ปริศนาธรรม... งานศพ โดย พระเกรียงศักดิ์ มหาปัญโญ - webpra

ปริศนาธรรม... งานศพ โดย พระเกรียงศักดิ์ มหาปัญโญ

บทความพระเครื่อง เขียนโดย on-yala

on-yala
ผู้เขียน
บทความ : ปริศนาธรรม... งานศพ โดย พระเกรียงศักดิ์ มหาปัญโญ
จำนวนชม : 2029
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 17 ก.ย. 2557 - 20:27.23
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

ศพ คือ สภาวะสังขารร่างกายของคนที่เสียชีวิตแล้ว จะมีลักษณะของธาตุทั้ง๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องกระจัดกระจายไหลกลับคืนสู่ธรรมชาติเป็นตามธรรมดา เป็นสิ่งที่จะใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้อีกสำหรับคนทั่วไป แต่ในวงการของนักศึกษาแพทย์ “ศพ”จะเป็นอาจารย์ใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการศึกษา ผู้ที่มีใจเป็นกุศลต้องการทำประโยชน์ให้เกิดกับสังคมในวาระสุดท้ายของชีวิต จึงได้อุทิศศพของตนเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ เพื่อจะสร้างนักศึกษาแพทย์ที่มีความสามารถในการรักษาคนป่วยได้อย่างมี ประสิทธิภาพต่อไป
ส่วนในด้านผู้ปฏิบัติธรรม“ศพ”จะเป็นอาจารย์ใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการศึกษา เช่นกัน ในสมัยพุทธกาลจะมีธรรมเนียมการนำเอา “ศพ”ไปทิ้งกันไว้ในป่าช้าผีดิบ เพื่อให้สมณะทั้งหลายได้ใช้ศพเป็นอาจารย์ใหญ่สำหรับพิจารณาสังขารร่างกาย แล้วน้อมจิตไปเปรียบเทียบร่างกายตนเองกับสภาวะของซากศพ โดยพิจารณาถึงความเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องของธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะคนที่ตายธาตุไฟที่จะเป็นไออุ่นของร่างกายจะไหลออกจนเย็น ธาตุลมก็ไหลออกจนศพขึ้นอึดพองลมให้เห็น ธาตุน้ำจะไหลเป็นน้ำเหลืองเยิ้มไปทั่ว ส่วนธาตุดินก็จะใช้เวลาในการย้อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมยาวนานที่สุด ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ที.ม. ว่า
ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตายแล้ว
๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ ศพมี
น้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
หมายความว่า ให้พิจารณาเห็นสภาวะร่างกายของเรากับซากศพต่างก็มีการไหลออกอยู่ตลอด เวลา(เจริญอนิจจสัญญา) ต่างกันเพียงว่าคนที่ยังมีชีวิตธาตุ๔ที่ไหลออกแต่ก็จะมีการไหลเข้ามาแทนที่ คือ การหายใจเอาอากาศ ดื่มน้ำ กินอาหาร รับพลังงานความร้อนที่มีอยู่รอบตัว และจะต้องขับถ่ายชำระล้างสังขารร่างกายที่เน่าเหม็นอยู่ตลอดเวลา คนใดที่ไม่ดูแลรักษาและทำความสะอาดร่างกายเพียง๒-๓ วันเท่านั้น สังขารร่างกายที่เน่าเหม็นของคนนั้นก็คงไม่ต่างไปจากศพเดินได้
ให้พิจารณาถึงอนาคตของเราต่อไปว่า เราทุกคนก็ต้องทิ้งสังขารร่างกายให้อยู่ในสภาวะอย่างเดียวกับศพที่เห็นอยู่ ในขณะนี้ เป็นความจำเป็นของมนุษย์ที่จะต้องรู้แจ้งแทงตลอดถึงความเกิดความตาย เพื่อที่จะได้มีเครื่องมือสำหรับใช้เลือกทางไปให้กับจิตดวงสุดท้าย(จริมจิต) โดยจะไม่ปล่อยให้จิตดวงสุดท้ายดับลงไปตามยถากรรมอย่างคนทั่วไป พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ภิกษุกล่าวคำพิจารณาศพหรือที่เราเรียกว่า “บังสุกุลศพ”ดังนี้ ว่า
