ประวัติ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) - วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ - webpra

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

ประวัติ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)   วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร  แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา 
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) 

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร 
แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 


๏ อัตโนประวัติ 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) มีนามเดิมว่า ประยูร มีฤกษ์ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ มีความรู้ความสามารถอย่างสูงในทางพุทธปรัชญา และทางพระพุทธศาสนา 


๏ การบรรพชาและอุปสมบท 

ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ขณะที่อายุได้ ๑๑ ปี ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค และได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปีเดียวกันนั้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร 

หลังจากนั้นท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและพัฒนาความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง จนสามารถได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ สอบได้ประกาศนียบัตรภาษาฝรั่งเศส (Diploma in French) จากมหาวิทยาลัยเดลี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเอก (Ph. D.) สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเดลี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เป็นผู้มีเกียรติคุณความสามารถทั้งทางด้านวิชาการ และทางด้านงานบริหารอย่างโดดเด่นท่านหนึ่งของสังคมไทย บทบาทสำคัญในทางวิชาการของท่านมีอยู่มากมาย ดังเช่น เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นอาจารย์พิเศษสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยต่างๆ 


๏ งานเผยแพร่พระพุทธศาสนา 

เป็นประธานอำนวยการดำเนินการรายการธรรมะทางวิทยุเพื่อการศึกษา เป็นประธานคณะบรรณาธิการพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธ เพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา แห่งโลก ครั้งที่ ๒ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๙–๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ 


๏ ประวัติการทำงาน 

-- พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นอาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ 

-- พ.ศ. ๒๕๒๙ - พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นผู้อำนวยการกองวิชาการ 

-- พ.ศ. ๒๕๓๑ - พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย 

-- พ.ศ. ๒๕๓๓ - พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา 

-- พ.ศ. ๒๕๓๕ - พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ 

-- พ.ศ. ๒๕๔๕ - ปัจจุบัน เป็นอธิการบดี 


๏ ลำดับสมณศักดิ์ 

-- พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีธรรมาภรณ์ 

-- พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี 

-- พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโสภณ วิมลปริยัติกิจ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี 

-- พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมวิจิตร ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี 

-- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายมหานิกาย ที่ พระพรหมบัณฑิต ท่ามกลางความปีติยินดียิ่งของคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วไป 


๏ ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ 

-- เจ้าคณะภาค ๒ รับผิดชอบเขตปกครองคณะสงฆ์ ๓ จังหวัด คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสระบุรี 

-- เจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร 

-- เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) 


๏ ตำแหน่งทางวิชาการ 

-- พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชาปรัชญา ของ มจร. 

-- เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาปรัชญา สาขาวิชาอัคฆวิทยา 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) นับว่าเป็นพระเถรานุเถระรูปที่ ๒ ของประเทศไทย ที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว ก่อนหน้านี้ท่านเจ้าประคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาปรัชญา สาขาวิชาศาสนศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ ทั้งนี้ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คือ ผู้ทรงเกียรติคุณในวิชาประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของราชบัณฑิตทุกสำนักเห็นชอบ ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 


๏ ผลงานทางวิชาการ 

มีผลงานทางวิชาการ งานวิจัย เป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ผลงานวิชาการยังได้รับการอ้างอิงในวารสาร ตำรา รวมทั้งหนังสือที่เชื่อถือได้ในวงวิชาการ และมีการนำผลงานทางวิชาการ ไปใช้ประโยชน์จนเป็นที่ยอมรับในสาขาปรัชญา ผลงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ วิมุตติมรรค ปรัชญากรีกบ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก A Buddhist Approach to Peace Buddhist Morality เป็นต้น 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) นับว่าเป็นศาสตราจารย์ สายวิชาการคนแรกของประเทศไทยที่มาจากคณะสงฆ์ ที่ผ่านมามีพระสงฆ์ที่ได้เป็นศาสตราจารย์ แต่เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวสกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม 


๏ สถานที่ทำงาน 

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร. วังน้อย) ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 


๏ ที่พำนักจำพรรษาปัจจุบัน 

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 

 

คัดลอกมาจาก :: 
http://www.watprayoon.org/

 

Top