ประวัติ เมืองสระบุรี - พระกรุ - webpra

เมืองสระบุรี

ประวัติ พระกรุ


เมืองสระบุรี

                จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองเล็กๆ กำเนิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งขึ้นเป็นเมืองในสมัยพระมหาจักรพรรดิราวปี พ.ศ. 2091 แต่พอถึงในรัชสมัยของ พระเจ้าทรงธรรม สระบุรีก็เป็นเมืองสำคัญขึ้นมาเป็นอย่างมาก กล่าวคือได้มีการค้นพบ “รอยพระพุทธบาท” อยู่บนไหล่เขาแขวงเมืองสระบุรี(ปัจจุบันก็คือที่ตั้งอำเภอพระพุทธบาท ห่างจากจังหวัดประมาณ 28 ก.ม.) พระเจ้าทรงธรรมจึงได้โปรดให้สร้างเป็นพระมหาเจดีย์เป็นที่สักการบูชาของปวงชนชาวไทยสืบต่อมา และจากเหตุการณ์ที่ปรากฏแก่วงการพุทธจักร ในครั้งนั้นสระบุรีจึงได้ถูกจัดเป็นเมืองชั้นจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่นั้นมา

                ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟอยู่ใกล้เมืองสระบุรีห่างจากกรุงเทพฯราว 108 กิโลเมตร เมืองสระบุรีมีพื้นที่ราว 3,576.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง, อำเภอพระพุทธบาท, อำเภอเสาไห้, อำเภอหนองโดน, อำเภอบ้านหมอ, อำเภอมวกเหล็ก, อำเภอหนองแซง, อำเภอวิหารแดง, อำเภอแก่งคอย, อำเภอหนองแค, อำเภอวังม่วง, อำเภอดอนพุด, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

                สถานที่สำคัญของเมืองสระบุรีก็ได้แก่ พระพุทธบาท, สวนรุกขชาติ, มวกเหล็ก, น้ำตกมวกเหล็ก, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย, สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก, พระพุทธฉาย, ถ้ำพระโพธิสัตว์, และถ้ำธรรมทัศน์, ถ้ำพระธาตุเจริญธรรม, สวนพฤกศาตร์พุแค, อุทยานแห่งชาติเขาสามกล่น, ไร่กุสุมา, สวนนกตำบลไผ่ค้ำ

                ด้านประติมากรรมของเมืองเท่าที่ปรากฏ มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพระยุคกรุงศรีอยุธยา สำหรับพระเครื่องก็มีพอสมควร โดยมากจะมีอายุไม่ค่อยสูง ที่ปรากฏก็คือพระในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์เป็นส่วนมาก พระเครื่องที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสระบุรีมีทั้งเนื้อชินและเนื้อดิน เช่น พระกรุวัดดาวเสด็จ, พระท่ากระดานกรุต้นตาล, พระวัดซุ้งเป็นต้น


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top