ประวัติ เมืองสุราษฎร์ธานี - พระกรุ - webpra

เมืองสุราษฎร์ธานี

ประวัติ พระกรุ


เมืองสุราษฎร์ธานี

                จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองไชยา หรือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา และพบว่าก่อนหน้านั้นเมืองไชยายังเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินอีกด้วย เพราะได้ขุดพบหลักฐานเครื่องมือหินใหม่อยู่ตามลำน้ำหลายสาย

                นอกจากนี้ยังได้พบกลองมโหระทึกอีก 5 ใบ ในพื้นที่อ่าวบ้านดอนและอีกหลายแห่งในพื้นที่ทางภาคใต้ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่มีการตั้งเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ก่อนที่จะเข้ามาสู่ยุคโลหะ 2000 ปี เพราะฉะนั้น ในสมัยอาณาจักรฟูนันของกัมพูชาที่กำลังรุ่งเรือง เมืองไชยาก็น่าจะตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นแล้ว จนกระทั่งมาถึงยุคของทวาราวดีที่มีความรุ่งเรืองอยู่ในแถบภาคกลางและอีสานของประเทศไทยเพราะได้พบพระพุทธรูปศิลาที่อำเภอไชยาและพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ที่วัดถ้ำคูหา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันซึ่งถือเป็นศิลปะสมัยทวาราวดีที่พบได้ในอาณาจักรศรีวิชัย

                ครั้งเข้าสู่ยุคสมัยศรีวิชัย (สุราษฎร์ธานี) ก็ได้พบโบราณวัตถุและโบราณสถานสมัยศรีวิชัยมากกว่าที่อื่นๆ ตลอดแนวคาบสมุทรไทยและสุมาตร จนทำให้เชื่อได้ว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะเริ่มต้นที่เมืองไชยาหรือจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ไชยา เป็นชื่อเดิมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี) จากนั้นก้แผ่อำนาจลงไปสู่สุมาตราและชวา

                ดังที่นักโบราณคดีได้ค้นพบกลุ่มโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ในเขตอำเภอไชยาปัจจุบัน และในเขตอำเภอเวียงสระ อำเภอพุนพิน อำเภอกาญจนดิษฐ์เหล่านี้ล้วนแต่มีอายุเก่าแก่กว่าพันปีมาแล้วทั้งสิ้น และนักโบราณคดีจึงรวมเรียกว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ สมัยศรีวิชัย โดยเฉพาะที่อำเภอไชยาจะมีลักษณะเก่ากว่าที่อื่นๆ คืออยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14

                เพราะฉะนั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เมืองไชยาหรือสุราษฎร์ธานี จะต้องเป็นเมืองที่ใหญ่หรือเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณที่ได้รับพัฒนามาจากชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคอาณาจักรฟูนันของกัมพูชา มาถึงยุคทวาราวดีของชุมชนในแถบภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน และมาถึงยุคศรีวิชัยในแถบภาคใต้

                ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-18 อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยที่เมืองไชยาก็เริ่มเสื่อมลงเพราะต้องตกอยู่ในอำนาจของศรีวิชัยใหม่ที่มีนครศรีธรรมราช หรือในนามของอาณาจักรตามพรลิงค์ ซึ่งต่อมาอาณาจักรตามพรลิงค์หรือเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยที่เกิดใหม่ตามลำดับ

                ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมืองไชยาก็ดูจะเป็นเมืองเล็กๆ หรือเป็นเมืองหน้าศึกเท่านั้น และขณะนั้นเมืองไชยาหรือสุราษฎร์ธานีก็ยังถูกแบ่งแยกออกไป เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐนิคม จนมาถึง กรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้รวมเมืองทั้งสามเข้าด้วยกันอีก เรียกว่า เมืองไชยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยาเป็นเมืองสุราษฎร์ธานีมาจนบัดนี้

                เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าเมืองไชยา เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย เพราะฉะนั้น วัตถุโบราณ พระพุทธรูป เทวรูป ตลอดจนพระเครื่องที่ค้นพบที่เมืองไชยาหรือสุราษฎร์ธานีนั้น จะพบของที่มีอายุสูงๆ แทบทั้งนั้น นับแต่สมัยทวาราวดีลงมาจนถึงยุคขอมเป็นส่วนใหญ่


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top