แนวทางการศึกษาวิธีดูพระกรุเนื้อดิน - webpra

แนวทางการศึกษาวิธีดูพระกรุเนื้อดิน

บทความพระเครื่อง เขียนโดย เล็ก_พาต้า

เล็ก_พาต้า
ผู้เขียน
บทความ : แนวทางการศึกษาวิธีดูพระกรุเนื้อดิน
จำนวนชม : 3799
เขียนเมื่อวันที่ : อ. - 05 ม.ค. 2559 - 19:59.49
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : อ. - 19 เม.ย. 2559 - 15:55.48
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพูดถึงเรื่องวิธีการดูพระกรุเนื้อดิน ว่าเราจะต้องดูอะไรกันบ้างเมื่อเราหยิบพระเข้ากล้องส่องดู บทความนี้ขอกล่าวแต่เฉพาะพระกรุเนื้อดิน ที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคสมัยทวาราวดีจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนพระเนื้อดินที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ จะลงกรุหรือไม่ลงกรุค่อยว่ากันทีหลังครับ เพราะจะต้องเจาะลึกลักษณะเนื้อดินของแต่ละสำนักครับ อย่างเช่นลักษณะพระเนื้อดินกรุเพดานโบสถ์ของหลวงพ่อพ่วง วัดกก ที่ผมได้เขียนลงไปแล้วครับ  ทีนี้เวลาเราเข้ากล้องส่องดูพระกรุเนื้อดินเราควรดูอะไรบ้างครับ? ในแนวทางการดูพระกรุเนื้อดินของผม ผมจะให้ความสำคัญเนื้อของพระองค์ มากกว่าพิมพ์ครับ พูดง่ายๆก็คือ เนื้อต้องมาก่อนพิมพ์ครับ จะต่างกันกับที่พระเกจิอาจารย์สร้าง เพราะจะต้องดูพิมพ์พระก่อนดูเนื้อพระครับ นี่เป็นแนวทางการดูพระของผมครับ  แล้วผมส่องดูอะไรล่ะ?  ผมก็ส่องดูธรรมชาติความเก่าของเนื้อพระครับ  โดยแยกได้ดังนี้คือ

 

     1. ดินคราบกรุ  คือดินที่จับตามซอกลึกขององค์พระแบบแผ่วบาง ไม่ใช่หนาเตอะเป็นก้อนดินแบบของเก๊  เมื่อเราเข้ากล้องส่องดูสีของดินคราบกรุมักจะออกมาเป็นสีเทาอมเขียวหน่อยๆครับ

   

     2.รารัก ก็คือกลุ่มราที่เกิดขึ้นเมื่อถูกความชื้นเป็นเวลานาน เดี๋ยวก็ชื้น  เดี๋ยวก็ร้อน เมื่อโดนความชื้น ราก็จะเกิดขึ้นบนผิวเนื้อขององค์พระ และเมื่อโดนอากาศร้อน ราก็จะโดนอบในกรุก็จะตายจับอยู่บนผิวเนื้อขององค์พระ กาลเวลาผ่านมาเป็นร้อยๆปี ราที่ตายไปก็จะเป็นสีดำ แต่บางครั้งเป็นสีดำแกมสีน้ำตาลก็มี กระจายอยู่บนผิวเนื้อขององค์พระ ดูแล้วเหมือนรักดำ จึงเรียกว่า "รารัก" รารักมีทั้งแบบเป็นแผ่น(มองด้วยตาเปล่า แต่เมื่อเวลาเข้ากล้องส่องดู จะเห็นราเป็นจุดเล็กๆทับถมซ้อนกันจนหนาแน่นเป็นแผ่น  และรารักอีกแบบจะมีลักษณะเป็นจุดๆ ซึ่งหมายถึงรารักพวกนี้ยังไม่ได้จับตัวกัน เวลาเมื่อเราเข้ากล้องส่องดูราพวกนี้จะสังเกตว่า ตรงขอบของราจะเห็นว่ามันแตกเป็นแฉก จะดูคล้ายๆขอบของใบผักชี กระจายอยู่บนผิวเนื้อขององค์พระ

   

     3.ธรรมชาติความเก่าของเม็ดแร่ ก็คือเหล่าบรรดาของพวกเม็ดกรวด หิน ทราย แร่ ที่มีอยู่ในเนื้อดิน พวกบรรดาเหล่านี้ เมื่อเราเข้ากล้องส่องดูจะต้องเก่า เมื่อสัมผัสจะต้องไม่คม

   

     4.ธรรมชาติความเก่าของรอยตัดตอกและรอยปาดดิน ร่องรอยจะต้องมีการหดตัว และร่องรอยของการตัดตอกหรือร่องรอยปาด จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่วนไปวนมา

   

     5.นวลดิน คือความนุ่มหนึกของมวลสารในเนื้อดิน พระกรุเนื้อดินที่มีอายุเก่าถึงยุคจริงๆจะต้องมีนวลดินปรากฏให้เห็นทุกองค์ นวลดินของแท้จะต้องแห้งและนุ่มนวลตาเป็นธรรมชาติตลอดทั้งองค์   ครับแนวทางการศึกษาวิธีดูพระกรุเนื้อดิน ก็คงเป็นแนวทางในการดูเนื้อพระได้อยู่บ้างพอสมควร

 

 

 

แต่จะให้สูงไปกว่านั้นจะต้องมาศึกษาดินของแต่ละภาค แต่ละจังหวัดเพิ่มเติมเข้าไปอีก ต้องศึกษาลักษณะของดินทางกำแพงเพชร ทางสุโขทัย ทางอยุธยาว่ามีลักษณะความแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ และพระเนื้อดินที่มีการลงรักปิดทอง อย่างเช่นพระโคนสมอเป็นต้น

 

ครั้งต่อไปผมจะเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องลักษณะพระเนื้อดินของทางจังหวัดกำแพงเพชร  คอยติดตามนะครับ

 

 

สวัสดีครับ

 

 

จากใจจริง  เล็ก พาต้า

ชมรมพระเครื่องพาต้าปิ่นเกล้า

Top