พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ
ประวัติ วัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ
วัดป่าอภัยคีรี
มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
๏ นามเดิม
รีด แพรี่ (Reed perry)
๏ เกิด
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ประเทศแคนาดา
๏ การศึกษา
ปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์
๏ การอุปสมบท
พระอาจารย์มีความสนใจในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้ว ท่านได้เดินทางไปหาประสบการณ์ชีวิตในหลายประเทศ จนกระทั่งปี ๒๕๑๖ ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทย และเกิดความสนใจในการทำสมาธิภาวนา จึงได้ไปฝึกปฏิบัติที่วัดเมิงมาง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเพลงวิปัสสนา แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗
๏ ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท
ในพรรษาแรกนั่นเอง ท่านได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ของ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยการแนะนำของพระอุปัชฌาย์ของท่าน โดยได้พำนักที่วัดหนองป่าพงและวัดสาขาอื่นๆ ตามโอกาสอันสมควร
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลา ๑๕ ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙
๏ การสร้างวัดป่าอภัยคีรี
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ ได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ เพื่อมาก่อตั้งวัดป่าอภัยคีรี และเป็นเจ้าอาวาสร่วมกับพระอาจารย์อมโร ภิกขุ
วัดป่าอภัยคีรี เป็นวัดปฏิบัติในสายพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) แห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซานฟรานซิสโก มีเจ้าอาวาสร่วมกัน ๒ รูป คือ พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี และ พระอาจารย์อมโร ภิกขุ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
“อภัยคีรี” เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า “ขุนเขาแห่งความปลอดภัย” ซึ่งเป็นชื่อวัดโบราณในประเทศศรีลังกา ที่ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ต่างนิกายมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ด้วยความเชื่อว่า “ทุกชีวิตมีสิทธิ์ในการทำทุกข์ให้สิ้นได้เท่าๆ กัน”
ปัจจุบัน “วัดป่าอภัยคีรี” ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่แตกต่างกันนักคือ ได้เปิดโอกาสให้สาธุชนผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ รักในสติ รักในปัญญา ได้เข้าถึงความสงบ สัปปายะ เป็นธรรมชาติตามแนววัดป่าฝ่ายเถรวาท ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด นิกายไหน มีสีผิวอย่างไร ไม่เลือกเชื้อชาติ เพศ และอายุ
๏ สาขาแรกของวัดหนองป่าพงในอเมริกา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่อชาได้รับนิมนต์ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานแก่ญาติโยมชาวไทยและชาวตะวันตก ในครั้งนั้นผู้มีศรัทธาได้ปรารภกับหลวงพ่อถึงการเปิดสาขาวัดหนองป่าพงใน อเมริกา หลวงพ่อชาตอบว่า “รอไปเถอะอีก ๒๐ ปีจะมีสาขาในอเมริกา”
พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ) ศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกของหลวงพ่อชา ได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานแก่ชาวเมืองซานฟรานซิสโก และมีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมาก จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งมูลนิธิสังฆปาละขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อจัดหาสถานที่เหมาะสมแก่การสร้างวัดป่าที่ไม่ไกลจากซานฟรานซิสโก
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณาจารย์ Hsuan Hua เจ้าอาวาสวัดพระพุทธรูปหมื่นองค์ (The City of Ten Thousand Bhuddhas) ฝ่ายมหายาน ได้เมตตามอบที่ดินจำนวน ๑๒๐ เอเคอร์ ใกล้วัดของท่าน ให้กับคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ คณาจารย์ Hsuan Hua ได้เคยมาปฏิบัติธรรมในประเทศไทย และประทับใจในแนวทางปฏิบัติฝ่ายเถรวาท มีความปรารถนาที่จะเห็นการปฏิบัติธรรมร่วมกันของพระภิกษุฝ่ายมหายานกับฝ่าย เถรวาทอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อท่านได้พบกับท่านพระอาจารย์สุเมโธ ท่านทั้งสองมีความเคารพนับถือซึ่งกันและกันเป็นอันมาก
