ประวัติ เมืองระยอง - พระกรุ - webpra

เมืองระยอง

ประวัติ พระกรุ

 

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ เมืองระยอง

เมืองระยอง

        หากนับย้อนหลังไปประมาณเมื่อพันกว่าปี เมืองระยองถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม ซึ่งมีเมืองนครธมเป็นราชธานี ในขณะที่พวกขอมกำลังเรืองอำนาจอยู่นั้น บนดินแดนสุวรรณภูมิอันเป็นประเทศไทยทุกวันนี้ ขอมได้สร้างเมืองหน้าด่านที่สำคัญเอาไว้หลายแห่งด้วยกัน เช่น เมืองพิมาย เมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองอโยธยา เป็นต้น

        สำหรับเมืองหน้าด่านทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของนครธมที่ขอมสร้างขึ้น ได้แก่ เมืองจันทบุรีในปัจจุบันซึ่งตัวเมืองเดิมตั้งอยู่หน้าเขาสระบาปในบริเวณใกล้เคียงกับวัดทองทั่วของจังหวัดจันทบุรี ดังปรากฏมีซากกำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงและเชิงเทิน และสิ่งที่ขุดค้นพบ ได้แก่ ศิลาจารึกและศิลาซุ้มประตู สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองขอมมาแต่โบราณ ตามตำนานพื้นบ้าน เรียกว่า เมืองนางกาไว ปัจจุบันยังมีตำบลบ้านขอมอยู่ในเขตท้องที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

        สำหรับเมืองระยองซึ่งเป็นเมืองเก่าที่มีอาณาเขตติดต่อและใกล้กับเมืองจันทบุรี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่จะผ่านไปสู่ดินแดนทวาราวดี จึงอนุมานว่าขอมน่าจะเป็นชนกลุ่มแรกที่มาสร้างเมืองระยอง แต่ก็ไม่สามารถที่จะบอกให้ชัดลงไปได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง และบ้านหนองเต่าและคู่ค่าย ที่ก่อด้วยศิลาแลง ที่ตำบลบ้านค่ายเช่นกัน ซึ่งพอที่จะประมาณเอาว่า เมืองระยองแห่งนี้เป็นชุมชนที่สร้างมานานนับเป็นร้อยๆปี มาแล้ว

        ประวัติศาสตร์ของเมืองระยองที่มีหลักฐานค่อนข้างเด่นชัดแน่นอน เริ่มขึ้นเมื่อประมาณสองร้อยกว่าปีมานี้เท่านั้น ความโดดเด่นของเมืองระยองเริ่มแจ่มชัดขึ้นเมื่อปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือระหว่างปี พุทธศักราช 2306 – 2310 ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกเพียงไม่นาน

        ปีพุทธศักราช 2309 พระยาตาก (พระเจ้าตากสินมหาราช) รวบรวมไพร่พลทหารกล้าได้จำนวนประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกออกมาทางทิศตะวันออกสู้พลางหนีพลางจนหลุดพ้นออกจากกรุงศรีอยุธยามาได้ รอนแรมหยุดพักพลตามป่า หลบหนีพม่ามาถึงบ้านพรานนก แขวงเมืองนครนายก แล้วจึงเดินทัพผ่านเรื่อยมาจนถึงดงศรีมหาโพธิ์ มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกผ่านเมืองชลบุรี แล้วเลาะเลียบชายฝั่งทะเลไปจนถึงเมืองระยองไปหยุดยั้งทัพอยู่ที่บ้านน้ำเก่า เขตอำเภอบ้านค่ายใน ปัจจุบันบทบาทสำคัญต่อการกอบกู้ชาติ บ้านเมือง ในครั้งนั้น แม้ว่าปัจจุบัน เมืองระยองก็เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออก

        ถ้ากล่าวถึงพระเครื่องของเมืองระยองแล้วจะไม่มีพระที่มีอายุสูงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่สร้างในสมัยอยุธยายุคปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง ที่พอจะมีชื่อเสียงเห็นจะได้แก่ พระที่พบบริเวณ วัด “วัดเก๋งจีน” ซึ่งปัจจุบันวัดนี้ได้ร้างหายไปแล้ว


