ประวัติ เมืองพะเยา - พระกรุ - webpra

เมืองพะเยา

ประวัติ พระกรุ


เมืองพะเยา

เมืองพยาว เมืองพะเยา เดิมชื่อ เมืองภูกามยาว มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 900 ปี ซึ่งสามารถย่อตำนานเมืองพะเยาเพียงเป็นพื้นฐานพอสังเขปได้ดังนี้

 

ปี พ.ศ.1639

            พ่อขุนจอมธรรมได้รับแบ่งราชสมบัติจากพ่อขุนเงิน ผู้เป็นพระราชบิดากษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน

ให้มาครองเมืองภูกามยาวซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองภูกามยาวเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งมีค่ายคูลึกและกว้าง 7 วา มีกำแพงเมือง 8 ประตู คือ ประตูชัย ประตูกลอง ประตูเหล็ก ประตูท่านาง ประตูศรี  ประตู ประสาท ประตูแป้นและประตูอ่อมป่อม ตัวเมืองมีสัณฐานคล้ายรูปน้ำเต้า พ่อขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชบริพาลได้สร้างปรับปรุงเมืองใหม่ จนเจริญรุ่งเรืองตลอดรัชกาล รพองค์ครองราชย์ได้ 24 ปี พระชนมายุได้ 59 ปี ก็สิ้นพระชนม์

 

ปี พ.ศ.1667

            พ่อขุนเจือง พระราชโอรสของพ่อขุนจอมธรรม ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ 26 ปี พ่อขุนเจืองทรงพระปรีชาสามารถในเชิงรบยิ่งนักและเป็นที่ชื่นชอบของเจ้าเมืองอื่นๆ มาก เจ้านครน่านทรงพระราชทานพระราชธิดาพระนามว่า พระนางจันทเทวี ให้เป็นพระชายา และเจ้าครองนครแพร่ก็ทรงพระราชทานพระราชธิดาพระนาม พระนางแก้วกษัตริย์ ให้เป็นพระชายา และพระราชทานช้างอีก 200 เชือก พ่อขุนเจืองครองเมืองพะเยาได้เพียง 6 ปี ได้มีข้าศึกแกวเตรียมเข้ายึดครองนครเงินยางเชียงแสน พ่อขุนชิน ผู้เป็นลุงได้ส่งราชสาสน์ให้พ่อขุนเจืองยกทัพไปช่วยเหลือโดยระดมพลยกทัพ แสนกว่านาย ไปปราบข้าศึกแกวจนได้ชัยชนะในที่สุด พ่อขุนชินจึงทรงสละราชสมบัติให้พ่อขุนเจืองผู้เป็นราชนัดดาครองราชย์นครเงิน ยางเชียงแสนแทน และยกพระราชธิดา พระนาม พระนางอั้วคำคอน เป็นพระชายา  พ่อขุนเจืองจึงได้สละราชย์สมบัติในเมืองพะเยาให้พระราชโอรส พระนามว่า พ่อขุนลาวเงินเรือง ขึ้นปกครองแทน พ่อขุนเจืองทรงครองแคว้นลานนาไทย ครั้นเมื่อปราบศึกลานช้างได้ชัยชนะแล้วยกทัพไปปราบข้าศึกเมืองแกวอีก ได้ชัยชนะและครองเมืองแกวถึง 17 ปี และได้พระราชธิดาเมืองแกว พระนาวว่า พระนางอู่แก้ว มาเป็นพระชายา ระหว่างที่ทรงครองราชย์ ท้าวพระยาเมืองต่างๆ ก็พากันมาอ่อนน้อมสวามิภัดิ์ ถวายบรรณาการและยกขุนเจืองเป็น พระยาเจืองธรรมิกราช ทรงครองแคว้นลานนา สิริรวมพระชนมายุได้ 67 ปี ก็สิ้นพระชนม์บนหลังช้าง เมื่อครั้งช้างพระที่นั่งถล่มลงไปในหลุมพรางที่พวกแกวแมนตาตอก(เขมรดำ) ขุดหลุมทำสะพานพรางไว้

 

                พ่อขุนเจืองธรรมิกราช ได้ปลูกฝังเชื้อชาติราชวงศ์เจืองสัมพันธ์กันสืบมา โดยเรียกว่า ลวะ อันเป็นต้นตระกูลกษัตริย์ไทยต่อขึ้นไปจนถึงปู่เจ้าลาวจก หรือ พระยาลวจังคราช ผู้เป็นปฐมกษัตริย์

 

