ประวัติ เมืองกาญจนบุรี - พระกรุ - webpra

เมืองกาญจนบุรี

ประวัติ พระกรุ


เมืองกาญจนบุรี

                บริเวณที่พบหลักฐานของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วมีความต่อเนื่องลงมาเรื่อยๆ จะอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในท้องที่ภาคกลางบริเวณภาคตะวันตกที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

                มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคแรกๆ เหล่านั้นยังชีพด้วยการแสวงหาอาหารตามชาติ บางครั้งก็เรียกว่า “สังคมล่าสัตว์” เพราะมนุษย์ยังไม่รู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ยังไม่รู้จักสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจึงต่างก็ร่อนเร่พเนจรไปตามลำธารน้อยใหญ่และมักจะพบร่องรอยอยู่มากในละแวกซอกเขาและถ้ำหินปูนเมื่อประมาณได้แสนๆปีมาแล้ว เช่น บริเวณที่เป็นทางน้ำในหุบเขาชื่อแควใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี

                ในท้องที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีนี้เองที่มีมนุษย์ประมาณเกือบหมื่นปีมาแล้วทิ้งร่องรอยโครงร่างของตัวเองไว้ในหลุมฝังศพ จึงทำให้รู้จักรูปร่างและเรื่องราวของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ยุคแรกๆ เพิ่มขึ้น

                ความต่อเนื่องจากมนุษย์แรกๆ มีร่องรอยอยุ่แถวบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้ทะเลแถบบ้านโคกพลับ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี แล้วเริ่มมีความก้าวหน้าพัฒนาไปสู่ความเป็นแว่นแคว้นหรือรัฐรุ่นแรกๆ ดังเช่น ชาวจีนได้เคยบันทึกได้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 9

                สมัยนี้เช่นกันพบว่าบริเวณตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองนั้น มีตะเกียงโรมันทำด้วยสัมฤทธิ์ (ขนาดสูง 27 เซนติเมตร) ที่ควรผลิตขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย (ประเทศอียิปต์ทุกวันนี้) อันเป็นดินแดนจักรวรรดิโรมันในขณะนั้น

                ไม่ว่าตะเกียงโรมันนี้จะเข้ามาด้วยเหตุผลใด หรือชนกลุ่มใดก็ตาม แต่หลักฐานดังกล่าวเท่ากับยืนยันว่าเส้นทางลำน้ำแม่กลองมีความต่อเนื่องมาช้านานทั้งนี้ เพราะต้นน้ำแม่กลองคือแควน้อย และแควใหญ่จากหุบเขาในจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านท้องที่จังหวัดราชบุรีแล้ว ออกสู่ทะเล ในขณะเดียวกันก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถใช้ติดต่อกับบ้านเมืองและแว่นแคว้นหรือรัฐในเขตแม่น้ำท่าจีนได้ด้วย

                ครั้งหลังพุทธศตวรรษที่ 13 (พ.ศ.1201-1300) การขยายตัวของชุมชนบนลำน้ำแม่กลองก็ชัดเจนขึ้นอีกที่พงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ต่อจากนั้นจึงขยับลึกเข้าไปในเขตแควน้อย อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีในช่วงเวลาดังกล่าวมานั้น มักเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทวาราวดี”

                กาญจนบุรี เป็นแหล่งพำนักของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองโบราณในยุคทวาราวดี ลพบุรีและอู่ทองโดยลำดับจนกระทั่งเป็นจังหวัดหนึ่งของเมืองไทยทุกวันนี้ ก่อนที่จะมีการสำรวจรู้ว่าย่านนี้เป็นถิ่นของมนุษย์สมัยนั้น พวกที่หักร้างถางพงทำไร่ เผาถ่านและพวกหามูลค้างคาวในถ้ำต่างๆ ในป่ากาญจนบุรีนั้น ได้พบเครื่องมือหินชนิดขรุขระ และหินชนิดเรียบ ตลอดจนลูกปัดขนาดเล็กๆ สีต่างๆ ของมนุษย์สมัยหินเหล่านี้มาช้านานแล้ว แต่ไม่มีใครทราบที่มาของวัตถุเหล่านี้

                นอกจากนี้ นักโบราณคดียังได้สันนิษฐานต่อไปอีกว่า นอกจากมนุษย์สมัยหินจะได้อาศัยเส้นทางในกาญจนบุรี ผ่านเข้ามาจากอินเดียและจีนแล้ว คนอินเดียโบราณก็ยังคงอาศัยเส้นทางดังกล่าว เดินทางเข้ามาในดินแดนที่เป็นเมืองไทยทุกวันนี้ในยุคอมรวดี สุวรรณภูมิและทวาราวดีอีกด้วย เป็นห้วงระยะกาลระหว่าง พ.ศ. 600-1000 (ยุคอมรวดีกับสุวรรณภูมิ) ห้วงหนึ่งกับระหว่าง พ.ศ. 1000-1200 (ยุคทวาราวดี) อีกห้วงหนึ่ง เมืองต่างๆในย่านกาญจนบุรีล้วนมีอายุเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกัน นครปฐมซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรทวาราวดี เช่นเมืองโบราณพงตึก และเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี

                เมืองกาญจนบุรีราว พ.ศ. 1550 ขอมแผ่อำนาจมาสู่อู่ทอง (ในที่นี้หมายถึงสุวรรณภูมิหรือทาวราวดี) เมืองกาญจนบุรีตกอยู่ในอำนาจของขอมจนถึง พ.ศ.1676 พระอโนรธามังช่อ หรือ อนุรุทธมหาราช กษัตริย์พุกามตีอาณาจักรละโว้จากขอมได้ “สิงห์” เมืองโบราณในอำเภอเมืองกาญจนบุรีมีซากปราสาทหิน และกำแพงล้อมปราสาท ลักษณะปรางค์ศิลาแลงเหลืออยู่ ลักษณะของเมืองสิงห์ก็ตรงกับเมืองพงตึก คือแสดงถึงว่า ขอมได้มีอำนาจแทนมอญ ดังกล่าวในยุคลพบุรี

                หลังจากนั้นอำนาจของขอมก็เสื่อมลง และไทยสายอู่ทองได้มีอำนาจขึ้นแทน

                ระยะกาลที่กาญจนบุรีเข้าสู่ยุคอู่ทอง ว่า “ถึง พ.ศ. 1747 พระยาสร้อยหล้า ผู้ครองเมืองนารายณ์ (เมืองเก่าในเชียงราย) อพยพหนีพระเจ้าเสือหาญ กษัตริย์เมืองแสนหวี ลงมาตั้งอาณาจักรอู่ทองในบริเวณนี้ เมืองกาญจน์ก็รวมอยู่ในแคว้นอู่ทองด้วย” ส่วนราชธานีของอาณาจักรอู่ทอง คือสุวรรณภูมิตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน ตำบลท่าพระยาจักร อำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นพระสัสสุระ(พ่อตา) ของพระเจ้าอู่ทองที่ได้ย้ายราชธานีมาตั้งที่ พันธุมบุรี (ตั้งอยู่ที่สุพรรณบุรีเก่า ตำบลรั้งเหล็ก) อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากความกันดารน้ำเพราะสายน้ำเปลี่ยนทิศทาง ท้าวอู่ทองสวรรคตในปี พ.ศ. 1887 พระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นพระราชบุตรเขย ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 30 พระชันษา เสด็จขึ้นไปราชย์สืบแทนเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 และย้ายราชธานีมาตั้งที่หนองโสน (บึงพระราม) ตำบลเวียงเหล็ก ในปี พ.ศ. 1893 โดยโปรดให้ขุนหลวงพระงั่ว พระเชษฐาของพระมเหสีครองพันธุมบุรีนครหลวงเดิมต่อไปแล้วทรงเฉลิมนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” และบริเวณย่านที่ทรงสร้างราชธานีใหม่นี้ เดิมก็เคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อนในยุคทวาราวดีและลพบุรี

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ดินแดนที่เป็นจังหวัดกาญจนบุรีทุกวันนี้เป็นที่อยู่เดิมของชนหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ยุคสมัยหิน จนมาถึงยุคสมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง ตลอดจน อยุธยา เพราะฉะนั้นจึงมีศิลปะของชนยุคต่างๆ อยู่อย่างหลากหลาย แต่ที่เด่นๆ ดูเหมือนจะเป็นยุคทวาราวดี ซึ่งได้ขุดค้นพบพระพุทธรูป และเทวรูปได้ที่บ้านพงตึก ศิลปะลพบุรีที่ได้ขุดค้นพบมากบริเวณประสาทเมืองสิงห์ที่โดดเด่นได้แก่เทวรูปต่างๆ ด้านพระเครื่องที่มีชื่อเสียง ก็คือพระร่วงยืนพิมพ์เท้าถ่าง หรือที่เราเรียกว่า “พระร่วงวัดสิงห์” นั่นเอง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็ได้แก่พระเครื่องพิมพ์หนึ่งซึ่งเป็นพระซึ่งสร้างในสมัยอู่ทองนั่นก็คือพระเครื่องที่มีชื่อว่า “พระท่ากระดาน” ซึ่งถือว่าเป็นพระประจำเมืองกาญจนบุรี และมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วเมืองไทย จนได้รับยาว่า “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” นั่นเอง

 

ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



ประตูเมืองเก่ากาญจนบุรีภาพประตูเมืองเก่า ของเมืองกาญจนบุรี
( เจ้าของภาพ : คุณ sutam23@hotmail.com )

Top