พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ประวัติ วัดสุนันทวนาราม ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
(Venerable Ajahn Mitsuo Gavesako)
วัดสุนันทวนาราม
ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
อัตโนประวัติ
เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ท่านคือเอกอุพระกรรมฐานสายมหานิกาย ที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในหลายประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันหลวงพ่อชามีทายาทธรรมกว่า ๒๘๘ สาขาเป็นสักขีพยาน
จำเพาะวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง เพชรแท้แดนปลาดิบ “พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก” พระภิกษุชาวญี่ปุ่น เจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ยังทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมเป็นกิจวัตร ศิษย์ท่านไซร้มีทั้งคนไทยและคนต่างแดน
พระอาจารย์มิตซูโอะ มีนามเดิมว่า มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ (ญี่ปุ่น : 柴橋光男) เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ เมืองชิสุกุอิชิ จังหวัดอิวาเตะ (Iwate-ken Prefecture) ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นเมืองชนบทที่ถือเป็นทิเบตของญี่ปุ่น ท่านจบการศึกษาระดับไฮสคูล (ปวช. หรือ มศ. ๕) สาขาเคมี ณ จังหวัดโมริโอก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสำเร็จการศึกษา ท่านทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว จึงออกเดินทางสัญจรรอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยได้ท่องเที่ยวเพื่อศึกษาชีวิต สังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ในตะวันออกกลาง เช่น อินเดีย, เนปาล, อิหร่าน และในยุโรป เป็นเวลา ๒ ปีเศษ แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปแอฟริกา วกกลับสู่อินเดีย
พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อเดินทางถึงเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ท่านจ้องมองเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ก็ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และประจักษ์ขึ้นมาในใจว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหา สัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ทุกคนทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้” ท่านจึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก เข้าสู่การแสวงหาภายใน
จากนั้นท่านก็ได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียนั่นเอง และก็เริ่มมีประสบการณ์โยคะบ้าง ท่านเกิดความพอใจ คิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต แต่บังเอิญวีซ่าหมดอายุ มีคนแนะนำให้เดินทางมายังประเทศไทย ต่อมาก็มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชาตั้งแต่บัดนั้น
รูปภาพหลวงพ่อชา สุภัทโท ภายในวัดป่าสุนันทวนาราม
พระภาวนาวิเทศ (ท่านเขมธัมโม)
การบรรพชาและอุปสมบท
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะอายุ ๒๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ เดือนก็พยายามแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ทีแรกเพื่อนก็พาไปดูวัดที่ภาคใต้ ๓-๔ วัด เป็นวัดที่มีชาวต่างชาติไปปฏิบัติกัน แต่ท่านดูแล้วก็ยังไม่รู้สึกตกลงใจ หลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้ไปจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปหาหลวงพ่อชา ตอนนั้นก็มีพระชาวอินเดียที่พูดภาษาไทยได้พาไป นั่งรถทัวร์จากกกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วท่านก็ยืนงงๆ อยู่ว่าจะไปวัดหนองป่าพงได้อย่างไร
ณ วัดหนองป่าพง ท่านได้พบกับพระฝรั่งชื่อ ท่านเขมธัมโม ซึ่งก็เข้ามาช่วยแนะนำ เมื่อฉันจังหันเสร็จแล้วท่านสุเมโธและพระฝรั่งอีก ๔-๕ รูป ก็พาไปหาหลวงพ่อชาที่กุฏิ เมื่อบอกความประสงค์ที่จะมาขอปฏิบัติที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชาซักถามว่ามาจากไหน มายังไง แล้วก็ถามชื่อ พระอาจารย์มิตซูโอะ ตอบว่า ชื่อ “ชิบาฮาชิ” (ชื่อมิตซูโอะ แต่ธรรมเนียมญี่ปุ่นจะใช้นามสกุลเป็นชื่อแนะนำตัวเอง) หลวงพ่อชาท่านก็จำเทียบเคียงเป็นภาษาไทยว่า สี่บาทห้าสิบ นับจากวันนั้นหลวงพ่อชาก็เรียกพระอาจารย์มิตซูโอะสั้นๆ ว่า “สี่บาทห้า” มาตลอด
“คำสอนข้อแรกที่หลวงพ่อชาสอน คือ เราต้องอดทน”
ครั้นเมื่อได้พบกับหลวงพ่อชาแล้ว ท่านเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ขณะอายุได้ ๒๔ ปี โดยมี เจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง รูปปัจจุบัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระวิฑูรย์ จิตฺตสัลโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “คเวสโก” (อ่านว่า คะ-เว-สะ-โก) ซึ่งแปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง” (seeker) ถือได้ว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์รุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้ จึงเรียกว่าเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา
พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม)
พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ)
หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม-พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ลำดับการจำพรรษา
จากนั้นได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อชาตลอดระยะเวลา ๕ ปี แต่ในช่วงเข้าพรรษา ท่านได้จำพรรษาอยู่ตามวัดสาขาของหลวงพ่อชาภายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้คือ
พรรษาที่ ๑ ได้จำพรรษา ณ วัดหนองป่าพง บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ
พรรษาที่ ๒ ได้จำพรรษา ณ วัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ ซึ่งในขณะนั้นมีพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือพระราชสุเมธาจารย์) เป็นหัวหน้าคณะ
พรรษาที่ ๓ ได้จำพรรษา ณ วัดป่าสุภัทราวาส หรือวัดป่าสุภัทราราม บ้านคำชะอี ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ในปัจจุบัน
พรรษาที่ ๔ ได้จำพรรษา ณ วัดถ้ำแสงเพชร หรือวัดศาลาพันห้อง บ้านดงเจริญ ต.หนองมะแซว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ในปัจจุบัน
พรรษาที่ ๕ ได้จำพรรษา ณ วัดก่อนอก บ้านก่อนอก ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ
พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ เข้าห้องกรรมฐานเก็บอารมณ์ ณ วัดสังฆทาน (หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ) บ้านบางไผ่น้อย ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นเวลา ๒ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๕ ออกเดินธุดงค์และปฏิบัติธรรม ณ ประเทศอินเดีย
พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๘ ปฏิบัติธรรม ณ วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ พร้อมทั้งอุปัฏฐากรับใช้หลวงพ่อชาขณะท่านอาพาธ ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชา เป็นเวลา ๓ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๔ ปี หลังจากมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔
สัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา
ท่านเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง และได้อุปัฏฐากดูแลหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานด้วยความเคารพบูชาอย่างสูง รวมทั้ง ท่านอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย ซึ่งในขณะนั้นมี พระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือ พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) หรือท่านเจ้าคุณโรเบิร์ตเจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ) เป็นหัวหน้าคณะ
ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ในประเทศไทยนั้น ท่านบำเพ็ญเพียรมาหลายรูปแบบ และออกเดินธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร ในประเทศไทยท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการออกเดินธุดงค์เพื่อเที่ยวหาความสงบ สงัดวิเวกไปตามภาคต่างๆ ท่านได้รู้จักและเห็นความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งรู้สึกสำนึกในความศรัทธา ความเสียสละ และความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีส่วนทำให้ท่านยิ่งเร่งทำความเพียร เจริญสมณธรรมมากขึ้น
การที่พระอาจารย์มิตซูโอะได้มาประเทศไทย และได้บวชเป็นศิษย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่งของ เจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) นั้น เป็นเรื่องที่ “เป็นไปเอง” ตั้งแต่เด็กๆ ท่านคิดเสมอว่า “อะไรคือชีวิตที่น่าพอใจ...ชีวิตน่าจะมีอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านี้...”
