ตะกรุด หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ - webpra

ตะกรุด หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

บทความพระเครื่อง เขียนโดย punch18

punch18
ผู้เขียน
บทความ : ตะกรุด หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
จำนวนชม : 23938
เขียนเมื่อวันที่ : พฤ. - 26 มิ.ย. 2557 - 23:13.40
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : ศ. - 15 ส.ค. 2557 - 06:39.46
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

เรื่องตะกรุดหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ตามทรรศนะของข้าพเจ้า(หนึ่ง สมุทรสาคร)

เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ผมได้ไปสอบถามผู้ที่ทันหลวงพ่อรุ่ง ทันมากบ้างน้อยบ้าง เป็นเรื่องเล่าที่ผู้อาวุโสเล่าให้ผู้เยาว์อย่างผมฟัง

ผมได้รวบรวมและคัดกรอง และนำมาบันทึกไว้หวังว่าจะเป็นอนุสรณ์ และเผยแผ่เรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หากข้อความบันทึกเรื่องใด

ผิดพลาดไปกระผมขออภัยและได้โปรดแนะนำด้วยเทอญ

....ตะกรุดของหลวงพ่อรุ่ง ในยุคแรกนั้น ไม่อาจที่จะกำหนดมาตรฐานได้ เพราะเป็นการทำให้เฉพาะครั้ง เฉพาะคน บางทีก็นำโลหะมาเอง

หรือหยิบหาเอาตามมีซึ่งก็มีโลหะหลายชนิดทีเดียว ทั้ง เงิน ทองแดง ฝาบาตร ตะกั่ว ฯลฯ ซึ่งก็มิได้มีขนาดมาตรฐานใดๆ รวมถึงการถักเชือก

ก็นำไปถักไปหุ้มกันเอง หรือไม่หุ้มเลยก็ได้    ตะกรุดในยุคนี้จึงยากจะแยกแยะออกมา ยกเว้นว่าได้รับตกทอดกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย

เอาไว้ ว่ารับมาจากหลวงพ่อรุ่ง

สำหรับตะกรุดในช่วงที่ หลวงพ่อหยัด (เจ้าอาวาสองค์ต่อมา)ได้จัดทำนั้น เริ่มจะมีมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยมักจะบอกกันต่อๆมาว่า ตะกรุดหลวงพ่อรุ่ง

ส่วนมาก ม้วน3รอบถึง3รอบครึ่ง ตัดมุมทั้ง4 ขนาดจะไม่ใหญ่นัก ราวมวนบุหรี่ ความยาวสำหรับ โทนก็ราว4-5นิ้ว(ที่ยาวกว่า5นิ้วก็เคยพบ)

ถ้า9ดอกก็ราว2นิ้วเศษ

ซึ่งที่พบมาส่วนมากก็จะเป็นแบบนั้น แต่ก็เป็นข้อพิจารณากว้างๆเท่านั้นเอง เพราะตะกรุดที่เข้าลักษณะนี้ ในยุคเดียวกันหรือใกล้เคียงก็มี

อยู่มากทีเดียว แต่เป็นของหลวงพ่อท่านอื่นๆ

ดังนั้นท่านที่พบเจอตะกรุดที่เข้าลักษณะนี้ หรือตะกรุดที่มัด2เปลาะหัวท้าย มัด3เปลาะ ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป ว่าเป็นของหลวงพ่อรุ่ง ไปซะทั้งหมด

คงต้องอาศัยการแยกแยะจากผู้ชำนาญการอีกครั้ง(ไม่ใช่ผมนะ) สำหรับภาพตะกรุดที่นำมาประกอบบทความนี้  

เป็นตะกรุดที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดกันมาอย่างแน่นอน ซึ่งปกติก็มิได้ นำมาให้ใครชม แต่ได้อนุญาติให้ผมได้ชมและถ่ายรูปได้

ต้องขอขอบพระคุณทุกๆท่านที่อนุญาติด้วยครับ 

..........สำหรับการทำตะกรุดของหลวงพ่อรุ่งในช่วงที่พอเป็นมาตรฐานนั้น ผมได้สัมภาษณ์ คุณลุงอรุณ ปัจจุบันอายุ72ปี

ซึ่งท่านมีศักดิ์เป็นหลานหลวงพ่อฯ

และในสมัยเด็กๆจนถึงวัยรุ่นบ้านอยู่แถววัดท่ากระบือ และได้เข้าไปคลุกคลีพอสมควร เพราะทำหน้าที่หิ้วแกงปลาไหล

ที่ตานิ่ม(ลูกพี่ลูกน้องกับโยมแม่หลวงพ่อรุ่ง) ส่งไปถวายหลวงพ่อรุ่งอยู่เป็นประจำ

จนเมื่อครั้งที่ตานิ่มเสีย หลวงพ่อรุ่งได้มาที่งานศพ แล้วก็พูดกลางงานว่า ...."เออ ต่อไปนี้ไม่มีแกงปลาไหลแล้วแล้ว" 

