หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพฯ - webpra

หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

บทความพระเครื่อง เขียนโดย khran

khran
ผู้เขียน
khran (173) (-1)
บทความ : หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
จำนวนชม : 3676
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 11 เม.ย. 2555 - 11:23.28
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : พ. - 11 เม.ย. 2555 - 11:33.24
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

 

หลวงปู่เอี่ยม  สุวณฺณสโร

(พระภาวนาโกศลเถระ)

วัดหนังราชวรวิหาร  บางขุนเทียน  กรุงเทพฯ

 

                วัดหนังราชวรวิหาร  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิด ก. (ราชวรวิหาร)  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่  200  แขวงบางค้อ  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพฯ  10150

                เดิมมีสถานะเป็นวัดราษฎร์  มีอาณาบริเวณไม่กว้างขวางนัก  สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่น่าเสียดายว่าหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างในช่วงนั้น ไม่มีปรากฏหลงเหลืออยู่เลย  ทำให้ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย

                ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สมเด็จพระศรีสุลาลัย  พระบรมราชชนนี  ทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม  โดยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์  ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลการก่อสร้างครั้งนั้น  ปรากฏใน พงศาวดารภาคที่  ๑๓  บุพภาคพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงว่า สมเด็จกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงเป็นนายต้นทำการจนแล้วเสร็จ

                มูลเหตุแห่งการสถาปนานั้น เนื่องด้วย พระชนนีเพ็ง พระชนนีในสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี พื้นแพดั่งเดิมเป็นชาววัดหนัง มีนิวาสถานอยู่แถวย่านนี้

                พระวิเชียรกวี (ฉัตร) อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 6  ได้บันทึกความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับการสถาปนาพระอารามนี้ใจความตอนหนึ่งว่า

                การสร้างวัดในภูมิลำเนาเดิมนอกจากเป็นการกุศล  แล้วยังเป็นเกียรติแก่สกุลวงศ์ด้วย  ธรรมดาของสัญชาตญาณของบุคคล  เมื่อได้บรรลุอิทธิพลในถิ่นอื่น  ย่อมจะคำนึงถึงถิ่นเดิมของตน  เมื่อเป็นโอกาสมักจะประกอบกิจการเป็นพิเศษอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่ง ในภูมิลำเนาเดิมของตนหรือของบรรพบุรุษเพื่อเป็นอนุสรณ์  หรือเป็นที่ชื่นชมแก่มวลญาติมิตร  ชาวถิ่นนั้น

                การสถาปนาพระอารามในครั้งนั้น  ได้ทำการรื้อถอนเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ  ดั่งเดิมที่อยู่ภายในเขตออกไปทั้งหมด  ทดแทนด้วยถาวรวัตถุของใหม่ขึ้นมาแทนที่ มีเพียงพระประธาน ในพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลา  ในพระวิหารตอนหลัง  และระฆังอีกหนึ่งใบเท่านั้นที่เป็นของดั่งเดิมมีมาแต่โบราณ

                ถาวรวัตถุและเสนาสนะต่าง ๆ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ครั้งนั้นประกอบไปด้วย

                แนวกำแพงแก้ว  ด้านทิศตะวันออก  ความยาวประมาณ 77.70 เมตร ด้านทิศตะวันตกความยาวประมาณ 47.28 เมตร และทิศใต้ ความยาวประมาณ 47.28 เมตร

แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก  มีศาลาซุ้มประตู  มีเฉลียงโดยรอบเหนือประตูเดิมเขียนลายรูปพระพุทธบาทประกอบด้วยลายลักษณ์ อัตถุตรสตมหามลคล เรียกว่า  ศาลาพุทธบาท

ครั้ง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จประพาสไม่ทรงโปรดลายรูปพระพุทธบาทนี้ ทางวัดจึงใช้ผ้าทายางผลึกเอาไว้  แล้วฉาบปูนเคลือบอีกชั้นหนึ่ง

                ซึ่งศาลาดังกล่าวนี้  ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง  เช่น  ในสมัยหลวงปู่เอี่ยมเป็นเจ้าอาวาสหนึ่งครั้งสมัย พระวิเชียรกวี (ฉัตร) เป็นเจ้าอาวาส 2 ครั้ง นอกกำแพงแก้วด้านนี้มีพระเจดีย์คู่  ชั้นประทักษิณสัญฐานแปดเหลี่ยม  มีบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้า

                นอกจากนี้แล้ว  แนวกำแพงแก้วด้านอื่น ๆ  ก็จะประกอบด้วยศาลาซุ้มประตูมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาด

                ถาวรวัตถุภายในเขตกำแพงแก้ว

พระอุโบสถ  ก่อด้วยอิฐถือปูนตามลักษณะศิลปะของยุคนั้นโดยแท้  ด้วยฝีมือของช่างหลวง  ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามอลังการ  สมดังเป็นพระอารามหลวง

พระประธานในพระอุโบสถ  เป็นพระพุทธรูปโบราณ ฝีมือช่างยุคสุโขทัยหล่อด้วยโลหะประเภทสัมฤทธิ์  ประทับนั่งปางมารวิชัย  ส่วนสูงจากทับเกษตรถึงปลายพระเกศ 98.42 นิ้ว  หน้าตักกว้าง 70.86 นิ้ว