หลวงพ่อชา สุภัทโท ขณะอาพาธ
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก อยู่ซ้ายมือสุดแถวนั่ง
หลวงพ่อชา สุภัทโท ขณะอาพาธ
หลวงพ่อชา สุภัทโท (ถือไม้เท้า) ถ่ายภาพกับคณะศิษย์
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก อยู่ซ้ายมือสุดแถวที่สอง
การออกเดินธุดงค์ในประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พระอาจารย์มิตซูโอะ พร้อมลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่งชื่อ พระญาณรโต ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะ ถึง PEACE MEMORIAL PARK เมืองฮิโรชิมา การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด ๗๒ วัน เป็นการเดินทางด้วยเท้ากว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร
ตลอดทางได้โปรดศรัทธาญาติโยมทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นไปด้วย โทรทัศน์ของญี่ปุ่นติดตามถ่ายภาพทำสารคดีออกอากาศ เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้อย่างดี รวมการเดินทั้งหมดประมาณ ๒ ล้าน ๒ แสนก้าว หลังจากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษา ณ วัด SHINAGAWA-JI ในกรุงโตเกียว
การเดินธุดงค์ครั้งนี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ และพระญาณรโต ตั้งใจเดินเพื่อเป็นการระลึกถึงสันติภาพของโลก และตลอดการเดินธุดงค์นั้นท่านยังคงเคร่งครัดต่อพระวินัยโดยไม่มีการยืดหยุ่น คือการไม่ถือเงิน และการฉันมื้อเดียวด้วยการอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตหรืออาหารที่มีผู้จัดถวาย นอกจากนั้นพระภิกษุทั้ง ๒ รูป ยังได้สมาทานการเดินธุดงค์โดยไม่มีการนั่งรถ นับตั้งแต่สนามบินนาริตะจนถึงเมืองฮิโรชิมา
ดังนั้นระหว่างการเดินทาง ท่านได้ประสบและพบเห็นกับสิ่งต่างๆ มากมาย ที่ทำให้ท่านหวนระลึกได้ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลกได้ ก็ต่อเมื่อชาวโลกทั้งหลายละความเห็นแก่ตัว โดยการให้ทาน ๑๐ ประการเป็น “ทานจักร” แล้วสังคมของเรา โลกของเรา ก็จะมีแต่ความสงบสุขและความร่มเย็นโดยไม่ต้องสงสัย
ในประเทศญี่ปุ่น เด็กๆ และเยาวชนได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และด้วยความปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยมีโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่นบ้าง พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงได้ปรารภปัญหาดังกล่าวรวมทั้งความประสงค์ในการสงเคราะห์เด็กๆ ของไทยแก่ญาติโยมชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็ยินดีสนับสนุนในการจัดหาทุนเพื่อโครงการนี้กันอย่างเต็มที่ โดยเริ่มแรกได้ถวายทุนมาเป็นจำนวนเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท
มูลนิธิมายา โคตมี
จัดตั้งมูลนิธิมายา โคตมี
ดังนั้น ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะ ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทย ท่านจึงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความดำริของท่านและการสนับสนุนจากสาธุชนชาวญี่ปุ่นให้ศรัทธาญาติโยมชาวไทย อาทิเช่น คุณสิริลักษณ์ รัตนากร, คุณวิชา มหาคุณ, คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และคุณดารณี บุญช่วย ฟัง ท่านทั้ง ๔ เห็นดีและสนับสนุนในกุศลเจตนาของพระอาจารย์ และมีความเห็นว่าน่าจะได้ดำเนินการในรูปของมูลนิธิ
ในที่สุดด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และผู้ช่วยคือ คุณสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จึงได้เริ่มจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิจนแล้วเสร็จเป็น มูลนิธิมายา โคตมี ในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีคุณมนูญ เตียนโพธิ์ทอง อนุเคราะห์สถานที่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ
ชื่อของ มูลนิธิ “มายา โคตมี” นั้น มาจากพระนามของ พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา และ พระนางปชาบดีโคตมี พระน้านาง ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์ ที่ได้ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะจนเติบใหญ่ กระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและคุณประโยชน์อันหาค่ามิได้แก่ชาวโลก ตราบเท่าทุกวันนี้
สำหรับตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธินั้น เนื่องจากมูลนิธิมายา โคตมี เป็นองค์กรการกุศลที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาและด้านจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลน-ด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบท พระอาจารย์มิตซูโอะ ท่านจึงพิจารณาเห็นสมควรที่จะอัญเชิญ พระรูปของพระพุทธองค์ปางประสูติ ประทับยืนบนดอกบัว เบื้องหน้าของวงล้อแห่งทานจักร ๑๐ ประการ โดยล้อมรอบด้วยวงกลม ๒ ชั้น ซึ่งภายในวงกลมด้านบนมีชื่อภาษาไทยว่า “มูลนิธิมายา โคตมี” ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “MAYA GOTAMI FOUNDATION” มาเป็นตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธิ
ทั้งนี้ เพื่อให้ตราสัญญลักษณ์เป็นนิมิตหมายว่า การที่เราทั้งหลายร่วมมือร่วมใจกันหมุนทานจักร ๑๐ ประการนี้ จะยังผลให้เด็กและเยาวชนในความอุปการะของมูลนิธิฯ ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมบ่มนิสัยให้มีความรู้ ความเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทงดงาม มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เฉกเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ฉะนั้น
ทานจักร ๑๐ ประการ ประกอบด้วย
๑) ให้ทานด้วย ทรัพย์สินเงินทอง
๒) ให้ทานด้วย สายตาที่เมตตาปรานี
๓) ให้ทานด้วย ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
๔) ให้ทานด้วย วาจาที่ไพเราะน่าฟัง
๕) ให้ทานด้วย แรงกายโดยการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
๖) ให้ทานด้วย ใจ โดยยินดีอนุโมทนาเมื่อผู้อื่นทำความดี และเมื่อเขาได้ดี
๗) ให้ทานด้วย การให้อาสนะและที่นั่ง
๘) ให้ทานด้วย การให้ที่พักอันสะดวกสบาย
๙) ให้ทานด้วย การให้อภัย หรืออภัยทาน
๑๐) ให้ทานด้วย ธรรมะ
ผู้เริ่มก่อการและกรรมการมูลนิธิ
นางสิริลักษณ์ รัตนากร ประธานกรรมการ
นายวิชา มหาคุณ รองประธานกรรมการ
นางสาวดารณี บุญช่วย กรรมการและเหรัญญิก
นายสุขสันต์ จิรจริยาเวช กรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการมูลนิธิมายา โคตมี
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์
พลโทหญิงภัทราวรรณ ตระกูลทอง ประธานมูลนิธิ
รองประธาน
คุณศิริศักดิ์ ถิรวัฒนางกูร
คุณสุจิตรา หิรัญพฤกษ์
กรรมการ
คุณเกียรติ วิมลเฉลา
คุณกิตินันท์ อนุพันธ์
คุณจิราพร ทรัพย์ชูงาม
คุณณิชมน เรืองฤทธิ์ราวี
คุณนิศากร วนาพงษ์
คุณพาสินี ถิระธรรม
คุณมยุรี ไตรรัตโนภาส
คุณอดุลย์ ฉันตระกูลโชติ
คุณอุษณีย์ เลิศรุ่งวิเชียร
กรรมการและเหรัญญิก
คุณดารณี บุญช่วย
กรรมการและเลขานุการ
คุณกิ่งแก้ว วิไลวัลย์
ปัจจุบัน มูลนิธิมายา โคตมี ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓ ถ.กรุงเทพกรีฑา ๒๐ แยก ๗ แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐ โทรศัพท์ ๐๒-๓๖๘-๓๙๙๑ Website : http://www.mayagotami.org/ E-mail Address :mayagotami@gmail.com (ที่ทำการเดียวกันกับมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)
