ประวัติ เมืองชัยภูมิ - พระกรุ - webpra

เมืองชัยภูมิ

ประวัติ พระกรุ


เมืองชัยภูมิ

                เนื่องจากดินแดนที่เป็นเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นดินแดนที่ขอมครอบครองอยู่ หรือเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในเขตแดนนี้ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 โดยมีหลักฐานโบราณสถานปรางค์กู่สมัยขอมที่สร้างขึ้นด้วยศิลาแลงอยู่หลายแห่งเช่น “ปรางค์กู่” ในตัวเมืองชัยภูมิและปรางค์กู่ที่อำเภอบ้านแท่น ที่อยู่ห่างตัวเมืองชัยภูมิขึ้นไปทางเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร

                พงศาวดารได้กล่าวถึงเมืองชัยภูมิว่า เดิมเป็นเมืองสร้างอยู่ก่อนแล้วหลังจากที่อาณาจักรขอมหมดอำนาจลงไป ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะเป็นเมืองหนึ่งที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในสมัยขอมและอาจมีการเชื่อมต่อถึงกันได้กับเมืองในแถบเทือกเขาดงพญาเย็น เช่น เมืองเสมา เมืองโคราฆะปุระ ในท้องที่อำเภอสูงเนินปัจจุบัน ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองในที่ราบใกล้เทือกเขาแห่งนี้ เคยเป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมามาก่อน และผู้คนที่เข้ามาอาศัยอยู่ ณ ที่ราบแถบนี้ ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่อพยพมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) กับผู้คนที่อพยพมาจากนครราชสีมาซึ่งส่วนนี้คงจะอพยพเข้ามาตั้งรากอยู่ก่อนแล้ว

                ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หรือประมาณปี พุทธศักราช 2360 ได้มีบุรุษผู้หนึ่งนามว่า “ท้าวแล” ได้พาครอบครัวและสมัครพรรคพวกอพยพมาจากเวียงจันทน์ท้าวแลเป็นพี่เลี้ยงของเจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์กรุงเวียงจันทน์จนไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้ ท้าวแลเกรงจะเกิดราชภัยขึ้นกับตนและครอบครัว จึงได้พากันอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยและเดินลึกเข้ามาหาที่ตั้งหลักแหล่ง เพื่อประกอบอาชีพและตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอย่างมั่นคงอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่นบ้านหนองอีจาน (ปัจจุบันบ้านหนองอีจานตั้งอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)

                ต่อมาท้าวแลได้นำพรรคพวกและไพร่พลเดินทางลึกเข้ามาจนถึงเขตเมืองชัยภูมิเก่า ที่ซึ่งเป็นเมืองในของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปีพุทธศักราช 2362 คือ บ้านชีลอง หรือบ้านโนนน้ำอ้อม ซึ่งในขณะนั้นเป็นบ้านเก่าเมืองร้าง มีลักษณะเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ล้อมไปด้วยน้ำ (ปัจจุบันอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 6 กิโลเมตร) การเดินทางลึกเข้ามาในครั้งนั้น ได้มีผู้คนอพยพตามมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการจัดตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นอีก

                นับเป็นการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก ดังปรากฏเป็นชื่อ บ้านแสนพัน (ต่อมากลายเป็นบ้านสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ในขณะนั้น ท้าวแลได้พาผู้คนเดินทางเข้ามาหาถิ่นที่อยู่ใหม่มากขึ้น จนได้มีการสร้างเป็นหมู่บ้านถึง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านหลุบโพธิ์ บ้านกุดตุ้ม บ้านบ่อหลุบ บ้านโนนไผ่หญ้า และบ้านท่าเสี้ยว

                ถ้ากล่าวถึงวัตถุโบราณของเมืองชัยภูมิแล้ว ส่วนใหญ่จะรับอิทธิพลของขอมเป็นส่วนมาก อันได้แก่ พวกเทวรูป พระพุทธรูป เครื่องใช้ไม้สอยล้วนแล้วแต่เป็นของขอมทั้งสิ้น การค้นพบจะพบบริเวณปราสาทหินเก่าๆ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย อันได้แก่ ปรางค์กู่ ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ภูพระ ภูเขียว คอนสวรรค์ เป็นต้น

                ส่วนพระเครื่องนั้นพบบ้าง แต่ไม่มากนัก ที่มีชื่อเสียง และโด่งดังในวงการพระเครื่อง ก็เห็นจะมีพระเครื่อง “กรุคอกควาย” เป็นพระสร้างในยุคขอมเรืองอำนาจประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จัดเป็นพระเครื่องที่มีขนาดกำลังพอเหมาะที่จะพกติดตัวเลยทีเดียว

 

ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



มอหินขาว จ.ชัยภูมิ

มอหินขาว จ.ชัยภูมิ
ภาพสโตนเฮนจ์เมืองไทย มอหินขาว เมืองชัยภูมิ
( เจ้าของภาพคุณ : 
 phayathaiii  http://travel.kapook.com/photo/มอหินขาว_1186.html )

Top