หัวข้อ: รู้จัก!..พระสมเด็จฯวัดระฆังฯ พิมพ์พระประธาน (พิมพ์ใหญ่)
กระทู้ และ ความคิดเห็นต่างๆ
ในบรรดาพระในชุดเบญจภาคี พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) เป็นพระที่วงการฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด ด้วยมูลค่าที่สูงสุด (หลักฯ สิบล้านบาท)
การที่จะศึกษาพระสมเด็จฯ ไม่ว่าจะเป็นวัดใดๆก็ตาม เรื่อง พิมพ์พระ , ตำหนิ เอกลักษณ์ ประจำพิมพ์ เป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องรู้
ดังนั้น.. การที่เรารับรู้ แบบ เจาะลึก..เพียงพิมพ์เดียว! แต่..ให้แม่นยำ! ชัดเจน! ไปเลยจะดีไหม?
ตัวผมเอง วันเวลาผ่านไปกว่า.. 20 ปี ความจำเรื่อง.. พิมพ์พระประธาน(พิมพใหญ่) ของวัดระฆังฯ ก็ยังไม่เสื่อมคลาย.. (ทั้งๆที่ตลอด..20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมี..วาสนา (ของจริง!) ผ่านมือมาเลยก็ตาม แต่..ก็ยังเตรียมพร้อมอยู่เสมอ..)
เริ่มจาก.. ตำหนิ เอกลักษณ์ พระจำพิมพ์ก่อนนะครับ
พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์พระประธาน (พิมพ์ใหญ่) มีตำหนิประจำพิมพ์อยู่ ๑๑ จุด ดังต่อไปนี้ (พร้อมภาพประกอบ)
( ต้องขออภัย!..ที่ต้องใช้ภาพจากหนังสือ มาประกอบบทความนี้ เพราะผมไม่เคยมีองค์จริง! ครอบครองเลย..)
ตำหนิ ที่ ๑ กรอบนอกขององค์พระทั้ง 4ด้าน เป็นกรอบเส้นนูนทั้ง 4ด้าน พระสมเด็จบางองค์มีเนื้อเกินกรอบนูน บางองค์ก็ตัดชิดกรอบนูน จะเห็นชัดเจนจากภาพพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เฉพาะเส้นกรอบแม่พิมพ์ด้านข้างซ้ายมือขององค์พระ จะเป็นเส้นนูนแล่นลงมาถึงระหว่างข้อศอกขององค์พระแล้วจมหายไปกับซุ้มเรือนแก้ว
ตำหนิ ที่ ๒ กรอบแม่พิมพ์ด้านขวาขององค์พระ จะเป็นเส้นนูนแล่นลงมาตลอดและชิดกับซุ้มเรือนแก้วด้านล่างสุด
ตำหนิ ที่ ๓ เส้นซุ้มเรือนแก้วจะเป็นเส้นค่อนข้างใหญ่นูน เป็นลักษณะหวายผ่าซีก ด้านในของเส้นซุ้มเรือนแก้วจะเป็นเส้นตั้งฉากพื้น พื้นองค์พระเส้นซุ้มเรือนแก้วด้านนอกจะเทลาดเอียงเล็กน้อย ความโค้งของซุ้มเรือนแก้วจะเหมือนกันทั้ง 4 พิมพ์ แตกต่างกันเพียงแต่เส้นซุ้มเรือนแก้ว พิมพ์ที่ 1 จะหนากว่าเส้นซุ้มเรือนแก้วของพิมพ์ที่ 2 และเส้นซุ้มเรือนแก้วของพิมพ์ที่ 3 จะหนากว่าเส้นซุ้มเรือนแก้วของพิมพ์ที่ 4 ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ว่าพระพิมพ์ลึกและคมชัดแค่ไหน พระสมเด็จบางองค์สึกลงไปบ้างเส้นซุ้มเรือนแก้วก็จะดูหนามาก
ตำหนิ ที่ ๔ พระพักตร์ จะเป็นลักษณะ เป็นผลมะตูมเหมือนกัน ต่างกันที่อ้วนกว่ากันเท่านั้น
ตำหนิ ที่ ๕ พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ทุกพิมพ์ จะมีหูทั้ง 2 ข้าง แต่ถ้าบางองค์พิมพ์ลึกจะเห็นชัด แต่ศิลปะของวัดระฆังโฆสิตารามพิมพ์ใหญ่คุณโสพัสให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า
“ เห็นหูรำไร อยู่ในที “ ถ้าส่องกล้องดูจะหายไป ต้องส่องกล้องดูทะแยงให้มีเงา จึงจะเห็นหูทั้ง 2 ข้างเป็นลำดับกับลำคอ ในพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามพิมพ์ใหญ่ที่กดลึกไม่เพียงพอก็จะไม่ปรากฏหูให้เห็น
