พระยอดนิยมของจังหวัดอุบลราชธานี (กำเนิดพระอริยสงฆ์) - webpra

พระยอดนิยมของจังหวัดอุบลราชธานี (กำเนิดพระอริยสงฆ์)

บทความพระเครื่อง เขียนโดย avilatati

avilatati
ผู้เขียน
บทความ : พระยอดนิยมของจังหวัดอุบลราชธานี (กำเนิดพระอริยสงฆ์)
จำนวนชม : 5612
เขียนเมื่อวันที่ : อ. - 05 เม.ย. 2554 - 13:09.04
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : ศ. - 08 เม.ย. 2554 - 15:57.57
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)
  • อุบลราชธานีนับเป็นจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน จากอดีตจนถึงปัจจุบันถือเป็นต้นกำเนิดของพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระมากมายหลายรูป ซึ่งแต่ละรูปต่างมีชาติภูมิกำเนิดที่อุบลราชธานีรวมถึงยโสธรและอำนาจเจริญซึ่งในอดีตเคยขึ้นรวมอยู่กับจังหวัดอุบล ทั้งด้านการปกครองคณะสงฆ์ยังเป็นต้นกำเนิดวัดธรรมยุติแห่งแรกของภาคอีสานคือ วัดสุปัฏนาราม ซึ่งมีพระเถระฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้วางรากฐานทั้งด้านศาสนา การปกครองสงฆ์และการเผยแพร่ธรรมในจังหวัดอุบลรวมถึงภาคอีสานทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ในอดีตสำนักเรียนในจังหวัดอุบลถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในภาคอีสานโดยเฉพาะด้านมูลกัจจายน์ ดังปรากฏพระเถระชั้นผู้ใหญ่รวมถึงพระฝ่ายวิปัสสนาธุระในสายหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นที่มีชาติภูมิในจังหวัดอื่นหลายรูปเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อศึกษาด้านปริยัติธรรม จนถึงญัติหรืออุปสมบทเข้าฝ่ายธรรมยุตินิกายเพื่อออกปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ดังที่ปรากฏอยู่และมีชื่อเสียงอาทิ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล, หลวงปู่เทศน์ เทสก์รังสี, หลวงปู่แหวน สุจินโณ, หลวงปู่สาม อกิญจโน, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น
  • รายนามพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระซึ่งเป็นชาวจังหวัดอุบลเท่าที่ผู้เขียนสืบค้นประวัติและรวบรวมได้อาทิเช่น
    1. พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (พระธรรมบาลสุ้ย) วัดมณีวนาราม จ.อุบล "สังฆปาโมกข์แห่งราชธานีอีสาน"
    2. ท่านพันธุโล (ดี) วัดสุปัฏนาราม จ.อุบล
    3. ท่านเทวธัมมี (ม้าว) วัดศรีทอง จ.อุบล "สัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4"
    4. พระอริยกวี ( ธมฺรักขิตโต อ่อน) วัดศรีทอง จ.อุบล "พระอุปัชฌาย์หลวงปู่มั่น"
    5. พระอาจารย์สีทา ชยเสโน วัดบูรพาราม จ.อุบล
    6. พระครูวิโรจน์รัตโนบล(บุญรอด นนฺตโร, "ญาท่านดีโลด") วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบล "ผู้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมองค์ที่ 4"
    7. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) วัดบรมนิวาส กรุงเทพ
    8. หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ จ.อุบล
    9. พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพ
    10. พระมหารัตน์ รัฐปาโล วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี "พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ดุลย์, หลวงปู่เทศน์"
    11. สมเด็จพระ มหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) วัดบรมนิวาส กรุงเทพ "สังฆนายกรูปแรกแห่งประเทศไทย"
    12. หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
    13. พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) วัดศรีทอง(ศรีอุบลรัตนาราม) จ.อุบล
    14. หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกองเพล อุดรธานี
    15. พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา
    16. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล วัดป่าแสนสำราญ อุบลราชธานี
    17. พระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เส็ง) วัดป่าเขาสวนกวาง ขอนแก่น
    18. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพ
    19. หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์ ขอนแก่น
    20. พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม วัดป่าสิริสาลวัน อุดรธานี
    21. พระครูวิมลญาณวิจิตร (บุญ ชินวังโส) วัดป่าศรีสว่างแดนดิน สกลนคร
    22. พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม สมุทรปราการ
    23. พระภาวนาวิศาลเถร (บุญมี โชติปาโล)วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี
    24. พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต วัดจันทราราม จ.หนองคาย
    25. พระครูปัญญาวิสุทธิ์ (บัวพา ปญฺญาภาโส) วัดป่าพระสถิตย์ หนองคาย
    26. พระครูพิศาลสังฆกิจ (โทน กนฺตสีโล) วัดบูรพาราม (บ้านสะพือ)อุบลราชธานี
    27. พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
    28. พระครูภาวนานุศาสตร์ (สาย จารุวณฺโณ) วัดป่าหนองยาว อุบลราชธานี
    29. พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ วัดภูทอก (เจติยาคีรีวิหาร) หนองคาย
    30. พระครูสุวัณโณปมคุณ (คำพอง ติสโส) วัดป่าพัฒนาธรรม อุดรธานี
    31. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล สกลนคร
    • จากบทความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเห็นได้ว่าอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการศาสนา การเผยแพร่ธรรมรวมถึงการปกครองสงฆ์ และโดยเฉพาะการกำเนิดของครูบาอาจารย์สายพระวัดป่าจนถึงยุคของลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน นอกจากนั้นอุบลราชธานียังเป็นแหล่งศึกษาวิทยาอาคมสืบทอดวิชาจากบูรพาจารย์ยุคโบราณ อาทิบูรพาจารย์สายสมเด็จลุนแห่งนครจำปาสัก สายหลวงปู่เสาร์, หลวงปู่ดี ฉันโน หรือพระครูวิโรจน์รัตโนบล (หลวงปู่รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมืองเป็นต้น และที่เป็นมรดกตกทอดเป็นหลักฐานที่ปรากฏได้ชัดเจนและให้ลูกหลานได้ศึกษาคือ" พระเครื่องและวัตถุมงคล"
    • ในฐานะที่ข้าพเจ้าผู้เขียนซึ่งไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพหรือเซียนพระแต่ประการใด แต่ด้วยความต้องการจะเผยแพร่เกียรติคุณของเกจิอาจารย์และพระเครื่องยอดนิยมของจังหวัดอุบลให้แก่ผู้ที่สนใจได้ทราบและเป็นแนวทางในการศึกษา ข้าพเจ้าจึงได้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องที่ได้รับความนิยมในจังหวัดอุบลเพื่อเป็นมรดกทางวัตถุให้คนที่สนใจได้ศึกษา ดังนั้นข้อมูล รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งแสดงในบทความนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เหล่านั้นเพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลอื่นต่อไป จึงกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
    พระยอดนิยมของจังหวัดอุบลราชธานี (กำเนิดพระอริยสงฆ์)
    Top