ประวัติการจัดสร้าง พระเนื้อดินเผากรุเพดานโบสถ์ หลวงพ่อพ่วง วัดกก กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓
บทความพระเครื่อง เขียนโดย เล็ก_พาต้า
ผู้เขียน
บทความ : ประวัติการจัดสร้าง พระเนื้อดินเผากรุเพดานโบสถ์ หลวงพ่อพ่วง วัดกก กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓
จำนวนชม : 8019
เขียนเมื่อวันที่ : อา. - 10 ม.ค. 2559 - 19:22.32
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : อ. - 19 เม.ย. 2559 - 15:50.59
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)
พระเนื้อดินเผากรุเพดานโบสถ์ หลวงพ่อพ่วง วัดกก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ถ้าเราจะเรียกว่า พระเนื้อดินเผาผสมผง กรุเพดานโบสถ์ หลวงพ่อพ่วง วัดกก ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ก็ไม่ผิดครับ แล้วแต่ใครจะเรียกก็แล้วกันครับประวัติความเป็นมาของการจัดสร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาผสมผง ของหลวงพ่อพ่วง รุ่นเพดานโบสถ์ มีประวัติความเป็นมา โดยอาศัยการบอกเล่าของ หลวงพ่อน้อม ญาณสุทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดกก (ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ - พ.ศ. ๒๕๓๕) โดยหลวงพ่อน้อมท่านได้เล่าถึง ขั้นตอนการจัดสร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วงโดยพอสังเขปว่า ในสมัยที่หลวงพ่อพ่วงได้ทำการจัดสร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาชุดนี้ หลวงพ่อน้อมท่านยังมีอายุไม่มากนัก จำได้ว่า หลวงพ่อพ่วงท่านได้สั่งให้ลูกศิษย์ไปนำดินมาจากจังหวัดนนทบุรี โดยดินที่ได้มานั้นเป็นดินเหนียวที่ขุดมาจากท้องนา จากอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยขนลงเรือแล้วล่องมาที่วัดกก เมื่อดินเหนียวขนมาถึงวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อพ่วงท่านก็นำดินเหนียวที่ได้มาจากท้องนา (โดยที่ไม่ได้กรองดินก่อน จึงทำให้ดินเหล่านั้นมีแร่เม็ดกรวดเม็ดทรายปะปนอยู่ด้วย) แล้วเอามาผสมกับผงวิเศษ ๕ ประการ อันมี ผงอิทธิเจ ผงตรีนิสิงเห ผงปถมัง ผงมหาราช และผงพุทธคุณ นอกจากนี้ยังผสมด้วยสมุนไพรและว่านต่างๆ แร่บด ตลอดจนปากเหยี่ยว ปากกา เขี้ยวเสือ เล็บเสือ งาช้าง นำมาบดพอละเอียดแล้วจึงนำมาผสมลงในดินเหนียวที่จะสร้างพระเครื่องหลวงพ่อน้อมท่านเล่าต่อไปว่าช่างแกะพิมพ์พระชุดนี้ได้แก่ นายจง พึ่งพรหม และ นายชิต ซึ่งช่วยกันแกะพิมพ์ ถ้าพระขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นฝีมือของ นายจง พึ่งพรหม ส่วนพระขนาดเล็กๆมักเป็นฝีมือของนายชิต เมื่อแกะพิมพ์พระขึ้นเสร็จ หลวงพ่อได้เอาดินที่ผสมกับผงวิเศษทั้ง ๕ ประการ และเครื่องสมุนไพรของเคล็คต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้นำมากดพิมพ์พระ โดยหลวงพ่อพ่วงตั้งใจที่จะสร้างให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งเท่ากับ จำนวนของพระธรรมขันต์ โดยมีแบบพิมพ์ทั้งหมด ๒๔ แบบพิมพ์ จึงได้ขอร้องให้ทางวัดสีสุก และ วัดยายร่ม ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันมาช่วยกดพิมพ์พระด้วย และเมื่อกดพิมพ์พระเสร็จแล้ว หลวงพ่อพ่วงท่านให้นำพระเครื่องทั้งหมดไปผึ่งแดดจนแห้งได้ที่ หลังจากนั้นหลวงพ่อพ่วงท่านก็นำพระเครื่องที่ผึ่งแดดแห้งได้ที่แล้วเข้าเผา โดยสุมแกลบที่ลานวัด และในขณะที่เผาพระเครื่องเนื้อดินเหนียวอยู่นั้น หลวงพ่อพ่วงจะไปเฝ้าบริกรรมปลุกเสกแผ่พลังจิตลงไป ขณะที่พระได้รับความร้อนเป็นการหนุนเตโซธาตุ (ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งหลวงพ่อโหน่งท่านก็ปลุกเสกขณะพระกำลังเผาไฟอยู่เช่นกัน)หลังจากเผาพระเครื่องเนื้อดินเผาผสมผงเสร็จแล้ว หลวงพ่อพ่วงท่านจึงเข้าปลุกเสกภายในพระอุโบสถวัดกกเป็นเวลานานหลายพรรษา โดยที่หลวงพ่อพ่วงท่านจะปลุกเสกอยู่ตลอดแทบทุกวันหลังจากทำวัตรสวดมนต์ในพระอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ รวมแล้วนานถึง ๖ ปีเต็ม แล้วจึงนำพระเครื่องเนื้อดินเผาทั้งหมดขึ้นเก็บไว้บนเพดานพระอุโบสถวัดกกต่อมาในสมัยพระมหาสมบูรณ์ ปภากโร ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกก (ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกกเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕) ได้ทำการเปิดกรุพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วง ซึ่งบรรจุอยู่บนเพดานโบสถ์วัดกก ออกมาให้ประชาชนได้เช่าบูชา โดยทางวัดกกจัดทำเป็นชุดกรรมการแบ่งออกเป็น ๓ ชุดกรรมการใหญ่ โดยที่ฝากล่องของแต่ละชุดจะวงเล็บหมายเลขชุดกำกับไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งภายในกล่องของแต่ละชุดจะบรรจุพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วงไว้ทั้งหมดจำนวน ๘ องค์ องค์ละ ๑ พิมพ์ แบบไม่ซ้ำพิมพ์กัน โดยรวมพระเนื้อดินเผากล่องละ ๘ องค์ หากทำบุญเช่ากับทางวัดทั้งหมด ๓ ชุด ก็จะได้พระเครื่องเนื้อดินเผากรุเพดานโบสถ์ครบถ้วนทุกพิมพ์ ซึ่งทางวัดกกได้นำปัจจัยรายได้ทั้งหมดไปใช้ร่วมซ่อมแซมและบูรณะวัดกกต่อไปแบบพิมพ์พระทั้งหมด ๒๔ พิมพ์ กระผม เล็ก พาต้า สายตรงพระเนื้อดินเผา หลวงพ่อพ่วง วัดกก ได้รวบรวมรายชื่อของแต่ละพิมพ์ (ซึ่งยังไม่มีผู้ใดยอมเปิดเผยกันออกมา) ดังนี้คือ
๑.พิมพ์ปางมารวิชัย สดุ้งกลับ๒.พิมพ์ไพ่ตองสดุ้งกลับ๓.พิมพ์ฐานบัวสามชั้น๔.พิมพ์สมาธิข้างยันต์ ระบุปี พ.ศ.๕.พิมพ์ชินราชซุ้มเรือนแก้ว (บางคนเรียกเป็นพิมพ์ชินราชซุ้มประตู)๖.พิมพ์ชินราชซุ้มเปลวเพลิง๗.พิมพ์ปางมารวิชัยข้างยันต์ นะ มะ อะ อุ ระบุปี พ.ศ.๘.พิมพ์สมาธิข้างยันต์ มะ อะ อุ ระบุปี พ.ศ.๙.พิมพ์โมคัลลาน์สารีบุตร๑๐.พิมพ์ปรกโพธิ์๑๑.พิมพ์ซุ้มหยัก๑๒.พิมพ์ขุนแผนซุ้มเรือนแก้วใหญ่๑๓.พิมพ์ขุนแผนซุ้มเรือนแก้วเล็ก๑๔.พิมพ์ยอดขุนพล๑๕.พิมพ์ซุ้มกอใหญ่๑๖.พิมพ์ซุ้มกอเล็ก๑๗.พิมพ์พระสมเด็จฐานเจ็ดชั้นใหญ่๑๘.พิมพ์พระสมเด็จฐานเจ็ดชั้นเล็ก๑๙.พิมพ์พระลีลาใหญ่๒๐.พิมพ์พระลีลาเล็ก๒๑.พิมพ์จันทร์ลอย๒๒.พิมพ์งบน้ำอ้อย๒๓.พิมพ์นางพญาพิมพ์ใหญ่บล็อคลึกกับบล็อคธรรมดา๒๔.พิมพ์นางพญาพิมพ์เล็กจากใจจริง เล็ก พาต้า สายตรงพระเนื้อดินเผา หลวงพ่อพ่วง วัดกก บางขุนเทียน กรุงเทพฯ |