ประวัติ เมืองชัยนาท - พระกรุ - webpra

เมืองชัยนาท

ประวัติ พระกรุ


เมืองชัยนาท

                เมืองชัยนาท ณ บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากคลองแพรก ศรีราชาใต้ปากน้ำเก่ามีเมืองโบราณอยู่เมืองหนึ่ง สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยพญาเลอไทครองกรุงสุโขทัย เพราะเดิมที่เดียวเมืองนี้มีชื่อว่า “เมืองแพรก” หรือ “เมืองสรรค์”

                แต่ต่อมาได้มีชุมชนใหม่เกิดขึ้นไม่ไกลจากเมืองสรรค์เท่าใดนัก เมืองนี้มีชื่อว่า “เมืองชัยนาท” ซึ่งต่อมาได้มีคนอพยพเข้ามาอยู่กันมากขึ้น จึงทำให้เมืองสรรค์กลายเป็นเมืองเก่าไป

                เมืองชัยนาทเป็นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยาเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญสามารถตั้งรับศึกพม่ามาหลายครั้งและมีชัยทุกครั้ง จึงได้ชื่อว่า “เมืองชัยนาท” ซึ่งหมายถึงชัยชนะที่มีชื่อเสียงโด่งดังกัมปนาท

                เดิมทีเดียวนั้น สมเด็จพระอินทราราชา กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยามีพระราชประสงค์ ที่จะให้พระโอรสทั้ง 3 พระองค์ไปครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเพื่อจะได้คุ้นเคยกับการปกครองบ้านเมืองจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งทรงพระนามว่า“เจ้าอ้ายพระยา” ไปครองเมืองสุพรรณบุรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสองค์กลาง ซึ่งทรงพระนามว่า “เจ้ายี่พระยา” ไปครองเมืองสรรค์บุรีและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสองค์สุดท้อง ซึ่งทรงพระนามว่า “เจ้าสามพระยา” ไปครองเมืองชัยนาท

                ซึ่งต่อมาสมเด็จพระอินทราราชาธิราชเสด็จสวรรคตลง ความได้ทราบถึงเจ้ายี่พระยาผู้ครองเมืองสรรค์บุรีก่อน จึงได้เตรียมจัดรี้พลทหารและอาวุธ เพื่อจะเข้ามายึดครองกรุงศรีอยุธยาแทนสืบต่อจากพระราชบิดา

                ฝ่ายเจ้าอ้ายพระยาซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่ทราบข่าวว่า พระราชอนุชาได้ยกกำลังรี้พลไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อมุ่งหวังจะครอบครองราชสมบัติแทนพระราชบิดาโดยมิได้ปรึกษาหารือ จึงได้รีบจัดกองทัพเตรียมไพร่พลมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยาบ้าง เพื่อประสงค์จะขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาในฐานะพระโอรสองค์ใหญ่

                ในที่สุดกองทัพของทั้งสองพี่น้อง นั้นคือกองทัพของเจ้าอ้ายพระยากับกองทัพของเจ้ายี่พระยาเผอิญได้มาบรรจบทันกันที่ ตำบลป่าถ่าน พระนครศรีอยุธยา จึงเกิดรบกันขึ้น เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา 2 พี่น้องไสข้างเข้าหากันเพื่อทำยุทธหัตถี ผลสุดท้ายทั้ง 2 พระองค์ ได้สู้รบกันจนสิ้นพระชนม์ที่นั้น

                ฝ่ายเจ้าสามพระยาพระราชโอรสองค์สุดท้องที่ครองเมืองชัยนาท เมื่อทราบเหตุว่าสมเด็จพระเชษฐา ได้กระทำการสู้รบจนสิ้นพระชนม์ทั้ง 2 พระองค์ ก็รู้สึกเสียพระทัย และได้เสด็จเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทนพระราชบิดา ซึ่งทรงพระนามว่า “สมเด็จบรมราชาธิราชที่ 2” นับเป็นรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา

                ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2319 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ เดือน 9 ขึ้น 12 ค่ำ ( วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2319 ) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้ข่าวว่า กองทัพพม่ายกกำลังเข้ามาตีไทย และกำลังจะเข้ายึดนครสวรรค์แล้ว พระองค์จึงทรงกรีฑาทัพหลวงขึ้นมาเพื่อขับไล่พม่าข้าศึกในทันที

