กระดอนสะท้อน หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
บทความพระเครื่อง เขียนโดย punch18
เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ผมได้ไปสอบถามผู้ที่ทันหลวงพ่อรุ่ง ทันมากบ้างน้อยบ้าง เป็นเรื่องเล่าที่ผู้อาวุโสเล่าให้ผู้เยาว์อย่างผมฟัง ผมได้รวบรวมและคัดกรอง และนำมาบันทึกไว้หวังว่าจะเป็นอนุสรณ์ และเผยแผ่เรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หากข้อความบันทึกเรื่องใด ผิดพลาดไปกระผมขออภัยและได้โปรดแนะนำด้วยเทอญ
กระดอนสะท้อน ของหลวงพ่อรุ่งนั้น จะทำจาก กาฝากต้นกระท้อน โดยใช้เฉพาะส่วนที่เป็นต้น เป็นกิ่ง ของกาฝากเท่านั้น ไม่ได้ใช้กิ่งของต้นกระท้อน และไม่ได้ใช้ไม้มงคลอื่นๆเลย จะทำจากกาฝากกระท้อนเท่านั้นเอง เพื่อเป็นเคล็ดในทาง สะท้อนกลับ โดยคุณลุงอรุณ ซึ่งเคยอยู่ใกล้กับวัด และเป็นหลานของหลวงพ่อ(คนเดียวกับในบทความเรื่องตะกรุด) ได้เล่าให้ผม หนึ่ง สมุทรสาคร ฟังว่า ในตอนรุ่นๆ ได้เคยเห็น กิ่งไม้กาฝากกระท้อนนี้ (ยังไม่ได้ทำเป็นกระดอน) โดยคนเมืองกาญจนบุรี นำมาถวายหลวงพ่อรุ่ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มีพรานเมืองกาญฯ นำหนังเสือมาถวาย แต่ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าเดียวกันหรือเปล่า โดยกาฝากกระท้อนนี้ จะถูกนำมาตัดเหลา เป็นท่อนๆ แล้วเจาะรูสำหรับร้อยเชือก ซึ่งจะมีขนาดต่างๆกันตามแต่ขนาดของกิ่งหรือลำต้นของกาฝาก มีตั้งแต่เล็กๆราวปลายก้อย ไปจนถึงใหญ่ราวหัวแม่มือก็มี ไม่แน่นอน และคุณลุงเฮ้ ขวัญบุญ ได้เล่าให้ผมฟังว่า เคยได้รับชุดกระดอนจากหลวงพ่อ เป็นลูกกระดอน4ลูก ร้อยเชือกใช้คาดเอวได้ มีลักษณะเป็นไม้เหลา คล้ายลูกคิดอวบๆ สำหรับกระดอนที่ออกจากวัดนั้น คุณลุงอรุณ ลุงเฮ้ ตาชื่น ได้กล่าวตรงกันว่า โดยปกติในเชือกคาดเอว1เส้น จะมีกระดอน4ลูก แบบนี้จะเป็นแบบที่แจกออกจากวัด (แต่จะมีมากกว่านั้นก็อาจจะมี หรือภายหลังบางท่านนำไปร้อยรวมกับตะกรุดก็มี) และกระดอนนั้น มีทั้งแบบลงรัก และไม่ได้ลงรัก แล้วแต่ทำคราวไหน บางทีชาวบ้านก็ทำมาแบบสำเร็จแล้ว เอามาถวายหลวงพ่อก็มี สำหรับขั้นตอนการทำกระดอนนั้น คุณตาชื่น ฉิมมณี ซึ่งเคยบวชกับหลวงพ่อรุ่ง ได้เล่าให้ผมฟังว่า เคยได้ช่วยทำกระดอนนี้ด้วย โดยเลือกตัดเอากิ่งกาฝากกระท้อน เลือกเอาที่ตรงๆ ก็จะได้ท่อนละประมาณ2นิ้ว 3นิ้ว .ใช้มีดตอกเกลา เสร็จแล้วนำทั้งท่อน ผูกกับหลักที่ตอกตรึงไว้ เพื่อสะดวกในการเจาะรู โดยสมัยนั้นใช้ เหล็กหมาด ปั่น จนทะลุทั้งอัน เสร็จแล้วจึงเอามาเลื่อยแบ่งเป็นชิ้นๆ แต่ละชิ้นก็คือกระดอน1ลูก หลังจากนั้น จึงเอามาลบมุม โดยใช้มีดตอกเหลาบ้าง ใช้ฝนกับหินบ้าง ฝนหมุนๆ ให้กลม ****เหล็กหมาด เป็นภูมิปัญญาไทยท้องถิ่นภาคกลาง มีขนาดใหญ่ หัวเหล็กตีขึ้นรูปเหมือนใบหอกสั้นๆมีคมสองด้าน และบิดเกลียวขวาเล็กน้อย ท้ายสุดของด้ามจะมีหัวหมุนที่ไม่หมุนตามตัวด้าม เพื่อใช้ไหล่กดเวลาปั่นด้ามให้หัวเจาะๆไม้หมุน อาศัยแรงกดให้กินลึกลงไปในเนื้อไม้ ( การปั่นเหล็กหมาดปั่นกลับไปกลับมา ตลอดเวลาการเจาะไม้) การทำกระดอนนี้ก็ทำกันหลายท่าน เหมือนกับตะกรุด ดังนั้นรูปทรงจึงอาจแตกต่างกันไปตามฝีมือและจินตนาการของแต่ละท่าน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ กาฝากนั้นเป็นไม้เนื้ออ่อน และการเหลาการลบมุมนั้นทำด้วยมือ ครับ
ขอขอบคุณ คุณลุงอรุณ ลุงเฮ้ คุณตาชื่น ที่ให้ข้อมูลครับ เพื่อไม่ให้เรื่องราวเหล่านี้สูญหายไปตามกาลเวลา สำหรับรูปกระดอนสะท้อนนั้น ชอติดไว้ก่อนนะครับ
|