เมืองกำแพงเพชร
ประวัติ พระกรุ
เมืองกำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชร เป็นจังหวัดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 350 ก.ม. ไปทางเหนือ มีอีกชื่อหนึ่งตามโบราณว่า “ชากังราว” เป็นเมืองที่ถือว่าเป็นประตูเข้าภาคเหนือ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง
เมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองรุ่นเก่ามีประวัติความเป็นมาคร่ำคร่าที่รู้ๆกันดีคือ กำแพงเพชรเป็นเมืองลูกหลวงของราชอาณาจักรสุโขทัยเมืองลูกหลวงของสุโขทัยนั้นเท่าที่เรารู้จักมีอยู่สองแห่งคือ กรุงศรีสัชนาลัย เป็นเมืองลูกหลวงทางทิศเหนือ กำแพงเพชรเป็นเมืองลูกหลวงทางทิศใต้กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาตอนต้นเมื่อยกทัพขึ้นไปปราบปรามอาณาจักรทางเหนือ ก่อนจะถึงกรุงสุโขทัยก็จะต้องปะทะกับกำแพงเพชร ซึ่งเป็นหน้าด่านทางทิศใต้เสียก่อน ดูเหมือนว่ากำแพงเพชรเป็นปราการสำคัญของราชอาณาจักรแห่งนี้ และเป็นเมืองลูกหลวงสำคัญจึงได้มีการก่อสร้างเสียใหญ่โตแข็งแรง
กำแพงเพชร มิใช่เมืองธรรมดานอกจากจะเป็นนครเอกของสุโขทัยแล้ว ยังมีฐานะเป็นนครที่เจ้าครองนครมีอำนาจเหมือนกษัตริย์ทุกอย่าง ซึ่งความเป็นจริงของพงศาวดารรับกันกับศิลปวัตถุโบราณ อันมีขนาดใหญ่โตมโหฬารของที่นั่น ใครที่เคยไปเที่ยวชมโบราณสถานที่นั่นมาแล้วโดยทั่ว จะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ ด้วยวัดวาอารามก็ดี ภูมิฐานของบ้านเมืองก็ดี บ่งว่าเป็นเมืองสำคัญระดับมีกษัตริย์ปกครองทีเดียวไม่แพ้สุโขทัยและศรีสัชนาลัยเลย ที่สำคัญก็คือ มีถนนโบราณเรียกถนนพระร่วง จากกำแพงเพชรไปถึงสุโขทัยและต่อไปจนถึงศรีสัชนาลัยบ่งว่าเมืองกำแพงเพชรมีความสัมพันธ์กับสุโขทัยกันอย่างแนบแน่น
กำแพงศิลาแลง อันมั่นคงของกำแพงเพชรน่าจะสร้างขึ้นในสมัยเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จจากกรุงสุโขทัย ลงมาบัญชาการรบที่เมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่ากำแพงเมืองนี้นำมาตั้งเป็นชื่อ เมืองกำแพงเพชร
ส่วนเมืองเก่าฝั่งตรงข้ามแม่น้ำปิงซึ่งเรียกกันว่าเมืองนครชุม ชื่อนี้ก็มีกล่าวถึงในจารึกสุโขทัย คงมีกำแพงเมืองเหลืออยู่เพียงบางส่วนที่ถูกน้ำเซาะจนพังทลายไปก็มาก เมืองนครชุมมีกำแพงเมืองอยู่ประชิดริมแม่น้ำแล้วโอบเป็นรูปวงรียาว ยังมีวัดมหาธาตุปรากฏอยู่ลักษณะพิเศษของเมืองกำแพงเพชรคือ งานประติมากรรม ที่นี่มีพระพุทธรูปและพระเครื่องแบบสุโขทัย ซึ่งเป็นลักษณะของตนเองจัดอยู่ในสกุลช่างเฉพาะตัว การที่ศิลปกรรมมีลักษณะเฉพาะตัวก็เพราะว่าที่นี่เป็นเมืองใหญ่มีช่างเอกสามารถกำหนดแบบแผนของตนได้
โบราณสถานอันประกอบด้วยสถูปเจดีย์ และวัดวาอารามใหญ่น้อยในเมืองกำแพงเพชร ส่วนใหญ่มักก่อด้วยศิลาแลงแบบเดียวกับที่พบในเมืองศรีสัชนาลัยด้วยพื้นดินบางส่วนที่นี่ขุดลงไปจะพบศิลาแลงจึงได้ใช้วัสดุพื้นเมืองทำขึ้นแต่สถูปเจดีย์รุ่นเก่าอันมีรูปทรงแบบศิลปะอู่ทองมักจะก่อสร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่ก่อแบบสนิทไม่สอปูนโดยสอด้วยยางไม้เทคนิคการก่อสร้างประณีตมาก ต้องจัดว่าสิ่งที่ก่อสร้างด้วยอิฐเป็นของเก่ากว่าพวกที่ทำด้วยศิลาแลง
พระบูชาและพระเครื่องที่ขุดพบ ณ เมืองกำแพงเพชรที่น่าสนใจศึกษามี กรุวัดอาวาสใหญ่ อาวาสน้อย วัดพิกุล วัดฤๅษี วัดช้างลอบ วัดพระนอน วัดสี่อิริยาบถ วัดกะโลทัย วัดพระแก้ว วัดพระบรมธาตุ ซึ่งอยู่ในลานทุ่งเศรษฐีโดยเฉพาะ วัดพระบรมธาตุนี้ยังได้เจอแผ่นลานเงิน ลานทองประวัติการสร้างพระดังที่ได้กล่าวไว้ว่า“ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ามีฤๅษี 11 ตน ฤๅษีเป็นใหญ่ 3 ตน ฤๅษีตาไฟคนหนึ่ง ฤๅษีตาวัวคนหนึ่ง เป็นประธานแก่ฤๅษีทั้งหลายจึงปรึกษากันว่าเราท่านทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤๅษีทั้ง 3 จึงว่าแก่ฤๅษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ฉลองพระองค์ จึงทำให้เป็นเมฆพัฒน์อุทุมพร เป็นมฤตยพิศม์ อายุวัฒนะ พระฤๅษีประดิษฐ์ไว้ในถ้ำแห่งใหญ่น้อยเป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย สมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน 5000 พรรษา ฤๅษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤๅษีทั้งปวงว่าท่านจงไปเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ 1000 เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ 1000 ครั้งเสร็จแล้ว ฤๅษีทั้งปวงจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวง (เข้าใจว่าทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญเทวดา) ให้ช่วยกันบดยาทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤๅษีทั้ง 3 ตน จึงบังคับแก่ฤๅษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงเป็นก้อนประดิษฐานด้วยมนต์คาถาให้ประสิทธิทุกอันจึงให้ฤๅษีทั้งหมดนั้นเอาเกสร ไว้บนเจดีย์อันหนึ่ง ถ้าผู้ใดได้ให้ถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระคุณฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด...มีกูไว้ไม่จน...”
ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้
ภาพพระยืน วัดพระสี่อิริยาบถ แห่งเมืองกำแพงเพชร
( เจ้าของภาพ : www.comingthailand.com )