พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร (เทพเจ้าแห่งภูลังกา)
ประวัติ วัดถ้ำชัยมงคล ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย
ประวัติพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เกิดที่บ้านหนองคู ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งบัดนี้ได้ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรแล้วท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด บิดาชื่อว่า นายหลวงลา มารดาชื่อว่า นางคำ นามสกุล ขันเงิน ภายหลังเพราะเหตุไรไม่อาจทราบได้เปลี่ยนนามสกุลนี้มาเป็น สลับสี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ดังนี้
๑. นายอาน สลับสี
๒. พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร (สลับสี)
๓. นายลี สลับสี
๔. นายสุภีย์ สลับสี
๕. นางไพ
๖. นางเงา
๗. นายส่าน ( เวียง ) สลับสี
ปฐมวัย
ท่านได้เล่าว่าเรียนจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองคูนั้นเอง ท่านเป็นคนสมองทึบ แม้จะเรียนจบ ป.๔ ก็เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก แต่ต่อมาเมื่อท่านบรรพชาอุปสมบทได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านอ่านออกเขียนได้ ทั้งหนังสือไทย หนังสือธรรม กลับเป็นคนละคน คือสมองท่านกลับเป็นผู้จำง่ายขึ้น คงเป็นเพราะอำนาจของสมาธิภาวนานั่นเอง อุปนิสัยของท่านชอบเป็นนายหมู่ ในหมู่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน มีเด็กเป็นฝูงห้อมล้อมท่าน บางทีก็สมมติท่านเป็นพระ แล้วหมู่เด็กทั้งหลายก็กราบท่าน อย่างนี้เป็นต้น
ออกบรรพชา
ท่านได้เล่าถึงการออกบวชของท่านเมื่ออายุ ๑๓ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ว่า เป็นเหตุการณ์พิเศษกว่าการออกบวชของท่านผู้อื่น จึงขอเล่าตามที่ท่านเล่าให้ฟังดังนี้
มารดาของท่านเป็นคนใจบุญ เข้าวัดจำศีลฟังธรรมและถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรที่วัดบ้านหนองคูทุกวัน วันหนึ่งพระอาจารย์ทองสา ที่อยู่ที่วัดนั้นถามถึงเด็กชายวังว่า เขาทำอะไรบอกให้เขามาบวชด้วย หลังจากมารดาของท่านบอกให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ที่วัดถามหาขอให้ไปบวชด้วย เท่านั้นเองท่านก็บอกทันทีว่าไม่บวช แม้มารดาบิดาจะขอร้องบอกกล่าวอย่างไร ท่านก็ยืนยันคำเดียวว่าไม่บวชอยู่นั้นเอง หลายวันต่อมา ท่านได้ออกไปเลี้ยงวัวควายกับบรรดาเด็กทั้งหลายเหมือนทุกวันท่านคิดว่า ถึงอย่างไรบิดามารดาคงจะนำเราไปบวชแน่นอน ดังนั้นจะไม่กลับเข้าบ้านอีก ได้ฝากวัวควายที่ไปเลี้ยงไล่กลับบ้านกับเพื่อนฝูง ตัวท่านเองอาศัยนอนที่บนเถียงนา ซึ่งมีฟางข้าวใส่ไว้เกือบเต็ม ท่านก็นอนในระหว่างกองฟางเหล่านั้น เถียงนานี้ห่างจากบ้านประมาณ ๑ กิโลเมตรครึ่ง เมื่อเพื่อนเด็กเลี้ยงควายทั้งหลายออกไปในวันใหม่ ท่านก็ได้อาศัยกินข้าวน้ำจากเด็กเหล่านั้น ท่านอยู่ในสภาพนั้น ๔-๕ คืน
ส่วนทางวัด ท่านอาจารย์ทองสาได้ถามถึงว่า เถียงนานั้นเป็นของใคร อยู่ในที่นาใคร เมื่อท่านทราบแล้ว ภายหลังจากฉันข้าวเสร็จวันหนึ่งได้พาเณรตัวโตๆ ๓ รูปออกไปด้วย เมื่อออกไปถึงเถียงนานั้นแล้ว ท่านจึงบอกให้เณร ๓ รูปยืนเป็นแถวกั้นอยู่ทางบันได แล้วท่านเรียกออกไปว่า “ นายวัง ” ๓-๔ ครั้ง ขณะนั้นท่านนอนอยู่ในนั้น พอได้ยินเสียงเรียกก็เข้าใจทันทีว่าคราวนี้คงมาตามเราไปบวชแน่ จึงคิดจะหนีไปให้พ้น เมื่อรู้ว่ามีเณรยืนอยู่ทางบันได ท่านจึงผลักเถียงนาทางด้านหลัง แล้วกระโจนลงจากเถียงนา วิ่งหนีสุดกำลัง สามเณรทั้ง ๓ รูปจึงวิ่งตามไปจับตัวไว้ กว่าจะทันก็วิ่งผ่านไปหลายไร่นา เมื่อจับได้แล้วจึงเอาผ้าอาบน้ำมัดที่ข้อมือแล้วท่านก็ตามกลับมาโดยดี เมื่อกลับถึงวัดแล้วพระอาจารย์ก็ให้โกนผมทันที แล้วนำไปบวชกับท่านพระครูวิจิตร วิโสธนาจารย์ ที่วัดบ้านหนองคูนั้นเองหลังบวชแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาที่นั้น ๑ พรรษา
เรียนคาถาอาคมจากปู่
ท่านพระอาจารย์วังเกิดมาในตระกูลหมอปะกำช้าง ปู่ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมขลัง ท่านจึงเรียนรู้คาถาอาคมจากปู่ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เมื่อตอนเป็นสามเณรท่านอยากเห็นวิชาวัวธนูครูหน้าน้อย จึงขอร้องให้ปู่ทำให้ดู ปู่ก็เอาไม้ไผ่มาทำหน้าไม้เล็กๆ เหลาลูกให้พอดี จากนั้นก็พาหลานจัดทำขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ บูชาครู เมื่อถึงกลางคืนจึงนำลูกหน้าไม้ไปทำพิธีลงคาถาใส่ ปู่ท่านทำพิธีอยู่ ๗ คืน เมื่อครบพิธีแล้ว จึงบอกให้หลานมาดู โดยให้คนเอามีดไปทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นไม้ใหญ่กลางป่าต้นหนึ่ง จึงยิงหน้าไม้ออกไปโดยยิงทะลุหลังคาบ้านที่มุงด้วยหญ้าคาในตอนกลางคืน ก็บังเกิดเสียงดังสะเทือนเลือนลั่น รุ่งเช้าพระอาจารย์วังก็ได้ไปดูต้นไม้ที่ทำเครื่องหมายไว้ ก็ปรากฏว่าเห็นลูกหน้าไม้เสียบอยู่ตรงนั้นพอดี ซึ่งวิชาวัวธนูครูหน้าน้อยนั้นเป็นวิชาฆ่าคนแพร่หลายในลุ่มแม่น้ำโขง คนโบราณสมัยก่อนชอบเรียนกันมาก
ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐาน
หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ทองสาได้พาเดินวิเวกหาที่สงบและแสวงหาครูบาอาจารย์ เดินไปเรื่อยๆ แถวจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี เมืองเลย ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ นิสัยของท่านชอบอยู่ตามภูเขามากเป็นพิเศษ
หลายปีต่อมา ท่านอาจารย์พาเที่ยววิเวกผ่านมาแถวจังหวัดสกลนคร หนองคาย ได้พบกับถิ่นฐานบ้านเมืองแถวนี้ยังมีที่รกร้างว่างเปล่า มีทุ่งว่างป่าดงหนาแน่น ยังเป็นสภาพป่าดงดิบอยู่ตามธรรมชาติเดิมมากมาย ไม่เหมือนกับทางจังหวัดอุบลฯ เป็นทุ่งว่าง แต่แห้งแล้ง มีหมู่ชนหนาแน่น ที่จะทำมาหากินก็คับแคบ จึงเป็นเหตุให้พระอาจารย์ทองสาและพระอาจารย์วัง คิดถึงสภาพความเป็นอยู่ของบิดามารดาและญาติซึ่งอัตคัดขัดสนด้านการครองชีพ จึงคิดจะโยกย้ายครอบครัวของบิดามารดาและญาติๆ ทั้งหลาย ขึ้นไปหาทำเลที่เหมาะกับการทำไร่ทำนาทางนี้
เมื่อได้รับฟังการชักนำชี้ชวนของท่านแล้ว จึงตกลงโยกย้าย ครอบครัวหลายครอบครัวจากบ้านหนองคู โดยเอาข้าวสารและสิ่งของบรรทุกใส่เกวียน ส่วนคนก็เดินตามไปเรื่อยๆ ได้ผ่านหมู่บ้านมาหลายแห่งจนถึงหมู่บ้านศรีชมชื่น ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เห็นว่าเป็นที่เหมาะสมที่จะตั้งหลักฐานในที่นั้น ชาวบ้านที่นั้นเขาก็ยินดีต้อนรับให้อยู่ด้วย แล้วก็ได้แบ่งปันที่จะสร้างบ้านและที่จะทำไร่ทำนาให้จนเป็นที่พอใจ จึงได้ตั้งใจว่าจะสร้างหลักฐานครอบครัวต่อไปที่หมู่บ้านแห่งนี้
เมื่อถึงหน้าฝน อันมีฝนตกชุก ซึ่งเป็นของปกติของถิ่นนี้ พวกบิดามารดาและพี่น้อง ลูกเล็กเด็กแดง ซึ่งเป็นคนเคยอยู่แต่ที่ว่าง แต่คราวนี้มาอยู่ที่เป็นป่าดงดิบ มีความชุ่มชื้นและไข้ป่าชุกชุม จึงเป็นเหตุให้เป็นไข้ป่ากันเกือบทุกคนแทนที่จะได้ก่อร่างสร้างตัวตามความที่ตั้งใจไว้ กลับพากันเป็นไข้หนักบ้างเบาบ้าง ติดเชื้อไข้ป่าแต่ไม่มีหมอมียาเหมือนสมัยนี้ดังนั้นจึงเป็นไข้เรื้อรังตลอด ในปีต่อมามีคนตายไปก็มี ผู้ไม่ตายก็ไม่มีกำลังแข็งแรงพอที่จะทำนาทำไร่ได้ จึงเป็นเหตุให้คณะที่มาด้วยกันแยกย้ายกันไป คือบางครอบครัวก็กลับไปที่บ้านหนองคูตามเดิม บางครอบครัวอยู่ได้ก็อยู่ไปโดยเฉพาะครอบครัวพระอาจารย์วังไม่ยอมกลับ เมื่ออยู่มาได้สองสามปีบิดาและน้องก็ตาย ยังเหลือมารดาและน้องชาย คือนายส่าน ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อว่านายเวียง ให้ชื่อมีตัว ว เช่นเดียวกับชื่อของท่าน เพื่อคิดว่าจะไม่ให้ตายตามกันไป
ต่อมามารดาและน้องสาวน้องชาย ย้ายจากบ้านนั้น ไปอยู่กับหมู่ที่เคยมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งไปอยู่ที่บ้านหนามแท่ง ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปีต่อมามารดาและน้องสาวก็ได้ตายจากไปอีก ยังเหลือแต่เด็กชายเวียงซึ่งยังเล็กอยู่อายุ ๓-๔ ปี ท่านได้เอาน้องชายมาอยู่วัด ให้พวกแม่ชีช่วยเลี้ยงดูให้ ทำให้ท่านได้รับความกระเทือนใจเกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างมาก ความหวังว่าจะช่วยเหลือพยุงฐานะการทำมาหากินให้ดีขึ้น จึงได้ย้ายครอบครัวของบิดามารดาญาติพี่น้องมาตั้งที่ใหม่ แต่กลับมาเป็นการโยกย้ายบิดามารดาญาติพี่น้องมาตาย ท่านจึงตั้งใจที่จะปฏิบัติพระธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้นไป
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ต่อมาพระอาจารย์ทองสา ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่พาท่านเดินธุดงค์กัมมัฏฐานมาด้วยกันหลายปี กลับมาลาสิกขาไปจากท่าน เหลือแต่ท่าน เพียงผู้เดียว จึงเป็นโอกาสให้เป็นอิสระที่จะเดินกัมมัฏฐานตามใจชอบ ท่านจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือในสมัยนั้น เมื่อมีโอกาสอันเหมาะ ท่านได้เข้าไปกราบหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล กราบขอเป็นศิษย์ท่าน หลวงปู่เสาร์ก็รับเป็นศิษย์ แล้วก็ได้รับการอบรมจากท่านเป็นอย่างดี
