พระชินวงศาจารย์ (อุดม ขนฺติพโล) วัดป่าเวฬุวัน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
บทความพระเครื่อง เขียนโดย dragon_king
พระชินวงศาจารย์ ( อุดม ขนฺติพโล ) วัดป่าเวฬุวัน เจ้าคณะอำเภอปักธงชัย(ธ) อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
ชาติภูมิ
หลวงตาอุดม หรือที่รู้จักในคณะลูกศิษย์ว่า“หลวงตาชิน”มีนามเดิมว่า อุดม เขตเจริญ ถือกำเนิดเมื่อ 21 กันยายน 2472 ตรงกับวันเสาร์ แรม 3ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง ที่บ้านท่าสองคอน หมู่ที่ 8 ตำบลท่าดินแดง อำเภอแซงบาดาล (ปัจจุบันคือบ้านธวัชดินแดง อำเภอธวัชบุรี) จังหวัดร้อยเอ็ด โยมบิดาชื่อ พึ่ง โยมมารดาชื่อ คำผัน หลวงตามีพี่น้องร่วมมารดา 5 คน ท่านเป็นบุตรคนโต ชีวิตประถมวัย เนื่องจากครอบครัวของท่านมีอาชีพทำนา ทำสวน การดำเนินชีวิตก็เหมือนชาวนาทั่วไป ชีวิตจึงมีความผูกพันกับท้องทุ่ง ไร่นา ขณะที่ท่านอายุได้ 4 ขวบบิดาได้นำไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดใกล้บ้าน กับพระอาจารย์วิสุทธิ์ วิสุทฺโธ (ต่อมาได้รับสมศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าสุวารีวิหาร และรองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี) ผู้เป็นหลวงลุง เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะการศึกษาสมัยนั้นต้องเรียนในวัดโดยมีพระครูเป็นผู้สอน และ เพื่อให้ท่านได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา และได้ซึมซับรับเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจ เมื่อท่านมาเป็นลูกศิษย์วัดแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ เพราะเด็กที่จะเข้าเรียนประถมศึกษาได้ต้องมีอายุ 7 ขวบ ดังนั้นท่านได้ใช้เวลาในช่วงนี้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ก่อน โดยการเรียนต้องอาศัยการท่องจำและการเขียนตามคำบอกโดยเรียนหนังสือในตอนกลางวัน ตกเย็นต้องคอยรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ซึ่งครูบาอาจารย์ก็จะอบรมสอนธรรมะและเล่านิทานชาดกให้ฟังโดยตลอด จึงทำให้ท่านได้รับการอบรมทั้งความรู้และคุณธรรมไปพร้อมกัน. ปี พ.ศ. 2478 ขณะที่ท่านอายุได้ 6 ขวบ พระอาจารย์ของท่านได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามป่าเขาในเขตภาคอีสาน ท่านได้จึงได้ติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรบางครั้งก็เข้าไปศึกษาในสำนักปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ต่างๆ โดยท่านได้อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน และได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับสามเณรด้วย กระทั่งสำนักสุดท้ายที่ท่านออกธุดงค์ครั้งนั้นคือ ได้ไปปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ถ้ำค้อ จังหวัดสกลนคร ปี พ.ศ. 2479 ได้ติตามพระอาจารย์ไปกรุงเทพเพื่อกราบพระอมราภิรักขิต ซึ่งเป็นอุปัชฌายะของพระอาจารย์ที่วัดบรมนิวาส ได้เข้าพักที่กุฏิเสงี่ยม คณะ 3 โดยในปีนั้นพระอาจารย์ท่านได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาสนั้นเอง ในระหว่างพรรษาได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย โดยกองกำลังของฝ่ายตรงข้ามได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น คลังอาวุธ อาคารกองบัญชาการ ถนนหนทาง สะพาน สถานีรถไฟเป็นต้น ซึ่งวัดบรมนิวาสอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพง และเป็นทางผ่านของรางรถไฟจึงทำให้ไม่ปลอดภัย พอออกพรรษาแล้วพระอาจารย์ของท่านเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่สงบหากอยู่ต่อไปจะมีอันตรายแก่ชีวิตได้ จึงกราบลาพระอุปัชฌายะกลับไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด
การศึกษา ปีพุทธศักราช 2480 ขณะที่ท่านอายุได้ 8 ขวบพระอาจารย์ของท่านปรารถนาจะให้ท่านเรียนหนังสืออย่างสมัยนิยมจึงได้นำท่านไปฝากเรียนที่โรงเรียนประชาบาลบ้านโคกกรุง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพราะความที่ท่านเคยศึกษาเล่าเรียนหัดอ่านหัดเขียนมาแล้วกับครูบาอาจารย์ในช่วงที่เป็นศิษย์วัด ดังนั้น พอเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้เพียงครึ่งปี ทางโรงเรียนได้สอบวัดผลปรากฏว่าท่านสอบได้ 80 เปอร์เซ็นต์ จึงให้ท่านได้เลื่อนขึ้นไปชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ปีพุทธศักราช 2481 เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พอถึงกลางภาคสอบวัดผล ก็ปรากฏว่าท่านสอบได้คะแนนสูงสุดของชั้นเรียน 92 เปอร์เซ็นต์ ครูใหญ่จึงให้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงนับได้ว่าท่านใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาพื้นฐานในสมัยนั้นขณะที่อายุเพียง 10 ขวบ พอจบการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลแล้ว ท่านต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา เพราะความที่ทางบ้านยากจน ถึงแม้ท่านจะเรียนดีและมีความพยายามที่จะศึกษาต่อก็ตาม กระทั่งปีพุทธศักราช 2485 ขณะที่ท่านอายุได้ 13 ปี บิดามารดาของท่านได้เห็นความตั้งใจเรียนรู้ของท่านและเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะคนในสมัยนั้นคนที่เรียนจบมัธยมศึกษาก็สามารถเข้ารับราชการเป็นครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจได้ หรือคนที่จบนักธรรมตรี โท เอก ก็สามารถเข้ารับราชการเป็นครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ หรือเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ ดังนั้น บิดามารดาของท่านจึงได้นำฝากไปเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาชั้นต้น ที่โรงเรียนสุวรรณวิทยา อำเภอธวัชบุรี และเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนโพนทองวิทยา อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด จนกระทั่งจบมัธยมศึกษาตอนปลายในปีพุทธศักราช 2491 ชีวิตการทำงาน หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ท่านได้ทำงานช่วยครอบครัว และรับจ้างทั่วไป กระทั่งปีพุทธศักราช 2494 ท่านได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริการประชาชนด้านสาธารณสุข ในองค์การอนามัยโลก ( WHO ) สาขาโรคติดต่อ ที่จังหวัดขอนแก่น ทำงานที่องค์การอนามัยโลก ได้ 5 ปี จนถึงพุทธศักราช 2499 ท่านเห็นว่าหน้าที่การงานไม่มั่นคง ถึงแม้เงินเดือนจะสูงก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงลูกจ้างขององค์การต่างชาติเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านจึงได้ลาออกจากงาน หลังจากนั้นจึงไปสมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประจำแผนกคลังจังหวัดหนองคาย ปรากฏว่าท่านสอบได้ในลำดับที่ 13 จากผู้เข้าสอบหลายร้อยคน ท่านจึงได้บรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่นั้น
โรคนัยน์ตา ปีพุทธศักราช 2501 หลังจากเข้าทำงานที่คลังจังหวัดหนองคายได้เพียง 2 ปี ท่านมีอาการตาพร่ามัว จึงเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย โดยหมอวินิจฉัยว่าระบบประสาทตาเสื่อมในขั้นรุนแรง ทางโรงพยาบาลประจำจังหวัดหนองคายไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยพอที่รักษาได้ จึงแนะนำให้ท่านเข้ารักษาที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจึงขอลาพักราชการเพื่อรักษาโรค โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แต่อาการกลับไม่ดีขึ้น ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่สะดวก ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจลาออกราชการเพื่อรักษาตัว
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลังจากออกจากราชการแล้ว ท่านจึงกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงนี้ท่านได้อาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงชีวิต ได้พิจารณาถึงธรรมที่เคยศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์ และเห็นสัจธรรมมีความทุกข์อันเกิดจาก ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น จึงทำให้ใจน้อมนำไปบรรพชามีความปรารถนาที่จะบวช เมื่อพิจารณาถึงอาการป่วยด้วยโรคประสาทของท่านแล้วเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเป็นเพียงแต่มีอาการปวดบ้างบางครั้งเท่านั้น ท่านได้ขอบวชกับพระครูวิสุทธิธรรมคุณ พระอาจารย์ โดยได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมิ่งเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2501 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอโดยมีพระราชสิทธาจารย์ (เฮือง ปภสฺสโร) เป็นพระอุปัชฌายะ พระใบฎีกาสมศักดิ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาเนาว์ นวโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ขนฺติพโล” แปลว่า ผู้มีกำลังคือความอดทน
