ประวัติ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร - วัดป่าแก้วชุมพล ต.บ้านชุม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร - webpra

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

ประวัติ วัดป่าแก้วชุมพล ต.บ้านชุม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร นามสกุล ไชยเสนา ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ณ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี

ปัจจุบัน อำเภอลุมพุกเปลี่ยนเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว ขึ้นกับจังหวัดยโสธร และปัจจุบันบ้านศรีฐานเป็นตำบล ตำบลศรีฐาน ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

ท่านมีพี่น้องร่วมมารดา-บิดาเดียวกัน ๕ คน เป็นชาย ๓ เป็นหญิง ๒ บิดาของท่านชื่อ นายบุญจันทร์ มารดาชื่อนางอบมา ไชยเสนา ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ พี่ชายของท่านคนหัวปีได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก

ส่วนพี่ชายคนรองก็ได้เสียชีวิตไปอีก ในตอนที่มีครอบครัวและมีลูก ๓ คนแล้ว ยังเหลืออยู่แต่น้องสาวของท่าน ๒ คน ชื่อ นางกรอง จันใด และนางแก้ว ป้องกัน

ปฐมวัย-การศึกษา-อุปสมบท

โยมแม่ของท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะปฏิสนธิ โยมแม่ของท่านฝันว่ามีคนเอาห่อของไปให้ แล้วบอกโยมแม่ของท่าน ว่านี้เป็นของฝากของเทวดา ให้เก็บรักษาเอาไว้ เมื่อแก้ออกดูเป็นซ้องกับหวี

ต่อมาโยมแม่ของท่านก็ตั้งท้อง เมื่อยังเป็นเด็ก ท่านได้ช่วยพ่อแม่ผู้มีอาชีพทำนา และช่วยในกิจการทุกอย่างเท่าที่จะช่วยได้ เมื่อท่านอายุครบพอเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประชาบาล จนจบชั้น ป. ๔

ครั้นเรียนจบชั้น ป. ๔ แล้ว ท่านก็ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาต่อไป จนอายุครบ ๒๐ ปีจึงได้อุปสมบท เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ ๒๔๘๗ ก่อนเข้าพรรษา ๗ วัน ณ พัทธสีมา วัดป่าสำราญนิเวสน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมีพระครูทัศนวิสุทธิ์ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์เดียวกันกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก แต่พระอาจารย์สิงห์ทองบวชหลัง ๑ พรรษา

ครั้นบวชแล้วได้มาจำพรรษา ณ วัดป่าศรีฐานใน ซึ่งเป็นวัดป่าของหมู่บ้านศรีฐาน โดยมีพระอาจารย์บุญสิงห์เป็นพระอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนด้านสมาธิภาวนา

ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์องค์นี้บวชที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านเกิดที่บ้านหัวเมย ทุกวันนี้เข้าใจว่าเป็นอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เดิมท่านเป็นครูประชาบาล ต่อมาท่านได้ลาออก

นิสัยของท่านเป็นคนพูดน้อยและไม่เคยดุใครเลย ท่านขยันทำความเพียรมาก ปกติพอฉันจังหันเสร็จท่านมักจะเข้าที่เดินจงกรม ท่านเดินได้ตลอดวัน ไปเลิกเอาเวลาประมาณบ่าย ๔ โมง ซึ่งเป็นเวลาทำกิจวัตรปัดกวาดลานวัด และตัดน้ำใช้ น้ำฉัน เป็นต้น

สมัยที่ท่านยังไม่ได้บวชพระ ยังเป็นตาปะขาวอยู่ ได้ฝึกหัดด้านสมาธิภาวนากับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน ท่านเคยอดอาหารติดต่อกันเป็นเวลา ๑๔ วันเพื่อทำความเพียรให้จิตสงบ

ในช่วงเวลาที่อดอาหารนั้น ท่านได้ทำข้อวัตร คือ ท่านตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่โอ่ง ใส่ไหให้ครูบาอาจารย์ในวัดทุกวัน โดยท่านตั้งใจไว้ว่า ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าการหาบน้ำยังหนักอยู่จะไม่ยอมหยุด จะทำอยู่อย่างนั้น

เมื่อเต็มหมดโอ่ง ตามตุ่ม ตามไหแล้ว ท่านก็รดน้ำต้นไม้ต่อ ทำจนว่าไม่มีความรู้สึกหนัก หาบน้ำข้างละ ๑ ปีบ ท่านว่าเหมือนเดินไปตัวเปล่าแล้วท่านจึงได้หยุด ท่านเป็นคนที่พูดน้อยแต่ทำจริง (อย่างที่ว่าพูดน้อยแต่ต่อยมาก)

ทั้งนี้หมายความว่า การที่ผู้ประสงค์จะบวชเป็นพระกรรมฐาน สมัยก่อนนั้น ครูบาอาจารย์จะทดสอบด้านสมาธิภาวนาให้เป็นที่พอใจ แล้วจึงอนุญาตให้บวชเป็นพระได้ บางราย ๓ ปีก็มี

อยู่ด้วยพระอาจารย์บุญสิงห์

เมื่อพระอาจารย์สิงห์ทองได้มาอยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านว่าการทำความเพียรไม่ให้ถือเอาเวลา ให้ถือเอาความสงบเป็นสำคัญ

         ให้ทำความเพียรไปจนกระทั่งจิตสงบลงรวมจึงหยุด หมายความว่า ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา จะเป็นเวลากี่ชั่วโมงก็ตาม ถ้าจิตยังไม่สงบแล้วห้ามเลิก คือ ท่านทำของท่านแบบนั้น ถ้าในกรณีจำเป็น เช่น จะต้องไปบิณฑบาต ฉันจังหัน เมื่อเสร็จกิจแล้วให้เข้าที่ภาวนาต่อจนกว่าจิตจะลงรวมได้จึงจะหยุดพักผ่อน

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีคราวหนึ่ง ท่านพาเดินทางไปธุระ เดินไปตลอดวัน เวลาพักก็พักในโบสถ์ด้วยกัน ท่านเตือนว่า อย่าเพิ่งนอนเลย ให้ทำจิตให้สงบก่อน ถ้านอนเลยมันจะนอนมาก ถ้าได้พักจิตให้สงบก่อนแล้ว นอนหลับนิดเดียวก็อิ่ม

ท่านเตือนอย่างนั้น แล้วต่างองค์ต่างก็ลงเดินจงกรม พอเหนื่อยก็เข้ามาพัก แต่ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ท่านยังไม่เข้ามา ท่านยังเดินจงกรมอยู่ นั่งภาวนาไปพอสมควรแล้วก็ล้มนอนลง

เวลาตื่นขึ้นมามองเห็นท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ท่านนั่งสมาธิอยู่ เลยไม่ทราบว่าท่านนอนเมื่อไร ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างนั้นเสมอ ๆ

ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง (วัดถ้ำกลองเพล) ได้เคยเล่าให้ฟังครั้งสมัยที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ว่า ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ชวนไปภาวนาที่ป่าช้า (ป่าช้าบ้านศรีฐาน) ท่านพาเดินจงกรม

ทีแรกก็คิดในใจว่าจะเดินแข่งกะท่าน ว่าคนแก่จะเดินเก่งขนาดไหน แต่พอเดินไป ๆ เจ้าหนุ่มน้อยเหนื่อย สู้ไม่ไหว ก็เลยขึ้นกะแคร่นอน พอตื่นขึ้นมายังมองเห็นท่านยังเดินอยู่ จนจะถึงเวลาปัดวาดคือ ๔ - ๕ โมงเย็น ท่านจึงพากลับ บทเวลาท่านนั่ง ท่านก็นั่งได้ทั้งวันอีกแหละ เพราะทำไม่ถอย

ทางเดินจงกรมของท่านอาจารย์บุญสิงห์มีอยู่ ๓ เส้น แต่ละเส้นเดินจนเป็นร่องลึก ต้องได้ถมกันอยู่บ่อย ๆ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองกล่าวว่า ท่านอยู่ได้เพราะมีอาจารย์ผู้นำดี ท่านปฏิบัติดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ทำให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองมีความมานะ พยายามเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนา ตามแบบฉบับของพระอาจารย์ของท่าน เวลากลางคืนเมื่อไปจับเส้นถวายท่าน ถ้าวันไหนจิตไม่สงบ ท่านจะพูดธรรมะในด้านอสุภกรรมฐานให้ฟัง ถ้าวันไหนภาวนาดี จิตสงบ ท่านพระอาจารย์จะนิ่ง ไม่พูดอะไร

เกิดสุบินนิมิต

การภาวนาของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองในพรรษาต้น ๆ นั้นง่าย จิตของท่านสงบลงรวมได้ง่าย แม้กระทั่งทำวัตรไหว้พระสวดมนต์อยู่กับหมู่คณะ กำหนดไปตาม จิตของท่านก็สามารถสงบลงรวมได้เป็นบางครั้ง

แต่ความตั้งใจของท่านนั้น ตั้งใจว่าจะลาสิกขา เกรงว่าถ้าทำความเพียรมาแล้วจะเป็นพระอรหันต์ จะไม่ได้สึก ครั้นเมื่อท่านตัดสินใจที่จะไม่สึกแน่นอนแล้ว การภาวนากลับยาก ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน

ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านได้เกิดสุบินนิมิต ปรากฏว่ามีพาหนะ ๓ ชนิด คือ ช้างเผือก ม้าขาว และวัวอุสุภราช ท่านมีความรู้สึกในความฝันว่า ท่านได้ขี่พาหนะทั้ง ๓ ตัวนั้น

ท่านองค์เดียวแต่ขี่พาหนะได้ทั้ง ๓ ตัว ในขณะเดียวกัน และได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงออกมาจากหมู่บ้านดังออกมายังศาลาที่วัด คล้ายกับว่าชาวบ้านจะมาทอดผ้าป่าหรือทำการกุศลชนิดใดชนิดหนึ่ง

แต่พอมาถึง ปรากฏว่าไม่มีคน มีแต่ดอกไม้นานาชนิดลอยมาสูงระดับหน้าอก แล้วเวียนรอบศาลา ก็พอดีท่านรู้สึกตัวตื่นจากความฝัน นี่เป็นเหตุให้ท่านมีความมั่นใจว่า การบวชของท่านนั้นจะบรรลุผลอันพึงพอใจ

ในช่วงที่อยู่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ได้ศึกษาคือเรียนนักธรรมควบคู่กันไปกับการปฏิบัติภาวนา และท่านก็สอบได้นักธรรมชั้นโท

ในช่วงพรรษาแรก

ในช่วงระหว่างที่ท่านอยู่วัดศรีฐานในนั้น มีชาวบ้านศรีฐานไปติดเชื้อฝีดาษมาจากที่อื่น และมาป่วยตายที่บ้านศรีฐาน ชาวบ้านยังไม่รู้จักก็พากันไปงันศพตาประเพณีของทางอีสาน

คนที่ไปงันศพนั้นติดเชื้อฝีดาษกันทุกคน ฟังว่าเชื้อนี้ไปจากเพชรบูรณ์ คนที่ตายคนแรกเป็นทหารสมัยเพชรบูรณ์ โรคนี้จึงระบาดไปทั่วทั้งหมู่บ้าน มีคนตายวันละ ๗ - ๘ คนทุกวัน

จนชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ตามทุ่งตามนา และภายในหมู่บ้านเงียบเหงาวังเวงมาก เมื่อมีคนตาย ชาวบ้านก็มานิมนต์พระไปสวดมาติกาบังสุกุล ทำบุญให้กับผู้ตาย

ระหว่างนี้ วันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองท่านฝันว่า ท่านพระอาจารย์เพียรสมัยท่านยังเป็นเด็ก เอาพุลูกเหล็ก (ไม้ซาง) มายิงท่าน ท่านห้ามว่าอย่ายิง ๆ ก็ไม่ฟัง ก็เลยยิงท่านจริง ๆ ท่านว่าเข้าไม่ลึกเท่าไร

และท่านอาจารย์เพียรพูดว่า ยิงแค่นี้จะเปื่อยไปทั้งตัวนะ แล้วท่านอาจารย์ก็หักพุ (ไม้ซาง) แล้วตีท่านอาจารย์เพียรจนเลือดอาบทั้งตัว ท่านพระอาจารย์เพียรนี้ ท่านเป็นญาติกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง

คือ โยมแม่ของท่านอาจารย์เพียรเป็นพี่สาวของโยมพ่อพระอาจารย์สิงห์ทอง พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น เมื่อได้โอกาสท่านก็เล่าความฝันนั้นถวายพระอาจารย์บุญสิงห์ และท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ก็ทำนาย ความฝันได้แม่นยำว่า