คนฮากันทั้งงาน (หลวงพ่อท่านคงพูดให้ขัน คลายความโศก)

ในช่วงโตขึ้นมาหน่อยคุณลุงอรุณ ยังเคยตามหลวงพ่อหยัดไป กรุงเทพ เพื่อรับบล็อกแม่พิมพ์ผ้ายันต์นางกวัก ที่สั่งทำไว้ด้วย

นับว่าเป็นผู้ที่พอได้คลุกคลีเรื่องราวและมีความน่าเชื่อถือ

สำหรับตะกรุดที่คุณลุงเคยเห็นนั้น จะมี โทน  มี9ดอก และสามกษัตริย์(ทองเงินนาก ดอกเล็กๆม้วนแยกกัน) และอาจมีอย่างอื่นอีก

แต่เท่าที่จำได้มีแบบนี้โลหะหลักๆคือทองแดง โลหะอื่นก็มีแต่จะเป็นของที่นำมากันเอง 

โดยการทำตะกรุดจะตัดแผ่นทองแดงให้ได้ตามขนาดที่กำหนด เช่นโทนขนาดเท่านี้ 9ดอกเท่านี้ ตัดเป็นแผ่นๆแล้ว จึงตัดมุมทั้ง4

โดยการตัดมุมทั้ง4นั้นเพราะว่ามุมแผ่นทองแดงนั้มักจะตำมือเวลารีด จึงต้องตัดออก 

การทำตะกรุดนี้โดยมากทำกันที่กุฏิหลวงพ่อหยัด โดยในยุคนี้หลวงพ่อรุ่งท่านไม่ได้จารตะกรุดเองแล้ว(อาจมีที่เป็นพิเศษ)

ผู้ที่จารจะเป็นผู้ที่หลวงพ่ออนุญาติ หรือได้สอนให้จาร จะมีทั้งพระและศิษย์ฆราวาส แต่โดยหลักๆแล้วจะมี

หลวงตาพร้อม หลวงตาฮวด หลวงพ่อหยัด  อาจารย์กู๊ อาจารย์วอน(ภายหลังไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางสาวและเป็นน้องชาย อ.กู๊) 

โดยหลวงตาพร้อม เก่งเลขยันต์ มนต์คาถาภาษาขอม  หลวงตาฮวดเก่งวิปัสสนา เป้นผู้สอนกรรมฐาน

ทั้ง2องค์นี้เหมือนแขนขวา-ซ้ายของหลวงพ่อ ใน2ด้านที่กล่าวมา ส่วนหลวงพ่อหยัดก็เป็นพระเลขา เป็นเจ้าอาวาสต่อมา

เมื่อจารแล้วจึงจะนำมาให้หลวงพ่อรุ่งเสกอีกครั้ง 

 สำหรับตะกรุดที่นำไปให้หลวงพ่อเสกนั้น จะม้วนไปหรือยังผมยังสืบความไม่ได้ชัด แต่มีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่งที่ คุณครูประดิษฐ์

(ท่านเป็นครูสอนพิเศษผมตอนเด็กๆ แต่ผมไม่เคยถามท่านเรื่องนี้ ปัจจุบันท่านเสียแล้ว) ได้เล่าให้คุณลุงอรุณฟังว่า

ช่วงปลายๆชีวิตของหลวงพ่อรุ่ง  ท่าน(ครูประดิษฐ์) ได้ไปวัดท่ากระบือกับ หลวงพ่อดม วัดบางยาง ซึ่งมีความรู้ทางหมอ ไปฉีดยาให้หลวงพ่อรุ่ง

เมื่อเข้าไปในกุฏิ เห็นหลวงพ่อรุ่งกำลังเสกตะกรุด โดยมีตะกรุดที่เสกแล้วอยู่ในบาตรเป็นแผ่นๆไม่ได้ม้วน

โดยหลวงพ่อรุ่งนั่งม้วนตะกรุดอยุ่นอกบาตร1ดอก

โดยคลึงกับพื้นโต๊ะ แล้วเป่าคาถา พ่วง พ่วง พ่วง ตะกรุดที่อยู่ในบาตรก็ม้วนตามดอกที่หลวงพ่อรุ่งม้วนอยู่นอกบาตรนั้นเอง เป็นที่แปลกใจ

หลังจากนั้นหลวงพ่อจึงเทตะกรุดออกจากบาตร แล้วใช้ให้ครู ช่วยดึงตะกรุดที่ม้วนซ้อนกัน แยกเป็นดอกๆ

***สำหรับเรื่องนี้ เป็นคำบอกเล่าล้วนๆโปรดใช้วิจรณญาณ แต่เรื่องที่ครูกับลุงอรุณ สนิทกันนั้นข้าพเจ้ายืนยันได้

 

  สำหรับแผ่นทองแดงนั้น คุณตาชื่น ได้เล่าให้กระผม(หนึ่ง สมุทรฯ) ฟังว่า ได้เคยไปซื้อแผ่นทองแดง กับหลวงพ่อหยัด