ที่ดินดังกล่าวมีลักษณะเป็นป่าบนภูเขา มีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีทางเข้า-ออก ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มูลนิธิสังฆปาละ คณะศิษย์ชาวไทยและต่างประเทศ จึงได้รวบรวมทุนจัดซื้อที่ดินที่มีทางเข้าออก พร้อมบ้านและโรงรถ พอที่จะดัดแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ชั่วคราว ทำให้มีที่ดินรวมทั้งหมด ๒๕๐ เอเคอร์
วัดป่าอภัยคีรี จึงเป็นสาขาแรกของวัดหนองป่าพง ในสหรัฐอเมริกา และเป็นที่น่าประหลาดใจว่า นับเป็นเวลาได้ ๒๐ ปีพอดี จากวันที่หลวงพ่อชาไปเยือนอเมริกา
หลวงพ่อชาได้ให้หลักการไว้ว่า “ให้มุ่งสร้างวัดภายใน” เสียก่อน คือ สร้างกายวาจาใจที่มีวัตรปฏิบัติดี ท่านเคยกล่าวด้วยว่า “ให้พระสร้างคน แล้วคนจะสร้างวัด”
พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ และพระอาจารย์อมโร ภิกขุ ดำเนินตามแนวทางของหลวงพ่อชา ในการอบรมถ่ายทอดความรู้ และสอนการปฏิบัติธรรมให้แก่บุคคลทั่วไป และผู้ปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างสมณเพศ ต่อมาท่านอาจารย์ปสันโน ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อความสะดวกในการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรใหม่ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้สนใจบวชเป็นภิกษุได้จะต้องถือศีล ๘ เป็นผ้าขาว ๑ ปี บรรพชาเป็นสามเณร อีก ๑ ปี จึงจะได้รับการพิจารณาให้บวชเป็นพระภิกษุ
ในปีแรกๆ ระหว่างรอการอนุญาตจากเทศบาลมลรัฐให้สร้างวัด ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดมีศรัทธามาช่วยสร้างกุฏิหลังเล็กๆ โดยซื้อเศษไม้ราคาถูกมาประกอบ และดัดแปลงรถนอนที่ได้รับบริจาคให้พออยู่ได้ หากคราวใดกุฏิไม่พอ ก็ใช้กางเต๊นท์เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร และอานาคาริกะ (ปะขาว) ไปชั่วคราว
ต่อมาเมื่อได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัด ทางเทศบาลของมลรัฐกำหนดให้รื้อถอนกุฏิที่พระและญาติโยมสร้างกันเองออก รถนอนและเต๊นท์ก็ห้ามใช้อีกด้วย เทศบาลยังกำหนดเคร่งครัดว่า จะให้พักที่วัดได้ไม่เกินครั้งละกี่คน ทั้งนี้เพราะบางส่วนของวัดอยู่ในเขตที่มีแผ่นดินไหว จึงต้องเคร่งครัดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้กุฏิจึงมีไม่เพียงพอ กับจำนวนพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ และไม่สามารถบวชภิกษุสามเณรใหม่ หรือรองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้ จึงมีการสร้างเสนาสนะต่างๆ ให้กับวัดป่าอภัยคีรี เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันพระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ ท่านยังคงเดินทางมาประเทศไทยเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ตามโอกาสอันควร
พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ
พระผู้นำมรดกธรรมหลวงพ่อชาไปเผยแผ่ในแคลิฟอร์เนีย
ปัจจุบันนี้ วัดสาขาของวัดหนองป่าพงทั้งในต่างประเทศ มีอยู่กว่า ๑๐ แห่ง แต่ละแห่งล้วนสร้างขึ้นมาจากความศรัทธา ของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ชาวต่างประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคย มาฝึกปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชา อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ด้วยเหตุที่ว่า รูปแบบการเผยแผ่ของธรรมะของ หลวงพ่อชา ง่ายต่อความเข้าใจ ถ้าได้ฝึกปฏิบัติแล้วเห็นผลทันตา สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาวะที่สังคมอเมริกันชนมีความทุกข์ทางใจจากวิกฤติเศรษฐกิจและ สภาวะของสงคราม
พระอาจารย์ปสันโน เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ท่านเป็นพระศิษย์สายหลวงพ่อชาอีกรูปหนึ่ง ที่พยายามนำรูปแบบการเผยแผ่ธรรมะของหลวงพ่อชา ไปเผยแผ่ให้ชาวต่างชาติ หลุดพ้นจากความทุกข์ แม้ว่าท่านจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ถ้าใครได้สัมผัสถึงวิธีการเผยแผ่ธรรมะแล้วจะต้องประหลาดใจ เพราะขนาดเราคนไทยแท้ๆ ได้เข้าวัดฟังเทศน์มาตั้งแต่เด็ก ยังไม่ซาบซึ้งในรสพระธรรมเท่าท่าน และต่อไปนี้คือ การสนทนาธรรมกับท่านแบบ “คม ชัด ลึก”
พระอาจารย์เริ่มศึกษาพุทธศาสนาเมื่อไรครับ ?
