พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)
ประวัติ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
ข้อมูลจากเวบพระรัตนตรัย โพสท์โดย prt เมื่อ วันอังคาร 21 มิถุนายน 2005
นามเดิม : - พรหมา พิมสาร
กำเนิด : - วันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ (เดือน ๑๒ เหนือ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑) ณ บ้านป่าแพ่ง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน (ป่าซางปัจจุบัน)
บิดา - มารดา : - พ่อเป็ง พิมสาร และแม่บัวถา พิมสาร มีพี่น้องร่วมกัน ๑๓ คน ท่านเป็นคนที่ ๗ คือ
๑. พ่อน้อยเมือง พิมสาร
๒. เป็นเด็กหญิง
๓. แม่อุ้ย หล้าดวงดี
๔. พ่อหนานนวล พิมสาร
๕. พ่อหนานบุญ พิมสาร
๖. พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทรจักรรักษา)
๗. พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมมา)
๘. พระครูสุนทรคัมภีรญาณ (ครูบาคัมภีระ วัดดอยน้อย)
๙. พ่อหนานแสง พิมสาร
๑๐. แม่ธิดา สุทธิพงศ์
๑๑. แม่นางหลวง ณ ลำพูน
๑๒. เด็กหญิงตุมมา พิมสาร (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก)
๑๓. นางแสนหล้า สุภายอง
บิดามารดาเป็นผู้มีฐานะพอมีอันจะกิน มีอาชีพทำนา ทำสวน ประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่มีการยิงนกตกปลา ไม่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และไม่มีการเลี้ยงหมูขาย มีความขยันถี่ถ้วนในการงาน ปกครองลูกหลานโดยยุติธรรม ไม่มีอคติ หนักแน่นในการกุศล ไปนอนวัดรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำทุกวันพระ
บิดาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ถึงแก่กรรมในสมณเพศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๙๐ ส่วนมารดาของท่านได้นุ่งขาวรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระตลอดอายุ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ อายุ ๗๐
เมื่อเด็กชายพรหมาวัยพอสมควรได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำนา ทำสวน เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย งานประจำคือตักน้ำ ตำข้าว ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาเท่าที่พอจะทำได้ตามวิสัยของเด็ก
การศึกษา :
- ท่านครูบาพรหมมาได้เรียนหนังสืออักษรลานนาและไทยกลางที่บ้านจากพี่ชายที่ได้บวชเรียนแล้วได้สึกออกไป เพราะสมัยนั้นตามชนบทยังไม่มีโรงเรียนสอนกันอย่างปัจจุบันแม้แต่กระดาษจะเขียนก็หายาก ผู้สอนคือพี่ชายก็มีงานมาก ไม่ค่อยได้อยู่สอนเป็นประจำ จึงเป็นการยากแก่การเล่าเรียน อาศัยความตั้งใจและความอดทนเป็นกำลังจึงพออ่านออกเขียนได้
เหตุบรรพชา :
- อาศัยที่ได้ติดตามบิดามารดาไปวัดบ่อยๆ ได้เห็นพระภิกษุสามเณรอยู่ดีกินดี มีกิริยาเรียบร้อยก็เกิดความเลื่อมใส ยิ่งได้เห็นพระพี่ชายที่บวชอยู่หลายรูปพากันมาฉันข้าวที่บ้านยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสยิ่งขึ้น
