“เสือ” หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ - webpra

“เสือ” หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ

บทความพระเครื่อง เขียนโดย ยอดชาย

ยอดชาย
ผู้เขียน
บทความ : “เสือ” หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ
จำนวนชม : 7136
เขียนเมื่อวันที่ : อา. - 26 ก.พ. 2560 - 14:59.58
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : อ. - 28 ก.พ. 2560 - 10:36.39
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

          พระมงคลวราการ หรือ หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ คือครูบาอาจารย์รูปสำคัญในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับทั้งจากพระเถรานุเถระ พระเกจิอาจารย์ คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า เป็นพระสุปฏิปัณโณที่ถึงพร้อมด้วยศีลาจาริยวัตร พรรษา อายุ และภูมิรู้ภูมิธรรมที่สูงยิ่ง หลวงพ่อชาญ อิณมุตฺโต ท่านเป็นพระเถระที่มีความสงบเยือกเย็น กิริยามารยาทนุ่มนวล มีความสันโดษสมถะ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยของสงฆ์ ท่านเป็นพระที่เปี่ยมด้วยความเมตตา มีอัธยาศัยจิตใจอ่อนโยนเป็นกันเองทั้งแก่พระลูกวัด ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดถึงญาติโยมที่ไปหา ผู้ที่ได้พบเห็นเข้าใกล้ท่านแล้วจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา หลวงพ่อชาญท่านเป็นพระสมถะเป็นอยู่อย่างสมควรตามสมณสารูปอย่างแท้จริง ผู้เขียนเองก็มีความรู้สึกเหมือนญาติโยมท่านอื่นเช่นเดียวกัน ยิ่งได้มีโอกาสมานมัสการหลวงพ่อตั้งแต่ที่อาคารหลังเก่าของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดบางบ่อ ซึ่งขณะนั้นกุฏิหลังใหม่ยังไม่แล้วเสร็จดี ปัจจุบันทางวัดได้ทำการบูรณะปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ เช่น การดีดอุโบสถ สร้างกำแพง สร้างกุฏิหลวงพ่อ และปรับภูมิทัศน์รอบวัดเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.....เนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบอายุ 103 ปี ของหลวงพ่อชาญในปีนี้ (3 เมษายน 2560) ผู้เขียนขอกราบนอบน้อมด้วยความเคารพ และขอนำคอลัมน์ฉบับพิเศษมาให้ท่านที่สนใจได้ศึกษาเป็นวิทยาทานดังนี้

คอลัมน์พุทธคุณพระเครื่อง (ฉบับตีพิมพ์)
เรื่อง  “เสือ” หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ
โดย  บูชาครู

... เรื่องราวความเข้มขลังของเสือ “พยัคฆราชเมืองปากน้ำ” หรือ “เสือเมืองสมุทร” จาก “หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย” สู่ “หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ”
... ศิษย์มีหลักเหมือนพยัคฆ์มีเขี้ยว ศิษย์มีครูเหมือนงูมีพิษ ปัญจมิตรพินาศสูญ

          ณ เวลานี้ วัตถุมงคลที่ปรากฏอิทธิคุณทางมหาอำนาจและโดดเด่นด้านแคล้วคลาดคงกระพันเป็นที่สุด ในประเภทเครื่องรางของขลัง คงหนีไม่พ้น “พยัคฆราช” หรือ “เสือ” รูปจำลองสัตว์มงคลตามความเชื่อทางวัฒนธรรมวิถีชาวบ้านของคนไทยและโหราศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวจีน เกือบ 100 % ครับ ที่เรื่องราวของเสือในรูปแบบวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง ได้ถูกโจษจันกล่าวขานในด้านอิทธิปาฏิหาริย์ไว้มากมายเกินจะพรรณนากันได้หมด สมตามที่ หลวงพ่อปาน (พระครูป่า) วัดบางเหี้ย กล่าวตอบ สมเด็กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ว่า “อันว่าเสือนั้นเป็นเจ้าป่ามีมหาอำนาจราชศักดิ์เพียงคำราม สัตว์ทั้งหลายก็ตกใจไม่เป็นอันสมประดี กลิ่นสาปลอยไปกระทบจมูกสัตว์ตกใดก็มีอาการกะปลกกะเปลี้ยเพลียแรง และเสือนั้นแม้จะดุร้ายก็มีเสน่ห์ ใคร ๆ อยากเห็นอยากชม เอามาใส่กรงก็มีคนไปดู จึงนับว่าเสือเป็นสัตว์ที่น่านิยมอย่างยิ่ง”