ทำจารึกอักษรไทยโบราณที่ฐาน อ่านโดย นายฉ่ำ  ทองคำวรรณ  ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณกรมศิลปากร ได้ความดังนี้...แต่แรกตั้งพระเจ้าองค์นี้ศาสนาได้ ๑๙๖๖ ปี ในปีเถาะสามเดือนในเดือนแก้วยี่สิบสี่วัน  ในวันอาทิตย์  พ่อพระยาเจ้าไทย พ่อขุนเมดทาเจ้า (นายฉ่ำ ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นเมธาเจ้า)  และไว้ให้ นายลก คงลำเรอเป็นข้าพระเป็นเจ้านี้ชั่วลูกหลาน  ต่อสิ้นศาสนาพระเป็นเจ้าแลฯ...

เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า พระประธานในพระอุโบสถ  ซึ่งเป็นปัจจุบันถวายพระนามว่า พระพุทธปฏิมากร สร้างโดย เจ้านายราชวงศ์พระร่วง ในราวปี พ.ศ. 1966  ยุคสุโขทัยตอนปลาย  ได้มีการจัดผู้ดูแลรักษาคือ  นายลก และระยะเวลาดังกล่าวอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา  ได้สถาปนาขึ้นมาแล้ว 73 ปี  ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ. 1952 – 1967) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเดิมประดิษฐานที่ใดก่อนจะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอารามแห่งนี้  แต่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปในจำนวน 1,248 องค์ ที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  โปรดให้อัญเชิญลงมาจากวัดร้างในเมืองสุโขทัย และได้บูรณะสมบูรณ์งดงามดีแล้ว จึงได้โปรดพระราชทานมาประดิษฐานยังวัดหนัง  แต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดราษฎร์

พระวิหาร  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ  ก่อสร้างด้วยศิลปะตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา

พระปรางค์  ประดิษฐานอยู่ในพื้นที่ระหว่าง  พระอุโบสถกับพระวิหาร

พระเจดีย์คู่  ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหารเป็นทรงย่อไม้สิบสองประดับด้วยกระจกสีทอง

พระเจดีย์สี่มุม  บริเวณมุมกำแพงของพระอุโบสถและพระวิหารมาบรรจบกันทั้ง 4 มุม  ก่อเป็นฐานประทักษิณสูง  ขั้นถัดไปจึงเป็นองค์พระเจดีย์ทรงย่อไม้สิบสอง

ศาลาราย  ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว  ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ มีด้านละ 2 หลัง  ส่วนด้านทิศตะวันออกมี 4 หลัง

เสนาสนะอื่น

หอไตร  ก่อด้วยอิฐถือถือปูนระฆังประจำหอ  เป็นของเก่ามีมาแต่ดั่งเดิมต่อมาเกิดรอยแตกร้าว  จึงปลดลงมาเก็บรักษาเมื่อปี  พ.ศ.  2484  และใช้ระฆังใบใหม่แทน

ศาลาการเปรียญ ก่อด้วยอิฐถือปูนจำนวน 5 ห้อง อยู่ด้านทิศใต้ของวัดพื้นลาดปูนขาวยกพื้นสูงกว่าระดับพื้นไม่มากนัก  ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาดิน  ต่อมาระดับพื้นดินและพื้นศาลาเสมอกันฤดูฝนน้ำท่วมถึง และทรุดโทรมลงตามลำดับได้รื้อถอนในสมัย พระวิเชียรกวี เป็นเจ้าอาวาส

ศาลาการเปรียญหลังใหม่  สร้างโดยหลวงปู่รอด  ครั้งเป็นพระครูธรรมถิดาญาณ  ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าไม้และค่าแรง  ส่วนค่าอิฐปูน  เป็นพระราชทรัพย์ได้รับพระราชทานมา

ศาลาสกัด  อยู่ด้านใต้ศาลาการเปรียญหลังเก่า  ลักษณะเป็นศาลารายหน้าวัดต่อมาชำรุดผุพังใช้การไม่ได้

ศาลาท่าน้ำ  เป็นศาลาท่าน้ำขึ้นลงของศาลาหลังเก่าบริเวณคลองและผุพังไปนานแล้ว

คณะหมู่กุฏิสงฆ์  ในช่วงของการสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่นั้นการสร้างหมู่กุฏิสงฆ์  ได้จัดระเบียบให้เป็นสัดส่วนดังนี้

คณะเหนือตั้งอยู่ด้านทิศเหนือหมู่กุฏิสร้างด้วยไม้  แบ่งออกเป็นสองหมู่หมู่หน้าอยู่ด้านทิศตะวันออก  ซึ่งกุฏิเจ้าอาวาสยุคนั้นอยู่ในหมู่นี้  หมู่  อยู่ถัดไปด้านทิศตะวันตก

คณะใต้  ตั้งอยู่ตอนใต้กำแพงแก้วลงมา  เดิมมี  หมู่

คณะสระ  เป็นคณะที่สร้างจากการได้รื้อถอนหมู่เสนาสนะในเขตการสถาปนา  มาสร้างขึ้นใหม่  สมัยหลวงปู่รอด  พำนัก    วัดหนัง  ได้เป็นเจ้าคณะสระ  ต่อมาได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง

 

นอกจากถาวรวัตถุส่วนต่าง  ดังกล่าวมาแล้ว  ยังมีอีกหลายอย่างที่ได้รับการสถาปนาหรือสร้างขึ้นใหม่ในช่วงนี้กล่าวได้ว่าเป็นพระอารามที่มีความสวยงามมากที่สุดอีกพระอารามหนึ่งภายหลังการบูรณปฏิสังขรณ์  และก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ  โปรดเกล้าฯสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง  และจัดงานเฉลิมฉลองสมโภช  เมื่อวันที่  2 ธันวาคม  ..  2380

เจ้าอาวาส  ผู้ปกครองดูแลวัดตั้งแต่ดั่งเดิมมานั้น  ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกไว้  หรืออาจจะชำรุดเสียหายไปตามกาล  เริ่มปรากฏมีหลักฐานเมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนี้

1.  พระนิโรธรังสี  เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกในยุคการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง  และในช่วงก่อนการสถาปนาท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้อยู่แล้ว  เป็นพระเถระที่เชียวชาญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาสูง  ครั้นเมื่อวัดหนังได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า  พระราชทานสมณศักดิ์  เป็นราชาคณะที่  พระนิโรธรังสี

2.   พระโพธิ์วงศาจารย์ (ขาว)  เป็นชาวพัทลุง  เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่สำนักวัดหงส์  ภายหลังมาอยู่วัดราชโอรสาราม  เป็นพระราชาคณะสมณศักดิ์ที่  พระญาณไตรโลก  ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มาครองวัดหนัง  เลื่อนสมณศักดิ์เป็น  พระโพธิวงศาจารย์

3.  พระราชกวี (มุ้ย)  เป็นชาวสมุทรสาคร  แต่ได้มาอุปสมบทที่วัดหนังศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักวัดหงส์บ้าง  และในสำนักของท่านพระโพธิวงศาจารย์ (ขาว)  บ้าง  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่  พระราชกวี  และเป็นเจ้าอาวาส

4.  พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง)  เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด  และได้อุปสมบทวัดหนัง  มีพระราชกวี ( มุ้ย )เป็นพระอุปัชฌาย์  เดิมเป็นพระปลัดฐานานุกรมในพระราชกวี  ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาส

5.   พระภาวนาโกศลเถระ   (เอี่ยมสุวณฺณสโร) .. 2442 - 2469

6.   พระวิเชียรกวี  (ฉัตร  อินทสุวณฺณสโร) ..  2469 - 2502

7.   พระสุทรศีลสมาจารย์(ผลคุตฺจตฺโต) ..  2502 - 2512

8.   พระวิเชียรกวี(สุกรี  สุตาคโม)  ..  2512

 

หลวงปู่เอี่ยม  สุวณฺณสโร

หลวงปู่เอี่ยมหรือท่านเจ้าคุณเฒ่า   วัดหนังราชวรวิหาร  พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์  พระภาวนาโกศลเถระ เป็นพระเถราจารย์ที่ พะบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ทรงเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดองค์หนึ่ง

วัตถุมงคลของท่านทุกชนิดเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ  ไม่ว่าจะเป็นเป็นเหรียญเสมารุ่น 1 – 2  ซึ่งปัจจุบันเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับ 1 ของวงการ  เครื่องรางของขลังประเภท หมากทุย  จัดว่าเป็นหนึ่งใน เบญจภาคี เครื่องรางของขลัง พระบิดาเนื้อโลหะ  ถือว่าเป็นสุดยอดของหายาก  มากด้วยความนิยม  เป็นอันดับหนึ่งไม่แพ้พระปิดตาวัดทอง  ของหลวงพ่อทัพ เลยแม้แต่น้อย

ยังจะมีวัตถุมงคลอีกหลายชนิดทั้งพระชัยวัฒน์  พระปิดตาเนื้อตะกั่ว พระปิดตาเนื้อผง และตะกรุด ล้วนเป็นที่นิยมต้องการของนักพระเครื่อง  อย่างไม่มีวันเลื่อมคลาย

หลวงปู่เอี่ยม  วัดหนัง  ตามบันทึกของ พระวิเชียรกวี  (ฉัตร) มีใจความว่า ท่านเกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ จุลศักราช 1194  ปีมะโรง  จัตวาศกตรงกับ วันที่  2  ตุลาคม  พุทธศักราช  2375  ในแผ่นดิน  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 3  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อ้างถึง  ตามบันทึกของ พระวิเชียรกวี (ฉัตร) ว่าท่านเกิดเมื่อ  วันอังคาร  เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ  เมื่อตรวจสอบกับปฏิทิน 220 ปี (ร.อ.ทองคำ  ยิ้มกำภู  ปฏิทิน 220 ปี)  แล้วปรากฏว่า  วันอังคาร  เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ  ตรงตามนั้นจริง  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับที่จารึกบน เหรียญรุ่นแรก ปี 2467 เหรียญรุ่น 2 ปี 2469 ว่า ปีมะโรง  จัตราศก  วัน   เดือน  ๑๑   เห็นว่าไม่ตรงกัน  มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้านเล็กน้อย

