตผู้หญิงคนหนึ่งเดินยิ้มมาพอเข้ามาใกล้ก็เป็นสุนัข จากสุนัขเป็นแมว ก่อนจะถึงท่านก็กลับเป็นอีกคน เมื่อได้พบหญิงนี้จริง ท่านเห็นเป็นการไม่สมควรเพราะไม่มีผู้ชายอยู่จึงไล่ให้กลับก่อน เรื่องนี้ท่านให้คำอธิบายว่า ผู้หญิงคนนี้เคยเกิดเป็นสุนัข แล้วจึงเกิดเป็นแมว ต่อจากนั้นจึงเกิดเป็นคน แต่จิตยังไม่มีความแรงทางด้านกามารมณ์อยู่ จึงมีนิมิตออกมาให้เห็น การได้นิมิตมานี้ บางครั้งก็มาตักเตือนให้ระวังอันตรายจากการโดนทำร้ายร่างกายบ้าง จากการรบกวนจากเพศตรงกันข้ามบ้าง ท่านจึงต้องคอยตรวจสอบตลอดเวลา และทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนมีความรู้ และเข้าใจในคำเทศน์ของหลวงปู่ตื้อที่ว่า พระหมา พระแมว ฯลฯ โดยไม่มีข้อสงสัยอีกเลย

นอกจากนั้นการที่มีความเกี่ยวข้องกับใครด้านต่างๆ ก็เป็นเพราะเมื่อชาติก่อนๆ พระอาจารย์เปลี่ยนเคยบวช บุคคลเหล่านี้เคยกราบไหว้เคารพท่าน มาในชาตินี้จึงยังมีความผูกพันอยู่ เช่น บางคนเคยใส่บาตรกับท่าน จึงชวนผู้ใกล้ชิดมาใส่บาตรด้วย บางคนเคยกราบไหว้ท่านในอดีตชาติ ในชาตินี้ก็มาแสดงความอ่อนน้อมต่อท่าน เมื่อออกพรรษาที่ 7 แล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ท่องเที่ยวธุดงค์เข้าและออกวัดป่าสะลวง อยู่จนวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2509 จึงออกจากบ้านสะลวงนอกไปสู่บ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


๏ บ้านปง (วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509)

ขณะอยู่ที่วัดป่าสะลวง พระอาจารย์เปลี่ยนได้นิมิตว่า ตัวท่านเองลอยอยู่บนท้องฟ้า แล้วมองลงมาเห็นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม กำลังเดินเอาผ้าอาบน้ำคลุมศีรษะไว้ ท่านจึงลงมากราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ได้ถามหลวงปู่ว่าจะไปไหน หลวงปู่ตอบว่าจะไปสรงน้ำแล้วก็เดินเลยไป ท่านจึงลอยขึ้นไปเบื้องบนอีกครั้งหนึ่ง ผ่านบ้านของชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งออกมานั่งไหว้นิมนต์ให้ท่านลงมาพักที่สำนัก แห่งหนึ่ง และจะถวายรองเท้าแก่ท่าน 4 คู่ ต่อจากนั้นท่านจึงลอยกลับไปวัดป่าสะลวง

หลังนิมิตได้ประมาณ 10 วัน พระอาจารย์เปลี่ยนก็ออกธุดงค์ไปวัดป่าอาจารย์ตื้อ ปากทางเข้าโครงการชลประทานแม่แฝก อ.แม่แตง ได้พบหลวงปู่ตื้อและเล่านิมิตให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่บอกว่า จะมีโยมมาอุปัฏฐากในภายภาคหน้า พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่กับหลวงปู่ตื้อจนกระทั่งขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย จึงเดินธุดงค์ต่อไป และได้ผ่านไปพบวัดร้าง คือ วัดอรัญญวิเวก (สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก) บ้านปง ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอยบ้านปง ดูสภาพวัดเหมือนนิมิตที่ท่านได้เห็นเมื่ออยู่ที่วัดป่าสะลวง

