หัวข้อ: พระพุทธชินราช "พระมาลาเบี่ยง" ขนาด 9.9 นิ้ว พระบูชาสวย ๆในดวงใจของ JORAWIS จ้า
กระทู้ และ ความคิดเห็นต่างๆ
“พระบูชาพระพุทธชินราชรุ่นพระมาลาเบี่ยง“
นับเป็นพระบูชารูปจำลองพระพุทธชินราชที่พุทธศิลป์มีความงดงาม คล้ายองค์จริงจนได้รับความนิยมมาก หายากและมูลค่าในการสะสมสูงเป็นแสน โดยเฉพาะพระบูชาขนาดใหญ่ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาด12 นิ้ว มีเพียงไม่กี่สิบองค์ที่จัดสร้างเฉพาะกรรมการเท่านั้น ขนาด 9.9 นิ้วและ 5.9 นิ้ว ลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐาน ที่ทางวัดออกให้เช่าบูชา พระองค์นี้เป็นพระประธานในโต๊ะหมู่ที่บ้านของ Jorawis ขนาดหน้าตัก 9.9 นิ้วเองจ้า ใส่ตู้ไม้สักไว้ผิวเลยยังคงสวยเหมือนสมัยที่ไปอาราธนามาจากวัดใหญ่ฯ เคยลองเอาลงสนามได้โบว์แดงมาหลายงานอยู่ เลยลงประกาศมาให้ชมบางส่วน แถมยังเคยลงโชว์โฉมในหนังสือพระชั้นนำมาแล้วหลายเล่ม คงสวยพอโชว์ในกระดานนี้ได้นะจ๊ะ
ทั้งนี้ ตามประวัติการจัดสร้างในครั้งที่พระราชรัตนมุนี (ทองปลิง โสรโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก และเจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ร่วมกับข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชน จัดหาทุนหล่อพระพุทธชินราช ขนาด 29 นิ้ว จำนวนประมาณ 120 องค์ แจกจ่ายให้วัดในท้องถิ่นห่างไกล โดยมีช่างหล่อพระพุทธชินราชระดับตำนานอย่าง “ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ “ แห่งโรงหล่อพระบูรณะไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ปั้นหุ่นและดำเนินการหล่อพระ จึงได้มีการจัดสร้างพระบูชา "พระพุทธชินราชพระมาลาเบี่ยง"นี้จากนั้นจึงได้มีพิธีเททองก่อนในปี 2519 โดย พระธรรมราชานุวัตร วัดสุวรรณาราม เป็นประธานสงฆ์ พระครูประสาทธรรมวัตร หรือหลวงตาละมัย (แจ่ม) วัดอรัญญิก เป็นเจ้าพิธี และพระครูประภาสธรรมาภรณ์ หรือหลวงพ่อลำยอง (หลวงพ่อแขก) เป็นผู้ช่วยเจ้าพิธี มี หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี ครูบาสายทอง วัดท่าไม้แดง ตาก หลวงพ่อเปรื่อง วัดบางคลาน พิจิตร หลวงพ่อเกตุ วัดศรีเมือง สุโขทัย หลวงพ่อยงยุทธ วัดเขาไม้แดง ชลบุรี ฯ ร่วมนั่งปรกขณะเททอง
หลังจากนั้นจึงจัดพิธีมหาพุทธาภิเษก พร้อมพระเครื่องอันประกอบด้วยพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ เหรียญรูปทรงพระมาลา และพระเนื้อผงทั้งแบบสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม โดยถือมงคลฤกษ์ในวันยุทธหัตถี วันที่25 มกราคม พ.ศ 2520 เป็นวันประกอบพิธี ณ พระวิหารพระพุทธชินราช พิษณุโลก สำหรับพระเครื่องที่จัดเข้าพิธีพร้อมกับพระขนาดบูชานี้ได้นำไปแจกแก่เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ทั่วแผ่นดินไทยในยุคนั้น และห้เช่าบูชาสำหรับประชาชนทั่วไป
ในพิธีพุทธาภิเษกมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นเข้าร่วมพิธีมากมายถึง 125 รูป อาทิเช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ธนบุรี, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม สิงห์บุรี, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี, หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู ลพบุรี, หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง สมุทรสาคร, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง สมุทรสาคร, หลวงพ่อวัดเกตุมฯ สมุทรสาคร, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม ฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันร่วมในพิธีพุทธาภิเษกตลอดวันตลอดคืน
หากมีโอกาสจะนำพระสวย ๆ มาให้ชมกันอีก ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับผู้เข้ามาเยี่ยมชมและทักทายกันจ้า
รูปสัญญลักษณ์ "พระมาลาเบี่ยง" อันเป็นที่มาของการเรียกขานพระบูชารุ่นนี้ที่ฐานด้านหน้า
รูป"พานพระศรี และ"อกเลา รูปหนุมานแบกแท่นบุษบก " รูปข้าวหลามตัด ที่ฐานด้านหลัง
ลองขยายภาพมาให้ชมกันจ้า