การศึกษาพระธรรมวินัย เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าสุวารีวิหารกับพระอาจารย์ ไดรับการอบรมจาพระอาจารย์พร้อมกับการศึกษาปริยัติธรรมควบคู่กันโดยสามารถสอบไล่ได้ดังนี้ พ.ศ. 2501 สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ. 2502 สอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2503 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ถึงแม้จะจบนักธรรมชั้นเอกแล้ว ท่านก็ยังต้องศึกษาพระธรรมวินัยข้อวัตรปฏิบัติในสำนักของพระอาจารย์ นอกจากนั้นยังได้ช่วยแบ่งเบาภาระของพระอาจารย์ในการอบรมสั่งสอนพระเณรอุบาสกอุบาสิกาแทนด้วย
เข้าศึกษาอบรมในสำนักครูบาอาจารย์ หลังออกพรรษา พ.ศ. 2505 ขณะที่ท่านบวชได้ 5 พรรษา ซึ่งถือว่าพ้นนิสัยแล้ว เพราะได้รับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติจากครูอาจารย์เป็นเวลา 5 ปี ท่านเห็นว่าหากอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานจะทำให้เกิดพลิโพธ คือความห่วงกังวลอาลัยอาวรณ์ ทำให้การศึกษาและปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ท่านจึงได้กราบลาพระอาจารย์เพื่ออกธุดงค์และปฏิบัติตามอย่างปฏิทาครูบาอาจารย์โดยได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ดเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจึงได้กราบลาหลวงปู่ศรี มหาวีโร ออกเดินทางจากร้อยเอ็ดไปวัดถ้ำขาม จ.สกลนครเพื่อกราบและพักปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ขณะอยู่ที่ถ้ำขาม หากเกิดความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม ก็ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่ฝั้นตอบข้อสงสัยอธิบายธรรมปฏิบัติจนแจ่มแจ้ง ทำให้มีกำลังใจและความอุตสาหะในการปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก หลังจากพักปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำขาม เป็นเวลา 1 เดือนแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่ฝั้น เพื่อเดินทางไปที่จังหวัดหนองคายโดยพักที่วัดป่าอรุณรังสี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้จำพรรษาที่วัดป่าอรุณรังสี เป็นเวลา 1 พรรษา
ธุดงค์วิเวกข้ามฝั่งลาว หลังออกพรรษา รับกฐินแล้วท่านได้ธุดงค์ไปฝั่งลาวโดยข้ามทางจังหวัดหนองคาย ไปพักที่ชานเมืองนอกเมืองเวียงจันทร์ รุ่งขึ้นได้ไปนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างใหญ่โตมากในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชพระเจ้าแผ่นดินผู้สร้างเวียงจันทร์ พักปฏิบัติธรรมที่เมืองเวียงจันทร์พอสมควรแล้ว จึงได้มุ่งหน้าต่อไปยังหลวงพระบาง ระหว่างทางจากเวียงจันทร์ไปหลวงพระบางนั้น ได้อบรมข้อวัตรปฏิบัติและสงเคราะห์ญาติโยมตลอดทาง บางหมู่บ้านพอเห็นพระธุดงค์ผ่านมา บางพวกก็รีบขวนขวายรับบริขารต่างๆ จัดแจงที่พักอาศัยทำเป็นกระต๊อบบ้าง ทำเป็นแคร่ยกพื้นบ้าง พอตกเย็นทั้งคนหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะมาไหว้พระสมาทานศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม อบรมธรรมปฏิบัติ ใช้เวลา 3 เดือนจึงลุถึงหลวงพระบาง
กราบนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย เมื่อถึงหลวงพระบางแล้วได้พักปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆ ที่อยู่รอบๆ หลวงพระบาง จวนกระทั่งจะเข้าพรรษา จึงได้กลับมาฝั่งไทยโดยได้เดินทางไปยังวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี(ปัจจุบัจอยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู) เพื่อกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย ศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้พักปฏิบัติธรรมและเข้ารับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่ขาว เป็นเวลา 1 เดือนจึงได้กราบนมัสการลาหลวงปู่เพื่อเดินทางต่อไปยังเขาใหญ่ ในพรรษาปีพุทธศักราช 2507 ได้จำพรรษาที่ถ้ำสะพานหิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีเขตติดต่ออับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความสงบ ร่มรื่น และอากาศสดชื่นตลอดปี นับเป็นความสัปปายะของสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญจิตภาวนาอย่างมาก ในพรรษานั้นจึงได้ทำความเพียรอบรมสมาธิภาวนาและพิจารณาหลักธรรมต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมมา ทำให้มีกำลังใจและอิ่มเอิบในธรรม
