แนวทางการศึกษาลักษณะพระเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชร
บทความพระเครื่อง เขียนโดย เล็ก_พาต้า
ผู้เขียน
บทความ : แนวทางการศึกษาลักษณะพระเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชร
จำนวนชม : 2253
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 06 ม.ค. 2559 - 19:52.54
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : อ. - 19 เม.ย. 2559 - 15:54.55
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)
พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร มีพุทธศิลป์ร่วมกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย โดยจากการที่ได้ค้นพบพระบูชาจากสถานที่ต่างๆในจังหวัดกำแพงเพชร และปรากฏว่ามีทุกยุคทุกสมัยมาร่วมสมัยรวมกันอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร นับตั้งแต่ยุคสมัยทวาราวดี ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา และ จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ และยังมีพระนอกประเทศไทยบรรจุกรุอยู่เช่น ลังกา ศรีวิชัย และพม่า ฯลฯ เป็นต้นพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพระเมืองกำแพงเพชรก็คือ ส่วนใหญ่จะมีอาสนะเป็นขีดอยู่ใต้องค์พระ อย่างเช่น พระกำแพงเม็ดมะลื่น พระกำแพงกลีบบัว ฯลฯ เป็นต้น เว้นแต่อาสนะจะเป็นอย่างอื่น โอกาสที่จะเห็นพระลอยๆอย่างพระเมืองอื่นๆ (เช่น นางพญา ของพิษณุโลก) มีน้อยมากครับเรามาเริ่มเข้าบทความแนวทางการศึกษาลักษณะพระเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชรกันเลยดีกว่าครับ จริงอยู่พระเครื่องเมืองกำแพงเพชรจะมีพุทธศิลป์ร่วมกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่พระเนื้อดินที่เราเล่นหาสะสมกันอยู่นั้น ส่วนมากจะอยู่ในยุคสมัยสุโขทัย อย่างเช่น พระกำแพงซุ้มกอ ซึ่งเป็นพระเครื่องศิลปะสุโขทัยยุคต้นแบบวัดตะกวน(สุโขทัยผสมลังกา) หรือพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน ก็เป็นศิลปะอยู่ในยุคสุโขทัย เป็นต้นการเรียกชื่อพิมพ์พระ เพื่อเป็นการสื่อสารความหมายให้เข้าใจให้ตรงกันว่าหมายถึงองค์ใด กรุใด โดยอาศัยหลักเกณฑ์และหลักการหลายอย่างเช่น1. เรียกชื่อตามพุทธลักษณะขององค์พระประติมากร กรอบพิมพ์ทรงขององค์พระโดยรวม อย่างเช่น พระพิมพ์กลีบบัว2. เรียกตามวัสดุที่สร้าง เช่น พระว่านหน้าทอง พระว่านหน้าเงิน3. เรียกตามจำนวนองค์พระ เช่น พระกำแพงห้าร้อย4. เรียกตามลักษณะปาง เช่น พระปางลีลา พระปางเปิดโลก พระปางไสยาสน์ พระปางประทานพร ฯลฯ เป็นต้น5. เรียกตามพระที่พบขึ้นมาก่อน เช่น พระท่ามะปรางค์ (พบครั้งแรกที่จังหวัดพิษณุโลก) โดยเรียกว่า พระท่ามะปรางค์กำแพงเพชรลักษณะพระเนื้อดินของกำแพงเพชร เป็นดินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือจะเป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ จะมีลักษณะหนึกนุ่มซึ่งผิดกับพระของจังหวัดอื่นๆ โดยมีทั้งประเภทพระเนื้อดินชนิดเนื้อละเอียดและพระเนื้อดินชนิดเนื้อหยาบ ซึ่งมีอยู่ส่วนน้อยที่พระองค์นั้นมีส่วนผสมของว่านน้อย ลักษณะเนื้อดินจะแกร่ง ที่เรียกว่า "เนื้อกระเบื้อง" และพระเนื้อดินของทางกำแพงเพชรมักจะปรากฏ รารัก กับ แร่ดอกมะขาม ผสมกลมกลืนอยู่ในเนื้อขององค์พระเสมอ จนกลายเป็นเอกลักษณ์พระเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชร ราดำเป็นราชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากความชื้นภายในกรุเกาะติดอยู่บนผิวเนื้อขององค์พระ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นหรือเป็นจุดๆสีดำ บางครั้งก็เป็นสีดำแกมสีน้ำตาล ส่วนแร่ดอกมะขามมักจะมีสีแดงคล้ำ พระเนื้อดินที่ออกโซนสีเหลือง หรือออกโซนสีเหลืองปนสีแดงอ่อนๆจะเห็นแร่ดอกมะขามเป็นจุดๆชัดเจน จุดนี้บางครั้งก็ติดกันเป็นแผ่น แร่ดอกมะขามก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้สังเกตพระแกะล้อพิมพ์ เพราะผิวของเม็ดแร่ดอกมะขามจะไม่จมอยู่ในเนื้อพระ แร่ดอกมะขามมักจะลอยขึ้นมา ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนรวมของการศึกษาลักษณะพระเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชรเท่านั้น
เรายังต้องเจาะให้ลึกลงไปอีกว่า ลักษณะเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชร จำแนกออกเป็นกรุใหญ่ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้คือกลุ่มที่1.แยกตามฝั่งของแม่น้ำปิง คือฝั่งตะวันออก เป็นกรุฝั่งเมืองในปัจจุบันเรียกว่า "ฝั่งซากังราว" หรือกรุฝั่งจังหวัด ได้แก่ กรุวัดพระแก้ว กรุวัดพระธาตุ กรุวัดพระสิงห์ กรุวัดกะโลทัย กรุวัดป่ามืด กรุวัดสี่อิริยาบถ กรุวัดอาวาสใหญ่ กรุวัดอาวาสน้อย กรุวัดพระนอน กรุวัดตึกพราหมณ์ เป็นต้น ลักษณะเนื้อดินจะเป็นประเภทดินเนื้อหยาบ มีความหนึกนุ่มน้อยกว่ากลุ่มที่ 2.ฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง คือ กรุฝั่งทุ่งเศรษฐีที่เรียกว่า "ฝั่งนครชุม" ได้แก่ กรุวัดบรมธาตุ กรุวัดซุ้มกอ(กรุนาตาคำ) กรุวัดเจดีย์กลางทุ่ง กรุวัดหนองพิกุล(นิยมเรียกสั้นๆว่า "วัดพิกุล") กรุวัดพระปรางค์ กรุวัดวังพระธาตุ กรุวัดเจ็ดยอด กรุวัดฤาษี กรุวัดหนองลังกา กรุคลองไพร กรุตาลดำ กรุตาพุ่ม กรุท่าเดื่อ กรุผู้ใหญ่เชื้อ เป็นต้น ลักษณะเนื้อดินจะเป็นประเภทเนื้อดินแบบละเอียดหนึกนุ่มกลุ่มที่ 3.คือกรุนอกเมือง ซึ่งได้แก่ พระกรุต่างๆที่อยู่นอกกลุ่ม 2 กลุ่มแรกที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งได้แก่ กรุวังพาน กรุวังควง เป็นต้นเป็นไงบ้างครับ เราพอจะรู้จักลักษณะพระเนื้อดินของเมืองกำแพงเพชรบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
แล้วค่อยพบกันใหม่นะครับ
จากใจจริง เล็ก พาต้าชมรมพระเครื่องพาต้าปิ่นเกล้า |