พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน
ประวัติ วัดมหาชัย ต. หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เดิมชื่อ กู่ เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นับเป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน บิดาท่านคือ หลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) มารดาชื่อ หล้า สุวรรณรงค์ ท่านเกิดในวันเสาร์ เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ท่านมีน้องชาย คือ พระอาจารย์กว่า สุมโน แห่งวัดกลางโนนกู่ อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ อ่อนกว่าท่าน ๓ ปี การอุปสมบท ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ณ สำนักวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร โดยมีพระครูสกลสมณกิจ (ท่านอาญาครูธรรม) เป็นพระอุปัชฌาย์ ตามประวัติในที่ต่าง ๆ ไม่ปรากฏว่าท่านได้อุปสมบทในปีใด แต่สันนิษฐานว่าท่านบวชเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพราะในปีนั้นเองที่ท่านได้ไปฟังเทศน์กับพระอาจารย์ฝั้น ที่บ้านม่วงไข่ และได้ไปในเพศสมณะแล้ว
พบพระอาจารย์มั่น
ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์กู่ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าว พระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติของท่าน เมื่อพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมจบลง ญาติโยมน้อยใหญ่ต่างพากันเลื่อมใสเป็นอันมาก พากันสมาทานรับเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านเกิดกำลังใจมุมานะอยากบังเกิดความรอบรู้เหมือนพระอาจารย์มั่น จึงปรึกษาหารือกันว่า พระอาจารย์มั่น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือในชั้นสูง คือเรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายน์ ประถมกัปป์ ประถมมูล จนกระทั่งสำเร็จมาจากเมืองอุบล จึงแสดงพระธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งและแคล่วคล่องไม่ติดขัด ประดุจสายน้ำไหล พวกเราน่าจะต้องตามรอยท่าน โดยไปร่ำเรียนจากอุบลฯ ให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะแปลอรรถธรรมได้เหมือนท่าน เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ต่อพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านคอยไม่ได้ เพราะทั้งสามท่านยังไม่พร้อมในเรื่องบริขารสำหรับธุดงค์ จึงออกเดินทางไปก่อน พระอาจารย์ทั้งสามต่างได้รีบจัดเตรียมบริขารสำหรับธุดงค์อย่างรีบด่วน เมื่อพร้อมแล้ว จึงออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทั้งสามท่าน ในระหว่างนั้น พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (พระรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุรินทร์) ซึ่งก็ได้เดินทางเที่ยวตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยเหมือนกัน โดยเดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านม่วงไข่ แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปพบพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดนั้น จึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นพระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบัน อำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย และท่านกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้งสี่จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งไปทันพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำแล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุที่เป็นศิษยานุศิษย์ทั้งหลายของพระอาจารย์มั่น ต่างก็แยกย้ายกันออกธุดงค์ต่อไป พระอาจารย์ฝั้นก็แยกออกไปกับสามเณรพรหม ผู้เป็นหลาน ไปทางอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ดูลย์ คาดว่าธุดงค์ไปทางจังหวัดสุรินทร์ระยะหนึ่ง แล้วจึงขึ้นไปทางอีสานเหนือ ไปทาง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีสามเณรติดตามไปด้วยองค์หนึ่ง ส่วนพระอาจารย์กู่เข้าใจว่าได้อยู่ติดตามพระอาจารย์มั่นไป
ญัตติเป็นธรรมยุต