ต่อมาท่านก็จำได้ว่าปีนั้นเป็นปีชวด ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ กำลังจะเกิด ปีนั้นดินฟ้าอากาศก็วิปริตผิดปกติ บ้านเรือนแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ผู้คนต่างถูกทุพภิกขภัยเบียดเบียนระส่ำระสาย ทั้งทางราชการก็เร่งรัดเกณฑ์ผู้คนไปเป็นทหารกันวุ่นวาย ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นก็รู้สึกไม่สบายใจ จึงน้อมใจไปในการบวชมากขึ้น ประกอบกับได้เห็นพวกเพื่อน ๆ ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงหนีไปบวชกันแทบทุกวัน จะเป็นการบวชหนีทหารหรือบวชผลาญข้าวสุก หรือบวชเพื่อความพ้นทุกข์อย่างไรไม่ทราบ
บรรพชา :
- เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. อายุ ๑๕ ปี ท่านถือผ้าจีวรกับดอกไม้ธูปเทียนลงจากเรือนไปด้วยความอาลัยบิดามารดาเป็นที่สุด ขณะนั้นมีพี่ชายติดตามไปด้วย ครั้นไปถึงวัดป่าเหียง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่วง (ป่าซางในปัจจุบัน) พระพี่ชายก็จัดการโกนหัวโกนคิ้วให้ แล้วบิดานำเด็กชายพรหมากราบขอบรรพชา ณ.วัดป่าเหียง ต.แม่แรง อ.ป่าซาง มีเจ้าอธิการแก้ว ขัตติโย เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้นพระอุปัชฌาย์มอบผ้ากาสาวพัสตร์ให้แล้ว ก็มีพระพี่ชายกับใครอีกท่านหนึ่งได้มาช่วยกันนุ่งห่มให้ ในขณะนั้นได้ก้มมองดูผ้ากาสาวพัสตร์อันเหลืองอร่าม อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ก็เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง นึกว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา จะขอบวชอุทิศตนต่อพระพุทธศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่
เมื่อบวชแล้วพระอุปัชฌาย์ผู้เคร่งครัดในวินัยได้เมตตา แนะนำสั่งสอนศีลาจารวัตร พร้อมทั้งการปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นสามเณรต้องท่องจำสวดมนต์ ๑๕ วาร ตั้งแต่ เยสันตา จนถึง มาติกามหาสมัย โดยเขียนใส่กระดานชนวนกว้าง ๑ คืบ ยาว ๑ ศอก กำหนดต้องท่องจำวันละ ๑ แป้น
ท่านว่าชั้นแรกรู้สึกหนักใจ เห็นตัวหนังสือเล็กขนาดอ่านจนไม่ถนัด นึกว่าเราจะจำได้หรือไม่หนอ แต่เมื่อตั้งใจท่องอย่างจริงจัง ก็ได้วันละ ๑ แป้นจริง ๆ แป้นนั้นท่านยังเก็บไว้เป็นอนุสรณ์
ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้พยายามหลีกเร้นหลบหนีหน้าคนอื่นเสมอ แม้เดินทางไปฉันข้าวยังบ้าน ก็พยายามไปคนเดียว เพื่อฉวยโอกาสสวดมนต์ไปตามทาง นอกจากนั้นสามเณรพรหมาได้เข้าโรงเรียนประชาบาล จนจบประถมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งเทียบกับประถมปีที่ ๔ สมัยนี้ เพราะเวลานั้นประถม ๔ ยังไม่มีสอนกัน
เมื่ออายุย่างเข้า ๑๗-๑๘ ก็ได้ศึกษานักธรรมตรีตามลำพัง เพราะเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนและครูสอน หนังสือเรียนก็หายาก มีเพียงนวโกวาทกับธรรมนิเทศและวินัยวินิจฉัย ๒-๓ เล่มเท่านั้น ครั้นรอบปีมา ทางจังหวัดก็จัดให้มีการสอบครั้งหนึ่ง เป็นการสอบเฉพาะจังหวัด เพราะทางคณะสงฆ์ยังไม่ได้เปิดสนามสอบอย่างสมัยนี้ ใครสอบได้ก็ออกประกาศนียบัตรรับรองให้ ทำกันอย่างนี้เป็นเวลา ๒ ปี
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงมีสำนักเรียนและครูสอนเป็นหลักแหล่ง โดนคณะสงฆ์ได้จัดตั้งสำนักเรียนที่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอสมัยนั้น ท่านกับสามเณรมอน อินกองงาม ได้พากันเดินไปศึกษาตลอดพรรษา ซึ่งมีระยะทางไกลประมาณ ๓ กิโลเมตร ต้องเดินผ่านทุ่งนาการไปมาลำบากมาก ครั้นออกพรรษาแล้วก็ได้ย้ายไปอยู่วัดฉางข้าวน้อย เพื่อการศึกษาทั้งนักธรรมและวิชาสามัญ