ท่านได้เดินสำรวจจนทั่วบริเวณ เห็นว่าเงียบสงัดดีมาก จึงตกลงใจพักปฏิบัติธรรม ณ สำนักนี้ ท่านเลือกกุฏิที่ดีที่สุดในขณะนั้นเป็นที่พัก มีสองห้องแต่ปลวกกินเสียหนึ่งห้อง อีกห้องหนึ่งมีสภาพพออยู่อาศัยได้ (ทราบภายหลังว่าเป็นกุฏิที่หลวงปู่แหวนเคยพักและจำพรรษา) พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่กุฏิหลวงปู่แหวนได้ 2 วัน ตกกลางคืนขณะนอนได้นิมิตเห็นพระองค์หนึ่งไต่เสากุฏิขึ้นมา เอามือมาตีที่หน้าท่าน ท่านจึงตีตอบบ้าง พระองค์นั้นจึงลงจากกุฏิไป (ภายหลังท่านได้นั่งสมาธิดูจึงทราบว่า พระองค์นั้นคือ หลวงพ่อคำ ได้เสียชีวิตไปในสมัยที่จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวน พ.ศ. 2490 และได้เห็นโครงกระดูกรของผู้อื่นอีกมากมายใต้กุฏินั้น) อยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ได้ 4 วัน ชาวบ้านในละแวกนั้น มีแม่บัวคำและสามีชื่อนายเมา หนานศรีธน และคนอื่นๆ ท่านได้จำพรรษาอยู่เพื่อโปรดเขาเป็นการชั่วคราว แม่บัวคำได้ซื้อรองเท้ามาถวายถึง 3 คู่ จากตลาดบ้านปงซึ่งมีแต่คู่เล็กๆ ท่านรับไว้แต่ใส่ไม่ได้ ในที่สุดแม่บัวคำได้วัดเท้าและสั่งตัดจากในเมืองเชียงใหม่ถวายอีก 1 คู่ แม่บัวคำจึงได้ถวายรองเท้าแก่พระอาจารย์เปลี่ยน 4 คู่ จริงตามที่ได้บอกไว้ในนิมิต


๏ การสร้างกุฏิ

พระอาจารย์เปลี่ยนมาพักอยู่ไม่นาน การปฏิบัติธรรมของท่านเจริญก้าวหน้า จึงได้รับความสงบมาก การทำความเพียรด้านอื่นๆ ก็ไม่ติดขัด เพราะสถานที่สงบเงียบและวิเวกดี การปฏิบัติธรรมของท่านเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ชาวบ้านมีศรัทธาในการปฏิบัติธรรมของท่าน จึงพร้อมใจกันสร้างกุฏิให้ท่านใหม่ โดยรื้อกุฏิหลังเก่าพร้อมกับโค่นต้นไม้ในวัดอีก 5 ต้น มาสร้างกุฏิ ภายหลังใช้เป็นศาลาโรงฉัน (พ.ศ. 2536 ได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแทน) ครั้นโค่นต้นไม้ไปปลูกเป็นกุฏิแล้ว ได้มีชาวบ้านปงมาเรียนท่านว่า ได้ยินเสียงร้องไห้ดังมาจากวัด หลายวัน ต่อมาท่านได้นิมิตเห็นรุกขเทวดา 2 ครอบครัว ครอบครัวแรก 3 คน อีกครอบครัวหนึ่ง 4 คน มาหาท่านพร้อมกับแจ้งว่า พวกเขาเดือดร้อนเรื่องที่อยู่ เนื่องจากต้นไม้ที่เคยอยู่อาศัยถูกชาวบ้านโค่นมาสร้างกุฏิ จึงขอให้ท่านหาที่อยู่ให้ใหม่ พระอาจารย์เปลี่ยนจึงให้ไปอยู่ที่ต้นชาดซึ่งอยู่ทางเหนือของวัด ซึ่งมีรุกขเทวดาอยู่หลายครอบครัวแล้ว