รับภาระเป็นเจ้าอาวาส พอออกพรรษาแล้ว ท่านได้ออกเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ทางเจ้าหน้าที่อนุญาตให้พักได้ชั่วคราวเท่านั้นทำให้ต้องเดินทางไปมาระหว่างที่พักสงฆ์และเขาใหญ่เป็นประจำกระทั่งถึงวันวิสาขบูชา ท่านได้เดินทางไปร่วมประชุมอุโบสถที่วัดเขาไทรสายัณห์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวัดนี้มีท่านจ้าคุณ พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร มาสร้างให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม และมีอุบาสิกาเล็ก ล่ำชำ เป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัด หลังจากฟังพระปาติโมกข์เสร็จแล้วได้เข้าไปกราบท่านเจ้าคุณ และท่านเจ้าคุณได้ไต่ถามถึงบ้านเกิดและพระอุปัชฌายะ ทำให้ได้ทราบว่าท่านเป็นสัทธิวิหาริกของพระราชสิทธาจารย์ ซึ่งท่านเจ้าคุณทั้งสองต่างก็เป็นสหธรรมมิกกันโดยต่างก็บวช ในพระอุปัชฌายะองค์เดียวกัน คือ พระปัญญาพิศาลเถร(หนู) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อทราบดังนั้น ท่านเจ้าคุณจึงชักชวนให้มาช่วยดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ถึงแม้จะพยายามบ่ายเบี่ยงแต่ท่านเจ้าคุณขอร้องให้ช่วยดูแลสัก 3 พรรษา จึงได้ตอบตกลงท่าน รับเป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ 3 ปีที่วัดเขาไทรสายัณห์ หลังจากตอบตกลงรับเป็นผู้ดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ ในปีพุทธศักราช 2508 เพื่อเป็นการสนองพระคุณของท่านเจ้าคุณพระราชมุนี จึงได้เริ่มต้นพัฒนาวัด คือ
ลุถึงปีพุทธศักราช 2511 ได้เกิดอธิกรณ์ขึ้นภายในวัดตัวท่านเองเกรงว่าหากเหตุการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ จะทำให้เรื่องราวลุกลามยิ่งขึ้น อันจะเกิดความเสื่อมเสียแก่วัด และได้พิจารณาถึงการที่ท่านเจ้าคุณได้ขอร้องให้มาช่วยดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ 3 พรรษา บัดนี้ครบกำหนดที่รับปากไว้พอดี ดังนั้นท่านจึงได้ออกจากวัดเขาไทรสายัณห์ มุ่งสู่ปักธงชัย เมื่อออกจากวัดเขาไทรสายัณห์แล้ว ท่านพร้อมด้วยคณะมีพระเณร 8 รูป และ แม่ชี 5 คน ได้เดินทางมาตามเชิงเทือกเขาใหญ่ย้อนขึ้นมาอำเภอปักธงชัย โดยปักกลดนั่งพักชั่วคราวอยู่ที่ป่าไผ่กุดกว้าง ห่างจากอำเภอปักธงชัยประมาณ 3 กิโลเมตร ขณะนั้นความจริงเกี่ยวกับวัดไทรสายัณห์ปรากฏขึ้น ความได้ทราบถึงท่านเจ้าคุณ พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) เจ้าคณะภาค 11 วัดสุทธจินดา ท่านจึงมีคำสั่งให้เข้าพบและถามข้อเท็จจริง จึงได้กราบเรียนเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ ท่านจึงเมตตาแนะนำให้เลือกวัดที่สะดวกพอจะพักอาศัย คือ วัดป่าสาละวัน วัดป่าศรัทธารวม หรือวัดศาลาลอย จึงกราบเรียนว่า วัดทั้งสามอยู่ในตัวเมือง ในอนาคตจะเป็นชุมชนใหญ่มีแต่ความวุ่นวายหาความสงบได้ยาก จึงขอกลับไปตำพรรษาที่ปักธงชัยตามเดิม
ประวัติวัดป่าเวฬุวัน วัดป่าเวฬุวัน เดิมเป็นป่าไผ่ริมฝั่งน้ำกุดกว้าง บ้านดู่ หมู่ที่๖ ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม (ต่อมาเป็น พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์) ศิษย์รุ่นแรกหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้นำคณะศิษย์เดินทางมาจากเขาตะกรุดรัง ตำบลสะแกราช มาพักที่ป่าไผ่แห่งนี้เพื่อแสดงธรรมโปรดชาวอำเภอปักธงชัย เจ้าของป่าไผ่แห่งนี้เกิดศรัทธาเลื่อมใสจึงสร้างถวายเพื่อเป็นที่พักสงฆ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างกระท่อมเพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระเณรจำนวนหลายสิบหลัง ตกเย็นชาวบ้านไผ่ บ้านดู่ และบ้านใกล้เคียงในอำเภอปักธงชัย ได้มารวมกันเพื่อฟังการอบรมและปฏิบัติธรรมครั้งหลวงปู่สิงห์ เดินทางกลับวัดป่าสาละวัน ท่านก็ได้มอบหมายให้พระส่วนหนึ่งอยู่ประจำเพื่ออบรมสั่งสอนประชาชน