ปี พ.ศ.1801

            พ่อขุนงำเมือง พระชนมายุครบ 20 ปี ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองพะเยา เป็นกษัตริย์อันดับที่ 9 ครั้งเมื่อพ่อขุนงำเมืองอายุได้ 16 ปี ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่สำนักสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้ ขณะศึกษาอยู่ทรงรู้จักมักคุ้นกับพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย พ่อขุนงำเมืองและพระร่วงเจ้า ต่างก็ทรงมีอิทธิฤทธิ์มากเหมือนกัน และพ่อขุนงำเมืองทรงเป็นพระสหายกับพระเจ้าเม็งรายมหาราชซึ่งในยุคนั้นถือได้ ว่าเป็นยุคพ่อขุนเม็งรายกำลังเรืองอำนาจมาก ในตำนานมีอยู่กล่าวไว้ว่า พระ ร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จมาเยือนพ่อขุนงำเมืองที่เมืองพะเยา ได้มีปฏิพัทธ์รักใคร่พระนางอั้วเชียงแสนพระชายาของพ่อขุนงำเมืองซึ่งมีรูป โฉมอันงดงามสะอาดบริสุทธิ์ดุจนางเทพธิดา มีอยู่คืนหนึ่งพระร่วงเจ้าได้ปลอมพระองค์ให้เหมือนพ่อขุนงำเมืองแล้วเสด็จไป ห้องบรรทมของพระนาง พ่อขุนงำเมืองพอรู้เรื่องก็ทรงกริ้วมาก ก็จับพระร่วงขังไว้ และส่งราชสาสน์ให้พ่อขุนเม็งรายมาพิจารณาความให้ พ่อขุนเม็งรายทรงไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองเป็นมิตรไมตรีต่อกันเหมือนดังเดิม โดยขอให้พระร่วงเจ้าขอขมาโทษพ่อขุนงำเมือง ให้จัดเบี้ยเก้าลุ้นเก้าลวง (990,000 เบี้ย) พระร่วงทรงยอม และพระสหายทั้งสามทรงกระทำสัจจะปฏิญาณต่อกันริมฝั่งแม่น้ำขุนภู (แม่น้ำอิง) จัดประทับนั่งพิงหลังกัน ว่าจะไม่ผูกเวรผูกกรรมต่อกัน จะเป็นมิตรสหายกัน จะไม่รบราทำศึกกันและกัน

 

ปี พ.ศ.1829

                พ่อขุน เม็งรายเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะสร้างเมืองพระองค์ได้เชิญพระสหายทั้งสองพระองค์ ไปร่วมพิจารณาวางแผนสร้างเมืองด้วย ใช้เวลาสร้าง 1 ปี 1 เดือน พระร่งเจ้ากับพ่อขุนงำเมือง พร้อมด้วยพระฤาษี 4 ตน ทรงอภิเษกพระยาเม็งรายเป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่ พ่อขุนเม็งรายทรงมอบผอบมณีรัตนะอันล้ำค่าเป็นสมบัติต้นวงศ์แห่งลวจังคราช แล้วทรงคืนเมืองพาน เชียงเคี่ยนและพระราชทานกุลสตรีที่สง่างามให้เป็นพระชายาอีกหนึ่งนาง พ่อขุนงำเมืองได้รับบรรณาการแล้วเสด็จกลับเมืองพะเยา ครั้นนางอั้วเชียงแสนพระชายาได้ทราบข่าวว่าพระสวามี ได้ชายาองค์ใหม่ จึงได้ออกติดตามหมายจะประหารเสียในระหว่างทาง โดยเหตุที่ทรงเสียพระทัยมากจนถึงกับพระทัยแตกสิ้นพระชนม์ในระหว่างทาง พ่อขุนงำเมืองทรงเสียพระทัยยิ่ง หลังจากนั้นอี ก 2 ปี ก็ทรงไปประทับที่เมืองงาว ทรงให้พระราชโอรส ขุนคำแดง ดูแลเมืองพะเยาแทน จนพ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนม์ ขุนคำแดงขึ้นครองเมืองพะเยาสืบต่อไป

 

ปี พ.ศ.1861

                ขุนคำแดง ได้รับการขอจากขุนสงคราม เมืองเชียงราย  ให้ไปช่วยพระยาแสนภู(หลานขุนสงคราม)

 

เมืองเชียงใหม่ ที่ถูกขุนเครือ เมืองนายกทัพมาตี เมื่อขุนคำแดงเมืองพะเยาไปช่วยทำศึกสงครามได้ชัยชนะ ขุนสงครามก็ได้ยกพระราชธิดา นามว่า “พระนางแก้วพอตา” เป็นพระชายาขุนคำลือราชโอรสขุนคำแดง และให้ผู้ติดตามส่งเสด็จถึง 300 ครอบครัว มาตั้งอยู่ที่เมืองแจ่พาน และเมืองเชียงเคี่ยนอีกด้วย ครั้นต่อมาขุนคำลือก็ได้ครองราชย์สืบต่อจากขุนคำแดง