ศิลปะทอผ้าซาโอริ
ครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ “มูลนิธิมายา โคตมี” ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย ศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดพังงา โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ราษฎรผู้ประสบภัยประมาณ ๓๐๐ ครอบครัวในหมู่บ้านต่างๆ สามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ไปพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินไปด้วยดี มีราษฎรผู้ประสบภัยสนใจเข้าร่วมโครงการอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งสามารถพัฒนาทักษะและคุณภาพในการผลิตงาน มีฝีมือการผ้าทอซาโอริดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์จากผ้าทอซาโอริออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการดังกล่าวให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อช่วยให้ราษฎรผู้ประสบภัยมีรายได้เลี้ยงตนเองและจุนเจือครอบครัว ทางมูลนิธิฯ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องของเรา ด้วยวิธีการดังนี้
* ช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ผ้าทอซาโอริ
* ร่วมเป็นอาสาสมัครประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์
* ร่วมสมทบทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องทอผ้า
จักรเย็บผ้า และค่าใช้จ่ายในการขยายงานของวัดสุนันทวนาราม
ศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ เป็นการทอผ้ารูปแบบใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่สะท้อนให้เห็นแนวคิด “ความเป็นอิสระ” เพราะผู้ทอทุกคนสามารถเป็นศิลปินที่มีเสรีในการแสดงออกได้อย่างแท้จริง ตาม บุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล โดยไม่จำกัดเพศและการศึกษา การทอผ้าซาโอริจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับทุกคน แม้กระทั่งผู้พิการที่บกพร่องทางด้านสติปัญญาก็สามารถสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยจินตนาการออกมาจากใจอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบใดๆ ด้วยปรัชญาของการทอผ้าซาโอริ จากการที่ผู้ทอสามารถสร้างงานศิลปะได้อย่างอิสระ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผ้าทอซาโอริมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร
นอกจากนี้ การช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ซาโอริของมูลนิธิมายา โคตมี ยังเป็นการให้กำลังใจและสร้างงานและรายได้ รวมถึงโอกาสทางด้านอาชีพแก่พี่น้องผู้ประสบภัย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป หากท่านกำลังมองหาของที่ระลึกเพื่อแจกแก่ญาติมิตรในวาระสำคัญต่างๆ หรือกำลังมองหาของขวัญปีใหม่ โปรดให้ “ผลิตภัณฑ์ซาโอริ” ได้เป็น “สื่อแทนน้ำใจ” ของท่านที่มอบให้แก่ญาติมิตรและพี่น้องชาวใต้ในโอกาสเดียวกันด้วย
อุโบสถ วัดสุนันทวนาราม
พระประธานในอุโบสถ
สร้างวัดสุนันทวนาราม
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ นางสุนันท์ บุษสาย คหบดีชาวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่และครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากภายในจังหวัดกาญจนบุรี มีความศรัทธาในปฏิปทาและข้อวัตรอันเคร่งครัดของพระธุดงค์สายวัดป่า (สายหลวงพ่อชา สุภัทโท) ผู้ซึ่งเดินธุดงค์รอนแรมอยู่ในป่าเขาบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี
จึงได้ถวายที่ดินประมาณ ๕๐๐ ไร่ ซึ่งหมดสภาพป่า และทำไร่อ้อยมาประมาณ ๒๐ ปี ณ บริเวณบ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อจัดตั้งวัด ทั้งนี้ เพื่อพระสงฆ์จะได้มีเสนาสนะ และชาวบ้านจะได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์สายวัดป่า อีกทั้ง เมื่อมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าไปพำนักจำพรรษาอยู่ จะสามารถยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ในบริเวณดังกล่าวได้อีกด้วย
พระอาจารย์มิตซูโอะ ผู้ได้บวชบำเพ็ญเพียรมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ออกเดินธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร และเป็นผู้ซึ่งอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวัด ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “วัดป่าสุนันทวนาราม” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ด้วยเจตนารมณ์ในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในละแวกนั้นและละแวกใกล้เคียง ตลอดจน เพื่อให้ราษฎรรู้จักหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดป่าให้เป็นวัดป่าอย่างแท้จริง
ด้วยข้อวัตรอันเคร่งครัดและเรียบง่ายของความเป็นพระป่าของพระอาจารย์มิตซูโอะ ทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก
การสถาปนาวัดสุนันทวนารามบนพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสถาบันวัดได้เข้าไปเป็นอุปสรรคต่อการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ ด้วยความเพียรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของคณะผู้บุกเบิกนำโดยพระอาจารย์มิตซูโอะ จึงสามารถพัฒนาพื้นดินซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมด้วยการทำไร่อ้อย จนกระทั่งเป็นพื้นที่ซึ่งเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ มีเสนาสนะอันสมควรแก่วัด ได้แก่ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงฉัน และที่พักสำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตามสมควร เป็นต้น
เนื่องจากพี้นที่ก่อตั้งวัดสุนันทวนารามอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่แปลงที่ ๑ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๘๐๒ (พ.ศ. ๒๕๒๑) และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ สำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนารามจึงขอเข้าร่วมโครงการของกรมป่าไม้ภายใต้ชื่อ “พระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา
พ.ศ. ๒๕๔๕ กองทัพบกได้ถวายที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งติดต่อกับเขตวัดสุนันทวนารามจำนวน ๑๒ ไร่ ให้ใช้เพื่อสร้างวัดได้ และได้ประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อ “วัดสุนันทวนาราม” เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และแต่งตั้งพระมิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นองค์ประธานประกอบพิธีผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตอุโบสถตามประเพณี ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และทรงปลูกต้นสาละเป็นที่ระลึก ณ สวนสาละ บริเวณทางเข้าวัด
วัดสุนันทวนาราม จึงได้สถาปนาเป็นวัดโดยสมบูรณ์แต่นั้นมา และดำรงสถานภาพเป็นวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันวัดมีพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ภูเขาสำคัญ คือ เขารูงู ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงประมาณ ๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล และเขาเหมาะบาง สูงประมาณ ๒๐๐ เมตร
ทั้งนี้ วัดสุนันทวนาราม ประกอบไปด้วยพื้นที่ซึ่งมีสถานะแตกต่างกัน ๓ สถานะ คือ
(๑) ป่าสงวนแห่งชาติ