ในปีต่อมา พุทธศักราช ๒๔๗๙ หลวงปู่สิงห์ได้นำคณะกองทัพธรรมหลวงปู่มั่น ซึ่งมีครูบาอาจารย์หลายรูปร่วมคณะมาด้วย เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ หลวปู่ลี ธมฺมธโร เป็นต้น เดินทางมาโปรดญาติโยมชาวอำเภอปักธงชัย เป็นครั้งที่ สอง โดยได้พักที่วัดป่าเวฬุวันประมาณเดือนเศษ เพื่อเทศนาอบรมกรรมฐานให้แก่ลูกศิษย์ผู้ติดตามและชาวบ้านที่มารับการอบรมในตอนค่ำคืนแทบทุกวัน
หลังจากนั้น ก็มีครูบาอาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันมาพักอาศัยแต่ไม่ค่อยแน่นอน ทำให้เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ แตะมีพระประจำอยู่ได้นานเกือบ ๕ ปี คือ พระอาจารย์จันตา (มรณภาพแล้ว) ต่อมาระหว่างปี พุทธศักราช ๒๔๙๘ - ๒๔๙๙ มีพระอาจารย์สำราญ ทนฺตจิตฺโต (วิริยานุภาพ) ได้มาจำพรรษาอยู่ ๓ ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่วัดป่าจักราช อำเภอจักราช ส่วนพระที่อยู่ดูแลป่าไผ่ตรงนี้บางปีกไปนิมนต์มาจากวัดป่าสาละวัน บางปีก็นิมนต์มาจากวัดศาลาทอง มาจำพรรษา
การพัฒนาวัดป่าเวฬุวัน คณะของหลวงพ่อเดินทางมาถึงวัดป่าเวฬุวัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 โดยวันแรกได้เกิดนิมิตปรากฏว่าตรงนี้เป็นที่อยู่ของคนโบราณมาก่อน จึงได้สอบถามชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าที่แห่งนี้มีบูรพาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาวางรากฐานการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นเป็นแห่งแรกของอำเภอปักธงชัย ทำให้เกิดปีติในใจว่าควรที่จะทำนุบำรุงที่แห่งนี้ต่อไป เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ ในระยะแรก มีความเป็นอยู่ลำบาก การคมนาคมไม่สะดวกอาศัยความสงบของสถานที่จึงทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นในส่วนการปกครองนั้น ความได้ทราบถึงท่านเจ้าคุณพระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) เจ้าคณะภาค 11 วัดสุทธจินดา ว่าพระอุดม ขนฺติพโล พักจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ป่าไผ่ บ้านดู่ ท่านจึงมอบหมายให้พระครูสุนทรธรรมโกศล ( โกศล สิรินฺธโร ปัจจุบันเป็นพระธรรมโสภณ) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมาออกคำสั่งแต่งตั้งรักษาการหัวหน้าสำนักสงฆ์ป่าไผ่ (กุดกว้าง) ดังนั้น ท่านจึงได้ดำเนินการขอตั้งวัด โดยตั้งชื่อวัดป่าไผ่แห่งนี้ว่า วัดป่าเวฬุวัน และขออนุญาตเขตวิสุงคามสีมาตามระเบียบของทางราชการและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ในด้านการก่อสร้าง ได้ดำเนินการดังนี้ ในปีพุทธศักราช 2513 ได้นำคณะศรัทธาสร้างพระสังกัจจายน์ขนาด 6 ศอกเศษ โดยสร้างไว้ใจกลางของวัด ใช้ทุนสร้างจำนวน 5,000 บาท และได้ทำพิธีพุทธาภิเษกในวันมาฆะบูชา พุทธศักราช 2514 โดยมีพระเถระได้เมตตาในพิธี 9 รูป คือ
ปีพุทธศักราช 2515 ได้รับอนุญาตวิสุงคามสีมาแล้วจึงนำหนังสืออนุญาตไปกราบเรียนต่อท่านเจ้าคุณ พระธรรมบัณฑิต และกราบเรียนท่านว่าจะสร้างโบสถ์ โดยขณะนั้นมีทุนก่อสร้างเพียง 2,000 บาทเท่านั้น หลังจากนั้นไปปรึกษาหารือกับชาวบ้านในละแวกนั้น ญาติโยมทั้งหลายก็เห็นดีด้วย จึงเริ่มดำเนินการปรับปรุงสถานที่ วันมาฆะบูชา ปีพุทธศักราช 2518 ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถโดยมีหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นประธาน รวบรวมทุนทรัพย์ได้ 14,000 บาท และได้ลงมือก่อสร้างในสมัยนั้นราคาอุปกรณ์ก่อสร้างยังไม่แพง ปูนซีเมนต์ถุงละ 18 บาท อิฐเผา 100 ก้อนราคา 15 บาท แบะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านถวายปัจจัยสมทบก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง ค่าแรงสำหรับจ่ายช่างเป็นส่วนน้อยเพราะอาศัยกำลังของพระสงฆ์สามเณรและนายช่างซึ่งเป็นลูกหลานจากจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นหลัก เดือนกันยายน พุทธศักราช 2517 พลเอก กฤษณ์ ศรีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกได้มาประกอบพิธีหล่อพระประธานที่วัดป่าเวฬุวัน พร้อมด้วย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อหล่อพระประธานเสร็จแล้ว