 

ปี พ.ศ.1881

            พระยาคำฟู ราชโอรสของพระยาแสนภู ครองเมืองนครชัยศรีบุรีเชียงแสนได้ 3 ปี ก็สมคบกับพระยากาวน่าน ยกศึกตีเมืองพะเยาแหลกลาญไป ไม่สามารถตั้งตัวได้ในช่วงสมัยของพระยาคำลือ กองทัพพระยาคำฟูเข้าตีเมืองพะเยาได้ก่อน เอาผู้คน ช้าง ม้า ทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ไป โดยไม่แบ่งให้พระยากาวน่าน ฝ่ายพระยากาวน่านโกรธแค้นยิ่งนัก จึงยกทัพเข้ารบกับพระยาคำฟู จนพระยาคำฟูรับศึกครั้งนี้ไม่ไหวยกทัพหนีกลับเมืองเชียงแสน กองทัพของพระยากาวน่าน จึงยกทัพเลยขึ้นไปตีเมืองฝางได้ ครั้นภายหลังพระยาคำฟูก็ยกทัพไปตีเอาเมืองฝางกลับคืนมา กองทัพของพระยากาวน่านจึงได้ถอยกลับไปยังเมืองน่าน

 

                นับแต่ นั้นมาแว่นแคว้นเมืองพะเยาก็ไม่สามารถตั้งตัวขึ้นมาได้ ก็รวมเข้ากับอาณาจักรลานนาหรือกลุ่มลานนา ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองนับแต่นั้นมา ถ้าจะลำดับกษัตริย์เมืองพะเยาตั้งแต่รัชกาลพ่อขุนศรีจอมธรรมเป็นต้นมาจวบจน ถึงพระยาคำลือนั้น นับได้ 14 พระองค์

 

ปี พ.ศ.1944

            ครั้นเมื่อ พระเจ้าสามฝั่งแกน ขึ้นครองราชย์เมืองเชียงใหม่     ท้าว ยี่กุมกามผู้เป็นพระเชษฐารู้ว่าเสนาอำมาตย์ทั้งหลายแปรภักดิ์หนุนให้ครอง เมืองเชียงใหม่ ทรงพิโรธนัก จึงยกทัพเชียงรายหมายจะรบเอาสมบัติคืนกลับมา แต่ก็ถูกฝ่ายกองทัพเมืองเชียงใหม่รู้ทันยกทัพเข้าสกัด ท้าวยี่กุมกามได้รับความพ่ายแพ้จึงหนีไปพึ่งพระเจ้าไสลือไทย แห่งกรุงสุโขทัย พระเจ้าไสลือไทยจึงยกทัพหลวงขึ้นมาหมายจะตีเมืองเชียงใหม่ให้แก่ท้าวยี่กุม กาม โดยยกทัพมาตามลำน้ำยมผ่านเข้าเขตเมืองพะเยา และเข้าตีเมืองพะเยาด้วยโดยมาตั้งกองทัพที่ตำบลหนองเต่า เตรียมเอาปืนใหญ่ยิงเข้าเมืองพะเยา ฝ่ายเมืองพะเยาก็พากันรื้อเอากระเบื้องทองสัมฤทธิ์ที่มุงหลังคาวิหารวัด มหาพน (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เคยพบพระเนื้อสัมฤทธิ์สนิมหยกหล่อเป็นช่อลวดลาย ทั้งพิมพ์และเนื้อสนิมสวยงามมาก) มาหล่อเป็นปืนใหญ่แล้วยิงทำลายหอเรือกหรือหอตะโกนสั่งพังทลายลงมา พระเข้าไสลือไทยเห็นเหตุร้ายจึงสั่งให้ท้าวยี่กุมกามนำทัพผ่านขึ้นไปเมือง แจ่พานเข้าสู่เมืองเชียงราย

 

ปี พ.ศ.1985

            รัช สมัยของพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ ครอบครองอาณาจักรลานนาไทย ได้แผ่อาณาจักลงไปทางใต้ ได้ยกทัพเข้าปราบเมืองสองแคว เมืองเชลียง เมืองสุโขทัย ตลอดจนเมืองกำแพงเพชรอยู่ภายใต้อำนาจทั้งหมด ได้ทำศึกกับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงสุโขทัย ฝ่ายเจ้าเมืองสองแควพระยาอุทิศเจียงได้เข้าสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราช กวดต้อนเอาช่างปั้นชาวเมืองเชลียง ช่างปั้นถ้วยชามเครื่องเคลือบสังคะโลกอันเป็นศิลปของกรุงสุโขทัยขึ้นสู่ เมืองเชียงใหม่