(๒) อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์
(๓) จังหวัดทหารบกกาญจนบุรี
ศูนย์เยาวชน วัดสุนันทวนาราม
บรรยากาศการปฏิบัติธรรมภายในศูนย์เยาวชน วัดสุนันทวนาราม
รูปหินสลักพระญี่ปุ่นภายในวัดสุนันทวนาราม
จัดตั้งมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ความเป็นมา
มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นองค์กรการกุศลที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างสรรค์ชุมชนของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ระหว่างชาวบ้าน สัตว์ป่า และธรรมชาติ โดยการใช้ธรรมะเป็นแนวทางแห่งการพัฒนา เบื้องต้นกำหนดพื้นที่เป้าหมายในเขตชุมชนรอบวัดสุนันทวนาราม
นับแต่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้มาบุกเบิกก่อตั้งสำนักสงฆ์ในพื้นที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พระอาจารย์ท่านพบว่าป่ารอบๆ บริเวณวัดยังมีสัตว์ป่าชุกชุมอยู่พอสมควร กล่าวคือ บ่ายวันหนึ่งขณะที่ท่านนั่งพักฉันน้ำปานะอยู่บนศาลาเล็กๆ ที่พักสงฆ์ชั่วคราวเชิงเขา กับพระสงฆ์ชาวต่างชาติอีกสองรูปที่อยู่จำพรรษาด้วยกันในขณะนั้น ปรากฏว่ามีกวางใหญ่ตัวหนึ่งเดินผ่านศาลาเข้ามาและเล็มหญ้าอยู่ใกล้ๆ ขณะนั้นเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา ของวันอาสาฬหบูชาในปีนั้น และในเวลาต่อมาก็ได้พบว่า มีทั้งเก้ง กวาง และเลียงผา มาหากินอยู่บริเวณศาลาอยู่เนื่องๆ พื้นที่ภายในเขต วัดสุนันทวนาราม จึงได้รับการพัฒนาปรับปรุงเป็นป่าสมบูรณ์ขึ้น จากสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม และสามารถป้องกันปัญหาไฟป่าได้ดี แต่พระอาจารย์สังเกตุเห็นว่าบริเวณรอบนอกวัด แม้ว่าป่ามีสภาพสมบูรณ์มากขึ้น แต่การล่าสัตว์ป่ากลับมีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สัตว์ป่าลดน้อยลง
ดังนั้น ในขณะที่พระอาจารย์ได้ปฏิบัติภารกิจด้านการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม พร้อมๆ กับการพัฒนาและแก้ปัญหาภายในวัดไปด้วยนั้น พระอาจารย์ก็ได้แต่คิดคำนึงตลอดมาว่า การทำเรื่องการพัฒนาที่จะประสบผลสำเร็จได้จริงนั้น ควรต้องสร้างโลกที่สมบูรณ์ให้ได้ กล่าวคือ ต้องดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่า ดิน น้ำ และสัตว์ป่า ให้อุดมสมบูรณ์ พัฒนาคนในชนบทให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยอาศัยธรรมะ แนวความคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิ ที่คณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันใช้ชื่อมูลนิธิว่า พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น ภาพต้นไม้ สัตว์ คน และพระ ที่แสดงถึง วัตถุประสงค์สำคัญของมูลนิธิ ดังนี้
ต้นไม้ : สภาพทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่า เขา ต้นไม้ ดิน และน้ำที่อุดมสมบูรณ์
สัตว์ : สัตว์ป่าทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่าอย่างมีความสุขและมีความปลอดภัย
คน : คนในชุมชนมีธรรมะพัฒนาตนเองในการดูแลสัตว์ป่า
ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข
พระ : การอบรมสั่งสอนธรรมะที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน
ในชุมชนให้มีสัมมาชีพ ดำรงตนอยู่ในมนุษยธรรม
สัญลักษณ์ทั้งสี่ของมูลนิธิจึงเป็น มรรคสมังคี ที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิต และทุกอย่างมีความสุข โลกนี้ก็จะเป็นโลกสมบูรณ์
วัตถุประสงค์
(๑) ส่งเสริมการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๒) พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและชุมชน
เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
(๓) ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ
(๔) ร่วมมือกับรัฐบาล หน่วยงานราชการ องค์กรชมชน
และองค์กรการกุศลอื่นๆ ในประเทศที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน
(๕) ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างไร
โครงการและกิจกรรม
“อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา”
โครงการเขตอภัยทาน อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่ริเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลสมัยทรงมีพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า พรรณพืช เพื่อความสันติสุขอย่างยั่งยืนภายในเขตปฏิบัติธรรมและชุมชนโดยรอบ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนและชุมชน โดยอาศัยหลักธรรมะนำทาง โดยตั้งเป้าหมายคือ ประกาศให้พื้นที่ป่า ๖,๕๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในและพื้นที่ชายป่ารอบวัดสุนันทวนารามเป็นเขตอภัยทาน เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าผืนใหญ่ โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ และชุมชนรอบวัดสุนันทวนาราม ซึ่งสามารถจำแนกขอบข่ายการทำงานได้ดังนี้
(๑) เขตอภัยทาน
* สำรวจจัดทำข้อมูลทรัพยากรและข้อมูลพื้นฐานชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดการพื้นที่ป่า นำไปสู่การสร้างกติกาการใช้ประโยชน์และการอยู่ร่วมกัน โดยมีชุมชนเป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าเตียน ชุมชนบ้านหนองบาง ชุมชนบ้านท่าทุ่งนา และชุมชนบ้านแม่น้ำน้อย
* ฟื้นฟูสภาพป่าและอนุรักษ์สัตว์ป่าภายในพื้นที่ ๖,๕๐๐ ไร่ ของเขตอภัยทานวัดสุนันทวนารามและพื้นที่โดยรอบ
(๒) สนับสนุนเครือข่ายพิทักษ์ป่า
* เสริมประสิทธิภาพการทำงานเครือข่ายพิทักษ์ป่า โดยการสนับสนุนเสบียง ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เปล มุ้ง วิทยุสื่อสาร ฯลฯ
* อุทยานการศึกษา
* เผยแผ่ข้อมูลความรู้สู่ชีวิตพอเพียงวิถีพุทธ โดยหลักกสิกรรมธรรมชาติ ได้แก่ สวนสมุนไพรพื้นบ้าน สวนกล้วย สวนไผ่ สวนป่า ๗๖ จังหวัด แปลงไม้มงคล สวนไม้หอม ฯลฯ
* จัดกิจกรรมปลูกป่าสร้างเครือข่ายจิตอาสา “เด็ก วัด ป่า”, ค่ายผู้นำเยาวชน “เด็ก วัด ป่า” และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรูปแบบต่างๆ
“สนับสนุนเครือข่ายพิทักษ์ป่า”
โครงการสนับสนุนเครือข่ายพิทักษ์ป่า ได้สนับสนุนด้านเสบียง ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ เช่น เปล มุ้ง วิทยุสื่อสาร ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่ป่าแก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครพิทักษ์ป่า
“เด็ก วัด ป่า”
โครงการ “เด็ก วัด ป่า” คือ นิยามของผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้อาศัยหรือเคยอยู่อาศัยในวัดป่า ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ รับใช้ครูบาอาจารย์ ได้รับการอบรมจากพระสงฆ์ สามารถน้อมนำหลักธรรมคำสอนมาพัฒนาตนเอง ใช้ชีวิตด้วยสติปัญญา เป็นแบบอย่างชีวิตพอเพียงวิถีพุทธ มีจิตอาสาที่จะร่วมเป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาสังคม
เด็ก : คือสัญลักษณ์ของการพัฒนาและการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ
วัด : คือสถานที่สงบสุขและสันติ เป็นอารามพักอาศัยของพระสงฆ์
ป่า : คือสัญลักษณ์ของธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่เกิดอันอุดมของมวลสรรพสิ่ง
พ่อแม่ครูอาจารย์ได้อาศัยความสงบสงัดของป่า เจริญภาวนาพัฒนาตน
จนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งบนโลกนี้
