พระขันทกุมาร
ประวัติ (มหาเทพนักรบแห่งสวรรค์)
พระขันทกุมาร
มหาเทพนักรบแห่งสวรรค์
คัดมาจากหนังสือ : มหาเทพแห่งความสำเร็จ พระพิฆเนศ
โดย : ฑิภากร บารเมษฐ์ / สำนักพิมพ์สยามความรู้
พระขันทกุมาร มหาเทพองค์นี้มีชื่อใกล้มาทางฝ่ายไทย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศ ในอินเดียเรียกพระขันทกุมารนี้ว่า สกันทะ (ผู้โลดเต้น ผู้ทำลาย) , กรรตติเกยะ (บางแห่งเขียนว่า การัตติเกยะ) อินเดียตอนใต้เรียก สุพราหมัณเย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือมาก
ตามหมู่บ้านทั้งหลายในอินเดีย จึงนิยมตั้งศาลสักการะบูชาพระขันธกุมารกันแทบทุกหมู่บ้าน
พระขันธกุมาร (ขันทกุมาร) เป็นโอรสของ พระศิวะเทพ กับ พระนางปราวตี (พระแม่อุมา) เกิดจากน้ำเชื้อของพระศิวะมหาเทพ ที่ร่วงหล่มลงพื้นธรณี จนยากที่จะพิสูจน์ว่าพระพิฆเนศกับพระขันธกุมารใครเป็นพี่เป็นน้อง
ในวรรณคดีโบราณ เช่น โองการแช่งน้ำ แม้จะมิได้ขานพระนามของพระขันธกุมารโดยตรง แต่ก็มีคำที่ว่า "ขุนกล้าขี่นกยูง" ปรากฎความอยู่
"ขุนกล้า" ในโองการแช่งน้ำนั้นหมายถึง พระขันธกุมารนั่นเอง ด้วยมีสัตว์พาหนะเป็นนกยูงที่ชื่อ ปรวาณี (ก่อนนั้นเป็นปัทมาอสูร)
เทวกำเนิดของ พระขันทกุมาร นั้น มีไม่มากเหมือนเทพเจ้าองค์อื่นๆ กล่าวกันว่า พระขันทกุมารนี้เป็นหนุ่มรูปงาม มี 6 พักตร์ (บางแห่งวาดเป็นพระพักตร์เดียว) และมี 12 กร ผิวพรรณนั้นงดงามดั่งจันทร์คืนเพ็ญ แต่สง่างามดุจพระสุริยะเทพ
การกำเนิดของพระขันทกุมารนั้นก็เพื่อปราบอสูรที่ชื่อ ตาระกาสูร เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นตรีปุระ อสูรตนนี้มีตบะแรงกล้ามาก สามารถบำเพ็ญฌานบารมีจนร้อนไปถึงพรหมโลก ทำให้จักรวาลสั่นสะเทือนโกลาหลไปหมด กษัตริย์อสูรตนนี้ไม่เกรงพระบารมีของมหาเทพผู้สร้าง (พระพรหม) คิดว่าตนเองก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน
การบำเพ็ญฌานบารมีนั้นทำให้ พระพรหม ทนความร้อนไม่ไหว ต้องเสด็จมาประทานพรตามที่อสูรปรารถนา เหตุที่บอกว่าอสูรตาระกามีตบะแรงกล้านั้น เพราะได้ทำสมาธิอย่างเข้มงวดเป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปีสวรรค์ ทำให้พรที่อสูรตนนี้ขอไว้กับพระพรหมคือขอให้มีชีวิตเป็นอมตะ แข็งแกร่งไม่มีผู้ใดในตรีภพเทียบได้ และไม่มีใครสามารถสังหารเขาได้นอกเสียจากโอรสของพระศิวะเทพ ที่ขอพรไปเช่นนั้นเพราะล่วงรู้ว่าขณะนั้นพระศิวะกับพระแม่อุมาเทวียังไม่มีโอรสด้วยกันเลย