ท่านจะต้องเป็นฝีดาษกับเขานะ แต่ไม่ตายดอก เพราะท่านได้ชนะเขา พอท่านทราบดังนั้น ท่านจึงได้หลบโรคร้ายนี้ไปพักอยู่ที่วัดหนองไคร้ ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่ามีความรู้สึกเหมือนแผ่นดินหมุนติ้ว จนท่านไม่สามารถยืนอยู่ได้ จึงล้มตัวลง แล้วค่อยพยุงตัวไปยังที่พัก แล้วปรากฏว่าปวดหัวอย่างแรง ท่านจึงลุกขึ้นนั่งภาวนา

โดยตั้งใจว่าถ้าความปวดนี้ไม่หาย เมื่อใดจะไม่ยอมเลิก ตั้งใจเสียสละชีวิตต่อสู้ทุกขเวทนา ถึงอย่างไรจะต้องพิจารณาให้รู้จักทุกขเวทนานี้ให้ได้ ท่านได้ต่อสู้ ทุกขเวทนาจนจิตของท่านสงบ

และปรากฏว่าทุกขเวทนาหายเงียบไปหมด พอทุกขเวทนาหายไปหมดแล้ว ท่านจึงออกจากสมาธิแล้วล้มตัวลงนอน และได้กลิ่นตัวของตัวเองคล้าย ๆ กับกลิ่นฝีดาษ จึงทราบว่าท่านได้ติดเชื้อฝีดาษแล้ว ครั้นต่อมาก็มีอาการไข้

เมื่อโยมพ่อของท่านได้ทราบข่าวการป่วยของท่าน โยมพ่อของท่านจึงไปรับท่านกลับมาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานใน ท่านพยายามเดินมาจนถึงวัดเพราะสมัยก่อนยังไม่มีรถ ระยะทางก็ประมาณ ๓๐๐ เส้น (๑๒ กิโลเมตร)

ต่อมาตุ่มก็เริ่มออก  ตุ่มออกเต็มทั้งตัว จนกระทั่งฝ่ามือฝ่าเท้า ต่อมาพอตุ่มสุกแล้วก็เปื่อย โรคอันนี้เหม็นคาวมาก ท่านพระอาจารย์ถึงต้องนอนใบตองกล้วย เพราะออกแสบออกร้อนสารพัด

ขณะนั้น ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง วัดถ้ำกลองเพล ยังเป็นสามเณรอยู่ เป็นผู้อุปัฏฐานท่านพระอาจารย์ แต่ท่านอาจารย์บุญสิงห์ สั่งพระเณรที่อุปัฏฐากรักษาว่าอย่าเข้าไปทิศใต้ลม ให้เข้าไปทางเหนือลม

ให้สังเกตดูลมเสียก่อน ท่านกลัวว่าเชื้อโรคจะติดพระเณร ในที่สุดท่านก็หายและรอดตายมาได้โดยไม่มีรอยแผลเป็น เหมือนกับคนอื่นที่เคยเป็นโรคนี้แต่ส่วนมากมักจะตายกัน ถ้าลงได้เป็นโรคอันนี้แล้วจะเหลือเพียง ๒๐ % เท่านั้น

ไปบอกลากำนันเหลา

ในช่วงพรรษาที่ ๑- ๔ ปี พ.ศ ๒๔๘๗ - ๒๔๙๐ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าศรีฐานใน ๓ พรรษา และวัดบ้านหนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร อีก ๑ พรรษา ครั้นพรรษาที่ ๔ ล่วงไปแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เดือน ๓ (เดือนกุมภาพันธ์) ท่านก็ได้ออกธุดงค์

โดยมุ่งหน้าจะไปไหว้พระธาตุพนม มีพระเณรติดตามท่านไปด้วย ๓ องค์ ๔ กับองค์ท่าน เป็นสามเณร ๒ องค์ เป็นพระ ๒ องค์ และท่านพระอาจารย์พวง สุขินฺธริโย (ปัจจุบัน ท่านเป็นพระสุนทรธรรมภาณ) วัดศรีธรรมาราม เจ้าคณะ จังหวัดยโสธร สมัยนั้น ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านก็ได้ติดตามพระอาจารย์ไปด้วย

ก่อนจะออกเดินทางจากบ้านศรีฐาน ท่านได้ไปบอกลากำนันเหลา กำนันเหลาคนนี้เคยพูดกับท่านอาจารย์เอาไว้ สมัยท่านจะบวชว่า ถ้ามึงบวชอยู่ได้พอพรรษาแล้ว ให้มึงมาขี้ใส่บ้านกูนะ ชอบที่ไหนให้ขี้ใส่เลย ให้เอาหมอนกูนั้นเช็ดก้น ท่านจำไม่ลืม

เวลาท่านจะออกจากบ้านไปเที่ยววิเวก (ธุดงค์) ท่านจึงได้ไปลา พอขึ้นไปบ้าน เขาก็ปูสาดปูเสื่อต้อนรับ พูดคุยหัวเราะกัน เพราะออกจะสนิทกันอยู่มาก พอแล้วท่านอาจารย์ก็มองโน้นมองนี้แล้วพูดว่า จะให้ขี้ใส่ตรงไหนล่ะ

กำนันร้อง โอ้ย ผมนึกว่าครูบาลืมแล้ว หัวเราะกัน แล้วก็ขอขมาคารวะท่าน อย่าให้โยมเป็นบาปเป็นกรรมเน้อ โยมไม่นึกว่าครูบาจะอยู่ได้ ได้เวลาพอสมควรแล้วท่านอาจารย์ก็ลากลับวัด

เหตุใดกำนันจึงพูดอย่างนี้กับท่าน เพราะท่านอาจารย์สมัยที่ยังไม่บวชเป็นคนขี้ดื้อ (ซน) ชอบเล่นสนุก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นนักเลงดอกนะ การลัก การขโมย การฆ่าการตีคนอื่นนั้น ไม่ใช่ เพียงแต่นิสัยของท่านชอบเล่นสนุก

โยมแม่ของท่านเคยเล่าให้ฟัง แม้กระทั่งวันจะบวช พอโกนผมเสร็จแล้ว ยังไม่ถึงเวลาบวช ท่านก็ยังชวนหมู่ที่เป็นนาคด้วยกันชนกัน ว่าหัวโล้นชนกันเถอะแล้วก็ไล่ชนกันกับหมู่ตามใต้ถุนศาลา

แล้วทำเหมือนควายจะชนกัน พูด แงะ-แงะ แล้วเบิดไล่ชนกัน โยมแม่ของท่านพูด ช่างไม่อายชาวบ้านอื่นเขา เพราะที่ไปบวชนั้นก็มีหลายหมู่บ้าน ท่านขี้ดื้อ (ท่านซน) ไปในลักษณะนี้แหละ

ท่านออกเดินทางไปไหว้พระธาตุพนม

สมัยก่อน ชาวจังหวัดอุบล และจังหวัดใกล้เคียง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าชาวอีสานส่วนใหญ่แทบทุกจังหวัด นิยมเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนมกันเป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่จะไปกันตอนเดือน ๓ เพ็ญ

เพราะมีงานในช่วงนี้ ทางวัดจัดงานไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปี สมัยก่อนที่ไปมาหาสู่กันสะดวก ทางฝั่งลาวก็ข้ามน้ำมาร่วมกันเป็นจำนวนมากเหมือนกัน การเดินทางจะเดินไปด้วยเท้า เพราะสมัยก่อนยังไม่มีรถมาก และถนนหนทางรถก็ไม่ค่อยดี

ตอนหลัง ๆ มาหน่อย ถึงจะมีรถไปรับ (รถรับเหมา) บางคนบางหมู่ก็จะไม่ยอมขึ้นรถไป เขาพูดกันชวนกันว่า เราเดินไปจึงจะได้บุญมาก ได้บุญทุกก้าวเดิน เห็นพวกโยมแม่เคยไปกัน ถ้าขึ้นรถไปกลัวจะไม่ได้บุญมาก

การเดินทางก็เดินตามทางเกวียน เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ค่ำไหนนอนนั่น อาหารและน้ำก็อาศัยขอตามหมู่บ้านที่ผ่านไป แต่ชาวอีสานเดิมก็มีดีอยู่อย่าง คือ เวลามีแขกมาพัก ส่วนมากจะพักในวัดกัน

พอตกกลางคืนถึงเวลากินข้าว ขาวบ้านจะพากันเอาข้าวเอาอาหารมาส่ง สุดแล้วแต่เขาจะมีอะไร มีน้ำพริก หรือปลาร้า ผัก เหล่านี้เป็นต้น จะไม่ค่อยได้ซื้อกันเหมือนสมัยทุกวันนี้

พวกหนุ่มสาวก็ลงมาคุยกันก็มี เพราะไปแต่ละหมู่ แต่ละคณะก็มีทั้งหนุ่มทั้งแก่ ถ้าไปอย่างนี้สมัยก่อนจะต้องมี คนแก่ไปด้วย ถ้าไม่มีคนแก่ไปด้วย หญิงสาวจะไม่ยอมไปเด็ดขาด ต้องอาศัยคนแก่

ในระหว่างทางที่เดินไป บางแห่งก็ร่มรื่นด้วยแมกไม้ ทุกคนดูจะมีความสุขที่จะได้ไปไหว้พระธาตุพนม และการเดินทางก็ปลอดภัย ปราศจากอุบัติเหตุและโจรผู้ร้าย บางพวกก็เป่าแคน ร้องรำกันไป เป็นที่สนุกสนานตลอดระยะทาง

สำหรับท่านพระอาจารย์นั้นก็ได้เดินทางไปเหมือนกันพอไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อบ้านตากแดด อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ท่านทราบว่ามีถ้ำที่ภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นภูเขา ที่ไม่ใหญ่เท่าไรนัก ชื่อว่า ภูทอก มีถ้ำ

แล้วเมื่อท่านอาจารย์และหมู่ไปถึงก็คิดอยากจะไปพักในถ้ำ เพราะท่านยังไม่เคยเที่ยวในถ้ำมาก่อนเลย ถามชาวบ้าน ชาวบ้านเขาก็ห้าม ว่าครูบาจะอยู่ได้หรือ ถ้ำนี้เข็ดมากนะ (แรงมากนะ)

เมื่อ ๒ - ๓ วันก็มีพระมาพัก แต่อยู่ไม่ได้ หนีไปกลางคืนเลย ครูบาจะอยู่ได้หรือ ชาวบ้านเขาห้าม แต่ท่านอาจารย์ก็อยากจะลองพักดู เลยขอให้ชาวบ้านไปส่ง เมื่อเขาตามส่งถึงถ้ำแล้วเขาก็กลับ

ท่านอาจารย์และพระเณรที่ไปด้วยกันก็ทำข้อวัตร ปัดกวาดเสร็จแล้วก็สรงน้ำสรงท่าเสร็จ เป็นเวลาจวนจะมืด ต่างองค์ต่างเดินจงกรม ส่วนท่านอาจารย์ท่านเดินอยู่ที่ปากถ้ำ

พอมืดเข้ามาหน่อยก็ได้ยินเสียงดังลงมาจากหลังเขา คล้าย ๆ กับเสียงลมพัดหนัก ๆ พอดีวันนั้นเป็นวัน ๑๔ ค่ำ ไม่ทราบว่าข้างขึ้น หรือข้างแรม จำไม่ได้ เสียงนั้นก็ดังใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาเรื่อย

แต่เมื่อเสียงนั้นใกล้เข้ามา ปรากฏว่าไม่ใช่เสียงลมเสียแล้ว เป็นเสียงงูเหมือนงูเลื้อยมา เสียงท้องของงูกวาดกับหิน ปรากฏว่าจะตัวใหญ่มากทีเดียว ในความรู้สึกของท่านว่าเหมือนกันกับลากเสื่อหวาย

ธรรมดาเสื่อหวายจะกว้างกว่าเสื่อธรรมดาประมาณเมตรห้าสิบ หรือสองเมตร ท่านว่าถ้าเป็นงูก็จะตัวใหญ่ขนาดนั้นแหละ

ในภูเขาลูกนี้ มีหลวงพ่อองค์หนึ่งท่านประจำมานานแล้ว แต่ท่านเป็นพระมหานิกาย (มหานิกายปฏิบัติ) ท่านได้ยินเสียงด้วย ท่านก็เลยตะโกนบอกว่า ไม่เป็นไรดอก มาเยี่ยมเฉย ๆ

แต่ด้วยเหตุที่ท่านอาจารย์ไม่เคยประสบมาก่อน และยังไม่เคยออกวิเวกตามถ้ำตามเขามาก่อนเลยท่านก็อดกลัวไม่ได้ ท่านว่าเมื่อเสียงยังดังอยู่ไกลหน่อย เดินจงกรมก็สุดทางข้างนั้นข้างนี้ เมื่อเสียงนั้นใกล้เข้ามา ๆ เดินจงกรมไปได้ครึ่งทาง เพราะกลัว

พอใกล้เข้ามาจริง ๆ ก็ก้าวขาไม่ออกเลย ท่านว่า นึกจะสวด กรณี ก็ได้แต่ กรณี กรณี ขยายความไปไม่ได้ ท่านว่าคนเราเมื่อกลัวถึงที่แล้วจิตจะไม่ปรุง จิตตั้งอยู่เหมือนกับเทียนอยู่ในโคมไฟ มันปรุงไม่ออก