อุปสมบท :
- อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ณ พัทธสีมาวัดป่าเหียง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค. ๒๔๖๑ เจ้าอธิการแก้ว ขัตติโย (ครูบาขัตติยะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ฮอน โพธิโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สม สุวินโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พรหมจักโก"
เมื่อเป็นพระภิกษุท่านได้หมั่นเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ จนปี พ.ศ.๒๔๖๒ ทางการคณะสงฆ์ได้ทำการเปิดสอบนักธรรมสนามหลวงขึ้น ท่านก็ได้เข้าสอบนักธรรมสนามหลวง มีนักเรียนใน ๗ จังหวัดภาคพายัพ จำนวน ๑๐๐ รูป ได้มาสอบรวมแห่งเดียว จังหวัดลำพูนมีเข้าสอบ ๑๑ รูป ทำการสอบ ณ วัดเชตุพน จ.เชียงใหม่ พระมหานายกเป็นผู้นำข้อสอบมาเปิดสนามสอบ ในสมัยนั้นข้อสอบวิชาละ ๒๑ ข้อ ผลการสอบออกมามีผู้สอบได้ ๒ รูป คือครูบาพรหมา พรหมจักโก และพระทองคำ วัดเชตุพน นอกนั้นไม่ผ่าน สอบตกหมด นับว่าเป็นพระรูปแรกของจังหวัดลำพูนที่สอบได้
ท่านพระมหานายก (พระมหานายกคือ พระปลัดขวาของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) พร้อมคณะผู้นำข้อสอบมีความสนใจ ได้ติดตามมาถึงวัดป่าเหียง ซึ่งเป็นวัดเดิมของท่านพระภิกษุพรหมา ท่านพระมหานายกได้มาขอต่อพระอุปัชฌาย์และพ่อแม่พี่น้อง เพื่อจะรับไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ แต่พระอุปัชฌาย์และพ่อแม่พี่น้อง ต่างก็เป็นห่วงเป็นใย ไม่อนุมัติให้ไป โดยอ้างเหตุผลไปต่างๆ นานา มีตอนหนึ่งพระอุปัชฌาย์ได้หันมากล่าวแก่ท่านครูบาพรหมาว่า "ถ้ารักตัวก็จงตั้งใจปฏิบัติธรรม" ท่านครูบาระลึกถึงคำพระอุปัชฌาย์ เรื่องก็ยุติลงไป
แต่ท่านก็รู้สึกเห็นใจ และขอบพระคุณพระมหานายกเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณามาขอถึงที่อยู่ด้วยความหวังดี แต่ท่านก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในตนเองที่มีบุญไม่ถึง จึงมีอุปสรรค ทำให้ไม่ได้ไปศึกษาต่อ ให้มีความรู้ทางธรรมเท่าที่ควร
ต่อนั้นมาท่านก็ได้ระลึกถึงคำพูดของพระอุปัชฌาย์ที่ว่า "ถ้ารักตัวก็จงตั้งใจปฏิบัติธรรม" นั้นยังก้องอยู่ในหู ท่านจึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านการปฏิบัติธรรม จากครูบาต่างๆ หลายๆ องค์ อาทิ ท่านพระครูพิทักษ์พลธรรม (ครูบาหวัน มหาวโน) และพระครูภาวนาภิรัต (ครูบาอินทจักโก) ซึ่งเป็นพระพี่ชายที่อยู่สำนักเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นยังได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ ในข้อวัตรปฏิบัติธรรม จากครูบาอาจารย์อีกหลายท่านคือ ท่านครูบาแสน ญาณวุฑฒิ วัดหนองเงือก ท่านครูบาบุญมา ปารมี วัดกอม่วง และท่านครูบาอนุ ธัมมวุฑฒิ วัดพานิช เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางปฏิบัติที่ถูกต้อง พร้อมกับเวลานั้น ก็รู้สึกสังเวชในชีวิตของตน เนื่องด้วยชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน ก่อนที่ยังไม่ถึงแก่ความตายนี้ ขอให้ได้บำเพ็ญสมณธรรมไว้ให้เต็มความสามารถ จะเป็นที่อุ่นใจและพอใจในชีวิต จึงได้น้อมจิตไปในทางปฏิบัติธรรม
ออกอยู่ป่าถือธุดงค์