“เด็ก วัด (ป่า)” คือผู้ที่ได้อาศัยอยู่ในอาราม ภายใต้การดูแลและอบรมขัดเกลาแห่งสงฆ์ อาศัยอาหารจากบิณฑบาต มีหน้าที่พัฒนาตนเองและดูแลรับใช้ครูบาอาจารย์
“(เด็ก) วัด ป่า” คืออารามท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา เป็นที่พักพิงของพระเพื่อหลีกเร้นฝึกปฏิบัติตน เจริญภาวนา มีวิถีปฏิบัติเรียบง่ายดีงามตามพระวินัยสืบทอดแบบอย่างจากครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด
หน้าที่ของ “เด็ก วัด ป่า” (DEK WAT PAH) คือการมีหน้าที่ต่อตนเอง พ่อแม่ครูอาจารย์ และธรรมชาติ
* พัฒนาฝึกฝนตนเองให้มีหลักใจ คือศีล ๕ เป็นเครื่องรักษาตนและน้อมนำหลักธรรมของพระอาจารย์ “อดได้ ทนได้ รอได้ ด้วยใจดี” เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
* อาสารับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ดูแลรักษาป่าและสรรพสิ่งทั้งผองของธรรมชาติ ทั้งภายในเขตอภัยทานวัดสุนันทวนาราม และบนโลกนี้ให้คงความสมบูรณ์ สงบ สะอาด งดงาม
* ใช้ชีวิตด้วยสติปัญญา เป็นแบบอย่างชีวิตพอเพียงวิถีพุทธ และช่วยกันเผยแผ่วิถีชีวิต “เด็ก วัด ป่า” เป็นพลังเครือข่ายพัฒนาตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ ร่วมสร้างวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามเพื่อเป็นต้นแบบ “เด็ก วัด ป่า” ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้เลิศคุณ
ปัจจุบัน มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓ ถ.กรุงเทพกรีฑา ๒๐ แยก ๗ แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐ โทรศัพท์ ๐๒-๓๖๘-๓๙๙๑ Website : http://www.praajahn-mitsuo.org/ E-mail Address : pamgfoundation@gmail.com (ที่ทำการเดียวกันกับมูลนิธิมูลนิธิมายา โคตมี)
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้จัด อบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบ “อานาปานสติ” ที่วัดป่าสุนันทวนาราม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙-๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รวม ๙ วัน และได้มีการจัดอบรมเป็นระยะๆ ตั้งแต่นั้นมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เมื่อวัดป่าสุนันทวนารามจัดตั้งเป็นวัดสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป โดยจัด อบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบ “อานาปานสติ” แก่พุทธศาสนิกชน ปีละ ๖ ครั้งๆ ละ ๘-๙ วัน รวมไม่ต่ำกว่า ๓๗ ครั้ง อีกทั้ง ยังรับเป็นวิทยากรจัดฝึกอบรมตามคำขอของทางราชการ ทั้งข้าราชการตำรวจ ทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครอง คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจน คณะศรัทธาญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตามโครงการธรรมศึกษาสัญจรวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน ปีละประมาณ ๕,๐๐๐ คน
สำหรับผลงานด้าน “หนังสือธรรมะ” พระอาจารย์มิตซูโอะท่านได้เขียนหนังสือธรรมะออกเผยแผ่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า ๕๐ เล่ม โดยเนื้อหาของหนังสือใช้ภาษาอ่านเข้าใจง่าย ขนาดรูปเล่มเล็กกะทัดรัด และทันสมัยเข้ากับสาธุชนคนทุกเพศทุกวัย อาทิเช่น
พ.ศ. ๒๕๓๔ ธรรมไหลไปสู่ธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๕ พลิกนิดเดียว
พ.ศ. ๒๕๓๖ ทุกข์เพราะคิดผิด
พ.ศ. ๒๕๓๗ ทุกขเวทนา
พ.ศ. ๒๕๓๗ จับลมบ่อยๆ
พ.ศ. ๒๕๓๘ ผิดก่อน-ผิดมาก
พ.ศ. ๒๕๔๐ สอนคนขี้บ่น
พ.ศ. ๒๕๔๑ ปัญหา ๑๐๘ (๑)
พ.ศ. ๒๕๔๑ อานาปานสติ: วิถีแห่งความสุข เล่ม ๑-๓
พ.ศ. ๒๕๔๒ ปีกระต่ายขอจงสวัสดี (ฉบับปีเถาะ)
พ.ศ. ๒๕๔๓ ปีมะโรงขอจงมีความสุข (ฉบับปีมะโรง)
พ.ศ. ๒๕๔๓ ความสุขสูงสุด (ฉบับปีมะเส็ง)
พ.ศ. ๒๕๔๔ ปัญหา ๑๐๘ (๒)
พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำใจเป็นธรรม (ฉบับปีมะเมีย)
พ.ศ. ๒๕๔๕ ปัญหา ๑๐๘ (๓)
พ.ศ. ๒๕๔๕ คู่มือเบื้องต้น อานาปนสติ (ชั่วโมงแห่งความคิดดี)
พ.ศ. ๒๕๔๕ เหตุสมควรโกรธ...ไม่มีในโลก (ฉบับปีมะแม)
พ.ศ. ๒๕๔๖ สาระแห่งชีวิต คือ รักและเมตตา
พ.ศ. ๒๕๔๗ สติเป็นธรรมเอก
พ.ศ. ๒๕๔๗ สันโดษ...เคล็ดลับของความสุข
พ.ศ. ๒๕๔๘ มีขันติ คือให้พรแก่ตัวเอง (ฉบับปีจอ)
พ.ศ. ๒๕๔๙ ปัญหา ๑๐๘ (๔)
พ.ศ. ๒๕๔๙ เราเกิดมาทำไม
พ.ศ. ๒๕๕๐ ชนะใคร...ไม่เท่าชนะใจตน (ฉบับปีชวด)
พ.ศ. ๒๕๕๑ ปัญหา ๑๐๘ (๕)
พ.ศ. ๒๕๕๑ โชคดี (ฉบับปีฉลู)
The Seven Practices for a Healthy Mind, คนไทยใจดี, เรื่องของ “ใจ”, วัคซีนธรรมะ, กล่องแห่งสติปัญญา และ A Fragrance of Dhamma เป็นต้น ปัจจุบันมียอดพิมพ์รวมแล้วมากกว่า ๑๐ ล้านเล่ม
นอกจากนี้แล้ว ยังมี “เทป-ซีดี-วีซีดี” รวบรวมธรรมบรรยายและแนวทางการปฏิบัติธรรม จำนวนมากมายหลายชุด ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจนมี การเผยแผ่ธรรมทางอินเตอร์เน็ต ทั้งหมด ๓ เว็บไซต์ คือ เว็บไซต์วัดป่าสุนันทวนาราม http://www.watpahsunan.org/ , มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกhttp://www.praajahn-mitsuo.org/ และมูลนิธิมายา โคตมี http://www.mayagotami.org/ อีกด้วย
“หนังสือธรรมะ” ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
งานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
งานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นหัวใจสำคัญ นับตั้งแต่เริ่มเข้าไปจัดตั้งวัดป่าสุนันทวนาราม ท่านได้มีบทบาทในการอนุรักษ์ป่าไม้ อาทิ ได้กำหนด “เขตอภัยทาน” ขึ้นภายในพื้นที่วัดและพื้นที่ต่อเนื่อง, เข้าร่วมโครงการของกรมป่าไม้ภายใต้ชื่อ “พระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” ตั้งแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา, ปลูกป่าและรักษาสภาพแวดล้อม พื้นที่กว่า ๕,๖๐๐ ไร่ มีต้นไม้เบญจพรรณ ๑๐๐,๐๐๐ ต้น และอื่นๆ อีกกว่า ๕๐,๐๐๐ ต้น ด้วยปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามและน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านและคณะสงฆ์ เป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดยั้งการทำลายป่า ส่วนการล่าสัตว์ได้บรรเทาลงอย่างมาก
พ.ศ. ๒๕๔๔ ร่วมมือกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จำนวนพื้นที่ ๒๐๐ ไร่
พ.ศ. ๒๕๔๕ ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปลูกป่าจำนวนพื้นที่ ๑๐๐ ไร่ แล้วนำพื้นที่ซึ่งปลูกป่านี้ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. ๒๕๔๗ เข้าร่วมในโครงการปลูกป่า ๑ ในจำนวน ๙ ป่า ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา โดยปลูกป่าต้นสาละ (ต้นสาละอินเดีย, Sal of India) อันเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ จำนวนพื้นที่ ๔๐ ไร่
นอกจากเป็นพระนักอนุรักษ์แล้ว พระอาจารย์มิตซูโอะท่านยังให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในโครงการชุมชนร่วมใจรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพชีวิต รักษาระบบนิเวศ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
งานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระอาจารย์มิตซูโอะ
นักเรียนนายร้อยตำรวจ เข้าอบรมปฏิบัติธรรม
งานส่งเสริมการศึกษา
ด้วยเมตตาธรรมและเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของเยาวชน ตลอดจนเพื่อตอบแทนบุญคุณชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้อุปัฏฐาก จึงก่อตั้งมูลนิธิมายา โคตมี ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จัดสรรทุนการศึกษาแก่เยาวชนด้อยโอกาสในชนบท เป็นทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องตั้งแต่มัธยมจนจบอุดมศึกษา ซึ่งได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาในปฏิปทาของท่านทั้งจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่น นับถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๑๓ ปีแล้ว ได้มอบทุนการศึกษาไปแล้วจำนวน ๓,๓๒๓ ทุน
กิจกรรมที่มูลนิธิมายา โคตมี ให้ความสำคัญ คือการอบรมจริยธรรม ตลอดจนอบรมความรู้เกี่ยวกับปัญหาร้ายแรงของสังคมปัจจุบัน คือปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียนรับทุนของมูลนิธิฯ ทุกปี ปีละประมาณ ๖-๗ วัน ถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้รับทุน
อีกทั้งสนับสนุนจักรยานเพื่อเป็นยานพาหนะไปโรงเรียนแก่เยาวชนด้อยโอกาส ในท้องถิ่นชนบทที่บ้านพักอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดกาญจนบุรี รวม ๑,๕๙๔ คัน ให้เงินสมทบเพื่อผลิตวัตถุดิบ เช่น ทุนในการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี ๔๖ โรงเรียน และจังหวัดกาญจนบุรี ๒ โรงเรียน
ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น จากโรงเรียนสำโรงวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี กับโรงเรียนอิชิโนเอะ และโรงเรียนไทรโยคมณี-กาญจน์วิทยา จ.กาญจนบุรี กับโรงเรียนโอโตเบะ ได้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างอาจารย์และนักเรียนเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ ความรู้จักคุ้นเคย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนของทั้งสองประเทศ
ชาวอุบลราชธานีได้อุปัฏฐากท่านและพระอาจารย์องค์อื่นๆ ด้วยใจศรัทธา ท่านพูดถึง ชาวบ้านบุ่งหวายและชาวบ้านก่อนอก ว่า “เหมือนเป็นพ่อแม่พี่น้องของอาตมา ได้อุปการะเลี้ยงดูอาตมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร”และนี่คือที่มาของมูลนิธิมายา โคตมี ที่ท่านริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อช่วยเหลือให้ทุนการศึกษา และจัดอบรมจริยธรรมให้เยาวชนด้อยโอกาสในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ ซึ่งการให้ทุนการศึกษาได้ขยายออกไปยังอีกหลายจังหวัดของประเทศไทยในเวลาต่อมา
ผลงานและเกียรติคุณดีเด่น
พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะกรรมการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติ ได้ถวายโล่เกียรติคุณเพื่อแสดงว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๗
พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ถวายโล่เชิดชูเกียรติคุณในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดกาญจนบุรี สาขามนุษยศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา เนื่องด้วยผลงานด้านการเผยแผ่ธรรม
พ.ศ. ๒๕๕๒ วัดสุนันทวนาราม ได้รับการคัดเลือกเป็นสำนักปฏิบัติธรรมดีเด่นประจำจังหวัด เฉลิมพระเกียรติ ๘๒ พรรษา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ จากสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๓ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ถวายโล่รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓
พ.ศ. ๒๕๕๓ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฏร ได้ถวายรางวัล “พุทธคุณูปการ” ครั้งที่ ๒ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓
จึงถือได้ว่า “พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก” เป็นเพชรแท้จากแดนปลาดิบ ศิษย์ธรรมสายหลวงพ่อชา สุภัทโท ผู้อุทิศถวายตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (Venerable Ajahn Mitsuo Gavesako)
ในภาพ...พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ท่านเมตตามาบรรยายธรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๓๐ น.
ณ รายการธรรมประทีป WBTV วัดยานนาวา (พระอารามหลวง)
นับว่าเป็นเทศน์กัณฑ์สุดท้ายของท่านก่อนจะลาสิกขา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ลาสิกขาแล้ว
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พระภิกษุชาวญี่ปุ่น พระนักเผยแผ่ธรรม พระนักปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐาน แบบ “อานาปานสติ” ชื่อดัง ทายาทธรรมรุ่นแรกของหลวงพ่อชา สุภัทโท ได้ลาสิกขา (สึกหรือลาออกจากความเป็นภิกษุ) แล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สิริอายุรวมได้ ๖๒ ปี ๑๑ วัน พรรษา ๓๘ หลังจากลาสิกขาแล้ว ท่านได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของท่าน และไม่มีกำหนดกลับ โดยท่านจะยังคงทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะของฆราวาสต่อไป
ทั้งนี้ พระสงฆ์ ลูกศิษย์ลูกหา และแม่ชีวัดสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี เบื้องต้นยืนยันว่าพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้ลาสิกขาไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน คลอเรสเตอรอลสูง ฯลฯ สุขภาพท่านไม่ค่อยแข็งแรงนัก ป่วยเป็นโรคเบาหวานมานานกว่า ๒ ปีแล้ว ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจสงฆ์ได้เป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีกิจนิมนต์ตลอดเกือบทุกวัน อีกทั้งท่านต้องการวางมือ อยากพักผ่อนเพราะต้องรักษาตัวอีกนาน จำเป็นต้องลาสิกขาจากการเป็นพระ ตลอดจนท่านตั้งใจจะกลับไปรักษาตัวและช่วยงานที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากท่านเคยพูดกับญาติโยมว่าท่านเป็นคนญี่ปุ่น หากมีโอกาสก็อยากจะกลับมาตุภูมิในบั้นปลายชีวิตเพื่อไปช่วยคนญี่ปุ่นบ้าง เพราะคนญี่ปุ่นขณะนี้ก็ยังมีคนที่ลำบากมากเช่นกัน
ก่อนหน้าที่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จะไปลาสิกขา ณ วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร และเดินทางกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ในวันเดียวกันนั้นเมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. ท่านเมตตามาบรรยายธรรมอบรมให้แก่ทนายความใหม่ ตามคำนิมนต์ของสภาทนายความ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แล้วต่อด้วยไปเทศน์โปรดชาว “Suankeaw.club” ของมหาวิทยาลัยศิลปากรและกัลยาณมิตร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และท้ายสุดเมื่อเวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๓๐ น. ท่านเมตตามาบรรยายธรรม ณ รายการธรรมประทีป WBTV สถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาฯ วัดยานนาวา (พระอารามหลวง) ซึ่งนับว่าเป็นเทศน์กัณฑ์สุดท้ายของท่านก่อนจะลาสิกขา
ต่อมาเมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น. ของวันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ พระอาจารย์หนูพรม สุขาโต รองเจ้าอาวาสและรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ได้มีหนังสือแถลงการณ์ เรื่อง การลาสิกขาของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เพื่อแจ้งให้คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้ทราบโดยทั่วกัน ความว่า