ท่านว่า จากนั้นเสียงก็ได้เงียบไป ท่านอาจารย์และพระเณรก็เข้าที่ของใครของมัน สำหรับท่านอาจารย์มีแคร่นอน แต่องค์อื่นนอนกับพื้น

พอขึ้นแคร่แล้ว ก็ทำวัตร ไหว้พระ สวดมนต์ เสร็จแล้ว ก็นั่งภาวนา เมื่อได้เวลาพอสมควรแล้วก็เลยนึกว่า วันพรุ่งนี้จะต้องเดินทางต่อ จะพักสักหน่อย ถ้าไม่พักนอนเลยก็จะเหนื่อยในการเดินทาง

แล้วก็ล้มตัวลงนอน ภาวนาไปด้วย พอเคลิ้มจะหลับ ก็ได้ยินเสียงขู่ขึ้นมาจากใต้แคร่ ท่านก็รู้สึกตัวว่าเสียงที่ขู่ขึ้นมานั้นเป็นเสียงงู ท่านก็เลยปลุกพระเณรว่า ลุก ๆ งูจะกินหัวนะ ท่านเจ้าคุณพวงท่านว่า ยังไม่หลับ (สามเณรพวง)

พอหมู่ลุกขึ้นนั่งหมดแล้ว ก็ขู่ขึ้นมาอีก ท่านอาจารย์ก็เลยพูดว่าเดี๋ยวนะ ผมจะขีดไม้ขีด เพราะแต่ก่อน ท่านไม่มีไฟฉาย มีแต่ไม้ขีด ที่ใส่น้ำมันก๊าด ท่านก็ขีดไม้ขีด ยื่นแขนออกมาจากมุ้ง ท่านยังไม่ได้ลุกนะ

แล้วเสียงก็ขู่ดังขึ้นมาอีกเป็น ๓ ครั้ง ส่องดูก็ไม่มีอะไร จากนั้นเสียงก็ดังลงไปข้างล่าง เหมือนกับป่าไม้ป่าไผ่แถวนั้นจะราบไปหมด ในความรู้สึกของท่าน ท่านนอนก็ไม่เป็นหลับเป็นตื่น เพราะกลัว

เวลารุ่งเช้าขึ้นมา ป่าไม้ก็ปกติธรรมดา ท่านอาจารย์ก็เลยพูดกับหมู่ว่า ถ้าเราจะเดินทางวันนี้เลยก็กลัวว่าเขาจะตำหนิว่าเรากลัว นอนได้คืนเดียวก็เผ่น ท่านว่าเราพักอีกสักคืนเถอะ ก็เลยได้ค้างที่ถ้ำนั้น ๒ คืน

แต่คืนหลังนี้ เงียบ ไม่มีอะไร หลวงพ่อองค์ที่อยู่นั้นเล่าให้ท่านฟังว่า ในเดือนหนึ่งจะมีอยู่ ๔ ครั้ง คือ ขึ้น ๗ - ๘ ค่ำ , ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และแรม ๗ - ๘ ค่ำ , ๑๔ - ๑๕ ค่ำ วันนอกนั้นก็ธรรมดา ไม่มีอะไร

ในบริเวณถ้ำแห่งนี้ คนจะไปทำผิดศีลผิดธรรมไม่ได้ จะมีอันเป็นไปให้เห็น อย่างว่าไปฆ่านก หรือกบเขียด หรืออะไร ในบริเวณนั้น ก้อนหินจะกระโดดปั๊บ ๆ ร้องเป็นเสียงนก เสียงกบ เสียงเขียด เวลาไปดูแล้วก็เป็นก้อนหิน

ในบริเวณนั้น แต่ก่อนหลวงพ่อองค์นั้นว่า อดน้ำ กันดารน้ำใช้น้ำฉัน ท่านเลยจุดธูปเทียนอธิษฐานขอน้ำ ก็เลยปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมาจากแอ่งหิน วันหนึ่งท่านอาจารย์ว่าหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า มีแม่ออกคนหนึ่ง (ผู้หญิง) ไปเก็บมะม่วงไข่ตามแถวนั้น

หิวน้ำ ก็เลยมากินน้ำ เลยคิดอยากจะอาบน้ำ เพราะร้อน ก็เลยอาบน้ำ แต่เข้าใจว่าคงเปลือยกายอาบ เสร็จแล้วก็กลับบ้าน จากนั้นน้ำนั้นปรากฏว่าน้ำมีกลิ่นเหม็นคลุ้งเหมือนกับซากวัวซากควายตาย

แล้วน้ำนั้นก็ได้แห้งไป จากนั้นหลวงพ่อก็ไม่มีน้ำจะใช้ จะดื่มจึงอธิษฐานขอใหม่ พร้อมกับว่าจะบอกไม่ให้เขาทำอย่างนั้นอีก น้ำนั้นจึงได้ไหลออกมาอีกตามเคย

หนูเดินจงกรม

หลวงพ่อพูดต่อไปว่า วันหนึ่ง ท่านพาชาวบ้านไปนวดดิน ท่านจะทำธาตุ (เจดีย์) นวดดินปั้นอิฐ พอกลับมาเหนื่อย เลยไม่ได้เดินจงกรม พอวันหลังก็พาชาวบ้านไปทำอีกเพราะยังไม่เสร็จ

แต่บังเอิญท่านลืมของใช้ ท่านจึงกลับมาเอาของ แต่ก่อนท่านคงจะพักอยู่ในถ้ำ พอมาถึงถ้ำแล้ว มองเห็นผิดสังเกต คือมองเห็นหนูเดินจงกรม ที่ถ้ำนั้นข้างบน มีหินยื่นออกมาประมาณ ๑ คืบ หรือ ๑ ฟุต ยาวไปตามถ้ำ

หนูตัวนั้นเดินไปพอถึงสุดทางด้านนั้น ก็กลับคืน แล้วยืน ๒ ขา เอาขาหน้ากอดอก ยืนอยู่คล้ายกับกำหนดจิต พอสมควรแล้วก็เอาขาหน้าลง แล้วเดินไป พอถึงหัวท้ายข้างนั้นก็กลับหลัง แล้วยืน ๒ ขา เอาขาหน้ากอดอก ยืนอยู่คล้ายกำหนดจิตอีก แล้วเดินกลับไปกลับมาอยู่นั้น

หลวงพ่อท่านเห็นแล้วก็ระลึกได้ว่า นี่หนูมันเดินจงกรม คงจะเป็นเทวดา หรือเจ้าที่แสดงให้เห็น เพราะเมื่อวันก่อนนั้นท่านขาดเดินจงกรม ต่อมาหลังจากนั้น ท่านจึงไม่เคยขาดการเดินจงกรม นั่งภาวนา ถึงจะเหน็ดเหนื่อยก็ต้องบังคับตัวเองทำ ไม่เคยขาด

ถึงพระธาตุพนม

ท่านอาจารย์เมื่อเดินทางถึงพระธาตุพนมแล้ว ก็ได้เข้าไปกราบมนัสการพระธาตุพนม เสร็จแล้วก็ได้ออกไปพักวิเวกแถวบ้านน้ำก่ำและหมู่บ้านริมโขงแถวนั้น หน้าเดือนกุมภาพันธ์ (เดือน ๓ นี้) มะขามหวานกำลังสุก

เขตเมืองมุก เมืองธาตุพนมนั้นมีมะขามหวานมาก เขาเอามะขามหวานมาจังหัน เห็นว่าท่านชอบฉัน เขาก็เอามาไม่ขาด ต่างคนต่างเอามาและจะให้ท่านอาจารย์เป็นคนตัดสินว่าของใครจะหวานกว่ากัน

เขาเอามาแข่งกัน ท่านอาจารย์ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ถ้าจะบอกว่าของคนนั้นดี ของคนนี้ไม่ดี ก็คงจะกลัวว่าเขาจะเสียใจและไม่เอาไปจังหันอีก ท่านก็เลยตอบเขาไปว่า มันก็หวานดี ทุกต้นนะ หวานดีทุกต้นแหละ

คุยกันเรื่องผีปอบ

เมื่อท่านอาจารย์ฉันเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็เริ่มกินข้าวกัน และพูดคุยกันไป คุยกันไปถึงเรื่องผีปอบในหมู่บ้าน พอท่านอาจารย์ได้ยินเรื่องเขาคุยกันเรื่องผีปอบ ท่านก็พูดกับเขาว่าอาตมาก็เป็นปอบเหมือนกันนะโยม

ชาวบ้านเขาก็งงและตกใจว่าพระอะไรจะเป็นปอบ เขาเลยถามท่านว่าเป็นปอบได้อย่างไร ท่านอาจารย์ตอบว่า ปอบมะขามหวานชาวบ้านก็พากันหัวเราะ ท่านว่ายิ่งหวานเท่าไรยิ่งกินดี ปอบคนอื่นเขากินคน แต่ปอบของท่านอาจารย์กินมะขามหวานขันดี

เรื่องของผีปอบ (จะอธิบายเรื่องของผีปอบ)

เรื่องของผีปอบนี้ ทางอีสานโดยเฉพาะบ้านนอกเขาจะรู้กัน แต่ภาคอื่นส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก และบางคนอาจจะไม่เคยได้ยิน คนที่เป็นปอบ (เจ้าของปอบ) นี้เป็นลักษณะผีเทียม เวลาไปกินคนจะบอกชื่อของคนที่เป็นปอบนั้น

ผีปอบนี้เกิดจากคนที่เรียกวิชาบางอย่างมา แล้วรักษาตามคำสั่งของอาจารย์ไม่ได้ หรือเกิดจากการสักว่านกระจายโพงแล้วรักษาไม่ได้ก็มี หรือพวกสบู่เลือด เหล่านี้เป็นต้น มักจะเป็นปอบ

คนที่จะเป็นผีปอบนี้ เริ่มแรกมักจะฝันว่าได้กินของดิบ เช่นเนื้อดิบ ลาบดิบเหล่านี้ ทีแรกก็จะกินเป็ด กินไก่  จากนั้นก็จะกินคน ส่วนมากมักจะกินคนป่วย คนธรรมดาที่ไม่ป่วยก็มีส่วนน้อย

เวลาปอบเข้ากิน ทีแรกคนที่ถูกปอบเข้าจะมึนชาทั้งตัว ต่อไปก็จะไม่รู้สึกตัวทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ และหลบหน้าเป็นไปในลักษณะนี้ ผิดสังเกต ไม่เหมือนคนคนเก่า คล้ายกับผีทรง เวลาผีปอบเข้าแล้ว เขาจะเอาหมอมาขับไล่

ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าของผีปอบเป็นใคร เขาก็เสกคาถาใส่ด้าย (ด้าย ๓ สี หรือ ๗ สี) แล้วผูกตามข้อมือ ข้อเท้า และคอ แต่เวลาผูกไม่ให้ คนที่ปอบเข้าเห็น รีบผูก แล้วเสกคาถาใส่หัวว่านไฟ (หัวไพร) จี้

หรือบางทีถ้าไม่ยอมบอกชื่อ หรือไม่ยอมออกจากคนไข้ เขาก็จะตีด้วยลำข่า ลำว่านไฟ(ลำไพร) ชนิดตีให้ยอม หรือบางหมอก็จะตีด้วยก้านกล้วย ตีจนยอมบอกชื่อ ว่าเป็นใคร มาจากไหน เคยกินใครมาบ้าง ในทำนองนี้

เวลาผีบอปบอก ว่าคนนั้นกูก็กิน คนนี้กูก็กิน ตับหวานอร่อยดีทำนองนี้แหละ เมื่อเวลาจะให้ออก เขาก็จะแก้ด้ายที่ผูกออก ขับให้ออก เมื่อผีปอบออกแล้วจะไม่รู้จักว่าตัวเป็นอะไร คล้าย ๆ กับผีทรง บางทียังถามว่าคนมาทำไมมากอย่างนี้

ผีปอบบ้านศรีฐาน

ท่านอาจารย์เคยเล่าสู่ฟังเรื่องปอบเข้าบ้านศรีฐาน บ้านเดิมของท่าน ท่านเล่าว่า มีคนคนหนึ่งเขาไปนา ไปทำงานที่นาของเขา เกิดปวดท้องหนัก เลยกลับบ้าน คงจะปวดหนักมาก พ่อแม่เห็นผิดสังเกต นึกว่าผีปอบเข้าลูก กินลูก ก็เลยไปตามหมอมาขับไล่

พอหมอมาถึงก็ไม่ได้สังเกตสังกาอะไร เสกคาถาใส่ด้าย แล้วก็ผูกข้อมือ ข้อเท้า และคอ เสร็จแล้วก็หวดด้วยลำข่า หือมึงเป็นใคร มึงมาจากไหน มึงชื่ออะไรหือ มึงจะหนีหรือไม่หนี หือ ๆ คนที่ปวดท้องก็ร้องไห้ ว่าจะให้ผมหนีไปไหน บ้านผมอยู่นี่