เริ่มจากอ่านหนังสือพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือของลัทธิเซน ครั้งแรกตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งใจไว้ว่า ต้องเที่ยวให้เต็มอิ่มก่อน เริ่มจากยุโรป ตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล จากนั้นก็คิดว่า จะแวะเที่ยวที่ประเทศไทยและออสเตรเลีย สุดท้ายก็จะไปตั้งหลักศึกษาที่ญี่ปุ่น
เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ?
ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักประเทศไทยเลย จนกระทั่งได้มาเที่ยวเมืองไทยไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ก็จะเห็นพระและวัดเต็มไปหมด ขณะนั้นคิดเพียงว่า น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาพุทธศาสนาด้วย จากนั้นก็เริ่มค้นคว้าหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา รวมทั้งหาสถานที่สอนเรื่องการฝึกนั่งสมาธิ ฝึกสมาธิครั้งแรกที่วัดเมืองมาง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่
ภาษาเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาธรรมะหรือเปล่าครับ ?
การเรียนต้องผ่านล่ามแปลภาษา ซึ่งค่อนข้างยาก แต่การเรียนรู้ด้วยการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เข้าใจพุทธศาสนาได้เร็วมากยิ่งขึ้น หลักจากฝึกได้ ๕๖ เดือน ได้ลงมาทำเอกสารทางการทูตที่สถานทูตแคนาดา จากนั้นก็ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดเพลงวิปัสสนาอีกประมาณ ๕ เดือนเมื่อได้เป็นนักเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
ภาษาเป็นอุปสรรคหรือเปล่าครับ ?
มีบ้าง แต่มันขึ้นอยู่กับปฏิภาณไหวพริบและปัญญาของผู้เผยแผ่ว่า เราจะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจได้ง่าย บางครั้งคำศัพท์ในภาษาอื่นไม่มี ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการเผยแผ่ด้วยภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ อาตมาก็ยังคิดว่าภาษาไทยฟังง่ายกว่า
มีความพยายามที่จะหาคำศัพท์ง่ายๆ มาอธิบายธรรมะหรือเปล่าครับ ?
อาตมาพยายามหาคำพูดง่ายๆ ที่กินใจ เข้าใจง่าย ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่ายินดี สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ปัจจุบันนี้ โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ในแคลิฟอร์เนียหลายแห่งกำลังค้นหาผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะขายดีอยู่ในลำดับต้นๆ ของทุกศาสนา เช่น ที่วัดมีญาติโยมเขียนจดหมายมาขอหนังสือธรรมะทุกวัน รวมทั้งขอมาพักที่วัด เพื่อศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมถึงขนาดที่พักไม่พอ
ก่อนที่จะตัดสินใจบวชพระ ท่านคิดอยู่นานหรือเปล่าครับ ?
ครั้งแรกไม่คิดจะบวช เพราะคิดว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้เดินทางไป ขณะเดียวกันก็มีภาระอีกหลายอย่างที่จัดการยังไม่เสร็จ ท่านจึงแนะนำให้บวชเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อน อาตมาจึงตัดสินใจบวช ครั้งแรกคิดว่าจะบวช ๓๔ เดือนเท่านั้น
พระอาจารย์บวชพระเพื่ออะไรครับ ?
อาตมาบวชที่วัดเพลงวิปัสสนา ขณะนั้นมีอายุเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่อยากบวช คือเพราะความอยากรู้ อยากฝึก อยากมีความเข้าใจในวิถีทางที่ไปสู่ความสงบของจิตใจ ขณะจำวัดอยู่วัดเพลงวิปัสสนา ได้ยินนักท่องเที่ยวพูดถึงกิตติศัพท์ของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะความสามารถเรื่องการสอนวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งวัตรปฏิบัติ ดังนั้นจึงขออนุญาตไปศึกษาที่วัดหนองป่าพง
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ระหว่างไปกราบหลวงพ่อชา ท่านพูดอะไรบ้างครับ ?