หากยึดตามคำจารึกบนเหรียญแล้ว  ที่ถูกต้องก็คือ  ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์  เดือน 11  ขึ้น 11 ค่ำ  ตรงกับ วันที่ 5  ตุลาคม  ศกเดียวกัน

เป็นบุตรของ  นายทอง,  นางอู๋   ต้นสกุล  ทองอู๋  ภูมิลำเนาเดิมอยู่คลองบางหว้า  ตำบลคุ้งเผาถ่าน  อำเภขางขุนเทียน  ธนบุรี  มีพี่น้อยคนเดียวคือ  นางเปี่ยม  ทองอู๋  เป็นผู้รักษาพระอุโบสถศีล  และไม่มีครอบครัว  ดังนั้นผู้สืบเชื้อสายสกุล  ทองอู๋  จึงเป็นบุตร – หลาย สายของ นายทรัพย์  ทองอู๋  ผู้เป็นบุตรของลูกพี่ลูกน้องของท่านนั้นเอง

เมื่ออายุได้  9  ปี  มาอยู่วัดเพื่อศึกษาร่ำเรียนอักษรสมัย  ในสำนักของ  หลวงปู่รอด  ขณะมีสมนศักดิ์เป็น  พระครูธรรมถิดาญาณ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

อายุ  11 ปี  ศึกษาพระปริยัติธรรม  ในสำนัก  พระมหายิ้ม  วัดบวรนิเวศ  ย้ายไปศึกษาต่อยังสำนักของ พระปิฏกโกศล (ฉิม)  วัดราชบุรณะ  (วัดเลียบ)

ปี  พ.ศ.  2394  อายุ  19  ปี  พรรษาเป็นสามเณร  ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนัง  จากนั้นไม่นานนักก็ลาสิกขาบทกลับไปช่วยงานทางบ้าน

ปี  พ.ศ.  2397  อายุ  22  ปี  อุปสมบท    พัทธสีมาวัดโอรสาราม  มีพระสุธรรมเถระ (เกิด)  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระธรรมเจดีย์  (จีน)  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระภาวนาโกศล (รอด)  วัดนางรอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์  ได้รับนามฉายาว่า  สุวณฺณสโร

เมื่ออุปสมบทแล้ว  ได้ไปจำพรรษาอยู่กับ พระภาวนาโกศล (รอด)    วัดนางนอง  ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน และพุทธาอาคมต่าง ๆ  ด้านการศึกษาคันถธุระ  นั้น  ได้ศึกษาต่อยังสำนัก  พระธรรมเจดีย์ (จีน)  และ  พระสังวรวิมล (เหม็น)  แห่งวัดราชโอรสาราม

ด้วยความวิริยะอุตสาหะ  ได้เข้าสอบแปลพระบาลีอีกครั้งหนึ่ง ณ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)  ซึ่งในครั้งบรรพชาเป็นสามเณรก็เคยเข้าสอบการเข้าแปลพระบาลีครั้งนั้น  ท่านต้องนั่งคุกเข่าสูงประนมมือตลอดเวลาที่แปล  ต่อหน้าพระเถระผู้ใหญ่  และพระเถระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการ  บอกกับท่านเมื่อแปลจบแล้วว่า  แปลได้ดี และชักชวนให้ไปอยู่สำนักเดียวกัน  แต่ท่านปฏิเสธ การสอบครั้งนั้นท่านก็ยังสอบไม่ได้อยู่ดีเป็นด้วยสาเหตุใดก็ไม่ทราบ

หลังจากนั้นท่านก็ไม่เคยสมัครสอบอีกเลย  แต่ก็ยังคงศึกษาค้นคว้าในด้านพรปริยัติธรรมตลอดมา  ท่านจึงเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมทั้งยังเคยสอนพระบาลี  แด่พระภิกษุ – สามเณร  ตั้งแต่ครั้งอยู่วัดโคนอน  แม้เมื่อมาครองวัดหนัง  ต้องรับภาระบูรณปฏิสังขรณ์วัด  จึงได้เชิญ นายมิ่ง  รักศ์ชินวงศ์  และ นายสว่าง  ดีทวี  มาเป็นครูสอนพระบาลีแทน

ด้านการศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน  และพุทธาคมนั้น  ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ท่านได้ศึกษาจาก  หลวงปู่รอด  แม้ครั้งยังเยาว์วัยการเล่าเรียนอักขรสมัยนั้น  ท่านได้ศึกษากับท่านหลวงปู่รอด ขณะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอยู่วัดหนัง  และเป็นเจ้า คณะสระ  รักษาการเจ้าอาวาสอยู่ชั่วระยะหนึ่ง  เมื่อ พรนิโรธรังสี  มรณภาพ ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระภาวนาโกศล  ดำรงตำแหน่ง  เจ้าอาวาสวัดนางนอง

หลวงปู่รอด  พื้นเพและภูมิลำเนาของท่านอยู่คลองขวาง  ตำบลคุ้งเผาถ่าน  บางขุนเทียน  เป็นฐานานุกรมของ พระนิโรธรังสี  พระราชาคณะและเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดหนัง  ในยุคของการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง  ในสมัยรัชกาลที่ 3  เป็นพระเถระผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ทั้งยังเรืองในพุทธาคม