แล้วยังขู่อีกว่า มึงมาจากไหน คนเจ็บก็บอกว่า มาจากนาหนองพอก หือมึงเป็นใคร ก็บอกชื่อ แล้วหมอและคนดูก็ตกใจ พากันหัวเราะกันพักใหญ่ ทั้งสงสารคนป่วย ปวดท้องก็จะตายอยู่แล้ว ยังโดนตีอีก

นี่ปอบบ้านศรีฐาน แต่ส่วนมากหมอเขาจะรู้ ส่วนหมอคนนี้ อะไรก็ไม่ทราบ คงจะเรียนมาใหม่แหละดูท่า ท่านเคยเล่าให้ฟังสนุก ๆ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล

พบพระอาจารย์มั่นครั้งแรก

ครั้นเมื่อท่านพระอาจารย์ได้พักกับชาวบ้านแถวริมแม่น้ำโขงพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางต่อไปทางจังหวัดสกลนคร โดยมุ่งหน้าจะไปกราบนมัสการและฟังคำอบรมสั่งสอนจากท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

เนื่องจากวัดป่าบ้านหนองผือนั้นเป็นวัดเล็ก แต่พระเณรมีมากที่ต้องการอบรมศึกษษธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์จึงไม่อาจจำพรรษาที่นั้นได้ จำเป็นต้องไปจำพรรษาอยู่ที่วัดใกล้ ๆ เพราะกุฏิมีจำกัด

ในระยะนั้นเข้าใจว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน  คงอยู่ที่วัดป่าหนองผือนั้น เมื่อพระที่อยู่เก่าออกวิเวกและมีกุฏิว่าง ท่านจึงมีโอกาสเข้ามาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น

พอสมควรแก่เวลา แล้วจึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกไปวิเวก

พรรษาที่ ๕ - ๖

ในพรรษาที่ ๕ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านนาหัวช้าง บ้านบะทอง อำเภอพรรณานิคม โดยมีท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นผู้นำ ปัจจุบันวัดป่าบ้านนาหัวช้างนั้น คือวัดป่าอุดมสมพร

ในพรรษาที่ ๖ นั้น ท่านพระอาจารย์ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม ในช่วงนี้พระอาจารย์เล่าว่า การภาวนาเริ่มจะยาก คือว่าท่านผ่านทุกขเวทนาไม่ได้

พอนั่งภาวนา เป็นเวลานานพอสมควร มักจะเกิดทุกขเวทนาใหญ่ คือทุกเวทนากล้ามาก ท่านได้ต่อสู้มาหลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ท่านจึงได้กราบเรียนถึงประสบการณ์นี้ ถวายพระอาจารย์มหาบัวทราบ

พอท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบแล้ว ก็แนะนำวิธีการต่อสู้กับทุกขเวทนาให้ฟัง โดยให้ใช้สติ ปัญญาพิจารณาแยกธาตุขันธ์ ท่านได้นำอุบายที่ได้รับฟังมานั้นมาปฏิบัติ

ด้วยการตั้งสัจจะว่า จะสู้กับทุกขเวทนานี้แบบสละชีวิต เพื่อให้รู้เห็นความจริงของทุกข์ ถึงแม้จะปวดหนักปวดเบาขนาดไหน ก็จะไม่ยอมลุกหนีจะปล่อยให้มันออกเลย

ต่อสู้กับเวทนาใหญ่

เมื่อท่านพระอาจารย์ได้อุบายจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ได้เวลาท่านก็เตรียมนั่ง ชนิดว่าแต่งตัวเต็มยศ คือ ห่มจีวร ใส่สังฆาฏิ แล้วนั่ง โดยตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าผ่านทุกขเวทนานี้ไม่ได้แล้ว จะไม่ยอมลุกจากที่เด็ดขาด...

เวลาต่อสู้อยู่นั้น มันทุกข์มาก เจ็บปวดมาก ผิดกันกับทุกขเวทนาที่เคยผ่านมา ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงได้ตั้งชื่อนี้เอาว่า ทุกขเวทนาใหญ่ ซึ่งไม่มีในตำรา ท่านว่ามันทุกข์จนเหงื่อหรืออะไร ภาษาอีสานเขานิยมว่า ยางตาย ออกเปียกหมดทั้งตัว

ท่านว่าเวลายกมือขึ้นดู เหงื่อ (ยางตาย) จะหยดปั๊บ ๆ ตามนิ้วมือ ท่านว่ามันทุกข์ขนาดนั้นนะ แต่ปรากฏว่าท่านก็ผ่านไปได้ จิตสงบลงรวมผิดปกติเป็นอัศจรรย์ ทำให้ท่านมีกำลังใจในการปฏิบัติมาก

และจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทุกขเวทนาใหญ่นั้นได้เกิดขึ้นอีกเลย ท่านว่าจิตมันเปลี่ยนไปคนละอย่างกับสมัยที่ยังสู้มันไม่ได้ คือ เวลานั่งไปทุกขเวทนาทำท่าจะเกิดขึ้น จิตมันไม่กลัวเหมือนแต่ก่อน

ท่านว่ากลับดีใจว่าเราจะได้กำลังใจอีกแล้ว เพราะการต่อสู้แบบนี้ ท่านว่าได้กำลังใจคุ้มค่า จึงเกิดความดีใจ แต่เมื่อเรารับรู้มันแล้ว มันก็ไม่เกิด จะเกิดขึ้นก็ธรรมดา ไม่ใช่เวทนาใหญ่แบบนั้น

เที่ยววิเวก ไปทางสว่างแดนดิน ส่องดาว วริชภูมิ

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์ก็ออกวิเวก โดยเดินทางไปทางอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว และอำเภอวาริชภูมิ ท่านได้เคยไปพักอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งสมัยคราวนั้น ท่านพักอยู่ที่หวายสนอย

ท่านเล่าว่าตอนพักอยู่กับหลวงปู่ขาวนั้น คงจะเป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ท่านได้เล่าถึงความอดอยากเพราะฝนแล้ง ชาวบ้านอดข้าวกัน ไปบิณฑบาตไม่พอฉัน ต้องอาศัยแม่ชีและสามเณรหาหัวมันและผักเห็ดมาเสริม พอได้ทำความเพียร

แต่ท่านเล่าว่า เวลาพักอยู่กับหลวงปู่นั้น ที่หวายสนอย (ภูเหล็ก) อำเภอส่องดาว ท่านว่าการภาวนาดีมาก นอนนิดเดียวก็อิ่ม จิตสงบละเอียดมาก

ทั้งหลวงปู่ขาว ท่านก็ทำความเพียร คือโดยมากท่านจะไม่ค่อยเทศน์ แต่ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ปกติ ท่านเป็นคนที่พูดน้อย แต่ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนามาก

สมัยที่ท่านพักอยู่นั้นก็มีเรื่องที่ขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พระเณรไปบิณฑบาต ท่านได้เห็นผักกระโดนอยู่ริมทางท่านจึงจำเอาไว้ว่าขากลับจะให้เณรเก็บเอา พอบิณฑบาตกลับ ก็สังเกตมาตามทาง

พอถึงพุ่มกระโดนก็ชี้บอกเณรว่า นี่เณรเอาเลย ในพุ่มนั้น บังเอิญวันนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเขาจะไปไร่ เห็นพระเขาก็หลบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในพุ่มนั้น พอได้ยินเสียงพระและพูดว่า เณรเอาเลย เขาก็ตกใจ ขยับตัว

ท่านจึงได้เห็นเลยต่างคนต่างอาย ผักกระโดนก็ไม่เอา หัวเราะกันตามทาง องค์ที่พูดนั้นไม่ใช่ท่านอาจารย์ เป็นท่านอาจารย์สม ซึ่งท่านก็ได้เสียชีวิตมรณภาพไปแล้ว

พรรษาที่ ๗ - ๘

พรรษาที่ ๗ ไม่ทราบว่าท่านจำพรรษาที่ไหน ที่ถ้ำเป็ดท่านก็เคยพัก พักอยู่กับท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม) บ้านหนองบัวบาน สมัยนั้นท่านอยู่ถ้ำเป็ด ท่านอาจารย์เล่าว่า ที่ถ้ำเป็ดนี้ภาวนาไม่ค่อยจะดี จะเป็นเพราะอากาศหรืออย่างไรไม่ทราบ

ท่านว่าที่ถ้ำเป็ดนี้ง่วงนอนเก่ง นอนไม่รู้จักอิ่ม อาหารการฉันก็อดอยากเหมือนกัน ท่านว่ากล้วยน้ำว้าใบเดียวแบ่งกัน ๔ องค์ ต้องอาศัยปลาร้าที่เตรียมไป ให้เณรเอาออกวันละนิด แบ่งกันฉัน แต่เวลาฉันแล้วง่วงนอนเก่ง

 

ไปรับโยมพ่อมาบวช

เมื่อพรรษาที่ ๗ ล่วงแล้ว ท่านก็กลับบ้านศรีฐานเพื่อเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ของท่าน และได้นำโยมพ่อของท่านไปด้วย ไปบวชเป็นตาปะขาว แล้วฝากโยมพ่อของท่านไว้กับท่านพระอาจารย์อ่อน ครั้นต่อมาโยมพ่อของท่านก็ได้บวชเป็นพระ

วิเวกผ่านดงสีชมพู

 สำหรับท่านอาจารย์ก็ได้เดินทางโดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดอุดธานี และหนองคาย ในระหว่างทางที่จะไปมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านดงสีชมพู ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นดงหนามป่าทึบอยู่มาก และเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด

พวกชาวบ้านริมดง เขาพากันห้ามไม่อยากให้ท่านเดินทางไป เพราะท่านไปองค์เดียว เขาเกรงว่าจะหลงทาง ไม่สามารถจะข้ามดงไปได้ในเวลาค่ำมืด ถ้าค้างคืนในดงจะต้องตายแน่

เนื่องจากเสือ ช้าง หมี สัตว์ร้ายเหล่านี้ชุมมาก ท่านหาได้ฟังคำทักท้วงของชาวบ้าน ซึ่งหวังดีต่อท่านไม่ด้วยท่านมีความเด็ดเดี่ยวอยู่ว่าตายเป็นตายจะต้องข้ามดงสีชมพูให้ได้ และให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนตะวันตกดินด้วย

ท่านจึงตัดสินใจเดินเข้าสู่ดงสีชมพูทั้งที่ไม่รู้จักทาง โดยสังเกตดวงอาทิตย์เป็นเข็มทิศในการเดินทาง ท่านได้บริกรรมพุท โธ, พุท โธ ไปตลอดระยะทางที่ท่านเดินไปในดงนั้น

ซึ่งเต็มไปด้วยรอยเท้าช้าง รอยเท้าเสือ และสัตว์ต่าง เต็มไปด้วยขี้ช้าง และรอยสัตว์ปะปนกัน คล้ายกับสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน ท่านเดินมุ่งหน้าไปและระมัดระวังจิตของท่านไม่ให้ส่งออกภายนอกเลย

กำหนดความรู้ พุท โธ ติดแนบแน่นกับจิต เดินทั้งวันตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จ ยามเมื่อหิวกระหายน้ำ ก็ได้อาศัยน้ำตามหนองซึ่งสัตว์ป่าลงกิน ทั้งขี้ทั้งเยี่ยวใส่ ฉันพอทาคอท่านว่า

เพราะการเดินทางนั้น ไม่ได้เอาน้ำไปด้วย เอาไปแต่กระบอบกรองน้ำ ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนั้น ถ้าจะเอาน้ำไปด้วยแล้ว ก็จะฉันแต่น้ำเมื่อหิว แล้วการเดินทางจะไปไม่ได้ไกล น้ำจะลงพื้น เท้าจะพอง เดินไม่ได้

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านจึงไม่เอาน้ำติดตัวไปด้วย และจะได้ลดความหนักในการเดินทาง เพราะแต่บริขารที่จำเป็นก็หนักพอแล้ว ผลที่สุดท่านก็ได้เดินทางผ่านดงสีชมพูไปได้ในวันนั้นโดยปลอดภัย เมื่อเวลาพลบค่ำ สังเกตได้จากการเห็นหมู่บ้านซึ่งปลูกอาศัยอยู่ตามริมดง ก็ทราบว่าถึงที่จุดหมายปลายทางแล้ว

แล้วท่านก็พักวิเวกอยู่ในเขตอำเภอผือนั้น ตามถ้ำม่วง ถ้ำจันฑคาด ถ้ำหีบแถวนั้นพอสมควรแล้ว ก็เดินทางต่อไปทางอำเภอท่าบ่อ และบ้านศรีเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่