ได้กราบทูลขอประทานนามพระประธานจากเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระสังฆราชได้ประทานพระนามว่า “พระสัมพุทธชัยมงคลสุวิมลอนันตญาณ” ปีพุทธศักราช 2518 การสร้างพระอุโบสถจึงแล้วเสร็จรวมระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี สิ้นค่าก่อสร้าง 280,000 บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) วัดต่างๆ ได้ทราบข่าวการก่อโบสถ์แบบประหยัด จึงขอร้องให้ออกแบบตลอดถึงให้คำปรึกษาในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จจำนวนหลายวัดด้วยกัน เช่น วัดมะค่า ตำบลสำโรง อำเภอปักธงชัย วัดนาแค ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย และช่วยออกแบบศาลาการเปรียญ เช่น วัดบ้านบึงพระ ตำบลท่าลาดขาว อำเภอโชคชัย วัดบ้านนาใหญ่ ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน เป็นต้น
เดือนเมษายน พุทธศักราช 2520 ได้จัดงานวันสงกรานต์เฉลิมฉลองอุโบสถ โดยอาราธนาพระเกจิอาจารย์มานั่งแผ่เมตตาพุทธาภิเษกพระประธานในอุโบสถ จำนวนหลายรูป เช่น
ซึ่งมีพระครูสุนทรธรรมโกศล (วิจิตร จิตฺตทนฺโต ต่อมาเป็นพระราชวรญาณ ) วัดศาลาลอย เจ้าคณะอำเภอเมือง เป็นผู้ดำเนินการ และคณะสงฆ์ จังหวัดนครราชสีมาได้ช่วยงาน 7 วัน 7 คืน จนแล้วเสร็จ รวบรวมทุนทรัพย์นำฝากธนาคารในนามวัดป่าเวฬุวันเป็นจำนวน 221,519 บาท (สองแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสิบเก้าบาท) และได้แบ่งทุนดังกล่าวนำไปใช้หนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอุโบสถ จำนวนหนึ่งนำไปสร้างรั้วล้อมบริเวณวัดขนาด 15 ไร่ และอีกส่วนหนึ่งนำไปเก็บไว้เป็นกองทุนของวัดจำนวน 80,000 บาท (แปดหมื่นบาท) ปีพุทธศักราช 2533 ได้รื้อถอนศาลาหลังเก่า และดำเนินการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้นในพื้นที่เดิม ซึ่งมีลักษณะทรงไทยประยุกต์ คอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สิ้นค่าก่อสร้าง 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) โดยใช้เงินจากกองทุนวัดที่ฝากไว้และได้รับศรัทธาจากญาติโยมสมทบด้วยอีกส่วนหนึ่ง แล้วเสร็จในปี 2536 และตั้งชื่อศาลาหลังใหม่ว่า “ศาลาอุดมธรรม” ปีพุทธศักราช 2544 หลวงพ่อได้พิจารณาถึงพระสังกัจจายน์ซึ่งถือว่าเป็นพระคู่วัด เพราะได้สร้างไว้ในขณะที่หลวงพ่อมาอยู่วัดป่าเวฬุวันใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2513 องค์พระตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีเครื่องมุงบัง บัดนี้ล่วงเวลา 30 ปีเศษแล้วที่โดนแดดโดนฝน จึงได้ดำเนินการสร้างวิหารพระสังกัจจายน์ ลักษณะทรงไทยตรีมุขคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้ทุนของวัดที่สมทบจากกฐิน และงานเทศน์มหาชาติตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา สิ้นค่าก่อสร้าง 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) เสร็จแล้วได้สมโภชน์องค์พระและวิหารในวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช 2546 และตั้งชื่อวิหารพระสังกัจจายน์ว่า “อุดมวิหาร”
รับภาระในด้านการปกครอง เมื่อหลวงพ่อมาอยู่ที่วัดป่าเวฬุวัน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2511 ท่านได้รับภาระหน้าที่ทางการปกครองสนองงานคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ ดังนี้ พ.ศ. 2512 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสแทนเจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน พ.ศ. 2521 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลเมืองปัก (ธ) พ.ศ. 2527 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอปักธงชัย (ธ) พ.ศ. 2531 ได้เข้าสอบซ้อมเป็นพระอุปัชฌาย์
สมณศักดิ์ พ.ศ. 2515 เป็นฐานานุกรม พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชโล) ที่ “พระครูสังฆรักษ์” พ.ศ. 2521 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ “พระครูอุดมคัมภีรญาณ” (จร.ชท.วิ) พ.ศ. 2534 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท ในนามเดิม พ.ศ. 2538 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ในนามเดิม พ.ศ. 2546 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระชินวงศาจารย์” (สย.)
