ประวัติ หลวงปู่สนั่น จนฺทปชฺโชโต ( สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ) - วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร - webpra

หลวงปู่สนั่น จนฺทปชฺโชโต ( สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ )

ประวัติ วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร

หลวงปู่สนั่น จนฺทปชฺโชโต ( สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ )

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่สนั่น ถือกำเนิดในสกุล สรรพสาร เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 10 คน ของคุณพ่อกำนันคำพ่วย และ คุณแม่แอ้ม สรรพสาร ณ บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2451 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

บรรพชาเป็นสามเณร

เมื่อยังเด็ก หลวงปู่มีอุปนิสัยรักในการบวช มักพูดว่าอยากไปบวชเณร และชอบที่จะคลุกคลีอยู่กับผู้ใหญ่ มากกว่าเด็กๆวัยเดียวกัน มีแววเฉลียวฉลาดและสติปัญญาดี ท่านได้รับการเลี้ยงดูจากคุณลุงเคน และคุณป้าแก้ว ซึ่งเป็นพี่สาวของโยมมารดา ตั้งแต่ยังเล็กๆ ท่านอยู่กับคุณป้าแก้วได้อายุประมาณ 9 ขวบ คุณป้าแก้วก็เสียชีวิตลง หลวงปู่ได้บวชหน้าไฟอุทิศให้แก่คุณป้าในงานวันฌาปณกิจศพ โดยมี พระอธิการเคน คมฺภีรปญฺโญ (สรรพสาร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดบูรพาพิสัย การบวชเป็นเณรของหลวงปู่ในครั้งนั้น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน และปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ เป็นเวลา 4 ปี

ต่อ มาท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) ได้รับหลวงปู่เข้าเป็นลูกศิษย์ เนื่องจากถูกอัธยาศัยกับท่านเมื่อครั้งท่านไปพักที่วัดบูรพาพิสัย ครั้งนั้นหลวงปู่จึงได้ย้ายมาจำวัดที่วัดศรีทอง จ.อุบลราชธานี และในช่วงนี้เองท่านได้เข้าศึกษาภาษาไทยและบาลีไวยากรณ์กับท่านเจ้าคุณพระ ศรีธรรมวงศาจารย์ (ทองจันทร์ เกสโร) ที่โรงเรียนอุบลวิทยาคม วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี

อุปสมบท

พ.ศ. 2468 ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ได้ฝากฝังหลวงปู่ไว้ให้อยู่ในปกครองของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ที่วัดบรมนิวาสฯ จ.กรุงเทพฯ ณ ที่นี้หลวงปู่ได้เริ่มต้นศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง และได้อุปสมบทที่วัดบรมนิวาสฯนี้เอง ในปี พ.ศ.2471 โดยมี พระครูศีลวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมราภิรักขิต (ชัย ชิตมาโร)เป็นพระกรรมวาจาจารย์ โดยได้รับฉายาว่า จนฺทปชฺโชโต

หลวงปู่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความขยันและอดทน และสำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม เปรียญ 9 ได้ในปี พ.ศ.2486 ขณะที่หลวงปู่มีอายุได้ 23 ปี ในช่วงอายุนี้ท่านได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และช่วยงานการปกครองคณะสงฆ์ของจังหวัด ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้อนุญาตให้หลวงปู่ไปช่วยงานได้ตามที่ขอมา ซึ่งหลวงปู่ก็ได้ไปอยู่ช่วยงานที่จังหวัดจันทบุรีอยู่ 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472-2524 หลวงปู่ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมตามสำนักเรียนต่างๆ

ในวัย 36 ปี (พ.ศ.2486) หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา จากนั้นท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งและหน้าที่ต่างๆเพื่อประโยชน์ทางพระพุทธศาสนา ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง การเผยแผ่ และสาธารณูปการต่างๆอย่างเต็มความสามารถ ในปี พ.ศ.2489 หลวงปู่มีสมณศักดิ์ในขณะนั้นที่ พระอมรเวที ท่านได้รับหน้าที่จาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ให้ไปอยู่ช่วยงานที่กองตำรามหามกุฏฯ ที่วัดนรนาถสุนทริการาม หลวงปู่จึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดนรนาถฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ต่างๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2532 ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์"

