พระปิดตาผงน้ำมัน กรุวัดอัมพวา คุณค่าระดับพระสมเด็จ - webpra

ประมูล หมวด:พระกรุ เนื้อดิน - เนื้อผง

พระปิดตาผงน้ำมัน กรุวัดอัมพวา คุณค่าระดับพระสมเด็จ

พระปิดตาผงน้ำมัน กรุวัดอัมพวา คุณค่าระดับพระสมเด็จ พระปิดตาผงน้ำมัน กรุวัดอัมพวา คุณค่าระดับพระสมเด็จ
รายละเอียด
ชื่อพระเครื่อง พระปิดตาผงน้ำมัน กรุวัดอัมพวา คุณค่าระดับพระสมเด็จ
รายละเอียดดูง่าย สบายตา เนื้อหา ผิว เดิมๆ 100% จากกรุเลยครับ จัดจ้านเหมือนพระกรุวัดพลับเลย
สวยงาม น่าศึกษาและสะสมครับ พิธีดี มวลสารสุดยอด ผู้สร้างระดับสมเด็จ พุทธคุณครบถ้วนทุกด้าน ขนาดกำลังสวย สภาพแบบนี้หายากแล้วครับพระกรุนี้


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณราชวราราม นอกจากเป็นมีตำแหน่งหน้าที่ด้านการปกครอง มีสมณศักดิ์สูงถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะแลัว ยังเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาอย่างยิ่ง พระคณาจารย์หลายต่อหลายรูปที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหลายต่อหลายท่านก็เคยได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาทางพุทธาคมจากท่าน ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระครูภาวนาวิจารณ์ (ลืม) วัดอรุณฯ พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณฯ รวมทั้งหลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร ที่มีชื่อเสียงมากในช่วงปี ๒๕๐๐ ก็เป็นศิษย์รุ่นเล็กของท่าน

วิชาที่นับว่ามีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของมวลศิษย์ทั้งหลายของสมเด็จฤทธิ์ คือ วิชาทำตะกรุด ทำผงกลับศัตรูเป็นมิตร เป็นวิชาทางเมตตาชั้นสูงที่เรียนสำเร็จได้ยาก จึงมีศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดไว้ได้ไม่มากนัก หนึ่งในนั้น คือ หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน ผู้สร้างพระปิดตาเนื้อผง และเหรียญรูปเหมือนที่มีค่านิยมถึงหลักล้าน

แต่ก็น่าแปลกที่พระเครื่องในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) กลับมีมูลค่าความนิยมเพียงหลักพัน ถึงหมื่นกว่าๆ เท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นพระเครื่องที่อุดมไปด้วยมวลสารชั้นเยี่ยม แม้จะไม่มีใครเคยจดบันทึกถึงการสร้างพระเครื่องเนื้อผงน้ำมันวัดอัมพวา ว่ามีผงวิเศษและมวลสารสำคัญอะไรบ้าง แต่ก็มั่นใจได้ว่า พระคณาจารย์ยุคนั้นท่านต้องทำอย่างพิถีพิถัน อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีผงวิเศษห้าประการ เช่นเดียวกับ พระพิมพ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง

นอกจากนี้ยังต้องมีผงวิเศษสำคัญ สุดยอดวิชาในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) คือ "ผงกลับศัตรูเป็นมิตร" โดยท่านได้เขียนและลบผงบนกระดานชนวนมาเป็นมวลสารสำคัญ เมื่อได้ผงวิเศษตามต้องการแล้ว ยังต้องหามวลสารอันเป็นมงคลมาบดผสมเข้าไปอีก เช่น เกสรดอกไม้ ตะไคร่เสมา ผงธูป คัมภีร์ใบลานเผา ถ่านไม้มงคล ข้าวสวย ฯลฯ นำมาผสมเข้ากับปูนเปลือกหอย เพื่อเพิ่มปริมาณของเนื้อผงที่จะนำมาทำพระพิมพ์ แล้วจึงใช้น้ำอ้อย กล้วยน้ำไท น้ำปูน เป็นตัวประสานเนื้อ และใส่น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวช่วยให้เนื้อพระมีความยืดหยุ่น นุ่มนวล ไม่ปริแตกง่าย

