ประวัติ เมืองเพชรบูรณ์ - พระกรุ - webpra

เมืองเพชรบูรณ์

ประวัติ พระกรุ


เมืองเพชรบูรณ์

                เพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่าใครเป็นผู้สร้างเมื่อใด จากการขุดค้นที่ลานทองบริเวณเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในวัดมหาธาตุพบอักษรไทยโบราณซึ่งอ่านได้ว่า “พระเจ้าเพชรบูรณ์ โอรสพระยาอันรงได้ประดิษฐานไว้” ทำให้ทราบว่าแต่เดิมเมืองเพชรบูรณ์มีชื่อว่า “เพชรบุร” หรือ “พืชปุระ” หมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร

                ส่วนในท้องที่อำเภอศรีเทพ มีโบราณสถานเก่าแก่ชื่อ “เมืองศรีเทพ” จากการค้นพบซากโบราณสถานและจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อได้ว่าเมืองมีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี และร่วมสมัยกับการสร้างเมืองพิมาย เมืองลพบุรี และเมืองจันทบุรี ครั้งนั้นเป็นสมัยขอมเรืองอำนาจ เมืองนี้มีชื่อว่า “อภัยสาลี” ต่อมาเมื่อชาวไทยอพยพเข้ามาและแย่งชิงดินแดนจากขอมได้จึงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “ศรีเทพ”

                ปัจจุบันยังมีซากตัวเมือง กำแพงเมืองและพระปรางค์ปรากฏอยู่ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นพื้นที่ราบ มีกำแพงดินสูงรอบเมือง ด้านนอกกำแพงเมืองมีคูเมือง ภายในเมืองมีพระปรางค์ ซากเทวสถาน เทพารักษ์ พระนารายณ์ และรูปยักษ์ท่สลักด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับเมืองพิมาย เมืองลพบุรี และเมืองจันทบุรี

                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานว่า เมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองที่สร้างมา 2 สมัย แต่สร้างในบริเวณเดียวกัน คือสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี เพราะมีเจดีย์โบราณในวัดมหาธาตุซึ่งวิเคราะห์ได้ว่ามีอายุราวสมัยนั้น จากนั้นพบหลักฐานการสร้างเมืองอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สิ่งสำคัญที่ยังคงอยู่ก็คือป้อมและกำแพงซึ่งก่ออิฐปนศิลา

                สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเพชรบูรณ์ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา ครั้งถึง พ.ศ. 2440 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เพชรบูรณ์มีฐานะเป็นที่ตั้งมณฑลเรียกว่า มณฑลเพชรบูรณ์โดยมีเมืองหล่มเก่าร่วมอยู่ด้วย ต่อมา พ.ศ. 2454 เมืองหล่มสักถูกยุบเป็นอำเภอและมาขึ้นต่อจังหวัดเพชรบูรณ์

                วัดมหาธาตุ ถือเป็นวัดหลวงและใหญ่ที่สุดของเมืองเพชรบูรณ์สร้างในสมัยอยุธยา ในปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปกรได้ทำการเปิดกรุวัดมหาธาตุ และได้พบพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ออกมาด้วยกันหลายพิมพ์ แต่ที่อยู่ในความนิยมมากที่สุดได้แก่พิมพ์เปิดโลกซุ้มเรือนแก้ว ต่อมาบางท่านเรียกว่าพิมพ์ “ซุ้มประตู” พิมพ์ร่มโพธิ์ซุ้มเรือนแก้ว และก็พิมพ์นาคปรก

                พระกรุวัดมหาธาตุที่ถูกค้นพบทั้งหมดจะเป็นพระเนื้อชินเงินทั้งหมด ตอนแตกกรุออกมาเมื่อ พ.ศ. 2511 นั้นกรมศิลปกรได้จำหน่ายให้ประชาชนไว้บูชาโดยตั้งราคาบูชาไว้คือ พระพิมพ์เปิดโลกซุ้มเรือนแก้ว บูชาองค์ละ 500 บาท พิมพ์ร่มโพธิ์ซุ้มเรือนแก้ว บูชาองค์ละ 300 บาท และพิมพ์นาคปรกบูชาองค์ละ 200 บาท แต่ปัจจุบันถือว่าหายากและราคาสูงกว่าแต่ก่อนมาก

                พระกรุวัดมหาธาตุถึงแม้จะเป็นพระที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่ด้านพุทธคุณนั้นสูงไปด้วยพลานุภาพ ในด้านแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี ไม่แพ้พระจากเมืองอื่นๆเลย


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top