เมื่อตาระกาสูรได้รับพรจากพระพรหมแล้ว ก็เริ่มออกอาละวาดในจักรวาลทันที!! เริ่มต้นด้วยการยึดเอาวิมานและกวาดเอาทรัพย์สินของพระอินทร์ไปจนหมด บังคับให้พระฤาษีมอบ โคกามเกนุ ซึ่งเป็นโคที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถบันดาลให้เจ้าของได้ทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ยังเปลี่ยนกฎเกณฑ์ธรรมชาติจนวุ่นวายไปหมด เช่น บังคับให้พระอาทิตย์ดับแสงและไร้ซึ่งความร้อน บังคับให้พระจันทร์ลอยค้างอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา บังคับลมให้พัดโหม หรือเปลี่ยนทิศทางได้ตามคำสั่งของอสูรตาระกา ยังผลให้โลกเดือดร้อนวุ่นวายมาก
ฝ่ายเทวดาทั้งหลายอันมี พระวิษณุเทพ เป็นใหญ่นั้น ได้เสด็จไปยังพระทวารที่ประทับชั้นในของพระศิวะเทพ และร่วมกันเปล่งคำสรรเสริญในพระบารมีแห่งมหาเทวะ คราวนั้นถึงกับทำให้พระศิวะต้องทรงผละพระวรกายปรากฎกายต่อเบื้องหน้าเทพทั้งหลาย พระองค์ทรงเห็นใบหน้าที่เศร้าหมองระทมทุกข์ของเทวดาจึงได้ถามว่าเพราะเหตุอันใด
ฝ่ายวิษณุเทพเล่าเรื่องราวของอสูรตาระกาว่าได้พรจากพระพรหมให้มีชีวิตอมตะ ไม่มีใครสังหารได้นอกจากโอรสของพระศิวะเท่านั้น ฝ่ายเทพทั้งหลายจึงรอการประสูติของโอรสแห่งพระศิวะอยู่นานนับพันปี จึงได้มาเข้าเฝ้าเพื่อขอพึ่งบารมี
ครานั้น พระศิวะมหาเทพ ได้ทรงแบ่งน้ำเชื้อที่มีความร้อน เหมือนไฟแห่งการทำลายล้างออกมาหยดหนึ่งร่วงลงสู่พื้นดิน ด้วยความรีบร้อน พระอัคนี ได้รีบแปลงกายเป็นนกเขา กลืนเอาน้ำเชื้อนั้นเข้าไป ความร้อนแรงแห่งน้ำเชื้อนั้นทำให้พระอัคนีร้อนรนจนทนไม่ได้ พระศิวะแนะนำให้เอาน้ำเชื้อนั้นไปใส่ในครรภ์ของผู้หญิงแทน และต้องใส่ในครรภ์ของหญิงซึ่งได้อาบน้ำในวันแรกของเช้าตรู่เดือนมาฆะ
ในวันนั้น บรรดาภริยาของฤาษีทั้ง 7 ตนได้มาอาบน้ำ ปรากฎว่า ภริยาทั้ง 6 คน (เหลือเพียงคนเดียว) ที่ลงอาบน้ำนั้นถูกน้ำเชื้อที่นกเขาคายไว้ ซึมแทรกเข้าไปตามรูขุมขน นางทั้งหกจึงร้อนรนทุกข์ทรมานมาก นางทั้งหกได้ถูกเหล่าฤาษีขับไล่ออกจากอาศรม จึงได้ตัดสินใจทำลายน้ำเชื้อที่เป็นตัวอ่อนทิ้ง ด้วยพลังแห่งโยคะที่เทือกเขาหิมาลัย เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทรมาน ด้วยการเหวี่ยงตัวอ่อนลงไปที่แม่น้ำคงคา เช่นเดียวกับ พระแม่คงคา ที่ได้เหวี่ยงเอาตัวอ่อนนี้ขึ้นไปที่พงหญ้า เสมือนการชุบตัวจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้ปรากฎทารกน้อยขึ้นตนหนึ่งที่พงหญ้านั้น
