ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (นัยยะแห่งอักขระ) - webpra

ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (นัยยะแห่งอักขระ)

บทความพระเครื่อง เขียนโดย punch18

punch18
ผู้เขียน
บทความ : ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (นัยยะแห่งอักขระ)
จำนวนชม : 9264
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 30 มี.ค. 2559 - 12:41.35
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : พ. - 30 มี.ค. 2559 - 12:52.30
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

ในสมัยที่หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างผ้ายันต์ไว้หลายชนิดด้วยกัน เช่น ผ้ายันต์หนุมาน ผ้ายันต์นางกวัก

ผ้ายันต์นักษัตร(ปีเกิด) ผ้ายันต์108 ผ้ายันต์พระพุทธ ผ้ายันต์เทพรัญจวน ฯลฯ

   แต่ที่ได้รับความนิยมมาก หายาก สร้างยาก คงจะไม่พ้น ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ ที่ต้องสร้างตามฤกษ์

วันจันทร์ขึ้น15ค่ำเดือน12 เท่านั้น ซึ่งเป็นฤกษ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก   บางทีต้องรอกันนับสิบๆปี ถึงจะมีสักครั้ง

และสำหรับในครั้งนี้กระผม หนึ่ง สมุทรสาคร  จะมาเปิดเผยว่า อักขระที่จารึกในผ้ายันตร์จันทร์เพ็ญ นั้น

บรรจุอะไรไว้บ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มศรัทธาปสาทะ และความเข้าใจในสิ่งที่ หลวงพ่อรุ่งท่าน ได้ทำไว้ให้ลูกศิษย์ทั้งหลาย

 

      ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ ของหลวงพ่อรุ่ง เป็นการอาราธนา พระนามของอดีตพระพุทธเจ้าในกัปต่างๆ มาประดิษฐานในซุ้มจระนำ

เป็นดังวิมานประดิษฐานองค์พระพุทธเจ้า ประจำทิศทั้ง8

 

***ซึ่งในเรื่องของอดีตพระพุทธเจ้านั้น ใน”พุทธวงศ์”(เป็นคัมภีร์หนึ่งในหมวดอปทาน ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎกในพระไตรปิฎกภาษาบาลี)

หมวดพุทธปกิณณกกัณฑ์ซึ่งว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า กล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 28 พระองค์

โดยเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพุทธวงศ์ 3 พระองค์ และในพุทธวงศ์ 25 พระองค์ รวมเป็น 28 พระองค์***

 

ในทิศทั้งแปดนั้นประกอบไปด้วย

    1.บูรพา   (ทิศตะวันออก) อาราธนาพระนามของพระปทุมมุตระพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “ปะทุมุตตะโร  ปูระภายัง”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ที่13ว่า   “ปะทุมุตตะโร”

มุมทั้งสี่ของกรอบยันต์ลงด้วย นะ  โม  พุท  ธา  กลางซุ้มจระนำลงด้วย ยะ

ด้านบนลงด้วย มะ อะ อุ  ด้านข้างมียันต์องค์พระชักเป็นอุนาโลมขึ้นไป

ด้านล่างมีเลข ๗ คือพระอภิธรรม๗คัมภีร์ ( สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ)ย่อแทนไว้ด้วยเลข๗

**อักขระที่ลงไว้ในซุ้มยันต์นั้นเหมือนกันในทุกๆ ซุ้ม แตกต่างกันในพระนามของพระพุทธเจ้าด้านบนซุ้มจระนำเท่านั้น

ดังนั้นในทิศต่อๆไปจะกล่าวถึงแต่พระคาถาอาราธนาพระนามประจำทิศ และ พระนามพระพุทธเจ้าในทิศนั้น

     2.อาคเนย์    (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) อาราธนาพระนามของพระเรวัตตะพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “อะคะเณยยะ จะ เรวัตโต”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ที่5ว่า   “เรวัตโต”

  1. ทักษิน    (ทิศใต้)อาราธนาพระนามของพระกัสสปพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “ทักขิเณ  กัสสะโป พุทโธ”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ที่27ว่า   “กัสสะโป”

     4.หรดี    (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) อาราธนาพระนามของพระสุมังคลพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “หรดิ เย สุมังคโล”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอนาคตพระพุทธเจ้าว่า   “สุมังคโล”

พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า ปรากฏในเรื่อง อนาคตวงศ์ครั้นเมื่อศาสนาของพระติสสะสัมพุทธเจ้า เสื่อมลง

ในมัณฑกัปป์เดียวกันนี้จะมีพระพุทธเจ้า องค์ถัดไป ชื่อว่า พระสุมังคลสัมพุทธเจ้าโดยในสมัยของ พระโคตมพุทธเจ้า

พระโพธิสัตว์ทรงได้เสวยพระชาติเป็น ช้างปาลิไลยกะ

  1. ประจิม  (ทิศตะวันตก) อาราธนาพระนามของพระพุทธสิกขีพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “ประจิม เม พุทธสิกขิจ”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ที่23ว่า   “พุทธสิกขิจ”

  1. พายัพ  (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)  อาราธนาพระนามของพระเมธังกรพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “ภายัพเวธะ เมธังกโร”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ที่2ว่า   “เมธังกโร”

  1. อุดร (ทิศเหนือ) อาราธนาพระนามของพระสากยพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “อุดดร สากยะมุนี เธวะ”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ว่า   “สากยมุนี”

  1. อีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) อาราธนาพระนามของพระสรณังกรพุทธเจ้า ประดิษฐาน

พระคาถาประจำทิศว่า   “อิสาเน  สรณังกะโร”

ภายในกรอบยันต์เหนือซุ้มจระนำ จารึกพระนาม ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ที่3ว่า   “สรณังกะโร”

 

และสำหรับอักขระยันต์ที่ล้อมรอบ ซุ้มจระนำที่ประดิษฐาน พระนามของอดีต ปัจจุบัน อนาคต พระพุทธเจ้า ทั้งแปดทิศ

คือพระคาถาพระขรรค์เพชรพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่ใช้ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และสิ่งอัปมงคล

 

เขียนไว้ว่า  อิติ สิทธิ พุทธัง สมาธิ    อิติ สิทธิ ธัมมัง สมาธิ    อิติ สิทธิ สังฆัง สมาธิ

                อิติ สิทธิ สุตตัง สมาธิ   อิติ สิทธิ วิเนยยัง สมาธิ   อิติ สิทธิ อภิธรรมมัง สมาธิ

                อิติ สิทธิ นะโมพุทธายะ  สมาธิ  อิติ สิทธิ ปาระมิตา สมาธิ   อิติ สิทธิ มัง รักขันตุ สัพพะทา สมาธิ

 

ประกอบไปด้วยการอารธนา อาศัยความตั้งมั่น ใน พระพุทธเจ้า  พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม

พระพุทธเจ้าทั้ง5พระองค์ในภัทรกัปนี้  รวมถึงบารมี30ทัศ ให้มารักษาและคุ้มครองผู้ที่เป็นเจ้าของผ้ายันต์ ด้วยความตั้งมั่นนี้

ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือนับเป็น วัตถุมงคลที่หาได้ยาก สร้างได้ยาก สร้างตามฤกษ์จันทร์เพ็ญ

 

ผม(หนึ่ง สมุทรสาคร) ทดลองไล่ปฎิทิน100ปี หาวันจันทร์เพ็ญ ในช่วงชีวิตของหลวงพ่อรุ่ง

นับเมื่อท่านบวชพรรษาดูตั้งแต่ปี 2437 ถึง2500พบว่ามีฤกษ์จันทร์เพ็ญ อยู่ 8 ครั้ง คือ

ใน ปีฉลู2444 ปีขาล2457 ปีมะเมีย2461 ปีมะโรง2471 ปีขาล 2481 ปีมะเส็ง 2484 ปีระกา 2488  ปีชวด 2491 

ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าเริ่มทำตั้งแต่ปีไหน ทำทุกปีหรือเปล่า แต่ประมาณการไว้ว่าในปี2444นั้นคงยังไม่ได้ทำ 

และมีหลักฐานอีกอย่างคือใบโพยของผ้ายันต์ที่พิมพ์ในปี2481 แสดงว่าในปี2481 นั้นมีการสร้างแล้ว และคงจะมีจำนวนการ