อนิจจา วต สังขารา – สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง (ไม่คงที่ เคลื่อนที่ต่อเนื่อง)
อุปปาทวยธัมมิโน – เกิดแล้ว ก็เสื่อม(เป็นอย่างอื่น)เป็นธรรมดา
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ – บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป
เตสัง วูปสโม สุโข - การเข้าไปสงบระงับสังขารเหล่านั้น เป็นความสุข
หมายความว่า พิจารณาเห็นสังขาร ร่างกาย จิต วิญญาณ เป็นเพียงกระแสที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เคลื่อนที่ต่อเนื่อง มีอาการของความเกิดขึ้น(อุปาทะ)แล้วเสื่อม(วยะ)ไปเป็นอย่างอื่นต่อเนื่องไป ตลอด ถ้าเกิดขึ้นแล้วมีปัญญารู้ตามความเป็นจริง สังขารทั้งหมดย่อมดับไม่เหลือ(นิรุชฌันติ) การเข้าไปสงบระงับดับไม่เหลือแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นได้สิ้นเชิง ย่อมเป็นความสุขแท้จริง(เตสัง วูปสโม สุโข) เมื่อเห็นการตายแบบดับไม่เหลือถือเป็นความสุขสงบของอริยชน แล้วอริยชนทั้งหลายจะมีท่าทีกับชีวิตในปัจจุบันอย่างไร ?
คงต้องยกเอาคาถาของพระสารีบุตรเถระและอริยสาวกอีกหลายรูปที่ได้กล่าวไว้ดัง นี้ “เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้ เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่ แต่เราคอยเวลาอันควร เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง” กล่าวได้ว่าท่าทีของอริยชนที่มีต่อชีวิตจะไม่เป็นทั้งบวกและไม่เป็นทั้งลบ จึงสามารถรับมือกับเหตุการณ์ทั้งปวงได้โดยไม่หวั่นไหวด้วยสติสัมปชัญญะอย่าง แท้จริง
ภิกษุผู้เห็นความเป็นจริงในการเกิดการตายได้ตามที่พิจารณาที่กล่าวมา ย่อมมีเครื่องมือสำหรับก้าวข้ามพ้นจากวัฏสงสารของการเกิดการตาย จะมีสังขารร่างกายนี้เป็นภพชาติสุดท้ายแล้วเข้าสู่อมตะธรรมแห่งพระนิพพาน ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้มีอริยะปัญญาเช่นนี้อีก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน ทวยตานุปัสสนาสูตร ขุ.สุ. ว่า
ถ้ารูป(สังขารร่างกาย)เป็นต้นเหล่านั้นดับลงในที่ใด
ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นก็สมมติกันว่า เป็นทุกข์
ส่วนอริยบุคคลทั้งหลายเห็นการดับสักกายะ(ร่างกาย จิต วิญญาณ)ว่า เป็นสุข
การเห็นของอริยบุคคลทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้ ย่อมขัดแย้งกับชาวโลกทั้งปวง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวโลกเวลาไปงานศพจะต้องแสดงความเสียใจและเป็นทุกข์ ส่วนพระภิกษุไปงานศพกลับจะกล่าวคำว่า การเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเหล่านั้นได้สิ้นเชิง ย่อมเป็นความสุขแท้จริง(เตสัง วูปสโม สุโข) เพราะการสงบระงับของสังขารทั้งหลาย คือ การดับไม่เหลือของการเกิดและการตายในวัฏสงสารหรือการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง
.......................
