พญาครุฑ
ประวัติ (เทพพาหนะแห่งพระวิษณุ)
พญาครุฑ
เทพพาหนะแห่งพระวิษณุ
หนังสือ : ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู
โดย : อรุณศักดิ์ กิ่งมณี
คัมภีร์ปุราณะของฮินดูเล่าถึงกำเนิดพญาครุฑไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระทักษะปชาบดีได้ยกสิบสามนางให้พระกัศยปเทพบิดร (Kasyapa) ซึ่งธิดาสององค์ คือนางวินตา (Vinta) และนางกัทรุ (Kadru) แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน โดยนางกัทรุขอพรจากพระกัศยปให้มีบุตรเป็นนาคหนึ่งพันตัว ส่วนนางวินตาขอพรให้มีบุตรเพียงสององค์ แต่ให้มีฤทธิ์อำนาจมากกว่าบุตรของนางกัทรุ
นางกัทรุคลอดลูกออกมาเป็นไข่หนึ่งพันฟอง เมื่อเวลาผ่านไปห้าร้อยปีกก็บังเกิดเป็นนาคหนึ่งพันตัว ส่วนนางวินตา คลอดลูกเป็นไข่สองฟอง หลังจากเวลาผ่านไปเนิ่นนานไข่ก็ยังไม่ฟักเป็นตัว นางวินตาจึงทุบไข่ใบแรกปรากฏเป็นเทพมีเพียงครึ่งองค์ ไม่มีท่อนล่าง เนื่องจากเกิดก่อนกำหนดนามว่า อรุณเทพบุตร
พระอรุณโกรธนางวินตา ที่ทำให้ตนพิการ จึงสาปให้ต้องไปเป็นทาสนางกัทรุเป็นเวลาห้าร้อยปี แต่ก็บรรเทาคำสาปว่า หากนางวินตาสามารถทนรอไปอีกห้าร้อยปีจนไข่อีกฟองหนึ่งฟักเป็นตัว บุตรในไข่ใบที่สองจะช่วยนางให้พ้นคำสาป
ต่อมานางวินตา และนางกัทรุแข่งพนันทายสีม้าเทียมรถทรงของพระอาทิตย์ โดยมีข้อแม้ว่าหากผู้ใดแพ้ต้องยอมเป็นทาสของอีกฝ่ายหนึ่ง นางกัทรุใช้อุบายให้นาคผู้เป็นลูกเข้าไปแทรกอยู่ในรถขนม้า เพื่อให้สีเปลี่ยนไป นางวินตาจึงแพ้พนัน กลายเป็นทาสของนางกัทรุ
หลังจากนั้นอีกห้าร้อยปี ไข่ใบที่สองก็แตกออกมาเป็นบุตรผู้มีกำลังมหาศาล มีรัศมีทองสว่างไสวกว่าพระอาทิตย์นับร้อยเท่า มีศีรษะจงอยปาก และปีกเหมือนนกอินทรี แต่ร่างกายและแขนขาเหมือนมนุษย์มีนามว่า "เวนไตย" (แปลว่า เกิดจากนางวินตา)
เมื่อพญาเวนไตยเติบโตขึ้น ทราบว่ามารดาตนต้องเป็นทาสของกัทรุเพราะแพ้อุบาย จึงขอไถ่ตัวนางวินตาจากเหล่านาค พวกนาคก็ยินยอม โดยมีข้อแม้ว่า พญาเวนไตยต้องไปเอาน้ำอมฤตที่พระอินทร์เก็บรักษาไว้บนสวรรค์มาให้พวกตน
พญาเวนไตยตกลง โดยก่อนออกเดินทางได้ขอพรจากมารดา ซึ่งนางวินตาบอกว่า ระหว่างทางหากหิว ให้กินเฉพาะคนป่าเถื่อน (นิษาท) และห้ามทำอันตรายพวกพราหมณ์โดยเด็ดขาด พญาเวนไตยก็รับคำมารดา
ในระหว่างทางเมื่อเกิดความหิวก็จับพวกนิษาทกินเป็นอาหารแต่ก็ไม่อิ่ม จึงไปจับเต่า (วิภาวสุ) และช้าง (สุประตึกะ) ซึ่งเดิมเป็นอสูรพี่น้อง แต่เกิดความโลภแย่งสมบัติกัน ต่างฝ่ายต่างสาปให้กลายเป็นเต่าและช้างที่มีขนาดใหญ่โตมาก พญาเวนไตยเอาปากคาบสัตว์ทั้งคู่บินไปเกาะกิ่งไทรที่มีความยาวถึงหนึ่งร้อยโยชน์ แต่กิ่งไทรทานน้ำหนักไม่ไหว หักลงมา พญาเวนไตยแลเห็นว่าบนกิ่งไทรมีพวกฤาษีแคระซึ่งเรียกว่า "พาลขิยะ" มีขนาดเท่านิ้วมือ จึงเอาเท้าจับกิ่งไทรบินพาไปวางไว้ที่เขาเหมกูฏ