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ญัตติเป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระอดิศัยคุณาธาร (คำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระกรรมวาจารย์ ณ วัดมหาชัย ต. หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู พ.ศ. ๒๔๖๘ ในปีนี้พระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้เป็นน้องชายก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธโล) เมื่อยังเป็นพระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรักและพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้มากับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และร่วมจำพรรษา กับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์ต่าง ๆ ที่จำพรรษาในปีเดียวกันนั้น ได้แก่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์สาร, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป เมื่อใกล้จะออกพรรษา พระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวก ๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุด ๆ อีกหลายชุด ก่อนออกธุดงค์ พระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทาง ท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้าซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบ ในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก ครั้นออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อน ได้แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปที่บ้านค้อ ส่วนพระอาจารย์ฝั้น ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และนัดไปเจอกันที่พระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อน เมื่อธุดงค์ไปถึงพระพุทธบาทบัวบกแล้ว พระอาจารย์ฝั้นยังไม่มา ท่านจึงออกธุดงค์ต่อไปทางบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และที่หนองลาดนี้เองที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พบกับ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระเถระที่มีพรรษามากแล้ว พระอาจารย์เกิ่ง ในขณะนั้นพรรษาได้ ๑๙ พรรษาแล้ว ส่วนพระอาจารย์สีลา ก็ ๑๗ พรรษา พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม จนกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง ที่ตั้งอยู่ในวัดนี้ด้วย พระอาจารย์เกิ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์ในทางธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นมาก่อน ครั้นเมื่อได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นมาอยู่ที่ตำบลหนองลาด ท่านก็ได้ชวนพระอาจารย์สีลา พร้อมพระเณรถูกวัด เดินทางจากบ้านสามผง จังหวัดนครพนม มาถึงหนองลาด จังหวัดสกลนคร ไปฟังเทศน์และสนทนาไต่ถามปัญหาข้ออรรถธรรมที่สงสัยค้างคาใจต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตข้อวัตรของหลวงปู่มั่นอย่างใกล้ชิด จนเกิดความอัศจรรย์ใจในข้ออรรถข้อธรรมและจริยาวัตรของท่าน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส และได้นิมนต์พระอาจารย์มั่น ให้ไปโปรดญาติโยมและพักจำพรรษาที่บ้านสามผง ถิ่นที่พำนักของท่าน พร้อมทั้งขอถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิด จนเกิดผลประจักษ์ทางใจอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสรับรู้มาก่อน เดือน ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร พร้อมทั้งพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ ก็ได้ญัตติกรรมเป็นธรรมยุต และประมาณ ๗ วัน ก่อนเข้าพรรษา กำนันบ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยลูกบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในคณะพระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้เข้ามาพบ และขอร้องให้พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง แต่พระอาจารย์มั่นมีเหตุอันจำเป็นต้องขัดข้อง จึงให้พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง ตามที่ชาวบ้านปรารถนา
ตามพระอาจารย์มั่นฯ ไปอุบลราชธานี
หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว คณะพระอาจารย์มั่นซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป เดินทางมาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม และ ที่นั้นได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบล รวมทั้งได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่ก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (มารดาท่านซึ่งบวชเป็นชี) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์แก่มากหมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบล ฯ ได้ การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่าง ๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษย์ไปในตัวด้วยว่า องค์ใดจะมีผีมือในการเผยแพร่ธรรม ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถ ก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้าน ประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน สำหรับพระอาจารย์กู่ได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้างกับ พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒ – ๓ รูป เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว –บ้านโพธิสว่าง อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น รวมทั้งเหล่าสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้พระอาจารย์มั่น ฯ มาพักจำพรรษาอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา ส่วนพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และคณะก็จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระมหาปิ่น ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ บริเวณใกล้เคียงกัน
พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่
ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสเถระ อ้วน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่ หลวงปู่สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งพระอาจารย์มั่น หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า ฯลฯ จนหมด แม้กระทั่งนามโยมบิดามารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วมร้อยคน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่น ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่าง พระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฟัง เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบล เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง ปี ๒๔๗๐ นั้นท่านอาจารย์กู่ก็ไปจำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอเดียวกัน บ้านบ่อชะเนงนี้เป็นบ้านเกิดของท่านอาจารย์ขาว อนาลโย ระยะนั้นปรากกว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนง ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาฏิโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ ที่บ้านบ่อชะเนง ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ได้ทราบว่าพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้นมาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่ เพราะไม่ชอบพระกัมมัฏฐาน พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกัมมัฏฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กัมมัฏฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกศา คือ ผม โลมา คือขน นขา คือ เล็บ ทันตา คือ ฟัน และ ตโจ คือ หนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกัมมักฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกัมมักฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กัมมัฏฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกศา – โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวก แบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ? ส่วน นขา – ทันตา – และตโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตาปูตีเอากระนั้นหรือไร? ถ้าจะไล่กัมมัฏฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก คว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย ระหว่างพรรษาปีนั้น พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์ฝั้น ได้เทศนาสั่งสอนพวกญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่น ๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาว บวชเป็นพระเป็นเณร และเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย
พระอาจารย์มั่นฯ ปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก
ครั้นออกพรรษาในปี ๒๔๗๐ แล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พาพระภิกษุสามเณร มาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลฯ เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป แล้วท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบล ฯ ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพา คณะสานุศิษย์เก่า ๆ ทั้งหลาย เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมด มีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมา ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า “จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ ให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูก ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย “อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่าง ๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ” ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจแต่หลวงปู่สิงห์และท่านมหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปฐากรักษาทุกประการ จากนั้นออกพรรษาแล้วประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ จำพรรษาที่วัดสระปทุม และออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่