๏ วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ในอดีตชาติ

หลังจากอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ได้ประมาณ 2-3 เดือน ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เปลี่ยนได้นั่งสมาธิตรวจดูวัดในอดีต จึงเห็นว่าใต้โบสถ์นั้นมีพระพุทธรูปทองสององค์ (ปัจจุบันมองไม่เห็นในนิมิตแล้ว) คุณแม่บัวใส ซึ่งเป็นพี่สาวของแม่บัวคำ (ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้ง 2 ท่าน) เป็นผู้สร้างโบสถ์ และเป็นหัวแรงในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในวัด ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีพระที่ร่วมมือในการก่อสร้าง 5 องค์ คือ หลวงพ่อคำอ้าย มีพรรษา 5 พรรษา พระอาจารย์เปลี่ยน มีพรรษา 4 พรรษา พระอีกสามองค์ มีพรรษาลดหลั่นกันลงมา โบสถ์ในอดีตแรกก่อสร้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อปูนขึ้นมาและตีไม้ขึ้นพอเป็นรูปร่างโบสถ์เท่า นั้น ภายในมีพระพุทธรูปดินปั้น 3 องค์ ทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ วางเรียงกัน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว คุณแม่บัวใสได้เป็นประธานจัดงานฉลองโบสถ์ มีชาวบ้านมาร่วมงานประมาณ 300 คน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ถามพวกภพภูมิต่างๆ ที่อยู่ในวัดอรัญญวิเวก บ้านปง ถึงเรื่องอายุของวัดได้รับคำตอบว่า วัดสร้างมานาน 783 ปี (เมื่อ พ.ศ. 2511 ปัจจุบัน พ.ศ. 2546- วัดมีอายุ 818 ปี) พระอาจารย์เปลี่ยนบวชเป็นพระมาถึงปัจจุบันได้ 7 ชาติแล้ว ท่านได้ร่วมก่อสร้างวัดอรัญญวิเวก บ้านปง ในชาติที่ 2 แล้วชาติปัจจุบัน เป็นชาติที่ 7


๏ แม่บัวใส

เป็นผู้มีศรัทธาอันแรงกล้าได้อุปัฏฐาก วัดอริญญวิเวก บ้านปง และพระอาจารย์เปลี่ยน มาแต่ต้น พระอาจารย์เปลี่ยนจึงตรวจดูบุพกรรมก็ทราบว่า ครั้งหนึ่งตัวท่านเคยเกิดเป็นบุตรชายคนโตของแม่บัวใส และมีน้องชายอีกคน ซึ่งในชาตินี้เกิดเป็นบุตรชายของแม่บัวใส และเป็นครูอยู่ที่บ้านปง (ขณะนี้ได้เกษียณอายุราชการแล้ว) ในชาตินั้นเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนตั้งใจจะบวช แม่บัวใสมีศรัทธาเตรียมอัฐบริขารอย่างดี ให้ท่านใช้ในการบวช ในชาติปัจจุบันพระอาจารย์เปลี่ยนจึงเป็นผู้ชักจูงแม่บัวใสให้ยินดีและศรัทธา ในการถือศีล และการก่อสร้างต่างๆ ของวัด ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ ศาลา โบสถ์ เจดีย์ ฯลฯ แม่บัวใสจะทำด้วยความเต็มใจยิ่ง ทั้งนี้เพราะแม่บัวใสได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดอรัญญวิเวกบ้านปง มาตั้งแต่ในอดีตชาติ เมื่อเกิดมาในชาติปัจจุบันก็ได้มาสร้างต่ออีก


วัดอรัญญวิเวก
วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่


๏ พรรษาที่ 8 (พ.ศ. 2509) : จำพรรษา วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

พระอาจารย์เปลี่ยนไปอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ได้ 5 เดือนเศษ อยู่องค์เดียวตลอดจนกระทั่งเหลือเวลาอีก 8 วัน จะเข้าพรรษา มีสามเณรสม จาก จ.เลย มาขออยู่จำพรรษา ต่อมาพระอาจารย์สมัย ทีฆายุโก จาก จ.สกลนคร กับศิษย์ของท่าน 3 องค์ คือ ท่านมหาปิ่น ท่านวัย ท่านสมพาน ก็มาขออยู่จำพรรษาเช่นกัน พระอาจารย์สมัยเคยอยู่วัดบ้านช่อแลมาก่อน ซึ่งเป็นที่ไม่สงบ จึงได้ย้ายมาอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง พระอาจารย์สมัยบวช 16 พรรษา จึงเป็นพระที่อาวุโสมากที่สุด (ปัจจุบันพระอาจารย์อยู่ที่วัดโนนแสงทอง บ้านสร้าง อ.พังโคน จ.สกลนคร)