พวกฤๅษีเห็นว่าพญานกตนนี้มีจิตใจงดงาม จึงให้ชื่อว่า "ครุฑ" (Garuda ภาษาเดิมอ่านว่า คะ-รุ-ทะ) แปลว่าผู้รับภาระอันหนัก ทั้งยังให้พรว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดให้สำเร็จตามประสงค์ และให้มีพละกำลังมหาศาล ไม่มีผู้ใดต้านทานได้
จากนั้น พญาครุฑก็บินไปยังเทวโลก นำน้ำอมฤตออกมา พระวิษณุเสด็จมาพบเข้าจึงสู้รบกัน แต่ต่างไม่สามารถเอาชนะกันได้ พระวิษณุทรงพอพระทัยจึงทรงให้พรตามที่พญาครุฑต้องการ พญาครุฑขอพรสองประการคือ ขอเป็นพาหนะให้พระวิษณุในเวลาเสด็จไปยังที่ต่างๆ แต่ในยามปกติขออยู่เหนือพระวิษณุ และขอให้มีความเป็นอมตะแม้จะไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตาม พระวิษณุก็ทรงให้พรตามที่ขอ และยังทรงอนุญาตให้สามารถจับนาคกินเป็นอาหารได้ ยกเว้น "เศษะนาค" และ "นาควาสุกรี" ซึ่งเป็นผู้เคารพในพระองค์
เมื่อพญาครุฑออกเดินทางต่อ ปรากฏว่าพระอินทร์ตามมาแย่งน้ำอมฤตคืน เกิดสู้รบกัน พระอินทร์สู้ไม่ได้ จึงทำสัญญาเป็นมิตรกัน พญาครุฑบอกให้พระอินทร์ตามไปเอาน้ำอมฤตคืนหลังจากที่ตนส่งน้ำอมฤตให้พวกนาคแล้ว
เมื่อพญาครุฑกลับมา ก็นำน้ำอมฤตไปไถ่ตัวมารดา แล้วออกอุบายให้พวกนาคไปชำระร่างกายก่อนดื่มน้ำอมฤต เมื่อพวกนาคหลงกล พระอินทร์ก็ทรงฉวยเอาน้ำอมฤตกลับสวรรค์
ด้วยเหตุดังกล่าว พญาครุฑจึงเป็นเทพพาหนะของพระวิษณุ ในยามที่เสด็จไปยังที่ต่างๆ ส่วนในยามปกติพญาครุฑจะอยู่บนเสาธงนำขบวนของพระวิษณุ เรียกว่า “ครุฑธวัช”
นอกจากตำนานข้างต้นแล้ว
ครุฑยังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการถือว่าครุฑเป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์
ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น ซึ่งจากการที่เราใช้ “ตราครุฑ” เป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วๆไปด้วย
เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า “ธงมหาราช”
เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ธงมหาราชนี้ เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่า พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ ๓ ลำคือเรือครุฑเหินเห็จเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน
นอกเหนือจากการที่ “ตราครุฑ” ปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดิน ในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์มโดยมีข้อความประกอบว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต”
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูปเป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน
ปัจจุบันการขอพระราชทานตราตั้งนี้ต้องยื่นคำขอต่อสำนัก พระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวัง เรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานฯตาย หรือเลิกประกอบกิจการหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ
ที่มา : http://student.swu.ac.th/fa471010204/jenawat.htm
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/garuda.html