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



ประวัติพระเก๋งจีน

        พระกรุวัดเก๋งจีนนี้อายุนับร้อยปี การสร้างจำนวนมากคาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 84000 องค์สำหรับประวัติการสร้างของพระเก๋งจีนนี้ เดิมมี 2 กระแส คือ หลวงปู่สังฆ์ซึ่งเป็นปู่ของหลวงปู่ทิมและอีกหนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าตากสินแต่ปัจจุบันค่อนข้างเชื่อไปทางข้อแรกมากกว่า (อาจเป็นเพราะพระของหลวงปู่ทิมมีราคาสูงติดเพดานจึงอยากเชียร์จะได้มีราคาสูงขึ้น (ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง))แต่ที่แท้จริงแล้วในสมัยนั้นผู้ที่เป็นคนสร้างพระจำนวนมากขนาดนี้ต้องเป็นผู้ที่มีบารมีมากพอควร

        ตามคำบอกเล่าครั้งเมื่อพบพระเก๋งจีนจะติดอยู่กับผนังโบสถ์เก่าในวัดร้าง และส่วนหนึ่งวางกองอยู่กับพื้นอยู่จำนวนมาก พระพิมพ์ที่พบบางท่านว่ามากกว่า 20 พิมพ์ บางท่านว่ามากกว่า 70 พิมพ์ แต่เท่าที่ผู้เขียนเคยพบและเก็บสะสมไว้คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 10 พิมพ์อย่างแน่นอน การสร้างพระจะสร้างเป็นพระปางประจำวัน และพวกพิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์นางกวัก ช้าง ลิง เป็นต้นฯ พระที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อชินเงิน บางองค์แก่ตะกั่ว และที่เป็นตะกั่วสนิมแดงก็มีแต่พบน้อยมาก บ่อยครั้งที่จะพบพระที่ชำรุดเพราะพระกรุนี้จะมีขนาดบางประมาณ 1-2 มม. เท่านั้น

        ในส่วนของพิมพ์ทรงของพระกรุนี้จะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เส้นจีวรหรือสังฆาฏิมีลักษณะนูนเด่น คมชัดลักษณะคล้ายลายเส้น และจะมีความอ่อนช้อย ไม่แข็งทื่อ งดงามมาก  ในบางพิมพ์บริเวณใบหน้าจะปรากฏใบหู ตา จมูก และปากอย่างชัดเจน ใบหูพระจะโค้งมนคล้ายหูบายศรี ส่วนใหญ่บริเวณดวงตาของพระทั้งสองข้างจะนูนเด่นคล้ายกับเม็ดงา บางองค์จะมีรอยตะปูตอกลงเพื่อให้เห็นมิติของดวงตาสวยงามชัดเจนขึ้นบริเวณฐานพระหลายๆพิมพ์ จะมีลายเส้นสลับฟันปลา หรือเป็นแบบเส้นตรงก็มี  บริเวณส่วนด้านหลังพระส่วนใหญ่จะเป็นแบบหลังกระดานและจะต้องปรากฏลายเส้นคล้ายเสี้ยนไม้ ส่วนที่เป็นลักษณะแบบหลังเรียบๆไม่มีลายเสี้ยนไม้ หรือหลังแบบลายผ้า ยังไม่เคยเจอ แต่อาจจะเป็นไปได้ถ้าพระองค์นั้นถูกใช้มาจนสึกพระเกือบทุกองค์จะปรากฏคราบหินปูน อาจมีเศษดินหรือเม็ดทรายติดอยู่ด้วยบริเวณส่วนด้านหลังนี้ เนื่องจากพระส่วนหนึ่งได้ถูกนำไปติดตามผนังโบสถ์ และบางองค์อาจจะปรากฏคราบกาวติดอยู่ด้วย กาวในที่นี้บางท่านบอกว่าเป็นปูนขาว ข้าวสุกบดผสมกับน้ำอ้อย ยางไม้ และพวกครั่ง (พบน้อยมาก)ซึ่งจุดประสงค์หลักของการทากาวก็เพื่อจะนำพระไปติดกับผนังโบสถ์นั่นเอง พระที่พบจำนวนหนึ่งจะมีการปิดทองไว้ด้านหน้ามาแต่เดิมและมีจำนวนอีกมากจะไม่มีการปิดทอง แต่โดยภาพรวมแล้วพระที่มีการปิดทองจะทำให้พระดูเด่นขึ้น ยิ่งองค์ที่ปิดทองเต็มๆแล้วจะสวยงามมาก

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.web-pra.com/Article/Show/343

Top