ช่วยพระอาจารย์ฝั้นแก้ปัญหา
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ปีนั้นพระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาที่วัดบ้านผือ จังหวัดขอนแก่น พอออกพรรษาแล้ว ท่านกับพระอาจารย์อ่อน ได้เที่ยวธุดงค์กัมมัฏฐานไปจนถึงหมู่บ้านจีด ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บังเอิญได้ข่าวว่า โยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนป่วยหนัก พระอาจารย์อ่อนจึงแยกไปรักษาโยมพี่สาว ส่วนท่านพำนักอยู่ที่บ้านจีดโดยลำพัง ที่นั่น พระอาจารย์ฝั้นได้เผชิญศึกหนักเข้าเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ธรรมต่อไก่” ธรรมต่อไก่เป็นวิธีบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งชีผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ “ไท้สุข” บัญญัติขึ้นมาว่า หากใครนำไก่ตัวผู้และไก่ตัวเมียคู่หนึ่งมามอบให้ชีผ้าขาวแล้ว เพียงแต่กลับไปนอนบ้านก็สามารถบรรลุธรรมได้ มีชาวบ้านหลงเชื่อกันอยู่เป็นจำนวนมาก พระอาจารย์ฝั้นได้ชี้แจงแสดงธรรมต่อไปทั้งวัน ชีผ้าขาวกับผู้ที่เชื่อถือเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมแพ้ ตอนหนึ่ง ชีผ้าขาว อ้างว่าตนมีคาถาดี คือ ทุ โส โม นะ สา ธุ พระอาจารย์ฝั้นได้ออกอุบายแก้ว่า ทุ สะ นะ โส เป็นคำของเปรต ๔ พี่น้อง ทั้งสี่ ก่อนตายเป็นเศรษฐีทีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ตลอดชีวิตไม่เคยทำคุณงามความดี ไม่เคยสร้างกุศลเลย เอาแต่ประพฤติชั่ว เสเพลไปตามที่ต่าง ๆ ครั้นตายแล้ว จึงกลายไปเป็นเปรตไปหมด ต่างตกนรกไปถึง ๖ หมื่นปี พอครบกำหนด คนพี่โผล่ขึ้นมาก็ออกปากพูดได้คำเดียวว่า “ทุ” พวกน้อง ๆ โผล่ขึ้นมาก็ออกปากได้คำเดียวเช่นกันว่า “สะ” “นะ” “โส” ตามลำดับ หมายถึงว่า เราทำแต่ความชั่ว เราไม่เคยทำความดีเลย เมื่อไหร่จะพ้นหนอ ฉะนั้น คำเหล่านี้จึงเป็นคำของเปรต ไม่ใช่คาถาหรือคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สั่งสอนแก้ไขกันอยู่ถึงอาทิตย์หนึ่ง ก็ยังไม่อาจละทิฏฐิของพวกนั้นลงได้ พอดีโยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนหายป่วย พระอาจารย์อ่อนจึงย้อนกลับมา โดยมีพระอาจารย์กู่มาสมทบด้วยอีกรูปหนึ่ง กำลังใจของพระอาจารย์ฝั้นจึงดีขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางฝ่ายท่านมีท่านเพียงรูปเดียวเท่านั้น อธิบายอะไรออกไปก็ถูกขัดถูกแซงเสียหมด ในที่สุดชีผ้าขาวกับพรรคพวกก็ยอมแพ้ ยอมเห็นตามและรับว่า เหตุที่เขาบัญญัติ “ธรรมต่อไก่” ขึ้นมาก็เพื่อเป็น “นากิน” (อาชีพหากินด้วยการหลอกลวง) และยอมรับนับถือไตรสรณาคมน์ตามที่ท่านสั่งสอนไว้แต่ต้น
อธิบายอุบายการภาวนาให้กับหลวงปู่เหรียญ
พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดหนองคาย และได้ไปพักอยู่ที่วัดอรัญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้การก่อสร้างถาวรวัตถุอะไร เป็นแต่ทำกุฏิอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ในระยะเวลาก่อนหน้านั้น คือเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (พระสุธรรมคณาจารย์) ก็ได้บวชและจำพรรษาแรก ณ วัดศรีสุมัง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในระยะแรกหลวงปู่เหรียญก็ได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์บุญจันทร์ รองเจ้าอาวาส พร้อม ๆ กับเรียนนักธรรมไปด้วย พอปลายปี เมื่อสอบนักธรรมเสร็จ ก็กลับมายังวัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพักอยู่หลังจากบวชแล้วก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีสุมัง ในครั้งนั้น บิดาท่านได้ถวายหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนา ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้เรียบเรียง เมื่อหลวงปู่เหรียญได้อ่านดูแล้วรู้สึกเกิดความสนใจขึ้น ในหนังสือเล่มนั้นท่านได้อธิบายเรื่อง สติปัฏฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่อง กายานุปัสสนา ท่านก็ลองปฏิบัติไปตามหนังสือนั้น