อาศัยความตั้งใจ และความนึกคิดเป็นแรมปี ลุถึงอายุ ๒๔ พรรษาที่ ๔ วันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เดือนเพ็ญ ๘ (เดือน ๑๐ทางเหนือ) ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ครูบาพรหมาได้ตัดสนใจกราบลาพระอุปัชฌาย์ โยมพ่อ โยมแม่ พร้อมทั้งญาติพี่น้อง เพื่อออกไปอยู่ป่าบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อเดินทางออกจากวัด ท่านได้มุ่งตรงสู่ดอยน้อย ซึ่งตั้งอยู่ฝากแม่น้ำปิง เขต อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีสามเณรอุ่นเรือน (ต่อมาเป็นพระอธิการอุ่นเรือน โพธิโก วัดบ้านหวาย) ติดตามไปด้วย วันต่อมาก็มีท่านพระครูพิทักษ์พลธรรม (ครูบาหวัน วัดป่าเหียง) ได้กรุณาติดตามไปอีกท่าหนึ่ง โดยได้พักจำพรรษาอยู่ในศาลาเก่าคนละหลัง บำเพ็ญสมณธรรมได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยมที่อยู่แถวนั้นเป็นอย่างดี
พอออกพรรษาท่านครูบาพร้อมคณะที่ติดตาม ได้พากันเดินทางกลับมาคารวะพระอุปัชฌาย์ พักอยู่ ๓ คืนก็ได้กราบลาท่านพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางสู่ป่า พอได้เวลาประมาณตี ๓ ก็ถือเอาบาตร จีวรกับหนังสือ ๒-๓ เล่ม พร้อมทั้งกาน้ำและผ้ากรองน้ำและออกเดินทางเข้าสู่ป่า เพื่อแสวงหา ความสงบ บำเพ็ญสมณธรรมให้เต็มความสามารถ น้อมจิตไปในทางปฏิบัติ
ภัยธรรมชาติ
การอยู่ป่าปีแรกรู้สึกว่าลำบากมาก เนื่องจากเวลานั้นในจังหวัดภาคเหนือ ยังไม่ปรากฏว่าจะมีพระรูปไหนออกอยู่ป่ามาก่อน จึงทำให้ประชาชนเกิดความสนใจแล้วพากันมาดู ถามนั่น ถามนี่ บางพวกก็พากันมานั่งจ้องมองดูเป็นเวลานานตั้งครึ่งวัน ทำให้เกิดความรำคาญไม่สงบ จึงต้องมีการโยกย้ายมาเพื่อหลีกเร้นหลบหน้าผู้คนอยู่เสมอ บางครั้งก็มีเพื่อนสหธรรมิกได้ติดตามไปหลายรูป
ในตอนแรกก็มีพระน้องชายกับโยมบิดาซึ่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้ติดตามไปด้วย ในตอนหลังบางครั้งก็มีครูบาอาจารย์หลายๆ ท่าน อาทิ ท่านครูบาคำ คันธิโย วัดดงหลวงสิบลี้ เป็นต้น ได้กรุณาให้ความอบอุ่นไปอยู่ด้วย บางครั้งก็ได้ติดตามท่านครูบาภาวนาภิรัต (พี่ชาย) วัดวนารามน้ำบ่อหลวงไปเป็นครั้งเป็นคราว ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงร้องของสัตว์ เช่น เสือ นกปู่ต๊ก (นกถึดทือ) เป็นต้น พอถึงฤดูใบไม้ร่วงก็ร้อนจนเกือบจะไม่มีที่จะกำบัง มีครั้งหนึ่งฝนตกพื้นดินชื้นแฉะนอนไม่ได้ ก็ขึ้นไปนอนตามขอนไม้ แต่แล้วพอตื่นขึ้นก็ปรากฏว่าลงไปนอนอยู่ตามพื้นดินกันหมด บางครั้งต้องนอนในน้ำเหมือนควายนอนปลัก
มีครั้งหนึ่งท่านครูบาพรหมาพร้อมด้วยคณะได้ไปอาศัยอยู่ป่า ไกลจากหมู่บ้านห้วยปันจ้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็เกิดมีฝนห่าใหญ่หลั่งไหลตกลงมา พระทุกรูปไม่มีกลดไม่มีร่ม ต่างก็พากันลุกขึ้นไหว้พระ เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งภาวนาอยู่ ในที่สุดก็นอนลง ทันใดนั้นก็มีน้ำป่าไหลหลากลงมา ทั้งฝนก็กระหน่ำตกไม่ขาดสาย พวกท่านก็ปล่อยเลยตามเลย นอนกันอยู่อย่างงั้น ก็เพราะต่างก็ง่วงเต็มแก่ พอตื่นขึ้นมาก็เป็นเวลาสว่าง ท่านครูบาพรหมาได้เหลือบตามองดูจีวรที่ห่มอันเปียกชุ่มว่ามันเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเป็นดินทรายไปหมด ยกเกือบไม่ขึ้น น่าสังเวชใจในชีวิตของตนเป็นกำลัง นึกปลอบในตนเองว่าช่างมันเถอะ อะไรๆ ล้วนแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น