                ครั้งฝ่ายกองทัพของพม่าข้าศึกได้ข่าวว่า ทัพหลวงของไทยได้เดินทางเร็วมาถึงชัยนาทแล้ว ก็พากันตกใจกลัวละทิ้งค่ายที่นครสวรรค์หลบหนีออกไปทางอุทัยธานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพออกติดตามและไล่ข้าศึกทันที่ตำบลเดิมบางนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี กองทัพไทยได้บดขยี้กองทัพพม่าจนแตกพ่ายยับเยิน หนีไปทางด่านเจดีย์สามองค์เมืองกาญจนบุรี

                จากชัยชนะข้าศึกในครั้งนี้ ทางจังหวัดชัยนาทจึงถือเอา วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญของจังหวัด คือ วันสถาปนาของจังหวัดชัยนาทตลอดทุกปี โดยเริ่มต้นจัดงานตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2498 เป็นต้นมา

                จังหวัดชัยนาท แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆที่เงียบสงบแต่ก็มีแหล่งที่น่าศึกษาและน่าสนใจไม่น้อยเลย

                วัดธรรมามูลฯ เป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงพ่อธรรมจักร” พระพุทธรูปปางห้ามญาติที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีประวัติว่าได้แสดงปาฏิหาริย์มาประทับพิงอยู่ในพระวิหารเองโดยที่พระบาทมีจอกแหนติดอยู่เต็ม ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้เสด็จมาตามน้ำเองและที่กลางฝ่าพระหัตถ์ขวามีรูปธรรมจักรติดอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีนามเรียกว่า “หลวงพ่อธรรมจักร”

                วัดธรรมามูลฯนี้เป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานานนับเป็นเวลาร้อยๆปี โดยสร้างอยู่บนไหล่เขาลูกหนึ่งเรียกว่า “เขาธรรมามูล” ดังนั้น วัดนี้จึงมีชื่อตามเขาลูกนี้และที่พระวิหารของวัดซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขานี้ ก็เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ หรือหลวงพ่อธรรมจักรนั่นเอง

                วัดพระบรมธาตุฯ ในสมัยโบราณ เรียกว่า วัดพระธาตุ หรือ วัดหัวเมือง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบราณสถานที่มีมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ เนื่องจากองค์พระเจดีย์หรือพระธาตุแต่เดิมสร้างขึ้นด้วยศิลาแลง และพบพระพุทธรูปศิลานาคปรกใต้ฐานพระประธานในพระวิหารพร้อมกับฐานแท่นเป็นอ่างน้ำมนต์ ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายฐานศิวลึงค์

                ที่อำเภอสรรคบุรี มีวัดอยู่ทั้งหมด 183 วัด จึงนับว่าเป็นแหล่งรวมบรรดาพระพุทธรูป พระเครื่อง และโบราณวัตถุต่างๆมากมาย จนชาวบ้านเรียกกันว่า “เมืองพระ”

                วัดมหาธาตุก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่เก่าแก่มานาน สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีพระปรางค์สูงเด่นประมาณ 20 วา นอกจากนี้ภายในวัดยังมี พระพุทธรูป พระเครื่องต่างๆ และโบราณวัตถุอีกมากมาย

                วัดท้ายย่าน ในปัจจุบันกลายเป็นวัดร้างที่เหลือแต่ซากโบราณสถาน ซึ่งยังพอมีหลงเหลืออยู่ วัดนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดทัพย่าน” และเป็นที่เลื่องลือในเรื่องของพระเครื่องทั้งหลาย อาทิ เช่น พระลีลา พระหูยาน พระปิดตา


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้




วัดธรรมามูลฯ เมืองชัยนาท
วัดธรรมามูลฯ เมืองชัยนาท
( ภาพเก่าของทางวัด เมื่อวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯเสด็จวัดธรรมามูลชัยนาท )
( เจ้าของภาพคุณ :  sunshine   http://spr-alumni.igetweb.com/index.php?mo=5&qid=274596# )



วัดพระบรมธาตุฯ เมืองชัยนาท
( เจ้าของภาพคุณ :  http://www.teawtourthai.com/chainat/?id=2582 )


วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ เมืองชัยนาท
( เจ้าของภาพคุณ :  http://travel.upyim.com/tag/วัดมหาธาตุ-ชัยนาท/ )

Top