ก็ได้ผลดีพอสมควร จึงได้ตัดสินใจเข้าป่าไปเพื่อปฏิบัติธรรมกับพระอีกรูปหนึ่ง ในเดือน ๓ ปี ๒๔๗๖ แต่พระรูปนั้น อยู่ป่าได้ ๗ วันก็กลับวัดเดิม เนื่องจากภาวนาแล้วเจอนิมิตที่น่ากลัว จึงเกิดความกลัวขึ้นอย่างแรง ส่วนท่านก็อยู่ในป่าต่อคนเดียว เพราะตอนนั้นกำลังเกิดปีติในธรรมปฏิบัติ จิตกล้าหาญเต็มที่ไม่ได้กลัวอะไรทั้งหมด กลัวแต่กิเลสมันจะครอบงำเอาเท่านั้น จึงได้เร่งทำความเพียรโดยไม่ย่อท้อ เมื่อท่านได้ความมั่นใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปแล้ว จึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนำได้ ก็ได้มาพบกับ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เมื่อได้พบท่านครั้งแรกก็มีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน จึงได้เรียนถามอุบายภาวนาสมาธิกับท่าน ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังจนเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามท่านไปในที่อื่นเมื่อท่านย้ายไป เพราะมีอุปสรรคบางอย่าง ในปีถัดมา คือ พ.ศ. ๒๔๗๗ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโต เป็นรองฯ ในปีนี้ หลวงปู่เหรียญก็ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านด้วย นับเป็นพรรษาที่ ๒ ของหลวงปู่เหรียญ หลังจากที่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตในปี ๒๔๗๖ ประวัติในช่วง ๕ ปีนี้ของพระอาจารย์กู่ได้ขาดตอนไป สันนิษฐานว่าท่านคงจะได้ธุดงค์เพื่อตามหาท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งขณะนั้นธุดงค์อยู่ตามป่าเขาในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีประวัติกล่าวว่า หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่กว่า สุมโน ได้เคยมาพำนักที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ด้วย และมาปรากฏในประวัติของหลวงปู่เหรียญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่เหรียญธุดงค์ขึ้นเชียงใหม่เพื่อไปติดตามพระอาจารย์มั่น เมื่อได้พบท่านอาจารย์มั่นแล้วก็ได้ธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ไปยังที่ต่าง ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงปู่เหรียญได้จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากญาติโยมนิมนต์จำพรรษา และอยู่กับท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน และอาจารย์สิม พุทธาจาโร ด้วย หลังจากนั้นประวัติของท่านก็ขาดหายไปอีก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙
แนะอุบายการอยู่กับพระอาจารย์มั่น ให้กับหลวงปู่หล้า
สมัยนั้นพระอาจารย์กู่อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่หล้า เขมปตฺโตกำลังเดินทางไปหาพระอาจารย์มั่น โดยพักอยู่ที่ถ้ำพระเวส ยี่สิบกว่าวัน ก็ออกเดินทางต่อ เช้าวันรุ่งขึ้นก็เดินทางต่อไปถึงวัดป่าบ้านแก้งซึ่งเป็นวัดร้างไม่มีพระ ชาวบ้านแก้งก็มาร่วมกันใส่บาตร พอหลวงปู่หล้าฉันเสร็จก็ลาชาวบ้านออกเดินทางต่อไป ชาวบ้านเขาก็ไปส่ง เมื่อไปถึงระยะทางที่พอจะไม่หลงแล้ว ท่านก็ให้ชาวบ้านกลับ ท่านก็เดินต่อมาเพียงคนเดียว เดินลัดเลาะตามชายเขามาทางทิศตะวันตก มาค่ำเอาที่บ้านค้อพอดี ก็พักที่นั่น ตื่นเช้าบิณฑบาตแถวนั้นแล้วฉันเสร็จเดินทางต่อ มาค่ำเอาที่วัดป่าสุทธาวาสพอดี พักอยู่ที่นั้น ๓ คืน เมื่อไปถึงก็ไปกราบท่านอาจารย์กู่ ท่านถามข่าวคราวความเป็นมาทุกประการแล้ว ท่านก็ให้ข้อแนะนำว่า “ใครจะไปหาองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ต้องยอมตัวเป็นคนโง่ให้องค์ท่านเข่น จึงจะอยู่ได้ แม้ผมบางครั้งองค์ท่านดุด่าเหมือนเณรน้อย” แล้วองค์ท่านย้อนถามคืนมาว่า “คุณมาพักขณะนี้ได้อุบายอะไรบ้าง” กราบเรียนว่า “ได้ คือ การไปมอบกายถวายตัวเพื่ออยู่กับพระอาจารย์มั่น อย่าสำคัญตัวว่าฉลาด ไม่เหมาะสมส่วนใดยอมให้องค์ท่านว่ากล่าวได้ทุกเมื่อ” “เออ ดีหละ ฟังเทศน์ออกนะ ผมขออนุโมทนาด้วย จงไปโดยเป็นสุขเถิด แต่ขอให้พักถ้ำผาแด่นก่อนสักคืนสองคืน เพราะได้มาใกล้แล้วจะเสียเที่ยว จากนี้ไปถึงถ้ำประมาณสิบสี่กิโลเมตรกว่า ๆ”
เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านภู่ วัดป่ากลางโนนภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๙๐ พระอาจารย์ฉลวย ( หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม วัดป่าวิทยาลัย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มรณภาพแล้ว ) ได้เดินธุดงค์ไปนมัสการหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ที่ปากทางก่อนจะเข้าไปถึงวัดคือบ้านของนายอ่อน โมราราษฎร์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐาก ให้ที่พักและคอยรับส่งผู้ที่จะเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์ฉลวยก็ได้ไปอาศัยพักเช่นกัน ในระหว่างที่ได้พูดคุยกัน นายอ่อนได้กล่าวถึงสถานที่บริเวณบ้านกุดก้อมว่า ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ( จูม พนฺธุโล ) เคยกล่าวว่า ที่นั้นมีทำเลอันดีเหมาะสมที่จะสร้างวัด พระอาจารย์ฉลวยจึงขอให้นายอ่อนพาไปดู จึงพบว่าเป็นสัปปายะเหมาะแก่การภาวนาจริง จึงบอกกับโยมอ่อนว่า จะจำพรรษาที่นี่ ขอให้ช่วยจัดเสนาสนะให้ด้วย หลังจากไปกราบหลวงปู่มั่นแล้วก็จะกลับมา โยมอ่อนรับคำแล้ว หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้าน พระสายบัว พระทองม้วน จึงเข้าไปยังวัดหนองผือ หลังจากที่ได้นมัสการพระอาจารย์มั่นแล้วก็ได้พักอยู่ในวัดหนองผือ จนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา จึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่น เพื่อไปจำพรรษายังเสนาสนะที่ให้โยมอ่นจัดการอยู่ ฝ่ายโยมอ่อนและญาติโยมทั้งหลาย กำลังลังเลว่า คณะของหลวงปู่จะกลับมาจำพรรษาจริงหรือไม่ การสร้างเสนาสนะจึงยังค้างอยู่ เมื่อคณะของหลวงปู่มาถึงแล้ว จึงได้ช่วยจัดแจงจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นกุฏิ ๔ หลัง สำหรับพระภิกษุ ๔ รูป ทันเวลาเข้าพรรษาพอดี สถานที่ป่าดง ก็กลายเป็นที่พักสงฆ์เล็ก ๆ ไป และต่อมานายอ่อนก็ได้ถวายที่ดินของตนเพิ่มเติมด้วย จึงได้เป็นวัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ในเวลาต่อมา โดยมีพระอาจารย์ฉลวยเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๒๐.๔๒ น. หลวงปู่ฉลวย จึงได้ญัตติจากคณะมหานิกาย เป็นคณะธรรมยุตติกนิกาย พร้อมกับหลวงพ่อก้าน ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ พนฺธุโล (จูม จันทรวงศ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจา ได้ฉายาว่า "สุธมฺโม" และ “ฐิตธมฺโม" ตามลำดับ ขณะนั้น หลวงปู่ฉลวยมีอายุ ๔๒ ปี ท่านทั้งสองก็ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านภู่นี้อีก ๑ พรรษา ได้สร้างเสนาสนะ และเทศนาสั่งสอนญาติโยมให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใส ส่วนในการปฏิบัติภาวนานั้น หลวงปู่ฉลวยจะมีนิมิตภาพเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคลปรากฏอยู่เสมอ ท่านจึงเกิดความสงสัยว่า วัดใหญ่ชัยมงคลกับท่านนั้น มีความสัมพันธ์อะไรกันหนอ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงชักชวนหลวงพ่อก้านออกธุดงค์กลับมายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสามเณรติดตามมาด้วยองค์หนึ่ง ส่วนวัดป่าบ้านภู่นั้น หลวงปู่ฉลวยได้นิมนต์พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน มาเป็นเจ้าอาวาสแทน
พระอาจารย์มั่นมรณภาพ
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษา เหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน พระอาจารย์มั่นท่านก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า “ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย” บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อ ๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้วต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาอาจารย์มั่นฯ ยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้สั่งให้นำท่านไปยังวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์กู่ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือโดยทันที และเมื่อเหล่าศิษยานุศิษย์ตกลงใจที่จะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส ตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นประสงค์ ท่านก็ได้ติดตามนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปจังหวัดสกลนครด้วยต ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านพระอาจารย์ได้ ๘๐ ปี
อาพาธและมรณภาพ
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโนอาพาธด้วยโรคฝีฝักบัว ที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัว เมื่อออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว ท่านได้ลาญาติโยม ขึ้นไปทำสมณกิจที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอ พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนล่วงไปได้ ๓ เดือน อาการของโรคได้กำเริบมากขึ้น จนกระทั่ง ท่านได้ถึงมรณภาพ ในอิริยาบถ นั่งสมาธิ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ รวมอายุท่านได้ ๕๓ ปี