ปรารถนาพุทธภูมิ
เมื่อท่านได้รับการอบรมแล้วก็เร่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้นอย่างแรงกล้า และได้เกิดความรู้สึกปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในภายหน้า หรือเรียกปรารถนาพุทธภูมินั้นเอง ท่านจึงได้เข้ากราบเรียนเรื่องนี้ให้หลวงปู่เสาร์ทราบหลวงปู่เสาร์ได้ชี้แจงว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องใช้เวลาสร้างบารมีมาหลายกัป หลายภพหลายชาติ เนิ่นนานมากท่านได้แนะนำให้เลิกการปรารถนานี้เสีย แต่ พระอาจารย์วังก็ได้กราบเรียนท่านหลวงปู่ว่ามีความมุ่งมั่นรักในพุทธภูมินี้มาก แม้จะมีผู้มีอำนาจมาบังคับว่าถ้าไม่ยอมถอนจากความปรารถนานี้ จะฆ่าให้ตาย ก็ไม่ยอมถอน แม้จะฆ่าให้ตายก็ยอม เมื่อเป็นอย่างนั้นท่านหลวงปู่เสาร์ก็พลอยอนุโมทนาด้วย และบอกว่าขอให้ตั้งใจต่อไป ในเวลาต่อมา ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อการภาวนาของท่านก้าวหน้าไปจนชำนาญทางด้านสมถกัมมัฏฐานแล้ว เมื่อยกจิตพิจารณาวิปัสสนากัมมัฏฐานมากขึ้นจิตจะสะดุด แล้วประหวัดถึงความปรารถนาภูมิทันที ไม่สามารถไปต่อได้มากกว่านั้น แต่ท่านก็ยังคงมุ่งมั่นในพุทธภูมินี้เรื่อยไป
อุปสมบท
เมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้ไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีพระครูสารภาณพนมเขต (จันทร์ เขมิโย, ซึ่งภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิทธาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาพรหมา โชติโก ป.ธ.๕ (ซึ่งภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระราชสุทธาจารย์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
แสวงหาครูบาอาจารย์
เมื่อท่านบวชพระแล้ว ท่านก็เร่งความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้น เมื่อมีครูบาอาจารย์ใด ที่จะเป็นที่พึ่งได้ในสมัยนั้น ท่านก็ไปกราบขอปวารณาตัวเป็นศิษย์ เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เคยอยู่จำพรรษากับท่านด้วย ดังนั้นท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จึงถือว่าท่านพระอาจารย์วังเป็นศิษย์ของท่าน รูปหนึ่ง และด้วยความเป็นคนเอาจริงต่อการปฏิบัติของท่านพระอาจารย์วัง ท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร มักสอนลูกศิษย์รูปอื่นๆ ว่า “ ให้ทำเหมือนท่านวัง เอาจริงเอาจังเหมือนท่านวัง ” อย่างนี้เสมอ ดังนั้นผู้เขียนประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจโร เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพจึงกล่าวว่า ถ้าไม่เอาศิษย์ผู้ที่สำคัญ คือท่านอาจารย์วัง ไปลงในประวัติด้วย การเขียนประวัติคงไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงมีรูปและประวัติย่อลงในหนังสือประวัติหลวงปู่ฝั้นด้วย และอีกท่านหนึ่งคือหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็ถือว่าพระอาจารย์วังเป็นศิษย์ของท่าน ดังคราวหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ากราบหลวงปู่อ่อน และแนะนำตัวว่าเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์วัง ท่านหลวงปู่อ่อนบอกว่า ท่านวังเป็นศิษย์ของท่านด้วย แม้แต่ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านก็เคยเข้ารับฟังโอวาท และอยู่ร่วมด้วยหลายคราว
จริงจังในการปฏิบัติธรรม
ในการจำพรรษาปีหนึ่ง ท่านเล่าว่าได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเป็นข้อวัตรว่าจะไม่นอนตลอดสามเดือน มีเพื่อนร่วมกันอยู่รูปหนึ่งคือพระอาจารย์อุยทั้งสองรูปสัญญากันว่าภายในกุฏิห้ามมีหมอน ถ้านั่งสมาธิก็ให้นั่งตรงกลางห้อง ไม่ให้นั่งพิงฝา แล้วเอาใบบัวมาห่อน้ำเป็นถุง ผูกโยงไว้บนศีรษะกลางห้อง มีเชือกผูกไว้ที่ถุงนั้นให้ปลายเชือกข้างหนึ่งย้อยลงมาข้างฝา ให้ผู้อยู่ข้างล่างจับเชือกนั้นได้ ถ้าหากว่าผู้ใดนั่งสมาธิออกอาการสัปหงก อีกผู้หนึ่งมาพบเข้าในขณะนั้น ก็จะจับเชือกนั้นดึงกระตุกเชือกนั้นก็จะปาดถุงใบบัวนั้นขาด น้ำในนั้นทั้งหมดก็จะร่วงลงมาตรงกับผู้นั่งสัปหงกนั้นพอดี ผู้นั้นก็จะเปียกทั่วกาย เท่ากับได้อาบน้ำนั้นเอง คืนนั้นถ้าได้ถูกอาบน้ำเช่นนั้น ก็ได้เปลี่ยนผ้ากันใหม่ ทำให้หายง่วงและได้ทำความเพียรต่อไป ในพรรษานั้นได้ถูกอาบน้ำคนละหลายครั้ง ในอีกพรรษาหนึ่งท่านอธิษฐานเดินจงกลมวันละหลายชั่วโมง เมื่อออกพรรษาแล้ว ทางที่เดินจงกรมเป็นร่องลึกลงไปเท่าฝ่ามือ
คราวหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่าท่านได้ไปวิเวกคนเดียว เดินผ่านป่าดงไปไกล ทั้งๆ ที่มีไข้จับสั่นและไม่มียาจะกินด้วย เมื่อเดินไปก็สั่นไปตลอดทาง บนบ่าสะพายบาตร ย่าม กลดมุ้ง เห็นว่ามันคงหนักไม่พอ มันจึงสั่น จึงได้เอาผ้าอาบน้ำสะพายเอาหินแม่รัง ที่มีอยู่ตามโคกเพื่อจะให้มันหายสั่น ถึงเพิ่มน้ำหนักเข้าอีกเช่นนั้น ก็ยังสั่นอยู่นั้นเอง เมื่อร่างกายได้เดินอย่างหนักผสมกับไข้ด้วย จึงทำให้อ่อนเพลียมาก ตกลงว่าจะพักเสียก่อน แล้วจึงแวะออกจากทาง เข้าไปภายใต้ร่มไม้น้อยต้นหนึ่ง เอาผ้าอาบน้ำฝนปู เอาห่อสังฆาฏิเป็นหมอน คลี่จีวรห่มแต่ก็ยังหนาวอยู่ จึงเอามุ้งห่มทับอีกชั้นหนึ่งมุ้งนั้นเป็นสีขาว เมื่อคลุมทั้งตัวเช่นนั้นแล้ว ก็คล้ายกับกองสัตว์ตายแล้วนั่นเอง แล้วท่านก็กำหนดสมาธิไปเรื่อย แล้ท่านได้หลับไปประมาณสองชั่วโมงไข้ก็สร่างพอดี ท่านจึงเอาผ้าที่ห่มออกได้เห็นอีแร้งตัวหนึ่งจับอยู่บนต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ นั่นเอง มันคงนึกว่าเป็นกองสัตว์ตาย และได้อาหารแล้ว มันมาจับอยู่บนนั้นนานเท่าไรไม่ทราบ ท่านจึงได้พูดกับมันว่ายังไม่ตายหรอกคุณ ขอไว้ก่อนคราวนี้
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ถวายตัวเป็นศิษย์
พ.ศ. ๒๔๗๙ และ ๒๔๘๐ จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ อำเภอสว่างแดนดิน (ปัจจุบันคือ อำเภอพังโคน) จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอุดมสังวร วิสุทธิเถร(พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) ขณะยังเป็นสามเณร อยู่จำพรรษาด้วย ต่อมาหลังออกพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้เดินจากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยสารเณรวัน (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) สามเณรสุณา สามเณรสุพี เดินไปทางอำเภอ ศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ไปถึงวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง อำเภอ ศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นเวลาที่พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ท่านกำลังเตรียมการถวายเพลิงศพท่านอาจารย์คำดี ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน เมื่อพระอาจารย์วังไปถึงจึงกราบขอรับภาระช่วยในการตัดเย็บสบงจีวรที่จะใช้ในงานนี้ทั้งหมดแต่ผู้เดียว ท่านได้เร่งเย็บผ้าทั้งกลางวัน และกลางคืน เพื่อจะให้เสร็จทันในวันงาน แล้วก็ทำเสร็จทันงานพอดี
เมื่องานเพลิงศพเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์บุญมา มหายโส ซึ่งเป็นคนบ้านสามผงนั้นเอง ได้ขอร้องพระอาจารย์วังให้อยู่เฝ้าวัดโพธิ์ชัยก่อน จนกว่าท่านพระอาจารย์บุญมาจะกลับจากการติดตามท่านพระอาจารย์เกิ่งไป วิเวการาม ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ดังนั้นท่านจึงอยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัย ๒ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๘๑ และ๒๔๘๒ ส่วนพระอาจารย์บุญมา เมื่อกลับมาก็ไม่ได้อยู่ที่วัดโพธิ์ชัยแต่ย้ายไปอยู่ที่ วัดอรัญญิกาวาส อำเภอเมือง จังหวัดนครพนมแทน
เมื่อออกพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านตั้งใจจะออกธุดงค์กัมมัฏฐานเหมือนที่เคยทำมา มีผู้ติดตามไปด้วย คือ สามเณรคำไพ ผงราช สามเณรเพ็ง นนทจันทร์ สามเณรสุข ทิธรรมมา สามเณรทองดี ปทุมมากร และสามเณรทุ่ม ยอดพันปา ส่วนสามเณรวันได้กราบลาไปศึกษาด้าน ปริยัติธรรม ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร คณะของท่านได้พากันออกเดินทางไปทางทิศตะวันตกของบ้านสามผง ไปถึงบ้านศรีเวินชัย ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าบ้านดงพระเนาว์ ห่างจากวัดโพธิ์ชัย ประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เมื่อไปถึงบ้านดงพระเนาว์ ชาวบ้านทุกคนซึ่งสมัยนั้น มีบ้านเรือนประมาณ ๔๐-๕๐ หลังคาเรือน ได้พร้อมใจกันขอกราบอาราธนานิมนต์ท่านให้อยู่จำพรรษาที่หมู่บ้านดงพระเนาว์นี้
บ้านศรีวิชัยในอดีต