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ว่า พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ลาสิกขานั้น วัดสุนันทวนารามขอยืนยันว่าเป็นความจริง ขณะนี้ท่านเดินทางไปต่างประเทศแล้ว โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของท่าน โดยจะยังคงทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะของฆราวาสต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของมูลนิธิ และโครงการต่างๆ ที่ท่านได้ริเริ่มไว้ คณะทำงานจะยังคงดำเนินงานไปตามปกติ เนื่องจากพระอาจารย์ได้วางรากฐานไว้แข็งแรงแล้ว
ขอให้พวกเราทุกคนรักเมตตาต่อกัน และดำเนินงานประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน ดังความประสงค์ของพระอาจารย์ไว้ให้จงดี
จึงเรียนมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน
ลงชื่อ พระอาจารย์หนูพรม สุขาโต
รองเจ้าอาวาสและรักษาการแทนเจ้าอาวาส
นอกจากนี้ พระอาจารย์หนูพรม สุขาโต รองเจ้าอาวาสและรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ได้กล่าวหลังการหารือกับคณะกรรมการมูลนิธิมายา โคตมี กว่า ๒ ชั่วโมงว่า ตามที่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้ลาสิกขาไปนั้น เป็นความจริง ขณะนี้ท่านเดินทางกลับญี่ปุ่นไปแล้ว และท่านยังคงยืนยันจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะของฆราวาสต่อไป ทั้งนี้ ทางวัดทราบข่าวการลาสิกขาของท่าน เมื่อท่านเดินทางกลับถึงญี่ปุ่นแล้ว โดยท่านได้แจ้งมายังเพื่อนของท่านที่บวชอยู่ที่วัดป่านานาชาติ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ในส่วนของมูลนิธิมายา โคตมี และโครงการต่างๆ ที่ท่านได้ริเริ่มไว้ คณะทำงานก็จะยังคงดำเนินงานไปตามปกติ เนื่องจากท่านได้วางรากฐานไว้แข็งแรงแล้ว ส่วนสาเหตุที่ลาสิกขายังไม่แน่ชัดเพราะท่านไม่ได้แจ้ง การลาสิกขาของท่านทางวัดไม่ทราบว่าไปสึกที่ไหน และอาการป่วยของท่านก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งเพราะท่านเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ฯลฯ ช่วงเวลา ๒-๓ ปีมานี้ พระอาจารย์มีกิจนิมนต์ต้องเดินทางไปเทศน์ตามต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ทั้งที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ในทุกเดือนต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในมูลนิธิ หรือเรื่องเงินของมูลนิธิกับเงินของวัดแต่อย่างใด และการที่ท่านจะกลับมาหรือไม่ก็ไม่มีใครจะทราบได้ อย่างไรก็ตาม ทางวัดและมูลนิธิก็จะขอยืนยันเจตนารมณ์เดิมในการที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของท่านต่อไป
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี พระชื่อดัง ลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อชา สุภัทโท ลาสิกขาว่า หลังทราบข่าวตนรู้สึกงงๆ และตกใจมาก เนื่องจากท่านมิตซูโอะได้บรรพชามานานหลายสิบปี ทำคุณประโยชน์ด้านพระพุทธศาสนามากมาย โดยเฉพาะการสอนและเผยแผ่การปฏิบัติธรรมที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย มีการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสอนให้ทั้งชาวพุทธที่เป็นคนไทยและต่างชาติ และเดินทางไปเผยแผ่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติธรรม ทำการกุศลต่อสาธารณะนำสิ่งของที่ได้รับการถวายมาไปบริจาคช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้
“พอทราบข่าวว่าท่านสึก ก็ไม่อยากเชื่อ ช็อกไปเลย เพราะไม่คิดว่าท่านมิตซูโอะจะสึก แต่คนจะคลอดลูก พระจะสึก ห้ามกันไม่ได้ ถือเป็นเรื่องของความพอใจของท่าน ท่านน่าจะคิดทำดีที่สุดแล้ว ส่วนเหตุผลของการสึกครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัว ที่เรามิอาจจะทราบได้ เพราะที่ผ่านมาท่านไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสีย หรือมีปัญหา มีความขัดแย้งเรื่องใดๆ ท่านทำดีมาโดยตลอด เมื่อท่านสึกออกไปก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ท่านได้สร้างแนวทางปฏิบัติไว้จะมีลูกศิษย์สืบทอดต่อไป สำหรับกระแสข่าวว่าพระมิตซูโอะสึกที่วัดชนะสงครามนั้น บอกตรงๆ ผมไม่ทราบว่าท่านสึกที่ไหนจริงๆ”
ล่าสุด แม่ชีพิณพรรณ เนียมมุณี แม่ชีที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุนันทวนารามนานกว่า ๘ ปี เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ของวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ อาจารย์ลัดดา สุวรรณกุล อายุ ๗๑ ปี ข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร จิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิภายในวัด ได้รับสายโทรศัพท์จากอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่โทรศัพท์ทางไกลมาจากประเทศญี่ปุ่น และแจ้งให้ทราบว่า อาจารย์ท่านได้สอบถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของทุกคนในวัดด้วยความห่วงใย และฝากให้ทุกคนในวัดช่วยดูแลทำนุบำรุงวัดและขอให้ช่วยสานต่อโครงการต่างๆ ที่ท่านได้ดำเนินการไว้เพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป
เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิด ท่านก็ได้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิมายา โคตมี ที่เคยให้ความช่วยเหลือท่านอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้วว่า ท่านจะไปช่วยในโครงการที่มูลนิธิฯ ดำเนินการที่ญี่ปุ่น เหมือนอย่างที่ปฏิบัติในเมืองไทย แต่ไปในฐานะของฆราวาส โดยเห็นพร้องต้องกันว่า มูลนิธิฯ จะมีกำหนดการเปิดคอร์สอบรมฝึกกรรมฐานให้แก่คนญี่ปุ่นและคนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่นขึ้น ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ รวม ๓ วัน โดยกำหนดการฝึกอบรมกรรมฐานในวันที่ ๒๑ กันยายน ที่เมืองคุมาโมโตะ, วันที่ ๒๒ กันยายน ที่เมืองโอกินาวา และวันที่ ๒๓ กันยายน ที่เมืองนาโกยา ซึ่งในระยะเวลาทั้ง ๓ วันที่ทำการฝึกอบรมกรรมฐาน จะเปิดโอกาสให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเข้าพบเพื่อคลายความสงสัยเรื่องสาเหตุที่ต้องลาสิกขา ในช่วงเวลาระหว่าง ๑๑.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. ทุกวัน อาจารย์บอกว่าท่านถึงบ้านแล้ว สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ท่านยังห่วงคนที่วัด อยากให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสอนต่อไป หากมีโอกาสต้องช่วยเหลือคนอื่นที่ด้อยกว่า จึงโทรศัพท์มาแจ้งข่าวเพื่อให้ทุกคนคลายใจ เพราะทราบว่าหลายคนเป็นห่วงอาจารย์มาก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยถึงเมืองที่อยู่อาศัยของอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก แต่อย่างใด
แม่ชีพิณพรรณ เนียมมุณี กล่าวด้วยว่า ได้รับทราบว่าพระอาจารย์ท่านป่วยเป็นโรคเบาหวานมานานกว่า ๒ ปีแล้ว มีภาวะน้ำตาลสูงมาก สุขภาพท่านไม่ค่อยแข็งแรงนัก และมีกิจนิมนต์ตลอดเกือบทุกวัน โดยเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายนที่ผ่านมา พระอาจารย์เดินทางมาที่วัดสุนันทวนารามแห่งนี้ เพื่อเปิดการปฏิบัติธรรมแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง จากนั้นได้เดินทางออกจากวัดไปในช่วงค่ำ แล้วเดินทางไปต่างประเทศทันที แต่พระอาจารย์ระบุว่ายังไม่ได้ทิ้งวัดแห่งนี้ โดยเมื่อรักษาหายแล้วจะเดินทางกลับมา ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้บอกลูกศิษย์เพราะเกรงว่าจะเป็นห่วง