หลวงปู่ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรือสมณศักดิ์ใด ท่านมีความมักน้อย สันโดษ ไม่โอ้อวด ไม่ถือยศตลอดอายุของท่าน บรรดาพระป่ากัมมัฏฐานต่างๆ เช่น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปณฺโณ ได้กล่าวถึงหลวงปู่ว่า "เป็นพระแท้ กราบไหว้ได้ด้วยความสนิทใจ" โดยทุกๆเช้าหลวงปู่จะตื่นตี 4 ลุกขึ้นมาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิไปจนกระทั่ง 6 โมงเช้า จากนั้นจึงลงไปเดินจงกรมรอบๆโบสถ์ ปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด ไม่เคยขาดแม้กระทั่งเจ็บป่วย ท่านเคยได้ออกธุดงค์และบำเพ็ญเพียรในป่า ตามแบบอย่างของครูบาอาจารย์ของท่าน มีท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นต้น

ในช่วงท้ายของชีวิต หลวงปู่ได้อาพาธด้วยโรคไต และปอด มีอาการเจ็บป่วยอยู่เป็นระยะ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ.2541 หลวงปู่เข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ในครั้งนี้หลวงปู่ได้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ เบาหวาน ความดันต่ำ และหอบหืด ทำให้มีอาการรุนแรงกว่าทุกครั้ง หลวงปู่มีสติดีเยี่ยม รับรู้อาการทรมานแห่งโรค รับรู้การรักษาพยาบาล ซึ่งท่านไม่ได้มีอาการทุรนทุราย กระสับกระสาย หรือร้องครวญครางให้ใครได้ยินเลย ท่านแสดงถึงความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว จนกระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 หลวงปู่อยู่ในอารมณ์สมาธิ เงียบสงบ ลมหายใจแผ่วเบา และอ่อนลงตามลำดับ จนกระทั่งมรณภาพลง

สิริอายุรวม 90 ปี 1 เดือน 24 วัน พรรษาที่ 71

ธรรมโอวาท
๑. การปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะปฏิบัติแนวไหน สายไหน ก็ใช้ได้ทั้งนั้น สำคัญตรงที่เราปฏิบัติกันอย่างจริงๆจังๆ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะปฏิบัติในแบบภาวนาพุทโธ หรือ สัมมาอะระหัง หรือยุบหนอพองหนอ เป็นต้น แต่ละอย่างล้วนต่างก็ให้ผลดี คือทำจิตใจให้สงบระงับจากกิเลสอาสวะได้ทั้งสิ้น

 

แหล่งข้อมูล: ตัดทอน/เรียบเรียงจาก วัดนรนาถสุนทริการาม. 2542. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์.มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.relicsofbuddha.com/marahun/page8-2-25.htm



สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) หรือ สมเด็จปู่ หรือหลวงปู่ของศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย
เป็นพระกรรมฐาน ผู้เจริญรุ่งเรืองทั้งสมณศักดิ์และการศึกษา
ในด้านการศึกษานั้นท่านจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ในทางสมณศักดิ์นั้นท่านได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
ด้วยเหตุนี้เองหลวงปู่จึงได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบกิจการของคณะสงฆ์
ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร
เจ้าคณะภาค ๘ และ ๑๐ (ธ) ประธานเจ้าคณะภาค ๘-๙-๑๐-๑๑ (ธ)
ท่านจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบำรุงพระพุทธศาสนา
ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาของพระเณร ซึ่งถือเป็นการรักษาพระศาสนาให้มั่นคง

“...แม้ว่าในการจัดการศึกษานี้ จะต้องสิ้นเปลืองทุนทรัพย์ไปมาก
และแม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยสักปานใดก็ตาม เราก็ต้องสู้ และต้องทน...”

“...บุรพาจารย์ผู้บริหารพระศาสนาของเรา ท่านไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
ท่านทำงานเพื่อพระศาสนา ด้วยการยอมเสียสละมาแล้ว
เราก็ต้องไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและทำงานเพื่อพระศาสนา ด้วยการยอมเสียสละต่อไป...”