พระผงน้ำมันวัดอัมพวา มีลักษณะของเนื้อหาใกล้เคียงกับ พระผงกรุวัดสามปลื้ม คือ มีผิวฉ่ำมัน สีอมเหลือง มีการร่อนของผิวพระเป็นจุดๆ คล้ายผิวดวงจันทร์ แต่พระผงน้ำมันวัดอัมพวาจะมีคราบกรุเบาบางกว่า ซึ่งเป็นไปได้ว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ น่าจะได้รับการถ่ายทอดวิธีการสร้างพระเนื้อผงมาจาก "พระธรรมานุกูล" (ด้วง) ผู้สร้างพระผงกรุวัดสามปลื้ม นั่นเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) ได้สร้างพระผงน้ำมันนี้ขณะครองวัดอรุณฯ แล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดอัมพวา เมื่อครั้งที่ท่านได้ไปบูรณะวัดนี้ราวปี ๒๔๕๐ เนื่องจากท่านเกิดและเติบโตบริเวณวัดอัมพวา ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพใกล้เป็นวัดร้างเต็มที

นอกจากนี้ท่านเจ้าประคุณยังได้นำชุดนี้ไปบรรจุกรุอีกหลายวัด ย่านบ้านช่างหล่อ พรานนก ซึ่งเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับท่านเจ้าประคุณทั้งสิ้น เช่น วัดนาคกลาง วัดดงมูลเหล็ก รวมทั้งที่กรุเจดีย์เล็กวัดอรุณฯ ซึ่งถูกขโมยเจาะเจดีย์เพื่อล้วงเอาพระมาแล้วครั้งหนึ่ง ในคืนฝนตกเมื่อปี ๒๕๐๓

แต่พระชุดนี้ชาวบ้านและวงการพระเครื่องเรียกกันจนคุ้นหูว่า พระผงน้ำมันวัดอัมพวา เนื่องจากมีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่วัดนี้ เมื่อปี ๒๔๘๔ คราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยพระครูแป้น รชโฏ เจ้าอาวาสวัดอัมพวา ครั้งนั้นได้นำพระออกมาแจกเพื่อบำรุงขวัญทั้งทหาร ตำรวจ และชาวบ้านในย่านนั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของทหารญี่ปุ่น เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน ว่ากันว่า คนที่มีพระผงน้ำมันวัดอัมพวา รอดตายจากเหตุการณ์สงครามครั้งนั้นทุกคน (วัดอัมพวา ตั้งอยู่ที่ถนนอิสรภาพ ใกล้สี่แยกพรานนก บางกอกน้อย ธนบุรี)

การแตกกรุครั้งที่ ๒ เนื่องจากเจดีย์ที่บรรจุพระผงน้ำมันเกิดหักโค่นลงมา จึงมีพระเครื่องไหลออกมาจำนวนมาก มีพระบางส่วนชำรุดแตกหัก ทางวัดจึงนำพระที่แตกหักเหล่านั้นมาบด แล้วกดพิมพ์ขึ้นใหม่ พร้อมกับจัดพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ พระเครื่องที่สร้างขึ้นนี้ได้ออกให้ทำบุญเพื่อบูรณะเสนาสนะและเจดีย์ในวัด พระส่วนที่เหลือได้นำเข้าบรรจุเจดีย์ทดแทนของเก่า

พระผงน้ำมันวัดอัมพวา แม้จะมีพิมพ์ทรงหลากหลายกว่า ๑๐ พิมพ์ แต่ก็เล่นง่ายศึกษาง่าย โดยเฉพาะด้านหลังองค์พระ นอกจากหลุมบ่อแบบผิวดวงจันทร์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลายนิ้วมือ รอยราน และสีดำคล้ายหมึกจีน ที่ฝังแน่นอยู่ตามร่องรอยแตกราน ซึ่งปรากฏให้เห็นทุกองค์ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป พระบางองค์มีการทาชาดปิดทองมาแต่เดิม งดงามมาก ทั้งคราบกรุบางๆ ก็ช่วยให้พิจารณาความเก่าได้ง่ายขึ้น