เมื่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางนอง  ท่านได้เอาใจใส่ดูแลพัฒนาพระอารามแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ  โดยมีหลวงปู่เอี่ยม  เป็นกำลังอันสำคัญ  คอยดูแลเอาใจใส่ในทุกด้าน  จึงเป็นที่ไว้วางใจ และถ่ายทอดพุทธาคมให้จนหมดสิ้น

ในระหว่างพำนักจำพรรษาที่วัดนางนองนี้  หลวงปู่เอี่ยม  ได้รับแต่งตั้งเป็น พระใบฎีกา และ พระปลัด ตามลำดับ  ในฐานานุกรมของ  พระภาวนาโกศล (รอด)  จนกระทั่งมีเหตุต้องย้ายไปอยู่ วัดโคนอน

มูลเหตุแห่งการย้ายไปอยู่วัดโคนอนนั้น  ในรัชสมัย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน ณ วัดนางนอง  ขณะนั้น พระภาวนาโกศล (รอด)  เป็นเจ้าอาวาส  เล่ากันว่าท่านไม่ยอมถวายอดิเรก  นับเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมราชานุภาพ  แม้หลวงปู่เอี่ยม  ซึ่งขณะนั้นยังเป็น พระปลัด  ได้เตือนให้ถวายอดิเรกแล้ว แต่ท่านก็ยังนิ่งเฉยเป็นเหตุให้ถูกออกจาก สมนศักดิ์ และริบพัดยศคืน

ท่านจึงได้ย้ายไปอยู่วัดโคนอนในระยะนั้นหลวงปู่เอี่ยมมีพรรษา 16  ในฐานะศิษย์ผู้ใกล้ชิด  จึงได้ย้ายจากวัดนางนอง  ติดตามไปคอยปรนนิบัติ  แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้เป็นอาจารย์แม้ในยามตกทุกข์ได้ยาก  อับวาสนา  ก็ไม่ยอมตีตัวออกห่างติดตามรับใช้อย่างใกล้ชิด เป็นที่ปรากฏเล่าขานสรรเสริญมาจนทุกวันนี้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก  ที่ท่านหลวงปู่รอด  จะประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาการ นานาประการให้กับท่านจนสิ้นภูมิความรู้ที่มี อย่างไรก็ตาม  ท่านหลวงปู่เอี่ยม  มักจะพูดถึงและย้ำอยู่เสมอว่า  ท่านเก่งสู้อาจารย์ไม่ได้ มีวิชาอีกหลายอย่างที่ท่านศึกษาไม่ถึง

เมื่อหลวงปู่รอด  ได้ถึงแก่มรณภาพลง  ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบทอดต่อมาในระยะหนึ่ง

ปี พ.ศ.  2441  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานสมณศักดิ์  เป็นพระครูขั้นสัญญาบัตรที่  พระครูศีลคุณธราจารย์  และโปรดเกล้าให้มาปกครองดูแล  วัดหนังราชวรวิหาร

เหตุที่ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ  ให้มาปกครองวัดหนังนั้น  ในระยะเวลาดังกล่าวสภาพของวัดหนังได้เสื่อมโทรม  ขากการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างถึงที่สุด  ดังปรากฏในบันทึกของ  พระวิเชียรกวี (ฉัตร)  ในความตอนหนึ่งว่า   

.....ด้วยภาวะแห่งวัดทรุดโทรมถึงที่สุด ฉะนั้น  พ.ศ. หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์  เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินของหลวง    วัดหนัง  ทางวัดไม่มีพระพอจำนวนสงฆ์อันจะพึงรับกฐินได้ ต้องทรงเปลี่ยนเป็นพระราชทานผ้าป่าแทน ครั้นเสด็จกลับแกล้ว  ได้กราบบังคมทูลภาวะแห่งวัดแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้กระทรวงกรรมการติดต่อทาง สมเด็จพระวันรัตน์ (แดง)  แห่งวัดสุทัศน์ฯ  เพื่อหาตัวเจ้าอาวาสวัดหนังใหม่  สมเด็จพระวันรัตเลือกได้  พระอธิการเอี่ยม  แห่งวัดโคนอน  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานสมณศักดิ์ ที่  พระครูศีลคุณธราจารย์  แด่พระอธิการเอี่ยม  อาราธนามาครองวัดหนังเมื่อ  พ.ศ.  2441.....