สร้างพอสมควรเพราะมีการพิมพ์ใบโพยแนบไปกับผ้ายันต์

ฤกษ์จันทร์เพ็ญนี้อาจจะดูว่ามีหลายครั้งในชีวิตของหลวงพ่อ แต่ภายหลังการมรณภาพแล้ว ฤกษ์จันทร์เพ็ญครั้งต่อไปคือ

ปีมะเส็ง2508 ห่างจากครั้งเดิมในปี2491 ถึง 17ปี นะครับ และสำหรับปีที่เขียนบทความนี้คือ พ.ศ.2559 ปีนี้ก็เป็นฤกษ์จันทร์เพ็ญ เช่นกัน

และขอบันทึกข้อความในใบอธิบายเรื่องผ้ายันต์จันทร์เพ็ญที่พิมพ์ไว้ในปี2481 ซึ่งผมไม่สามารถลงรูปได้(อาจติดลิขสิทธิ์)

แต่นำข้อความมาจาก ร้านฤทธา และ ร้านรักษ์ศิลป์2 ในเวปท่าพระจันทร์ ต้องขอขอบพระคุณท่านทั้ง2ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

                                                       

                                                          ผ้ายันต์สการพรหม

  ผ้ายันต์นี้ ประกอบพิธีจัดทำโดย พระอุปปัชฌาย์ รุ่ง (ติสสร) เจ้าอาวาสวัดท่ากระบือ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ซึ่งทำได้เฉพาะ แต่เพ็ญวันจันทร์กลางเดือน12เท่านั้น  นอกจากนั้นแล้วจะประกอบพิธีทำยันต์นี้หาได้ไม่

ทั้งจำทำได้แต่ในพระอุโบสถ เป็นผ้ายันต์อันมหาวิเศษ จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้ตามความปรารถนาทุกสิ่ง ทุกประการ

     ถ้าจะเทศนา เอาผ้ายันต์เช็ดหน้าเข้าเมื่อใด ย่อมเป็นที่รักที่พอใจแก่คนทั้งหลาย ย่อมเคารพบูชาเรา

เสมือนเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แลฯ

     ถ้าจะเข้าเฝ้าท้าวพระยา เอาผ้าเช็ดหน้าเข้า แล้วระลึกถึงคุณพระรัตนไตรย์ จึงเข้าเฝ้าหา

ท่านรักเหมือนบุตร์ในอุทร แม้ว่าจะมีโทษถึงตายก็ให้ระลึกถึงคุณพระรัตนไตรย์ 

แล้วเอาผ้าเช็ดหน้าเข้าเถิด ถึงว่าจะมีโทษเท่าฟ้าเท่าแผ่นดิน ก็อย่าได้พรั่นเลย พอได้เห็นหน้าเข้าก็หายโกรธ บรรเทาโทษหายสิ้นแลฯ

    ถ้าจะทำเป็นการเล่นเต้นรำ เอาผ้ายันต์เช็ดหน้าเข้าเถิด ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจแก่สัตรี สุดแท้แต่ว่าพอได้ยินเสียงไปถึงไหนอยู่มิได้

ก็ใคร่อยากจะมาดูมาเห็นให้จงได้แลฯ

    ถ้าจะเข้ารณรงค์สงคราม ก็จงเอาผ้ายันต์โพกศรีษะเข้าไว้ ธนูหน้าไม้ปืนไฟทั้งปวง จะมาเป็นห่าฝนก็ไม่อาจถูกต้องตัวเลยฯ

สรรพคุณอื่นๆเหลือจะพรรณนา เป็นทางเมตตามหาวิเศษประเสริฐนักแลฯ

          พิมพ์ที่ ร.พ.สุริยา กระทุ่มแบน นายสำราญกงวิไล ผู้พิมพ์โฆษณา 2481

 

สุดท้ายขอขอบพระคุณท่านเจ้าของผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ(เขียนมือ) คุณหมู อ่างทอง ที่กรุณาให้ผมยืมผ้ายันต์ไว้ศึกษาครับ

และหากจะมีสิ่งผิดพลาดใดๆ กระผมหนึ่ง สมุทรสาคร ขอน้อมรับและพร้อมจะแก้ไขครับ ติดต่อผมได้ที่เฟส หนึ่งสมุทร สาคร ครับ

 

ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (นัยยะแห่งอักขระ)
Top