ดงพระเนาว์เป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด มีไม้ใหญ่ๆ เช่น ไม้กระบาก ไม้ยางนา ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก ไม้พะยอม ไม้เค็ง ซึ่งมีลำต้นสูงๆ ทั้งนั้น แต่ละต้นมีขนาด ๓-๔ คนโอบรอบ และป่าอย่างอื่นก็ขึ้นหนาแน่น พร้อมทั้งไม้ผลต่างๆ ก็มีมากมายหลายชนิด ความหนาแน่นของป่าไม้ดงนี้ ถึงขนาดมีบางคนได้เดินลึกเข้าไปกลางดงป่า แล้วจะออกจากดงพระเนาว์ตามทิศทางที่ตนจำไว้ ก็ออกไม่ถูก ไพล่ไปออกทิศอื่นก็มี และเนื่องด้วยในดงพระเนาว์มีผลไม้ผลัดเปลี่ยนตลอดปี จึงทำให้สิงสาราสัตว์ต่างๆ มีเสือ อีเก้ง กระต่าย กระรอก กระแต ลิง ค่าง นกยูง และนกนานาชนิดอาศัยอยู่มาก
ดังนั้นเมื่อได้มีชาวบ้านอาราธนานิมนต์ท่านอาจารย์วังให้อยู่เช่นนั้นท่านได้รับว่าจะอยู่ เมื่อท่านรับแล้วชาวบ้านต่างก็ดีใจทุกคน และคิดว่าควรจะนิมนต์ท่านไปอยู่ที่ไหนจึงเหมาะ ตกลงกันเห็นว่าดงป่าไม้ซึ่งเป็นไม้เดิมอยู่ด้านทิศตะวันตกของบ้านเป็นป่าดงไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ยางไม้ตะแบก ไม้กะบาก ไม้ไผ่ป่าขึ้นหนาแน่น ยังเป็นสภาพป่าอยู่ เป็นที่สงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม และที่นี้เคยเป็นวัดร้างมาก่อน เพราะพบกองดินสูง มีเศษกระเบื้องมุง เศษอิฐก้อนโตๆยาว ๒๔ เซนติเมตร กว้าง ๑๒ เซนติเมตร หนา ๗ เซนติเมตร มีอยู่ในที่นั้น คาดว่าที่ดง พระเนาว์คงเคยเป็นบ้านเป็นเมืองมาก่อน และมีวัดอยู่สองวัด คือ บริเวณที่เป็นวัดศรีวิชัยในปัจจุบันนี้วัดหนึ่ง อีกวัดหนึ่งคือเป็นบริเวณวัดพระเนาว์ เพราะมีกองเศษกระเบื้องมุงหลังคาและเศษอิฐเหมือนกัน
วัดพระเนาว์ (ปัจจุบันชื่อวัดแพงศรี) เป็นวัดที่มีสีมาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระเนาว์ พระเนาว์นี้มีคำเล่าต่อกันมาว่า ลอยตามน้ำมาจากทางเหนือของแม่น้ำสงคราม มาถึงที่นี้ แล้วไม่ไหลต่อไปที่อื่น ชาวบ้านสมัยนั้นได้อัญเชิญท่านขึ้นมาประทับอยู่ที่สิมแห่งนี้ องค์ท่านเป็นพระหินทราย ได้แตกหักไม่สมบูรณ์ ต่อมาภายหลังได้ทำเป็นปูนหุ้มพระที่ชำรุดนั้นให้เป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ขึ้น และให้ชื่อท่านว่าพระเนาว์เหมือนเดิม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณนานมาแล้ว เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป พากันกราบไหว้ขอพร ให้ได้ประสบกับความสมหวังตามที่ต้องการ และเป็นพระช่วยคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติสารพัดอย่างนานมาแล้ว
สร้างวัดศรีวิชัย
ดังนั้นบริเวณวัดทั้งสองนี้ จึงเป็นวัดเก่าโบราณหลายร้อยปีมาแล้ว วัดที่ชาวบ้านจะขออาราธนานิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์วังอยู่ จึงเป็นคู่กันกับวัดพระเนาว์ดังกล่าวซึ่งก็คือ วัดศรีวิชัยในปัจจุบันนี้เอง ต่อมาชาวบ้านได้พร้อมใจกันปลูกกระต๊อบสำหรับพระเณร พอเป็นที่พักอาศัยได้หลายหลังให้พอกับพระเณรของท่าน และปลูกศาลาโรงฉันอาหารไว้ด้วยและเสนาสนะอย่างอื่น จนเป็นที่พออาศัยได้ตลอดปี
ในปีต่อๆ มา ท่านก็ได้อยู่วัดนี้มาตลอดและได้ก่อสร้างเสนาสนะ เช่น ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และกุฎีหลายหลัง เป็นถาวรวัตถุ มีพระ มีเณรได้เข้ามาบวชอยู่กับท่านหลายรูป หลายชุด ตลอดมาไม่ได้ขาด แต่ตามปกติแล้ว เมื่อออกพรรษา หมดเขตรับกฐินแล้ว ท่านจะนำพาพระภิกษุ สามเณร ผ้าขาว ออกเที่ยววิเวกตามหมู่บ้านน้อยใหญ่เรื่อยไป ผ่านดงภูลังกา ดงภูวัว ภูสิงห์ ดงศรีชมพู ดงหม้อทอง พักบำเพ็ญภาวนาที่นั่นบ้างที่นี้บ้าง เป็นเวลาสองเดือนสามเดือนทุกปี
ช่วยเปรตตาโดให้ไปเกิด
พระเดชพระคุณหลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม เล่าให้ผู้เขียนบันทึกตอนนี้(พระวินิต สุเมโธ) ฟังว่าในหน้าแล้งปีหนึ่งหลวงปู่วัง ได้ไปเที่ยวธุดงค์ภาวนาอยู่ที่วัดดงหม้อทอง มีครูบานู อยู่บ้านนาสิงห์ได้มาอยู่ภาวนาด้วย อยู่มาวันหนึ่ง ครูบานูก็ได้ขอกราบลาไปเยี่ยมบ้านเกิด ท่านก็อนุญาตให้ไป เมื่อครูบานูไปถึงบ้านก็ได้พักที่วัดร้างในหมู่บ้าน ชาวบ้านเมื่อรู้ว่า ครูบานูกลับมาก็ออกไปถามไถ่ตามธรรมเนียมของคนอีสานก่อนกลับก็ได้บอกครูบานูว่า “ครูบ๋าวัดนี้มีเปรตได๋มันหลอกจนญาคูจั๋วน้อยอยู่บ่ได๋ วัดจั่งได้ฮ้าง คำญาคูย่านให้เข้าเมือนอนในบ้านเด้อ” ฝ่ายครูบานูก็เชื่อมั่นในตนเองว่าไม่กลัวก็เลยบอกชาวบ้านว่า “ผีอยู่ใสเป็นจั๋งได๋บ่ย่านดอก พากันเมือโลด” ชาวบ้านเห็นครูบานูไม่กลัวก็พากันกลับบ้าน
พอตะวันตกดินเหตุการณ์แปลก ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้นให้ครูบานูได้เห็น กลองเพลที่แขวนอยู่ใต้ถุนกุฎิที่ครูบานูใช้จำวัดก็ดัง ตึง ตึง ขึ้น สิ้นเสียงกลองเพลก็มีเสียงเหมือนคนหว่านหินขึ้นไปบนหลังคาสังกะสีซ่า ซ่า ซ่าไม่หยุด ฝ่ายครูบานูก็ข่มจิตข่มใจตัวเองเต็มที่อยู่ในห้องตามลำพัง ฉับพลันบานประตูทางเข้าก็ถูกผลักเสียงดังอี๊ด อี๊ด ๆ อย่างช้าๆ เข้ามา ครูบานูก็ลุกขึ้นจะไปปิดไว้เช่นเดิม เดินไปถึงประตู ๆ ก็ยังปิดสนิทอยู่ ก็กลับเข้ามาไม่นานประตูก็ถูกผลักเข้ามาอีกคราวนี้ครูบานูสติขาดเสียแล้วกระโจนออกทางหน้าต่างร้อง ผี ผี ผี ไม่หยุดปากวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน วันนั้นครูบานูต้องอาศัยจำวัดที่บ้านญาติโยมในหมู่บ้าน
วันรุ่งขึ้นหลังจากฉันอาหารเช้าเสร็จครูบานูก็ลาญาติโยมกลับมาหาหลวงปู่วัง ที่ดงหม้อทองเล่าเรื่องเปรตตาโดให้ท่านฟังและขอร้องให้ท่านไปช่วยชาวบ้านด้วย เมื่อหลวงปู่วังท่านได้ฟังคำบอกเล่าเรื่องราวจากครูบานูแล้วท่านก็เก็บบริขาร ชวนครูบานูกลับไปที่บ้านนาสิงห์อีกไปถึงเวลาใกล้ค่ำครูบานูก็จัดเก็บบริขาร จัดปูที่นอนให้ท่านในที่ ๆท่านต้องการ ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวว่าครูบานูพาครูบาอาจารย์กลับมาที่วัดอีก ก็ชวนกันออกไปอุปัฎฐากรับใช้ตามธรรมเนียมคนอีสานที่เห็นพระสงฆ์องค์เจ้า เข้ามาพักในหมู่บ้านตน เมื่อได้สนทนากันสมควรแก่เวลาแล้ว ชาวบ้านก็ขอลากลับชาวบ้านก็ถามท่านว่า “ บ่ย่านผีบ่ญาคูผีมันฮ้ายได๋มันหลอกจนพวกข้าน้อยบ่ได้นอน บางมื้อยามแลงพวกข้าน้อยตำพริก ฟักลาบ มันก๋าไปเคาะฮาวฮั้วแข่งปานวงดนตรี” หลวงปู่เมื่อท่านได้ฟังท่านก็หัวเราะและบอกกับชาวบ้านว่า “ให้มันมาโลดมาจักร้อยผีนี่” ฝ่ายชาวบ้านได้ยินท่านพูดอย่างนั้นต่างก็หัวเราะพร้อมพูดเชิงเย้ยแบบไม่เชื่อ “ ญาคูแล่นเข้าบ้านแบบญาคูนูเน้อ” “ฮ่วย! ข้อยบ่แม่นครูบานูเน้อ !” เมื่อชาวบ้านกลับหมดแล้วท่านก็ลงเดินจงกรมที่ชาวบ้านเตรียมให้ เมื่อสิ้นแสงตะวัน ความมืดก็ปกคลุมท่านก็จุดเทียนไขขึ้นที่ปลายทางจงกรม ท่านเดินไปรู้สึกเหมือนคนเดินตามหลังตลอดเวลา ไปสุดทางจงกรมหันหลังกลับก็มีแว๊บไปซ่อนอยู่ด้านหลัง เมื่อออกเดินมันก็เดินตาม เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านไม่สนใจกับมัน เมื่อเลิกจงกรมแล้ว เข้าที่นั่งภาวนา เสียงกลองเพลที่แขวนอยู่ใต้ถุนก็เริ่มดัง ตึง ตึง ตึง ขึ้นเลิกจากตีกลอง เสียงหว่านหินขึ้นหลังคาสังกะสีดัง ซ่า ซ่า ซ่า สลับกันอยู่อย่างนั้น รบกวนท่านอยู่ตลอดคืนจนกระทั่งไก่ขันตอนเช้ามันจึงเลิก วันที่สองเหตุการณ์ยังเป็นอยู่เช่นเดิมท่านเดินจงกรมมันก็เดินตาม จนท่านรู้สึกรำคาญจึงบอกมันไปว่า “ เซามึงเซาเด้อ” มันก็ไม่เชื่อท่านจึงแก้สายประคบที่เอวออกพร้อมตวาดว่า “กูสิเมี้ยนมึงมื้อนี้” เปรตตาโดตกใจหนีขึ้นต้นฝรั่ง หลวงปู่จึงเอาสายประคตผูกรอบๆ ต้นฝรั่งไว้ทำให้เปรตตาโดลงมาหลอกหลอนรบกวนไม่ได้ อยู่สองวัน ตอนกลงาวันท่านไปสังเกตดู เห็นกิ่งฝรั่งไหว ยวบไปยวบมาเหมือนมีคนอยู่บนนั้น เช้าวันที่สามท่านจึงแก้สายประคตออก เมื่อเปรต ตาโดถูกปล่อยยิ่งอาละวาดหนัก จนชาวบ้านไม่ได้หลับไม่ได้นอน ท่านจึงเรียกชาวบ้านให้มาประชุมปรึกษาและสอบถามถึงต้นเหตุ ชาวบ้านจึงเล่าให้ท่านฟังว่าเดิมนายโดเป็นคนไม่มีหลักแหล่ง ติดยาฝิ่น เข้ามาอาศัยหลับนอนอยู่ในวัด เมื่อไม่มีเงินซื้อยาฝิ่นก็ขโมยเอาเสื่อ เอาหมอนตลอดผ้าห่อคัมภีร์นำไปขายเพื่อซื้อยาฝิ่น ต่อมาก็ลงแดงตายภายในวัดนี้ หลังทราบสาเหตุ หลวงปู่วังก็ถามชาวบ้านว่า “ซุมหมู่เจ้าอยากให้ผีเปรตนายโดนั้นได้ไปผุดไปเกิดอยู่บ่” ชาวบ้านก็บอกกับท่านว่า “โอ๊ยอยากหันแหล่วขะน่อยซ่อยหมู่ขะน่อยแน่ ญาคูให้เฮ็ดแนวใด๋กะให้บอกมา” ท่านจึงแนะนำให้หาสิ่งของเท่าที่นายโดนำไปขายมาแล้วไปนิมนต์พระในละแวกนั้นมาเพื่อให้ครบองค์สงฆ์ ชาวบ้านก็พร้อมเพียงกันจัดหาสิ่งของมารวมกันที่หอแจก (ศาลาการเปรียญ) เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม ท่านพระอาจารย์วังเป็นผู้นำสวดชัยมงคลคาถาจากนั้นก็พากล่าวนำถวายสิ่งของคืนให้แก่สงฆ์ โดย พระอาจารย์วังกล่าวนำว่าของทุกอย่างที่นายโดเอาไป บัดนี้ได้นำมาชดใช้ให้แล้วไม่ให้มีโทษ ส่วนที่เอาไปแล้วก็ยกให้นายโด ถ้านายโดรับรู้แล้วจงได้มารับเอาส่วนบุญที่ได้กระทำให้แล้วในวันนี้ และขอให้อนุโมทนาด้วยเถิด พระอาจารย์วังกล่าวจบก็บังเกิดเสียงดังตูมขึ้น เงาดำทะมึนก็ผุดขึ้นสูงตระหง่านท่วมหลังคาศาลา เวลาในขณะนั้นยังไม่มืดสนิทนัก ความอลหม่านก็เกิดขึ้นในทันที ชาวบ้านหญิงชายแตกฮือเข้าไปหาพระ ไม่รู้ใครเป็นใคร จนพระอาจารย์วังร้องบอกว่า “บ่ต้องย่านอาตมาอยู่นี่บ่ต้องย่าน” ชาวบ้านจึงมีสติกลับมา เปรตตาโดปรากฏให้เห็นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง จึงอันตรธานหายไป พระอาจารย์วังพักอยู่ที่นั่นต่ออีกสามวันเมื่อทุกอย่าง กลับสู่ปกติท่านจึงลาชาวบ้านกลับมาบำเพ็ญภาวนาที่ดงหม้อทองตามเดิม
