สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดในความผูกพันธ์กับช้าง! โดย ศุภักษร ลอยสุวรรณ์
บทความพระเครื่อง เขียนโดย on-yala
คงต้องยอมรับว่า...เรื่องเล่าขาน หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ได้ส่งผ่านคำบอกเล่าสู่สาธารณะชนด้วยวาจาสู่วาจาโดยแท้จริง...จากประวัติศาสตร์สู่ตำนานที่มีชีวิต และเรื่องราวของ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เวลานี้ได้เป็นที่รู้จักของชาวไทยทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม ทั้งแผ่นไทยแล้ว... สมเด็จหลวงพ่อทวด (หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์) เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยจากตำนานท้องถิ่นซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงพ่อทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงพ่อทวดในครอบครอง วันนี้หลวงพ่อทวดถือได้ว่าเป็นพระอริยะคณาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก รูปสำคัญ 1 ใน 2 มหาพระอริยะคณาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ท่านคือ...พระอริยะโพธิสัตว์พ้นโลกยุคเก่าแก่ที่กาลเวลาน่าจะกลบชื่อเสียงมหาบารมีท่านไปแล้วแต่กลับเป็นเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพบูชามากที่สุดรูปหนึ่งของประเทศไทยยุคปัจจุบัน ความเป็นมาเกี่ยวกับท่านไม่มีหลักฐานชัดเจนนัก ทั้งส่วนใหญ่ปรากฎอยู่ในเรื่องเล่าเชิงตำนานปรัมปรา แต่หากปราศจากความจริงความดีเป็นที่มาแล้ว ก็คงยากที่จะอยู่ยงข้ามกาลมาได้นับร้อยๆ ปี ชีวประวัติของท่านฉบับหนึ่งมีปรากฎอยู่ในเอกสารราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้เพียงย่นย่อแต่ก็คงพอบ่งบอกได้ถึงความเป็นพระผู้ปฏิบัติปฏิบัติชอบกระทั่งเป็นที่นับถือเลื่อมใสของพระมหากษัตริย์เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ความเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ของท่านได้ปรากฏเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางก็เมื่อมีการทำพระเครื่อง “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ออกมา นับแต่นั้นเรื่องชีวิต พระเครื่อง อภินิหาร ความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ก็เป็นที่เล่าลือสู่กันมาจนทุกวันนี้ ตลอดชีวิตของหลวงพ่อทวดมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวและเหตุการณ์มากมาย แต่คงจะไม่มีเรื่องราวใดที่สร้างสีสันและความแปลกพิสดารให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา จดจำ เทียบเท่ากับเรื่องราวของพญางูใหญ่และ...ช้าง ที่มักปรากฏเรื่องราวในลักษณะปรากฏการณ์เหลือเชื่อ...เกินคาดฝัน ช้าง....สัตว์สี่เท้าที่มีขนาดใหญ่ มีความผูกพันกับคนเรามาแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาแต่อินเดียโบราณอีกด้วย หลักฐานซึ่งยืนยันความสำคัญดังกล่าวปรากฏครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 3 คือ ภาพสลักหินประดับพระสถูปสาญจี เป็นพุทธประวัติตอนหนึ่งเป็นรูปที่แปลความได้ว่าคือพระนางสิริมหามายาทรงสุบินถึงช้าง ซึ่งมีความหมายว่าจะผู้มีบุญญาธิการจุติมากำเนิดในครรภ์ของพระองค์ ความหมายในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ สืบเนื่องมาจากคนในสมัยก่อนยังไม่มีศาสนา แต่มีการนับถือธรรมชาติ อาทิ ไฟ น้ำ ต้นไม้ งู โดยพบว่า น้ำมีสำคัญกับชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาพของช้างพ่นน้ำจึงมีความหมาย