พอถึงเวลาภิกขาจารก็มีพวกศรัทธาชาวบ้านมากันมากหลายเพื่อตักบาตร พวกท่านก็เอาจีวรที่เปียกแฉะเป็นดินเป็นทรายนั่นแหละห่มคลุมไปบิณฑบาต ขณะนั้นมีคนแก่คนหนึ่งชื่อ พ่อพญาอักขระราชสาราจารย์ พอแกมองเห็นสภาพของพระธุดงค์เปียกม่อลอกเช่นนั้น แกก็ร้องไห้โฮออกมาด้วยความสงสารสภาพของพระธุดงค์ พลอยทำให้คนอื่นพลอยหลั่งน้ำตาลงด้วยเป็นแถว
ครูบาท่านออกธุดงค์ ไปตามป่าเขาเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ เดินทางเข้าไปเขตพม่า และจำพรรษาอยู่ในเขตพม่าเป็นเวลานาน ๕ ปี หรือตามหมู่บ้านกระเหรี่ยงชาวเขา จนท่านครูบาสามารถพูดภาษากระเหรี่ยงได้เป็นอย่างดี
เมื่อคราวจำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ ท่านถือธุดงค์วัตร อยู่ป่าเป็นวัตร ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ฉันภัตตาหารวันละ ๑ มื้อ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ภายหลังจากที่ท่านครูบาพรหมาได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามป่า ตามนิคมต่างๆ หลายแห่งเป็นเวลา ๒๐ พรรษา ท่านได้ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคได้รับความสุข ความทุกข์ ความลำบาก บางครั้งไม่ได้ฉันภัตตาหาร ๑-๒ วัน ท่านเพียรพยายามอดทนด้วยวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดที่สุด
พระพุทธบาทตากผ้า
หลังจากที่ท่านได้เดินธุดงค์ไปตามป่าและตามนิคมหลายที่หลายแห่ง เป็นเวลานานหลายสิบปี ได้รับความสุข ความทุกข์ทรมาน ได้ผ่านประสบการณ์มามากต่อมากแล้ว ท่านก็ได้มาพักอยู่วัดป่าหนองเจดีย์ ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี ตามคำนิมนต์ของครูบาอาจารย์ญาติโยม ได้มาประจำอยู่ที่นั้น ๔ พรรษา หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อันเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดร้างมาตั้งพันกว่าปีได้ อยู่ได้พรรษาเดียวก็ได้ย้ายไปอยู่ป่าม่อนมะหิน ประจำอยู่ที่นั่น ๒ พรรษาแล้วได้ย้ายไปอยู่วัดป่าหนองเจดีย์อีก ๒ พรรษา
พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ท่านจะชราภาพและได้จำพรรษาในวัดเป็นประจำแล้ว แต่ท่านยังถือธุดงค์ศรัทธาเป็นประจำ ในฤดูแล้งปีไหนมีโอกาส ท่านก็อุตส่าห์พาภิกษุสามเณรไปเดินธุดงค์อยู่ตามป่าหรือป่าช้าเป็นครั้งคราว เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ทราบปฏิปทาในการเดินธุดงค์ แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ยังวัด
ท่านได้อาศัยร่มไม้บุนนาคต้นหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่หน้ากุฏิเป็นที่นั่งบำเพ็ญสมณธรรม เป็นประจำมาทุกเช้า ตลอดฤดูแล้งและกลางพรรษา ท่านปกครองลูกศิษย์เหมือนพ่อปกครองลูก ไม่มีอคติ ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง ติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ท่านพร่ำสอนลูกศิษย์ สอนแล้วสอนอีก ท่านจะค่อยๆ พูดช้าๆ หนักแน่น ชักเรื่องราวมาประกอบ พยายามให้ศิษย์เข้าใจและเป็นคนดี