เมื่อหลวงปู่ได้มาปกครองดูแลวัดหนัง  ล้นเกล้าฯ  รัชการที่ 5  ทรงพิจารณาเห็นว่า  พรรษาของท่านมาแกล้วกอปรด้วยศิลาจริยาวัตงดงามสมบูรณ์  มีด่างพร้อย  หาตำหนิใดมิได้  และเป็นที่เคารพสักการะแด่ชนทั้งหลายทั้งปวง เป็นอันมากรวมทั้งทรงเลื่อมใสศรัทธาในส่วนพระองค์  ทรงมีพระราชดำริ  สมควรจะพระราชทานเลื่อนสมนศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

ในปี  พ.ศ.  2442  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  เลื่อนสมนศักดิ์  เป็นพระราชาคณะ ที่  พระภาวนาโกศลลเถระ

วัดหนัง  ในยุคของท่าน  ถือเป็นยุคแห่งการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างแท้จริง  ด้วยถาวรวัตถุและเสนาะสนะต่าง ๆ  ได้ชำรุดทรุมโทรม  จนแทบใช้การไม่ได้เกือบทั้งหมด  หากจะนับระยะเวลาตั้งแต่การสถาปนาเสร็จสิ้น  จัดงานเฉลิมฉลองสมโภชเมื่อวันที่  2  ธันวาคม  พ.ศ.  2380  ล่วงถึงปี  พ.ศ.  2441  รวมเป็นระยะเวลาถึงเกือบ 60 ปี ย่อมถือเป็นเรื่องธรรมดา  ที่จะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาล  และด้วย ท่านพระคูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง)  เจ้าอาวาสองค์ก่อนก็อาพาธมีโรคประจำตัว  สามวันดีสี่วันไข้สิ้นสามารถในการบริหารบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานทุนทรัพย์ ในการปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิ  จำนวน  2,400 บาท และพระราชทานพระบรมราชานุญาต  ให้รื้อถอนหรือเพิ่มเติมได้ตามจะเห็นสมควร

เมื่อซ่อมแซมเสนาสนะหมู่กุฏิสงฆ์  พอเป็นที่อาศัยใช้บ้างแล้ว  ด้วยทุนทรัพย์ที่ชาวบ้านร่วมบริจาค  ก็เริ่มดำเนินการบูรณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญหลังเหลือ  ซึ่งเป็นศาลาที่  หลวงปู่รอด  สร้างเอาไว้ครั้งยังจำพรรษาอยู่วัดนี้

การบูรณปฏิสังขรณ์  นับเป็นภาระหน้าที่อันหนักที่ท่านต้องรับผิดชอบต้องใช้ทั้งกำลังศรัทธา  กำลังแรงงาน  และทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก  รวมถึงต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี  แต่ท่านก็สามารถดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์  จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกประการ  ด้วยอาศัยทุนทรัพย์ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5  พระราชทานช่วยเหลือเป็นระยะ  แรงศรัทธาจากชาวบ้านพุทธบริษัท  ทั้งทางด้านทุนทรัพย์และแรงกาย  กำลังสำคัญที่ช่วยแบ่งเบาภาระรับผิดชอบในการนี้คือ  พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (คำ)  ซึ่งครั้งนั้นยังเป็น พระสมุห์และพระปลัดด้วยท่านเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการช่าง

ถาวรวัตถุและเสนาสนะที่ท่านได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้ง  พอนำเสนอพอสังเขปดังนี้

พระอุโบสถ  ซ่อมคานด้านบนในส่วนที่ชำรุด  เปลี่ยนเต้าเชิงชายช่อฟ้าใบระกา  เปลี่ยนกระจกประดับหน้าบันได แซมกระเบื้องมุงหลังคา  ซ่อมเสาและผนังส่วนที่ผุกร่อน  ปรับพื้นพระอุโบสถที่เป็นหลุมแอ่งให้ราบเรียบและปูพื้นด้วยหินอ่อน

พระวิหาร  ชำรุดเสียหายมากเพราะหลังคารั่วมาเป็นเวลานาน  การบูรณะซ่อมแซมทำเกือบทั้งหมด  และจำเป็นต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก  ความทราบถึงพระกรรณ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานทุนทรัพย์ 4,800 บาท

ถาวรวัตถุอื่นๆ  ที่ได้ทำการบูรณะคือ  พระปรางค์,  พระเจดีย์คู่หน้าพระวิหาร,  พระเจดีย์สี่องค์,  ศาลาซุ้มประตูกำแพงแก้ว  เป็นต้น

เสนาสนะและอื่น ๆ  ที่ได้บูรณะซ่อมแซม  คือ  คณะเหนือ,  หอไตร,  ศาลาการเปรียญ,   ศาลาฉนวนท่าน้ำ,  สะพานฉนวน,  ศาลาราย,  เขื่อนหน้าวัด,  และโรงทึม  ซึ่งเป็นอาคารที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่

ศิษยานุศิษย์  เนื่องจากท่านเป็นพระเถระผู้ทรงคุณ  รอบรู้ในพระปริยัติธรรมเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เรืองด้วยพุทธาคม  เกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดัง  เป็นที่รู้จัก  จึงมีศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะศิษย์ที่ใกล้ชิด และเป็นบรรพชิต  ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของท่านในกิจการพระศาสนา  ด้านใดด้านหนึ่ง

พระวิเชียรกวี (ฉัตร)  เจ้าอาวาสวัดหนัง  องค์ที่  6  พื้นเพเป็นชาวบางขุนเทียน  เกิดวันอาทิตย์ที่ 19  กันยายน  พ.ศ.  2429  อุปสมบท    พัทธสีมาวัดราชโอรส  เมื่อ  13  พฤษภาคม  พ.ศ.  2449  โดยหลวงปู่เอี่ยม  เป็นพระอุปัชฌาย์  ได้รับนามฉายา  อินทสุวณฺโณ  สำเร็จเปรียญธรรม  5  ประโยค

