ตะกรุดหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (ตะกรุดเมตตา ค้าขาย)
บทความพระเครื่อง เขียนโดย punch18
ตะกรุดหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (ตะกรุดเมตตา ค้าขาย)ในสมัยที่หลวงพ่อรุ่ง ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลัง ไว้หลายรูปแบบด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ตะกรุด ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลายขนาด ทำด้วยวัสดุต่างๆกัน เช่น เงิน ทอง ตะกั่ว ทองแดง หนังเสือ ฯลฯ ตะกรุดมีหลายแบบเช่น –ตะกรุด9ดอก -ตะกรุดโทน มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ -ตะกรุดมหารูด -ตะกรุดมหาอุด -ตะกรุดสามกษัตริย์ -ตะกรุดสาริกา (ตะกรุดเมตตา) -ตะกรุดหน้าผากเสือ โดยส่วนตัวของกระผม(หนึ่ง สมุทรสาคร) ได้เคยเห็นมา จากบ้านต่างๆในย่านวัดท่ากระบือ เป็นของตกทอดมา และได้อนุญาตให้กระผมได้เข้าไปชม(ให้ชมเท่านั้น) ด้วยความสัมพันธ์ในทางเครือญาติ หรือเป็นเพื่อน กระผมได้พบมาทั้งตะกรุดทองคำ ตะกรุดหน้าผากเสือ ตะกรุด9ดอก ตะกรุดโทนมีหลายขนาดหลายเนื้อ มักจะพบห่ออยู่ในเสื้อยันต์ หรือผ้ายันต์ ส่วนตะกรุดมหารูด ได้ทราบว่าอดีตผู้ใหญ่บ้านใน ต.บางยาง ท่านหนึ่งมีอยู่ กระผมได้ตามไปจนพบลูกชายของท่าน ลูกชายชองท่านได้เล่าให้ผมฟังว่า มีจริงเป็นตะกรุดเนื้อตะกั่ว เวลาสู้เอาไว้ข้างหน้า เวลาจะถอยเอาไว้ข้างหลัง แต่ตะกรุดดอกนี้ภายหลังได้ตกทอดไปยังลูกชายคนอื่น และไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน ส่วนตะกรุดมหาอุด กับตะกรุดสามกษัตริย์ ข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสเห็น และในการได้รับโอกาสให้เข้าไปชมตามบ้านต่างๆ กระผมได้เจอตะกรุดขนาดเล็ก มีทั้งเงินและทองแดง ซึ่งแต่ละบ้านก็จะบอกว่าเป็น ตะกรุดสาลิกาบ้าง ตะกรุดเมตตาบ้าง บางบ้านก็ไม่ทราบเรียกว่าอะไร บอกแต่ว่าเป็นของหลวงพ่อรุ่ง ตกทอดมา จนต่อมาข้าพเจ้าได้พบตะกรุดเล็กๆ แบบที่เคยเห็น จากเพื่อนท่านหนึ่ง อยู่แถวท่าไม้ เป็นตะกรุดเงิน4ดอก ขนาด1.5นิ้ว2ดอกและ1นิ้ว2ดอก ใสอยูในซองกระดาษแบบโบราณ ที่หน้าซองเขียนด้วยหมึกบั๊ค แบบเดียวกับที่ใช้เขียนผ้ายันต์ของหลวงพ่อรุ่ง ว่า “นายตี๋ ค้าขาย เมตตา” เป็นตะกรุดแบบเดียวกับที่เคยพบตามบ้านที่กระผมเข้าไปดู ตะกรุดชุดนี้ดั้งเดิมคงเป็นการทำมอบให้ กับนายตี๋ ทำแล้วใส่ซองกระดาษเขียนไว้ที่ซอง แล้วคงมอบให้กันในภายหลัง
ตะกรุดชุดนี้ทำให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของตะกรุด สาลิกา หรือ ตะกรุดเมตตา ของหลวงพ่อรุ่ง ว่ามีลักษณะอย่างไร ต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพเจ้าของตะกรุดที่นำมาลงนี้ด้วยครับ รูปตะกรุดที่กระผมนำมาลงนี้มี 3ชุดด้วยกัน เป็นตะกรุดชุดนายตี๋ และตะกรุดเมตตาพร้อมกระดอนสะท้อน2ลูก(จากสามพราน) และอีกชุดเป็นตะกรุดเมตตาเลี่ยมปลอกเงิน(ภาพของคุณอู กระทุ่มแบน) อย่างไรก็ดี ตะกรุดของคณาจารย์ท่านอื่นๆ ในยุคเดียวกับหลวงพ่อรุ่ง ที่มีความคล้ายคลึงกัน ก็ยังมีอีกมาก ต้องอาศัยการแยกแยะ และพิจารณาให้ดีนะครับ
แถมท้ายด้วยเรื่องการลงตะกรุดของหลวงพ่อรุ่งคุณลุงสมจิต มั่งบางยาง ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เคยช่วยลงตะกรุดให้หลวงพ่อรุ่ง คุณลุงเกิดปี2478 และบวชที่วัดท่ากระบือเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2499 โดยมีหลวงพ่อรุ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อหยัด และ อาจารย์วอน (ภายหลังย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางสาว)เป็นคู่สวด คุณลุงได้เล่าให้กระผม(หนึ่ง สมุทรสาคร) ฟังว่า “เมื่อบวชแล้ว ได้เข้าไปช่วยจารตะกรุดให้หลวงพ่อรุ่ง โดยจารตามแบบ ซึ่งมีตัวอย่างไว้แล้ว และเวลาลงอักขระแต่ละตัว จะต้องเรียกสูตรดังนี้”
“นามานังโส ยุทธะโส ยุทธะสะ แห่งนามะ......”
ในส่วนที่เว้นว่างตรง..... ไว้สำหรับเรียกอักขระแต่ละตัว เช่นจะลงตัว นะ ก็ใช้ว่า แห่งนามะนะ ถ้าจะลงตัวโม ก็ใช้ว่า แห่งนามะโม เป็นต้น ปัจจุบัน(2559)คุณลุงยังมีชีวิตอยู่ แต่ได้ย้ายไปอยู่กับลูกๆที่จังหวัดอื่นนานแล้ว และจะกลับมาทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัดท่ากระบือทุกปี ผมได้ใช้เวลาติดตามหาคุณลุงอยู่นาน และได้พบคุณลุง จนได้ ที่วัดท่ากระบือเมื่อปี2558 คุณลุงยังแข็งแรงพอสมควรและได้กรุณาพูดคุยกับ คนแปลกหน้าอย่างผม เป็นอย่างดี ต้องกราบขอบพระคุณคุณลุงอย่างมาก ก่อนจากกันคุณลุงเล่าว่า “ได้เข้าไปช่วยทำตะกรุดอยู่เสมอ และหลวงพ่อรุ่งก็ได้ให้รางวัลกับท่านด้วย เป็นความภูมิใจในครั้งหนึ่งของชีวิตคุณลุง”....
บทความเรื่องตะกรุดหลวงพ่อรุ่งนี้ผมเขียนตามความเข้าใจของผมเอง อาจมีที่ผิดพลาดได้ ยินดีรับคำแนะนำครับ สามารถติดต่อผมได้ที่เฟส : หนึ่งสมุทร สาคร ขอขอบคุณภาพตะกรุดเมตตาชุดนายตี๋ตะกรุดเมตตาพร้อมกระดอนสะท้อนของคุณโอ ท่าไม้ และตะกรุดปลอกเงินของคุณอู กระทุ่มแบน ด้วยครับ รวมบทความhttp://www.web-pra.com/Shop/NhungSamut/Article
1111
|