วัฒนธรรมการทิ้งศพไว้ตามป่าช้าผีดิบได้หมดไปจากยุคสมัยปัจจุบันนานแล้ว แต่ชาวพุทธที่ชาญฉลาดก็ได้นำเอาจุดมุ่งหมายของการใช้ศพเพื่อการศึกษาปฏิบัติ ธรรม มาผูกเป็นปริศนาธรรมเพื่อให้ผู้มีปัญญาที่มาร่วมในงานพิธีศพ จะได้รับประโยชน์จากปริศนาธรรมที่ควรได้ในขณะที่มีอารมณ์ของมรณะสัญญาอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความสุขสนุกเราจะไม่รู้สึกถึงภัย ของความตาย จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปสนใจในเรื่องการเกิดกายตายที่ยังมาไม่ถึง ในทางพุทธศาสนาถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่ยังมัวเมาประมาทในชีวิต เพราะคนที่ไม่ประมาทย่อมต้องศึกษาเรียนรู้การเกิดการตายไว้เพื่อความปลอดภัย ของตนเอง
แต่เมื่อใดที่เราได้เห็นคนที่รักหรือคนที่รู้จักสนิทใกล้ชิดต้องตายลง ความหวั่นไหวในมรณะสัญญาจะปรากฏที่ใจของทุกคนไม่มากก็น้อย งานศพจึงเป็นงานที่เหมาะกับการรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องการเกิดการตาย ท่านผู้รู้จึงได้ผูกปริศนาธรรมเอาไว้กับพิธีกรรมงานศพได้อย่างแยบยลและลึก ซึ้ง และปริศนาธรรมส่วนใหญ่จะน้อมนำจิตของผู้เห็นไปสู่อมตะแห่งพระนิพพานเป็น สำคัญ เช่น การมัดตราสังข์สามเปราะ
-มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก
-มัดที่มือ หมายถึงบ่วงรักสามี – ภรรยา
-มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ
ใครติดพันธนาการทั้งสามบ่วงนี้ จิตจะไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งการเกิดการตายนี้ได้ ฉะนั้น ก่อนจะเผาสัปเหร่อที่เป็นคนเผาศพก็จะใช้มีดที่คมตัดบ่วงทั้งสามออก ซึ่งได้แสดงถึงความเป็นอิสระจากการพันธนาการนั้นได้ เพื่อจะได้ข้ามไปสู่ฝั่งแห่งอมตะพระนิพพานต่อไป สมดังพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ใน พันธนาคารวัตถุ ขุ.ธ. ว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ ดังนี้
นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี
และความใยดีในบุตรภรรยา(สามี)
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด
เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้นว่า
มีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช
ปริศนาธรรมงานศพยังมีอยู่อีกมาก สิ่งที่เรียกว่า “ปริศนาธรรม”จะต้องเกิดจากความเข้าใจด้วยจินตามยปัญญาของตนเองเท่านั้น การอธิบายเป็นเพียงตัวอย่างหรือแนวทางกว้างๆสำหรับการศึกษาปฏิบัติธรรม ถ้าการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพใดๆก็ตาม(กุศล แปลว่า ฉลาด) ปริศนาธรรมงานศพสามารถทำให้คนที่มาในงานรู้แจ้งฉลาดในเรื่องการเกิดการตาย จนนำไปสู่การหลีกออกจากกามสุขเพื่อแสวงหาเนกขัมมะสุข(ออกบวช) ถือได้ว่าการบำเพ็ญกุศลศพเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่สำหรับการศึกษาปฏิบัติธรรม ได้บรรลุเป้าหมายอย่างสูงสุดและผู้ตายก็จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้เกิดมีประเพณีบวชหน้าไฟขึ้นก็ด้วยเหตุผลประการฉะนี้
สรุปว่า ชาวพุทธที่แท้จริงจะต้องใช้ปัญญาในการทำพิธีกรรมทางพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ก็จะสามารถทำประโยชน์ตนเองและสังคมออกไปได้อย่างกว้างไกล ส่วนพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่ทำกันแบบสืบๆกันมาตามความศรัทธาโดยไม่มีปัญญา ผลแห่งอานิสงส์ที่ทำก็จะเป็นได้เพียงแค่ความสบายใจชั่วคราวเท่านั้น

ปริศนาธรรม... งานศพ   โดย พระเกรียงศักดิ์ มหาปัญโญ
Top