ครั้งแรกที่ไปกราบหลวงพ่อชา เมื่อท่านรู้ว่าเป็นพระที่บวชในระยะสั้นๆ ท่านจึงบอกว่า ถ้าอยากจะอยู่เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดหนองป่าพง ต้องอยู่อย่างน้อยถึง ๕ ปี ครั้งแรกที่ได้ยินก็รู้สึกว่าขัดกับความตั้งใจ แต่เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่ง รู้สึกว่าถ้าจะให้ศึกษา ๕ ปี อยู่ไม่ได้ จึงย้ายไปอยู่ที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี ระหว่างนี้นึกถึงหลวงพ่อชาตลอดเวลา ดังนั้นจึงตัดสินใจกลับไปมอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อชาเป็นเวลา ๕ ปี ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อชา เมื่ออยู่ครบ ๕ ปี ก็รู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมามันน้อยไป จึงขออยู่ศึกษาต่อ
หลวงพ่อชาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วท่านมีวิธีสอนพระชาวต่างประเทศอย่างไรครับ ?
มีล่ามช่วยแปลให้ ขณะเดียวกันหลวงพ่อชาก็สอนธรรมะง่ายๆ ให้ นอกจากนี้ ท่านยังปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วย ไม่ว่าท่านจะพูด จะทำงาน ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดี ระหว่างนี้จะไปมาระหว่างวัดป่านานาชาติ สาขาอื่นของวัดหนองป่าพงบ้าง ประมาณ ๘ ปี จนกระทั่งหลวงพ่อชาได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ระหว่างปี ๒๕๒๕-๒๕๓๙ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ขณะนั้นจะมีการสร้างวัดใหม่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
ขณะนี้ที่วัดป่าอภัยคีรีมีพระกี่รูปครับ ?
พระ ๗ รูป สามเณร ๑ รูป แม่ชี ๒ คน และผ้าขาวอีก ๑ คน ทั้งหมดนี้เป็นชาวต่างชาติ แต่ไม่ได้เป็นชาวอเมริกันทุกคน
เหตุผลของการออกบวชพระของคนอเมริกันเหมือนคนไทยหรือเปล่าครับ ?
คนไทยส่วนใหญ่บวชพระเพราะเป็นไปตามประเพณี แต่คนอเมริกันบวชพระเพราะความศรัทธา สนใจในหลักธรรม อยากมีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนเหตุผลที่ชาวอเมริกันมานับถือศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น เพราะเขาอยากแสวงหาความสงบสุข อยากแสวงหาวิถีชีวิตที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร ทุกศาสนาล้วนสอนให้เป็นคนดีมีความสามัคคี
แล้วศาสนาพุทธแตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างไรครับ ?
ศาสนาพุทธมีคำสอนเรื่องเหตุผลที่ชัดเจนกว่าศาสนาอื่น แม้ว่าทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี แต่ไม่ได้อธิบายว่าทำไมต้องเป็นคนดี ส่วนศาสนาพุทธจะอธิบายทั้งเหตุและผลของการเป็นคนดี
มีคนบอกว่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเปรียบได้กับหลักวิทยาศาสตร์ ท่านคิดว่าอย่างไรครับ ?
อาจจะพูดเช่นนั้นก็ได้ แต่พุทธศาสนาลึกซึ้งกว่าวิทยาศาสตร์หลายเท่า เพราะวิทยาศาสตร์ศึกษาเฉพาะปรากฏการณ์ทางกายภาพเท่านั้น แต่พุทธศาสนาศึกษาถึงภายใน มองให้เกิดประโยชน์ภายใน
แล้วท่านสร้างความศรัทธาอย่างไร จึงได้รับเงินทำบุญจากญาติโยม ?
อาตมาใช้หลักปฏิบัติของหลวงพ่อชาและธรรมะของพระพุทธเจ้าในการสร้างศรัทธา การรักษาศีล การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ปรากฏ เท่านี้ก็เกิดศรัทธา เมื่อมีศรัทธา คนก็ทำบุญเอง
ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการบูชาวัตถุมงคล ?
วัตถุมงคลไม่ใช่สิ่งไม่ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะส่งเสริม เพราะไม่ตรงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา แต่ก็สามารถใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างกำลังใจ ให้ความคุ้มครองได้ แต่คนมักจะหลงและนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
ศาสนาอื่นๆ มีวัตถุมงคลให้ศาสนิกชนได้บูชาเหมือนศาสนาพุทธในประเทศไทยหรือเปล่าครับ ?
ทุกศาสนามีวัตถุมงคลให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ สุดแล้วแต่จะมีความเชื่ออย่างไร แม้ว่ารูปลักษณ์ของวัตถุมงคลจะแตกต่างกัน แต่จุดประสงค์ก็คล้ายๆ กัน คือไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
มีใครเคยมาขอวัตถุมงคลบ้างหรือเปล่าครับ ?
มีเพียงแค่ครั้งเดียว และก็เป็นชาวต่างชาติด้วย ซึ่งอาตมาเข้าใจว่า เขาน่าจะรู้ว่าเป็นนักบวช ทั้งนี้อาตมาได้ให้พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไป
แล้วที่วัดป่าอภัยคีรี มีการสร้างวัตถุมงคลหรือเปล่าครับ ?
ในหลักคำสอนของหลวงพ่อชาไม่เน้นวัตถุมงคล แต่จะมุ่งเน้นให้สร้างคนให้เป็นนักบวช สร้างคนให้เป็นมงคล ถือว่าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม
ท่านช่วยอธิบายเรื่องปาฏิหาริย์และแคล้วคลาดว่าแท้ที่จริงแล้วเกิดจากอะไร ?
ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เสมอ มันเป็นไปตามหลักธรรมชาติ มีเหตุก็ต้องมีผล ถ้าเหตุไม่มีแล้วผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
พระอาจารย์ต้องออกเดินบิณฑบาตเหมือนพระในเมืองไทยหรือเปล่าครับ ?
อาทิตย์ละครั้ง โดยต้องเดินทางไปหมู่บ้าน ซึ่งมีระยะทางห่างจากวัดประมาณ ๒๕ ไมล์ อาตมาต้องนั่งรถไปก่อน เมื่อถึงหมู่บ้านก็ลงเดิน
ครั้งแรกที่ท่านออกบิณฑบาตเป็นอย่างไรบ้างครับ ?
การบิณฑบาตสำหรับเมืองไทยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับคนแคลิฟอร์เนีย วันแรกไม่ได้อะไรเลย มิหนำซ้ำบางคนก็หัวเราะ บางคนก็ตะโกนด่า เยาะเย้ย บางคนก็ทำท่าจะทำร้าย ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมของพุทธศาสนา ให้หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือน นักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปถ่ายภาพและสัมภาษณ์ว่า สิ่งที่ทำนั้นคืออะไร เพื่ออะไร การบิณฑบาตเป็นวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้คนรู้จักทำบุญทำทาน เมื่อหนังสือพิมพ์ออกเผยแพร่ ในที่สุดคนก็เข้าใจ
เคยมีคนใส่บาตรด้วยแฮมเบอร์เกอร์บ้างหรือเปล่าครับ ?
เชื่อไหมว่า ตลอดระยะเวลาที่ออกบิณฑบาต ไม่มีใครใส่บาตรด้วยแฮมเบอร์เกอร์ อาหารที่ในบาตรส่วนใหญ่จะเป็นอาหารพวกมังสวิรัติ เพราะว่าศีลข้อที่ 1 ห้ามเรื่องฆ่าสัตว์ เขาจึงพลอยไม่กินเนื้อสัตว์ไปด้วย
มีกระแสต่อต้านจากศาสนาอื่นๆ หรือเปล่าครับ ?
มีบ้าง เล็กๆ น้อยๆ แต่ในเมืองที่อยู่เขาเปิดใจกว้างเรื่องการนับถือศาสนา ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็จะสนับสนุน ส่วนเมืองอื่นๆ จะมีปัญหาค่อนข้างมากเพราะจิตใจคับแคบ
การสวดมนต์ที่วัดสวดแบบไหนครับ ?
สวดเป็นภาษาบาลีเช่นเดียวกับเมืองไทย และก็แปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสร้างความเข้าใจให้ง่ายมากยิ่งขึ้น
มีวัฒนธรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยอะไรบ้างที่ไปพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ?
ปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมของพุทธศาสนาแยกกันเกือบไม่ออก เช่นการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา การทำบุญในวันเทศกาลต่างๆ ทำบุญตักบาตร ทำบุญขึ้น บ้านใหม่ สวดในงานมงคลต่างๆ ฯลฯ
ศาสนสถานที่วัดแตกต่างจากวัดในเมืองไทยอย่างไรครับ ?
แตกต่างกันมาก เพราะต้องสร้างให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ ขณะเดียวกันวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งค่าแรงก็ แพงมาก ดังนั้นการที่จะสร้างอะไรขึ้นมา ต้องคิดอย่างรอบคอบ
ช่วงที่มีอากาศเย็นจัด ห่มจีวรเพียงอย่างเดียวพอหรือครับ ?
ฤดูหนาวที่นั่นหนาวมาก ถ้าห่มจีวรเพียงอย่างเดียวคงตายไปนานแล้ว ดังนั้นอาตมาและพระลูกวัดต้องใส่เสื้อกันหนาว แขนกุดสีเหลืองขมิ้นไว้ด้านใน จากนั้นก็ห่มจีวรทับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูแล้วจะไม่รู้เลยว่าข้างในมีเสื้อกันหนาว แม้ว่าพระธรรมวินัยจะกำหนดให้ใช้เครื่องนุ่งห่มได้เพียง ๓ ชิ้น คือ สบง อังสะ และจีวร แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในบางกรณีเพื่อรักษาชีวิตให้คงอยู่
วัดของท่านมีความแตกต่างจากวัดที่มีเจ้าอาวาสเป็นพระคนไทยอย่างไรครับ ?
วัดที่มีพระคนไทยเป็นเจ้าอาวาส ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมคนไทยในชุมชนนั้น เพื่อที่จะสมาคมสังสรรค์ และเป็นที่รักษาวัฒนธรรม ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ลูกหลานคนไทย แต่สำหรับของอาตมานั้น จะเป็นสถานที่มุ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้กับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการนั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวทางของหลวงพ่อชา
พุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาเจริญมากน้อยเพียงใด ?
อาตมากล้ายืนยันว่า เจริญขึ้นทุกวัน เพราะคนขาดที่พึ่งทางใจ เขามีความสนใจมาก ทั้งการนั่งสมาธิภาวนาและปรัชญาของพระพุทธศาสนา รวมทั้งคนที่อยากออกบวชเป็นพระก็มีมากเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคนสนใจมาก แต่ผู้สอนที่มีความรู้จริงยังมีน้อย ปัญหานี้อาจจะทำให้พุทธศาสนาเจริญเติบโตช้าลง ปัจจุบันนี้ ชาวต่างชาติสนใจพุทธศาสนามากขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยก็สนใจนับถือศาสนาอื่น
หากเกิดขึ้นท่านคิดว่าเกิดจากอะไรครับ ?
ในต่างประเทศคนเป็นทุกข์ทางใจมากขึ้น แต่ไม่มีวิธีที่ดีแก้ไข เมื่อได้ศึกษาพุทธศาสนาก็เห็นว่าเป็นคำสอนที่ดี ส่วนคนไทยนั้น ทุกวันก็มีความทุกข์ทางใจ ไม่มีหลักไม่มีที่พึ่งทางใจ ที่สำคัญคือ ไม่เข้าใจในหลักของพุทธศาสนาซึ่งเป็นรากฐานของชาติไทย ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า คนไทยใกล้เกลือกินด่าง มีของดีแต่ไม่รู้ว่าของนั้นใช้และดีอย่างไร
สุดท้ายนี้ท่านมีธรรมะอะไรจะฝากถึงญาติโยมบ้างหรือเปล่าครับ ?
คนไทยต้องรู้จักใช้สมบัติตัวเองที่มีอยู่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ได้ฝากสมบัติอันล้ำค่าไว้ สิ่งนั้นก็คือพุทธศาสนา ถ้าคนไทยรู้จักใช้รู้จักนำไปปฏิบัติ คนไทยก็จะได้รับผลประโยชน์อันมหาศาล หลักธรรมของพระพุทธเจ้า สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องของจิตใจ
พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ กับ พระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธมฺโม และพระเถระรูปอื่นๆ
ในงานทอดกฐินเมื่อวันที่ ๒๑ ต.ค. ๔๙ ณ วัดป่ารัตนวัน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dhammajak.net