พระพรหมทรงรู้ด้วยญาณว่า โอรสแห่งพระศิวะเทพได้ถือกำเนิดแล้ว จึงบัญชาให้พระฤาษีวิศวามิตรไปประกอบพิธีให้กับโอรสน้อยแห่งศิวะเทพ ทารกนี้พูดได้ตั้งแต่ยังแบเบาะว่า "ด้วยประสงค์ของพระศิวะเทพที่ส่งท่านมายังที่นี้ ขอให้ท่านฤาษีจงประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อชำระร่างกายของข้า ให้บริสุทธิ์ตามกฎแห่งพระเวทที่วางไว้เถิด"
ข้างฝ่ายพระอัคนีที่เคยอุ้มน้ำเชื้อไว้ เมื่อสมัยจำแลงกายเป็นนกเขานั้น ได้เดินทางมายังที่แห่งนี้ด้วย และมอบคฑาศักดิ์สิทธิ์ถวายให้กับพระองค์ ทันทีที่ได้รับอาวุธ พระขันทกุมารก็เหาะขึ้นไปบนยอดเขาแห่งหนึ่ง เพื่อพิสูจน์พลังอำนาจแห่งตน ด้วยการใช้คฑานั้นฟาด จนภูเขาถล่มทลายลงในพริบตา ทันทีที่ยอดเขานั้นแยกออก ได้ปรากฎปิศาจ 10 โกฏิตนออกมาก แต่ก็ถูกพระองค์สังหารจนสิ้น
ต่อมา นางกฤตติกา (กลุ่มดาวทั้ง 6 ดวง) ได้ลงมาอาบน้ำ เห็นกุมารน้อยนอนอยู่ที่กอหญ้า ก็บังเกิดความรักใคร่ นำเอากุมารไปเลี้ยงดูในดินแดนของนางทั้งหก และเพื่อไม่ให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่แม่นมทั้งหลาย พระกุมารจึงได้แยกร่างออกเป็น 6 พระองค์ (บางตำนานบอกว่ามี 6 พระพักตร์ในร่างเดียว) ด้วยเหตุที่เป็นลูกที่รักยิ่งของนางการัตตี พระองค์จึงได้ชื่อว่้า พระการัตตีเกยะ (Kaitikeya)
ขณะเดียวกันนั้น ได้เกิดเหตุประหลาดกับพระนางปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) คือมีน้ำนมไหลออกจากเต้านมทั้งสองข้าง นางจึงได้ถามเรื่องน้ำเชื้อที่หล่นบนผืนดินกับพระศิวะ เพราะนางเข้าใจว่า เหตุที่น้ำนมของนางซึ่งไหลอยู่นี้ ชะรอยว่าโอรสจะถือกำเนิดแล้ว แต่อยู่ที่ผู้ใดหรือแห่งหนใดกันเล่า พระศิวะจึงมีโองการให้ผู้ครอบครองกุมารรีบเอามาคืนด่วน มิฉะนั้นจะรับโทษหนัก
พระศิวะเทพและพระอุมาเทวี จึงเริ่มตรวจสอบถามความจริงในหมู่เทพ เริ่มจากพระพรหม ติดตามความไล่หาจนมาถึงกลุ่มดาวทั้งหก
( ภาพครอบครัว พระพิฆเนศ พระศิวะ พระแม่อุมา พระขันทกุมาร )
พระศิวะเทพยินดีมาก ที่นางทั้งหกได้ดูแลโอรสของพระองค์เป็นอย่างดี จึงส่งคณะเทพบริวารไปทูลเชิญกุมารกลับเขาไกรลาส ในวันเสด็จกลับนั้น พระนางปราวตีได้จัดส่งราชรถที่สร้างโดยพระวิศวกรรมไปรับ โดยพระโอรสเสด็จกลับพร้อมกับนนทิเกศวร และพระแม่กฤตติกา เมื่อราชรถถึงเขาไกรลาส เทพเทวดาทุกชั้นฟ้าเสด็จมาอำนวยชัย ประโคมดนตรีเป่าสังข์ ต้อนรับกันอย่างเอิกเกริก มีการนำหม้อน้ำหลายร้อยใบที่บรรจุแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ มาชำระร่างกายให้กับกุมาร และเหล่าเทพได้มอบสิ่งของให้ดังนี้...
