(ธนบัตรที่ระลึก) ธนบัตร 60 บาท - ทำเนียบรุ่น - webpra

ธนบัตรไทย ( ธนบัตรที่ระลึก )

(ธนบัตรที่ระลึก) ธนบัตร 60 บาท

(ธนบัตรที่ระลึก) ธนบัตร 60 บาท (-)
-
(ธนบัตรที่ระลึก) ธนบัตร 60 บาท (-)
-
ชื่อพระเครื่อง (ธนบัตรที่ระลึก) ธนบัตร 60 บาท
อายุพระเครื่อง 0 ปี
หมวดพระ วัตถุมงคลแผ่นดิน
สถานะ
จำนวนคนชม 761
เข้าทำเนียบตั้งแต่วันที่ อา. - 20 ส.ค. 2560 - 23:03.02
แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อ อา. - 20 ส.ค. 2560 - 23:10.35
Facebook
รายละเอียด
ประกาศใช้ : 8 ธันวาคม 2530
ขนาด : 15.9 x 15.9 เซนติเมตร
หมวดเลข : 0000001-9999999
จำนวนที่พิมพ์อออกมา : 9,999,999 ฉบับ
ราคาแลกจ่ายครั้งแรก : 60 บาท

ลายเซ็นชื่อบนธนบัตร :
ส.วินิจฉัยกุล - ป๋วย อึ้งภากรณ์

นี่คือบัตรธนาคารแบบเดียวที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย บัตรธนาคารอาจเป็นชื่อที่แปลกสำหรับคนไทย เพราะเราจะคุ้นเคยกับคำว่าธนบัตร บัตรธนาคารต่างจากธนบัตรคือ ธนบัตรออกโดยรัฐบาล เห็นได้จากที่ด้านหน้าธนบัตรจะพิมพ์คำว่ารัฐบาลไทยที่เราเห็นกันจนคุ้นเคย แต่บัตรธนาคารออกโดยธนาคาร ธนาคารที่ออกบัตรธนาคารจะเป็นผู้รับรองมูลค่าของบัตรธนาคารแต่ละฉบับ ผู้ถือบัตรธนาคารสามารถนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารผู้ออกบัตรธนาคารนั้นได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์การใช้เงินตราของไทยเราก็เคยมีบัตรธนาคารต่างประเทศที่ออกโดยธนาคารต่างชาติที่มาตั้งสำนักงานในไทย เช่น บัตรธนาคารอินโดจีน บัตรธนาคารชาร์เตอร์ บัตรธนาคารเอช เอส บี ซี ซึ่งบัตรธนาคารต่างชาติเหล่านี้ถูกใช้กันเฉพาะกลุ่มลูกค้าของธนาคารตั้งแต่ปี 2433 ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลยังไม่ได้มีการออกธนบัตรมาใช้ จนเมื่อรัฐบาลเริ่มออกธนบัตรใช้แล้วในปี 2445 ธนาคารต่างๆ จึงเรียกเก็บบัตรธนาคารคืน

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นปีที่มีการก่อตั้งธนาคารคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีสิทธิ์ในการออกบัตรธนาคารเพื่อใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ประเทศมีฐานะการเงินที่มั่นคงจนเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดต่อบริษัทโธมัส เดอ ลารู ประเทศอังกฤษให้ออกแบบบัตรธนาคาร 5 ราคา คือ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 50 บาท และ 100 บาท แต่ในครั้งนั้นไม่ได้ทำการจัดพิมพ์เพราะเกรงว่าประชาชนจะสับสนกับธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่

จนกระทั่งปี 2530 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกบัตรธนาคารฉบับนี้เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครบ 60 พรรษา ออกแบบและผลิตโดยโรงพิมพ์ธนบัตรในธนาคารแห่งประเทศไทย ขนาดของบัตรธนาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 159 x 159 มม. ในความหมายที่ว่า เลข 1 คือการออกบัตรธนาคารครั้งแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย เลข 5 หมายถึงพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เลข 9 หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้ว่าบัตรธนาคารนี้จะสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ประชาชนผู้แลกบัตรธนาคารนี้ไปก็มักไม่นิยมนำไปใช้จ่ายเพราะขนาดที่ใหญ่ จึงมักเก็บไว้เป็นที่ระลึก