ในราวปี2498 ที่ ถ.เจริญกรุง โดยซื้อเป็นม้วนใหญ่ ม้วนละ15 กิโลกรัม คุณตาเคยไป2ครั้ง 

เมื่อได้แผ่นทองแดงมาแล้ว ก็จะคลี่ออกมา แล้วใช้เหล็หหมาดขีดเป็นตารางสี่เหลี่ยม ตามแต่ขนาดของตะกรุด

แล้วใช้กรรไกรญี่ปุ่น ตัดตามเส้นที่ขีด เมื่อตัดแล้วก็เอาใส่พานโตกแล้วนำไปให้หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อจะนำไปขริบมุมเอง

หรือบางทีก็ให้หลวงตาพร้อมทำ โดยในการจารอักขระนั้น หลวงตาพร้อมบอกว่า

"เวลาจารพอจรดเหล็กจารลงไปแล้วต้องเขียนยันต์ให้จบ จึงจะยกเหล็กจารได้ อันนี้หลวงพ่อรุ่งสอนไว้"

(เหล็กหมาดนี้ บางทีก็ใช้ทั้งตีตาราง และจารอักขระด้วย และยังใช้เจาะรูกระดอนสะท้อนด้วย)

****เหล็กหมาด   เป็นภูมิปัญญาไทยท้องถิ่นภาคกลาง  มีขนาดใหญ่  หัวเหล็กตีขึ้นรูปเหมือนใบหอกสั้นๆมีคมสองด้าน และบิดเกลียวขวาเล็กน้อย  ท้ายสุดของด้ามจะมีหัวหมุนที่ไม่หมุนตามตัวด้าม เพื่อใช้ไหล่กดเวลาปั่นด้ามให้หัวเจาะๆไม้หมุน  อาศัยแรงกดให้กินลึกลงไปในเนื้อไม้  ( การปั่นเหล็กหมาดปั่นกลับไปกลับมา  ตลอดเวลาการเจาะไม้ )

 

       ตะกรุดของหลวงพ่อรุ่งนั้น กระผมไม่ทราบว่า มีข้อห้ามอย่างไรบ้าง แต่เท่าที่ฟังมา จากคนที่ได้เห็นจริง 3ราย

(ไม่รู้จักกันและเป็นตะกรุดคนละชุด) ได้เล่าให้กระผมฟังว่า ถ้าพกตะกรุดไป ผิดลูกผิดเมียเขา ตะกรุดจะแตก (หมายถึงบวมคลี่ออกมาเอง)

เป็นตะกรุด9ดอก 2เส้น และสามกษัตริย์ 1 ชุด

สำหรับ3กษัตริย์นั้น เจ้าของไม่แน่ใจว่าทำผิดอะไร แต่9ดอกทั้ง2เส้นนั้น เจ้าของยืนยันว่า ผิดประเวณีฯ ครับ

และแถมท้ายคุณลุงสมานเคยเล่าให้ผมฟังว่า กู๋ของท่าน(พี่ชายแม่) บวชกับหลวงพ่อรุ่ง และสวดปาฏิโมกข์ได้

พระที่ขยันเรียน สวดปาฏิโมกข์ได้ หลวงพ่อรุ่ง ท่านจะให้รางวัล เป็น ตะเกียงลาน น้ำมันก๊าด1ปี๊บ และตะกรุดโทน

ซึ่ง กู๋ของคุณลุงท่านก็ได้รับ ของทั้ง3อย่างเหมือนกัน วันที่หลวงพ่อรุ่ง มอบตะกรุดให้เป็นรางวัลนั้น

ท่านได้บอกย้ำว่า "ตะกรุดนี้ ถ้ามึงเอาไปปล้นเขา โป้งเดียวจอด!!!"

 

เรื่องราวของตะกรุดหลวงพ่อรุ่งเท่าที่กระผมได้รู้มาก็ได้บันทึกไว้ เพื่อไม่อยากให้เรื่องราวเหล่านี้สูญหายไป เท่านั้นเอง

คงจะไม่สามารถที่จะชี้ชัด หรือสอนดูตะกรุดได้ แต่รูปตะกรุดที่นำมาลงไว้นี้เป็นของหลวงพ่อแน่นอน

สำหรับตะกรุดโทนนั้นคงจะยุติได้ยาก ขอให้ท่านใช้ความพิจารณาให้มากครับ

แต่สำหรับ 9ดอกนั้น มีรูปมา2รูป จะเห็นถึงความคล้ายคลึงและมีเอกลักษณ์ ของเชือก ของสีทองแดง

การม้วนนั้น3รอบถึง3รอบครึ่ง ทองแดงบาง(แบบหนาก็มี แต่เจอน้อยกว่า) เห็นรอยจารนูนออกมา ขนาด ยาว โต เท่ากันทั้ง2เส้น

 

 บทความอื่นๆครับ

http://www.web-pra.com/Shop/NhungSamut/Article

 

 

 

 

****up  24-ก.ค.-57

ตะกรุด หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
ตะกรุด หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
Top