          ประวัติตำนาน “เสือ” ของ หลวงปู่ปาน วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) แม้อาจมีข้อเท็จจริงปลีกย่อยที่ละเอียดมากน้อยแตกต่างกันไปบ้าง แต่เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประตูน้ำหลวง (ประตูน้ำชลหารวิจิตร) ที่ตำบลคลองด่านนั้น ในขบวนผู้ตั้งแถวรับเสด็จมีสามเณรน้อยและพระภิกษุรูปร่างล่ำสันผิวคล้ำด้วยแดดเผาปะปนอยู่ด้วย ในมือของสามเณรน้อยประคองพานแว่นฟ้าอย่างระมัดระวัง ทว่าสามเณรก็ทำท่าลุกลนเท้าสะดุดกันเอง จนเสียหลักทำให้พานแว่นฟ้าในมือเอียงจนวัตถุชิ้นเล็กๆ สี่ห้าชิ้นที่วางอยู่บนพานก็หล่นลงน้ำ เมื่อพระภิกษุชราเห็นจึงไม่แสดงท่าทีว่าโกรธเคืองหรือทำโทษ จากนั้นจึงหันไปกระซิบกับเด็กวัดที่ยืนอยู่ถัดออกไป ปรากฏว่าเด็กวัดหายไปไม่นานก็กลับมาพร้อมด้วยหมูสามชั้นดิบๆ แบะหนึ่ง มีเชือกผูกมัดไว้อย่างดี พระภิกษุชราชี้มือให้หย่อนเชือกที่ผูกเนื้อหมูลงไปตรงที่ของตกในน้ำ หมูสามชั้นจมไปในน้ำเพียงปริ่มๆ พระภิกษุรูปนั้นพนมมือหลับตากำหนดภาวนาท่องมนต์ เสียงพระภิกษุชราผิวคล้ำจึงบอกให้เด็กวัดดึงขึ้นได้ เมื่อหมูสามชั้นด้านที่มีหนังโผล่พ้นน้ำ ปรากฏว่ามีวัตถุชิ้นเล็กๆ สีเหลืองๆ ติดมาด้วยสี่ห้าตัวเด็กวัดค่อยๆ ประคองชิ้นหมูมาส่งให้ท่านเอามือลูบผ่านวัตถุนั้นไป มันก็ร่วงลงมาฝ่ามือข้างที่ท่านแบรองอยู่ ท่านหัวเราะกล่าวพึมพำพอได้ยินว่า “กัดติดเชียวนะไอ้พวกนี้ดุนัก” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนทนากับหลวงพ่อปานอยู่ชั่วครู่จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

          พยัคฆราชเมืองปากน้ำ หรือ เสือเมืองสมุทร จึงถือเป็นตำนานศักดิ์สิทธิ์ของเสือที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์มาแต่องค์พระมหากษัตริย์ และสร้างประสบการณ์ต่างๆ อีกมากมายแก่ประชาชนผู้มีใจศรัทธา แม้วันเวลาผันผ่านสู่พระคณาจารย์ผู้เป็นศิษย์รูปสำคัญๆ หลายต่อหลายรูปในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่เรื่องราวของเสือจากประสบการณ์จริงยังคงปรากฏให้เห็นกันต่อมาทั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือหนังสือพระ และทั้งในรูปแบบของ เขี้ยวเสือแกะ ไม้มงคลแกะ เสือหล่อ เสือปั๊ม เหรียญหลังเสือ และตะกรุดประเภทต่างๆ ที่ลงจารพระยันต์ทางพยัฆราชไว้บนแผ่นโลหะ และบนหนังเสือทั้งส่วนหน้าผากหรือหนังหุ้มตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานทางวัตถุมงคลที่ถูกสืบทอดวิชาเพื่ออนุเคราะห์คนดีตลอดมา ส่วนโจรผู้ร้ายเมื่อนำไปใช้ก็กลับแพ้พ่ายภัยตัวเองต้องติดคุกติดตารางไปตามสัจธรรมและตามเมตตาของพระคณาจารย์ที่อธิษฐานบอกกล่าวไว้

          มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงเคยคิดว่าความศักดิ์สิทธิ์และมีเสน่ห์ของเครื่องรางประเภท เสือ ปัจจุบันยังมีอยู่จริงอีกหรือเปล่า ??? เอาแบบที่ขอให้มีความเข้มขลังใกล้เคียงกับตำนานหน้าหนึ่งในอดีตเท่านั้นก็พอ ในเรื่องนี้ผู้เขียนจึงต้องกราบขออนุญาตต่อหลวงปู่คุณครูบาอาจารย์ที่ผูกศรัทธาปสาทะไว้กับท่าน เพราะเชื่อมั่นเต็ม 100 ครับว่า ยังมีพระคณาจารย์รูปปัจจุบันแห่งสายบารมีหลวงพ่อปานที่มากล้นด้วยพรรษา อายุ และภูมิรู้ภูมิธรรมอย่างสูงสุดรูปหนึ่ง ดำรงขันธ์อยู่จริง ?!? นั่นคือ “พระมงคลวราการ” หรือที่ชาวบ้านมักเรียกขานว่า “หลวงพ่อใหม่” หรือ “หลวงพ่อชาญ อิณฺมุตฺโต” วัดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

          ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อชาญตามที่ได้รับทราบจากพระในวัด บวกกับข้อเท็จจริงต่างๆ ที่อ้างถึงคำกล่าวหลวงพ่อ พิจารณาตามยุคสมัยการไปมาติดต่อกันได้ความว่า อาจารย์องค์หนึ่งของท่านทางด้านคาถาอาคมก็คือ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก พระบูรพาจารย์ตำนานแห่งปลัดขิกรูปสำคัญของประเทศ หลวงพ่อเหลือรูปนี้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก เป็นวัดอยู่ไม่ไกลกันนักกับวัดนิยมยาตราที่หลวงพ่อชาญอยู่จำพรรษา การไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก หลวงพ่อชาญนับถือหลวงพ่อเหลือเป็นอาจารย์ได้อยู่ศึกษาเล่าเรียนคาถาอาคม การลงอักขระเลขยันต์กับหลวงพ่อเหลืออยู่นานหลายปี โดยไปๆ มาๆ อยู่เช่นนั้นเป็นประจำจนกระทั่งหลวงพ่อเหลือมรณภาพ นอกจากนั้น ท่านยังไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อดิ่ง วัดบางบัว พระบูรพาจารย์อีกรูปหนึ่ง ตำนานแห่งหนุมานและเสือที่ไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน หลวงพ่อชาญได้อยู่ปฏิบัติอาจาริยวัตรต่อหลวงพ่อดิ่งอยู่นานนับเดือนได้ศึกษาการทำลูกอม การลงอักขระเลขยันต์และการทำเครื่องรางมีลิงและเสือเป็นต้น แล้วยังมีอาจารย์ของท่าน คือ พระครูพินิจสมณคุณ (หลวงปู่ไผ่) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางบ่อ ได้อบรมสั่งสอนท่านไม่ว่าจะเป็นทางคาถาอาคม การกันการแก้คุณไสยทั้งปวง และการวางตัวต่อสังคมก็ได้รับการอบรมสั่งสอนมาทั้งสิ้น หลวงปู่ไผ่องค์นี้ท่านเป็นลูกศิษย์ขนานแท้และดั้งเดิมของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เจ้าตำรับเขี้ยวเสือ อันลือลั่นในอดีตครับ

          ประสบการณ์ เสือ ของหลวงพ่อชาญ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบุคคลผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในองค์หลวงพ่อ ซึ่งบางท่านอาจเคยได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้มาบ้างแล้วที่ว่า เสือของหลวงพ่อชาญ นั่ง นอนเต็มหน้ารถ !!?! เรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่โจรจะขโมยรถยนต์ แต่เมื่องัดเปิดประตูเข้าไปก็ต้องผงะ ! เพราะพบเสือนั่งและนอนอยู่ตรงหน้ารถ ไอ้แบบที่เห็นเดินไปเดินมาเมื่อเจ้าของบ้านไม่อยู่ก็มีนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปี 2549 มีผู้ได้เช่าบูชาเสือโลหะของหลวงพ่อไปบูชาและแบ่งเพื่อนไปคนละตัว สองตัว เวลาผ่านไปเพื่อนโทรมาหาและเล่าให้ฟังว่า เอาเสือไปไว้ในห้องนอนและออกไปเที่ยวงานโดยที่ไม่บอกแม่ ครั้นแม่ตะโกนเรียกก็ไม่ตอบ (เพราะเจ้าตัวออกไปข้างนอก) แม่จึงเข้าใจว่าลูกนอนหลับจะต้องขึ้นไปปลุกที่ห้องนอน พอเปิดประตูเข้าไปในห้องแม่ของเพื่อนก็ร้องกรี๊ดด้วยความตกใจ ภาพที่เห็นคือเห็นเสือโคร่งตัวเขื่องนอนแผ่หลาบนที่นอน แม่รีบวิ่งออกนอกประตู และโทรหาลูกชายจึงทราบความจริงจากลูกว่าเช่าเสือมาจากเพื่อน (คือตัวผู้เล่าเรื่องนี้) เมื่อมีคนมาเล่าถึงเหตุการณ์ให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อจะพูดว่า ตาฟาด หรือคิดไปเอง “เสือจะไปอยู่หน้ารถหรือบนที่นอนได้อย่างไร เสืออยู่ป่าหรือสวนสัตว์โน่น...”