 

ปี พ.ศ.1994

            พระยา อุทิศเจียง ได้ขึ้นครองเมืองพะเยา ได้สร้างวิหารวัดป่าแดงหลวงดอนชัย และยังได้อัญเชิญพระพุทธปฎิมากรแก่นจันทร์แดงของโบราณจากวัดปทุมมาราม(หนอง บัว) มาประดิษฐานไว้ ณ วัดป่าแดงหลวงดอนชัย ภายหลังพระเจ้าติโลกราชได้อัญเชิญไปไว้วัดอโศกรามป่าแดงหลวงเชียงใหม่ แล้วจึงถูกอัญเชิญกลับมายังเมืองพะเยาอีกครั้ง ต่อมาในสมัยพระเจ้าติลกปนัดดา ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบุพพาราม อีกครั้งหนึ่ง

 

ปี พ.ศ.2030

            ช่วง ปลายรัชสมัยพระยาอุทิศเจียง สองตายายเลี้ยงเป็ดไก่ในหนองเอี้ยง ได้นิมิตพระยานาค แปลงกายเป็นชีปะขาวนำทองคำสี่แสนห้าร้อยให้สองตายายสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ ที่สุดในภาคเหนือ โดยสร้างกลางสระหนองเอี้ยง สองตายายจึงได้ถมหนองเอี้ยง ใช้เวลาในการถมหนองน้ำนี้ 2 ปี 7 เดือน

 

ปี พ.ศ.2034

            รัชสมัยพระยายี่ ครองเมืองพะเยา พระยายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ ครั้นเวลาเช้า วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (แปดเหนือ) สองตายายแรกเริ่มก่อสร้างพระเจ้าตนหลวง ก่อสร้างได้เพียง 5 วัน พระยายี่เจ้าเมืองพะเยาก็ถึงแก่พิราลัย แล้วในปีเดียวกันนั้นพระยายอดเชียงราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็สิ้นพระชนม์

 

ปี พ.ศ.2067

            รัช สมัยพระเจ้าตู้เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ทั้งสองพระองค์เป็นพระญาติอันสนิทกัน ได้ร่วมทำบุญก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงจนเสร็จ พระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง ได้สร้างเสร็จในวันเพ็ญ วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 33 ปี

 

ปี พ.ศ.2069

            หลังจากเสร็จการสร้างองค์พระเจ้าตนหลวง พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ทรงพระราชทาน ทองคำ 3 พัน เงิน 6 พัน สร้างพระวิหารและทำบุญสมโภชพระพุทธรูป ในเดือน 7 ปีจอ พ.ศ.2069 และทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเจ้าตนหลวง ทุ่งเอี้ยง เมืองพะเยา” และถวายครัวอุปฐาก 20 ครอบ ครัว (ภายหลังครอบครัวเหล่านี้ถูกวาดต้อนจึงหนีภัยสงครามไปอยู่ลาว ด้วยความเคารพนับถือพระเจ้าตนหลวง จึงได้เขียนประวัติตำนานพระเจ้าตนหลวง ฝากส่งกลับมายังวัด)

 

ปี พ.ศ.2111

            พระ เจ้าหงสาวดี ขึ้นมาเป็นใหญ่แผ่อำนาจเกณฑ์เอากองทัพทุกหัวเมืองรวมกันทั้งมอญ ไทยใหญ่ ลื้อ ลานนาไทย ยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ครั้นเมื่อตีได้แล้วให้พระมหาธรรมราชา ผู้เป็นเจ้าเมืองสองแควไปครองกรุงศรีอยุธยา

 

ปี พ.ศ.2115

            พระ เจ้าหงสาวดี ยกกองทัพไปปราบเมืองหนองหาญ ตีทะลุเข้าสู่เมืองล้านช้าง แล้วยกกองทัพตีต่อไปเข้าลานนาไทย กวาดต้อนเอาผู้คนไปไว้เมืองหงสาวดีจำนวนร่วมสองแสนคน

 

ปี พ.ศ.2330

            พระ เจ้าอังวะเมืองพม่า ได้สั่งให้แม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ยกทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือไม่ว่าจะ เป็นเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน ผ่านลงมาเมืองพะเยา ชาวเมืองพะเยาได้อพยพบ้านเรือนหนีภัยสงครามไปตั้งหลักอยู่ที่บ้านปวงสนุกทาง ด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง จึงทำให้เมืองพะเยาในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