เป็นมงคล ดังนั้นซุ้มประตูพุทธสถานในอินเดียมักจะปรากฏรูปช้างประดับร่วมอยู่ด้วยเสมอ และสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวยังคงได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน ช้าง จึงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ตามคติที่มีความหมายในเรื่องของความเป็นสิริมงคลและเครื่องหมายแห่งการค้ำจุนพระพุทธศาสนาตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ โดยเชื่อว่า ช้างเป็นสัตว์ที่ค้ำจุนจักรวาลและเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งแนวความคิดและความเชื่อดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในดินแดนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว การทำศึกในอยุธยา ช้างหลายเชือกได้สร้างวีรกรรมร่วมกับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ กลายเป็นช้างคู่บารมี หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์สำคัญ ศึกยุทธหัตถี ระหว่างพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งเกิดขึ้นสมัยครั้งหลวงพ่อทวดยังเป็นเด็กชายปูอายุเพียง10ปี ครั้งที่เด็กชายปูอายุได้10ขวบ จึงดูเหมือนว่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของช้าง กระทั่งต่อมา.... ...ในคืนนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินว่า พญาช้างเผือกจากทิศตะวันตก เข้ามาในพระราชนิเวศน์ ขึ้นไปยืนผงาดบนพระแท่น เปล่งเสียงก้องไปทั่วทิศ ข้างต้นนี้คือ สุบินนิมิตแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม และเกี่ยวเนื่องไปถึงชะตาของหลวงพ่อทวดจากพระภิกษุธรรมดาๆรูปหนึ่งกลายเป็นสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์... เพราะกาลต่อมาโหรประจำราชสำนักทำนายว่า จะมีพระภิกษุจากทิศตะวันตกมาช่วยกู้สถานการณ์บ้านเมือง พระองค์ก็รับสั่งให้ออกตามหาพระรูปนั้นทันที มีขุนนางไปเจอพระภิกษุปูที่วัดราชานุวาส เมื่อไต่ถามก็ได้ความว่า ท่านมาจากเมืองตลุง (ในเวลานั้น) ก็เชื่อว่าตรงตามพระสุบิน จึงนิมนต์มาเข้าเฝ้า เมื่อมาถึงประตูวิหารหลวงที่ประชุมสงฆ์ ท่านก้าวไปเหยียบบนแผ่นหินศิลาแลงที่ยืนล้างเท้า แผ่นหินนั้นก็หักเป็นสองท่อน เป็นตำนานอภินิหารอีกคราวหนึ่ง ที่สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้คนในที่นั้น เหตุการณ์แก้ปริศนาที่มีเมืองเป็นเดิมพัน ในตำนานเมื่อกว่า400 ปีก่อน ได้รับการบรรยายอย่างเห็นภาพ ในประวัติหลวงพ่อทวดที่เขียนขึ้นในชั้นหลัง เมื่อท่านเข้าไปในวิหาร ก่อนนั่งประจำที่เพื่อแปลพระธรรมจากอักษรทองคำ พระสามิรามแสดงอาการอันเป็นปริศนาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง 7 ด้วยการเอนกายลงนอนในท่าสีหไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งตัวตรง กระเถิบไปข้างหน้า 5 ครั้ง จึงไปนั่งในที่อันควร พราหมณ์จากลังกาเห็นก็หัวเราะ และพูดเย้ยท่านว่าคนที่ดูเหมือนเด็กไร้เดียงสาหรือคนบ้าอย่างนี้หรือที่จะแปลพระธรรม ท่านหัวเราะบ้าง แล้วถามพราหมณ์ว่า ในบ้านเมืองของท่านก็มีคนที่แสดงกิริยาอาการอย่างนี้ ท่านไม่เคยพบเห็นหรือ กลุ่มพราหมณ์ผู้เฒ่าฉงนใจนิ่งอยู่ แต่ก็นำบาตรใส่เม็ดอักษรทองคำประเคนท่าน พระสามิรามหรือพระภิกษุปูรับมาตั้งจิตอธิษฐาน จากนั้นก็ลงมือแปลและเรียงข้อธรรมในเม็ดทองคำทั้ง 84000 เม็ด โดยไม่ติดขัดอย่างใด แปลไปได้ช่วงหนึ่ง ท่านก็พบว่าเม็ดอักษรทองคำหายไป 7 ตัว