ว่าด้วยเรื่อง เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก - webpra

ว่าด้วยเรื่อง เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก

บทความพระเครื่อง เขียนโดย kittikarn

kittikarn
ผู้เขียน
บทความ : ว่าด้วยเรื่อง เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก
จำนวนชม : 5365
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 18 เม.ย. 2561 - 22:19.33
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : พฤ. - 26 เม.ย. 2561 - 21:33.00
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

 เหรียญหล่อโบราณหลวงปู่ชู วัดนาคปรก พิมพ์หลวงพ่อโต

เกริ่นกันนิดนะ......ว่าไปเหรียญหล่อโบราณที่เราพบเห็นมักเป็นเหรียญของพระเกจิคณาจารย์ยุคเก่าๆ  เป็นการสร้างแบบกรรมวิธีโบราณเพราะสมัยก่อนนั้นวิวัฒนาการและเครื่องไม้เครื่องมือยังไม่ทันสมัยเหมือนกับในยุคปัจจุบันนี้ พระหล่อโบราณที่ผมอยากพูดถึงในวันนี้คือ เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก ของดี ของขลัง อาจารย์ดังที่คนฝั่งธนฯ หลายๆคนเฝ้าถวิลหากันนะ ขอรับ

 

มูลเหตุการสร้าง

จากปณิธานความตั้งใจ ของหลวงปู่ชู ที่ท่านต้องการสร้างพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่ที่สุดในวัด ให้ประดิษฐานเป็นที่สักการะของศาสนิกชนทั่วไป  ท่านจึงได้ทำการหล่อพระพุทธรูปขึ้นเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๔  ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ปีมะเส็ง  ต่อเมื่อการหล่อเสร็จสิ้นลงแล้ว ท่านจึงได้ถวายชื่อที่เป็นสามัญชาวบ้านว่า " หลวงพ่อเบิ้ม " ตามพุทธลักษณะที่ใหญ่โตน่าเกรงข้าม ส่วนโลหะทองเหลืองที่เหลือจากการหล่อหลวงพ่อเบิ้ม หลวงปู่ชูท่านได้ทำการสร้างเป็นพระรูปหล่อหลวงพ่อโตองค์เล็ก (พระเครื่อง) มีหลายเนื้อ อาทิ เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อทองเหลือง เนื้อตะกั่ว และเนื้อดิน โดยบรรจุไว้ในหลวงพ่อเบิ้มองค์ใหญ่ ซึ่งในกาลต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ทางวัดได้นำออกให้ประชาชนได้เช่าบูชา (ตอนนั้นบิดาของกระผมก็ได้เช่ามาเก็บไว้เช่นกัน) เพื่อหารายได้มาพัฒนาวัด    ในคำจารึกบรรยายไว้ว่า หลวงปู่ชูท่านได้อธิฐานไว้ว่า  

" ผู้ใดได้มาขอพรหลวงพ่อเบิ้ม(โต) ขอให้มีอำนาจ วาสนายิ่งใหญ่ ฐานะความเป็นอยู่ใหญ่โต เมื่อทำการใหญ่ใดๆ ให้ประสบสมหวัง มีเมตตามหานิยม "   ด้วยเหตุฉะนี้พระหล่อหลวงพ่อโต ของหลวงปู่ชูจึงเป็นที่นิยม  น่าเสาะหานำไปขึ้นคอยิ่งนัก  อีกทั้ง บ่อยครั้งที่ยังเป็นที่โจษขาน บอกเล่าถึงประสบการณ์ทางด้านคงกระพัน ชาตรี ในองค์พระเครื่องของหลวงปู่ อีกด้วย

 