พระวิษณุเทพ มอบมงกุฎและเครื่องประดับเพชรพลอย
พระศิวะเทพ พระบิดา มอบตรีศูล คันศร ลูกศร พินาค ขวาน ปาศุปัต
พระพรหมเทพ มอบด้ายสายสิญจน์ หม้อน้ำมัณฑลุ ลูกธนูพรหมศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการทำลายศัตรู พร้อมด้วยมนต์คายตรี
พระอินทร์ มอบช้าง อสุนีบาต
พระวรุณ มอบภาชนะใส่น้ำอมฤต
ท้าวกุเบร มอบไม้อาญาสิทธิ์
กามเทพ มอบลูกธนูแห่งรักและปรารถนา
มหาสมุทรน้ำนม มอบเพชรพลอย กำไลข้อเท้า
พญาครุฑ มอบโอรส คือ พระจิตพรหัณ ให้รับใช้
พระอรุณ มอบไก่แจ้ตามรจูฑ
พระนางปารวตี หรือ พระแม่อุมาเทวี พระมารดา มอบพลังอำนาจ
พระลักษมี มอบทรัพย์สมบัติของล้ำค่า
พระสรัสวดี มอบสิทธิวิทยา ความรู้อันสูงสุดแห่งโยคะ
พระขันทกุมารก็เสด็จไปเป็นผู้ปราบตาระกาสูร อสูรที่กล่าวมาเมื่อตอนต้นนั่นเอง
( ภาพ พระพิฆเนศ และ พระขันทกุมาร ซึ่งเป็นพี่น้องกัน )
พระขันธกุมารมีพระชายา 2 พระองค์ เท่ากับพระพิฆเนศ คือ พระนางเทวเสนา และ นางวัลลี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงของชาวลังกา พิธีแต่งงานมีขึ้นที่นิมฝั่งแม่น้ำมานิก ต่อมานิคมแห่งนี้เรียกว่า กรรตติเกยะคาม ดังนั้น คนพื้นเมืองแถบนี้จึงนับถือพระขันธกุมารและยางวัลลรเป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ประจำหมู่บ้าน
ในอินเดียนั้นมีพิธีบูชาพระขันธกุมาร ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 (จิตรมาส) พิธีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โลหะอภินิหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์โดยตรงในฐานะที่พระองค์เป็นชาตินักรบมาตั้งแต่เยาว์วัย
พระขันทกุมาร มีพระนามเรียกมากมาย เช่น
มหาเสนา (เทพเจ้าแห่งสงคราม) ชาวไทยนำคำนี้มาใช้เป็นชื่อตำแหน่งทางการทหาร
เสนาบดี (เป็นใหญ่ในหมู่นักรบ) ชาวไทยนำคำนี้มาใช้เป็นชื่อตำแหน่งทางการทหาร
สิทธิเสนา, ตารกชิต, ทวาทศกร, ทวาศากย์, สกันทะ, การติเกยะ, สุพราหมัณย เป็นต้น
พรแห่งพระขันทกุมาร
เนื่องจากพระองค์คือเทพแห่งสงครามและการต่อสู้ ผู้บูชาพระขันทกุมารทุกคน จึงได้รับความคุ้มครองจากพระองค์
พระองค์จะประทานความกล้าหาญชาญชัย ความเป็นผู้นำผู้อื่น ความมีศักดิ์ศรีในสังคม