          อีกประสบการณ์หนึ่งเป็นเหรียญหลังเสือ สร้างในโอกาสครบ 8 รอบ 96 ปี หลวงพ่อชาญอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว ณ อุโบสถวัดบางบ่อ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งถือเป็นวันแรง และวันแข็ง เหรียญรุ่นนี้นั้น หมอจระเข้ที่ฟาร์มจระเข้สมุทปราการ โดนจระเข้งับหัวแต่กลับไม่ขย้ำอย่างสะบัดเลยกลับพลิกรอดออกมาได้ แถมไม่เป็นอะไรแค่มีทลอกที่หัวบ้างเล็กน้อย เลยมีนักข่าวมาขอดูพระเครื่องที่ใส่สรุปว่ามีแค่เหรียญ 8 รอบของหลวงพ่อชาญเท่านั้น ต่อมาเด็กแถวบางบอนห้อยคอแล้วโดนตีหัวด้วยขวดโซดาแตกไป 2 ขวด ยังวิ่งหนีไปหน้าตาเฉย หัวไม่เป็นอะไรเลย คนแถวนั้นยืนงงกันเป็นแถว มีผู้เข้าไปถามพี่ที่ร้านเลี่ยมพระว่าเค้าเอาเหรียญอะไรมาเลี่ยมสรุปว่าเป็นเหรียญ 8 รอบหลังเสือของหลวงปู่ชาญ วัดบางบ่อ เช่ามาต่อจากรุ่นพี่ท้ายซอยที่ไปเอามาจากวัดด้วยกันตอนที่รู้ข่าวเรื่องหมอจระเข้โดนกัด แถมหลวงพี่ที่อยู่หน้าตู้ยังบอกอีกว่าเหรียญรุ่นนี้ คนจังหวัดจันทบุรีเช่าไปก้อไปโดนยิงแต่ไม่เข้า

          นี่แหละครับประสบการณ์ตรงต่างๆ ที่ลงตามข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เขียนก็เคยได้สอบถามไปทางพระและเจ้าหน้าที่ดูแลพระเครื่องของวัดบางบ่อได้ข้อสรุปตรงกัน แต่ยังไงก็ขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับทราบข้อมูลประกอบกันจะได้ไม่ผิดต่อพระ ผู้ศรัทธา และต่อตัวเอง ถ้าเอาแบบประสบการณ์ตรงในด้านอื่นบ้าง แบบตั้งสัจจะวาจา ตามที่ได้มีโอกาสได้ไปกราบหลวงพ่อชาญมาแล้ว 3-4 ครั้ง มีครั้งหนึ่งได้อธิษฐานสักการะต่อรูปปั้นเสือที่ตั้งขนาบอยู่บริเวณเสาหน้าประตูวัดทั้ง 2 องค์ (ตัว) โดยอธิษฐานจิตไหว้พระรัตนตรัย ระลึกถึงหลวงพ่อชาญ จากนั้นไหว้ครูเสือ มีอาทิหลวงปู่ฤาษีหน้าเสือ และสรรพวิชาทางเสือต่างๆ ด้วยคาถาเสือสมิง ปรากฏว่ากลับไปได้โชคลาภอย่างคาดไม่ถึง มีผู้มาบูชาเสือสมิง ?!? ของ หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล วัดบ้านจาน ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่มาเฉพาะเจาะจงบูชารายการนี้ทั้งที่มีบริการวัตถุมงคลไว้มากกว่า 300 รายการ ก็ขอกราบขอบพระคุณต่อบารมีของหลวงพ่อชาญและหลวงปู่หมุนเป็นอย่างสูงครับ จริงๆ แล้วผู้คนส่วนใหญ่เรียกหลวงพ่อกันแบบให้ความเคารพมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อชาญท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ปัจจุบัน "พระมงคลวรากร" หรือ "หลวงพ่อชาญ อิณฺมุตฺโต" วัดบางบ่อ ท่านสิริอายุรวม 103 ปี

“เสือ” หลวงพ่อชาญ วัดบางบ่อ
Top