พระปิดตายันต์ยุ่ง รุ่น "เสาร์ ๕ บูชาครู" หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล กับตำราการสร้าง "พระภควัมบดี" - webpra

พระปิดตายันต์ยุ่ง รุ่น "เสาร์ ๕ บูชาครู" หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล กับตำราการสร้าง "พระภควัมบดี"

บทความพระเครื่อง เขียนโดย ยอดชาย

ยอดชาย
ผู้เขียน
บทความ : พระปิดตายันต์ยุ่ง รุ่น "เสาร์ ๕ บูชาครู" หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล กับตำราการสร้าง "พระภควัมบดี"
จำนวนชม : 15781
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 29 ม.ค. 2557 - 20:57.29
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : อ. - 26 ม.ค. 2559 - 21:13.28
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

พระปิดตายันต์ยุ่ง รุ่น "เสาร์ ๕ บูชาครู" หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล กับตำราการสร้าง "พระภควัมบดี" หรือ "พระปิดตามหาลาภ"

โดย ยอดชาย แสงศิริ

          ในอดีตได้มีการจัดพระเครื่องชุดเบญจภาคี ประเภทพระปิดตา เนื้อโลหะ ที่มีทั้งความเก่าแก่และความศักดิ์สิทธิ์ โดยมีองค์บูรพาจารย์เป็นผู้ประสิทธิ์ไว้ว่า ต้องประกอบด้วย 1.พระปิดตา หลวงพ่อทับ วัดทอง เนื้อสำริด กรุงเทพ 2.พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อสำริด กรุงเทพ 3.พระปิดตา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ เนื้อเมฆพัตร จังหวัดนครปฐม 4.พระปิดตา หลวงปู่จัน วัดโมลี เนื้อแร่บางไผ่ จังหวัดนนทบุรี 5.พระปิดตา กรุวัดท้ายย่าน เนื้อแร่พลวง จ.ชัยนาท (พระกรุ) เมื่อมีผู้คนเริ่มรู้ถึงคติการสร้างและพลังอำนาจที่สถิตย์อยู่ในพระปิดตา ซึ่งถูกประสิทธิ์พระพุทธคุณไว้อย่างสูงส่งในลักษณะต่างๆ ของ "พิมพ์มหาอุตม์" และ "พิมพ์ยันต์ยุ่ง" จึงไม่อาจรอดพ้นจากศรัทธาสาธุชนที่มุ่งหวังจับจองน้อมนำมาสักการะบูชาจากพระเกจิอาจารย์ที่ตนนับถือ อาทิ หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ , หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง , หลวงปู่เกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ , หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง ฯลฯ จนเมื่อเวลาเดินทางมาถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นผมคงต้องขอกล่าวถึงพระปิดตาเนื้อโลหะ พิมพ์ยันต์ยุ่ง ของพระอริยเถราจารย์ 5 แผ่นดิน หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล วัดบ้านจาน จังหวัดศรีสะเกษ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

          พระปิดตาพิมพ์ยันต์ยุ่ง หรือ พระปิดตามหาลาภ รุ่น "เสาร์ ๕ บูชาครู" ถือเป็นพระปิดตาที่สร้างด้วยกรรมวิธีหล่อโบราณ รุ่นแรก และสร้างเพียงเนื้อเดียว คือ เนื้อชนวนนวโลหะ นอกเหนือจากด้านพิธีพุทธาภิเษกที่เคยลงข้อมูลไว้โดยละเอียดไปแล้ว เกี่ยวกับภูมิรู้ ภูมิธรรม และบุญบารมีของหลวงปู่หมุนในการสร้าง "พระปิดตา" ยังเป็นที่อัศจรรย์ใจตามเยี่ยงพระโบราณจารย์ที่เข้าถึงศาสตร์แห่งการสร้างวัตถุมงคลธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง กล่าวคือ สามารถสร้างและเสกให้ขลังทั้งโดยลักษณะรูปลักษณ์ภายนอกของวัตถุมงคลแต่ละส่วน และสามารถน้อมนำพระพุทธคุณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประสิทธิ์ในพิธีได้อย่างสูงส่งเป็นอเนกอนันต์ โดยมีการเสกรวมธาตุและธิษฐานจิตสำทับจากความเชี่ยวชาญในจตุธาตุกรรมฐานและบุญบารมีที่ได้สั่งสมมา ฯลฯ