มรณะนิมิต ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2546 หลวงพ่อได้นิมิตว่าท่านได้มรณภาพลง คณะศิษย์ได้นำร่างไร้วิญาณขึ้นสู่เมรุเพื่อทำการฌาปนกิจ ขณะที่กำลังนำร่างขึ้นสู่เชิงตะกอนนั้น ปรากฏว่าวิญาณได้กลับเข้าสู่ร่าง ท่านจึงได้ชูมือขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้สัญญาณว่าฟื้นแล้ว ทำให้ผู้พบเห็นตกใจวิ่งหนีกันอลหม่าน ท้ายที่สุดคณะศิษย์จึงช่วยกันปฐมพยาบาลจนท่านฟื้นคืนมา เมื่อตื่นตอนเช้าหลังจากทำวัตรเสร็จ ท่านจึงพิจารณานิมิตดังกล่าวและถือว่าเป็นเหมือนเทวทูตที่มาเตือนให้ทราบว่าวันเวลาของชีวิตเหลือน้อยนิดเต็มทีแล้ว จงรีบขวนขวายทำความดี เหมือนดังปัจฉิมพจน์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงประทานไว้ก่อนปรินิพานว่า “หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ขอเธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมเถิด” ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้ฝากถึงสหธรรมิกและศิษย์ทั้งหลายว่า อย่าได้รอช้า รอวันเวลาที่จะสร้างความดีแก่สังคม เพราะความดีที่ทำไว้จะเป็นเหมือนกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นตัวเอง ควรประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ด้วยจิตที่เป็นสัมมาทิฐิเถิด
พระธรรมเทศนา และ คำสอน ต่างๆ ของหลวงตา เรื่องพระอรหันต์ มีอยู่วันหนึ่งผมได้เกิดความสงสัยขึ้นภายในใจเกี่ยวกับเรื่องของพระอรหันต์ ผมจึงได้ถามหลวงตาว่า “หลวงตาครับ ผมจะทราบได้อย่างไรว่า พระองค์ใดเป็นพระอรหันต์ มีวิธีดูอย่างไรบ้างครับ?” ท่านก็ตอบผมว่า “วิธีดูพระอรหันต์นั้นไม่ยาก ให้ดูที่คำแปลบท พระสังฆคุณ”
พระเมตตา คณะศิษย์หลายๆ ท่าน มักจะได้ยินหลวงตาท่านพูดเสมอ ว่า “เราบวชเป็นพระ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราไม่มีอะไร เรามีแต่ความเมตตา เมื่อขอข้าวชาวบ้านเขากิน เราก็ต้องทำตัวให้เป็นพระ รักษาศีล เจริญจิตภาวนา และ แผ่เมตตา ให้กับสรรพสัตว์ ญาติโยมที่ใส่บาตร ทุกๆ คน เพื่อเป็นการตอบแทนเขา หากเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่รักษาศีล ไม่แผ่เมตตา ไม่ให้ศีลให้พรญาติโยม แล้วนั้น เราก็ไม่ต่างจากขอทานที่ขอข้าวชาวบ้านเขากินไปวันๆ”
ทำเนียบวัตถุมงคลวัดป่าเวฬุวัน
หลวงพ่อใหญ่ (พระสังกัจจายน์) พิมพ์ใหญ่ มีหลายเนื้อ จัดสร้าง พ.ศ. ๒๕๑๔ ชาวบ้านเรียกรุ่นลุยไฟ
หลวงพ่อใหญ่ (พระสังกัจจายน์ ) พิมพ์เล็ก สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๔ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า รุ่นลุยไฟ
เหรียญพระประธาน รุ่นแรกของวัด สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๘ พิธีใหญ่มากครับ
พระประธานเนื้อผงเกษร ผงน้ำมัน งานผูกพัทธสีมา วัดป่าเวฬุวัน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
เหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก จัดสร้าง พ.ศ. ๒๕๔๗ ( มีโค้ด 2 โค้ด ได้นำไปอธิษฐานจิตพร้อมพระกริ่งอุดมมงคล จำนวน 191 เหรียญ)
พระพิฆเนศ ด้านหลัง หลวงพ่อใหญ่(พระสังกัจจายน์) มวลสารดี ชุดกรรมการฝังแร่เหล็กน้ำพี้ คุณหมอชรินทร์ สร้างถวาย