วันที่  27  เมษายน  พ.ศ.  2469  ในสมัยรัชกาลที่ 7  ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่  พระวิเชียรกวี  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนัง

มรณภาพ  เมื่อวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ.  2502  สิริยายุ  72 ปี 53  พรรษา

 

พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล)  เจ้าอาวาสวัดหนัง  องค์ที่ 7  พื้นเพเป็นชาวสมุทรสาคร  เกิดเมื่อวันที่  6  สิงหาคม  พ.ศ.  2437  อุปสมบท  ณ พัทธสีมาวัดหนัง  โดยหลวงปู่เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อวันที่  27  มีนาคม  พ.ศ.  2458  ได้รับฉายา  คุตฺตจิตฺโต

ปี  พ.ศ.  2467  และ พ.ศ.  2468  เป็น พระใบฎีกา และ พระสมุห์  ในฐานานุกรมของหลวงปู่

ปี  พ.ศ.  2470  เป็นพระปลัดในฐานานุกรมของ พระวิเชียรกวี (ฉัตร)

ปี  พ.ศ.  2478  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์  เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรฝ่ายวิปัสสนาธุระที่  พระครูภาวนาภิรัติ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ปี  พ.ศ.  2500  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุนทรศลีสมาจาร

ปี  พ.ศ.  2501  เป็นพระอุปัชฌาย์

ปี  พ.ศ.  2502  รักษาการเจ้าอาวาส

ปี  พ.ศ.  2503  เป็นเจ้าอาวาส

ท่านเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มากที่สุดองค์หนึ่ง  ได้ศึกษาพุทธาคมจากหลวงปู่โดยตรงเป็นกำลังสำคัญของหลวงปู่และพระวิเชียรกวี (ฉัตร)  ในการอบรมพระภิกษุ – สามเณร  ด้านวิปัสสนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์  จนเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้

มรณภาพ  เมื่อวันที่ 10  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2512  เวลา  21.10  รวมสิริยายุ  74  ปี  6  เดือน  28  วัน  54  พรรษา

 

พระบริหารบรมธาตุ  (ประเสริฐ)  เกิดวันที่  16  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2441  อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหนัง  เมื่อวันที่  4  กรกฏาคม  พ.ศ.  2462  ฉายา  ธมฺมธีโร  โดยหลวงปู่เป็นอุปัชฌาย์  ปี  พ.ศ.  2491  เป็นเจ้าอาวาสวัดนางชี

 

พระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี)  เกิด  6  ธันวาคม  พ.ศ.  2432  พื้นเพเป็นชาวหนองแขม  ได้อุปสมบท    พัทธสีมา วัดอ่างแก้ว เมื่อวันที่  1 มิถุนายน  พ.ศ.  2452  โดยหลวงปู่เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นเจ้าอาวาสวัดอ่างแก้ว  เมื่อปี  พ.ศ. 2487

มรณภาพ  วันที่  15  ธันวาคม  พ.ศ.  2524  เวลา  19.05 น.  รวมสิริยายุ  92 ปี  72 พรรษา

 

พระอธิการชู  วัคนาคปรก  เกิดเมื่อปี พ.ศ.  2401  อุปสมบทโดยมีหลวงปู่เป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายา  ฉนฺทสโร

มรณภาพ  เมื่อวันที่  24  ตุลาคม  พ.ศ.  2477

 

หลวงปู่เอี่ยม  วัดหนัง  ท่านเป็นพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายและสมถะ  มุ่งมั่นในการบูรณะปฏิสังขรณ์ พื้นฟูสภาพวัดกลับมาให้ดีดั่งเดิม  เหมือนเมื่อครั้งยุคของการสถาปนากระนั้นภาระหน้าที่ด้านอื่นท่านก็ไม่ปล่อยละเลย  ปฏิบัติควบคู่กันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

พระวิเชียรกวี (ฉัตร)  ได้บันทึกถึงกิตติคุณของท่านใจความตอนหนึ่งว่า...

.....พระภาวนาโกศลเถระ  ท่านดำรงอยู่ในสมนคุณเป็นอย่างดีรูปหนึ่ง  มีความมักน้อยในปัจจัยลาภ  ได้มาก็บริจาคเป็นค่าซ่อม  สร้างปูชนียสถาน  เสนาสนะและสิ่งอุปโภคแก่พระเณรบ้าง  และเป็นเครื่องบูชาธรรม  ถวายพระที่นิมนต์มาเทศน์บ้าง  ในกุฏิที่อยู่ของท่าน  มองหาวัตถุมีค่าเป็นชิ้นเป็นอันมิใคร่พบ  วาจาที่ออกจากปากของท่านเป็นโอวาททานุสาสนีมีสารประโยชน์แก่ผู้สดับ  เป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรมานาน  แม้เมื่อทางการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  ให้จำกัดเขตอุปัชฌาย์  เวลาที่ท่านชราทุพลภาพแล้วก็ดี  กุลบุตรผู้เลื่อมใสในท่าน  แม้อยู่ในที่ไกลก็อุตส่าห์มาบรรพชาอุปสมบท    วัดหนัง ปีหนึ่ง ๆ มีปริมาณมาก  อาศัยคุณสมบัติอาทิฉะนี้  ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นอันมาก....