นอกจากพระขันทกุมารจะประทาน ความคุ้มครอง แล้ว ยังประทาน กำลังกาย กำลังใจ ในการกระทำการต่างๆให้ลุล่วง
พระองค์ไม่โปรดความอ่อนแอ ขี้ขลาด ลังเลใจ รวมถึงความอิจฉาริษยา
พระขันธกุมารคือตัวแทนแห่งความองอาจ คล่องแคล่วว่องไว ความยุติธรรมและการเรียกร้องความถูกต้อง
การจะได้มาซึ่งชัยชนะของพระขันทกุมารคือการโหมพละกำลังเข้าต่อสู้กับอสูร มีความกล้าได้กล้าเสีย
พระขันธกุมารมีอิทธิฤทธิ์มหาศาล พละกำลังที่พระองค์ใช้ปราบอสูรนั้นเปรียบดั่งพละกำลังของพระศิวะและพระแม่ทุรการวมกัน
ผู้บูชาพระขันทกุมารจะได้รับกำลังใจในการต่อกรกับปัญหาต่างๆ รวมถึงการได้รับความยุติธรรม พ้นจากการถูกเอาเปรียบกลั่นแกล้ง
พระองค์ยึดมั่นในเกียรติยศศักดิ์ศรียิ่งกว่าสิ่งใด ทำให้กษัตริย์ มหาราชา ผู้ครองแคว้นต่างๆ ตลอดจนนักการเมือง นิยมบูชาพระขันทกุมาร
พระขันทกุมาร ปรากฎทิพยรูปในลักษณะของเด็กหนุ่มรูปงาม พระพักต์ผ่องใส สดชื่น แสดงถึงพลังแห่งชายหนุ่มผู้ไม่หวาดหวั่นกับสิ่งใด
ฉลองพระองค์ในชุดขุนศึกสมัยโบราณ ภาพวาดบางภาพมีเสื้อเกราะ หอกศักติ (หอกรูปดอกบัวตูม เป็นหอกแห่งขุนศึก) ประคำหลากสี
พระขันธกุมารมีสัตว์พาหนะคือ นกยูง
คาถาบูชาพระขันทกุมาร
มีหลายบทเลือกสวดบทใดบทหนึ่ง (หรือสวดทั้งหมด)
***** ก่อนการสวดบูชาพระขันทกุมาร จะต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ *****
1. โอม สกัณทะ ยะนะมะฮา
2. โอม การติเกยะ นะมะฮา
3. โอม ศรี สะระวัน ภะวายะ นะมะฮา
5. โอม มูรุกัน นะมะฮา
5. โอม ชยะ ศรี มหา สกันทายะ นะมะฮา
6. โอม ไจย ปิไลยาร์ มูรุกัน นะมะฮา
(คือการสวดบูชาพระพิฆเนศและพระขันทกุมารพร้อมกัน)
7. โอม ชยะ ชยะ มหาวีระ ภัควาน ศรี สกันทะ นะโม นะมะฮา
8. โอม ตัตปุรุศายะ วิทมาเห
มหาเสนา ยะ ดีมาฮี
ตันโน สกันทะ ประโจธยาตุ
9. โอม ศักติธาริณัม ตาระกะชิตัม ทวาทศการัม
สะระชัม เกราญจะภิทัม ยุทธรางคัม อุชุกายัม คังคาปุตรัม
มนุระอาสสะนัม เทวัม นะมามิ
10. โอม สะกันทะ เทวะ ชนะมาเรนัง อานุรัก ขันตุ
ทุติยัมปิ สะกันทะ เทวะ ชนะมาเรนัง อานุรัก ขันตุ
ตะติยัมปิ สะกันทะ เทวะ ชนะมาเรนัง อานุรัก ขันตุ
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/sakanda.html