๏ ขันธ์ 5

ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้ใช้สมาธิเป็นบาทในการพิจารณาธรรม ทำให้ปัญญาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความละเอียดยิ่งขึ้น ท่านได้คิดถึงครูบาอาจารย์หลายองค์ที่สอนให้พิจารณาเรื่องขันธ์ 5 และให้ละทิ้งขันธ์ 5 ดังนั้นหากท่านปล่อยวางขันธ์ 5 หรือละทิ้งขันธ์ 5 ได้ด้วยตัวของท่านเองแล้ว ท่านคงไม่ต้องไปแสวงหาครูบาอาจารย์อีก เมื่อคิดดังนี้แล้วก็เกิดปัญญา มองพิจารณาอะไรก็เห็นเป็นกองกระดูกไปหมด เวลาออกบิณฑบาต มีคนใส่บาตร ท่านพิจารณามือผู้ที่กำลังใส่บาตรก็เห็นกระดูกแตก ร่วงลงไปในบาตรมองไม่เห็นข้าว ตัวผู้ใส่บาตรก็แตกลงไปกองกับพื้นด้วย


๏ ประเพณีงานศพ

การสอนธรรมะให้ชาวบ้านนั้น ท่านก็ถือเป็นกิจประจำจะสอนชาวบ้าน เมื่อมารักษาอุโบสถศีลที่วัดทุกครั้ง ท่านจะตอบปัญหาข้อข้องใจจากปัญญาของท่าน เช่น ประเพณีทางเหนือทำไมจะต้องมีธงขาวสามทางนำหน้าศพ ธงขาวสามทางหมายถึงวัฏฏะวนทั้งสาม การถือธงนำหน้าศพและชักให้สูงนั้นเป็นเครื่องประกาศว่า หากไม่ชำระกิเลสให้ลดน้อยจนเหมือนผ้าขาวแล้ว ก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ หรือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา นั่นเอง

การเดินเวียนเทียนเชิงตะกอนสามรอบ ก็มีความหมายเช่นเดียวกัน ตราบใดเรายังทำจิตใจให้บริสุทธิ์ไม่ได้ เราก็จะต้องเวียนเผาอยู่ที่เชิงตะกอนนี้ตลอดไป การเอาหีบศพไปชนเชิงตะกอนสามครั้ง ก็คือการสั่งสอนให้เข็ดหลาบ ถ้ายังไม่เข็ดหลาบก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะวนทั้งสามนี้ การเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ก็เพราะน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ขอให้ผู้ตายมีความสุข เกิดในสุคติภูมิ ให้มีความบริสุทธิ์เช่นเดียวกับน้ำมะพร้าว

ส่วนพิธีกรรมหรือความเชื่อถือบางอย่างในงานศพ เช่น การบวชจูงศพ การเคาะหีบศพ การเซ่นศพด้วยอาหาร ท่านไม่เชื่อว่าคนตายแล้ว เราจะไปจูงใจเขาได้ การชักจูงที่ควรทำคือการจูงคนให้เข้าถึงธรรมะ เทศน์สอนให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถ้าขณะยังไม่ตายไม่ยอมรับฟังพระเทศน์หรือสั่งสอนแล้ว เมื่อตายไปจึงป่วยการจะไปเรียกให้มาฟังเทศน์ถือศีล เมื่อครั้งงานศพคุณแม่ของท่าน ท่านไม่จูงศพคุณแม่ไปป่าช้า ไม่เวียนรอบเชิงตะกอน แต่ยอมให้เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพได้ เพราะท่านเห็นว่า ขณะที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ทำบุญมากแล้ว มีการรักษาศีล ทำทาน แลภาวนา ทั้งไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น จึงไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงท่านอีก

ท่านเห็นว่าการบวชพระคือการเข้ามารับการอบรมสั่งสอนเรื่องธรรมะ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้รู้ว่าอะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นประโยชน์ เราบวชเป็นพระ เราต้องศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจธรรมะชัดเจนแล้ว ก็เอาธรรมะนี้ไปสอนพ่อแม่ให้เข้าใจ ให้ท่านปฏิบัติทำบุญทำทาน รักษาศีล ภาวนา เมื่อพ่อแม่ทำได้แล้ว แสดงว่าท่านมีที่พึ่งของท่านแล้ว เพราะท่านทำบุญเป็น รักษาศีลภาวนาได้ จึงเรียกว่าการบวชเพื่อจูงพ่อแม่ เมื่อท่านตายไปท่านก็ไปดีมีสุข ไม่จำเป็นต้องไปจูงตอนตาย