ท่านได้จำพรรษาที่วัดพระดอย บ้านศรีเชียงใหม่ (ชื่อทุกวันนี้ไม่ทราบ) ในพรรษานั้นท่านป่วยเป็นไข้ เป็นไข้หนัก และพระเณรก็เป็นไข้กันหลายองค์ แต่ท่านอาจารย์เล่าว่า มักจะได้กำลังใจเมื่อเวลาป่วยไข้

เพราะสมัยแต่ก่อนไม่ค่อยมีหมอ มีหมอก็หมอชาวบ้าน อาศํยยาต้ม และยาฝนซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยจะหายง่าย และมีเณรองค์หนึ่งซึ่งจำพรรษาด้วยกัน เณรนั้นก็ป่วย และหายก่อน

เวลาพอเดินได้เณรนั้นก็เดินไปถามท่านอาจารย์ว่า ครูบาเป็นอย่างไร ยังไข้อยู่หรือ ท่านตอบเณรว่า ยังไข้อยู่ แล้วท่านอาจารย์ถามเณรว่า เณรล่ะ หายหรือยัง เณรนั้นตอบว่า หายพอเดินได้

เณรเลยพูดต่อไปว่า โอ่ย ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ให้ผมเป็นอีกซักทีก็ได้ครูบา ท่านอาจารย์ก็หัวเราะ เณรนั้นออกจะไม่ค่อยเต็มบาทเท่าไร

ตอนที่ไปเที่ยววิเวกด้วยกันก็มีเรื่องขบขันหลายอย่าง ที่จำพรรษาด้วยกันปีนั้นก็มีพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านพระอาจารย์สม (ท่านมรณภาพแล้ว) ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง มีหลายองค์ด้วยกัน

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อของท่านถึงแก่กรรมที่หมู่บ้านกุมสิม อำเภอบัวขาว (กุฉินารายน์) จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นพรรษาที่ ๘ ล่วงแล้ว

ท่านจึงเดินทางกลับบ้านศรีฐานเพื่อทำบุญให้กับหลวงพ่อของท่าน แล้วพักอยู่บ้านนานพอสมควร จึงได้เดินทางออกวิเวกต่อไปทางจังหวัดนครพนม เขตอำเภอมุกดาหาร คำชะอี ฯ

พรรษาที่ ๙ - ๑๑จำพรรษาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย(วัดป่าวิเวกวัฒนาราม)

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๗  เป็นพรรษาที่ ๙ ถึงพรรษาที่ ๑๑ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย อำเภอ คำชะอี ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดมุกดาหาร โดยมีท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้นำ

ในยุคสมัยนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า

ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านจะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้ถุนกุฏิแล้วฟังเสียงว่านอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมาก เสียงหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ

ถ้าหากว่าองค์ไหนนอนหลับก่อน ๔ ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี ๔ ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละ และถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น

ถ้าท่านได้เตือนถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัดให้ไปอยู่วัดอื่น โดยพูดว่า ผมสอนท่านไม่ได้แล้วนิมนต์ออกไปจากวัดเสีย

ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทรายภายใต้การนำของท่าน จึงมีความพากเพียรในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างหลักกัน (ภาษากลางไม่ทราบ) คือ บางองค์เวลาหมู่เดินจงกรมจะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนว่านอน แต่ความจริงนั่งภาวนา

เวลาหมู่ขึ้นจากทางจงกรมหมดแล้วจึงค่อยลงเดินก็มี ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่า พระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมา มองไปเห็นแต่แสงไฟ (แสงโคมไฟ) สว่างไสวตามกุฏิของพระเณร เหมือนกับไม่นอนกัน

สำหรับท่านอาจารย์ ท่านก็เร่งความเพียรเต็มที่จนทางจงกรมลึกเป็นร่อง พระเณรได้ถมทางจงกรมให้บ่อย ท่านเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านเดินจงกรมอยู่ ระยะนั้นเป็นหน้าหนาว อากาศหนาวมาก ท่านก็ห่มผ้า ๓ -๔ ผืน เดินจงกรม

พอเดินไป ๆ ดึกเข้ามาท่านก็ง่วงนอนมาก เพราะคราวนั้นท่านอดนอนได้ ๓ คืนแล้ว เดินไปผ้าห่มผืนที่อยู่นอกหลุดออกตกลง ท่านก็ไม่ทราบ พอเดินไปถึงหัวทางจงกรม หันกลับมาเห็นผ้าห่มตัวเองก็ตกใจ ท่านนึกว่าเสือหรืออะไรนอ

เพราะสมัยนั้นยังมี เดือนก็ไม่สว่างเท่าไร ท่านจึงกระทืบเท้าดู มันก็นิ่ง เอ๊ะมันอะไรนา เลยค่อย ๆ ขยับเท้าเข้าไปก้มดูใกล้ ๆ แล้วเอาเท้าเขี่ยดู ที่ไหนได้ เป็นผ้าห่ม ท่านก็หัวเราะคนเดียวพักใหญ่ เลยหายง่วง

การเป็นอยู่ของพระเณรสมัยนั้นอยู่กันอย่างประหยัด บิณฑบาตแบบธุดงควัตร คือ ชาวบ้านเขาจะหมกห่ออาหารใส่บาตรพร้อมกับข้าวเหนียว ไม่ได้นำอาหารตามมาส่งที่วัด

แต่ว่าศรัทธาของชาวบ้านแถวนั้นเขาดีมากทั้ง ๆ ที่อดอยาก โดยเฉพาะแล้วเรื่องอาหาร เขามีกบหรือเขียดตัวเดียว อย่างนี้เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ ๔ บาตร ๔ องค์ก็มี ในคราวที่อดอยาก มะเขือลูกเดียวอย่างนี้ เขาจะผ่าใส่บาตรได้ ๔ องค์

ทั้งนี้ เนื่องจากทางอีสานกันดารน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้ง บางแห่งต้องได้กินน้ำในสระ พร้อมทั้งตักไปเอาไกลด้วย เป็น ๒ - ๓ กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็มกินไม่ได้ และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ ความอดอยากเรื่องอาหาร การกิน

ภาคอื่นบางคนมักจะว่าคนอีสานนี้กินไม่เลือก ก็เพราะเหตุว่าความที่มันหาไม่ได้นั้นเอง มีอะไรเขาก็จับกินไป พวกน้ำร้อน น้ำชา โกโก้ กาแฟ และน้ำตาล อย่างนี้ ไม่ต้องถามหา แม้แต่ภาพยังไม่เคยเห็นเลย

อาศัยเอาแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นาน ๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง แต่ก้อนน้ำอ้อยสมัยนั้นอร่อยมาก ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน ๓ - ๔ องค์ก็ยังพอและอร่อยด้วย ไม่เหมือนน้ำอ้อยสมัยทุกวันนี้

บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแต่ท่านพระอาจารย์มหาบัวและพระอีกองค์หนึ่งก็มี เป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน

บางครั้งท่านอาจารย์สิงห์ทองก็ป่วยหนัก จนชาวบ้านได้พากันออกมานอนเฝ้ารักษา แต่ท่านอาจารย์เคยเล่าว่า ได้กำลังใจดี ในเวลาป่วย เพราะไม่มีที่พึ่ง จะพึ่งกายก็ไม่สบายป่วยไข้ ได้มีโอกาสพิจารณามาก

เมื่อพิจารณากันอยู่ไม่หยุดไม่ถอยมันก็รู้ก็เข้าใจในเรื่องของกายและจิต ครูบาอาจารย์สมัยก่อน ท่านได้กำลังใจเพราะการป่วยไข้นี้มีมาก ๆ เลย และกำลังใจท่านก็เข้มแข็ง ไม่เหมือนพระนักปฏิบัติทุกวันนี้

เอะอะก็หมอ เอะอะก็หมอ นิโรธของนักปฏิบัติก็เลยอยู่กับหมอ ไม่ได้อยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า กำลังใจก็อ่อนแอเอามาก ๆ เลย เห็นแล้วบางทีก็หนหวย (รำคาญ)

 ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๗ นี้ พอตกหน้าแล้งบางปีท่านจะออกไปเที่ยววิเวกตามที่ต่าง ๆ เช่น ภูผากูด ภูเก้า ภูจ้อก้อ แถวนั้น ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองสูง

ปัจจุบันบ้านหนองสูงเป็นกิ่ง อำเภอ และชื่อจริงของวัดก็ไม่ทราบ พักอยู่กับท่านพระอาจารย์กงแก้ว มีชาวบ้านหนองแต้ ถ้าจำไม่ผิด เขาไปนิมนต์ให้ท่านไปดูที่ให้เขา (ไปเหยียบที่ให้เขา)

เพราะที่หัวนาของเขานั้นแรงมาก (เข็ดมาก) จะไปตัดไม้ตัดฟืนในบริเวณนั้นไม่ได้ จะต้องมีอันเป็นไปให้เห็น จนเป็นที่รู้จักกันว่าที่นั้นมันแรง เขามานิมนต์ท่าน ท่านก็ไป แต่นี่ไม่ทราบว่าท่านไปด้วยกัน ๒ องค์ หรือองค์เดียว จำไม่ได้

พอไปถึงแล้ว เขาก็พาท่านเข้าไปในที่แห่งนั้น ที่นั้นจะทำเป็นหอเล็ก ๆ ไว้ เมื่อท่านอาจารย์ไปถึงแล้ว ท่านก็ว่า ไหนผี มันอยู่ตรงไหน แล้วท่านก็ขี้ใส่นั้น ไม่ทราบว่าท่านปวดขี้มาแต่เมื่อไร

เสร็จแล้วออกมา ท่านว่า ทำไปเลย มันไม่มีผีดอกน่า ไม่เห็นอะไรนี่ แล้วท่านก็กลับวัด พอกลับมาถึงวัด ถึงเวลาปัดกวาด ทำข้อวัตรก็ทำ สรงน้ำสรงท่า เดินจงกรม พอค่ำดึกพอสมควรก็ขึ้นกุฏิ ไหว้พระสวดมนต์และนั่งภาวนา แล้วก็พักผ่อนหลับนอน

ฝันเห็นผี

เมื่อท่านนอนหลับเคลิ้มไป แล้วฝันว่า เห็นมีคน ๒ คน เดินคุยกันมา เดินผ่านสนามบินนายเตียง สิริขันธ์ มา รูปร่างใหญ่สูงมาก ดำ ท่านว่ามองเห็นแต่ไกล เพราะสูงกว่าป่าไม้แถวนั้น สูงประมาณ ๑๐ เมตร

แล้วเดินเข้าไปในวัด พูดกันว่าไหน มันอยู่ไหน แล้วก็ตรงไปยังกุฏิของท่านอาจารย์ กุฏิของท่านเพียงเข่าของคน ๒ คนเท่านั้น ระยะนั้นท่านอาจารย์ก็ว่า ท่านปรากฏว่าตัวเองนอนอยู่ และร่างของท่านก็ปรากฏว่าใหญ่ยาวออกเหมือนกัน

ในความรู้สึกของท่านนั้นว่าจะไม่หนี จะสู้ แล้วคนหนึ่งก็ก้มลงส่องดูท่านอาจารย์ แล้วพูดว่า อ้าวหลานของเรา อย่าทำท่าน แล้วก็พากันกลับ

พรรษาที่ ๑๒

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ อันเป็นพรรษาที่ ๑๒ ของท่าน ท่านได้ติดตามพระอาจารย์มหาบัวไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อเยี่ยมโยมมารดาของท่านพระอาจารย์มหาบัว และท่านพระอาจารย์มหาบัวได้พาโยมแม่ของท่านไปจำพรรษาที่ใกล้สถานีทดลอง เกษตรกรรม น้ำตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี

ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาถวายใหม่ ท่านเล่าให้ฟังว่า ญาติโยมแถวนั้นภาวนาเก่งกันหลายคน ท่านอยู่ภาคตะวันออกได้ปีเดียว เนื่องด้วยโยมมารดาของท่านพระอาจารย์มหาบัวไม่ค่อยสบาย อยากกลับบ้าน

ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงได้พาโยมมารดาของท่านกลับอุดร ฯ จึงได้ส่งปัจจัยค่าเดินทางไปให้ท่าน และหมู่ที่ยังเหลืออยู่จึงได้เดินทางกลับอุดรฯ โดยนั่งเรือโดยสารมาลงที่กรุงเทพ ฯ และเดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านตาด ซึ่งสมัยนั้นเพิ่งจะเริ่มตั้งวัดในปี พ.ศ. ๒๔๙๙

สติปัญญากล้า

ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า คราวที่สติปัญญามันกล้า มันกล้าจริง ๆ พิจารณาอะไร เรื่องที่ใจติดข้องหรือสงสัย มันเหมือนกันกับว่าทิ้งเศษกระดาษใส่ไฟกองใหญ่ ๆ มันแว้บเดียว แว้บเดียวเท่านั้น มันหายสงสัย มันขาดไป ตกไป

