พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก
ประวัติ วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก เมื่อเป็นฆราวาสชื่อว่า เกิ่ง ทันธรรม เป็นบุตร นายทัน ทันธรรม และ นางหนูมั่น ทันธรรม โดยเป็นบุตรคนที่ ๓ เกิดในวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ที่บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
เมื่ออายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมีพระอาจารย์ คำดี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ สาย เป็นพระกรรมวาจารย์
เมื่อบวชแล้วท่านก็ประพฤติปฏิบัติธรรมจนเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม จนกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง ที่ตั้งอยู่ในวัดนี้ด้วย
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพิธีบวชพระอาจารย์ทองรัตน์
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านได้เข้าร่วมในพิธีอุปสมบทพระภิกษุรูปหนึ่งในฐานะพระกรรมวาจาจารย์ ในขณะนั้นท่านมีอายุ ๒๗ ปี พรรษา ๗ พรรษา พระภิกษุรูปนั้นคือ พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ซึ่งตามประวัติที่เล่าไว้ในหนังสือ “มณีรัตน์” ว่า ท่านพระอาจารย์ทองรัตน์ในตอนนั้นอายุได้ ๒๖ ปี สาเหตุที่ออกบวชก็เนื่องจากท่านได้ไปจีบสาวต่างบ้าน สาวนั้นได้เกิดความชอบพอใจขึ้นมา และหลายครั้งได้คะยั้นคะยอ ให้ท่านนำญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามแระเพณี ถ้าไม่ไปสู่ขอ สาวเจ้าได้ยื่นคำขาดว่าจะขอหนีตาม
หนุ่มทองรัตน์ได้คิดอยู่หลายวัน ถ้าจะปล่อยให้สาวหนีตามก็ไม่อยู่ในวิสัยของลูกผู้ชายอย่างหนุ่มทองรัตน์จะทำ ถ้าบอกปฏิเสธก็กลัวว่าสาวเจ้าจะเสียใจ และได้ตัดสินใจว่าจะยังไม่ขอแต่งงาน ถ้าขืนอยู่ต่อไปก็คงจะไม่พ้นอยู่ดี จึงบอกกับพ่อว่า ให้พาไปฝากกับพระอุปัชฌาย์เพื่อบวช พ่อก็ไม่อยากให้บวช เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญในบ้าน จึงอยากให้มีครอบครัวมากกว่าออกบวช แต่ก็ต้องยอมตามคำอ้อนวอน และเหตุผลที่ได้อ้างต่อพ่อว่า “ยังไม่อยากมีเมีย” บิดาท่านจึงได้นำท่านไปบวชกับพระอุปัชฌาย์คาร คนฺธิโย วัดโพธิชัย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยพระอาจารย์เกิ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทองรัตน์ นี้ต่อมาก็ได้เป็นศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พบและเลื่อมใสพระอาจารย์มั่น
พระอาจารย์เกิ่งท่านมีสหธรรมมิกอยู่องค์หนึ่งคือพระอาจารย์สีลา อิสสโร แห่งวัดโพธิ์ชัย ตำบลวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน ๑ ปี แต่อายุพรรษาน้อยกว่า ๒ พรรษา
พ.ศ. ๒๔๖๙ แม้พระอาจารย์เกิ่งจะเป็นพระอาจารย์ที่มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากมาย มีอายุพรรษาถึง ๑๙ พรรษาแล้ว แต่ก็ยังสนใจที่จะเสาะแสวงหาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยยังมีข้อข้องใจในการปฏิบัติธรรมที่ค้างคาใจอยู่ ในระยะหลังท่านก็เริ่มได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น ว่าเป็นผู้มีคุณวิเศษในทางธรรมก็มีความสนใจ ครั้นพอทราบว่าหลวงปู่มั่น มาพักที่บ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ สกลนคร พระอาจารย์เกิ่ง จึงได้ชวนพระอาจารย์สีลา พร้อมพระเณรถูกวัดไปฟังเทศน์และสนทนาไต่ถามปัญหาข้ออรรถธรรมที่สงสัยค้างคาใจต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตข้อวัตรของหลวงปู่มั่นอย่างใกล้ชิด จนเกิดความอัศจรรย์ใจในข้ออรรถข้อธรรมและจริยาวัตรของท่าน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส
พระอาจารย์เกิ่ง ได้นิมนต์หลวงปู่มั่น ให้ไปโปรดญาติโยมและพักจำพรรษาที่บ้านสามผง ถิ่นที่พำนักของท่าน พร้อมทั้งขอถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิด จนเกิดผลประจักษ์ทางใจอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสรับรู้มาก่อน
ญัตติเป็นธรรมยุต
ในที่สุดพระอาจารย์เกิ่ง ได้ตัดสินใจสละตำแหน่งและลาภยศต่างๆ ทั้งหมด แล้วขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุต พร้อมกับพระอาจารย์สีลา รวมทั้งลูกศิษย์พระเณรของพระอาจารย์ทั้งสองก็ขอญัตติตามหมดทั้งวัด
ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ก็ได้ทำญัตติกรรมพร้อมกับพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มีพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง โดยได้กระทำพิธีที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และท่านพระอาจารย์มั่นฯ นั่งหัตถบาสร่วมอยู่ด้วย
หลังจากนั้นอีก ๗ วัน ก็มีพระเถระเดินทางมาขอญัตติอีกรูปหนึ่ง ณ ที่เดียวกันนี้ นับเป็นพระเถระองค์ที่สาม ที่มาขอญัตติเป็นพระธรรมยุตในช่วงนั้นด้วย พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระดังจากบ้านกุดแห่ อ เลิงนกทา จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับ จ ยโสธร) ท่านอาญาครูดี ท่านนี้เป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ฝั้นมาก่อน ชาวบ้านตั้งฉายาท่านว่าอาจารย์ดีผีย่าน เพราะท่านมีอิทธิฤทธิ์เก่งกล้าและคาถาอาคมในการปราบผีและคุณไสย์ต่างๆ
พระอาจารย์ดี ได้ดั้นด้นบุกป่าดงออกเสาะหาของดีของขลังมาถึงบ้านสามผง ได้รู้กิตติศัพท์เกี่ยวกับหลวงปู่มั่น จึงเข้าไปกราบขอฟังธรรมและปฏิบัติธรรมด้วย จนประจักษ์ผลทางใจอย่างน่าอัศจรรย์ ในที่สุดก็ขอสละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกุดแห่ หรือ วัดศรีบุญเรือง ท่าแขก ที่โด่งดังในสมัยนั้น แล้วขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุตออกติดตามคณะกองทัพธรรม และเป็นศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่ใหญ่เสาร์จนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่ท่าน