พระอาจารย์เปลี่ยน ได้อธิบายให้ผู้ข้องใจได้ทราบและเข้าใจอย่างชัดเจน ผิดกับตอนพรรษาที่ 2 ท่านต้องขัดกับญาติพี่น้องเรื่องการทำศพมารดาของท่าน เพราะท่านตัดพิธีกรรมทั้งหลายออกหมด เป็นการทำศพที่ประหยัดและรวบรัดที่สุด จนญาติพี่น้องและผู้คนที่ไปในงานไม่พอใจท่าน แต่ในขณะนั้นท่านบวชได้เพียง 2 พรรษา จึงไม่สามารถจะหาเหตุผลมาอธิบายกับผู้สงสัยได้


๏ นรก-สวรรค์

ปัญหาเกี่ยวกับนรก-สวรรค์นั้น ท่านก็ได้เล่าอานิสงส์ของการถวายทานต่างๆ ที่ชาวบ้านได้ร่วมถวาย ตามที่ท่านได้พบในนิมิต เช่น ผู้สร้างโรงฉันถวาย ขณะนี้มีปราสาทเกิดอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นปราสาท 6 ชั้น ผู้ร่วมสร้างบางรายได้เสียชีวิตแล้วก็ได้ขึ้นไปอยู่ในปราสาทด้วย แม้เป็นผู้ร่วมสร้างก็ยังได้อยู่ในปราสาทนั้น โรงฉันซึ่งสร้างด้วยไม้ แม้ไม้บางชิ้นจะเป็นรูทะลุได้ แต่เมื่อเป็นทิพยปราสาทก็ดูสวยงาม เพราะผู้ถวายทานได้ถวายด้วยความบริสุทธิ์ใจ ใช้ไม้เท่าที่หาได้และมีอยู่ไปก่อสร้าง ท่านได้พูดถึงผู้ที่เข้ามาช่วยงานวัด แต่มีความไม่บริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง คือมีชาวบ้านคนหนึ่งมาทำหน้าที่หิ้วปิ่นโตให้พระเณรออกบิณฑบาต แล้วชาวบ้านถวายกับข้าวใส่ปิ่นโตให้ คนผู้นั้นจะแอบเอากับข้าวดีๆ ในปิ่นโตเก็บกลับบ้าน ก่อนจะมาถึงวัด พระอาจารย์เปลี่ยนได้เห็นคนผู้นั้น เป็นเปรตตั้งแต่ก่อนตายมาหาท่านในนิมิต มีท้องใหญ่โตมาก มีปากเท่ารูเข็ม มีลูกอัณฑะใหญ่ยาวผู้นั้นก็ยอมรับว่า ขโมยของวัดจริง


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 9 จ.เชียงใหม่

เมื่อออกพรรษาที่ 8 แล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้เที่ยวธุดงค์อยู่ในละแวกนั้นเอง ท่านได้ไปหาหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม บ้าง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ บ้าง ขึ้นไปถ้ำปากเพียง และกราบนมัสการหลวงปู่สิม พุทธาจาโร บ้าง พระอาจารย์เปลี่ยนจะเที่ยวธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรม และจะขอให้พระอาจารย์ทั้งหลายได้แก้ปัญหาธรรม และแนะแนวการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไปอีก

๏ มรณภาพ

หลวงปู่เปลี่ยน ท่านได้ละสังขารอย่างสงบ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 สิริอายุ 84 ปี 2 เดือน 30 วัน พรรษา 59

 พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

 

วัดอรัญวิเวกวัดอรัญวิเวกวัดอรัญวิเวก

วัดอรัญวิเวกวัดอรัญวิเวกวัดอรัญวิเวก

วัดอรัญวิเวกวัดอรัญวิเวก

ข้อมูลอ้างอิง : http://forums.212cafe.com/dhammagood/board-2/topic-61-1.html

Top