 

ปี พ.ศ.2386

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ นายพุทวงศ์(น้องพระยานครลำปางน้อยอินทร์) เป็นที่ พระยาประเทศอุดรทิศ  เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา พร้อมแบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีทัพพม่า เมื่อ พ.ศ.2330 ก็พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา

 

ปี พ.ศ.2392

            เจ้า หลวงมหายศเจ้าเมืองพะเยา ได้ริเริ่มบูรณะก่อสร้างวิหารพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ เป็นวิหารอาคารกึ่งถาวรใช้แฝกมุงหลังคา สร้างได้ไม่นานก็ถูกไฟป่าลุกลามไหม้พระวิหารหมดสิ้น ทำให้พระปฎิมาเจ้าตนหลวงดำคล้ำไป

 

ปี พ.ศ.2398

                เจ้า บุรีรัตน์หรือเจ้าแก้วขัตติยะ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ได้บูรณะซ่อมแซมองค์พระเจ้าตนหลวง ลงรักปิดทอง และบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์พระธาตุจอมทอง สร้างวิหารพระธาตุจอมทอง สร้างอุโบสถวัดหลวงราชสัณฐาน

 

ปี พ.ศ.2445

            เจ้าไชยวงศ์ ได้รับสัญญาบัตรเป็นที่ พระยาประเทศอุดรทิศ (ศักดิ์เรียกเจ้าเมืองพะเยาทุกคน) ได้เกิดการจลาจลขึ้นตามหัวเมืองฝ่ายเหนือหลายเมือง เพราะถูกพวกโจรเงี้ยว (ไทยใหญ่) ก่อการจลาจล ปล้นเอาทรัพย์สินของทางราชการ ประชาชน วัดวาอารามต่างๆ ทำให้ผู้คนแตกตื่นไม่มีใครกล้าต่อต้าน โจรเงี้ยวจึงได้ยึดเมืองพะเยา ต่อมาทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ยกมาเป็นกองทัพจากนครลำปาง เกิดการต่อสู้กันที่ถนนสายแม่กา สู้กันอย่างดุเดือดนองเลือด พวกเงี้ยวล้มตายลงเป็นอันมาก พากันแตกกระจัดกระจายข้ามเขตแดนหลบหนีไปหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารมารักษาเมือง ได้เห็นกำแพงเมืองเก่าที่ก่อสร้างมาแต่โบร่ำโบราณนั้นเก่าแก่ทรุดโทรม จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซม จึงได้เกณฑ์เอาคนในเมืองพะเยารื้อถอนเออิฐตามกำแพงวัด ตามฐานเจดีย์ ตามวัดร้าง เพื่อนำเอามาก่อสร้างกำแพงเมืองใหม่ ตอนนั้นทำการรื้อถอนกันเป็นการใหญ่ ได้พบพระพุทธรูปเนื้อทองคำ เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อแก้ว และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้สูญเสียทรัพย์สินของศาสนาไปเป็นอันมาก ทำให้เมืองพะเยาไม่มีโบราณวัตถุเป็นหลักฐานมากนัก ที่เหลืออยู่ก็มีน้อยเต็มทีและไม่สมบูรณ์ โบราณสถานต่างๆ ที่ทำการขุดค้นกันนั้นถูกขุดจนพังทลายลงมาเกือบหมดสภาพของโบราณสถานไป

 

ปี พ.ศ.2446

            ผู้ บังคับกองตำรวจภูธรเมืองพะเยา สั่งให้นายสิบ พลตำรวจไปรื้อถอนฐานเจดีย์ วัดสวนจันทร์นอก ซึ่งเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ตึกแถวหลังโรงแรมธารทองในปัจจุบันนี้ พบรอยพระพุทธบาทฝังอยู่ในกลางฐานพระเจดีย์ มีสองรอยทั้งพระบาทเบื้องขวาและเบื้องซ้าย สมบูรณ์ทั้งสองข้าง มีลวดลายฉลุภาพต่างๆ ตามพุทธลักษณะ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีโคมคำ

 

หมายเหตุ

                ข้อ เขียนและข้อความมีอยู่หลายช่วงหลายตอน ได้คัดลอกจากบทความประวัติเมืองพะเยาของหลวงพ่อใหญ่ พระธรรมวิมลโมลี วัดศีโคมคำ และหนังสือพระเครื่องเมืองพะเยา ของชมรมพระเครื่องเมืองพะเยา ซึ่งอาจจะไม่ครบสมบูรณ์หรือผิดแตกต่างไปบ้างไม่ตรงต้นฉบับเดิม จึงใคร่ขอกราบประทานอภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

Top