ใจจึงเพลินในการพิจารณา และค้นหาเรื่องที่ใจยังคิด ยังสงสัย เมื่อเจอแล้ว พิจารณาเข้าไป มันขาดไป ๆ ตกไป ๆ จึงทำให้เพลินในการพิจารณา ต่อไปจิตของท่านก็ไหลเป็นน้ำซับน้ำซึม คือไม่มีเผลอเลย เว้นเสียแต่หลับ

ก่อนจะหลับพิจารณาอะไร  เมื่อตื่นขึ้นก็จับพิจารณาต่อไปได้เลย ครั้นต่อมา จิตของท่านก็ตกว่าง จิตว่างนี้ ท่านว่ายังไม่ใช่นิพพานดอกนา บางคนอาจจะเข้าใจว่า จิตว่างนี้คือนิพพานท่านว่ายังไม่ใช่ เวลาผ่านไปแล้วค่อยรู้ ท่านว่าต้องย้อนจิตเข้ามารู้ ตัวผู้ที่รู้ว่าว่างนั้นอีก

แต่จิตของท่านอาจารย์นี้ไม่มีขณะ เหมือนครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ เป็นชนิดที่เหี่ยวแห้งไปเลย (จิตชนิดนี้ในตำราก็คงมีบอก)  จากนั้นไปท่านว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน คือมันไม่ติดกับอะไร เหมือนกับทิ้งเมล็ดงาใส่ปลายเข็มท่านว่า มันไม่ติด

ซึ่งแต่ก่อนที่ยังมีกิเลสอยู่มันก็รู้ เมื่อมันหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ที่จะละ จะบำเพ็ญ จะไม่ให้รู้ได้อย่างไร ท่านว่ามันรู้ แต่สมมุติ ทั่วไปของโลก ที่ใช้กัน ก็ใช้ไปธรรมดา

บางคนอาจจะเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์ว่าท่านหมดกิเลสแล้ว ทำไมจึงดุ และดุเก่งด้วย ท่านว่าอันนั้นมันเป็นพลังของธรรม มันไม่ใช่กิเลส เราเคยเป็นมา เรารู้ท่านว่า พวกเรานี้จิตยังไม่เป็นธรรม มันมีแต่พลังของกิเลส

เมื่อเห็นท่านแสดงอาการอย่างนั้น ก็เข้าใจว่าจะเหมือนกันกับเรา ท่านว่าถ้าอยากรู้ให้ปฏิบัติ เมื่อจิตถึงที่สุด หมดความสงสัยในตัวแล้วจะรู้เอง

พรรษาที่ ๑๓ - ๑๖

พรรษาที่ ๑๓ - ๑๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ - ๒๕๐๐ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด ครั้นเมื่ออกพรรษาแล้ว ญาติทางบ้านศรีฐานได้เขียนจดหมายมาบอกว่า สามเณรน้อย สามเณรอุ่น จะต้องคัดเลือกทหาร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑

เมื่อเสร็จธุระคือรับกฐิน ทำธุระเกี่ยวกับการตัดเย็บจีวรเสร็จแล้ว ก็ได้พาสามเณรน้อย สามเณรอุ่นไปบ้าน เพราะเณรสององค์นี้ เป็นลูกน้องสาวของโยมแม่ของท่าน  ท่านจึงต้องได้เป็นภาระพาไป

พอดี เมื่อไปถึงแล้ว ปรากฏว่ายังไม่ใช่ปีนั้น จะเป็นปี พ.ศ. ๒๕๐๒  แล้วท่านจึงได้พาสามเณรสององค์นั้นไปเที่ยววิเวกต่อ ไปทางอำเภอมุกดาหาร (จังหวัดมุกดาหาร) แถวภูวัด บ้านดงมัน และภูเก้าที่อยู่ใกล้เคียงกับภูจ้อก้อ

ท่านพระอาจารย์หล้า และขณะนั้น ท่านพระอาจารย์หล้าก็อยู่ภูจ้อก้อ ท่านไปเยี่ยมพระอาจารย์สิงห์ทองที่ภูเก้า จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปยังบ้านห้วยทราย  ซึ่งระยะนั้นท่านพระอาจารย์สี มหาวีโร ท่านได้พาพระเณร ศิษย์ของท่านพักอยู่ก่อนแล้ว

พักอยู่ที่บ้านห้วยทราย

ก่อนหน้าที่ท่านพระอาจารย์จะไปถึง มีชาวบ้านห้วยทรายคนหนึ่ง ชื่อว่า พ่อปัน เขาจะซื้อที่ เขาจึงมากราบเรียนท่านพระอาจารย์สีว่าจะสมควรซื้อไหม เพราะที่แห่งนั้นมันแรงมาก (เข็ดมาก) มีน้ำไหลซึมอยู่ตลอด ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน

ท่านพระอาจารย์สีเลยบอกว่า ถ้าเขาจะขายก็ซื้อเอาไว้เสีย แล้วอาตมาจะไปพักให้ดอก เพราะที่มันแรง ยิ่งกว่านี้ก็เคยได้ไปพักให้เขาอยู่แล้ว พ่อปันก็เลยซื้อเอาที่แห่งนั้น แล้วก็ทำตะแคร่ร้านไว้ ๗ แห่ง

เพราะพระเณรที่ไปกับท่านพระอาจารย์สีหลายองค์ เมื่อเขาทำเสร็จแล้วก็มานิมนต์ท่านให้ไปพักให้ ก็พอดีท่านอาจารย์สิงห์ทองไปถึง ท่านอาจารย์สีก็เลยพูดว่า เอา ครูบา ไปพักให้เขาหน่อย

เพราะท่านอาจารย์สีอ่อนกว่า จึงเรียกครูบา ท่านอาจารย์ว่า ก็ใครบอกให้เขาทำก็ไปซี แล้วเถียงกันไปเกี่ยงกันมา ท่านอาจารย์สีว่า หมู่ผมฝาก ให้ครูบานั้นแหละไป ผลที่สุดท่านอาจารย์สิงห์ทองเป็นผู้แพ้ เลยได้ไปพักในที่แห่งนั้น

ที่แห่งนั้นอยู่ใกล้กับสำนักของคุณแม่ชีแก้ว เวลาออกไปจากบ้านห้วยทรายจะมองเห็น ท่านได้ไปกับสามเณรน้อย ส่วนข้าพเจ้า ท่านไม่ให้ไปด้วยให้ดูแลรักษาบริขารที่ไม่ได้เอาไปด้วย

ท่านไปถึงวันแรก พอจะค่ำท่านก็สรงน้ำ แล้วก็ลงเดินจงกรม พอเหนื่อยและดึกหน่อยท่านก็ขึ้นแคร่ขึ้นร้าน ไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็จะนั่งภาวนา ก่อนจะนั่งภาวนา ท่านได้นึกในใจว่า ถ้าหากมีเจ้าที่เจ้าฐานอยู่นี้ ก็ขอให้ขยับขยายไปที่อื่นเสีย

เพราะที่นี้ชาวบ้านเขาจะทำ อยากทำกิน ทำทาน หรือว่าถ้าไม่ไปแล้ว ก็อย่าเบียดเบียนเขา ท่านนึกอย่างนั้นแล้วก็นั่งภาวนา มีแปลกผิดสังเกตอยู่ว่า น้ำที่เคยไหลซึมอยู่นั้นปรากฏว่าย่นเข้ามาทุกวัน คือ แห้งเข้ามา ๆ จนวันที่ ๗ ยังเหลืออยู่แต่ปากบ่อ เท่านั้น พอท่านพักอยู่ได้ครบ ๗ วัน แล้วท่านก็กลับวัด

พญานาคอพยพหนีไปถ้ำม่วง

ต่อมาคุณแม่ชีเจียงซึ่งอยู่สำนักชีใกล้ที่แห่งนั้น แม่ชีองค์นี้เป็นน้องสาวของโยมพ่อพระอาจารย์ถวาย วัดป่าบ้านนาคำน้อย อำเภอน้ำโสม เขาไปจังหันที่วัด แล้วถามท่านอาจารย์ว่า ได้ปรากฏอะไรบ้าง

ท่านอาจารย์ตอบว่า มันจะมีอะไร แม่ชีเจียงเลยพูดว่า เขาไปลาข้าน้อย ถามเขาว่าจะไปไหน เขาบอกว่าจะไปอยู่ถ้ำม่วง ทำไมจึงจะไป ท่านอาจารย์สิงห์ทองบอก ท่านบอกว่าอย่างไร เขาก็พูดให้ฟัง

คำพูดนั้นเป็นคำพูดคำเดียวกับที่ท่านอาจารย์นึก และแม่ชีเจียงยังบอกให้แสดงรอยไว้ให้ดูด้วย เวลาเช้าแม่ออกไปจังหัน ได้พาแม่ออกไปดูเป็นรอยคล้าย ๆ กับรอยรถยนต์ คุณแม่ชีเจียงพูด

ต่อมาคุณแม่ชีเจียงก็พูดอีกว่า มีเจ้าที่อยู่ภูหินขันธ์ บ้านดงมัน อำเภอมุกดาหาร มาลาว่า ผมจะไปเกิด ผมไปลาท่านอาจารย์สิงห์ทองมา แม่ชีเจียงถามว่า รู้จักท่านด้วยหรือ เขาบอกว่ารู้

เขาได้เคยไปปฏิบัติท่านอยู่ที่ภูวัด บ้านดงมัน เพราะเขาสองลูกนี้อยู่ใกล้กันอยู่คนละฝั่งทาง ผมอยู่ภูปิ่นขันธ์นี้มาได้ ๒ หมื่นปีแล้ว ผมจะไปเกิด แต่ไม่ทราบว่าจะไปเกิดที่ไหนและเกิดเป็นอะไร

ความรู้ของท่านอาจารย์ที่เกี่ยวกับด้านนี้ ตามที่เคยอยู่กับท่านมา เข้าใจเอาเองว่าความรู้ของท่านในด้านนี้ไม่มี บางคนอาจเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาเป็นแล้วจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างไป

นั้นไม่ใช่ จะเป็นได้เฉพาะบางรายเท่านั้น ไม่ทั่วไป แต่ว่าอาสวักขยญาณ คือรู้ว่ากิเลสหมดไปนี้เหมือนกันหมด ส่วนความรู้ปลีกย่อยนี้ไม่เหมือนกัน ผู้ที่ได้ศึกษาตำราทางศาสนามากจะเข้าใจ แต่ผู้ที่ศึกษาน้อยอาจจะยังสงสัย จึงได้เขียนไว้ในที่นี้ด้วย

พญานาคที่ว่านั้น เดี๋ยวนี้กลับมาที่เดิมแล้ว และมีน้ำไหลซึมออกมาอีกเหมือนเดิม

จากนั้นท่านก็ได้เที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอธาตุพนม และนครพนม กลับมาอำเภอนาแก พักอยู่ที่ถ้ำตาฮด ปัจจุบันชื่อถ้ำโพธิ์ทอง บ้านแจ้งมะหับ พักอยู่นั้นได้ประมาณ ๑ เดือน มีเรื่องที่ขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง

คือเมื่อท่านพักอยู่นั้น ชาวบ้านยังไม่รู้จักท่านเพราะไม่เคยอยู่มาก่อน เขาพากันถามถึงชื่อของท่าน ท่านก็บอกชื่อท่านว่า ญาพ่อผักกะโดน คือปกติท่านอาจารย์ท่านจะชอบฉันผักเป็นพิเศษ และหน้านั้นผักกะโดนกำลังออกดอก ท่านก็เลยบอกชื่อของท่านแบบนั้น

ชาวบ้านพากันหัวเราะ พอพักที่นั้นพอสมควรแล้ว ก็เดินทางกลับบ้านห้วยทราย และจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายในปี พ.ศ. ๒๕๐๑

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็กลับบ้านศรีฐานอีกประมาณเดือนธันวาคม พาสามเณรน้อย สามเณรอุ่นไปรับใบหมายเรียกจะเข้าเกณฑ์ทหาร แต่เนื่องจากสามเณร ๒ องค์นี้ สอบนักธรรมได้

คือทางการเขาอนุญาตให้ยกเว้นได้ ท่านจึงขอให้เขายกเว้นให้ เมื่อเสร็จธุระแล้วท่านก็ออกจากบ้านศรีฐานไปทางอำเภอมุกดาหาร ไปพักอยู่ที่ภูวัด เพราะว่าภูวัดนี้อากาศดี ท่านอาจารย์ชอบสถานที่แห่งนี้

มีเวลาผ่านไปทางนั้น ท่านจึงมักจะไปพักอยู่บ่อย เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้วก็เดินทางต่อไปยังภูเก้า บ้านโคกกลาง สมัยก่อนขึ้นกับอำเภอคำชะอี แต่ทุกวันนี้คงขึ้นกับอำเภอนิคมคำสร้อย

ครั้นพักอยู่ที่ภูเก้าพอสมควรแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปยังบ้านห้วยทราย และได้ทำการบวชพระ ให้แก่สามเณรน้อย สามเณรอุ่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านก็ได้จำพรรษาที่บ้านห้วยทรายอีก เป็น ๒ พรรษา