กรรมวิธีการสร้างเหรียญหล่อโบราณ

กรรมวิธีในการสร้างเหรียญหล่อโบราณนั้น เริ่มจากการแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาก่อน เมื่อแกะและตกแต่งพิมพ์เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงถอดหุ่นเทียนด้วยขี้ผึ้งออกมาหลายๆตัว นำหุ่นเทียนนั้นมาติดกับช่อชนวน เมื่อติดเป็นช่อเรียบร้อยดีแล้ว ก็เอาดินนวลผสมกับมูลโคซึ่งจะมีลักษณะเป็นดินอ่อนๆ ทาไล้พอกทับเอาไว้รอจนดินนวลนั้นแห้งแข็งดีแล้ว ก็จะนำเอาดินเหนียวทาทับชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง พอดินเหนียวแห้งและแข็งดีแล้ว ก็เอาไปสุมไฟเพื่อให้ความร้อน ไล่ขี้ผึ้งออกไปให้หมด จนภายในเป็นช่องว่าง จากนั้นก็เอาเนื้อโลหะที่หลอมเหลวดีแล้วเทลงไป เนื้อโลหะจะไหลเข้าไปแทนที่หุ่นเทียน รอจนเนื้อโลหะแข็งและเย็นดีแล้วจึงทำการทุบดินเบ้าออก ก็จะได้เหรียญหล่อติดกับแกนชนวนเป็นช่อๆ ตัดเหรียญหล่อออกจากแกนชนวนทีละเหรียญ ก็จะได้เหรียญหล่อที่สมบูรณ์

 

หลักในการพิจารณาเหรียญหล่อหลวงพ่อโต โดยสังเขป ดังนี้

เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู นั้นเท่าที่พบเห็นและเล่นหากันในแบบสากล จะมีด้วยกันสองพิมพ์คือพิมพ์หลังจาร(ยันต์จม) และหลังยันต์นูน โดยเนื้อหาของโลหะแต่ละเบ้า อาจจะไม่เหมือนกัน ส่วนมากที่พบส่วนใหญ่แล้วพิมพ์ยันต์นูนจะเป็นเนื้อทองเหลือง ส่วนหลังจาร(ยันต์จม) เนื้อหาจะออกไปทางสัมฤทธิ์เข้มข้น ในองค์ที่ผสมทองคำ เนื้อจะมีความมันส์ใส  บางองค์เนื้อหาแก่เงิน บางองค์เนื้อหาเข้มๆ ดำๆ ดูแล้วมีเสน่ห์มาก.....   อย่างที่ทราบกันแล้วว่า กรรมวิธีการสร้างเหรียญหล่อหลวงพ่อโตนั้นเป็นแบบหล่อโบราณ การหล่อเหรียญก็จะมีลักษณะของการใช้แม่พิมพ์แบบประกบ หน้า-หลัง  และหล่อติดกับแกนชนวนเป็นช่อๆ  แล้วตัดเหรียญหล่อออกจากแกนชนวนทีละเหรียญ... เท่าที่พบแม่พิมพ์ด้านหน้าดูเหมือนจะมีมากกว่าหนึ่งพิมพ์แน่นอน  แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนลงไป   ในส่วนของแม่พิมพ์ด้านหลังนั้น ก็แบ่งออกเป็นแบบหลังจาร (ยันต์จม)มีไม่ต่ำกว่า 4-5 ลายมือด้วยกัน   แม่พิมพ์ด้านหลังยันต์นูน จะมีสองพิมพ์คือ ยันต์เฑาะใหญ่ และ ยันต์เฑาะเล็ก.........      เช่นนั้นแล้ว    นอกจากพิมพ์ทรงของอค์พระแล้ว  เรายังต้องพิจารณาความเก่าของเนื้อโลหะ รอยประกบแม่พิมพ์ ซึ่งเราจะสังเกตุเห็นได้ตามชายขอบของเหรียญหล่อ และ รอยตะไบแกนชนวน รอยตัด รอยแต่งเป็นต้น  ณ วันนี้ก็มีของเก๊ model ใหม่ออกมาแล้ว เฉียบมาก วันหลังค่อยนำมาเล่าให้ฟัง    

สุดท้ายนี้ขอความสวัสดีมีชัยจงประสบแด่ทุกๆท่าน ได้พระเครื่องในดวงใจมาครอบครองด้วยนะขอรับ ^_^

ว่าด้วยเรื่อง เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก
ว่าด้วยเรื่อง เหรียญหล่อหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก
Top