แม้จะมีกิจการสงฆ์ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แต่หลวงปู่ก็มิได้ละทิ้งการปฏิบัติธรรม
ท่านจึงเป็นทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติ ที่น่ายกย่อง
ดังที่ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวชื่นชมเสมอๆ

“...เจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นอกจากท่านจะเป็นนักปริยัติแล้วท่านยังเป็นนักปฏิบัติ นักภาวนา
เวลาพบปะสนทนากับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะสนทนาแต่เรื่องการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับสมาธิภาวนาด้วยทุกครั้ง
ท่านจะไม่พูดถึงเรื่องโลกๆ ภายนอก อันเป็นสิ่งสกปรกโสมมเลย
พระเณรเราควรที่จะประพฤติ ปฏิบัติ รักษา ตามแบบอย่างที่ท่านเคยปฏิบัติเอาไว้
โดยเฉพาะเจ้าอาวาสนี้สำคัญมากนะ เพราะเป็นผู้นำคน ปกครองคน..."

และยังได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งติดตามท่านพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
เดินทางไปยังวัดนรนาถสุนทริการาม ดังความว่า

“...เมื่อไปถึงกุฏิของเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ผลักประตูห้องเข้าไป
ตามแบบคนที่สนิทสนมกันมานาน พบว่าท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กำลังนั่งสมาธิอยู่
เจ้าคุณสมเด็จฯ แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่าเจ้าคุณธรรมเจดีย์อุตส่าห์เมตตามาเยี่ยมเยียน
จากนั้นจึงได้สนทนากันอยู่พักใหญ่ ตอนหนึ่งของการสนทนา ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯพูดว่า
“...ผมเองแม้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ฉันอาหารดิบๆ ดีๆ นะ
ก็ฉันของแห้งๆไปอย่างนั้นแหละ ฉันของดีจริงๆ ภาวนาไม่ดี..." ”

เรื่องราวดังกล่าวนี้สะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความมักน้อย สันโดษ
มีความพากเพียรเพื่อธรรมะ โดยไม่เห็นแก่ความสุขสบายของท่าน
หลวงปู่เล่าถึงการปฏิบัติของท่านไว้ว่า

“...ทุกๆ เช้า อาตมาตื่นตี ๔ ลุกขึ้นมาทำวัตรไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิไปจนถึง ๖ โมงเช้า
จากนั้นก็จะเดินออกกำลังรอบๆ โบสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นการเดินจงกรมไปในตัว
อาตมาปฏิบัติเช่นนี้เสมอมามิได้ขาด แม้จะรู้สึกเจ็บป่วยก็จะลุกขึ้นมาปฏิบัติเสมอ..."

ท่านกล่าวถึงคุณค่าของการปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ ไว้อย่างน่าฟังว่า

“...การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนานั้น เหมือนกับการรดน้ำต้นไม้
ถ้ารดทุกวัน แม้วันละน้อย ต้นไม้ก็จะเจริญงอกงามเติบโตขึ้นได้
แต่ถ้ารด ๒ วันแล้วทิ้งไปเป็นเดือน ต้นไม้ก็จะแคระแกร็น หรืออาจตายได้เช่นกัน
การปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกวัน ทำอย่างต่อเนื่อง แม้วันละเล็กละน้อย
แต่ทำทุกวัน ก็จะมากขึ้นได้เอง ชาตินี้แม้จะดับทุกข์ยังไม่สิ้น
แต่เราก็จะได้นิสัยในการปฏิบัติธรรมเป็นอุปนิสัยติดตัวไป ข้ามภพข้ามชาติ
ชาติหน้าเราก็สามารถทำต่อได้โดยไม่ยาก เพราะเรามีอุปนิสัยเป็นพื้นเดิมอยู่ก่อนแล้ว..."

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่มีความพากเพียร
แม้ต้องประกอบสมณกิจมากมาย แต่ก็ไม่ทอดทิ้งการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
ดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความอดทน มุ่งมั่น
สมควรที่เราชาวพุทธจะได้นำไปเป็นแบบอย่าง เพื่อการปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์โดยแท้จริง

- - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -

เอกสารประกอบการเขียน

“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=466:2010-10-06-18-53-44&catid=60:-lite-voyage&Itemid=59

Top