รูปด้านหน้าของบัตรธนาคารเป็นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ด้านซ้ายของบัตรธนาคารเป็นภาพพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ด้านขวาเป็นรูปตราธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านล่างซ้ายขวาเป็นลวดลายไทยช่อกนกเปลว

สิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภาพถ่ายของบัตรธนาคารที่เห็นด้านบนมีด้วยกัน 4 สิ่ง คือ
1) ลายน้ำรูปสามเหลี่ยมที่อยู่เหนือเลขอารบิค จะเห็นได้เมื่อยกส่องในที่สว่าง
2) สีของพระราชลัญจกรที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำเงินเมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง ความพิเศษนี้เกิดจากการริเริ่มใช้หมึกพิมพ์ชนิดใหม่ซึ่งมีราคาแพงโดยสั่งซื้อจากบริษัท ซิกปา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และหมึกพิมพ์ชนิดนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้พิมพ์ธนบัตรชนิดราคาสูงในยุคต่อๆ มา
3) เส้นใยเรืองแสงสีแดงและสีน้ำเงินที่โรยอยู่ทั่วแผ่นซึ่งถูกโรยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตกระดาษ ซึ่งกระดาษพิมพ์นี้ได้สั่งจ้างบริษัทซีเคียวริตี้พริ๊นติ้ง ประเทศเยอรมันให้เป็นผู้ผลิต เราจะสามารถเห็นเส้นใยเรืองแสงได้ก็ต่อเมื่อส่องกับหลอดแสงไฟเหนือม่วง
4) แถบเส้นใยขนาดเล็กที่วิ่งจากบนลงล่างของบัตรธนาคาร เป็นแถบเส้นใยสลับเป็นสีธงชาติ ฝังอยู่ในเนื้อกระดาษ ซึ่งเป็นแถบเส้นใยที่ฝังในขั้นตอนการผลิตกระดาษพิมพ์เช่นเดียวกัน มีข้อความพิมพ์ในแถบเส้นใยคำว่า ทรงพระเจริญ เป็นระยะๆ ตลอดเส้น
สำหรับท่านที่มีบัตรธนาคารนี้ครอบครองสามารถส่องดูคุณลักษณะพิเศษทั้ง 4 อย่างนี้ได้ (ถ้าส่องแล้วไม่พบ มั่นใจได้ 100% ว่าเป็นบัตรธนาคารปลอมอย่างแน่นอน)

ด้านหลังของบัตรธนาคารเป็นรูปพระราชกรณียกิจเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังวัดไชโยวรวิหาร (วัดเซียน) อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2516 ทรงประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกร ด้านบนของภาพมีข้อความเขียนว่า "พระปฐมบรมราชโองการ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสบาม" ด้านล่างของภาพมีข้อความเขียนว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาหกสิบบริบูรณ์ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ด้วยพระบุญญาธิการบารมี ฐานะการเงินของประเทศได้เข้าสู่สภาวะที่มั่นคงเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นเป็นการสมควรออกบัตรธนาคารให้ใช้เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเป็นครั้งแรกเพื่อเฉลิมพระเกียรติ์ ณ สมัยอันเป็นมหามงคลนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยขอพระราชทานน้อมเกล้าถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ธนาคารแห่งประเทศไทย”

ในยุคแรกที่มีการจ่ายแลกบัตรธนาคาร มีการใส่มาในซองและพิมพ์หน้าซองด้วยว่า “บัตรธนาคาร รายได้สมทบทุนมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติ” โดยราคาจ่ายแลกเฉพาะบัตรธนาคารอยู่ที่ 60 บาท หากรวมซองบรรจุด้วยจะเป็นราคา 120 บาท ซึ่งราคาส่วนที่เพิ่มมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำไปสบทบทุนมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติ แต่ในการจ่ายแลกในยุคหลัง ไม่มีการใส่ซองให้แล้ว
Top