ประวัติ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร - วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต.พระสิงห์ เขต1 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ - webpra

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ประวัติ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต.พระสิงห์ เขต1 อ.เมือง จ.เชียงใหม่



วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ประวัติ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร


  พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ขั้นแรกให้สร้างเจดีย์สูง ๒๓ วา เพื่อบรรจุพระอัฐิ ของพญาคำฟู พระราชบิดา
ต่อมาอีกสองปีจึงสร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฎิสงฆ์เรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลี" ต่อมาบริเวณหน้าวัดมีตลาดเกิดขึ้นชาวบ้านเรียกว่า "ตลาดลีเชียง" แล้วเรียกวัดว่า "วัดลีเชียง" และ "วัดลีเชียงพระ" ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๔ สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย เมื่อขบวนช้างอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาถึงหน้าวัดลีเชียงก็ไม่ยอมเดินทางต่อ

พระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐาน ณ วัดลีเชียง ประชาชนทางเหนือนิยมเรียก"พระพุทธสิหิงค์" สั้นๆ ว่า "พระสิงห์" จึงเรียกชื่อวัดตามพระพุทธรูปว่า "วัดพระสิงห์"
            เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๕๔ พระเจ้ากาวิละได้ โปรดฯ ให้สร้างอุโบสถ และหอไตรขึ้น โดยมีลักษณะเป็นอาคารทรงล้านนาขนาดใหญ่ ตรงกลางอาคารมีกู่ซึ่งแต่เดิมคงเป็นสถานที่ที่ประดิษฐานพระประธ าน



พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐาน

ตำนานพระสิงห์

   ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า หากพิจารณาถึงคำว่า พระสิงห์ นั้น หมายถึง วัดซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์ เป็นนามพระพุทธรูป อันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ตรงกับ พระพุทธสิหิงค์ อันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ทางภาคเหนือล้านนาไทย มิได้เรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ นิยมเรียกว่า พระสิงห์ ท่านผู้รู้บางท่านพยายามคิดว่า พระสิงห์ หมายถึง สิงหนวัติ กษัตริย์โบราณผู้สร้างเมืองโยนกนครก็มี บางท่านอธิบายว่า หมายถึง พระศากยสิงห์ คือพระนามหนึ่งของ พระพุทธเจ้า กระนั้น เท่าที่พิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่า พระสิงห์ ก็ดี พระพุทธสิหิงค์ ก็ดี น่าจะพึงยุติกันได้ว่าเป็นนามของพระพุทธรูป อันบ่งบอกถึงคติพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ เพราะทุกที่ที่ปรากฏว่ามี พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ นั้นแสดงให้เห็นว่า สถานที่เหล่านั้นได้มีพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างลังกาวงศ์แพร่หลายไปถึง ฉะนั้น ควรถือกันว่าพระพุทธรูปที่เรียกพระนามอย่างนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาเถรวาท อย่างลังกาวงศ์ในประเทศไทยและก่อนศตวรรษที่ 20 ขึ้นไป จะไม่พบหลักฐานเช่นนี้เลย

พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนาไทย พุทธศตวรรษที่ 21 มีพุทธลักษณะสง่างาม อย่างยากที่จะหาพระพุทธรูปในสมัยเดียวกันมาทัดเทียมได้ หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร ชนิดสำริดปิดทอง ประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในกุฏิเจ้าอาวาส ชาวเชียงรายและประเทศใกล้เคียงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ถือว่า พระสิงห์ เป็นพระพุทธปฏิที่ทรงความสำคัญ และทรงความศักดิ์สิทธิ์มีมหิทธานุภาพสามารถยังความสงบร่มเย็น และเป็นมิ่งขวัญของชาวประชามาทุกยุคทุกสมัย จนกล่าวกันว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ คือ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงรายและประเทศใกล้เคียง

พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานมีหลักฐาน ปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้

  1. พ.ศ. 1850 ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย 70 ปี
  2. พ.ศ. 1920 ประดิษฐานที่พิษณุโลก 5 ปี
  3. พ.ศ. 1925 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 5 ปี
  4. พ.ศ. 1930 ประดิษฐานที่กำแพงเพชร 1 ปี
  5. พ.ศ. 1931 ประดิษฐานที่เชียงราย 20 ปี
  6. พ.ศ. 1950 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 255 ปี
  7. พ.ศ. 2250 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 105 ปี
  8. พ.ศ. 2310 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 28 ปี
  9. พ.ศ. 2338 ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ – ปัจจุบัน