เสือใหญ่ที่ดงชมพู
พอถึงเดือน ๑๑ ออกพรรษา พระอาจารย์วังก็พาสามเณร ตาผ้าขาว เที่ยววิเวกตามสถานที่ต่างๆ ผ่านบ้านต้อง ของหลง ดอนเสียด นาสิงห์ นาแสง บ้านเกียด ชมพูพร ภูสิงห์ ภูวัว พักแรมภาวนาคราวละหลายๆวัน มีสามเณรสุบัน ชมพูฟื้น สามเณรสุพิศ เหมื้อนงูเหลือม สามเณรใส ทิธรรมมา สามเณรทัน และเด็กชายเมฆไปด้วย พอเสบียงใกล้จะหมด พระอาจารย์วังก็พาคณะกลับ ขากลับลงจากภูวัวก็เจอกับหมีใหญ่ที่กำลังกินน้ำผึ้งบนคบไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่อยู่ริมห้วยอย่างสบายอารมณ์ เมื่อคณะเดินเข้ามาใกล้ ต่างก็พากันหยุดดูหมี ส่วนตาผ้าขาวแกเป็นคนคะนองปาก จึงร้องถามหมีว่า “เฮ็ดอีหยัง” ทำให้หมีตกใจ กระโดดลงจากต้นไม้วิ่งหายลงไปในหุบห้วย พระอาจารย์วังที่อยู่ด้านหน้าจึงหันมาดุคณะที่ไม่สำรวมวาจา จากนั้นท่านก็เร่งคณะให้รีบเดินเพื่อให้ลงพ้นเขาก่อนตะวันตกดิน เมื่อมาถึงป่าราบดงชมพู ท่านจึงสั่งคณะหยุดหาที่พัก เพราะเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว เมื่อทุกคนจัดสถานที่พักของตนเองเสร็จก็มารวมกันอยู่ที่พักของท่าน เพื่อรับฟังคำสั่งจากท่าน คืนนั้นพระอาจารย์วังสั่งทุกคนให้อยู่รวมกัน ห้ามออกจากเขตที่ท่านกำหนดไว้ เพราะคืนนี้จะมีผู้มาเยี่ยมในตอนกลางคืน อย่าพากันประมาท ให้ทุกคนภาวนาแผ่เมตตาไปให้ทั่วสารทิศ เมื่อท่านพระอาจารย์วังกำชับทุกคนแล้ว ท่านก็เข้าทางจงกรม
คุณตาสุบัน (สามเณรสุบัน) ได้เล่าว่า คืนนั้นเดือนหงายเวลาล่วงเข้าสองทุ่ม เสียงเสือจากภูวัวและดงชมพูก็คำรามไปทั่ว บวกกับสายลมหนาวเดือนสิบเอ็ด จึงทำให้บรรยากาศของคืนนั้นดูน่ากลัวที่สุด บรรดาสามเณรและตาผ้าขาวต่างก็นั่งตัวแข็ง เหงื่อไหลโชกอยู่ในกลด ทั้งๆ ที่เป็นหน้าหนาว ส่วนพระอาจารย์วังก็เดินรัตนะจงกลมรอบๆ บริเวณที่คณะพักแรม อย่างไม่หวั่นไหวในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เมื่อเสียงร้องของเสือเข้ามาใกล้ที่พักของคณะธุดงค์มันก็เงียบ มันคงแอบย่องเข้ามาใกล้ๆ คุณตาสุบันแขวนกลดอยู่ใกล้ๆ พระอาจารย์วัง เพราะเป็นเณรอุปัฏฐาก ได้เห็นพระอาจารย์วังล้มนอนในท่าสีหไสยาสน์ ห่างจากเสือประมาณ ๓ วา เสือกับพระต่างก็จ้องหน้ากันอยู่เป็นเวลานาน จนพระอาจารย์วังบอกกับเสือว่า “อาตมามาแสวงหาโมขธรรม บ่ได้มาเบียดเบียนไผ อาชีพไผอาชีพมัน เจ้าจงไปซะ” เสือก็คำรามลั่น แล้วกระโจนเข้าป่าหายไป สามเณรทันตกใจถึงที่สุด จนปัสสาวะไหลแบบไม่รู้สึกตัว
ปลอบขวัญชาวบ้านไล่โรคห่า
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์วังได้พาสามเณรคำพันธ์ ปทุมมากร(ท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์) ตอนนั้นอายุ ๑๔ ปี กับเด็กวัดชื่อ เด็กชายทัน คนบ้านนาต้อง เที่ยววิเวกไปทางอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์วังได้พาสามเณรคำพันธ์และเด็กชายทันหยุดพักแรมทำความเพียรอยู่ที่บ้านดอนแดงโพนไค อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ในปีนั้นเกิดอหิวาตกโรค มีชาวบ้านล้มตายทุกวัน พระอาจารย์วังก็ได้พาชาวบ้านทำพิธีทำบุญสวดชำระบ้านโดยท่านให้ชาวบ้านปลูกปะรำขึ้นกลางหมู่บ้าน นำหิน นำทรายมากองไว้ในปะรำพิธี เมื่อชาวบ้านหาของที่พระอาจารย์วังต้องการมาครบแล้ว ในตอนกลางคืนชาวบ้านก็มารวมกันที่ปะรำกลางหมู่บ้านที่จัดเตรียมไว้ เมื่อได้ฤกษ์แล้วท่านก็พาสามเณรคำพันธ์สวดพระพุทธมนต์จนครบทุกสูตรก็เป็นอันว่าพิธีในตอนกลางคืนเป็นอันแล้วเสร็จ ชาวบ้านต่างก็แยกย้ายกันกลับ พอรุ่งเช้าของวันใหม่ ชาวบ้านก็ทำบุญถวายภัตตาหารท่านพระอาจารย์วังและสามเณรคำพันธ์ พระอาจารย์วังก็ให้ชาวบ้านกล่าวคำถวายอาหารพร้อมกับอุทิศส่วนบุญให้สรรพสัตว์ ผู้ตกทุกข์ ตลอดจนดวงวิญญาณต่างๆ ที่สถิตอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นมาอนุโมทนารับเอาส่วนบุญที่ชาวบ้านพร้อมกันทำให้ จากนั้นท่านก็ฉันอาหาร เมื่อฉันเสร็จแล้ว พระอาจารย์วังก็ปั้นข้าวเหนียว ๔ ก้อน โตเท่าจอมนิ้วก้อยแล้วเขียนคาถาใส่กระดาษห่อหุ้มปั้นข้าวเหนียวทั้ง ๔ ก้อนไว้ แล้วบอกให้ชาวบ้านไปเอาปืนเพลิงมา ๑ กระบอก เมื่อได้ปืนมาแล้วท่านก็เริ่มหว่านหิน หว่านทรายขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยเริ่มจากทิศตะวันออกให้ยิงปืนขึ้นฟ้า ๑ นัด ก่อนยิงพระอาจารย์วังก็เอาปั้นข้าวเหนียวที่ได้ทำไว้หย่อนลงไปในกระบอกปืนแล้วจึงบอกให้ยิง แต่ชาวบ้านยิงอย่างไรก็ยิงไม่ออก จนท่านบอกให้เทเอาก้อนข้าวเหนียวที่อยู่ในกระบอกปืนออก ปืนจึงยิงออก ท่านพระอาจารย์วังทำอย่างนี้ทั้ง ๔ ทิศ ทุกทิศก็เหมือนกันหมด คือปืนยิงไม่ออก เมื่อท่านได้ทำพิธีนี้ช่วยชาวบ้านแล้วก็ปรากฏว่าโรคภัยต่างๆ ก็หายไปจากหมู่บ้านดอนแดงโพนไค ชาวบ้านที่เคยล้มตายทุกวันก็ไม่มีปรากฏให้เห็นอีก
นักเทศน์นักสอน
พระอาจารย์วังเป็นพระนักเทศน์ที่มีโวหารปฏิภาณจับจิตจับใจ ผู้ได้ฟัง เมื่อครั้งที่ท่านยังเที่ยวธุดงค์ ไปในที่ต่างๆ นั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ ปักกลดพักแรมภาวนาอยู่ในหมู่บ้านคริสต์ โดยเลือกเอาป่าท้ายหมู่บ้าน เป็นที่ปักกลด เช้าก็เข้าไปเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านได้ข้าวเหนียวสามปั้นพร้อมพริกเกลือ ทั้งหมู่บ้านมีชาวบ้านใส่บาตรอยู่สามครอบครัว เด็กๆ ในหมู่บ้านที่ออกไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ไม่เคยเห็นพระธุดงค์ก็พากันมา มุงดูท่าน ใหม่ๆ เด็กๆ ก็ยืนดูอยู่ห่างๆไม่กล้าเข้าใกล้ อยู่ไปนานวัน ความสนิทคุ้นเคยระหว่างท่านกับเด็กก็เกิดขึ้น ทีนี้ท่านก็จะเล่านิทานแฝงคำสอนให้เด็กๆ ฟังโดยหยิบยกเอาความทุกข์ของแม่ระหว่างอุ้มท้องไปจนถึงเลี้ยงดูแลให้เจริญเติบโต เด็ก ๆ ได้ฟังก็เกิดความซาบซึ้ง ร้องให้ก็มี เมื่อกลับไปบ้านก็นำไปเล่าให้พ่อแม่ฟังทุกวัน ในที่สุดพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านั้นก็อยากจะรู้ว่าเรื่องที่ลูกนำมาเล่าสู่ฟังทุกวันเท็จจริงอย่างไร ก็ชวนกันไปร่วมรับฟังกัน ไปกับลูกๆ เมื่อไปถึงพวกเขาก็นั่งอยู่ห่าง ๆ ไม่กราบไม่ไหว้ มีความเหนียมอายเก้อเขิน ท่านพระอาจารย์วังก็หาอุบายพูดคุยให้เกิดความสนิทสนม เมื่อสบช่องทางท่านก็เริ่มเทศน์เริ่มสอนทันที โดยหยิบยกเอาเรื่องบาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ มาเทศน์สั่งสอนจนพวกเขาเกิดความรู้ความเข้าใจ หันมานับถือพระพุทธศาสนา รับเอาศีลห้าประการไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อสมควรกับเวลาแล้ว ท่านพระอาจารย์วังก็ร่ำลาชาวบ้านเที่ยวจาริกไปสู่ที่อื่น เพื่อสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ผู้เกิดมาร่วมโลกต่อไป
สยบนักเลง
ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๐ พระอาจารย์วังได้จำพรรษาอยู่วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ อำเภอสว่างแดนดิน(ปัจจุบันเป็นอำเภอพังโคน) จังหวัดสกลนคร ที่หมู่บ้านนี้มีนักเลงโตประจำหมู่บ้านคนหนึ่ง ชื่อนายพุฒ เป็นคนไม่กลัวใคร วัดไม่เข้า พระเจ้าไม่เคารพ ชอบต่อไก่ ไม่สนใจกับใครทั้งสิ้น ตอนเช้าออกบิณฑบาตพระอาจารย์วังจะเจอกับนายพุฒเสมอ ท่านต้องเป็นผู้หลบทางให้แก่นายพุฒตลอด เพราะถ้าไม่หลบ นายพุฒคนนี้ก็จะเดินชนจริงๆ เช้าวันหนึ่งเหตุการณ์ที่ทุกคนคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น พระอาจารย์วังกลับจากบิณฑบาต ก็พบนายพุฒระหว่างทาง พอนายพุฒเดินเข้ามาใกล้ท่านก็ส่งบาตรให้พระที่อยู่ด้านหลัง แล้วแย่งเอาไก่จากมือนายพุฒเดินเข้าวัดไปเฉย นายพุฒจึงจำเป็นต้องเดินตามพระอาจารย์วังเข้าไปในวัด เพื่อตามเอาไก่ต่อตัวเก่งคืน เช้าวันนั้นอาหารคาวหวานตลอดจนผลไม้มีมากเป็นพิเศษ เมื่อพระอาจารย์วังขึ้นบนศาลาท่านก็นั่งอุ้มไก่ไม่ยอมปล่อย ส่วนนายพุฒเมื่อตามมาถึงก็ไม่ยอมกราบไหว้พระ พร้อมกับทวงเอาไก่ “ญาคู เอาไก่ข้อยมา” พระอาจารย์วังท่านก็ไม่ให้ แต่ได้พูดกับนายพุฒว่า “พ่อออกพุฒเอ้ย ลูกหลานมาอยู่นำก็เป็นเวลานานแล้ว ขอเว้าขอจานำแด่ถ่อน” ฝ่ายนายพุฒก็ตอบว่า “เซาๆ อย่ามาเว้า เอาไก่ข้อยมา” พระอาจารย์วังก็ไม่ให้ เมื่อชาวบ้านที่มาทำบุญในเช้าวันนั้นมาพร้อมทุกคนแล้ว นายพุฒก็มองเห็นอาหารมากมาย จึงพูดขึ้นว่า “โอ้โฮ้ ! แนวกินคือหลายแท้” พระอาจารย์วังที่นั่งยิ้มๆ อยู่ตรงนั้นจึงพูดว่า “ซำนี้บ่หลายดอก อาตมากินบ่พอครึ่งท้อง” นายพุฒชักโกรธที่พระอาจารย์วังคุยอย่างนั้น จึงท้าท่านพระอาจารย์วังว่า “เอาตี้ ถ้าญาคูกินเบิ๊ดนี่ ข้อยสิยอมบวช ๓ ปี ถ้าญาคูกินบ่เบิ๊ด ต้องสึกไปเฮ็ดนาให้ข้อยกิน ๓ ปี คือกัน เอาบ่” เมื่อพระอาจารย์วังเห็นโอกาสทองมาถึง ท่านก็รับคำท้า พร้อมบอกให้ชาวบ้านที่อยู่บนศาลาช่วยเป็นสักขีพยาน อาหารในเช้าวันนั้นมีกับข้าว ๗ สำรับ ต้มบวชมัน ๑ ปิ่นโต มะละกอสุก ๓ ลูก กล้วย ๓ หวี ข้าวเหนียวเต็มบาตร หลังจากนั้นท่านก็ลงมือฉันไปเรื่อยๆ ชาวบ้านหลายคนต่างก็คิดว่าคราวนี้เห็นทีอาจารย์ต้องได้สึกไปทำนาให้นายพุฒกินแน่ๆ ส่วนนายพุฒก็นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ที่จะได้คนช่วยทำนา ฝ่ายพระอาจารย์วังก็ก้มหน้าฉันอาหารไปเรื่อยๆ ไม่นานทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าก็หมด พร้อมกับคว่ำบาตรให้ทุกคนดู นายพุฒเห็นเช่นนั้นก็เดินลงจากศาลา ไม่ยอมพูดจากับใคร จนตะวันบ่ายนายพุฒจึงกลับมาพบกับพระอาจารย์วังพร้อมบริขารที่จะบวช เมื่อบวชแล้ว พระพุฒก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระอาจารย์วังพร่ำสอนอย่างเคร่งครัด ไม่นานเมียที่บ้านก็ตามมาบวชชีอีกคน
ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร
ชนบทภาคอีสานในสมัยนั้นอยู่ห่างไกลความเจริญเวลาเจ็บไข้ก็อาศัยยารากไม้ ต้มกินบ้าง ฝนกินบ้าง ตามภูมิความรู้ของหมอยากลางบ้าน ของพระหมอยาบ้าง ผู้บันทึกตอนนี้(พระวินิต สุเมโธ) ตอนเป็นเด็กเวลาเป็นไข้ยังได้กินยาฝนจากรากไม้บ้าง กระดูกสัตว์ เปลือกหอยบ้างว่ากันว่าต้นไม้ทุกชนิดที่เกิดบนภูลังกาพระอาจารย์วังรู้สรรพคุณหมด เพราะท่านเชี่ยวชาญใส่ยาคนป่วยได้ฉมัง คนเฒ่าคนแก่อายุเจ็ดสิบขึ้นไปเล่าให้ฟังว่าคนไข้บางคนพอรู้ว่ายาพระอาจารย์วังยังไม่ทันได้กินหายป่วยแล้วก็มี ตัวผู้เขียนได้นำไปรักษาผู้ป่วยดู ฝนให้กินเพียงขันเดียวไม่ถึง ๓๐ นาที คนป่วยลุกนั่งได้อย่างอัศจรรย์
เดินจงกรมอยู่ต่อหน้าเสือ
มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้พาพระเณร ๔ รูป มีอาจารย์สิงห์ สามเณรทัน สามเณรสุบัน และตัวท่านเที่ยวธุดงค์ไปตามเส้นทางเก่าที่เคยไป ได้พา พระเณรพักภาวนาที่ป่าบ้านโคกกอย ตอนหัวค่ำท่านก็ได้อบรมพระเณร ที่ติดตามให้สังวรระวังอย่าประมาทให้รีบเร่งทำความเพียร จากนั้นท่านก็เข้าทางจงกรมที่เณรได้เตรียมไว้ให้ ส่วนพระเณรรูปอื่น ๆ ก็แยกย้ายกันไป พอตะวันลับฟ้าความมืดก็ปกคลุมเสียงเจ้าป่าก็กระหึ่มก้องภูวัวทำให้สามเณรที่ไปด้วยต้องรีบเข้ากลดนั่งเหงื่อโชกตัวสั่นงันโงก ส่วนพระอาจารย์วังก็เดินจงกรมอยู่เหมือนไม่มีอะไร ไม่นานร่างเจ้าของเสียงก็ปรากฏที่ปลายทางจงกรมของท่านราว ๒ เมตร และก็มอบดูท่านอยู่ อย่างนั้น ส่วนพระอาจารย์วังก็ไม่ได้สนใจกับมัน ยังคงเดินจงกรมเป็นปกติจนกระทั่งท่านเหนื่อยจึงพูดขึ้นว่า “ เหนื่อยแล้วเด้อ ” มันจึงร้องโฮกกระโจนเข้าป่าหายไปกับความมืด
พบถ้ำชัยมงคล
อยู่มาปีหนึ่ง พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ออกเที่ยววิเวกเหมือนทุกปีที่ผ่านมาได้เดินธุดงค์ไปที่ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง บ้านโนนหนามแท่ง ได้ขึ้นไปที่หลังภูลังกาซึ่งเคยขึ้นเกือบทุกปี แต่ปีนั้นได้พบถ้ำๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นถ้ำกว้างพออยู่อาศัยได้สะดวก ถ้ำนี้แบ่งเป็นสองตอน ตรงกลางมีก้อนหินตับคั่นเป็นห้อง แต่พอเดินไปหากันได้ตลอด เป็นชะง่อนหินริมผา ลักษณะคล้ายถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร ด้านหน้าถ้ำอยู่ตรงทิศตะวันออก แสงอาทิตย์ส่องถึงภายในถ้ำได้ตลอด ถ้ำนี้ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เมื่อท่านได้พบแล้ว เป็นที่พอใจของท่านอย่างมาก ท่านพูดว่าต่อไปเราจะมาอยู่ที่นี่ ซึ่งตามปกติท่านก็ชอบภูเขาอยู่แล้ว ท่านจึงให้ชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำชัยมงคล” ระยะทางจากถ้ำนี้ลงไปถึงตีนเขาประมาณ ๑ กิโลเมตรกว่า ตีนเขาห่างจากหมู่บ้านโพธิ์หมากแข้ง บ้านโนนหนามแท่ง เดินผ่านดงไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร บริเวณรอบภูลังกานี้เป็นป่าไม้ดงดิบที่อุดมสมบูรณ์มาก มีพวกสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น ช้าง เสือ ควายป่า กระทิง หมี เลียงผา อีเก้ง กระจง ชะมด ลิง ค่าง บ่าง กระรอก กระแต ไก่ป่า ไก่ขัว นกยูงเป็นฝูงๆ และนกอื่นๆ อีกมากมาย ในด้านทิศตะวันตกของภูลังกาคือบ้านโพธิ์หมากแข้ง มีถ้ำอยู่ตามเงื้อมเขา พอเป็นที่ผึ้งจะอาศัยทำเป็นรัง มีอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำพร้าว ถ้ำปอหู เป็นต้น โดยเฉพาะถ้ำพร้าว เป็นถ้ำสูงจึงมีผึ้งมาทำรังอยู่ ปีละไม่น้อยกว่าหนึ่งรัง ชาวบ้านต้องประมูลจากทางอำเภอเมื่อประมูลได้แล้ว ก็เฝ้ารักษาคอยเก็บเอาเฉพาะรังผึ้งมาทำเป็นขี้ผึ้งขาย ไม่ค่อยนำเอาน้ำผึ้งมาขาย เพราะถ้ำอยู่สูง ไม่สะดวกในการเก็บน้ำผึ้ง ไม่เหมือนที่ภูสิงห์ ภูวัว ซึ่งเป็นเป็นภูเขาที่มีถ้ำอยู่ต่ำ จึงเก็บเอาน้ำผึ้งมาขายได้ง่ายกว่า
เมื่อท่านได้พบถ้ำนั้นแล้ว ในปีนั้นและปีต่อๆ มา ได้จึงได้พาพระเณรขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นทุกปี แต่ละปีไม่ต่ำกว่า ๕-๖ รูป เพราะถ้ำ ชัยมงคลอยู่ไกลจากหมู่บ้านมาก จะลงไปรับบาตรไม่ได้ ต้องอาศัยญาติโยมชาวบ้าน สามเณรและเด็กจัดทำอาหารถวาย สามเณรที่อยู่ประจำคือ สามเณรคำพันธ์ ปทุมมากร(พระจันโทปมาจารย์) สามเณรสุบรรณ ชมพูพื้น สามเณรใส ทิธรรมมา และสามเณรวันดี สอนโพธิ์
สร้างวัดชัยมงคล อำเภอบ้านแพง
ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ นั้นเอง พระอาจารย์วังได้พาสามเณรคำพันธ์ ปทุมมากร ลงจากภูลังกา เพื่อไปเยี่ยมโยมอุปัฏฐากในอำเภอบ้านแพง คือ คุณแม่สาลี เมื่อไปถึงประตูเข้าบ้าน ก็พบกับลูกชายของคุณแม่สาลีชื่อเฉลิม ยืนคุยกับเพื่อน ๔ คน หนึ่งในนั้นเป็นคริสเตียน เมื่อนายเฉลิมและเพื่อนเห็นพระอาจารย์วังกับสามเณรคำพันธ์เดินมาก็หลีกทางให้ เพราะมีความคุ้นเคยกันมาก่อน ส่วนคริสเตียนคนนั้น นอกจากไม่หลีกทางให้แล้ว ยังถลึงตาใส่เหมือนจะทำร้าย อำเภอบ้านแพงในสมัยนั้น ตระกูลของ คริสเตียนคนนี้ร่ำรวยที่สุดในอำเภอ ทุกครั้งที่ญาติโยมนิมนต์ให้ลงจาก ภูลังกาเพื่อไปสงเคราะห์ พระอาจารย์วังได้ไปขอพักอยู่ในวัดที่อยู่ใกล้ๆ บ้านของคุณแม่สาลี แต่พระเจ้าถิ่นก็ไม่ค่อยเต็มใจให้พัก คอยกลั่นแกล้งต่างๆ นานา จนคุณแม่สาลีนิมนต์ให้ไปพักที่บ้านของท่านอีกหลังหนึ่ง ที่ปลูกอยู่ฟากบุ่งตรงข้ามกับวัดนั้น ซึ่งไม่มีคนอยู่ แต่ก็ไม่วายถูกพระเจ้าถิ่นตามไปรบกวน โดยให้คนแอบไปถอดเอาไม้ที่มุงหลังคาออกในตอนกลางคืน จนไม่สามารถบังแดดบังฝนได้ คุณแม่สาลีต้องหาที่พักแห่งใหม่ให้ท่าน โดยใช้เถียงนากลางทุ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก พอได้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว ตอนนี้พระเจ้าถิ่นได้ใช้วิธีทำบัตรสนเท่ห์หรือใบปลิวโจมตีท่านอีก โดยกล่าวหาว่าท่านชอบเที่ยวเตร่ในที่อโคจร คบแม่ร้าง แม่หม้าย หวังหลอกเอาทรัพย์สินเงินทอง และอีกต่างๆ นานา เท่าที่จะนำมากล่าวหาให้ท่านเสียหายได้ คุณแม่สาลีตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงหนึ่งกลางทุ่งนา อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบ้านแพง(ปัจจุบันเรียกบ้านโนนคะนึง) ถวายเป็นที่สร้างวัด พระอาจารย์วังก็ได้นำพาคุณแม่สาลีและญาติโยมบุกเบิกสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นจนแล้วเสร็จ และท่านก็ตั้งชื่อวัดว่า “วัดสาลีวัลย์” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของคุณแม่สาลีผู้มีศรัทธาสร้างวัดนี้
วัดสาลีวัลย์สร้างมาได้ ๓ เดือน เจ้าคุณปู่วัดศรีเทพ คือพระราชสุทธาจารย์ก็ได้ติติงมาว่า “สร้างวัดสร้างด้วยกันหลายคน แต่ใส่ชื่อ คนๆ เดียว มันจะทำให้ทะเลาะกัน ให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เสียเถิด” พระอาจารย์วังครุ่นคิดหาชื่อวัดอยู่นาน ในที่สุดท่านก็ใส่ชื่อใหม่ว่า “วัดชัยมงคล” ตามนามถ้ำชัยมงคลที่ท่านจำพรรษาอยู่ จนถึงปัจจุบัน
ขอเล่าย้อนถึงคริสเตียนคนนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๓ วัน เขาก็จ้างคนติดยาฝิ่น ๓ คน หาบข้าวปลาอาหารขึ้นไปหาพระอาจารย์วังที่ถ้ำชัยมงคล เมื่อไปถึงก็เข้าไปกราบแทบตักของท่าน พร้อมกับกล่าวว่า “กระผมคิดเห็นแต่หน้าท่านอาจารย์ เหมือนกับคนรู้จักกันมาก่อน อยากมากราบมาไหว้ เขาได้สนทนากับพระอาจารย์วังอยู่เป็นเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วจึงได้ลากลับ