ในพรรษานั้นจึงเป็น การประกาศธรรมชนิดพลิกแผ่นดินที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ทำให้ชื่อเสียงของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พร้อมทั้งกิตติศัพท์ของกองทัพธรรมพระกรรมฐาน ลือเลื่องกระเดื่องไกล เป็นที่อัศจรรย์ร่ำลือของผู้คนในแถบนั้น ถึงกับว่า หลวงปู่ทั้งสององค์ เป็นพระผู้วิเศษที่ทำให้พระดังถึงสามองค์ยินยอมถวายตัวเป็นศิษย์ได้
หลังจากที่ท่านได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตแล้วก็ได้เข้าร่วมกับกองทัพธรรมพระกรรมฐาน โดยมีพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่นภูริทตฺโต พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมเป็นหัวหน้า
ตามพระอาจารย์มั่นฯ ไปอุบลราชธานี
หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ติดตามคณะพระอาจารย์มั่นซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป เดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม และ ที่นั้นได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบล รวมทั้งได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่ก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (มารดาท่านซึ่งบวชเป็นชี) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์แก่มากหมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบล ฯ ได้
การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่าง ๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษย์ไปในตัวด้วยว่า องค์ใดจะมีผีมือในการเผยแพร่ธรรม
ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถ ก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย
การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้าน ประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน
อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน
พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านได้ธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น ฯ มาพักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา ส่วนหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระมหาปิ่นจำพรรษาที่บ้านหัวตะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน
พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่
ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสเถระ อ้วน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่
หลวงปู่สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งพระอาจารย์มั่น หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา ฯลฯ จนหมด แม้กระทั่งนามโยมบิดามารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรหว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วมร้อยคน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป
ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข
เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่น ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า
“แผ่นดินตรงนั้นขาด”
คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่าง พระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฟัง
เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบล เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง
พระอาจารย์มั่นฯ ปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก
ครั้นออกพรรษาในปี ๒๔๗๐ แล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบล ฯ ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพา คณะสานุศิษย์เก่า ๆ ทั้งหลาย อันมีอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, อาจารย์อ่อน ญาณสิริ, อาจารย์ฝั้น อาจาโร, อาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์ อาจารย์หลุย อาจารย์กว่า สุมโน, อาจารย์คูณ, อาจารย์สีลา อาจารย์ดี ( พรรณานิคม ) อาจารย์บุญมา (วัดป่าบ้านโนนทัน อุดรธานี ในปัจจุบันนี้ ) อาจารย์ทอง อโสโก อาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า) อาจารย์หล้า หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมด มีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมา
ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า
“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ ให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้
ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูก ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย
“อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่าง ๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”
ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจแต่หลวงปู่สิงห์และท่านมหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป
เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปฐากรักษาทุกประการ จากนั้นออกพรรษาแล้วประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ จำพรรษาที่วัดสระปทุม และออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่
ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น
ในพ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้หลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ก็ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของ เจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน
ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นอยู่ที่บ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก เจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาส ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้นซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนมก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่ที่วัดเหล่างา ขอนแก่น