          "พระภควัมบดี" "พระควัมปติ" "พระกัจจายนะ" หรือ "พระสังกัจจายน์" โดยเนื้อแท้คือความเป็นองค์เดียวกัน ผู้เป็นหนึ่งในพระอสีติมหาสาวก (พระเถระผู้ใหญ่) 80 รูป ในสมัยพุทธกาล และเป็นหนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ของพระพุทธองค์ ในด้านการแสดงธรรม และเปรี่ยมด้วยบุญบารมีด้านโชคลาภความอุดมสมบูรณ์อย่างเอกอุ เหนือสิ่งอื่นใดนั้น แท้จริงแล้วพระสังกัจจายน์ทรงมีรูปร่างลักษณะที่งดงามดุจเดียวกับพระพุทธเจ้า ซึ่งพระสังกัจจายน์เกรงว่าจะไม่สมควรต่อพุทธบารมีจึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอพุทธานุญาตเปลี่ยนแปลงร่างกายตนเอง ด้วยคุณธรรมแห่งพระอรหันต์ที่มีอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์นี้ เมื่อพระสังกัจจายน์เข้านิโรธฌานสมาบัติ พระวรกายจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เราเข้าใจกัน มีเพียงเหล่าทวยเทพเทวดาที่ยังมองเห็นพระวรกายอันงดงามอยู่ คุณธรรมอันวิจิตรตระการใจเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการสร้างพระเครื่องในนาม "พระปิดตา" ขึ้น เพื่อให้ทรงพุทธานุภาพเปี่ยมด้วยพระพุทธคุณในทุกด้านแก่ผู้สักการะบูชา ซึ่งเคล็ดลับของพระโบราณจารย์ในการสร้างพระปิดตาที่หลวงปู่หมุนได้รับการถ่ายทอดมาจากพระบูรพาจารย์ที่ท่านเล่าเรียนศึกษา ในการทำพระปิดตาคือ เคล็ดลับวิชาโบราณว่าจะต้องปลุกเสกด้วยสูตรมูลกัจจายน์เข้าฌานสมาบัติปรกอธิษฐานจิต ซึ่งในยุคปัจจุบันจะหาพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในสูตรมูลกัจจายน์ยากยิ่งนัก เพราะเหตุว่าสูตรมูลกัจจายน์คัมภีร์ หรือบาลีใหญ่นั้น ได้ถูกยกเลิกออกจากการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยไปนานแล้ว หลวงปู่หมุนในสมัยที่ยังเป็นพระหนุ่มเณรน้อยนั้น ท่านเคยศึกษาสูตรนี้ที่สำนักเรียนของวัดในจังหวัดอุบลราชธานี และเดินทางมาศึกษาต่อที่วัดอรุณ จนสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ได้ที่วัดสุทัศนเทพวรารามในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชแพเป็นอธิบดีสงฆ์ ฉะนั้นแล้วพระปิดตามหาลาภที่อธิษฐานปลุกเสกโดย หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล จึงมีความเข้มขลัง เปี่ยมไปด้วยพุทธคุณโชคลาภโภคทรัพย์อย่างเอกอุ และถึงพร้อมด้วยความสมบูรณ์ด้วยคุณแห่งวิชาและพลังจิตอันกล้าแกร่ง ดังลักษณะ 3 ประการที่มารวมเข้าเป็นหนึ่งคือ
               1. ความงาม มีเสน่ห์ เมตตามหานิยม เป็นที่รักของหมู่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
               2. ความมีสติปัญญาเฉียบแหลม
               3. ความร่ำรวยมีลาภสม่ำเสมอ
          คุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ หลวงปู่ท่านได้อัญเชิญมาสถิตย์ในพระปิดตามหาลาภ รุ่น เสาร์ 5 บูชาครู

(ขอขอบคุณข้อมูลที่นำมาประกอบเพิ่มเติมจากนิตยสารพระเครื่อง พุทโธ ฉบับที่ 15 ปีที่ 16 ต้นเดือน สิงหาคม 2543)

 

พระปิดตายันต์ยุ่ง รุ่น "เสาร์ ๕ บูชาครู" หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล กับตำราการสร้าง "พระภควัมบดี"
Top