ใน ๔-๕ วัน ถัดมา คุณแม่สาลี แม่จันมา แม่กำมา แม่จันมี แม่เบ็ง แม่ทา แม่บัวทอง ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากอยู่ในอำเภอบ้านแพงก็นำเสบียงอาหารขึ้นไปทำบุญที่ถ้ำ พร้อมภรรยาของคริสเตียนคนนั้น เมื่อทุกคนกราบไหว้พระอาจารย์วังแล้ว ภรรยาของคริสเตียนก็เรียนถามว่า “เมื่อ ๔ วันก่อน ผัวขะน้อยมา เพิ่นกราบท่านอาจารย์อยู่บ่” พระอาจารย์วังก็บอกว่า “กราบเรียบร้อยดี” ทำให้ภรรยาของเขาไม่อยากเชื่อพร้อมกับบอกว่า “สามีนับถือศาสนาคริสต์ ไม่รู้จักกราบไหว้พระ รังเกียจพระ ช่างหน้าแปลกใจที่เขามากราบไหว้ท่านอาจารย์ถึงที่นี่” (ภายหลังได้ทราบจากท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์ว่าเมื่อภาวนาจิตหยั่งลงถึงขั้นอัปฺปนาสมาธิแล้ว แผ่เมตตาไปถึงเขา ต้องการให้เขาทำอะไร เขาก็จะทำตามอย่างที่เราต้องการ)
เทวดาเลื่อมใส
ขณะที่อยู่ภูลังกานั้น ท่านอาจารย์วังได้พูดให้ฟังหลายครั้งว่ามีเทวดามาขออาราธนาให้ท่านอยู่ที่นี่นานๆ บางครั้งเมื่อท่านลงมาที่วัด ศรีวิชัย ซึ่งตามปกติจะมาทุกปี ปีละครั้งสองครั้ง ญาติโยมอยากขอนิมนต์ให้พักนานๆ แต่ท่านตอบปฏิเสธ โดยท่านบอกว่าเทวดาเขามานิมนต์กลับเทวดาจะพากันมารับศีลและฟังเทศน์ จากท่านเป็นประจำ คืนไหนที่ พวกเขามา วันรุ่งขึ้นท่านจะเล่าให้พระเณรฟังทุกครั้ง
ชาวบังบดมานิมนต์
วันหนึ่งหลังจากฉันข้าวเสร็จแล้ว สามเณรได้ไปธุระทางอื่น มีท่านรูปเดียวอยู่ในถ้ำ สภาพของถ้ำเป็นเงื้อมผาสองห้อง มีหินกั้นกลางระหว่างสองห้องนั้น ถ้าจะเดินไปหากันก็ต้องระวังตรงหินยื่นนั้น เพราะอยู่ริมชัน เลยจากนั้นก็เข้าไปอีกห้องหนึ่ง เมื่อสามเณรไปแล้วไม่นาน ท่านได้ยินเสียงคนเดินจากห้องที่พระเณรอยู่ จะไปหาท่านจึงคิดว่าพวกเณรไม่น่ากลับมาเร็วอย่างนี้ หรือว่าจะมีโยมบ้านใดขึ้นมาหาท่านนั่งรอรับประมาณ ๑๐ นาที จึงเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี ทรงผมยาวลงมาเพียงตีนผม โผล่แต่หน้าข้ามหินมา เห็นท่านนั่งอยู่องค์เดียว แล้วก็ผลุบหายไป ส่วนท่านก็รอรับอยู่ เมื่อรอแล้วรออีกก็ไม่เห็นโยมข้ามมา หาเลย ท่านสงสัยเลยลุกเดินไปดูฟากนั้นว่ามีคนมาหรือไม่ เมื่อออกไปดูแล้วก็เงียบ ไม่เห็นอะไร เมื่อตกเย็นท่านได้เล่าให้พวกเณรฟัง
ต่อมาอีก ๓ วัน ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้เมื่อนั่งสมาธิ พอจิตสงบแล้ว ได้เห็นสิ่งหนึ่งคล้ายกับอู่(เปล) ของเด็กลอยมาหน้าถ้ำ แล้วก็มุ่งมาที่ถ้ำ อู่นั้นก็ลอยต่ำลง มาที่ท้ายถ้ำ มีคนมาในนั้น ๕ คน มีทั้งคนหนุ่มคนเฒ่าทั้งชายและหญิง เมื่อเขามาแล้วกราบท่าน แล้วแจ้งความประสงค์ให้ท่านทราบว่า จะมานิมนต์ท่านให้ไปอยู่เมืองบังบดกับเขา เมืองนั้นอยู่บริเวณป่าตาดน้ำตกแถวนั้น เมื่อท่านได้กวาดสายตาไปดูเขาได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ใบหน้าและทรงผมเหมือนกับผู้หญิงที่ได้พบตอนกลางวันวันก่อน ท่านจึงทักว่าโยมเคยมาหาอาตมาแล้วมิใช่หรือ ผู้หญิงคนนั้นจึงประณมมือตอบท่านว่าใช่แล้ว ที่ไม่เขามาหาท่านวันนั้นเพราะเห็นท่านอยู่รูปเดียว เห็นว่าเป็นเวลาไม่เหมาะสม จึงไม่กล้ามากราบท่าน แล้วท่านพระอาจารย์วังก็บอกเขาว่าไปอยู่กับพวกท่านไม่ได้ เขาตอบว่า ถ้าไม่ไปอยู่กับเขาแล้ว ที่เณรทั้ง ๓ ไปเก็บเส้นเทาที่ตาดน้ำตกนั้นเขาเห็นอยู่ ต่อไปนี้จะไม่มีเส้นเทาอีกแล้ว (เทา เป็นตะไคร่น้ำหรือสาหร่ายเกิดตามหินที่มีน้ำไหลตลอด เป็นเส้นสีเขียวคล้ายเส้นผม ยาวคืบหนึ่งหรือยาวกว่า ชาวอีสานเรียกว่าเทา เอามาทำเป็นอาหารได้ เรียกว่า ลาบเทา ) เมื่อท่านได้รับคำนิมนต์ของเขาแล้วเขาก็กราบลากลับ ขึ้นอู่เหาะไป เหมือนเมื่อตอนเขามา ต่อมาก็แปลกมาก คือ เทาที่เกิดอยู่ที่นั้นไม่มีอีกเลย
พญานาคมาขอส่วนบุญ
เช้าวันหนึ่ง พระอาจารย์วังได้เล่าให้เณร(พระจันโทปมาจารย์) ฟังว่า เมื่อคืนมีพญานาคมาหาให้นิมิตสมาธิ บอกว่ามาขอส่วนบุญ พอตกกลางวันวันนั้น มีงูตัวหนึ่งสีแดงทั้งตัว ขนาดไม่ใหญ่นัก ยาวประมาณสองศอก เลื้อยเข้ามาในถ้ำชัยมงคล แล้วหายเข้าไปในถ้ำ เมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนจะทำการถวายภัตตาหาร ท่านอาจารย์วังได้กล่าวว่าบุญกุศลที่พวกเณรและผ้าขาว ถวายภัตตาหารแด่พระเณรให้อุทิศไปให้พญานาค แล้วท่านก็พาทำบุญอุทิศ ครั้นวันถัดมา ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนพญานาคมาหาอีกครั้งบอกว่าเขาได้รับบุญกุศลแล้ว มาขอลาไปสู่สุคติภพที่ดีกว่า
ภุมมเทวดาตักเตือน
ขณะที่อยู่บนภูลังกา ปกติจะมีญาติโยมขึ้นไปกราบท่านอยู่เสมอ เพราะขณะนั้นชื่อเสียงของท่านค่อนข้างจะโด่งดั่งพอสมควร เมื่อญาติโยมขึ้นมากราบท่านที่ถ้ำ ก็มักจะเดินเที่ยวชมป่าเขาด้วย ท่านจะคอยบอกญาติโยมว่า ห้ามโยนก้อนหินลงไปหน้าผาหน้าถ้ำ เพราะพวกภุมมเทวดาเขามาบอกว่าเขาไม่ชอบ มีโยมกลุ่มหนึ่ง แม้ท่านจะห้ามแล้วก็ยังแอบกระทำอยู่ในตอนกลางวัน พอตกค่ำ ๓ ทุ่มหลังจากทำวัตรเสร็จแล้ว กำลังฟังเทศน์กันอยู่ ก็มีเสียงดังสะท้อนลั่นมาจากลานหินหลังถ้ำ ( ถ้ำนี้เป็นชะง่อนหินริมผา มีลานหินอยู่ด้านบน ) เหมือนมีหินขนาดใหญ่สัก ๒ เมตร กลิ้งมาแล้วตกลงหน้าผา ห่างจากถ้ำราว ๖ วา ญาติโยมก็แตกตื่นตกใจวิ่งไปจับกลุ่มอยู่ใกล้ ๆ ท่านอาจารย์วัง ท่านจึงถามว่าเมื่อโยมขึ้นไปหลังถ้ำมีใครโยนก้อนหินลงหน้าผาหรือไม่ โยมตอบว่า มีเด็กมากันหลายคน และพากันโยนหินเล่น ท่านจึงบอกว่า พวกเจ้าที่เขาไม่พอใจที่ไปทำอย่างนั้น จึงเกิดเสียงอย่างนี้ขึ้น ขอโทษเขาก็ได้ ไม่เป็นไร แค่คราวต่อไปห้ามทำอย่างนี้อีก ครั้นตอนเช้ามาดูก้อนหินที่ตกลงมา ปรากฏว่าเป็นหินที่มีขนาดเท่าบาตรเท่านั้น ไม่สมกับเสียงที่ได้ยินเมื่อคืนเลย
เริ่มอาพาธ
ปี พ.ศ.๒๔๙๐ ใกล้จะเข้าพรรษา พระอาจารย์วังก็เริ่มอาพาธที่ถ้ำชัยมงคล ท่านได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ต่อมาท่านเกิดมีโรคแทรกซ้อนขึ้นอีกคือเป็นโรคท้องมาน มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก ทำให้ท้องโต มีความอึออัด เดินไปมาลำบาก แต่สมัยนั้นการคมนาคมติดต่อกันยากลำบาก จึงไม่ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะอยู่ห่างไกลตัวจังหวัดมาก ท่านจึงรักษาตัวกับหมอชาวบ้าน ซึ่งทางการเรียกว่าหมอเถื่อนนั่นเอง แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงตัว วันหนึ่งพระอาจารย์วังทรุดหนักถึงกับสิ้นสติไม่ไหวติง จนสามเณรคำพันธ์ ซึ่งนั่งเฝ้าไข้ท่านอยู่ข้างๆ คิดว่าท่านคงไม่รอดแน่แล้ว จึงได้จุดธูปเทียนไว้ที่หัวนอนท่าน พระอาจารย์วังสิ้นสติไปเกือบ ๒ วัน จึงฟื้น เมื่อท่านลืมตาขึ้นมา ก็บอกให้สามเณรคำพันธ์รีบหากระดาษ ดินสอ มาเร็วๆ เดี๋ยวจะลืม เมื่อสามเณรคำพันธ์ได้กระดาษกับดินสอมาแล้ว ท่านก็สั่งให้จดตามที่ท่านบอกว่า “อุ อะ ยุ ยะ นะมะสัจเจ นะเมสัจจะ วะภะนะโม โหตุ” ภายหลังท่านได้เล่าให้สามเณรที่อยู่กับท่านฟังว่าตอนที่ท่านสิ้นสติไปนั้น ได้มีผู้ชาย ๒ คน มารับท่านขึ้นไปบนสวรรค์ ได้ผ่านวิมารปราสาทสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ กลิ่นธูปเทียนหอมตลบอบอวนเต็มไปหมด ผู้ชายทั้ง ๒ คน พาท่านไปที่ปราสาทหลังหนึ่ง เมื่อไปถึงก็พาเข้าไปในห้องโถงอันโอ่อ่า ได้พบกับเทวดาองค์หนึ่ง นั่งอยู่บนแท่นสูง และเชิญให้ พระอาจารย์วังนั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ พร้อมกับแนะนำตัวว่า “เราคือพระศรีอาริยเมตไตรย เราให้บริวารไปรับท่านมาเพื่อจะบอกคาถาให้บทหนึ่ง หวังให้ท่านนำไปช่วยมนุษย์ เพราะในกาลข้างหน้า มนุษย์จะได้รับความเดือดร้อยจากภัยต่างๆ ท่านมีคาถาอะไรใช้บ้าง” พระอาจารย์วังก็ได้ตอบท่านว่า “กระผมมีคาถาแก้วสารพัดนึกอยู่บทหนึ่งคือ นะ มะ อะ ชะ อุรัง อังคุ มุนะ” พระศรีอาริยเมตไตรยก็กล่าวกับท่านพระอาจารย์วังว่า “คาถาเดิมของท่านมันยังไม่เต็มบท ให้เอาคาถานี้เพิ่มเข้าไป ท่านจะใช้คาถาอะไรก็ตาม อย่าลืมเอาคาถานี้ต่อท้ายทุกครั้ง”
ส่งศิษย์ไปดูแลวัดศรีวิชัย
เมื่ออยู่ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ สามเณรวันดี และสามเณรคำพันธ์ อายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้พาไปอุปสมบท ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และได้อยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์วังที่ถ้ำชัยมงคลตลอดจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๓
ในปีนั้น ทางวัดศรีวิชัยไม่มีพระเณรอยู่ ท่านจึงได้ส่งพระวันดี อิสโก(สอนโพธิ์) พระคำพันธ์ จนฺทูปโม(พระจันโทปมาจารย์) พระถ่อน กนฺตสีโล สามเณรอ่อน พลแพง สามเณรบุญศรี สอนโพธิ์ สามเณรถ่อน แสงโพธิ์ เด็กชายบุดดี นะคะจัด ลงไปอยู่วัดศรีวิชัย ครั้นต่อมาท่านได้สั่งให้พระวันดีกลับไปอยู่กับท่านที่ถ้ำชัยมงคล
อาพาธหนัก
ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านเริ่มอาพาธหนักขึ้น โรคท้องมานของท่าน ก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะทนไม่ไหว ท่านจึงให้หมอคนหนึ่งเอาเข็มแทงเข้าไปในท้อง เอาน้ำออกจากท้องได้หลายลิตร จึงทำให้ท้องท่านแฟบลง จึงได้เห็นสิ่งหนึ่งภายในท้องแทงโผล่ขึ้นมาเอามือจับดูก็มีลักษณะแข็งๆ ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรในท้อง เมื่อเอาน้ำออกท้องแฟบลง ก็ทำให้ท่านสบายขึ้นบ้าง เพราะไม่อึดอัดและเดินได้สบายกว่า แต่การรักษาก็ไม่มีอะไรพิเศษกว่าเดิม ต่อมาท้องท่านกลับค่อยโตขึ้นทีละน้อยๆอีก เมื่อไม่มีทางเลือกจึงตกลงกันว่าจะต้องนำท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดนครพนม ขณะนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๙๖ แต่ก็มาคิดว่าการจะนำท่านเดินตามทางหลังภูเขา ขึ้นๆ ลงๆ กว่าจะพ้นหลังภูเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร จะใช้พาหนะอย่างอื่นไม่ได้แน่นอน นอกจากเดินเท่านั้น แม้ว่าท่านยังพอที่จะเดินได้อยู่ แต่ขนาดกำลังคนปกติเดินทางบนภูเขา ๒ กิโลเมตรก็เหนื่อยพอดู ไม่ต้องกล่าวถึงคนป่วยเช่นท่านเลย ดังนั้น เมื่อพร้อมกัน ก็จัดคนเดินเคียงข้างท่านสองคน นอกนั้นเดินออกหน้าก็มี ตามหลังก็มี เป็นคณะทั้งพระเณรและญาติโยม เมื่อเห็นว่าท่านเหนื่อยก็หยุดพักตั้งหลายครั้ง ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายสี่โมงจึงลงพ้นภูเขา
เมื่อลงถึงพื้นดินราบแล้วจึงได้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจะไม่ให้ท่านต้องเดิน แต่ก็จนใจ เพราะหนทางนี้เป็นหนทางคนเดินเท่านั้น เกวียนรถไปไม่ได้ บังเอิญนึกถึงรถแทรกเตอร์ของโรงงานไร่ยาสูบ ทางโรงงานไร่ยาสูบก็ได้ให้ความช่วยเหลือ ได้นั่งรถแทรกเตอร์ก็ยังดีกว่าท่านเดินมาเอง ถ้าคนปกติก็คงไม่ลำบากอะไรมาก แต่นี้ท่านป่วยร่างกายซูบผอม ก็กระทบกระแทกพอสมควร แล้วรถก็พาไปถึงวัดชัยมงคล บ้านแพง อำเภอบ้านแพง วัดนี้ก็ท่านพระอาจารย์วัง คุณแม่สาลีและญาติโยม บ้านแพงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘
เมื่อถึงวัดชัยมงคลนี้ ได้พักรอเรือกลไฟที่เดินระหว่างบ้านแพงถึงนครพนม พอดีได้เวลาแล้ว จึงได้โดยสารเรือกลไฟไปนครพนม ได้รับการรักษาอยู่โรงพยาบาลนั้นเดือนกว่า หมอก็เอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี แต่หมอก็ไม่บอกอะไรและไม่ได้ให้ความหวังว่าจะหายหรือไม่อย่างไรเลย
รักษาอาพาธที่กรุงเทพฯ
ต่อมาวันหนึ่ง นายอำเภอประสงค์ กาญจนดุล นายอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม(ขณะนั้น) ได้มากราบเยี่ยมท่าน และได้เล่าอาการป่วยให้นายอำเภอฟังว่าในช่องท้องมีอะไรไม่ทราบแข็งเป็นช่ออยู่ข้างซ้ายเอามือคลำดูก็ได้ ไม่รู้ว่าจะต้องได้ผ่าตัด หรือจะต้องรักษาอย่างไรหมอก็ไม่บอก นายอำเภอกราบเรียนว่า ผมมีหมอคนหนึ่งเป็นเพื่อนกัน ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ ชื่อประกอบ เรื่องผ่าตัดนี้เขาเก่งมาก จึงขอกราบนิมนต์ท่านไปรักษาอยู่กรุงเทพฯ
ดังนั้นเมื่อได้มารักษาอยู่โรงพยาบาลนี้เดือนกว่า อาการก็ไม่ดีขึ้นจึงตกลงออกจากโรงพยาบาลนครพนม เดินทางโดยสารรถยนต์ไปขึ้นรถไฟที่จังหวัดอุดรธานี ระยะทาง ๒๔๐ กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังตลอดสาย ตอนเย็นวันนั้น ได้ขึ้นรถไฟด่วนไปกรุงเทพฯ ตื่นเช้าก็ถึงกรุงเทพฯ ได้เข้ารักษาอยู่โรงพยาบาลตำรวจ การไปโรงพยาบาลตำรวจนี้ นายอำเภอประสงค์ท่านได้โทรศัพท์ติดต่อเรื่องการไปนี้ก่อนแล้วจึงได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง จึงได้ขอขอบคุณท่านนายอำเภอในการณ์นี้ด้วย
เมื่อแรกที่ทำการรักษา ได้เจาะเอาน้ำที่ท้องท่านออกจนท้องแฟบลง หมอคลำดูที่เป็นช่อแข็งๆ นั้น จากนั้นหมอก็มีการฉีดยาและถวายยาให้ฉัน อยู่หลายวัน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าต้องผ่าตัดหรือจะรักษาต่อไปอย่างไรไม่บอกเลย (แต่มาทราบภายหลังจากท่านได้มรณภาพแล้วว่าท่านเป็นโรคตับแข็ง จะผ่าตัดก็ไม่ได้ จะรักษาก็ไม่หาย ที่หมอรับรักษานี้ก็เพื่อให้ท่านมีกำลังพอเดินทางกลับวัดได้เท่านั้น เรื่องนี้ผู้เฝ้าปฏิบัติใกล้ชิดไม่ทราบเลย จนท่านมรณภาพแล้วจึงได้รู้ ) แต่อาการไม่ดีขึ้นเลยมีแต่อาการทรงกับทรุดลงเท่านั้น
มรณภาพ
มาวันหนึ่งท่านได้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือดออกมาไม่มาก ตั้งแต่ตอนเช้ามาจนถึงเย็นวันนั้นดูอาการของท่านอ่อนเพลียมาก อาการทางกายก็ไม่มีอะไรอีก ท่านได้พูดเบาๆแต่เสียงปกติว่า “มันจะตายก็ให้มันตายไป” แล้วก็ไม่พูดอะไรอีก จากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา ๒๐.๑๘ น. ของวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๖ รวมอายุได้ ๔๑ ปี
เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ก็มีการฉีดยาป้องกันการเน่า และไม่มีรถบริการเคลื่อนศพไปจากกรุงเทพฯ ได้ เพราะได้รับคำบอกว่า นอกเสียจากเรามีรถส่วนตัวจึงนำศพกลับต่างจังหวัดได้ จึงตกลงเอาศพฝากวัดดวงแข หัวลำโพง ไว้ก่อน
ในปีต่อมาพระอาจารย์โง่น โสรโย ได้นำอัฐิของพระอาจารย์วังออกจากวัดดวงแขไปจัดงานถวายเพลิงศพที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมืองจังหวัดนครพนม โดยได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณ ท่านพระครูวิจิตร วินัยทร(ต่อมามีสมณศักดิ์ พระราชสุทธาจารย์) ซึ่งเป็นกรรมวาจาจารย์ ของพระอาจารย์วังนั้นเอง ได้กรุณาช่วยจัดการถวายเพลิงศพให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ
ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ท่านมีลูกศิษย์เป็นพระภิกษุอยู่ ๓ รูป คือ
๑. ท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร(พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
๒. ท่านพระอาจารย์โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
๓. ท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์(คำพันธ์ จนฺทูปโม) วัดศรีวิชัย ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ
เมื่อทำการถวายเพลิงศพท่านแล้ว ได้นำอัฐิครึ่งหนึ่งไปก่อเจดีย์ไว้บนหลังถ้ำชัยมงคล ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง ตำบลโพธิ์หมากแข้ง กิ่งอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย โดยการนำของท่านพระครูวินัยธร (ท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์) พระสิงห์ อินทปญฺโญ (ปัจจุบันคือ พระมงคลนายก) พระหนูเพชร ปญฺญาวุฑโฒ พระเสียน วชิรญาโณ และเด็กวัด คือ นายสังวาลย์ ผงพิลา นายสีทัด ประสงค์ดี การก่อเจดีย์บนภูเขา ซึ่งเป็นที่สูงย่อมลำบากเหน็ดเหนื่อย ลำพังแต่ตัวเปล่าเดินขึ้น ก็เหนื่อยพอแรงอยู่แล้ว นี้ต้องแบ่งเอาซีเมนต์จากถุงใหญ่ใส่ถุงเล็ก กว่าจะหมดปูน ๕ ถุง ต้องเดินขึ้นลงอยู่หลายเที่ยว ส่วนทรายที่จะใช้ก่อ ก็ต้องลงจากหลังเขาที่จะก่อเจดีย์ ลงไปเอาในลำห้วยกั้ง ซึ่งเป็นลำห้วยอยู่บนเขา มีกองทรายพอรวมเอาได้ แต่อยู่ไกลจากที่ก่อเจดีย์ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นระยะทางบนภูเขา มีขึ้นๆ ลงๆ ตลอด กว่าจะถึงต้องหยุดพักหลายครั้ง มีเหงื่อโทรม ทั่วตัว แต่ทุกคนก็ยินดีพร้อมเพรียงช่วยกันเป็นอย่างดี ส่วนน้ำที่จะผสมปูนนั้น ต้องเอาบาตรลงไปตัก ซึ่งมีน้ำอยู่ใกล้กว่าทรายหน่อย เอามาได้ทีละบาตรเท่านั้น ส่วนอิฐสำหรับก่อนั้นเอาก้อนหินที่พอดี ถากแต่งนิดหน่อยใช้แทนอิฐ แล้วก็ฉาบแต่งตามรูปที่ต้องการ ได้ช่วยกันพยายามทำอยู่ถึง ๒๑ วันจึงสำเร็จ เสร็จแล้วได้นำอัฐิของท่านบรรจุไว้ตรงกลางเจดีย์ ในเวลาที่พร้อมกันทำอยู่นี้ก็ได้อาศัยการอุปถัมภ์จากญาติโยมโนนหนามแท่ง บ้านดอนกลาง บ้านโพธิ์หมากแข้ง ได้จัดทำอาหารขึ้นไปถวายจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีจึงขออนุโมทนา ณ ที่นี้ด้วย จากนั้นก็กลับลงไปสู่วัดของตน
สร้างอุโบสถเป็นอนุสรณ์แด่พระอาจารย์วัง
วันหนึ่งราว พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๑๗ พระจันโทปมาจารย์ได้พบกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ) ท่านบอกว่า อัฐิพระอาจารย์วังที่เก็บไว้นั้นควรจะสร้างอะไร เพื่อเป็นอนุสรณ์และเอาอัฐิบรรจุ พระจันโทปมาจารย์จึงกราบเรียนท่านว่า ถ้าจะสร้างก็จะสร้างอุโบสถ ท่านบอกว่าสร้างได้เลยเราจะช่วยจึงมีความดีใจอย่างยิ่ง ที่มีครูบาอาจารย์มีความเมตตากรุณาช่วยเหลือ ต่อมาจึงได้ประชุมทางวัดและทางชาวบ้าน แจ้งถึงการที่จะสร้างอุโบสถเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แต่การจะสร้างนี้ต้องทำเป็นอุโบสถสองชั้น เหตุผลคือ ศาลาการเปรียญหลังเก่าเล็กคับแคบไม่พอกับจำนวนผู้มาทำบุญ จะสร้างอุโบสถชั้นเดียวก็จะต้องสร้างศาลาการเปรียญใหม่อีก และพื้นที่ดินของวัดก็ไม่กว้างขวางมากนัก ดังนั้นจึงควรสร้างอุโบสถนี้เป็นสองชั้น แต่การสร้างนี้ก็ต้องใช้ทุนนับเป็นล้านสองล้านจึง จะสำเร็จ เรามีปัจจัยที่จะสร้างเพียง ๗๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดหมื่นบาทถ้วน) เท่านั้น ดังนั้นพระจันโทปมาจารย์จึงได้แจ้งความในใจต่อที่ประชุมว่า เราได้ระลึกถึงอุปการีที่พระอาจารย์ได้มีแก่พวกเรามามากมาย จึงจะขอสร้างอุโบสถนี้เป็นอนุสรณ์ให้ได้ และได้ยกมือตั้งสัจจะอฐิษฐานว่า “จะขอสร้างให้สำเร็จให้ได้ แม้เวลาจะนานกี่ปี หรือจะสูญสิ้นทุนทรัพย์ไปเท่าไร ก็ตาม ก็จะมุ่งมั่นสร้างไปจนสำเร็จแม้จะตายไปก่อนในชาตินี้และยังสร้างไม่เสร็จชาติหน้าเกิดใหม่ก็ขอให้ได้มาสร้างต่อจนเสร็จ ” ที่ประชุมจึงได้ยินดีพร้อมกันตามที่มีความมุ่งมั่นไว้