จึงท้วงถามขึ้นว่าอักษร สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ ขาดไป พราหมณ์ทั้ง 7 ถึงกับอึ้ง และยอมนำอักษรที่ซ่อนไว้ออกมาคืน พระหนุ่มชาวสยามจึงสามารถแปลพระไตรปิฎกในเม็ดทองคำขนาดใบมะขามได้เสร็จสิ้นในเย็นวันนั้น สยามมีชัยในการสัประยุทธ์กันทางธรรมเหนือลังกา ด้วยบุญบารมีและความปราดเปรื่องของพระสามิราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ถิ่นกำเนิดของพระภิกษุปู นั้นมาจากสำนักเรียนเมืองตะลุง(พัทลุง) ก่อนเข้ามาพำนักที่วัดราชานุวาสและบังเอิญที่ศรีธนญชัยสังฆการีไปพบเข้า...เมืองตะลุงนั้นก็คือพัทลุงในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีหลักล่ามช้าง นั่นเอง นี่ก็คือ เรื่องราวของช้างในมุมชีวิตของหลวงพ่อทวดอีกประการ... ในห้วงยามชีวิตของหลวงพ่อทวดที่ได้พระราชทานสมณศักดิ์ที่ทรงราชศักดิ์ทางธรรมนั้นท่านได้พำนักที่วัดใหญ่ชัยมงคลซึ่งเป็นวัดหลวงประจำแผ่นดินอโยธยา สถานที่แห่งนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับช้างอีกเช่นกันสืบจากวัดใหญ่ชัยมงคลนั้นมีสถูปเจดีย์เกี่ยวกับการกระทำยุทธหัตถีพิฆาตซึ่งเป็นสถานที่ที่เกี่ยวกับช้างโดยตรง... ชีวิตขององค์หลวงพ่อทวดจึงสัมผัสกับสถานที่เกี่ยวพันกับช้างเป็นสำคัญยิ่ง.... ตามตำนานเมืองปัตตานีกล่าวว่า...ท่านลังกา(หลวงพ่อทวดในช่วงปลายของชีวิต)กิตติศัพท์ความปราดเปรื่องในทางธรรม การบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และมากด้วยอภินิหาร เลื่องลือไปถึงพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรีในเวลานั้น ซึ่งกำลังหาชัยภูมิเหมาะสมสร้างเมืองให้น้องสาวชื่อ เจ๊ะสิตี โดยใช้ช้างเสี่ยง ช้างคู่บ้านคู่เมืองที่ถูกปล่อยออกเดินป่าไปหยุด ณ ที่หนึ่ง พระยาแก้มดำจึงดำริสร้างเมืองบริเวณนั้น แต่น้องสาวไม่ชอบ และเผลอติดตามกระต่ายเผือกตัวหนึ่งไปจนถึงเนินทรายขาวสะอาดริมทะเล และเกิดพอใจที่ตรงนั้น พี่ชายจึงสร้างเมืองให้ซึ่งกลายเป็นเมืองปัตตานีในกาลต่อมา ส่วนจุดที่ช้างหยุดที่แรก พระยาแก้มดำก็ได้สร้างวัดโดยให้ชื่อว่า วัดช้างให้ ตามมูลเหตุที่มา และนิมนต์ท่านลังกามาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแห่งนี้ ซึ่งผู้คนในแถบนี้เรียกท่านว่า ..ท่านช้างให้ กาลต่อมาช้างจึงกลายเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวพันกับสมเด็จหลวงพ่อทวดอย่างแยกกันไม่ออก!!!! รูปลักษณาการ...สมเด็จหลวงพ่อทวดประทับช้าง(มือถือดอกมณฑาทิพย์)...รูปเหมือนหลวงพ่อทวดลักษณะนี้นับว่าเป็นครั้งเเรกของการสร้างหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็น นอกจากนี้..พ่อท่านตุดแห่งที่พักสงฆ์หารคอกช้าง สงขลา ซึ่งเป็นพระที่ชาวไทยเเละมาเลเซียนับถือเป็นอันมาท่านเองมีจิตตานุภาพที่ยอดเยี่ยมเเละอารมณ์ดีเเจ่มใสเเละยิ้มเเย้มเป็นที่ศรัทธาของคนทั้งหลายเมตตาให้ทัศนต่อรูปแบบพระหลวงพ่อทวดประทับช้างว่าเป็นพระที่งดงามและสุดยอดสมบูรณ์เเบบจริงๆ อัตตรูปแห่งช้างของรูปเหมือนสมเด็จหลวงพ่อทวดอาจเป็นการบันทึกเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของท่านกับช้าง..ให้ผู้ศรัทธาทั่วโลกได้เข้าถึงบารมีธรรมมากขึ้นก็อาจเป็นได้....ขอได้รับการขอบคุณจากใจ.. ขอบขอบพระคุณ พระปลัดจิรเดช นาถกโร เจ้าอาวาสวัดกม.26ใน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โทร.0815999565 ที่อำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูลในการเขียนบทความนี้สู่สาธารณชน...
|