พรรษาที่ ๑๗ - ๑๙

เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้เดินทางกลับมาทางจังหวัดอุดร ฯ เข้าไปยังสำนักบ้านตาดและในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น ก็ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปวัดป่าหนองแซง หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

พักพอสมควร แล้วก็เดินทางต่อไปยังวัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่ขาว อนาลโย ขณะนั้นท่านพระอาจารย์จวนท่านก็พักอยู่นั้น แล้วท่านก็เลยชวนกันไปเที่ยวเชียงใหม่ ที่ไปด้วยกันมีท่านพระอาจารย์จวน พระอาจารย์สิงห์ทอง พระอาจารย์เพียร หลวงพ่อไท และสามเณรอีก ๑ องค์ ชื่อเณรคำสี

ทีแรกท่านก็ได้นั่งรถ ต่อเมื่อหมดค่ารถแล้วก็เดิน ท่านพูดว่าการเดินทางคราวนี้ลำบากมาก เพราะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามเขาระหว่างเมืองเลยต่อนครไท เหน็ดเหนื่อยมาก ไม่เหมือนเดินตามที่ราบ และเดินทางจนถึงจังหวัดเชียงใหม่โดยนั่งรถบ้าง เดินบ้าง

เมื่อไปถึงเชียงใหม่ แล้วก็ได้ไปดูหลายแห่งและพักอยู่นานพอสมควร ท่านว่าทางเชียงใหม่นี้ไม่เป็นที่สบายของท่าน ท่านก็ได้เดินทางกลับอีสานอีก โดยนั่งรถไฟ ตอนที่นั่งรถไฟกลับ ท่านก็เล่าเรื่องขบขันให้ฟังว่า

มีพระองค์หนึ่งมาคุยด้วย คุยไปหลายเรื่องหลายราว พระองค์นั้นพูดว่าท่านได้ภาษาทุกภาษา ท่านอาจารย์คงจะรำคาญหรือท่านคิดจะหยอกเล่นก็ไม่ทราบ ก็พูดภาษาอันหนึ่งขึ้นมา สำเนียงเหมือนสำเนียงภาษาญวน

แต่คำพูดนั้นองค์ท่านเองก็ไม่รู้จัก เป็นภาษาป่า พอตกประโยค ท่านอาจารย์จวนก็ขึ้นรับเลย สำเนียงคล้าย ๆ กัน โดยที่ไม่ได้นัดกันเอาไว้ เมื่อพูดแล้วก็หน้าตาเฉย พระองค์นั้นมองหน้าเพราะท่านติดภาษาป่า ท่านว่าจ้างมันก็ไม่รู้ดอก แต่เราคนพูดเองยังไม่รู้ ท่านว่า

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๕ นี้ ท่านจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายอีก เมื่อออกพรรษาได้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาอุดรฯ อีก เข้าไปที่วัดป่าหนองแซง หลวงปู่บัว ครั้นพักอยู่ที่วัดป่าหนองแซงได้นานพอสมควรแล้ว ก็ได้กราบหลวงปู่บัว

พาครูบาอุ่นไปเที่ยววิเวกทางถ้ำจันทร์ อำเภอบึงกาฬ หนองคาย ในระยะนั้น พวกทหารป่า ผกค. กำลังเริ่มระบาด พวกทหารคอยสอดส่องดูแลอยู่ทุกแห่ง ที่ถ้ำจันทร์นั้นแต่ก่อนยังเป็นดงหนาป่าทึบ

เมื่อท่านอาจารย์จวนไปพักอยู่ที่นั้น ก็ได้มีชาวบ้านพากันอพยพเข้าไปปลูกบ้าน บุกเบิกป่า ในระยะนั้นก็มีอยู่ประมาณ ๓๐ - ๔๐ ครอบครัว

วันหนึ่ง พอทำข้อวัตรปัดกวาดเสร็จ ก็สรงน้ำอาบน้ำกัน เสร็จแล้วก็รวมกันฉันน้ำร้อน และพูดคุยกันไปหน่อย ข้าพเจ้า (ครูบาอุ่น) จึงออกไปเก็บผ้าอาบน้ำที่ตากปูไว้กับลานหิน

มองเห็นเครื่องบินปีกตัดบินข้ามมาจากฝั่งลาว มองเห็นเครื่องบินลำนั้นเอียงปีก และบินผ่านเข้ามายังถ้ำจันทร์ ข้าพเจ้าก็เลยกวักมือใส่ เครื่องบินลำนั้นคงจะเป็นเครื่องบินลาดตระเวน พอเครื่องบินลำนั้นเห็นก็เลยบินวนบินเวียนอยู่นั้น

เขาคงผิดสังเกต คงจะเข้าใจว่าเป็นทัพของพวก ผกค. จึงได้บินอย่างนั้น บินเวียนอยู่จนมืด ได้ประมาณทุ่มเศษ ๆ แล้วค่อยหนี  ท่านพระอาจารย์จวนก็ได้ไฟฉาย ๒ กระบอกส่องขึ้นใส่เครื่องบินแล้วเต้นล้อ

เครื่องบินยิ่งวนเวียนกันใหญ่ ไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก คิดดูธรรมดาแล้วมันก็บ้าทั้ง ๒ ทางนะ ทั้งทางอากาศและทางดิน พวกเราก็ไม่กลัว เพราะพวกเราไม่มีอะไรนี่ ดีเขาไม่ยิงปืนลงมาใส่ ถ้าเขายิงปืนลงมาก็จะกลัวอยู่แหละ เพราะลูกปืนมันใช่ญาติพี่น้องของใคร

เมื่อพักอยู่ที่ถ้ำจันทร์นานพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้พากันมาทางอำเภอสว่างแดนดิน พร้อมทั้งพระอาจารย์จวนและพระติดตามพระอาจารย์จวน พอดีเป็นงานสรงน้ำทำบุญครบรอบ ท่านพระอาจารย์พรหม วัดบ้านดงเย็น

เมื่อเสร็จงานท่านแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปวัดดอยธรรมเจดีย์ ไปในงานเผาศพของท่านพระอาจารย์กงมา เสร็จงานแล้ว ท่านพระอาจารย์จวนและพระติดตามก็ได้เดินทางไปวิเวก แถวอำเภอนาแก ถ้ำตาฮด (ถ้ำโพธิ์ทอง)

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ท่านก็กลับบ้านศรีฐาน อีกเพื่อเยี่ยมโยมแม่ของท่าน และได้เอาโยมแม่ของท่านบวชพร้อมกับน้องสาวของโยมแม่ของท่าน ซึ่งเป็นโยมแม่ของข้าพเจ้า (ครูบาอุ่น)

ตอนที่เอาพวกโยมแม่บวชนี้ ไปดึงเอามาเลยนะ กระทั่งพ่อของพวกโยมแม่ พวกโยมแม่ก็ไม่ได้ลา เพราะผู้เฒ่าไปทุ่งนายังไม่กลับ ครั้นต่อมา ๒ - ๓ วัน ผู้เฒ่ามาตักบาตร ไม่เห็นลูกสาวมาตักบาตรด้วย ก็เลยถามหมู่ที่ตักบาตรอยู่ด้วยกันว่า เขาอี่อบ อี่บุบผา ไปไหน ไม่เห็นมาตักบาตร ๒ - ๓ วันแล้ว

พวกหมู่ที่รู้จักก็หัวเราะแล้วบอกว่า ท่านอาจารย์สิงห์ทองเอาไปบวชแล้ว และไปแล้ว ไปทางสกลฯ อุดรฯ โน้นแหละ ผู้เฒ่าก็เลยออกอุทานว่า โอ๋ย มันจะบวช มันก็ไม่บอกกูซักคำน้อ คิดแล้วก็น่าสงสารผู้เฒ่า มัวแต่ไปทุ่งนา หลานขโมยเอาลูกสาวหนีจ้อย

ในระยะนั้น อายุของโยมแม่ของท่านอาจารย์ได้ประมาณ ๖๖ - ๖๗ ปี แล้วท่านอาจารย์ก็ได้พาโยมแม่ของท่านเดินทางไปอุดรฯ เข้าไปสู่วัดป่าบ้านตาด อยู่วัดป่าบ้านตาดกับท่านพระอาจารย์มหาบัวได้ประมาณ ๒ เดือน

คือที่วัดป่าบ้านตาดนี้ ท่านอาจารย์ไม่ถูกกับอากาศที่ท่านได้เคยอยู่มา ๓ ปี ปีแรกก็ไม่ค่อยเท่าไร พอปีที่ ๒ ที่ ๓ นี้แพ้มาก คือ คันตามตัว ตามผิวหนังอ่อน ๆ แล้วเป็นตุ่มขึ้นพองคล้าย ๆ กับไฟไหม้ เสร็จแล้วก็เปื่อย

ขอโทษ เวลาท่านไปบิณฑบาต ต้องได้เอาผ้ามัดเอาไว้ เพราะกลัวน้ำเหลืองติดผ้า มันเป็นที่ลูกอัณฑะด้วย จนจะเดินไม่ได้บางที ในช่วงนั้น คุณหมออวย เกตุสิงห์ ก็ได้เข้าไปวัดป่าบ้านตาดแล้ว

ท่านสงสัยน้ำ เอาน้ำไปตรวจ ไปวิจัยก็ไม่พออะไร ท่านอาจารย์เคยพูดว่า อุตุสัปปายะ อากาศไม่เป็นที่สบายมันเป็นอย่างนี้ ท่านเคยเล่าว่า ถ้าหากว่าอากาศไม่ผิดกับท่านอย่างนี้ ท่านจะอยู่กับพระอาจารย์มหาบัวไปตลอด

เพราะการอยู่กับครูบาอาจารย์ ภาระธุระมันน้อยไม่เหมือนอยู่เฉพาะเรา เพราะภาระส่วนมากก็เป็นของครูบาอาจารย์ เรามีเพียงแต่คอยรับใช้ท่าน มันสะดวกสบายดี ท่านเคยพูด

เมื่อท่านไปอีก (พาโยมแม่ไป) ก็แสดงอาการขึ้นอีกโรคที่ว่า แต่เมื่อออกไปจากวัดป่าบ้านตาดแล้วก็หาย โดยที่ไม่ต้องฉันหยูกฉันยาอะไร แต่อยู่วัดป่าบ้านตาดนั้น ทั้งฉันยา ทั้งทายา มันก็ไม่หาย

เมื่อเริ่มมีอาการเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว ท่านก็กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัว ว่าจะต้องได้พาโยมแม่ของท่านออกไปอยู่ที่อื่น แล้วท่านก็ปรึกษากันว่าจะพาไปอยู่ที่ไหน ก็เลยตกลงจะไปอยู่กับหลวงปู่บัว วัดราษฎร์ สงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง)

ผีเปรตบ้านกุดเรือดำ

ขอย้อนกลับมาพูดเรื่องผีเปรตอีกครั้ง ในปีหนึ่งท่านได้ออกเที่ยววิเวกในหน้าแล้ง เมื่อท่านวิเวกไปถึงบ้านกุดเรือดำเป็นเวลาจวนจะมืด บ้านกุดเรือดำ ตำบลกุดเรือดำ อำเภอวานรนิวาส สกลนคร

ท่านเข้าไปในวัด พระเณรก็ต้อนรับ จัดสถานที่ให้พัก ท่านเล่าว่ากุฏิว่างก็มีอยู่หลายหลัง แต่จัดให้ท่านและท่านอาจารย์เพียรพักที่ศาลาปฏิบัติธรรม สังเกตดูพระเณรรวมกันอยู่กุฏิละหลายองค์ทั้ง ๆ ที่กุฏิว่างยังมี

เมื่อท่านสรงน้ำเสร็จท่านก็ครองผ้าไปกราบเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสชื่อพระอุปัชฌาย์เถื่อน ให้ท่านอาจารย์เพียรอยู่เฝ้าบริขาร ครั้นกราบท่านแล้วก็พูดคุยกันต่อ จนเป็นเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านจึงกลับมาที่พัก

แล้วก็ทำวัตร ไหว้พระ สวดมนต์ ยังไม่ทันถึงไหน ท่านได้ยินเสียงดังข้างนอก ก็อก แก๊ก ๆ นึกว่าหมามันจะมาคาบรองเท้าหนี เพราะเป็นรองเท้าหนัง ท่านจึงหยุดออกไปเก็บรองเท้าเข้ามาไว้ข้างใน แล้วไหว้พระต่อ

เสียงนั้นก็ยังดังอยู่ ดังเข้ามาในห้องทีนี้ เมื่อไหว้พระเสร็จท่านก็ส่องไฟฉายไปดู เห็นท่านอาจารย์เพียรนั่งภาวนาอยู่ จึงถามท่านอาจารย์เพียรว่า เสียงอะไร ท่านอาจารย์เพียรตอบว่า มันดังอยู่นานแล้ว