อีกทั้งท่านยังเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน  ไม่โอ้อวดคุณวิเศษใด ๆ อย่างไรเสียเพชรก็ย่อมเป็นเพชรวันยังค่ำ  กฤษดาภินิหารของท่านก็ปรากฏอยู่เนือง ๆ เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมายาวนาน  กระทั่งปัจจุบัน  เช่น  เรื่องราวเล่าขาน  การปราบม้าพยศ  ของ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.  2440 (ร.ศ. ๑๑๖)  ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  มีพระราชดำริเสด็จประพาสยุโรป  เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานอารยะประเทศ

ก่อนการเสด็จ สมเด็จพระสังฆราชฯ ปุสสเทโว  ได้ถวายพระพรและแนะนำให้เสด็จฯ อาราธนา พระอธิการเอี่ยม วัดโคนอน  ผู้เชี่ยวชาญพระกัมมัฏฐานและพุทธาคม  มาถวายคำพยากรณ์เกณฑ์พระชะตา  ชันษา  และมงคลพุทธาคม  วัตถุคุ้มครองพระองค์

ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปพบหลวงปู่เอี่ยมได้ถวายพระพร  และถวายคำทำนายว่า......  การเสด็จไปในนานาประเทศอันไกลครั้งนี้  จะทรงบรรลุผลสำเร็จในพระบรมราโชบายทุกประการ  แต่ในโอกาสที่ทรางประทับ ณ ประเทศหนึ่งนั้นจะมีผู้นำเอาสัตว์จตุรงคบาท  อันมีชาตินิสัยดุร้ายมาให้ทรงประทับขับขี่  แต่พระมหาบพิธราชสมภารเจ้า  จะทรงปลอดภัยจากสัตว์พยศนั้น....หลวงปู่เอี่ยมจึงถวายพระคาถาเสกหญ้าให้แก่พระองค์  พร้อมทั้งวิธีการบริกรรม

เหตุการณ์ที่หลวงปู่เอี่ยมทำนายถวายก็เกิดขึ้น  ขณะที่พระองค์ทรงประทับ ณ  ประเทศฝรั่งเศลได้มีเจ้าชายพระองค์หนึ่ง  เชิญเสด็จเพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาโปโล  และการขี่ม้าพยศ  ในระหว่างการแสดงขี่ม้าพยศนั้น  ได้มีม้าตัวหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่  ทั้งพยศดุร้าย  ไม่มีผู้ใดสามารถบังคับขี่ได้เจ้าชายฝรั่งเศลทูลถามพระองค์ว่า  ม้าพยศเช่นนี้ในเมืองของพระองค์มีหรือไม่  และหากมีผู้ใดสามารถบังคับได้หรือไม่?

พระองค์ทรงตรัสตอบว่า  ก็พอมีอยู่บ้าง  และได้ทรงรำลึกถึงคำพยากรณ์และพุทธคมที่หลวงปู่เอี่ยม ถวายเอาไว้ ทรงเสด็จลงจากแท่นที่ประทับ ตรัสเรียกนายโคบาลให้นำม้าพยศนั้นมาใกล้ ๆ ทอดพระเนตรพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง  ทรงย่อพระวรกายลงหยิบหญ้า  ตั้งจิตอธิฐานบริกรรมภาวนาพระคาถาพลันยื่นหญ้ากำนั้นให้ม้าพยศกิน  และทรงตรัสขอบังเหียน  ไม่รอข้าทรงประทับยังม้าพยศตัวนั้นบังคับให้เดินย่างเยื้องไปมา  เบื้องหน้าประรำที่ประทับสักครู่  จึงทรงบังคับให้ออกวิ่งอย่างเต็มฝีเท้า

ชาวต่างชาติที่ร่วมเข้าชมการแสดงในวันนั้น  ต่างโห่ร้องกึกก้องตกตะลึงในพระบารมีบุญญาธิการเป็นที่สุด

เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร  ทรงเสด็จมาสักการะหลวงปู่เอี่ยม  ตรัสเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างแดนและทรงพระราชทานถวายของฝากต่างๆ จากต่างแดน

ด้วยเหตุนี้นี่เอง ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่เป็นอันมาก  ในปี  พ.ศ.  2441  โปรดพระราชทานสมณศักดิ์ที่  พระครูศีลคุณธราจารย์  ปี  พ.ศ.  2442  โปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่  พระภาวนาโกศเถระ  และไม่ว่าจะกิจการงานใด  พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือทุกกรณีไป

หลวงปู่เอี่ยม  เป็นเจ้าอาวาสวัดหนังปกครองดูแลมา 27 ปีเศษ จึงได้มรณภาพด้วยโรคชราในวันที่  29  เมษายน  พ.ศ.  2469  ตรงกับวันจันทร์  ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล รวมสิริอายุได้ 94 ปี

ที่มา : หนังสือ ประวัติและวัตถุมงคลยอดนิยม หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง จัดทำโดยสำนักพิมพ์คเณศ์พร รวบรวมเรียบเรียงโดย กานต์ คเณศ์พร

 

 

 

                                                              

 

 

 

หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
Top