หัวข้อ: พระฝักไม้ขาวกรุบางระกำ จ.พิษณุโลก
กระทู้ และ ความคิดเห็นต่างๆ
"พระกรุบางระกำ" กำเนิดในยุคสมัยที่ พระครูพุทธิสุนทร (หรุ่น ติสสโร) เป็นเจ้าอาวาส วัดสุนทรประดิษฐ์ หรือ วัดบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ "พระอาจารย์ถีร์" ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดละครทำ ธนบุรี ได้ล่องเรือตามลำคลองมายังตลาดบางระกำ พร้อมกับพระพิมพ์บรรจุในไห จุดมุ่งหมายเพื่อนำไปมอบให้หลวงพ่อขำ วัดฝักไม้ดำ (โพธิ์เตี้ย) อ.พราน กระต่าย จ.กำแพงเพชร แต่แล้วด้วยมีอุปสรรคในการคมนาคม จึงแวะที่ตลาดบางระกำ แล้วฝากพระในไหไว้ที่บ้าน นายอู่ไช้ แซ่ลิ้ม คหบดีในตลาดบางระกำ
เมื่อวันเวลาได้ผ่านไปแรมปี ต่อมานายอู่ไช้ได้ขายบ้านหลังดังกล่าวนั้นให้กับ นายละม่อม และ นางกิมเอ็ง เนตรแก้ว โดยไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายพระในไหแต่อย่างใด คงไว้ดังเดิม เจ้าของบ้านคนใหม่พบเห็นเข้า จึงนำพระไปไว้ในโบสถ์วัดบางระกำ โดยวางไว้ด้านหลังหลวงพ่อนฤมิต พระประธานในพระอุโบสถ อีกทางหนึ่งก็ว่า นายอู่ไช้เป็นผู้เคลื่อนย้ายพระในไหจากบ้านมายังโบสถ์ดังกล่าวด้วยตนเอง
หลัง พ.ศ.2485 ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด รวมทั้ง จ.พิษณุโลก ด้วย วัดสุนทรประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในที่ลุ่มและริมฝั่งแม่น้ำยม ก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าวนี้ด้วย น้ำได้ไหลบ่าเข้าไปในโบสถ์ พระพิมพ์ที่ซุกซ่อนอยู่หลังพระประธานจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน
เมื่อน้ำลดจึงมีคราบตะกอนดินติดอยู่ที่ผิวพระ จนบางท่านเข้าใจว่าเป็นพระกรุ หรือบางท่านเข้าใจถูกแล้วแต่ด้วยธรรมชาติขององค์พระเฉกเช่นเดียวกับพระกรุ จึงเรียกเช่นนั้นต่อๆ กันมา สมัยนั้น ทางวัดมิได้สนใจกับพระพิมพ์ดังกล่าวนี้เลย ใครจะหยิบฉวยไปอย่างไร จำนวนเท่าไร ก็ไม่ว่า โดยเฉพาะเด็กวัดหยิบเอามาเล่นทอยกองกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดพระก็ไม่มีเหลืออยู่เลย
พระพิมพ์จากวัดบางระกำ หรือวัดสุนทรประดิษฐ์ มี 2 แบบ คือ พระพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่อ และพิมพ์สมเด็จฝักไม้ดำ-ฝักไม้ขาว พุทธลักษณะของพระฝักไม้ดำ เป็นพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ด้านหน้าเป็นรูปพระลีลายืนหันด้านข้าง มีอักขระล้อม ยกกรอบเส้นลวดนูนอย่างงดงาม ด้านหลังเป็นพระพุทธสามองค์นั่งเรียงกัน องค์กลางสูงกว่าเล็กน้อย พระพุทธรูป 3 องค์ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐาน 3 ชั้น ด้านบนมีอักขระว่า "มะ อุ อะ" ด้านหลังมีอักขระว่า "นะ ปะ ทะ อะ ระ หัง" เมื่ออ่านรวมจะเป็น "นะ ปะ ทะ อะ ระ หัง มะ อุ อะ" ซึ่งเป็นคาถามหาอุด
และด้านล่างมีสิงห์และเสือหันหน้าเข้าหากัน คล้ายกำลังป้อนอาหารแก่กัน เป็นเคล็ดหรือคติความเชื่อที่ว่า "สัตว์ร้ายหันหน้าเข้าหากัน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มีความรักเมตตากรุณาต่อกัน เป็นเมตตามหานิยม และมหา อำนาจ" พระฝักไม้ดำจึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า "สิงห์ป้อนเหยื่อ" ด้วยลักษณะอาการของสิงห์และเสือที่อยู่ด้วยกันนั่นเอง
ส่วนพุทธลักษณะของพระฝักไม้ขาว ด้านหน้าเป็นพระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิเพชรอยู่ในกรอบเส้นลวดนูนสองชั้น มีซุ้มแหลมครอบองค์พระอยู่ด้านใน มีอักขระกำกับด้านบนซุ้มสองข้างว่า "นะ มะ พะ ทะ" ใต้ตัว นะ ลงด้วยตัว "อุด" ใต้ตัว มะ ลงด้วยตัว "ทัง" ตรงกลางเป็น เฑาะว์
"นะ มะ พะ ทะ อุด ทัง" เป็นคาถามหาอุด ทำให้ดินปืนเปียกไม่ติดไฟ
ด้านซ้ายมือมีคาถา 5 ตัว อ่านในแนวตั้งจากบนลงล่างว่า "ยะ ปะ ฏิ รู ปัง" ส่วนด้านขวามือมีอักขระ 6 ตัว อ่านในแนวตั้งจากบนลงล่างว่า "พระ อะ ระ หัง ติ"
"ยะ ปะ ฏิ รู ปัง" เป็นคาถาหัวใจ บรรพชา ใช้เสกหมากกิน หรือเสกปูนกวาดคอ มีอุปเท่ห์การใช้ คือ ตั้ง "นะ โม 3 จบ เสก 7 จบ" ป้ายลูกกระเดือกก่อนออกรบทัพจับศึก ทำให้อยู่คง คาถาบทนี้อยู่ได้เพียงชั่วเบา (ปัสสาวะ)
"พระ อะ ระ หัง ติ" เป็นคาถาแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง
พระฝักไม้ดำ-พระฝักไม้ขาว มีพุทธคุณเด่นทางมหาอุด และคงกระพันชาตรี เคยมีเรื่องเล่าลือกันว่า สมัยก่อนบรรดาจอมพลต่างแขวนห้อยคอกันแทบทั้งนั้น รวมทั้งสั่งให้ลูกน้องเสาะหามาใช้เช่นเดียวกับพระร่วงหลังรางปืน และน่าจะด้วยเหตุผลนี้นี่เอง
จึงทำให้พระพิมพ์กรุบางระกำกลายเป็นตำนานหนึ่งของพระเครื่องเมืองไทยไปแล้วในขณะนี้