บางทีเข้าใจว่าตู้พระไตรปิฎกล้ม ท่านอาจารย์เพียรพูด... ถ้าดับไฟเสียงจะดังขึ้น ต่างองค์ต่างก็ส่องไฟฉายไปดู ก็ไม่เห็นพบอะไร เมื่อดูอยู่ชั้นล่าง เสียงจะไปดังอยู่ชั้นบน เพราะศาลาเป็น ๒ ชั้น

เมื่อตามขึ้นไปดูชั้นบน ก็จะมาดังอยู่ชั้นล่าง จนท่านทั้งสององค์แน่ใจว่า นี่คงจะเป็นเปรตแน่ แล้วท่านอาจารย์สิงห์ทองก็เลยพูดว่า ถ้าเป็นเปรตจริง ก็อย่ามารบกวน เพราะเดินทางเหนื่อย จะเป็นบาปเป็นกรรมหนักยิ่งกว่าเก่านะ ให้ไว้พักบ้าง จากนั้นเสียงก็ได้เงียบไปตลอดคืน ไม่มีเสียงรบกวนอีก

คนที่เป็นเปรต

คนที่เป็นเปรตนั้น เดิมเป็นทายกวัด เก็บปัจจัย(เงิน) ของวัด แล้วนำไปซื้อหวย (ซื้อเบอร์) ยังไม่ทันได้ใช้แทน และไม่ได้สั่งบอกลูกเมียเอาไว้ เมื่อตายไปแล้วจึงเป็นเปรต

ชาวบ้านก็ไม่รู้แน่ว่า เป็นใครกันแน่ แต่สงสัย เพราะคนนี้ตายไปจึงมีเปรต ลูกเมียก็ทำบุญอุทิศให้ แต่ก็ยังไม่หาย ครั้นต่อมามีคนเห็น คือเห็นทายกคนนั้นนั่งห้อยเท้าไกวขาอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในวัด

จึงได้แน่ใจว่าเป็นคนคนนี้แน่ ๆ แล้วลูกเมียก็ตกใจ เที่ยวค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวกับเงินของสงฆ์ที่แกเก็บรักษาเอาไว้ เสร็จแล้วก็ได้นำเงินมาแทน มามอบคืนสงฆ์ เปรตนั้นจึงได้หาย

พรรษาที่ ๒๐ - ๒๑

พระอาจารย์สิงห์ทองได้พาโยมแม่ของท่านไปอยู่กับหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ - ๒๕๐๗ และได้อยู่ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ด้วยอาศัยบารมีของหลวงปู่บัว

ซึ่งระยะนั้นก็มีแม่ชีเทียบเป็นหัวหน้าแม่ชีที่วัดป่าหนองแซง ได้อยู่ที่วัดป่าหนองแซงนั้น ๒ ปี เป็นพรรษาที่ ๒๐ - ๒๑ ของท่านพระอาจารย์

พรรษาที่ ๒๒ - ๓๖สาเหตุที่จะได้มาอยู่วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล

ชาวบ้านในหมู่บ้านชุมพล บ้านขาม บ้านคำเจริญ ๒ - ๓ หมู่บ้านนี้ ส่วนมากจะมาจากจังหวัดอุบล ฯ อพยพมาจากเขตจังหวัดอุบลฯ และชาวบ้าน ๒ - ๓ หมู่บ้านนี้ส่วนมากจะเป็นลูก ๆ หลาน ๆ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ได้ติดตามปฏิบัติหลวงปู่ขาวมาตลอด เช่นปีที่ท่านพักจำพรรษาที่ภูค้อ อำเภอวังสามหมอ ชาวบ้านเหล่านี้จะตามส่งเสียเรื่องเสบียงอาหารมาตลอด เพราะที่ภูค้อนั้นไม่มีหมู่บ้านที่จะบิณฑบาต

จะต้องอาศัยชาวบ้านเอาเสบียงไปส่ง ให้แม่ชีทำถวายท่าน และสมัยที่ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่ภูวัง อำเภอบึงกาฬ หนองคาย เป็นต้น

เฉพาะหมู่บ้านชุมพล วัดป่าแก้วนี้ เป็นวัดที่หลวงปู่ขาวและหลวงปู่พรหม บ้านดงเย็น พาริเริ่มสร้างขึ้น และท่านได้อยู่จำพรรษากับเขา ๒ ปี คือ ปีที่ตั้งวัดทีแรกเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และปี พ.ศ. ๒๕๐๐

ท่านกลับมาจากภูวัว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นี้ชาวบ้านได้ไปขอพระจากหลวงปู่ขาว เนื่องจากทางวัดป่าแก้ว บ้านชุมพลนี้ ขาดพระที่จะอยู่ประจำวัด หลวงปู่ท่านจึงได้แนะนำให้ไปนิมนต์ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ที่วัดป่าหนองแซง

ชาวบ้านได้พยายามติดตามอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์อยู่หลายครั้งหลายหน ตั้ง ๖ - ๗ ครั้ง ผลที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เหตุที่ท่านอาจารย์ไม่รับนิมนต์ง่ายนั้น ก็เพราะท่านคิดว่าไม่ใช่ท่านองค์เดียว มีแม่ด้วย

เกิดเมื่อไปแล้วโยมแม่ไม่สะดวกจะลำบาก เพราะอยู่กับหลวงปู่บัวนั้นสะดวกแล้ว เมื่อท่านเห็นว่าชาวบ้านชุมพล เขาเอาจริงเอาจัง และรับสารภาพทุกอย่าง จะไม่ให้ครูบาอาจารย์และคุณแม่ขัดข้อง จึงได้รับนิมนต์

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจึงได้กราบลาหลวงปู่บัว แล้วพาโยมแม่และน้องสาวของโยมแม่ของท่าน ซึ่งบวชเป็นชีด้วยกันไปวัดป่าแก้ว พร้อมกับท่านอุ่น จำได้ว่าเป็นปี พ.ศ.๒๕๐๘ เดือนเมษายน เป็นพรรษาที่ ๒๒ ของท่านอาจารย์

ท่านอยู่วัดป่าแก้วมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นพรรษาที่ ๓๖ อายุ ๕๖ ปี อันเป็นปีที่ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก ถึงแก่มรณภาพ ณ ท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ตำบลคลอง ๔ อำเภอหลวง จังหวัดปทุมธานี

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ พร้อมกับท่านพระอาจารย์บูญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาละวัน บ้านโนนทัน ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก ท่านพระอาจารย์วัน อุตตฺโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล

ได้รับความไว้วางใจ

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์มหาบัวมาก ท่านพระอาจารย์มหาบัวมักจะมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่บางอย่างแทนท่าน

อย่างเช่นเป็นประธานด้านบรรพชิต ในการดำเนินงานศพของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ณ วัดป่าหนองแซง จังหวัดอุดรธานี

ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่เรียบร้อยทุกประการ ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้ปรารภว่า หากท่านละขันธ์เมื่อใดขอมอบให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นประธานดำเนินงานศพของท่าน

นอกจากนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวยังหวังจะให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นหัวหน้าหมู่คณะพระกรรมฐานแทนตัวท่านด้วย แต่บังเอิญท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้ถึงมรณภาพไปก่อน และท่านพระอาจารย์มหาบัวกลับมาเป็นประธานจัดงานศพให้

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติ

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองนั้น เป็นเช่นเดียวกันกับปฏิปทาของครูบาอาจาร์กรรมฐาน คือตัวท่านพระอาจารย์จะปฏิบัติตนให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่างเสมอ

อาทิ เช่น การรักษาศีลโดยเคร่งครัด และท่านพระอาจารย์จะเทศน์อบรมและควบคุมปฏิปทาด้านการรักษาศีลของลูกศิษย์ของท่านอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งดุด่าว่ากล่าวเมื่อลูกศิษย์ผิดพลาดด้านศีล

เพราะการที่ลูกศิษย์จะก้าวหน้าทางด้านสมาธิภาวนานั้น ต้องมีพื้นฐานทางด้านศีลเป็นที่รองรับ ส่วนการทำความพากเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานั้น ท่านจะปฏิบัติให้ลูกศิษย์ได้เห็นอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

คือ ตอนเช้า ท่านจะเดินจงกรมก่อนออกบิณฑบาต ฉันจังหันเสร็จท่านจะพักประมาณเที่ยงจะลงเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา ครั้นถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ท่านจะไม่ยอมขาด ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริง ๆ

ตอนพลบค่ำ ๕ - ๖ โมงเย็น ท่านจะเดินจงกรมเป็นประจำทุกวัน จะขึ้นจากทางจงกรมประมาณ ๒ ทุ่มทุกวัน บางครั้งท่านไปธุระทางไกลมา พระเณรไปจับเส้นถวาย พอจับเส้นเสร็จแล้ว แทนที่ท่านจะพักผ่อนท่านจะลงเดินจงกรมอีก

นอกจากนั้น ท่านจะเดินสำรวจดูการปฏิบัติ การทำความพากเพียรของพระเณร โดยบางครั้ง ท่านเดินไปมืด ๆ ไม่ใช้ไฟฉาย และออกตรวจไม่เป็นเวลาแน่นอน ท่านพยายามขนาบพระเณรให้เร่งทำความเพียร พร้อมกับเทศน์อบรมสั่งสอนอยู่เสมอ ๆ

ท่านห้ามพระเณรไปคุยกับตามกุฏิ ฉันน้ำร้อนคุยกันเสียงดังหน่อยหรือใช้เวลานานเกินควร ใช้ของไม่ประหยัด เช่น สบู่ ใช้สบู่แล้วทิ้งไว้ตากแดดตากฝนไม่เก็บไว้ในกล่อง ท่านคอยตรวจตราดูแลข้อบกพร่องต่าง ๆ ของพระเณรและตักเตือนว่ากล่าวอยู่เสมอ ถ้าใครทำความเพียรดี ท่านมักจะชมเชยให้กำลังใจในด้านปฏิบัติแก่ผู้นั้น

การใช้สอยปัจจัยสี่

การใช้สอยปัจจัยสี่นั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ท่านใช้อย่างประหยัดและมัธยัสถ์เสมอ เช่น ผ้าต่าง ๆ ของท่าน จะปะชุนแล้วปะขุนอีก ผ้าอาบน้ำบางผืนเก่าจนขาดรุ่งริ่งท่านก็ไม่ยอมทิ้ง ยังใช้นุ่งอยู่ทั้งที่ผ้าอาบน้ำมีไม่อดในวัด

เวลากลางคืนท่านจะจุดตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ หรี่ลงเสียจนจะไม่มีแสง ท่านไม่ยอมใช้ของฟุ่มเฟือยเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ อีกประการหนึ่ง ท่านไม่ชอบงานก่อสร้างทุกชนิด เช่น สร้างกุฏิ วิหาร หรืออะไรต่ออะไรในวัด

งานต่าง ๆ ท่านไม่ยอมให้มี ท่านชอบให้พระเณรสร้างด้านจิตใจ คือเดินจงกรม นั่งภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพาน มากกว่าสร้างสิ่งของวัตถุภายนอก ท่านว่าการก่อสร้างนั้นเป็นเหตุให้เสียการภาวนา ท่านจึงไม่อยากให้มี

ธรรมปฏิสันถาร

ในด้านธรรมปฏิสันถาร ท่านพระอาจารย์มีความเมตตาสูงต่อคณะศรัทธาญาติโยมที่มาให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแก้ว

คณะแล้วคณะเล่า ท่านจะเมตตาอบรมธรรมะ พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์ด้านการภาวนาของท่านให้ฟัง บางครั้งก็เล่าเรื่องผี ซึ่งมีทั้งผีจริงและผีสังขารหลอกลวง

ท่านจะดูแลเอาใจใส่อย่างรอบคอบที่เกี่ยวกับญาติโยมที่มารักษาศีล และปฏิบัติธรรม ทั้งที่พักและเรื่องอาหารการกิน ทุกคณะที่มาบำเพ็ญภาวนาต่างกันสรรเสริญคุณธรรมข้อนี้ของท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

ว่าได้รับความอบอุ่น สบายจิตสบายใจมากเมื่อมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแก้ว เมื่อถึงกำหนดผู้มาปฏิบัติธรรมจะลาท่านกลับ ท่านจะเทศน์อบรมธรรมะส่งท้ายเกือบทุกครั้ง

ผู้ที่มาแล้วมักจะกลับมาอีก พร้อมกับแนะนำผู้สนใจ ปฏิบัติธรรมมาเป็นลูกศิษย์ท่านอยู่เรื่อย ๆ ตราบจนวาระสุดท้ายของท่านพระอาจารย์

เรื่องเล่าประวัติของท่านพระอาจารย์นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้นำมาเล่าให้ฟังทั้งหมด เล่าเฉพาะบางส่วนเท่านั้น จึงได้ให้ชื่อว่าประวัติย่อ

อุ่น (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม)

--------------------------------------------------------

คัดลอกจาก: ประวัติย่อ และพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

ด้วยจิตกราบบูชา

ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

Top