 

 

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด

พระประธาน

พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธปฏิมาศิลปะล้านนาไทย พุทธศตวรรษที่ 21 ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 204 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 284 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถมีพุทธลักษณะสง่างาม ประณีต ที่ฐานมีจารึกอักษรธรรมล้านนาไทยว่า “กุลลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา” อันหมายถึง ปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ในทางพระพุทธศาสนาที่ระบุว่า สภาวะธรรมทั้งปวงมี 3 ประเภท คือ

  1. ธรรมทั้งหลายที่เป็น “กุศล” ก็มี
  2. ธรรมทั้งหลายที่เป็น “อกุศล” ก็มี
  3. ธรรมทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือจาก “กุศลและอกุศล” ก็มี

พระอุโบสถ

พระอุโบสถสร้างขึ้นราวปีพ.ศ. 1251 - พ.ศ. 1252 ปีฉลู-ปีขาล เดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ วันเสาร์ เวลา 12.00 น. (พ.ศ. 2432 ถึง พ.ศ. 2433) รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยพระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน


บานประตูหลวง

บานประตูหลวง ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอกผู้มีผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลก นามว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี เป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน

  • ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก
  • น้ำ คือ ของเหลวต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ
  • ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป
  • ไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิด พลังงาน

แนวคิดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้

  • ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ดิน
  • นาค เป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ
  • ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของ ลม
  • สิงห์โต เป็นสัญลักษณ์ของ ไฟ

ผสมผสานกันโดยมีลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีลีลาเฉพาะแบบของ อ.ถวัลย์ ดัชนี งานแกะสลักบานประตูวิหารนี้ พระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้มอบความไว้วางใจให้ สล่าอำนวย บัวงาม หรือ สล่านวย และลูกมืออีกหลายท่านเป็นผู้แกะสลัก ใช้เวลาในการแกะสลักเกือบหนึ่งปี ได้บานประตูมีขนาด กว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.50 เมตร และหนา 0.2 เมตร ด้วยลวดลายและลีลาการออกแบบ และฝีมือการแกะสลักเสลาอย่างประณีตบรรจง นับว่า บานประตูนี้ได้ช่วยส่งเสริมความงดงาม ของพระวิหารได้โดดเด่นมากขึ้น


พระเจดีย์

พระเจดีย์ เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนาไทย สร้างในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง คือ พ.ศ. 2492 ครั้งหนึ่ง โดยท่านพระครูสิกขาลังการ เจ้าอาวาสในขณะนั้น และอีกหลายครั้งในสมัยต่อมา โดยท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน


พระพุทธบาทจำลอง

พระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา”


หอระฆัง

เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาไทยประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน ขนาดความสูง 25 นิ้ว ยาว 39 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ. 2438 ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง


ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา

พลโทอัมพร จิตกานนท์ นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดียและอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และปลูกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา ในฐานที่เป็นต้นไม้ซึ่ง พระโพธิสัตว์ลาดบัลลังก์ประทับในคืนก่อนตรัสรู้ เดิมเรียกกันว่าต้น “อัสสัตถพฤกษ์” ที่ได้ชื่อว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ก็เพราะเป็นต้นไม้ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ “โพธิธรรม” ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


ต้นสาละลังกา

ต้นสาละลังกาเป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับสำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกา และนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อ พ.ศ. 2512

 

วัดพระสิงห์ มีเจ้าอาวาสที่บริหารวัดสืบต่อกันมานับแต่ปีที่สร้างวัด จนปัจจุบันจำนวน 9 รูป คือ

  1. ครูบาปวรปัญญา พ.ศ. 1943 - พ.ศ. 1962
  2. ครูบาอินทจักรรังษี พ.ศ. 1962 - พ.ศ. 1985
  3. พระอธิการอินตา พ.ศ. 1985
  4. พระมหายศ
  5. พระธรรมปัญญา พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2440
  6. พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก) พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2473
  7. พระครูเมธังกรญาณ (ดวงต๋า) พ.ศ. 2473 - พ.ศ. 2488
  8. พระครูสิกขาลังการ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2522
  9. พระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) (ชื่น ปญฺญาธโร -แก้วประภา - ป.ธ.6) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2523 - ปัจจุบัน


Top