พุทธคุณของพระผงน้ำมันวัดอัมพวา นับว่าดีเด่นเหลือคณานับ โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดจากภยันตราย กลับร้ายกลายเป็นดี กลับศัตรูให้กลายเป็นมิตร เป็นที่ยกย่องนับถือของคนยุคเก่าก่อนมาแสนนาน แม้แต่ "อาจารย์เซีย บุษปบุตร" นักนิยมพระเครื่องระดับอาวุโสผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ยังเคยเช่าบูชาพระผงน้ำมันวัดอัมพวา ถึงองค์ละ ๘๐ บาท และเช่าตะกรุดกลับศัตรูเป็นมิตร ซึ่งทำจากทองคำ ของยายเมี้ยน หมอตำแย ผู้ได้รับมอบตะกรุดมาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงดอกละ ๕๐๐ บาท เมื่อปี ๒๕๐๕ ในขณะที่ราคาซื้อขายทองคำเพียงบาทละ ๓๘๐ บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ยังเล่าลือกันว่า เจ้าสัวคนหนึ่ง นับจากข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากในเมืองไทย มีเพียงพระผงน้ำมันวัดอัมพวาติดตัวอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น ท่านได้พึ่งพาพระพุทธคุณมาตลอด จนกระทั่งตั้งตัวได้ กลายเป็นมหาเศรษฐี เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดังมูลค่าหลายพันล้าน และมีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทยในปัจจุบัน

สังเขปประวัติ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธัมมศิริ) เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๘๐ ศึกษาอ่านเขียนกับพระมหาพลาย เปรียญ ๔ ประโยค วัดนาคกลาง ตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่วัดราชบูรณะ โดยเรียนในสำนักพระมหาเกษ เปรียญ ๔ ประโยค

อายุ ๑๔ ปีเข้าสอบพระปริยัติธรรม สนามหลวง ณ วัดพระเชตุพน แปลได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ได้รับพระราชทานเงิน ๑ ชั่งจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งยังมีพระราชดำรัสชมว่า “เด็กขนาดนี้กำลังจับเป็ดจับไก่ แต่สามเณรฤทธิ์ แปลหนังสือได้เป็น เปรียญนับว่าดีมาก”

พ.ศ.๒๔๐๐ เมื่ออายุ ๒๑ ปี อุปสมบท ณ วัดราชบูรณะ สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ครั้งยังเป็น พระธรรมวโรดม วัดราชบูรณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมรโมลี (นพ) วัดบุปผาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูทักษิณคณิศร (เสม) วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทได้ ๗ พรรษา ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้ง ได้อีก ๒ ประโยค เป็น เปรียญ ๕ ประโยค ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี โปรดให้ครองวัดบพิตรภิมุข (วัดเชิงเลน)

พ.ศ.๒๔๒๒ โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระโพธิวงศาจารย์" พ.ศ.๒๔๒๘ โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมไตรโลกาจารย์" พ.ศ.๒๔๓๗ โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะรองที่ "พระธรรมวโรดม" พ.ศ.๒๔๔๑ โปรดให้ย้ายไปครองวัดอรุณราชวราราม และให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" พ.ศ.๒๔๔๘ ทรงโปรดให้สถาปนาสูงขึ้นเป็น "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์"

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธัมมศิริ) มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๕๖ สิริอายุ ๗๖ ปี พรรษา ๕๕
ราคาเปิดประมูล2,000 บาท
ราคาปัจจุบัน7,500 บาท (ถึงราคาขั้นต่ำ)
เพิ่มขึ้นครั้งละ100 บาท
วันเปิดประมูลอา. - 02 เม.ย. 2560 - 07:14.26
วันปิดประมูล อา. - 09 เม.ย. 2560 - 15:19.26 ปิดประมูล
ผู้ตั้งประมูล
แชร์หน้านี้
รายละเอียดราคาประมูล
ราคาปัจจุบัน 7,500 บาท (ถึงราคาขั้นต่ำ)
เพิ่มครั้งละ100 บาท
การประมูลพระเครื่องนี้ ถูกปิดโดยระบบแล้ว
เคาะประมูล
กรุณาทำการ เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการประมูลใดๆ
รายละเอียดผู้เสนอราคา
ผู้เสนอราคา ราคา เวลา
2,100 บาท ส. - 08 เม.ย. 2560 - 15:18.44
3,800 บาท ส. - 08 เม.ย. 2560 - 15:19.00
5,500 บาท ส. - 08 เม.ย. 2560 - 15:19.16
7,500 บาท (ถึงราคาขั้นต่ำ) ส. - 08 เม.ย. 2560 - 15:19.26
กำลังโหลด...
Top