ท่านไม่เคยด่าว่าลูกศิษย์ด้วยคำหยาบคายเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างหนักก็พูดด้วยความท้อใจว่า "คนนี้มันจากที่ไหนมาเกิดหนอ" เท่านั้น การเฆี่ยนตีศิษย์ก็ไม่เคยมี ท่านมีความเมตตากรุณา มีความเคร่งครัดในศีลวัต เป็นผู้ไม่สะสม มีความสันโดษ อนุเคราะห์ช่วยเหลือบำรุง ทั้งด้านความเป็นอยู่ และการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนถึงงานสาธารณกุศล สงเคราะห์คนยากจนโดยทั่วไป ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุ เสนาสนะ สิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ภายในวัดพระพุทธบาทตากผ้าและที่อื่นๆ รวมถึงงานเผยแพร่แสดงพระธรรมเทศนา งานเขียนหนังสือธรรมะและหนังสือสุภาสิตคำสอนหลายเล่ม ตัวอย่างหนังสือของท่านเพียงบางส่วน
๑. หนังสือคำถามคำตอบเรื่องหนานตั๋นกับหนานปัญญา
๒. หนังสือสุภาษิตคำสอน
๓. หนังสือทาน ศีล ภาวนา
๔.หนังสือคำถามคำตอบเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา
๕. หนังสืออภิณหปัจเวกขณ์
๖. หนังสือเขมสรณาคมน์
ท่านพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาให้อยู่ในศีลธรรม จัดตั้งสำนักโรงเรียนพระปริยัติ นักธรรมบาลี จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน พัฒนาวัดพระพุทธบาทตากผ้าให้เจริญรุ่งเรืองจนได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีความสำคัญทางศาสนาแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน และด้วยการสั่งสมบุญบารมี คุณงามความดีของท่านนี้เองทำให้ ท่านได้รับความเคารพศรัทธาจากพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ศรัทธาประชาชนทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศ และนานาประเทศ พระครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก ทรงไว้ซึ่งคุณแห่งพระสุปฏิปันโน พระอริยสงฆ์ ผู้มีความบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิงมีจริยาวัตรอันงดงาม มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด มีปฏิปทาอันอุดมและมั่นคง บำเพ็ญสมณธรรมอยู่เนืองนิจ คือผู้นำประโยชน์ความสุข ความสงบให้เกิดแก่หมู่คณะ ทรงไว้คือสังฆรัตนะคุณควรบูชาสักการะแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
มรณภาพ :-
ครูบาเจ้าพรหมจักรได้บำเพ็ญสมณธรรมจนเข้าสู่วัยชราภาพ สังขารของท่านชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อาการเจ็บไข้ได้ป่วยจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ท่านครูบาเจ้าได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ก่อนที่ท่านครูบาท่านจะละสังขาร ท่านครูบาได้ตื่นจากจำวัด แต่เช้าปฏิบัติธรรมตามกิจวัตร เมื่อถึงเวลาท่านลุกนั่งสมาธิ สำรวมจิตตั้งมั่นสงบระงับ ครูบาเจ้าพรหมจักรได้ดับขันธ์ (มรณภาพ) ในท่านั่งสมาธิภาวนา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ เวลา ๐๖.๐๐ น.อายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๓ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงครูบาเจ้าพรหมจักรด้วยพระองค์เอง หลังจากพระราชทานเพลิงเสร็จสิ้นแล้วได้เก็บอัฐิ ปรากฏว่าอัฐิของครูบาเจ้าพรหมจักรได้กลายเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ หลายสี
หน้าที่สมณศักดิ์ และผลงาน:-
- ก่อตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรม นักธรรมบาลีที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า
- ก่อตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดพระพุทธบาทตากผ้า
- ก่อสร้างถาวรวัตถุ ตามวัดต่างๆ สถานที่ต่างๆ อีกมากมาย เช่นอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม พรหมจักรสังวรกิตติขจรประชาสรรค์ เป็นต้น รวมทั้งงานซ่อมแซมสถานที่ต่างๆ
- เป็นประธานสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิวัดป่าหนองเจดีย์
- เป็นประธานสร้างกำแพง ซ่อมพระอุโบสถ วิหารและเจดีย์ วัดพระนอนม่อนช้าง
- เป็นประธานสร้างวิหารวัดม่อนมะหิน ขึ้น ๑ หลังและเป็นประธานสร้างพระวิหารและโรงเรียนประถมปลาย "พรหมาประชาอุทิศ" บ้านมะกอก
- ได้ช่วยเหลือสร้างวิหารวัดบ้านหวาย กุฏิช้างค้ำ
- พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระพุทธบาทตากผ้า พระวิหารจตุรมุขครอบรอยพระบาท พระอุโบสถ วิหาร ศาลา เสนาสนะต่างๆ ฯลฯ
- พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นผู้อำนวยการการศึกษาพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดพระพุทธบาทตากผ้า
- พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ "พระครูพรหมจักรสังวร" ฝ่ายอรัญวาสี
- พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า
- พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก
- พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับประกาศนียบัตรวัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นวัดพัฒนาดีเด่น
- พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกพิเศษ
- พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระสุพรหมยานเถร"
- พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นกรรมการชำระ พระไตรปิฎก ฉบับลานนา ฯลฯ
- พ.ศ. ๒๕๒๒ รับการยกฐานะวัดพระพุทธบาทตากผ้าให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
ธรรมเทศนา :-
ชีวิตของเราทั้งหลายนั้นมันไหลไปตามกระแสแห่งความอยาก คือ ตัณหา มันจึงดิ้นรน วุ่นวาย เป็นทุกข์ทรมาน เพราะว่าเรา ไม่มีสติมากันกระแสแห่งตัณหา คือ ความอยาก เรามาปฏิบัติ วิปัสสนากัมมัฏฐานจุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะชำระจิตใจของเรา ให้บริสุทธิ์ ให้สะอาด หรือมาปิดกั้นเสีย ซึ่งกระแสแห่งตัณหา คือ ความอยาก จำเป็นที่จะต้องปลูกสติ สร้างสติขึ้นให้แก่กล้า จึงจะสามารถปิดกั้นเสีย ซึ่งกระแสแห่งตัณหาได้
การปฏิบัติธรรม ท่านครูบาพรหมา (หลวงพ่อพระพุทธบาทตากผ้า) ได้เทศนาไว้มาก พอจะสรุปได้ว่า ขั้นแรกท่านได้ตั้งใจสมาทานอธิษฐานเอาธุดงค์ธรรมตามกำลังที่จะปฏิบัติได้ แล้วได้ฝึกหัดเป็นคนสันโดษมักน้อย อยู่ง่าย ฉันง่าย ปรับปรุงจิตใจให้เข้ากับธรรมชาติ
พยายามฝึกจิตให้อาจหาญเป็นสมถภาวนา มีพุทธานุสติและอภิณหปัจเวกขณ์ เป็นต้น แล้วพิจารณาสังขาร รูป นาม ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามระเบียบวิธีแห่งการปฏิบัติธรรม
ทั้งนี้มิใช่มุ่งหมายอย่างอื่นหากมุ่งหมายความที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อเรียกร้องให้คนนับถือ มิใช่เพื่อลาภสักการะและความสรรเสริญเยินยอ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ เพื่อ สังวร คือความสำรวม เพื่อ ปหานะ คือความละเว้น และ เพื่อ นิโรธะ คือ ความดับทุกข์"
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com