ประวัติ เมืองพิจิตร - พระกรุ - webpra

เมืองพิจิตร

ประวัติ พระกรุ


เมืองพิจิตร

                พิจิตรนับเป็นเมืองเก่าแก่มากเมืองหนึ่งแต่ประวัติการสร้างเมืองและชื่อเดิมของเมืองยังสับสนและหาข้อสรุปไม่ได้ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระยาโคตรบองเทวราชเป็นผู้สร้างเมือง เมื่อ พ.ศ. 1601 โดยย้ายจากนครไชยบวร(อำเภอโพทะเล ในปัจจุบัน) มาอยู่ริมแม่น้ำน่าน (ตำบลเมืองเก่าในปัจจุบัน) เชื้อสายของพระยาโคตรบองเทวราชปกครองเมืองพิจิตรเรื่อยมาอีก 200 ปี

                ใน พ.ศ. 1800 อำนาจของขอมในดินแดนสุวรรณภูมิเริ่มเสื่อมลง พ่อขุนศรีอินทราทิพย์ทรงสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และพิจิตรได้รับการสถาปนาเป็นเมืองลูกหลวงทางทิศใต้ของสุโขทัย

                ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ พิจิตรมีฐานะเป็นเมืองตรีขึ้นอยู่กับพิษณุโลก และได้ชื่อตามภูมิประเทศว่า โอฆาบุรี เป็นภาษาบาลีแปลว่า “ห้วงน้ำ”

                ต่อมา พ.ศ. 2424 แม่น้ำน่านเปลี่ยนทางเดิน ทำให้ท้องน้ำบริเวณเมืองเก่าตื้นเขินขึ้น ชาวเมืองขาดแคลนน้ำหลวงธรเณนทร์ เจ้าเมืองพิจิตรขณะนั้นจึงให้ย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านปากทาง (ตำบลปากทาง อำเภอเมืองในปัจจุบัน) อีก 3 ปีต่อมา มีการย้ายเมืองอีกครั้งไปที่บ้านท่าหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน และเมื่อมีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2326 เมืองพิจิตรได้รวมอยู่ในมณฑลพิษณุโลก 23 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อเป็นจังหวัด พิจิตรมีฐานะเป็นจังหวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                ใน “สาสน์” สมเด็จพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกถึงชื่อเมืองพิจิตรไว้ว่า “เมืองโอฆะบุรีคือเมืองพิจิตร” เป็นเมืองโบราณมีป้อมปราการอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า เดิมชื่อว่า “เมืองสระหลวง” คงเป็นเพราะมีบึงบางมากทั้งในศิลาจารึกสุโขทัยและในกฎหมายชั้นเก่าของกรุงศรีอยุธยาก็เรียกเมืองสระหลวง ปรับเป็นคู่กับ “เมืองสองแคว” คือเมืองพิษณุโลก

                ในหนังสือพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่า “พระยาโคตรบองเทวราชบุตรพระยาโคตรมะเทวราชเป็นผู้สร้างเมืองพิจิตร แต่ไม่ปรากฏสมัยและเรื่องราวของการสร้าง คงเป็นเค้าแต่ว่าพวกขอมชั้นหลังสร้างเมืองพิจิตร มาถึงสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เรียกนามเมืองนี้เป็นภาษาไทยว่า เมือสระหลวง ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง คงเป็นเพราะตั้งอยู่ชายทะเลสาบ

                นอกจากนี้จังหวัดพิจิตรยังมีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยถึง 2 เรื่อง คือไกรทองและขุนช้าง-ขุนแผน ซึ่งชื่อละครในขุนช้าง-ขุนแผน ได้ปรากฏเป็นชื่อถนนในอำเภอเมืองพิจิตรในปัจจุบัน เช่น ถนนพิจิตร ถนนบุษบา ถนนศรีมาลา ถนนพลายงาม และที่สำคัญคือ จังหวัดพิจิตรเป็นสถานที่ประสูติของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง คือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) และบ้านเกิดของพระยาโหราธิบดี นักปราชญ์ในแผ่นดิน(แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก)

                จังหวัดพิจิตรได้ชื่อว่าเป็นเมืองของนักรบ ในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองพิจิตรจัดเป็นเมืองหน้าด่านเลยทีเดียวเพราะฉะนั้นพระเครื่องของเมืองพิจิตรจึงจัดเป็นพระที่ เกี่ยวข้องกับความคงกระพันชาตรี


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top