เมื่อเป็นดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน ท่านและคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ไปพักแรมอยู่ จ.ร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่ จ.มหาสารคามที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์มากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดเหล่างา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น
เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น
ที่เมืองขอนแก่น นั้นคณะหลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่นได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดี ตามที่พระครูพิศาลอรัญเขตว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสือ อัตโนประวัติหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า
“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยนคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่ เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น
เมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง
ฉะนั้นจึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว ถือค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้นไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่าเห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลยจงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น
ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนพระอาจารย์สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืก ๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ
ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาต ตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี
ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นี้อยู่เรื่อยไป”
แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่
ที่วัดเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่น เพื่อเผยแผ่ธรรม เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ โดย ได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์หลุย อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ วัดป่าวิเวกธรรม ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๒. พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ปธ.๕ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพระลับ จังหวัด ขอนแก่น
๖. พระอาจารย์อุ่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๘. พระอาจารย์ซามา อุจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำจังหวัดขอนแก่น
๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพิธีอุปสมบทญัตติ “พระจวน กลฺยาณธมฺโม” มาเป็นฝ่ายธรรมยุต ในฉายาใหม่ว่า “กุลเชฏฺโฐ” โดยมีพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดป่าสำราญนิเวศน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี
กลับไปอยู่ถิ่นเดิม
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺโต พระอาจารย์บุญมา มหายโส พระอาจารย์ทอง อโสโก พระอาจารย์สนธิ์ พระอาจารย์ คำ คมฺภีโร พระอาจารย์จรัส พร้อมด้วยภิกษุและสามเณรหมวดละ ๗ องค์ ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาฝ่าย วิปัสสนาธุระ ในท้องที่จังหวัดนครพนม
เมื่อไปถึงจังหวัดนครพนมแล้ว ท่านได้แยกกันอยู่ตามสำนักต่างๆ ดังนี้
๑. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺโต อยู่สำนักวัดโพธิชัย ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้ รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์
๒. พระอาจารย์บุญมา มหายโส อยู่สำนักวัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร มีนามว่าพระครูไพโรจน์ ปัญญาคุณ
๓. พระอาจารย์ทอง อโสโก อยู่สำนักสงฆ์วัดป่าเกาะแก้ว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
๔. พระอาจารย์สนธิ์ อยู่สำนักสงฆ์วัดถ้ำบ้านนาโสก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
๕. พระอาจารย์คำ คมฺภีโร อยู่สำนักสงฆ์ วัดป่าสิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
๖. พระอาจารย์จรัส อยู่สำนักสงฆ์ วัดป่าท่าควาย อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
มรณภาพ
เมื่อ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ด้วยโรคกระเพาะ และลำไส้เรื้อรัง ที่ศาลาการเปรียญ วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม รวมอายุได้ ๗๘ ปี
หลวงตามหาบัวกล่าวถึงพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก
“ท่านอาจารย์เกิ่ง นี่ก็เป็นคนสามผง ลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระที่จริงจังมากนะ เด็ดเดี่ยว ท่านอาจารย์เกิ่ง เราก็คุ้นเคยกับท่านอยู่แล้ว อันนี้เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้ทราบว่าอัฐิธาตุของท่านเป็นพระธาตุ เราเชื่อไว้ก่อนแล้วแหล่ะ เรายังไม่ไปเห็นแต่เราก็เชื่อไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะเชื่อปฎิปทาการดำเนิน ความสัตย์ ความจริงของท่าน เคร่งครัดในธรรมวินัยมาก เพราะเชื่อปฎิปทาของท่านเป็นความเด็ดเดี่ยวจริงจังมากทุกอย่าง คล้ายคลึงกับนิสัยพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรา นิสัยเด็ดเดี่ยวจริงๆว่าอะไรเป็นอันนั้นเลยเที่ยว นี่แหละหลวงปู่มั่นเราเป็นอย่างนั้น เด็ดเดี่ยว ว่าอะไรเป็นอันนั้น ท่านอาจารย์เกิ่งก็เหมือนกัน นิสัยแบบเดียวกัน“
ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.dharma-gateway.com
รูปภาพนำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net