ตำหนิ ที่ ๖ ตรงส่วนโค้งของลำแขนติดกับหัวไหล่ ด้านหัวไหล่ขวาขององค์พระจะมีเนื้อหนาและมีส่วนกว้างกว่าหัวไหล่ด้านซ้ายขององค์พระ
ตำหนิ ที่ ๗ หัวเข่าด้านซ้ายขององค์พระจะนูนสูงกว่าหัวฐานด้านบนสุด
ตำหนิ ที่ ๘ หัวเข่าด้านขวาขององค์พระจะนูนต่ำกว่าหัวฐานด้านบนสุด
ตำหนิ ที่ ๙ ถ้าพินิจพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามพิมพ์ใหญ่ทุกพิมพ์ จะเห็นองค์พระประธาน ท่านหันตะแคงไปทางด้านขวาขององค์พระเล็กน้อย และ ฐานที่ 1 , 2 และ 3 จะหันไปทางซ้ายมือขององค์พระสลับกันกับองค์พระ
ตำหนิ ที่ ๑๐ พื้นระหว่างหัวเข่าขององค์พระกับฐานชั้นที่ 1 และพื้นระหว่างฐานชั้นที่ 2 กับฐานชั้นที่ 3 จะสูงกว่าพื้นใน ระหว่างฐานชั้นที่ 1 กับฐานชั้นที่ 2
พื้นใน ระหว่างฐานชั้นที่ 1 กับฐานชั้นที่ 2 จะสูงเสมอกับ พื้นรอบองค์พระประธาน
ตำหนิ ที่ ๑๑ พื้นนอกซุ้มเรือนแก้วจะต่ำกว่าพื้นในซุ้มเรือนแก้วเล็กน้อย จนดูเกือบไม่ออก ต้องใช้วิธีตะแคงพระดู ถึงจะเห็นความแตกต่างได้
พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) มีแม่พิมพ์ ๔ แม่พิมพ์ ( ๔ บล็อค) คือ..
พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) พิมพ์ที่ ๑
พิมพ์นี้มีน้อยมาก มีพุทธลักษณะ
๑. เศียรพระ และ ส่วนที่แสดงเป็นลำองค์พระ ตลอดจนเส้นแขนและเส้นฐานทุกเส้น จะใหญ่กว่าพิมพ์ที ๒ ที่ ๓ และ ที่๔
๒. วงแขนทั้งสองข้างเกือบจะเป็นเส้นตรงแล่นลงมา(หรือสอบขนานกับองค์พระ)
๓. ระหว่างพระเพลา(ขาตัก) กับฐานด้านบนสุดจะมีเส้นแซม(พิมพ์อื่นไม่มี)
๔. จะมีเส้นสังฆาฏิ แต่ค่อนข้างเล็ก
พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) พิมพ์ที่ ๒
เป็นพิมพ์ที่มีจำนวนมากที่สุด มีพุทธลักษณะ
๑. ระหว่างพระเพลา(ขาตัก) กับวงแขน จะมีเนื้อนูนแสดงเป็นพระเพลา(ขาตัก) อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหัวเข่าวิ่งขึ้นไปชนวงแขนชัดเจนมาก
๒. วงแขนทั้งสองข้างจะกางออกมากกว่าพิมพ์ที่๑
๓. พระเกศจะยาวกว่าพิมพ์ที่๑
๔. ฐานชั้นบนสุดจะยาวกว่าพิมพ์ที่๑
พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) พิมพ์ที่ ๓
พระพิมพ์ที ๓ จะมีตำหนิของพิมพ์อยู่ ๓ แห่งคือ
๑. ลำองค์พระจะเป็นรูปทรงกระบอก(ไม่เป็นรูปตัววี " V " เหมือนพิมพ์อื่น
๒. หัวฐานชั้นที่ ๒ (ฐานสิงห์) จะเป็นเส้นนูนบางกว่าทุกพิมพ์
๓. เส้นลำองค์พระ เส้นวงแขน ตลอดจนเส้นฐาน จะบางและคมชัดกว่าทุกพิมพ์
พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) พิมพ์ที่ ๔
เอกลักษณ์ ตำหนิของพิมพ์ที่ ๔ คือ
๑. พระเกศทะลุซุ้ม
๒. ลำองค์พระเป็นรูปตัววี แต่ส่วนล่างสุดของลำองค์พระจะผายออกเข้าหาวงแขน
๓. เส้นชายจีวรจะวิ่งลงมาหาหัวเข่าอย่างคมชัด
๔. หัวเข่าด้าขวาขององค์พระจะมนกลม และ ลาดเข้าหาวงแขน
๕. หัวฐานสิงห์ด้านซ้าย จะวิ่งหักเข้าหาด้านใน
๖. หัวฐานสิงห์ด้าขวาจะเป็นเส้นนดิ่งลงมา
ธรรมชาติด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่ ) บางส่วน.. แล้วจะทยอยลงภาพมาให้ศึกษากันครับ.
คงใข้เวลานานแน่เลยกว่าจะจำได้หมด