สร้างวัตถุมงคล หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
ก่อนเริ่มลงมือก่อสร้างอุโบสถ พระจันโทปมาจารย์ได้กราบเรียนหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (ซึ่งขณะนั้นท่านได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดของท่าน คือวัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม) ถึงเรื่องการจะสร้างอุโบสถท่านก็เห็นด้วย และเมตตาให้สร้างวัตถุมงคลของท่านขึ้น ชื่อรุ่นไตรมาสเพื่อรวบรวมปัจจัยไว้ก่อสร้างอุโบสถ ดังมีรายละเอียดดังนี้
๑. พระกริ่งรูปเหมือน เนื้อเงิน ๑๒ องค์ เนื้อนวโลหะ ๕๐๐ องค์
๒. พระผงรูปเหมือนเนื้อว่าน แบบ ๔ เหลี่ยม ๒,๐๐๐ องค์ แบบกลม ๑,๒๐๐ องค์
๓. เหรียญเนื้อทองแดงชุบนิเกิ้ล ๑๕,๐๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๙๐ เหรียญ เนื้อนวโลหะ ๒๐๐ เหรียญ
วัตถุมงคลชุดนี้มีเครื่องหมายเป็นตัว “ร-ร”(ตัว อะ) ทุกเหรียญ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ แล้วนำไปถวายให้หลวงปู่ตื้อปลุกเสกเดี่ยว ซึ่งท่านตั้งใจว่าจะปลุกเสกตลอดไตรมาส ๓ เดือน แต่เมื่อปลุกเสกได้เพียงเดือนเศษ ท่านก็มรณภาพเสียก่อน เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ จึงนับได้ว่าเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายของท่าน และได้จัดพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันทำบุญครบรอบ ๑๐๐ วัน ของการมรณภาพของท่านที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่านั้น โดยมีครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานหลายรูปเมตตามาร่วมพุทธาภิเษกด้วย
วางศิลาฤกษ์
ต่อมาได้ประชุมพร้อมเพรียงกันทำบุญงานวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๐ ในงานนั้นได้กราบอาราธนานิมนต์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ วัดศรีเทพประดิษฐานราม, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ, พระเดชพระคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร และพระเถรานุเถระอื่นๆ อีกประมาณ ๔๐ รูป มาในงานนั้น ท่านผู้ที่วางศิลาฤกษ์นั้นก็ได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถรนั้นเอง
ธรรมคำสอนของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร
บันทึกจากความทรงจำโดยพระจันโทปมาจารย์
¬®cdcdcdcdc�dcdcdcdcd®¬
มนุษย์เราทุกคนย่อมหลงอยู่ในสมมติของโลกคือ สมมติให้เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ ภูเขา แผ่นฟ้า แผ่นดิน ทุกอย่างที่อยู่ในพื้นโลกนี้ ก็ถูกสมมติให้เป็นต่างๆ กันไป ตามคำสมมตินั้นๆ ส่วนมนุษย์เรานั้นมีส่วนประกอบพร้อมมูล คือสังขารทั้งหลาย ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ปรุงแต่งให้เป็นมนุษย์ คือคนเราทุกวันนี้ส่วนประกอบที่เห็นได้ชัดๆ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รวมประชุมกันอยู่เหมือนๆ กันหมด แต่แล้วก็สมมติว่า นี่เป็นผู้ชาย นี่เป็นผู้หญิง นี่เป็นบิดา นี่เป็นมารดา เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นพี่เป็นน้อง ปู่ย่า ตายาย แล้วแต่จะสมมติไปตามความประสงค์ที่จะให้เป็น
เหมือนกันกับการสมมติของคณะหมอลำหมู่ หรือคณะลิเก เล่นละครเมื่อเขาเล่นเขาก็สมมติกันไปตามเรื่อง คือสมมติให้เป็นพระเอกนางเอก เป็นเจ้า เป็นบ่าวไพร่ แล้วเขาก็แสดงไปตามเรื่องราวในแต่ละท้องเรื่องนั้นๆ ในท้องเรื่องนั้นก็จะมีทั้งบทรัก ความเศร้าโศกเสียใจ มีทั้งบทหัวเราะ รื่นเริง เพลิดเพลินเจริญใจ บางตอนก็พลัดพรากจากกัน แล้วก็คร่ำครวญร้องให้โศกเศร้าเสียใจ บางคราวมีการกระทบกระทั่งกัน จนถึงมีการฆ่าฟัน ล้มตายกันก็มี เรื่องทั้งหมดนั้นคละเคล้าทั้งส่วนที่สมหวัง ทั้งส่วนที่ผิดหวัง มีทุกรส พร้อมหมดทุกอย่าง เขาก็เล่นกันไปตามสมมติกันไปตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้ามาแล้วก็สมมติว่าจบเรื่อง สิ้นสุดการสมมติลงแค่นั้น ตัวสมมติทั้งหลายก็กลับเป็นจริง คือ นาย ก นาย ข นาย ค และนาง ง ตามเดิม ไม่ได้เป็นจริงตามคำสมมตินั้นเลย
แต่การสมมติของคนเรานี้ ได้ถูกสมมติกันทุกวัน ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย ซึ่งเป็นสมมติที่ยาวถึง ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี หรือยิ่งกว่านั้น ทั้งหมดนี้จึงเรียกว่าละครชีวิต ได้แสดงละครชีวิตนี้ไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบเข้า เป็นเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย คือจบลงด้วยการตาย สิ่งสมมติมาแล้วทั้งหมด ก็กลับกลายหาสภาพเดิม คือเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ และเป็นลม อันเป็นสภาพเดิมของโลกต่อไป หมดความเป็นชายเป็นหญิง เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นบิดา มารดา เป็นลูกหลานแค่นั้นเอง แต่นี้เราถูกสมมติให้เป็นไปตามสมมตินั้นๆ ไม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นจริงเพียงสมมตินั้น แต่ไม่จริงตามความเป็นจริงเลย จึงทำให้หลงผิด คิดผิด เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกสมมติให้เป็นนั้น หารู้ไม่ว่าความจริงนั้นไม่มีอะไรยั่งยืน ย่อมมีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง และมีความแตกสลายไปในที่สุด เป็นสัจธรรมคือความจริงตลอดไป เหมือนกันกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า และก็จะตกลับขอบฟ้าไป แม้จะมีผู้ใดปรารถนาจะไม่ให้พระอาทิตย์ตกไป แต่พระอาทิตย์ก็ไม่สนใจกับผู้ใด แม้จะข่มขู่ ด่าว่า กราบไหว้ วิงวอน ก็ไม่เป็นดังนึกได้เลย แต่เราก็ยังหลงผิด คิดว่าเป็นจริงตามสมมตินั้นว่านี่คือบิดา มารดาเรา จึงทำให้หลงรักใคร่พอใจ ยึดติดแน่นหนากับสิ่งที่เข้าใจผิดนั้นอย่างลึกซึ้ง ยากที่จะคลายความรักได้ จึงเป็นเหตุเกิดราคะ ความกำหนัดรักใคร่ โลภะ คือความปรารถนา อยากได้ อยากเป็นตามที่ตนปรารถนานั้น จึงทำให้หวงห่วงอาลัย อยากให้สิ่งที่ตนรักนั้นอยู่กับเรานานๆ ตลอดไป ไม่อยากให้พลัดพรากจากเราไป ไม่อยากให้มีอะไร หรือผู้ใดมาขัดขวางความรักความผูกพันกับสิ่งที่เราหวง ถ้าเกิดมีสิ่งใดหรือผู้ใดมาทำให้เราได้พลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราหลงนั้น สิ่งนั้นหรือผู้นั้นก็ต้องเป็นคู่อริกับเรา จึงเป็นเหตุให้เกิดไฟคือโทสะ ได้แก่ความโกรธ เผาลนจิตใจให้เร่าร้อน จนเกิดเป็นการทะเลาะวิวาท ผิดเถียงกันขึ้นไป เป็นบาป เป็นกรรม ตกนรกหมกไหม้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะความหลงผิดติดมั่นในสมมตินั่นเอง
ทางที่ควรปฏิบัติคือ ให้พิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญาให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง แล้วอย่าหลงยึดติดในสมมติที่เราเป็น ให้ถือว่าเป็น โลกธรรม คือธรรมประจำโลก มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ ยักย้าย ถ่ายเท แปรผันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขความทุกข์ที่ยั่งยืนตลอดไป ย่อมสมมติว่าเป็นสุข สมมติว่าเป็นทุกข์ สับสนวนเวียนอยู่เสมอไป ไม่แน่นอน ควรสังวรระวัง ทำให้ใจเป็นกลาง คืออย่ายินดีเกินไปในเมื่อประสบกับสิ่งที่รักใคร่พอใจ อย่ายินร้ายในเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ควรรีบตักตวงประโยชน์ในขณะที่เราเป็น คือเป็นลูกที่ดีของบิดา มารดา เป็นมารดา บิดาที่ดีของลูก เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นอาจารย์ที่ดีของศิษยานุศิษย์ เป็นข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ในทางใดๆ แล้วให้เป็นคนดี เป็นคนที่สังคมต้องการในการงานและหน้าที่นั้นๆ พึงสังวรระวังอย่าทำกรรมอันเป็นบาปอกุศล ทุจริต มิจฉาชีพ อย่าทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม อันจะเกิดผลให้ได้รับทุกข์โทษอันไม่พึงปรารถนาทั้งในชาตินี้และชาติหน้า แล้วถึงตั้งใจบำเพ็ญตนในทางดี คือรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิและปัญญา เพิ่มนิสัยปัจจัยคือความดี ให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้บรรลุซึ่งธรรมอันจะทำให้สิ้นสุดลงซึ่งสมมติบัญญัติทั้งหลาย ไม่ต้องมาเวียนว่าย ประสบสุข ประสบทุกข์ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีที่จะจบสิ้นลงได้ ขอให้เราได้พ้นจากแดนสมมติอันเต็มไปด้วยกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ขอให้รู้แจ้งตลอดซึ่งวิมุตติธรรมนั้น
“ให้พิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญา
ให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง
แล้วอย่าหลงยึดติดในสมมติที่เราเป็น”
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com
รูปภาพนำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net