พระผง "อุดมมงคล" พระครูสิริเจติยาภิบาล (สมชัย ญาณวีโร) วัดศาลาทอง สร้างถวาย อธิษฐานจิต แจกงานกฐินวัดศาลาทอง ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พระสมเด็จ อุดมมงคล ๒๕๕๓ จัดสร้าง 2554 องค์ ใต้ขอบฐานตอกโค้ด (ท) 1 โค้ดแจกทั่วไป 2โค้ดเนื้อมวลสาร แจกกรรมการ ปลุกเสก วันเกิดสุริยุปราคา 2553 และ ครั้งที่ 2 วันเสาร์ 5 ปี 2553 ครั้งที่ 3 วันเสาร์5 ปี 2554 ท่านบอกว่าสมเด็จรุ่นนี้ดีมาก มวลสารดี ใช้ได้ทุกทาง ทั้งแคล้วคลาด ปลอดภัย และเรื่องโชคลาภ คุณ ทีปกร สร้อยสน และคณะสร้างถวาย
ตะกรุดของท่าน
รูปถ่ายติดอังสะ และเส้นเกษา สร้าง ทั้งภาพสี ขาวดำ และซีเปีย ท่านบอกว่าต้องใช้อังสะ เพราะว่าอังสะติดตัวท่านตลอดครับ รุ่นนี้ท่านบอกว่าดีมาก มีครบ มีทั้งรูป มีเส้นผม และก็อังสะเก่าของเรา หมดจากวัดแล้วครับ ตอนนี้ลูกศิษย์ลูกหา ที่ยังไม่มี ก็กำลังตามเก็บกันอยู่ครับ คุณทีปกร สร้อยสน สร้างถวาย
พระกริ่ง "อุดมมงคล ๑๐๘" รุ่นแรก จัดสร้าง พ.ศ. ๒๕๕๔
พระกริ่ง อุดมมงคล (ชุดถวายพระพิธี) จัดสร้าง พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื้อทองแดง สร้าง ๕๐๐ องค์ เนื้อนวโลหะ สร้าง ๑๐๐ องค์ **** ประสบการณ์ แรง ตามพระกริ่งอุดมมงคล ๑๐๘ มาติดๆ แล้วครับ
เหรียญหล่อโบราณ "อุดมลาภ" จัดสร้างพร้อมพระกริ่งอุดมมงคล ถ้าหากพลาดพระกริ่งอุดมมงคล ๑๐๘ ก็ สามารถใช้เหรียญหล่อโบราณ ได้ จัดสร้างเนื้อสัมฤทธิ์ , เนื้อทองผสม , เนื้อสตางค์ (เด่นด้านโชคลาภ)
รูปหล่อ อุดมเศรษฐี รุ่นแรก จัดสร้าง พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื้อทองแดง สร้าง ๕๐๐ องค์ เนื้อนวโลหะ สร้าง ๑๐๐ องค์
เหรียญทำน้ำมนต์เนื้อสตางค์
เหรียญทำน้ำมนต์เนื้อนวะโลหะ เหรียญทำน้ำมนต์ ครึ่งองค์ ปี 2554
เหรียญพิชิตภัย ปี 2554 จำนวนการสร้าง เนื้อเงิน สร้าง 100 เหรียญ เนื้อนวะ สร้าง 331 เหรียญ เนื้อ สตางค์ (ทอง) สร้าง202 เหรียญ เนื้อ สตางค์ (เงิน) สร้าง55 เหรียญ เนื้อทองแดง สร้าง10,098 เหรียญ
รูปหล่อบูชา ขนาด ๕ นิ้ว สร้าง พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน ๑๐๘ องค์
ตะกรุดลูกปืนปัฐวีธาตุ ๑๐๘ มีโค้ด กำกับทุกดอก จัดสร้าง ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ** ด้านในบรรจุ ตะกรุด 3 กษัตริย์ จารมือทุกดอก เทียนชัย เส้นเกษา ปัฐวีธาตุ ผงตะไบพระกริ่งอุดมมงคล ว่าน ฯลฯ และหลวงตาจารเองด้วยครับ รุ่นนี้ น่าเก็บมากครับ
พระนาคปรกอุดมมงคล ๕๕ เนื้อดินเผา จำนวนการสร้าง ๕๕๕ องค์ แจกงานผ้าป่าสร้างซุ้มประตูวัดป่าเวฬุวัน
พระสังกัจจายน์ "อุดมโชค" วัดป่าเวฬุวัน ๒๕๕๕
พระสังกัจจายน์ อุดมโชค ๒๕๕๕ เนื้อเงิน จำนวน ๒๖ องค์
พระสังกัจจายน์ อุดมโชค ๒๕๕๕ เนื้อสัมฤทธิ์ จำนวน ๓๐๐ องค์
พระสังกัจจายน์ อุดมโชค ๒๕๕๕ เนื้อบรอนซ์ จำนวน ๕๕๕ องค์
พระสิวลี เมตตา มหาลาภ สร้าง จำนวน ๒๕๕๕ องค์ เพื่อแจกงานกฐินสามัคคี วัดป่าเวฬุวัน วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕
พระสิวลี เมตตา มหาลาภ พิมพ์ กรรมการ สร้าง ๙๙ องค์
สามารถชมเคลื่อนไหวของวัดได้ที่ http://www.facebook.com/watpawaruwun
|