นอกจากนี้ แม่ชีพิณพรรณ เนียมมุณี ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “แม่ชีเองรู้สึกเหมือนกับได้เสียพ่อผู้บังเกิดเกล้าไป เหมือนถูกทอดทิ้ง หลังจากที่เรียกสติกลับมาได้ และนึกถึงคำสอนของหลวงพ่อใหญ่ทำให้คิดได้ว่า เราจะต้องไม่ยึดติด ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวัฏจักร และต้องเคารพในการตัดสินใจของท่าน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับตัวเรา เราจะไม่รู้ ตัวท่านจะรู้ดีที่สุด”
สำหรับบรรยากาศภายในวัดสุนันทวนารามเป็นไปอย่างเงียบเหงา แต่แฝงไปด้วยความร่มรื่นจากต้นไม้นานาพันธุ์ที่ขึ้นอยู่ริมถนนทั้ง ๒ ฟากฝั่ง บริเวณศาลาพบชีพราหมณ์จำนวนหนึ่งกำลังตั้งหน้าตั้งทำความสะอาดลานวัด พร้อมทั้งล้างภาชนะต่างๆ เช่นที่เคยปฏิบัติมาทุกวัน ส่วนพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ภายในวัดก็ออกบิณฑบาตและทำวัตรเช้าตามปกติ สำหรับกิจกรรมอบรมวิปัสสนากรรมฐานของวัดนั้น ในวันพุธที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ จะมีเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า ๑๐๐ คนมาอบรมปฏิบัติธรรม ซึ่งกำหนดการยังเป็นไปตามปกติ
วันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ พระอาจารย์หนูพรม สุขาโต เปิดเผยว่า อาการป่วยของพระอาจารย์มิตซูโอะ ยอมรับว่าป่วยเป็นเบาหวานอยู่ และอาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจลาสิกขากลับญี่ปุ่น เพราะในช่วงที่พระอาจารย์มิตซูโอะยังไม่ลาสิกขา แม้จะมีอาการป่วยอยู่ก็ยังสามารถปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ได้เป็นปกติ ในส่วนของตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี นั้น หลังจากนี้จะมีการทำหนังสือแจ้งไปยังวัดหนองป่าพง ถึงเรื่องการลาสิกขาของพระอาจารย์มิตซูโอะ เพื่อที่ทางวัดหนองป่าพงจะได้พิจารณาหาผู้ที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อไป
โครงการสุดท้ายที่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ดำเนินการ คือ โครงการเพิ่มพลังการศึกษาด้วยหนังสือธรรมะโดยแจกจ่ายหนังสือธรรมะไปยังโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนา
นางสาวดารณี บุญช่วย กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิมายา โคตมี กล่าวว่า มูลนิธิยังดำเนินงานต่อไปและยังสืบเจตนารมณ์ของท่าน ในส่วนของยอดบริจาคยังอยู่ครบ มูลนิธิกับวัดมีบัญชีแยกกันสามารถตรวจสอบได้
นายยงยุทธ ยุงรัมย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิมายา โคตมี กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิฯ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการสาสิกขาของพระอาจารย์มิตซูโอะไปแล้วนั้น ขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงดำเนินการตามปกติ โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่พระอาจารย์มิตซูโอะได้ริเริ่มไว้ เรายังคงสานต่อตามกำลังที่มีอยู่ ส่วนพระที่จะมาทำหน้าที่แทนพระอาจารย์มิตซูโอะ ทางมูลนิธิฯ คงต้องมีการปรึกษากับทางวัดหนองป่าพงว่า จะให้พระรูปใดที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เพราะวัดสุนันทวนารามเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง ส่วนกรณีที่แถลงการณ์ของทางวัดสุนันทวนาราม และของทางมูลนิธิฯ ยังคลุมเครือนั้น ตนบอกได้เพียงว่าเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดแล้ว คือ พระอาจารย์มิตซูโอะลาสิกขาไปแล้ว และไม่ได้บอกอะไรกับทั้งทางวัดและมูลนิธิฯ รวมถึง ไม่ได้ฝากอะไรไว้ด้วย ทางเราเองก็สงสัยเหมือนกับประชาชน และลูกศิษย์ที่ศรัทธาในตัวท่าน อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯ ไม่ได้ติดใจอะไร ทั้งนี้ยอมรับว่ามีลูกศิษย์โทรมาที่มูลนิธิฯ อย่างต่อเนื่อง และถามว่าเพราะอะไรท่านถึงสึก เราก็ตอบได้เพียงเท่านี้
นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สำหรับที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยเรื่องเงินบัญชีของวัดก็จะเป็นชื่อของวัด บัญชีของมูลนิธิฯ ก็จะเป็นชื่อของมูลนิธิฯ ซึ่งการเบิกจ่ายเป็นนิติบุคคล ต้องมีกรรมการเซ็นมากกว่า ๑ คน หากเป็นพระอาจารย์มิตซูโอะคนเดียวจะทำไม่ได้ในเรื่องนี้ จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน
ท้ายนี้ ขอกล่าวถึง หนังสืออีกหนึ่งมุมมอง ซึ่งเป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ที่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้เมตตาให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ และตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือรวม ๕ เล่ม ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ บทสัมภาษณ์ของพระอาจารย์ได้สะท้อนมุมมองของท่านต่อ การดำเนินชีวิตอย่างมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ โดยใช้พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการแก้ปัญหาทั้งปวง อนึ่ง พระอาจารย์ได้กล่าวถึงประวัติของท่านบางส่วนไว้ด้วยถ้อยคำที่สะท้อนถึงความเมตตา และหลักธรรมอันลึกซึ้ง ดังนี้
“...ต้นซากุระต้นเดียว ทำให้คนจำนวนมากมีความสุขได้
เราก็อยากให้ชีวิตเราเป็นเหมือนซากุระต้นหนึ่ง
ที่มีความงาม และให้ความสุขแก่ผู้คน
‘งาม’ ตามความหมายของพระพุทธศาสนา
ก็คือ งามในศีล สมาธิ และปัญญา...”
รู้สึกเสียดายพระอาจารย์จริงๆ ค่ะ ท่านเป็นพระดี พระแท้
การลาสิกขาของพระอาจารย์ท่าน
เป็นการสอนธรรมะครั้งสุดท้ายให้แก่พวกเราว่า...
ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน
แต่ให้มองที่หลักธรรม ปัจจุบันธรรม
ผู้มีบารมีมาก ย่อมมีแรงต้านมาก ย่อมมีมารมากเป็นธรรมดา
อะไรอะไรมันก็ไม่แน่ อย่าดีใจ อย่าเสียใจ
ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ
ลูกขอน้อมกราบระลึกถึงคุโณปการที่ท่านอาจารย์มิตซูโอะ
มีต่อพระพุทธศาสนา คนไทย และมวลมนุษยชาติ
ทั้งในอดีตกาลและที่จะมีสืบต่อไปอีกในอนาคตกาลเจ้าค่ะ
อรรถกถา กุททาลชาดก
แม้บวชแล้วสึก เชื้อแห่งความดีงามยังไม่เสื่อมถอย
มีพระสาวกรูปหนึ่ง นามว่า “พระจิตหัตถสารีบุตร” บวชๆ สึกๆ ถึง ๖ ครั้ง แต่ความดีของท่านไม่เคยเสื่อมถอย ยังมีเชื้อแห่งความดีงามอยู่เสมอ จนในที่สุดเมื่อเวลามาถึง ท่านก็บวชไม่สึกแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าชาดก เมื่อครั้งเสวยพระชาติในอดีต เกิดในตระกูลคนปลูกผัก นามว่า “กุททาลบัณฑิต” พระพุทธองค์ก็ทรงเคยบวชแล้วสึกถึง ๖ ครั้งเหมือนกัน แต่เชื้อแห่งความดีไม่เคยเสื่อมถอยไป ครั้งที่ ๗ พระองค์ไม่สึก ได้พระกรรมฐาน แล้วได้แสดงธรรมถวายพระเจ้าพรหมทัต พระราชา จนอยู่ในธรรม กระทั่งพระราชาเสด็จออกบวชเป็นพระฤาษีตามพระพุทธองค์
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
บริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็น พุทธบริษัท
ส่วนกุททาลบัณฑิต ได้มาเป็น เราตถาคต
ที่มา... http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka500.php?s=70
รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) http://www.watpahsunan.org/
(๒) หนังสือธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
(๓) facebook พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
https://www.facebook.com/aj.mitsuo.gavesako
ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง