หัวข้อ: ข้อมูลเกี่ยวกับ รูปหล่อหลวงพ่อเงิน (พิมพ์นิยม) เนื่องจากมีการลงถามหน้า ถาม-ตอบกันบ่อยๆครับ
กระทู้ และ ความคิดเห็นต่างๆ
รูปหล่อหลวงพ่อเงิน (พิมพ์นิยม)
รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมวัดบางคลาน ต.บางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตรนั้น เป็นพระหล่อแบบโบราณหรือที่เรียกกันว่าพิมพ์เบ้าทุบโดยมีแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นจากดินขี้วัว และหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมกับทองคำที่ชาวบ้านมีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคใส่ลงไป ในขณะที่กำลังทำพิธีเททองหลอมสร้างรูปหล่อหลวงพ่อกันที่วัด ดังนั้นตามผิวพระนั้นนอกจากจะปรากฏธรรมชาติของความเก่าโดยมีความแห้งจัดตามอายุของการสร้างแล้ว ยังมักจะปรากฏคราบขี้เบ้าที่มีสีดำอมน้ำตาลติดแน่นอยู่กับผิวพระหรือคราบของดินเบ้าติดในบางจุดอีกด้วย(เป็นการพิจารณาพระสภาพเดิมๆ) และอีกทั้งเนื้อพระอาจอาจจะมองเห็นกระแสทองคำเป็นจ้ำๆอยู่ติดในบางจุดซึ่งปนอยู่ในกระแสของเนื้อพระหรือตามผิวของพระก็มี เนื่องจากทองนั้นมีจุดหลอมเหลวในอุณหภูมิที่แตกต่างไม่เท่ากันกับทองเหลือง เนื้อจึงดูไม่ค่อยเข้ากัน และการพิจารณาทางด้านพิมพ์ทรงนั้น ในพิมพ์นิยมจะแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ มีพิมพ์เศียรบาตร หรือพิมพ์เศียรโตซึ่งมีขนาดน้ำหนักหกสลึง และพิมพ์เศียรเล็กมีน้ำหนักห้าสลึงกว่า องค์นี้เป็นพิมพ์นิยมเศียรโต แต่ว่าทั้ง2พิมพ์นั้นก็จะมีลักษณะซึ่งมีจุดพิจารณาพอเป็นข้อสังเขปได้โดยรวมๆดังนี้ หน้าผากจะมีลักษณะโหนกมองดูเหมือนบาตรคว่ำลง ตาดูเว้าลึกเหมือนหมวกแก๊ปมีลักษณะของดวงตาที่กำลังหลับลง และอาจจะเห็นมีเส้นขอบตาเป็นขีดอยู่ข้างล่างตาก็มี ส่วนจมูกนั้นจะเป็นรูปชมพู่ดั้งมักจะยุบดูกลืนหายทำให้เกิดเป็นแอ่งและมีเส้นแตกพิมพ์ที่โคนดั้ง ปากจะมีริมฝีปากแต่เห็นชัดทางทางด้านล่างและพอมองเห็นไรฟันติดรำไร อีกทั้งถ้าสังเกตดูตรงริมมุมปากกับแก้มข้างขวาของรูปหล่อหลวงพ่อจะดูยุบตอบ ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกับรูปถ่ายจริงจะมองเหมือนหลวงพ่อกำลังอมหมากอยู่ตรงมุมปากด้านนี้ ส่วนคางนั้นจะแหลมเป็นสันยื่นออกมาเล็กน้อยโดยมีร่องเน้นแยกกันกับริมฝีปากล่าง คอจะมีซอกที่ลึกมากถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นคอด้วย ส่วนใบหูเหมือนใบหูจริงมีติ่งหูระบายอ่อนๆช้อยลงมาวางประบ่า (พิจารณาทางด้านหลังประกอบ) ส่วนสังฆาฏิเป็นลำหนายกนูนสูงขึ้น โดยมีขอบสันของสังฆาฏิพับเน้นที่ตามริมขอบข้างทั้งสองด้าน และช่วงบนของผ้าสังฆาฏิจะสโลปโค้งลงมาก่อนและคดเล็กน้อยตรงแนวระดับช่วงกลางอกและค่อยๆสอบเล็กลงมา มีมุมเว้าเข้าเป็นแอ่งรูปสามเหลี่ยมตอนปลาย ส่วนของชายด้านล่างของสังฆาฏิจะวางอยู่เหนือบนมือที่ประสานโดยเว้นช่องแยกเพียงเล็กน้อย ส่วนของกลีบจีวรทางด้านขวามือเราจะดูเป็นเส้นพริ้วคล้ายเปลวเพลิงจัดเป็นจีบพริ้วซ้อนๆกันอยู่ไม่เป็นเส้นแข็งทื่อ ส่วนทางด้านซ้ายมือเราเป็นเส้นริ้วจีวรเน้นเป็นร่องลึกทางด้านบน ทำให้เนินอกดูตั้ง และกลีบจีวรจะเป็นเส้นคู่กันทางด้านบนและเป็นเส้นเดี่ยวแยกกันเป็น2-3เส้นในช่วงล่าง การวางวงแขนก็จะอยู่ในท่านั่งแบบสบายคือกางแขนเป็นวงกว้างหักแบ่งออกเป็นช่วงๆ มีข้อศอกอยู่ทางด้านหลังและงอมาเป็นช่วงแขนกับมือ ไหล่ผายออกทางด้านหลังอกยกตั้งนั่งตรงไม่นั่งเกร็งหรือนั่งห่อตัว และมือที่ขัดสมาธิกันตรงนี้จะมีช่องว่างซึ่งมีเส้นแซมเชื่อมต่ออยู่ ส่วนใต้มือที่ประสานกันนั้นก็จะมองเห็นนิ้วชี้ข้างซ้ายที่ติดเป็นเส้นพริ้วลางๆ ต่ำลงมาจะเห็นสันแข้งข้างบนดูใหญ่หนาและพอจะมองเห็นปลายเท้ากับนิ้วเท้า ส่วนแข้งด้านล่างจะเป็นเสันคมเรียวเล็ก มององค์หลวงพ่อท่านจะนั่งลอยองค์คือมีช่องว่างกับฐานเป็นร่องลึกเน้นองค์พระให้ลอยเด่น จึงเรียกกันว่ารูปหล่อลอยองค์ ส่วนทางด้านหลังนั้นจะเห็นว่าไหล่ทางขวาตอนบนจะถูกผ้าจีวรรัดจนเป็นแนวร่อง และก็มีสันไหล่มองเป็นกล้ามเนื้อซึ่งยกเป็นเนินสูงกว่าช่วงคอที่ดูลาดต่ำลงมา ส่วนเศียรหลวงพ่อเป็นรูปแบบเศียรทุย และลองพิจารณากลีบจีวรช่วงล่างทางซ้ายมือเราจะเป็นเส้นแหลมชนเข้าในผ้าสังฆาฏิ และวิ่งเป็นแนวโค้งออกด้านข้างพับเป็นจีบซ้อนๆกันไปทางด้านหน้า ส่วนทางขวามือก็พับเป็นจีบซ้อนๆกันโคนแหลมวิ่งเข้าใต้ขอบของชายผ้าสังฆาฏิเช่นกัน และตรงด้านหลังนี้เองเป็นจุดที่ให้มองเห็นว่าหลวงพ่อท่านนั่งหลังตรงไม่นั่งหลังแอ่น ข้อศอกข้างขวามือที่กางออกจะพอมีช่องว่าง(ไม่นั่งหนีบจีวร) และก็ยังมีช่วงเนินสะโพกพอให้เห็นเป็นสัดส่วนอีกด้วย และต่ำลงมาช่วงล่างสุดจะเห็นหลวงพ่อจะนั่งทับสังฆาฏิก่อนที่ปลายของสังฆาฏิจะพาดโค้งพับวาดไปทางด้านหน้า และที่สำคัญเราควรจะสังเกตรอยตะไบเก่า คือมีลักษณะจะเป็นรอยจางๆไร้ประกายในร่องตะไบ และก็ไร้ทิศทาง คือไม่เป็นรอยที่เป็นเส้นขนานไปในทางเดียวกัน และจะปรากฏอยู่ห่างๆกันไม่อยู่ติดกันเป็นแพ ถ้าติดเป็นแพหรือเป็นร่องลึกมากจนผิดสังเกต ไม่ว่าตรงจุดไหนก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นรอยจากเครื่องเจีย หรือเป็นรอยแทงจากตะไบใหม่ ซึ่งรอยตะไบแต่งพิมพ์ที่ว่านี้ มักจะปรากฏอยู่ตามขอบหรือใต้ล่างของฐาน หรือด้านข้างขององค์พระก็มี (คือด้านข้างจะเกิดขึ้นในบางกรณีที่พิมพ์แตก หรือเกิดจากการแต่งหุ่นเทียนที่ไม่เรียบร้อย ซึ่งอาจเป็นในบางจุดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พบในบางองค์ ) และรวมทั้งการสังเกตุรอยยุบของผิวเนื้อรอบๆแกนเดือย ที่มักจะมีการหดตัวเป็นหน้าตังตามอายุของการสร้าง